ไวยากรณ์ของ “กาก”: ว่าด้วยเศษซาก และการกำหนดตำแหน่งแห่งที่ในภาษาไทย
บทนำ
คำศัพท์คำว่า “กาก” ในภาษาไทยมีความหมายโดยทั่วไปว่า สิ่งที่คัดแยกเอาส่วนที่ดีออกไปแล้ว, เศษของสิ่งที่ทิ้งแล้ว หรือไม่ใช้งานแล้ว, และมีความหมายในการใช้เป็นคำที่ด่าพฤติกรรมและการกระทำของคนในสังคมที่สื่อในเชิงลบ เช่น กากเดน, กากมนุษย์ รวมทั้งคำว่า “กาก” ยังถูกใช้เป็นคำศัพท์สแลงที่มีการใช้ร่วมสมัยในสังคมยุคปัจจุบันที่สื่อความหมายเกี่ยวกับบุคคลหรือสิ่งที่ไร้ประโยชน์ ไม่มีคุณค่า ไม่มีความสามารถ หรือไม่ได้เรื่อง บทความนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์และอธิบายถึงความหมายและที่มาของการใช้คำว่า “กาก” ในภาษาไทยที่ใช้ในทางวัฒนธรรมมนุษย์และพัฒนาการของการใช้สื่อความหมายที่มีการเปลี่ยนแปลงตามบริบททางสังคมไทย รวมทั้งวิเคราะห์ความหมายที่เปลี่ยนไปจากการใช้คำว่า กาก ที่มีการผสมกับคำศัพท์อื่นในภาษาไทยที่สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรม และความคิดที่สัมพันธ์กับมนุษย์ในสังคมไทย
ที่มาและความหมาย
คำว่า “กาก” ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ได้ให้ความหมายไว้ว่า “สิ่งที่เหลือเมื่อคั้นหรือคัดเอาส่วนดีออกแล้ว เช่น กากมะพร้าว; หยากเยื่อ; เดนเลือก (ใช้เป็นคำด่า) เช่น กากมนุษย์ คนกาก. กากขยาก น. กากที่หยาบ, หยากเยื่อ. กากข้าว น. ข้าวเปลือกที่ปนอยู่ในข้าวสารหรือข้าวสุก. กากเพชร น. ส่วนของเพชรที่คัดออก; ผงแวววาวคล้ายกระจกสำหรับโรยแต่งเครื่องประดับเป็นต้น; เครื่องใช้ตัดกระจก; เครื่องใช้เจียระไนรัตนชาติ; เครื่องบดวาว์ว, เรียกเครื่องลับมีดเป็นต้น ชนิดหนึ่งเรียกว่า หินกากเพชร. กากรุน, กากกะรุน น. ผงของกะรุนที่เอามาผสมครั่งขัดของแข็งเช่นป้าน. กากหมู น. มันหมูที่เจียวเอาน้ำมันออกแล้ว.” โดยคำว่า กาก โดยทั่วไป มีความหมายที่ต่างจากคำว่า กาก หรือ กากะ ในภาษาไทยที่ได้รับอิทธิจากภาษาบาลีและภาษาสันสกฤตที่มีความหมายว่า กา ที่เป็นสัตว์ปีก, กาตัวผู้ หรือเกี่ยวข้องกับกา เป็นต้น (ราชบัณฑิตยสถาน, 2546) จึงเป็นเพียงคำศัพท์ที่พ้องรูปตัวเขียนเท่านั้น
การใช้คำว่า กาก ที่เป็นคำด่าในภาษาไทยมีหลักฐานปรากฏในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ในวรรณคดีเรื่องพระอภัยมณี ที่ประพันธ์โดยพระสุนทรโวหาร หรือ สุนทรภู่ โดยปรากฏในบทที่พระฤาษีด่ารูปร่างหน้าตาที่หน้าเกลียด และชั่วร้ายของนางผีเสื้อสมุทร ในตอนที่พระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อสมุทรไปยังเกาะแก้วพิสดารว่า “อียักษาตาโตโมโหมาก รูปก็กากปากก็เปราะไม่เหมาะเหม็ง” (สุนทรภู่, 2517) และมีหลักฐานคำว่า กาก ถูกใช้เป็นคำที่ด่าคนในสมัยรัชกาลที่ 4 จนถึงช่วงต้นรัชกาลที่ 5 จากหนังสืออักขราภิธานศรับท์ของแดน บีช แบรดลีย์ หรือ หมอบรัดเลย์ ที่ตีพิมพ์ระหว่าง พ.