สปอตไลท์ฉายสู่เทพธิดา: สำรวจวัฒนธรรมดีว่า (Diva) กับชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ

 |  วัฒนธรรมร่วมสมัย
ผู้เข้าชม : 210

สปอตไลท์ฉายสู่เทพธิดา: สำรวจวัฒนธรรมดีว่า (Diva) กับชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ

           ดีว่า (Diva) เป็นบุคคลที่ถือเป็นแรงขับเคลื่อนในวัฒนธรรมสมัยนิยม โดยเฉพาะในวงการดนตรี การแสดง และสื่อมวลชน เดิมทีแล้ว ดีว่ามักเชื่อมโยงกับผู้หญิงที่มีอำนาจในวงการศิลปะ โดยเฉพาะการแสดงโอเปร่าและต่อมาคือดนตรีป็อป อย่างไรก็ตาม ตัวต้นแบบ (archetype) ของดีว่าได้พัฒนาไปสู่สัญลักษณ์ของการเสริมพลัง (empowerment) ความหัวขบฏ (rebellion) และการเปิดเผยตัวตน (self-expression) ในชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) กล่าวได้ว่าวัฒนธรรมดีว่ามีความสำคัญในฐานะที่เป็นศูนย์กลางของการระบุตัวตน การชื่นชม และการต่อต้านทางวัฒนธรรม บทความนี้ต้องการสำรวจวัฒนธรรมดีว่าจากมุมมองทางมานุษยวิทยาและสังคมวิทยา ความสัมพันธ์ของดีว่ากับชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ ตลอดจนตรวจสอบผลกระทบทางสังคมผ่านการวิเคราะห์ในมุมมองที่หลากหลาย เพื่อพิจารณาว่าวัฒนธรรมดีว่าทำให้เกิดการสร้างอัตลักษณ์บางแบบ การรวมกลุ่มชุมชน และการสร้างผลกระทบในเชิงสังคมอย่างไร


ตัวต้นแบบและบริบททางประวัติศาสตร์

           คำว่า "ดีว่า" มาจากคำภาษาละติน diva ซึ่งหมายถึง "เทพธิดา" (goddess) และขยับเข้าสู่ภาษาอิตาลีเพื่อใช้อธิบายถึงผู้หญิงที่มีพรสวรรค์โดดเด่นในการแสดงโอเปร่า (Oxford English Dictionary, 2024) ในศตวรรษที่ 19 ดีว่าอย่างมาเรีย มาลิบรัน (Maria Malibran) และเจนนี่ ลินด์ (Jenny Lind) ทำให้ผู้ชมหลงใหลด้วยความสามารถทางเสียงเช่นเดียวกับการแสดงบนเวทีที่มีพลัง (Wilson, 2000) อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากการได้รับยกย่องในความสามารถทางศิลปะการแสดง คนเหล่านี้มักถูกพากษ์วิจารณ์ในเรื่องชีวิตส่วนตัวด้วย ในเวลาต่อมา เมื่อการแสดงโอเปร่าถูกการแสดงดนตรีสมัยนิยมเข้ามาแทนที่ ตัวต้นแบบของดีว่าได้เปลี่ยนผ่านไปสู่การแสดงดนตรีแจ๊ส โซล และป็อป นักร้องอย่างบิลลี ฮอลิเดย์ (Billie Holiday) อารีทา แฟรงคลิน (Aretha Franklin) วิทนีย์ ฮุสตัน (Whitney Houston) และมาดอนนา (Madonna) ได้ขยับขยายความหมายของการเป็นดีว่า โดยนับรวมองค์ประกอบของการต่อสู้ส่วนบุคคล การวิพากษ์สังคม และรูปแบบการใช้ชีวิตเข้าไปด้วย (Neal, 1999) ในแง่นี้ ดีว่ากลายเป็นสัญลักษณ์ของความสามารถทางดนตรี ความยืดหยุ่น และการท้าทายขนบ ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับบรรทัดฐานของสังคมในประเด็นเรื่องเพศ เชื้อชาติ และชนชั้น


