Hope cluster โควิดนี้ยังมีหวัง ลำดับที่ 36

 |  วัฒนธรรมร่วมสมัย
ผู้เข้าชม : 1688

Hope cluster โควิดนี้ยังมีหวัง ลำดับที่ 36

เรียบเรียงโดย จุฑามณี สารเสวก

 

           คุณบี อายุ 25 ปี พยาบาลในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ

           ชีวิตและความเสี่ยงที่เลี่ยงไม่ได้ของคนทำงานในฐานะบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งเปรียบเสมือนหน้าด่านในการรับมือกับผู้ป่วยในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เรื่องราวของคุณบี พยาบาลในวัย 25 ปีที่ต้องปรับตัวและประคองตนเองให้อยู่ได้ภายใต้ความกดดัน

           “... เราเป็นเด็กต่างจังหวัด จริงๆ ทางเลือกอาชีพหลักๆ ในชีวิตมันก็มีไม่กี่อย่าง แถมเราก็ได้รับการปลูกฝังมาว่า สายบุคลากรทางการแพทย์เป็นอาชีพที่ดีและมั่นคงนะ ก็เลยตัดสินใจมาเรียนพยาบาล หลังเรียนจบก็มาสมัครงานที่โรงพยาบาลนี้เป็นที่แรก เพราะอยากลองเปลี่ยนบรรยากาศการทำงานมาเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ในกรุงเทพดู …”

           คุณบี เล่าที่มาที่ไปของตัวเองคร่าวๆ ให้เราฟังด้วยน้ำเสียงสดใส ในเช้าของวันที่มีเวลาว่างสักเล็กน้อยให้เราได้พอพูดคุย ก่อนกลับไปทำหน้าที่หรือเข้าเวรในช่วงบ่าย ชีวิตของการเป็นพยาบาลไม่ง่ายและเป็นความท้าทายที่เธออยากเลือกทำ

           “... การทำงานช่วงแรกต้องปรับตัวเยอะ เราเป็นพยาบาลจบใหม่ ไม่มีอาจารย์ประกบแล้ว ต้องมาดูแลชีวิตผู้ป่วยเอง ต้องรับผิดชอบทุกอย่างเอง จะทำอะไรต้องระมัดระวังเพราะมันหมายถึงชีวิตคนไข้ ถ้าเราทำผิดพลาดไป ขาข้างนึงก็อยู่ในคุกแล้ว มันก็กดดันนะ แต่มันก็ทำให้เราได้ใช้ความรู้เต็มที่และต้องมีสติตลอดเวลาในการทำงาน

           เราทำงานเป็นพยาบาลอยู่ห้องผ่าตัดตั้งแต่แรกเลย รวมๆ ก็ 3 ปีแล้ว ที่เลือกสมัครเข้ามาวอร์ดนี้เพราะมันเป็นการใช้สกิลอีกแบบหนึ่งในการช่วยชีวิตคน มันไม่ได้เจอคนเยอะหรือพูดคุยกับญาติโดยตรง เลยไม่ได้ฟีลบริการมาก พอปรับตัวได้ ก็รู้สึกชอบงานตรงนี้ ซึ่งมันจะมีช่วงที่งานหนักและไม่หนัก แต่ละวันก็จะมีตารางของการผ่าตัดกำหนดไว้ ตามเลเวลการทำงานของเรา เคสไหนเข้าได้ เข้าไม่ได้ เราต้องเรียนรู้ทุกวัน เพราะเคสแต่ละเคสก็ต่างกันไป แถมได้เรียนรู้นวัตกรรมใหม่ๆ ที่เอามาใช้ในการผ่าตัด มันเหมือนได้เรียนรู้และตื่นตัวตลอดเวลา …”

           คุณบี เป็นพยาบาลในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ที่ทำงานหนักไม่ต่างจากคนทั่วไปในประเทศที่ระบบสาธารณสุขยังสามารถรองรับผู้ป่วยได้ตามปกติ อย่างไรก็ตาม หลังจากการเกิดขึ้นของโรคอุบัติใหม่อย่างโรคโควิด-19 การทำงานของคุณบี ผู้เป็นบุคลากรทางการแพทย์ก็เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด

           “... ตอนที่รู้ว่ามีโรคโควิดเกิดขึ้น เรายังไม่รู้ว่ามันเป็นโรคระบาดใหม่แบบไหน มันไม่มีใครรู้ระดับความร้ายแรง ทุกคนในทีมกลัวกันมาก ทุกอย่างในวอร์ดก็เปลี่ยนไป ระบบองค์กรก็ต้องปรับใหม่ มันมีการโยกอัตรากำลังคนไปเป็นด่านหน้าที่คัดกรองผู้ป่วย ซักประวัติใครมีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหนที่จะมารับบริการจากเรา ในโรงพยาบาลเราก็ต้องเพิ่มวอร์ดโควิด มีการกั้นทางเฉพาะ พอมันเริ่มรุนแรง ก็ต้องสร้างห้องสำหรับผู้ป่วยวิกฤติโควิดเลย บุคลาการทางการแพทย์ต้องเวียนห้องดูแล คนที่เข้าไปดูแลจะเป็นคนเดิมๆ เพื่อลดการสัมผัส ช่วงแรกห้องผ่าตัดแมสก์ขาดแคลน จากที่ใช้แล้วทิ้งเลยกลายเป็นต้องใส่อันเดียวแบบนั้นอยู่ทั้งวัน ทุกคนใช้ชีวิตแบบหวาดระแวง ต้องล้างมือบ่อยขึ้น จากที่ตอนแรกเราก็ล้างบ่อยอยู่แล้ว พอดูแลคนไข้เสร็จ ก็ต้องมาดูแลตัวเองอีกว่าเราพลาดจุดไหนมั้ย แล้วต้องลดการสัมผัสกับคนอื่นด้วย เพื่อนพยาบาลบางคนนี่แทบจะไม่ได้เจอกันเลย หัวหน้าก็บอกว่าเลี่ยงพบเจอเพื่อนต่างวอร์ด เราก็เลยได้อยู่แค่โรงพยาบาลและหอ

           การที่มีโควิดทำให้การทำงานยากขึ้น ทุกคนในทีมก็ต้องระวัง ทุกเคสต้องผ่านการ swab ก่อน แต่ถ้าบางเคสต้องผ่าตัดด่วนเราก็รอผลตรวจโควิดไม่ได้ ต้องตัดสินใจส่งเข้าห้องผ่าตัดทันทีหน้างาน ซึ่งในทีมทุกคนต้องใส่อุปกรณ์ป้องกันตัวเองเต็มรูปแบบ อย่างเช่นการใส่ชุด PPE เพื่อป้องกันตัวเอง จริงๆ คือมันร้อนมากนะ เหงื่อท่วมเลย มันทำงานลำบากมากขึ้น เรายังถือว่าโชคดีที่ได้อยู่ในห้องผ่าตัดที่เปิดแอร์เย็นตลอด แต่บางวอร์ดที่ไม่มีแอร์ หรือหน้างานที่ทำงานในพื้นที่ที่อากาศไม่ถ่ายเท เขาก็ยิ่งแย่ที่ต้องทำงานภายใต้ชุดนั้น ….”

           คุณบีเสริมให้เราฟังว่าช่วงแรกองค์กรพยายามลดจำนวนคนให้เหมาะสมกับการทำงาน มีการแบ่งทีมกัน ลดการสัมผัสกัน เช่น ทีมเอทำครั้งเดือนแรก ทีมบีทำครึ่งเดือนหลัง เพราะอย่างน้อยถ้าทีมใดทีมนึงติดเชื้อก็ยังมีอีกทีมทำงานได้ ซึ่งช่วงนี้เป็นช่วงที่คุณบีงานโหลดมาก แต่แทบไม่มีโอที แถมรายได้เราก็ลดลงมาเยอะพอสมควร

           “ …เราเลี่ยงรับเคสไม่ได้ เคสที่นัดมาก็ต้องตรวจ ถึงผลจะเป็นบวกคือติด และต้องผ่าตัดก็ต้องทำเลย เช่น กรณีมีเคสผู้ช่วยโควิดต้องได้รับการผ่าตัดใส่ท่อหายใจ หรือคนไข้ติดเตียงที่ติดโควิด เราก็เลี่ยงคนไข้ไม่ได้ ทีนี้เลยต้องเตรียมทีมที่จะเข้าไปทำเคส มีการจำกัดคนเข้าไปดูแล เตรียมห้องและอุปกรณ์ ทุกอย่างต้องจำกัดและพอดี เพราะต้องลดการสัมผัสและฟุ้งกระจายของเชื้อของที่เข้าไปในห้องนั้นก็ต้องทิ้งไปเลยให้เป็นขยะติดเชื้อ เราต้องวางแผนการทำงานใหม่ มันไม่เหมือนเคสปกติทั่วไปที่เราเคยทำมา