ศ.2406-2416 คือ คำว่า “ไอ้กาก” ที่เป็นคำใช้ด่าว่าผู้ชายที่โง่ และคำว่า “อีกาก” ที่เป็นคำใช้ด่าผู้หญิงที่ทำตัวชั่วร้าย และโง่ ที่เปรียบเสมือนกากหรือสิ่งที่คัดเอาส่วนที่ดีออกแล้ว (แบรดลีย์, 2514) ปทานุกรมของกรมตำรา กระทรวงธรรมการ (ปัจจุบันคือกระทรวงศึกษาธิการ) ที่ตีพิมพ์ใน พ.ศ.2470 ได้ให้ความหมายของคำว่า กาก ว่า “น. เศษ, เดน, เหลือ. กากกะรุน น. เครื่องขัดถูทำด้วยกากเพชร. กากขยาก [-ขะหฺยาก] น. เดนที่หยาบ, เดนที่ไม่ละเอียด.” (กรมตำรา กระทรวงธรรมการ, 2470)
เมื่อ “กาก” กำหนดคุณค่าในวัฒนธรรมของมนุษย์
คำว่า กาก ยังได้ถูกนำมาประสมกับคำศัพท์อื่น ๆ เพื่อสร้างความหมายใหม่จากมุมมองของมนุษย์ในสังคมเพื่อการกำหนดและตัดสินคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ ที่มีการคัดแยกเอาส่วนที่ดีมีคุณค่าออก ยกตัวอย่างดังคำศัพท์ต่อไปนี้
กากมะพร้าว มีความหมายว่าส่วนที่เหลือของมะพร้าวที่เกิดจากการสกัดเอากะทิออก รวมทั้งเป็นวัตถุดิบที่ใช้ทำอาหารสำหรับเลี้ยงสัตว์ (สำนักงานราชบัณฑิตยสภา, 2556: ออนไลน์; สำนักพัฒนาอาหารสัตว์, 2560: ออนไลน์)
กากกาแฟ มีความหมายว่าเศษที่เหลือจากคั่วบดเมล็ดกาแฟ (AROMA GROUP, 2023 : ออนไลน์)
กากหมู มีความหมายว่ามันของหมูที่เจียวเอาน้ำมันหมูออกแล้ว (ราชบัณฑิตยสถาน, 2546)
กากเพชร มีความหมายว่าเนื้อของเพชรที่เจียรไนออก, ผงที่ใช้โรยหรือประดับเครื่องประดับ, เครื่องมือที่ใช้สำหรับเจียรไนหรือบดวาว์ว (สำนักพจนานุกรมมติชน, 2547; สำนักงานราชบัณฑิตยสภา, 2556: ออนไลน์)
กากข้าว มีความหมายว่าเศษข้าวเปลือกที่เจือปนอยู่ในข้าวสาร (สำนักพจนานุกรมมติชน, 2547)
กากกะรุน หรือกากรุน มีความหมายว่าผงของกะรุ่นที่นำมาผสมกับครั่งขัดของแข็ง กากของแร่ธาตุชนิดหนึ่ง(กรมตำรา กระทรวงธรรมการ, 2470)
กากขยาก มีความหมายว่ากากที่หยาบหรือหยากเยื่อ (สำนักพจนานุกรมมติชน, 2547)
กากเดน มีความหมายในการตัดสินพฤติกรรมและการกระทำของมนุษย์ที่มองว่าไม่ดีหรือถูกสังคมตีตราในแง่ลบ ใช้เป็นคำด่าคนที่มีพฤติกรรมต่ำช้าเลวทรามไม่มีศีลธรรม และไม่เป็นที่ต้องการของสังคม เช่น เดนคน เดนมนุษย์ กากเดนมนุษย์ คนกาก เป็นต้น คนที่ถูกตีตราว่าเป็นกากเดนหรือคนเดนของสังคมก็เสมือนเป็นกลุ่มคนที่ถูกแยกออกจากคนส่วนใหญ่ที่มีความประพฤติที่ดีหรือปฏิบัติตามบรรทัดฐานของสังคมนั้นเอง (สำนักพจนานุกรมมติชน, 2547; สำนักงานราชบัณฑิตยสภา, 2556: ออนไลน์; Thai PBS, 2559: ออนไลน์)