ผู้แหกกฎและวางมาตรฐานใหม่

           ในทางมานุษยวิทยา เราสามารถมองว่าดีว่าในฐานะที่เป็นสิ่งประดิษฐ์ทางวัฒนธรรมแบบหนึ่ง ซึ่งสะท้อนถึงความซับซ้อนของความเป็นหญิง อำนาจ และการแสดงออกทางอารมณ์และตัวตนที่เข้มข้น การแสดงที่ท่วมท้นของดีว่า เช่น การร้องเพลงด้วยเสียงที่ทรงพลัง หรือการแสดงท่าทางที่ดึงดูดความสนใจ เปรียบเสมือนกระจกที่สะท้อนถึงความปรารถนา ความต้องการทางสังคม และการต่อต้านที่ฝังอยู่ในโครงสร้างของวัฒนธรรมและสังคมที่ดีว่ามีบทบาทอยู่ แง่มุมในการแสดงตัวตนของดีว่าจึงสามารถเชื่อมโยงกับแนวคิดละครทางสังคม (social drama) ของวิกเตอร์ เทอร์เนอร์ (Victor Turner) (1982) ซึ่งอธิบายว่าสังคมเป็นเวทีที่บุคคลเข้ามามีบทบาทในกระบวนการละเมิดกฎเกณฑ์หรือขบถต่อบรรทัดฐานทางสังคม การแหกกฎนี้สามารถส่งผลให้เกิดผลลัพธ์ตามแนวคิดของเทอร์เนอร์คือ การฟื้นคืนกลับสู่ภาวะปกติ (reintegration) หรือการเกิดขึ้นของบรรทัดฐานใหม่ที่แยกตัวออกมาจากบรรทัดฐานเดิม (schism)

           ดีว่าในฐานะผู้แหกกฎ มักท้าทายและลบล้างมาตรฐานความงาม ความเป็นหญิง หรือการแสดงออกทางเพศอื่น ๆ ที่ถูกกำหนดไว้โดยสังคมกระแสหลัก การแสดงออกที่ร้อนแรงและฉูดฉาด (flamboyant) ของดีว่า หลายครั้งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างหรือทำให้เกิดพื้นที่ใหม่ที่เปิดกว้างต่อความหลากหลายทางวัฒนธรรมและเพศวิถี ตัวอย่างเช่น วัฒนธรรมแดร็กบอล (drag ball culture) ซึ่งเคยเป็นวัฒนธรรมใต้ดินของผู้มีความหลากหลายทางเพศชาวละตินอเมริกาและคนผิวสี ถูกใช้เพื่อแสดงอัตลักษณ์ของตนเองจากการครอบงำของวัฒนธรรมที่มีอำนาจนำในสังคม มาดอนน่าได้นำวัฒนธรรมใต้ดินนี้เข้าสู่วัฒนธรรมกระแสหลักในปี 1990 ผ่านเพลง "Vogue" ที่เชื่อมโยงศิลปะการเต้นกับการแสดงตัวตนที่เป็นอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างชัดเจน (Reynolds, 2011) กล่าวได้ว่าดนตรีและศิลปะการแสดงของ มาดอนนาได้ทำให้ชุมชนที่ถูกทำให้เป็นชายขอบในสังคมปรากฏตัวในทางสร้างสรรค์ แม้ว่าจะมีคำถามเกี่ยวกับการนำวัฒนธรรมย่อยดังกล่าวมาใช้ประโยชน์ แต่เพลงนี้ก็ได้ถูกยกย่องในฐานะเพลงสดุดี (anthem) ในชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ เช่นเดียวกับที่เป็นสัญลักษณ์ของการแสดงตัวตนและการทำลายกำแพงทางสังคม

 


มาดอนน่า ในมิวสิกวิดีโอเพลง Vogue
https://youtu.be/GuJQSAiODqI?si=cj2Sq-DUxfBMC1Tp


           นอกจากแนวคิดเรื่องละครทางสังคมแล้ว แนวคิดการวิเคราะห์เชิงนาฏกรรม (dramaturgy) ของเออร์วิง กอฟฟ์แมน (Erving Goffman) (1959) ยังมีบทบาทสำคัญในการอธิบายว่า ดีว่าไม่ได้เป็นเพียงตัวละครที่อยู่บนเวทีเท่านั้น แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ที่ชุมชนต่าง ๆ โดยเฉพาะชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ สามารถใช้เป็นต้นแบบในการสำรวจและแสดงอัตลักษณ์ที่อาจถูกกดทับหรือถูกทำให้เป็นชายขอบ การแต่งกายที่วิลิศมาหราและการแสดงออกถึงความมั่นใจของดีว่าจึงกลายเป็นการต่อต้านแรงกดทับในสังคม การนำดีว่าเข้ามาเป็นแบบอย่างของการแสดงตัวตนและความเป็นอัตลักษณ์ร่วมทางวัฒนธรรมในสังคมนี้จึงไม่ใช่แค่เพียงการลอกเลียนแบบ แต่ยังเป็นการสร้างพื้นที่สำหรับการเจรจาและการต่อสู้กับระบบที่กำหนดมาตรฐานทางสังคมในอีกทางหนึ่งด้วย


