Hope cluster โควิดนี้ยังมีหวัง ลำดับที่ 38
เรียบเรียงโดย จุฑามณี สารเสวก
ป้าสุข อายุ 55 ปี เจ้าของร้านเสริมสวย คุณสุขหรือป้าสุข เจ้าของร้านเสริมสวยที่เปิดกิจการเล็กๆ ในซอยแห่งหนึ่งในวัย 55 ปี กับเรื่องราวชีวิตที่ต้องก้าวผ่านในช่วงที่สถานการณ์โรคโควิด-19 ยังไม่ท่าทีจะคลี่คลาย
“... ป้าเป็นคนนครปฐมจบแค่ ป.4 เราเรียนหนังสือมาน้อย เพราะพ่อกับแม่มีลูกตั้ง 10 คน สมัยสาว ๆ เมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว อาชีพสำหรับผู้หญิงมันมีไม่กี่อย่าง พอดีเรามีลูกพี่ลูกน้องที่ทำงานเสริมสวยแถวราชดำเนิน เราก็เลยเออ...มาลองฝึกมาเรียนรู้กินอยู่กับเขา เป็นลูกจ้างที่ทำตั้งแต่สระผม ตัดผม ทำความสะอาดร้าน ก็ทำแทบทุกอย่าง เราก็ทำมาเรื่อย ๆ ย้ายไปอยู่ร้านนั้นร้านนี้ของคนรู้จักทำแบบนี้อยู่หลายปี เก็บเงินได้บ้าง จนอยากลองเปิดร้านเสริมสวยเป็นของตัวเอง ก็เลยตัดสินใจกู้เงินมานิดหน่อยเพื่อมาเปิดร้านนี้ …”
ป้าสุข เล่าภูมิหลังชีวิตของเธอให้เราฟังภายในร้านเสริมสวยเล็ก ๆ ที่ตกแต่งอย่างเรียบง่าย ด้วยภาพถ่ายของบรรดาสาว ๆ คนดังตามแบบฉบับร้านเสริมสวยทั่วไป พร้อมอุปกรณ์ต่าง ๆ ในร้านบ่งบอกถึงประสบการณ์การทำงานที่ช่ำชอง ด้วยบุคลิกที่เป็นมิตรของป้าสุข ทำให้เราไม่แปลกใจเลยที่ร้านนี้จะมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการไม่ขาดสาย
“ช่วง 5-10 ปี แถวนี้มันบูมมากเลยนะ รายได้เราโอเคเลย ลูกค้าส่วนใหญ่ก็เป็นคนในซอย พวกสาวธนาคาร นักร้องร้านคาราโอเกะ ข้าราชการ หมอนวด หรือคนในตึก เขาก็ติดใจฝีมือเรา ให้ทำผม สระผม เสริมสวยให้ เปิดร้านได้ลูกค้าตั้งแต่เช้ายันดึก เงินก็สะพัดเลย คนคึกคัก ขนาดป้าทำคนเดียวร้านเล็กๆ วันละพันเป็นอย่างต่ำ รายได้ต่อเดือนก็ 3 หมื่นกว่าแล้ว ...