ทั้งนี้ คำว่า กาก ยังได้ถูกนำมาใช้เป็นคำศัพท์ที่ให้ความหมายที่เกี่ยวกับงานศิลปกรรม คือ คำว่า ภาพกาก เป็นภาพที่เขียนขึ้นเพื่อประกอบฉากของเรื่องราวในภาพจิตรกรรมแบบไทยประเพณี หรือจิตรกรรมบนฝาผนัง ไม่ได้มีความหมายที่สื่อถึงภาพจิตรกรรมที่ไม่มีค่าหรือไม่มีคุณภาพ ภาพกาก ยังถูกใช้เป็นคำศัพท์เฉพาะในงานช่างอีกด้วย ภาพกากประกอบด้วย ภาพชาวบ้าน วิถีชีวิตของผู้คน ไพร่พลทหาร การแสดงท่าทางและอารมณ์แบบคนจริง ภาพอมนุษย์และสัตว์ต่าง ๆ ที่ทำให้ภาพจิตรกรรมมีความหมายของการเล่าเรื่องและความหมายมีความสมบูรณ์ โดยภาพกากมีหลักฐานปรากฏตั้งแต่ศิลปอยุธยาตอนปลาย จนถึงศิลปะรัตนโกสินทร์ตอนต้น ภาพกากเป็นภาพที่ประกอบภาพเล่าเรื่องที่มีเนื้อหาทางพุทธศาสนา รวมทั้งเป็นภาพที่แยกย่อยออกจากภาพที่เล่าเนื้อหาหลัก (ราชบัณฑิตยสถาน, 2532; สันติ เล็กสุขุม, 2557; วิบูลย์ ลี้สุวรรณ, 2559)
“กาก” ในสังคมไทยร่วมสมัย
ในปัจจุบันคำว่า กาก ได้กลายเป็นคำศัพท์สแลงที่ใช้สำหรับด่าหรือว่าได้ทั้งคน สิ่งของ และการกระทำที่มองว่าไม่มีคุณค่าหรือไม่มีความสามารถ และคำว่า กาก ยังมีการใช้เป็นคำด่าในสิ่งที่ไม่ได้เรื่อง เมื่อเกิดความไม่พอใจ และใช้ในเชิงการด้อยคุณค่าอีกและดูถูกอีกด้วย (Thai PBS, 2559 : ออนไลน์) มักนิยมใช้ในกลุ่มทางสังคมที่มีความสนิทใกล้ชิดกัน เช่น กลุ่มวัยรุ่น กลุ่มคนหรือเพื่อนที่สนิทกัน รวมทั้งจากสื่อสังคมออนไลน์ในในปัจจุบัน ได้มีการแปลและเปรียบเทียบความหมายของคำว่า กาก ที่ใช้เป็นคำศัพท์สแลงที่มีความหมายใกล้เคียงในภาษาอังกฤษ ได้แก่คำว่า sucky ที่ความหมายเดิมแปลว่า ห่วย แย่มาก, ghetto ที่ความหมายเดิมแปลว่าสลัม หรือชุมชนแออัด, crappy ที่แปลว่าไม่มีประโยชน์ หรือน่าขยะแขยง, crummy ที่ความหมายเดิมแปลว่าอ้วนท้วน สกปรก มีคุณภาพเลว ไร้ค่า, lousy ที่ความหมายเดิมแปลว่า มีหมัดเหา ต่ำช้า ชั่ว เลวและ subpar ที่แปลว่าต่ำกว่ามาตรฐาน(AJARNADAM.TV, ม.ป.ป.: ออนไลน์)
อย่างไรก็ตาม ในภาษาไทยร่วมสมัย คำว่า “กาก” ไม่ได้เป็นเพียงคำที่ใช้เรียกสิ่งไร้ค่าเท่านั้น แต่ยังถือได้ว่าเป็นหน่วยของภาษาที่ใช้สื่อความหมายที่มีพลังในการกำหนดตำแหน่งแห่งที่ของสิ่งต่าง ๆ รวมถึงผู้คนในโครงสร้างของสังคมวัฒนธรรมไทย คำว่า "กาก" จึงทำงานในฐานะคู่ตรงข้าม (binary opposition) ต่อสิ่งที่สังคมกำหนดว่า "ดีงาม มีค่า สมบูรณ์แบบ" และเป็นเครื่องมือในเชิงภาษาที่ถูกใช้ในการจัดระเบียบความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ความเป็นคน และคุณค่าในสังคมไทย
ในกรอบคิดของมานุษยวิทยาโครงสร้างนิยม (structuralism) ความหมายมิได้เกิดจากคำใดคำหนึ่งโดยลำพัง แต่เกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างคำ ภายใต้กรอบคิดนี้ คำว่า "กาก" จะไม่มีความหมายใดเลยหากไม่มีสิ่งตรงข้ามเช่น "ของดี", "โปร", "เทพ", "มีคลาส" เป็นต้น เราจึงอาจเข้าใจ "กาก" ได้ต่อเมื่อเราเข้าใจว่าในสังคมนั้นมีการจัดลำดับทางความหมายแบบใดอยู่ก่อนหน้า คำว่า "กากมนุษย์" เมื่อถูกเอ่ยออกมาจึงเป็นภาพสะท้อนของโครงสร้างที่ต้องมีการแบ่งแยกว่าใครคือคนที่ “เลวทราม” "ไม่ผ่านเกณฑ์" หรือ "ตกมาตรฐาน" ที่วัฒนธรรมกำหนด ไม่ต่างจากคำว่า "เดนมนุษย์" ซึ่งยิ่งตอกย้ำว่าสิ่งที่ไม่ผ่านการกลั่นกรองคือสิ่งที่ไม่ควรอยู่ในระบบ
ภาษาไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือสื่อสาร หากแต่เป็นระบบที่มนุษย์ใช้จัดระเบียบโลกและความสัมพันธ์ในโลก คำว่า "กาก" ในฐานะคำด่าจึงเป็นกลไกสำคัญในการ จำแนก ใครควรอยู่ตรงไหนในลำดับชั้นของสังคม เมื่อคำว่า "กาก" ถูกใช้กับคนที่สอบตก เล่นเกมแพ้ หรือคิดต่างในสังคมออนไลน์ มันมิได้สะท้อนเพียงความขบขัน แต่สะท้อนโครงสร้างของการตัดสิน และการผลิตซ้ำความล้มเหลวของผู้อื่นให้กลายเป็น "บทเรียน" ให้คนอื่นไม่เดินตาม
ในสื่อออนไลน์ คำว่า "กาก" มักกลายเป็นมีม คำแซว หรือคำล้อเลียนในหมู่เพื่อนสนิท ทว่าการใช้เช่นนี้มิได้หมายความว่า "กาก" พ้นจากโครงสร้างเดิมไปได้ คำนี้ยังคงสะท้อนความสัมพันธ์ของ "คนเหนือกว่า-คนด้อยกว่า" อยู่เสมอ แม้ในรูปแบบของความตลกขบขัน แทนที่จะถามว่า "กาก" แปลว่าอะไร เราควรกลับมาถามว่า สังคมไทยต้องการ "กาก" เพื่ออะไร การมีคำว่า "กาก" ช่วยให้คนกลัวการเป็นคนล้มเหลวหรือเปล่า หรือช่วยให้คนบางกลุ่มรู้สึกว่าตนเองอยู่สูงกว่าผู้อื่น คำถามนี้พาเราย้อนกลับไปยังหัวใจของโครงสร้างนิยม นั่นคือ เราไม่ได้มอง "คำ" เป็นสิ่งมีชีวิตลอยตัว แต่คือหน่วยของความคิดที่บ่งบอกถึงความสัมพันธ์ และการจัดระเบียบโลกที่มนุษย์สร้างขึ้น
สรุป
ความหมายของคำว่า กาก ที่มีมาแต่เดิมให้ความหมายเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ ที่มีการคัดแยกเอาส่วนที่มีประโยชน์หรือส่วนที่ดีออกไปแล้ว หรือสิ่งที่หลงเหลือจากส่วนที่ดีมีคุณค่า จึงเหลือเพียงแค่ส่วนที่เป็นกากและเศษ โดยถูกนำมาใช้เรียกเพื่อกำหนดคุณค่าและประโยชน์ตามการตัดสินจากมุมมองของมนุษย์ที่สั่งสมจากภูมิปัญญาและวีถีการปฏิบัติทางวัฒนธรรม เช่น งานช่าง วัฒนธรรม อาหาร งานศิลปกรรม และบรรทัดฐานของสังคม ต่อมาจึงกลายมาเป็นคำที่ใช้ด่าในเชิงการดูถูกเหยียดหยามและไม่ให้คุณค่าของคน จนกระทั้งได้กลายมาเป็นคำศัพท์สแลงที่ใช้อย่างไม่เป็นทางการบริบทของการใช้ภาษาที่สื่อสารกันทั่วไปในระดับที่เป็นภาษาปาก โดยเฉพาะในกลุ่มทางสังคมที่สมาชิกมีความสัมพันธ์ที่สนิทและใกล้ชิดกัน และมีการใช้เพื่อการด่าหรือว่าสิ่งที่ไม่มีประโยชน์หรือไม่มีคุณค่าไม่ว่าจะเป็นบุคคล สิ่งของ และการกระทำ เป็นต้น รวมทั้งในสื่อสังคมออนไลน์ในปัจจุบันได้มีการแปลและเปรียบเทียบความหมายของคำศัพท์สแลงที่มีใช้ในภาษาอังกฤษที่มีความหมายตรงกันหรือมีความหมายคล้ายกันกับ คำว่า กาก ที่ใช้ในแง่ของคำศัพท์สแลงในภาษาไทย กล่าวได้ว่า คำว่า "กาก" ไม่ใช่แค่ของเหลือ ไม่ใช่แค่คำด่า แต่คือหนึ่งในกลไกเชิงโครงสร้างที่ใช้แบ่งแยกคุณค่า ระเบียบ และอัตลักษณ์ของมนุษย์ในสังคมไทย การเข้าใจ "กาก" จึงไม่ใช่แค่การเข้าใจคำ แต่คือการเข้าใจโครงสร้างการคิดของสังคมไทย ที่ต้องการจัดลำดับคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ ผ่านการใช้ภาษา และคำด่า ก็คือการเมืองของภาษาอีกแบบหนึ่งนั่นเอง
บรรณานุกรม
กรมตำรา กระทรวงธรรมการ, ปทานุกรม. พิมพ์ครั้งที่ 2. ม.ป.ท.: โรงพิมพ์กรมตำรา, 2470.
แบรดลีย์, แดนบีช. หนังสืออักขราภิธานศรับท์. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2514.
วิบูลย์ ลี้สุวรรณ. พจนานุกรมศัพท์ศิลปกรรมไทย. นนทบุรี : เมืองโบราณ, 2559.
ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒. กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์, 2546.
ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมศัพท์ ศิลปกรรม อักษร ก ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2532.
สุนทรโวหาร (ภู่), พระ. พระอภัยมณี คำกลอนของสุนทรภู่. พิมพ์ครั้งที่ 14. กรุงเทพฯ : บรรณาคาร, 2517.
สันติ เล็กสุขุม. งานช่าง คำโบราณ. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : มติชน, 2557.
สำนักพจนานุกรมมติชน. พจนานุกรม ฉบับมติชน. กรุงเทพฯ : มติชน, 2547.
สำนักพัฒนาอาหารสัตว์. กากมะพร้าว. เข้าถึงเมื่อ 27 มิถุนายน 2568. เข้าถึงได้จาก https://nutrition.dld.go.th/nutrition/index.php/the-joomla-project/959-coconut-meal
สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. กาก (๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๖). เข้าถึงเมื่อ 16 มิถุนายน 2568. เข้าถึงได้จาก http://legacy.orst.go.th/?knowledges=%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%81-%E0%B9%92-%E0%B8%9E%E0%B8%A4%E0%B8%A8%E0%B8%88%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%99-%E0%B9%92%E0%B9%95%E0%B9%95%E0%B9%96#
AROMA GROUP. เพราะ ‘กากกาแฟ’ ไม่เคยกาก ทำความรู้จักกับของเหลือจากการชงกาแฟที่มีประโยชน์กว่าที่คิด. เข้าถึงเมื่อ 4 กรกฎาคม 2568. เข้าถึงได้จาก https://aromathailand.com/what-is-ground-coffee/
AJARNADAM.TV. กาก อ่อนหัด กระจอก โหลยโท่ย ภาษาอังกฤษว่าอย่างไร. เข้าถึงเมื่อ 27 มิถุนายน 2568. เข้าถึงได้จาก https://www.ajarnadam.tv/s/18
Thai PBS. ของเหลือไร้ค่า ที่มาคำว่า “กาก”. เข้าถึงเมื่อ 16 มิถุนายน 2568. เข้าถึงได้จาก https://www.thaipbs.or.th/news/content/253152
ผู้เขียน
ลอยลำ คำเงิน
นักศึกษาฝึกประสบการณ์
ฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ป้ายกำกับ ไวยากรณ์ กาก เศษซาก ตำแหน่ง สังคมไทย ลอยลำ คำเงิน