บูชาเทพธิดา: ดีว่ากับการแสดงเพศวิถี

           การเกิดมาเป็นผู้มีอัตลักษณ์และความสนใจทางเพศแตกต่างออกไปจากบรรทัดฐานของสังคมมักไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมซึ่งให้ความสำคัญกับการกำหนดมาตรฐานทางเพศแบบชายหญิง (heteronormative society) คนที่มีชื่อเสียงอย่างดีว่าซึ่งกล้าคิดนอกกรอบ และประสบความสำเร็จในอุตสาหกรรมที่ผู้ชายครองอำนาจ ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศที่ถูกทำให้เป็นชายขอบของสังคม ดีว่าจึงถือเป็นแบบอย่างของการใช้ชีวิตอย่างกล้าหาญและเป็นตัวของตัวเอง ร็อบ แอนเดอร์สัน (Rob Anderson) (2022) บอกว่า ดีว่าเปรียบเสมือนเทพธิดาในศาสนาของเกย์ (gay religions) การบูชาดีว่า (diva worship) คือการเฉลิมฉลองศักยภาพทางดนตรีและปรัชญาในการใช้ชีวิตซึ่งเต็มไปด้วยความชื่นชมและความผูกพันทางอารมณ์ ดีว่าแต่ละคนถูกตั้งให้เป็นเทพธิดาในศาสนาของตนเอง เช่น สักขีพยานบริทนีย์ (The Britney's Witnesses) ของสาวกบริทนีย์ เสปียร์ ภาคีริฮันน่า (The Rihanna Order) ของสาวกริฮันน่า และแมดจ์ ยูไนเต็ด (The Madge United) ของสาวกมาดอนน่า แอนเดอร์สันบอกว่าสาวกของศาสนาเหล่านี้ไม่ได้ถูกบังคับให้บูชาเทพธิดาได้องค์เดียว พวกเขาสามารถเป็นสาวกและบูชาเทพธิดาหลายองค์พร้อมกันได้

           การศึกษาของแรมซี่ โบ โมกาลาบี (Ramzi Bou Moughalabie) (2020) พบว่าเพลงป๊อปของดีว่าถูกใช้เพื่อหลีกหนีจากสภาพแวดล้อมที่เป็นชายเป็นใหญ่และรังเกียจคนรักร่วมเพศ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสื่อรูปแบบนี้สามารถให้ที่ที่ปลอดภัยแก่ชุมชนที่ถูกทำให้เป็นชายขอบ ในแง่หนึ่ง การต่อสู้และความเข้มแข็งของดีว่าหรือศิลปินผู้ขับร้องเพลง ถือเป็นตัวอย่างของการต่อสู้เพื่อสร้างที่ทางในสังคมชายเป็นใหญ่ ส่งผลให้เกิดความสัมพันธ์ทางสังคมแบบทางเดียว (para-social relationship) มีลักษณะเป็นความชื่นชมอย่างแรงกล้าผ่านการยกย่องดีว่าเป็นเทพธิดาของพวกตน ในขณะที่จิมมี แดรปเปอร์ (Jimmy Draper) (2017) ชี้ว่านอกเหนือไปจากการต่อสู้บุคคลที่ดีว่าเอาชนะมาได้แล้ว ความเคลื่อนไหวของดีว่า เช่น การมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ เช่น งานไพรด์ และการบริจาค ก็สะท้อนให้เห็นองค์ประกอบเชิงบริบท คือการกระทำทางการการเมือง (political actions) ของดีว่าที่ผสานเข้ากับความเข้าใจในดนตรีและการแสดงออกในที่สาธารณะ