           ล่าสุดมีรุ่นพี่ในวอร์ดติดโควิด เราตกใจนะ เราก็เครียดเพราะทำงานใกล้ชิดกัน เราสัมผัสพี่เขา เราก็ต้องกักตัวรอ swab ปกติทำงานทุกวัน มันก็เคว้งไปหมด พอไม่ได้ทำงานก็ไม่รู้จะทำอะไร มันอยู่แต่ในห้องที่เขาเตรียมไว้ให้ เราก็กังวลว่าจะติดแล้วเราเอาไปติดใครรึเปล่า เราแทบไม่ได้กลับบ้านเลย ไม่ได้ใช้ชีวิตแบบคนปกติทั่วไป สูญเสียรายได้ กำลังคนก็ลดอีก มันก็รู้สึกแย่นะ ได้แค่หาอะไรดู หาอะไรทำ ให้คลายเครียด เอาตรงๆ มาถึงตอนนี้ที่เราเริ่มรู้จักโควิดมากขึ้นแล้วแต่เลเวลความกลัวของเราก็ไม่ได้ลดลงเลย แค่ยังถือว่าสามารถปรับตัวใช้ชีวิตและทำงานอยู่กับมันได้ …”

           คุณบี บรรยายความรู้สึกและประสบการณ์จากการทำงานที่ผ่านมา ถึงจะมีความรู้ในด้านนี้แต่ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่มีความกลัวและต้องใช้ชีวิตภายใต้แรงกดดันกับงานที่ต้องรับผิดชอบชีวิตมนุษย์ด้วยกัน นี่คือภาพสะท้อนของสภาวะที่บุคลากรทางแพทย์หลายๆ คนกำลังเผชิญอยู่

           “.... ถึงจะได้รับวัคซีนแล้วเพราะเป็นบุคคลากรทางการแพทย์แต่เราก็ต้องป้องกันตัวเองอยู่ดี เพราะโรคมันก็ใหม่ วัคซีนก็ใหม่ เราไม่รู้ว่าผลมันจะเป็นยังไง ร่างกายเราจะมีภูมิหรือแพ้วัคซีนมั้ย ต้องระมัดระวังตัวเองในการทำงานตลอด ส่วนตัวยังมองมาตรการต่างๆ ที่รัฐออกมาว่ามันยังไม่ได้ช่วยให้เคสลดลง เพราะสุดท้ายคนก็ยังต้องออกมาใช้ชีวิตอยู่ดี ทางที่ดีที่สุดคือการป้องกันไม่ให้มีการแพร่กระจายของเชื้อ นั่นก็คือการฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ

           เรามองว่าสถานการ์ตอนนี้มันยังไม่ได้ดีขึ้น ต้องใช้เวลา ซึ่งเราก็คาดหวังนะว่ามันจะดีขึ้นนะ มันอาจจะเป็นแบบนี้ไปสักพัก ดูจากการมองจำนวนผู้ติดเชื้อในแต่ละวัน ซึ่งทุกวันนี้งานของบุคคลากรทางการแพทย์มันก็หนักอยู่แล้ว มันอาจจะต้องหนักอีกถ้าสถานการณ์มันยังเป็นแบบนี้อยู่ อนาคตมันยังดูคาดเดาไม่ได้ แต่คิดว่าวันหนึ่งมันจะสามารถควบคุมได้แน่นอนเช่นเดียวกับโรคระบาดอื่นๆ เราก็ฝากความหวังไว้ที่วัคซีนที่มีประสิทธิภาพ สามารถป้องกันการติดเชื้อและการแพร่กระจายได้ เพราะอยากให้ทุกคนได้ฉีดครบและกลับมาใช้ชีวิตได้เหมือนเดิมแล้ว ….”

 

สัมภาษณ์ ณ วันที่ 29 มิถุนายน 2564

 

ป้ายกำกับ โควิด-19 ระลอก 3 covid-19 ระลอก 3 พยาบาล จุฑามณี สารเสวก

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share