ภาพของจำนวนลูกค้าที่ป้าสุขบรรยายมา ทำให้เราจินตนาการได้ถึงสภาวะเศรษฐกิจที่เฟื่องฟูในยุคนั้น เช่นนี้เองที่เป็นเหตุให้กิจการของป้าสุขดำเนินไปอย่างราบรื่น ก่อนที่ทุกวันนี้บรรยากาศของสังคมจะแตกต่างออกไป กลายเป็นความเงียบเหงาที่เราพบเห็น
“... พอโควิดมา ได้ข่าวว่าร้านเสริมสวยต้องถูกสั่งปิด เราไม่มีรายได้เลยช่วงแรก มันก็แอบกังวล ตายละ….เราจะเอาเงินที่ไหนมาใช้จ่าย ในเมื่อเรายังต้องกินต้องใช้ ช่วงนั้นเราก็ได้เงินเยียวยาจากรัฐ 3 เดือนแรก พอได้จ่ายค่าเช่า ค่าน้ำค่าไฟ ค่าอะไร และสามีเรายังทำงานได้ปกติรายได้ไม่ได้ขาด เราก็เลยได้ทำแค่งานบ้าน ทำนู่นทำนี่ กินๆ นอนๆ ไปวันๆ ก็มีเพื่อนบ้านเขาซื้อกับข้าวมาทำกินด้วยกัน แบ่งกันกินแบ่งกันใช้ เราก็อยู่แบบประหยัดไป
ผ่านไปช่วงหนึ่ง พอมันว่างๆ ป้าก็ปรึกษากับสามีว่าเราจะทำอะไรดี ให้พอมีรายได้เข้าบ้านบ้าง เพราะเอาจริงๆ รายจ่ายเรามันก็ไม่ได้ลดลงเท่าไหร่เลย ก็คิดๆ กันว่าจะทำน้ำขาย มีน้ำกระเจี๊ยบ น้ำเก๊กฮวย น้ำขิง อันนี้เราต้มเองไปซื้อวัตถุดิบมาจากตลาดแถวนี้ คนที่มาซื้อก็เป็นรู้จักกันแถวนี้ เจอกันทีเขาก็มาช่วยอุดหนุน อย่างมากวันละ 100-200 บ้าง บางวันขายไม่ได้เลย สลับๆ กันไป ก็พอได้ค่ากับข้าวในแต่ละวันนะ …”
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีผลทำให้ร้านเสริมสวยทั่วประเทศถูกสั่งปิดให้บริการชั่วคราว1 เนื่องจากเป็นกิจการที่เสี่ยงต่อการสัมผัสและการแพร่กระจายเชื้อ จากคนที่เคยมีรายได้ไม่ขาดมือ ป้าสุขต้องอยู่อย่างประหยัดและใช้จ่ายให้น้อยที่สุด พร้อมกับการหาช่องทางรายได้ใหม่ ๆ ควบคู่ไปด้วย
“... ช่วงที่เขาผ่อนผันให้เปิดร้านได้ ป้าก็มีลูกค้าแต่น้อยลงบ้างนะ พอมาโควิดรอบ 2 นี่ก็ยังไม่เท่าไหร่ ไม่ได้แย่มาก แต่รอบล่าสุด (ณ วันที่สัมภาษณ์ 30 มิถุนายน 2564) นี่กิจการอะไรในซอยเขาทยอยปิดไปเกือบหมด คนตกงานพากันกลับต่างจังหวัดบ้าง ร้านเจ๊งบ้าง อย่างหลานป้าที่อยู่แถวนี้ทำงานโรงแรมมา 10-20 ปี เขาถูกให้ออก ก็เลยกลับบ้านนอกไปขายปลาเผาส่งออนไลน์ ในซอยนี่เงียบเลย พอคนไม่มีลูกค้าป้าก็เริ่มหาย รายได้ก็ลดลงเยอะ เหลือแต่ลูกค้าประจำที่ยังพอมีมานิดหน่อย ป้าก็ยังขายน้ำเหมือนเดิมคู่กันไป มันก็เลยยังพอมีรายได้เล็กๆ น้อยๆ แต่บางวันมันนี่ไม่ได้เลยไง สามีป้าก็คอยให้กำลังใจนะบอกอย่าไปคิดมาก ลำบากยังไงเราสองคนก็ต้องอยู่ให้ได้ ถึงอย่างงั้นเราก็อดคิดไม่ได้อยู่ดีว่ามันจะเป็นยังไงต่อไป
รอบนี้ เขายังไม่สั่งปิดร้านเสริมสวย แต่มาตรการคือ ให้ลูกค้ามาได้ทีละคน นัดล่วงหน้า ห้ามนั่งรอในร้าน แบบนี้มันก็กระทบเรานะเพราะลูกค้าเขาก็ไม่อยากมาร้านถ้าไม่จำเป็น เขาก็กลัวโรคด้วยล่ะ เราก็เสียลูกค้าไปเยอะเลย จริง ๆ เราก็เสี่ยงด้วย เราไม่รู้ว่าลูกค้าเขาไปไหนมาบ้าง เขาเป็นรึเปล่า ต่างคนต่างกลัวกัน ป้าก็ต้องปรับการดูแลร้านใหม่ พอลูกค้าไปจะรีบเช็ดทำความสะอาดร้านกับอุปกรณ์ ก็นั่นล่ะ ป้าก็อยู่แบบนี้ไป ตอนนี้ทำใจได้แล้ว มีคิดบ้างแต่ไม่ถึงกับเครียด เราไม่อยากซีเรียสมากแล้ว ก็คิดซะว่าวันนี้ไม่ได้ลูกค้า พรุ่งนี้เราก็อาจจะได้ จะได้มากได้น้อย พอได้
ค่ากับข้าวไป มันก็พอโอเค..”
สุ้มเสียงของป้าสุขถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากนโยบายภาครัฐ เป็นเรื่องราวตัวอย่างสะท้อนของผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อยที่ต้องเผชิญกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงและการปรับตัวครั้งใหญ่ อย่างไรก็ตาม สำหรับป้าสุขเธอยังคงมองเห็นความหวังว่าสถานการณ์จะดีขึ้นในอนาคต
“... ป้ายังพอมีหวังอยู่ลึกๆ ว่ามันจะดีขึ้นบ้าง แต่ดูจากตอนนี้มันก็ยากนะ บอกไม่ถูก ถ้าสมมุติสถานการณ์มันแย่ลงไปกว่านี้ แล้วเรายังต้องจ่ายค่าเช่าร้านแบบนี้ต่อไป เราก็อาจจะไม่ไหว ร้านนี้ก็คงต้องยุบไป เราน่าจะต้องย้ายไปอยู่อีกที่กับสามีเพื่อลดค่าใช้จ่าย เราก็แก่แล้วคงไปทำน้ำขาย ทำอะไรกระจุ๊กกระจิ๊กไป เท่าที่พออยู่ได้ ป้าไม่มีลูก แต่ตอนนี้มีหมาที่ต้องดูแลอยู่ 2 ตัว เอาตรง ๆ ไม่อยากเป็นอะไรเลย เพราะเราเป็นห่วงหมา เราเลี้ยงมานานขนาดนี้ เกิดป้าติดโควิดขึ้นมาเขาจะอยู่ยังไง เลยระวังตัวเท่าที่ระวังได้
เรารักอาชีพนี้นะ มันเป็นงานบริการที่ช่วยให้คนรู้สึกดี แต่ถ้าคนยังต้องทำงานที่บ้าน ไม่ได้ออกไปไหน เขาก็ไม่จำเป็นต้องมาเข้าร้านเสริมสวย จริงๆ ถ้าเลือกได้ก็ไม่อยากให้มีโรคนี้ดีกว่า คนก็คงทำอะไรได้สบายใจ ไม่มาต้องนั่งกังวลและกลัวไปหมดแบบนี้ เท่าที่ทำได้ตอนนี้คือเราต้องอดทนไปก่อน ให้มันผ่านช่วงนี้ไปได้ ชีวิตมันก็ไม่คงที่แบบนี้ล่ะมั้ง มีขึ้นมีลง เราก็ทำบุญใส่บาตร ทำจิตใจให้สบายไป จะยังไงเราก็ยังอยากมีความสุข ใช้ชีวิตเท่าที่มีอยู่เท่านี้ล่ะ …”
สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2564
1 คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ตาม พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 หารือมาตรการเพิ่มเติมเพื่อหยุดการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 ในประกาศ กทม. เรื่อง สั่งปิดสถานที่ชั่วคราว (ฉบับที่ 2) ซึ่งที่ประชุมมีมติให้ปิดสถานที่ที่มีการรวมตัวของคนหมู่มากอีก 19 ประเภทในวันที่ 21 มี.ค. 2563 เพิ่มเติมจากประกาศ กทม.ที่ให้ปิดสถานประกอบการ 6 ประเภทเมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2563 โดยสั่งปิดสถานประกอบการรวม 25 ประเภท อาทิ กิจการเสริมสวย และคลินิกเสริมความงาม สปา นวดเพื่อสุขภาพ ห้างสรรพสินค้า ยกเว้นส่วนซูเปอร์มาร์เก็ต ฯลฯ จนถึงวันที่ 12 เม.ย. 2563 (ที่มา: https://www.bbc.com/thai/thailand-51986158)
ป้ายกำกับ โควิด-19 ระลอก 3 covid-19 ระลอก 3 ร้านเสริมสวย จุฑามณี สารเสวก