           แนวคิดเรื่อง การแสดงเพศเพศวิถี (gender performativity) ของจูดิท บัทเลอร์ (Judith Butler) (1990) อธิบายว่าการเป็นชายหรือหญิงไม่ได้ถูกกำหนดโดยพฤติกรรม เพศไม่ใช่สิ่งคงที่ แต่เป็นการแสดงอย่างต่อเนื่องโดยบรรทัดฐานและความคาดหวังของสังคม วัฒนธรรมดีว่ามักสะท้อนถึงความยืดหยุ่นนี้ เนื่องด้วยดีว่ามักจะท้าทายบทบาททางเพศแบบดั้งเดิมผ่านการแสดงออกในลักษณะต่าง ๆ รายการโทรทัศน์เรียลลิตี้ RuPaul's Drag Race ได้ทำให้วัฒนธรรมแดร็ก (Drag culture) เป็นที่นิยมและนำประเด็นการแสดงเพศวิถีเข้าสู่ความสนใจของวัฒนธรรมกระแสหลัก (Bailey, 2013) ผู้เข้าแข่งขันในรายการจะรับบทเป็น ดีว่าและใช้การแต่งกายและการแสดงที่เกินจริงทั้งเพื่อสร้างความบันเทิงและท้าทายผู้ชมทางบ้าน ในแง่หนึ่ง กล่าวได้ว่ารายการนี้มีบทบาทสำคัญในการรื้อถอนแนวคิดเพศแบบทวิลักษณ์และแสดงให้เห็นถึงธรรมชาติการแสดงของอัตลักษณ์ทางเพศ ตลอดจนให้เวทีกับเรื่องราวของชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ


ดีว่าของคนขาว?: จากการบูชาถึงการปลดปล่อย

           ถึงแม้ว่าวัฒนธรรมดีว่ามักได้รับการเฉลิมฉลองในฐานะที่เป็นแรงบันดาลใจของชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ แต่เมื่อพิจารณาภายใต้มุมมองเชิงวิพากษ์ วัฒนธรรมดีว่าในมุมหนึ่งยังเผยให้เห็นประเด็นที่ควรตั้งคำถามมากกว่าการเฉลิมฉลองเพียงอย่างเดียว มาร์ติน มานาลันซัน (Martin Manalansan) (2003) อธิบายให้เห็นว่าเกย์ฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นผู้อพยพในนิวยอร์กใช้วัฒนธรรมดีว่าไม่ใช่เพียงเพื่อแสดงอัตลักษณ์ของตน แต่ยังใช้เป็นกลไกในการต่อรองกับความเจ็บปวดจากการพลัดถิ่น ความเป็นชายขอบ และอำนาจของวัฒนธรรมเกย์แบบ อเมริกันซึ่งเป็นวัฒนธรรมกระแสหลัก การอยู่ในวัฒนธรรมดีว่าสำหรับพวกเขาคือการแสดงเพื่อเอาตัวรอด ไม่ใช่แค่เพียงการแสดงพลังเสียงหรือการแต่งกายที่เริศหรู ในบริบทนี้ ดีว่าสำหรับคนกลุ่มนี้จึงไม่ใช่เทพธิดาที่แค่ออกมาโพสท่าเท่ ๆ หากแต่คือภาษาแห่งการดิ้นรนในชีวิต

           ในขณะที่งานหลายชิ้นกล่าวถึงดีว่าในฐานะสัญลักษณ์แห่งการเสริมพลังและความหวัง มานาลันซัน (2003) กลับชี้ให้เห็นว่า วัฒนธรรมดีว่าในกระแสหลักมีแนวโน้มจะกลืนกิน อัตลักษณ์ของผู้มีความหลากหลายทางเพศจากโลกที่สาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อดีว่าถูกทำให้กลายเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมที่ผลิตซ้ำโดยกลุ่มชนชั้นกลางผิวขาวในโลกตะวันตก การเต้นและแฟชันจากวัฒนธรรมแดร็กบอลถูกยึดไปทำกำไรในอุตสาหกรรมบันเทิงและแฟชัน แต่ต้นกำเนิดจากกลุ่มคนผิวสีมักไม่ถูกให้เครดิต (Goodman, 2018) นอกจากนี้ การหยิบยืมดังกล่าวยังเป็นการใช้ประโยชน์และรักษาสถานะ (status quo) ของคนผิวขาวมากกว่า (Chatzipapatheodoridis, 2017) การบูชาดีว่าจึงอาจทำให้ประสบการณ์ของผู้อพยพ คนข้ามเพศ หรือคนชายขอบถูกกลบซ่อนไว้เบื้องหลังภาพลักษณ์ที่ทรงพลังและถูกทำให้กลายเป็นสิ่งบันเทิงของสังคม การแสดงของดีว่า เช่นเพลง “Born This Way” อาจช่วยปลอบใจผู้ฟังได้ แต่ยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความเปราะบางของชีวิตแรงงานเกย์ผู้อพยพ แรงกดดันทางเชื้อชาติ หรือการถูกกีดกันจากสิทธิขั้นพื้นฐานในสังคมได้ (Manalansan, 2003)

           ในทางกลับกัน มานาลันซัน (2003) เสนอให้เราหันมามองดีว่าใต้ดินหรือก็คือสมาชิกชายขอบของผู้มีความหลากหลายทางเพศ อย่างผู้หญิงข้ามเพศ คนขายบริการ ผู้อพยพผิดกฎหมาย ผู้ซึ่งเป็นดีว่าในชีวิตจริงแต่ไม่มีเวที ไม่มีเสียงในวัฒนธรรมป็อป และไม่มีแฟนคลับที่จะบูชา คนเหล่านี้ใช้ภาษากายเพื่อประคองชีพในเมืองที่ไม่ต้อนรับพวกเขา พวกเขาคือดีว่าที่ไม่ถูกบันทึก แต่คือส่วนหนึ่งของของวัฒนธรรมเควียร์จริง ๆ ดังนั้น หากจะกล่าวถึงดีว่าในชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ จำเป็นต้องพิจารณาทั้งอำนาจของการแสดง และการแสดงของอำนาจ วัฒนธรรมดีว่าไม่ควรถูกเข้าใจเพียงว่าเป็นการเสริมพลังเท่านั้น แต่ยังควรถูกวิเคราะห์ในฐานะสนามของการต่อรองต่ออำนาจเกี่ยวกับเพศ ระบบทุนนิยม และวาทกรรมเกย์แบบอเมริกันที่มองข้ามความเจ็บปวดที่ไม่ได้เปล่งเสียงสูง


รายการอ้างอิง

Anderson, R. (2020). Diva Worship: The Book of Gay Religions. Independently Published.

Bailey, M. M. (2013). Butch Queens Up in Pumps: Gender, Performance, and Ballroom Culture in Detroit. University of Michigan Press.

Bou Moughalabie, R. (2020). Female pop diva adoration: Fandom in the gay community. [Master's thesis, Erasmus University Rotterdam]. Erasmus School of History, Culture and Communication.

Butler, J. (1990). Gender Trouble: Feminism and the Subversion of Identity. Routledge.

Chatzipapatheodoridis, C. (2017). Strike a pose, forever: The legacy of vogue and its re-contextualization in contemporary camp performances. European journal of American studies, 11(11-3).

Draper, J. (2017). "What has she actually done??!": Gay men, diva worship, and the paratextualization of gay-rights support. Critical Studies in Media Communication, 34(2), 130-137.

Goffman, E. (1959). The Presentation of Self in Everyday Life. Doubleday Anchor.

Goodman, E. (2018). The Historic, Mainstream Appropriation of Ballroom Culture. Retrieve from https://www.them.us/story/ballroom-culture-rupaul-madonna-paris-is-burning

Hawkins, S. (2016). Queerness in Pop Music: Aesthetics, Gender Norms, and Temporality. Routledge.

Livingston, J. (Director). (1990). Paris Is Burning [film]. Miramax.

Neal, M. A. (1999). What the Music Said: Black Popular Music and Black Public Culture. Routledge.

Oxford English Dictionary. (2024, September 22). "Diva." In Oxford English Dictionary. Retrieve from https://www.oed.com/dictionary/diva_n?tab=factsheet#6295113

Reynolds, S. (2011). Retromania: Pop Culture's Addiction to Its Own Past. Faber & Faber.

Storey, J. (2003). Inventing Popular Culture: From Folklore to Globalization. Blackwell Publishing.

Turner, V. (1969). The Ritual Process: Structure and Anti-Structure. Aldine.

Turner, V. (1982). From Ritual to Theatre: The Human Seriousness of Play. PAJ Publications.

Wilson, E. (2000). Opera and the Culture of Fascism. Routledge.


ผู้เขียน
วิสุทธิ์ เวชวราภรณ์
นักวิจัย  ฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ วัฒนธรรมดีว่า Diva ชุมชน ผู้มีความหลากหลายทางเพศ วิสุทธิ์ เวชวราภรณ์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา