“เมียหลวง VS เมียน้อย : ละครโทรทัศน์ กับ มิติเรื่องเพศและครอบครัวในสังคมไทย
เมียหลวง VS เมียน้อย : บทบาทเพศหญิงในสื่อละครโทรทัศน์ไทย
ละครโทรทัศน์เป็นสื่อแขนงหนึ่งที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในสังคมไทย ด้วยประเด็นการนำเสนอที่มุ่งเน้นให้ความบันเทิงเป็นหลัก และมีเนื้อหาที่ดึงดูดจำนวนผู้ชมให้สามารถเลือกเสพและใช้เวลารับชมได้ยาวนาน อย่างไรก็ตาม ละครโทรทัศน์ก็ไม่ใช่เพียงแค่แหล่งผลิตความบันเทิงเริงใจอย่างที่ไร้แก่นสาร เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครกับคนดูเชื่อมโยงออกมายังชีวิตจริงและส่งผลต่อโลกทัศน์ของผู้ชม โดยเฉพาะเรื่องราวเกี่ยวกับเมียหลวงเมียน้อย ซึ่งเป็นบทบาทตัวละครเพศหญิงที่มีการผลิตซ้ำภาพจำให้เราพบเห็นได้ในหน้าสื่อตลอด เรามาดูกันซิว่าทำไมละครที่มีเนื้อหาความสัมพันธ์ผัวๆเมียๆ ถึงไม่เคยตกกระแสหรือห่างหายไปจากวงการละครไทยในบ้านเราเลย
เรื่องราวของละครโทรทัศน์ที่มักนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับเมียหลวงหรือเมียน้อย ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่สำหรับคนไทย แม้จะมีการปรับเปลี่ยนบท รายละเอียด หรือโครงเรื่องให้เข้ากับยุคสมัย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าแก่นของเนื้อเรื่องนั้นไม่หนีไปจากความรัก ค่านิยมทางสังคม บทบาททางเพศ ฯลฯ โดยเฉพาะเรื่องราวความสัมพันธ์อันแตกร้าวภายในครอบครัวที่เกิดจากการมีชู้ของผู้ชาย ซึ่งทำให้เกิดปัญหาชิงรักหักสวาทระหว่างผู้หญิงที่เป็นเมียหลวงภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมาย ผู้มีการกระทำหรือบุคลิกดีงามได้รับการยอมรับจากสังคม และเมียน้อย ผู้มักประพฤติผิดศีลธรรมและจ้องทำลายความสัมพันธ์ภายในครอบครัวของผู้อื่น
ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2561 ละครหลังข่าวเรื่อง “เมีย2018” ที่ออกอากาศผ่านช่อง ONE31 ได้รับการตอบรับและพูดถึงจากผู้ชมเป็นอย่างมาก สามารถทำเรตติ้ง (Rating) เฉลี่ยทั่วประเทศได้สูงสุดในประวัติศาสตร์ของช่อง ONE31 แซงหน้าละครจากช่องทีวีหลักที่ออกอากาศเวลาเดียวกัน ด้วยเนื้อหาที่ดัดแปลงจากซีรี่ส์เรื่อง The Fierce Wife ของไต้หวัน สะท้อนผู้หญิงยุคปัจจุบันที่แตกต่างจากอดีตที่ถึงแม้จะล้มเหลวจากชีวิตการแต่งงานเพราะสามีแอบมีชู้ แต่ก็สามารถลุกขึ้นมาปรับเปลี่ยนตัวเองจนประสบความเสร็จในหน้าที่การงาน เป็นแม่ที่ดี และเริ่มต้นความรักครั้งใหม่ได้ พร้อมทั้งนำเสนอจุดจบของเมียน้อยกับชีวิตที่ล้มเหลวและต้องเผชิญชะตากรรมอันน่าหดหู่ ทำให้ “เมีย2018” ได้รับกระแสนิยมและเป็นที่มาของการสร้างละครภาคต่อเรื่อง “อรุณา2019” ในปีต่อมา
ที่มา https://static.naewna.com/uploads/news/source/352740.jpg
ความสำเร็จของละครที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเมียหลวงเมียน้อยที่สร้างปรากฏการณ์ความนิยม ทำให้ช่อง ONE31 ผลิตละครในลักษณะนี้ขึ้นมาอีกครั้ง โดยการนำเอาละครเรื่อง “กระเช้าสีดา” มารีเมคสร้างใหม่ให้เป็นเวอร์ชันปัจจุบันและออกอากาศในปี พ.ศ. 2564 ถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตการแต่งงานของผู้หญิงที่เพียบพร้อมด้วยฐานะและหน้าที่การงาน แต่แล้ววันหนึ่งสามีก็แอบไปมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับเด็กสาวในอุปการะผู้มีนิสัยทะเยอทะยาน และให้คนดูติดตามบทสรุปชีวิตของตัวละครทั้งหมดนี้ ซึ่งละคร “กระเช้าสีดา” ที่เปิดตัวได้เพียงไม่กี่ตอนสามารถเรียกกระแสจากคนดูและทำเรตติ้งทะยานขึ้นอันดับ 1 นำละครหลังข่าวทุกช่องในขณะนั้น แม้จะต้องยุติการฉายชั่วคราวเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่ก็มีการคาดการณ์จากสื่อต่าง ๆ ว่าหากละครเรื่องนี้ได้ออกอากาศต่อน่าจะได้รับความนิยมสูงอย่างแน่นอน
ที่มา https://media.newsplus.co.th/2021/04/Screen-3-768x512.jpg
เป็นที่น่าสังเกตว่าการสร้างความเป็นจริงเกี่ยวกับบทบาทของตัวละครเมียหลวงเมียน้อยในละครโทรทัศน์ของช่อง ONE31 ในยุคปัจจุบัน แม้จะมีรูปแบบการนำเสนอและพัฒนาการในแง่เทคนิควิธีการ ทั้งยังขยายจำนวนช่องทางการรับชมไปที่สื่อออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ทว่าท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงนี้มีบางสิ่งบางอย่างที่ยังคงถาวร นั่นคือ เนื้อสารที่ละครต้องการจะสื่อแก่ผู้ชม เช่น ค่านิยมเรื่องผัวเดียวเมียเดียว บุคลิกหรือบทบาทของเพศหญิงที่สังคมให้การยอมรับ ศีลธรรมหรือข้อคิดทิ้งท้ายที่ละครต้องการสื่อสาร ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกของละครตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบันที่ผู้คนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก เสมือนเป็นเรื่องราวเหล่าที่เกิดขึ้นจริงกับตนเอง การสร้างตัวละครให้ดูคล้ายหรือเหมือนกับประสบการณ์ที่ผู้คนสัมผัสคุ้นเคยในโลกความจริงนี้ สามารถเร้าอารมณ์ของผู้ชมให้มีส่วนร่วมไปกับชะตากรรมของตัวละครและรับเอาแก่นสารบางอย่างที่ส่งผลต่อโลกทัศน์ของคนในสังคมได้อย่างแยบยล
ผัวเดียวเมียเดียว: ค่านิยมที่ถูกผลิตซ้ำในเนื้อหาละครโทรทัศน์
เรื่องราวของละครโทรทัศน์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับมโนทัศน์ผัวเดียวเมียเดียว ความเป็นเพศหญิงเพศชาย ศีลธรรมความซื่อสัตย์ หรือครอบครัวแบบอุดมคติที่มักจะเป็นที่นิยมนั้น เป็นผลพวงมาจากการปะทะกันของอุดมการณ์สถาบันครอบครัวสมัยใหม่และชุดความคิดชายเป็นใหญ่ที่หยั่งรากลึกมานานในสังคมไทย
งานศึกษาทางวิชาการเรื่อง “ผัวเดียวเมียเดียวในสังคมไทยสมัยใหม่จากทศวรรษ 2410 ถึงทศวรรษ 2480” โดยสุรเชษฐ์ สุขลาภกิจ (2556) ระบุว่า ตั้งแต่ทศวรรษ 2410 ได้อธิบายไว้ว่า ประเด็นผัวเดียวเมียเดียวเริ่มมีความสำคัญในบริบทการสร้างภาวะสมัยใหม่ขึ้นมาเพื่อรับมือและตอบโต้การท้าทายจากจักรวรรดินิยมตะวันตก จนในที่สุดได้นำมาประกาศใช้เป็นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ครอบครัว ซึ่งรับรองหลักการผัวเดียวเมียเดียวในปี พ.ศ. 2478 ตามมาด้วยการสร้างวัฒนธรรมผัวเดียวเมียเดียวในทศวรรษ 2480 โดยการศึกษาผ่านวิวาทะกระบวนการร่างกฎหมายครอบครัวสมัยใหม่และในสื่อต่างๆ เพื่อถกเถียงหาทางพลิกแพลงมโนทัศน์ผัวเดียวเมียเดียวในฐานะตัวแทนสภาวะสมัยใหม่แบบตะวันตกเข้าสู่สยาม โดยที่ไม่ให้ขัดกับขนบครอบครัวเดิมที่เป็นลักษณะผัวเดียวหลายเมีย อันเป็นค่านิยมที่มีนัยยะถึงอำนาจบารมีของผู้ชายในสังคมมาอย่างยาวนาน ซึ่งชุดความคิดเหล่านี้ก็ทำงานร่วมกับสถาบันทางสังคม โดยเฉพาะสถาบันครอบครัวที่มีบทบาทสำคัญในการเสริมย้ำและธำรงรักษาแบบแผนที่มีอยู่ ด้วยฐานคิดที่ว่าครอบครัวเป็นหน่วยพื้นฐานสำคัญที่สุด การมีผัวเดียวเมียเดียวจะช่วยส่งเสริมให้สถาบันครอบครัวและสังคมมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน การผลิตซ้ำอุดมการณ์ผัวเดียวเมียเดียวในสังคมไทยนี้ นอกจากจะบังคับใช้ในทางกฎหมายแล้ว ยังรวมไปถึงการปรากฏในรูปแบบของสื่อต่าง ๆ ทั้งนิตยสาร หนังสือพิมพ์ ภาพยนตร์ หรือละครโทรทัศน์ ซึ่งงานวิจัยเรื่อง “การประกอบสร้างความหมายของผู้หญิงที่ถ่ายทอดผ่านตัวละครหญิงในละครโทรทัศน์ไทยยอดนิยมที่ถูกผลิตซ้ำ ระหว่างปี พ.ศ.2530 - 2560” โดย อวิรุทธ์ ศิริโสภณา และประภัสสร จันทร์สถิตย์พร (2560) ได้ศึกษาการประกอบสร้างความหมายของผู้หญิงในสังคมไทยละครโทรทัศน์เรื่อง “เมียหลวง” ที่มีการนำกลับมาสร้างใหม่หรือรีเมคหลายเวอร์ชั่น โดยผลสรุปในงานวิจัยชิ้นนี้คือ ผู้สร้างสรรค์ละครโทรทัศน์ต้องดำเนินงานภายใต้ระบบเรตติ้ง จึงนิยมสร้างละครรีเมคเพราะเป็นการการันตีเรตติ้งได้ส่วนหนึ่ง ซึ่งหมายความว่า พวกเขาได้กระทำผลิตซ้ำย้ำความหมายเดิมของความเป็นเพศ ทั้งยังเป็นการประกอบสร้างความหมายของผู้หญิงในสังคมไทยในลักษณะเช่นเดิม และกลายเป็นการสืบทอดอุดมการณ์ปิตาธิปไตย โดยเฉพาะบทบาทเพศหญิงที่ (ควรจะ) เป็นเมียและแม่ที่ดี การสร้างภาพแทนเมียน้อยว่าเป็นผู้หญิงเลวร้าย ตลอดจนการยอมรับความเจ้าชู้ของผู้ชายว่าเป็นเรื่องสามารถที่เกิดขึ้นได้อย่างปกติ
ที่มา https://thestandard.co/wp-content/uploads/2021/04/3.png
วิเคราะห์อิทธิพลของสื่อละครโทรทัศน์ที่มีต่อผู้คนในมุมมองสังคมศาสตร์
A. Gramsci นักวิชาการทฤษฎีวิพากษ์ก็ให้ความสนใจด้านการวิเคราะห์วัฒนธรรม ได้นำเสนอแนวคิดเรื่อง “Hegemony” หรืออำนาจครอบงำ อันหมายถึง การครอบงำทางชนชั้นโดยใช้วิธีการทางการเมืองและอุดมการณ์ประสานเข้าด้วยกัน ทำให้เกิดการยอมรับอำนาจเข้าไปอยู่เป็นส่วนสำคัญของอุดมการณ์ ทำให้เกิดสำนึกเรื่องชนชั้นตามอุดมการณ์ การรักษาดุลระหว่างการบังคับใช้อำนาจกับการทำให้เกิดการยอมรับอำนาจครอบงำจะแตกต่างกันไปในแต่ละสังคม (สุภางค์ จันทวานิช, 2557: 187-188) โดย Gramsci ใช้คำว่า “Hegemony” ใน 2 ปริมณฑล คือ Political Hegemony อันหมายถึง การสถาปนาระบบการเมืองระบบหนึ่งให้กลายเป็นระบบหลักในของสังคม เช่น ระบอบการปกครองตามวิถีประชาธิปไตยแบบตัวแทน และอีกหนึ่งปริมณฑล คือ Cultural Hegemony หมายถึง การสถาปนาระบบความคิด ระบบอุดมการณ์ ระบบวัฒนธรรมอันหนึ่งให้กลายมาเป็นระบบความคิดหลักและวัฒนธรรมหลักของสังคม รวมถึงกีดกันระบบความคิดอื่นๆ หรือวัฒนธรรมอื่นๆ ให้กลายเป็นสิ่งไม่ชอบธรรม ซึ่งในชีวิตประจำวันเราได้พบเห็นบรรดาวาทกรรม (Discourse) หรือชุดความจริงเหล่านี้เผยแพร่ผ่านสื่อมวลชนประเภทต่างๆ
Gramsci จึงเสนอว่า การที่สังคมสามารถสืบทอดตัวเองต่อไปได้ผ่านการผลิตซ้ำจำเป็นต้องอาศัยกลไกทางสังคมมาธำรงรักษาไว้ แบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ กลไกด้านการปราบปราม (Repressive Apparatus) เช่น กฎหมาย ตำรวจ คุก ศาล ฯลฯ อันมีอำนาจหน้าที่บังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรม และกลไกด้านอุดมการณ์ (Ideological Apparatus) เช่น โรงเรียน ครอบครัว ศาสนา และสื่อมวลชน ซึ่งกลไกด้านอุดมการณ์นี้เองที่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและแยบยลในชีวิตประจำวัน สามารถทำให้ผู้คนยินยอมพร้อมใจและคล้อยตามได้
ฉะนั้น พิจารณา Hegemony ของการสื่อสารมวลชนตามแนวคิดของ Gramsci ก็คือการนำเอาวัฒนธรรมข่าวสาร ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของข่าว ความบันเทิง เรื่องแต่ง ฯลฯ มาธำรงรักษาสภาพสังคมที่มีการแบ่งแยกและการครอบงำให้ดำรงอยู่สืบเนื่อง โดยสอดแทรกความคิดต่าง ๆ อันมีผลทำให้โครงสร้างอำนาจและค่านิยมต่าง ๆ ของสังคมดูเป็นเรื่องธรรมดาสามัญและยอมรับได้ ผ่านกลยุทธ์แบบไม่ใช้อำนาจบังคับใช้อย่างรุนแรงในเนื้อหา และใช้วิธีการนำเสนออย่างแนบเนียน ซึ่งการ Hegemony ทางด้านวาทกรรมที่ปรากฏอยู่ในสื่อมวลชนนั้น ทรงพลังมากกว่าการ Hegemony ทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองเสียอีก เพราะข้อความที่ปรากฏในสื่อมวลชนเป็นการให้คำนิยามสังคม ให้นิยามชีวิต ให้นิยามกลุ่มคน ฯลฯ ในฐานะกลไกของสังคมแม้ตัวของสื่อจะไม่ได้กระทำการโดยตรงก็ตาม (กาญจนา แก้วเทพ, 2545: 183-187)
ดังนั้น ความนิยมในการผลิตซ้ำละครเกี่ยวกับเมียหลวงเมียน้อย ที่ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องในสังคมไทย จึงเป็นผลพวงมาจากการส่งต่ออุดมการณ์ครอบครัวผัวเดียวเมียเดียว ความเป็นเพศหญิงเพศชายในมุมมองของผู้ผลิตที่ยังคงมีระบบความคิดชายเป็นใหญ่ที่กดทับความไม่เท่าเทียมนั้นให้ดำรงคงไว้ การกำหนดความเป็นเพศโดยให้ผู้หญิงมีคุณลักษณะบางอย่าง และผู้ชายมีคุณลักษณะบางอย่าง ทั้งยังเชื่อว่าเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ นำไปสู่การกำหนดบทบาทหน้าที่ รวมทั้งสถานะสูงต่ำที่แตกต่างกันของคนสองเพศ ทำให้ผู้หญิงถูกมองอยู่ในสภาพเป็นผู้ที่เป็นผู้ตาม และเป็นผู้ถูกกำหนด ในขณะที่ผู้ชายที่อยู่ในฐานะเหนือกว่า เป็นผู้นำเป็นผู้กำหนด และอนุญาตให้กระทำการบางอย่างได้ ผ่านกระบวนการขัดเกลาทางสังคมโดยมีสื่อละครโทรทัศน์อันเป็นสื่อบันเทิงที่มักถูกมองว่าไร้แก่นสาร แต่ในอีกด้านหนึ่งจึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ให้ความชอบธรรมในการใช้อำนาจอันไม่เท่าเทียมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากไม่มีการบังคับข่มขู่ ทำให้เรื่องราวที่ปรากฏในโทรทัศน์สามารถส่งต่ออุดมการณ์หลักของสังคม และโน้มน้าวใจผู้ชมให้ยินยอมรับอุดมการณ์หรือค่านิยมนั้นๆ จนซึมซับเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นตัวตนของคนในสังคมได้
เมื่อการเสพสื่อที่กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตผู้คน ทำให้อิทธิพลของสื่อสามารถขัดเกลาสมาชิกในสังคมได้ ละครโทรทัศน์นับเป็นสื่อมีอิทธิพลต่อการรับรู้ความจริงของโลกทางสังคมมากที่สุด เพราะสามารถสื่อได้ทั้งภาพ เสียง สี และภาพเคลื่อนไหวได้พร้อมกัน ทำให้เรื่องราวที่ปรากฏในโทรทัศน์สามารถส่งต่ออุดมการณ์หลักของสังคม และสามารถโน้มน้าวใจทำให้ผู้ชมยินยอมรับอุดมการณ์หรือค่านิยมนั้นๆ ได้ โดยที่ไม่ต้องข่มขู่บังคับ ผู้ชมสมัครใจในการรับแก่นสารนั้นๆ จนเกิดเป็นสำนึกเรื่องความเป็นเพศและอุดมการณ์สถาบันครอบครัวที่ผู้ชมให้การยอมรับและสามารถลดทอนการขัดขืนอำนาจได้ ผ่านการให้อุทาหรณ์สอนใจในฐานะที่ให้คำอธิบายว่าชะตากรรมของชีวิตคู่ของคนอื่นก็ไม่ได้แตกต่างหรือเป็นยิ่งกว่าในชีวิตตัวเอง ผู้ชมจึงสามารถจินตนาการสมมุติตัวเองและเรียนรู้วิธีคิดจากตัวละคร แก่นสารเหล่านี้จึงสามารถแทรกซึมพื้นที่ทางความคิดและจิตใจของผู้คน ซึ่งในท้ายที่สุดการผลิตซ้ำอุดมการณ์ด้านความไม่เท่าเทียมทางเพศนี้ ก็กลายเป็นภาพชินตาในละครโทรทัศน์ไทยแม้บริบทยุคสมัยจะเปลี่ยนแปลงไป และผู้คนให้ความตระหนักถึงความไม่เท่าเทียมทางเพศมากขึ้นก็ตาม
เอกสารอ้างอิง
หนังสือ
กาญจนา แก้วเทพ. การศึกษาสื่อมวลชนด้วยทฤษฎีวิพากษ์. กรุงเทพมหานคร: เลิฟ แอนด์ ลิฟ, 2547
กาญจนา แก้วเทพ. “มิติด้านอุดมการณ์ในละครโทรทัศน์ไทย”. ศิลปวัฒนธรรม 13, 4 (ก.พ. 2535) ; หน้า 218-228
กาญจนา แก้วเทพ. สื่อบันเทิง: อำนาจแห่งความไร้สาระ. กรุงเทพมหานคร: ออล อเบ้าท์ พริ้นท์, 2545
สุภางค์ จันทวานิช. ทฤษฎีสังคมวิทยา. กรุงเพมหานคร: บริษัทวี.พริ้นท์ (1991) จำกัด, 2555
งานวิจัยและวิทยานิพนธ์
ณัฐพร อาจหาญ. (2531). “การสร้างความเป็นจริงทางสังคมของเมียน้อยในละครโทรทัศน์”. วิทยานิพนธ์วารสารศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
สุรเชษฐ์ สุขลาภกิจ. (2556). “ผัวเดียวเมียเดียวในสังคมไทยสมัยใหม่จากทศวรรษ 2410 ถึงทศวรรษ 2480”. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
อวิรุทธ์ ศิริโสภณา และประภัสสร จันทร์สถิตย์พร. (2560). “การประกอบสร้างความหมายของผู้หญิงที่ถ่ายทอดผ่านตัวละครหญิงในละครโทรทัศน์ไทยยอดนิยมที่ถูกผลิตซ้ำ ระหว่างปี พ.ศ.2530 - 2560” วิทยานิพนธ์นิเทศศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
สื่อออนไลน์
TSIS. (2563). ‘เมียน้อย’ (แต่มาก) เป็นอย่างไร ทำความเข้าใจผ่านงานวิจัย. เข้าถึงเมื่อ 10 กรกฎาคม 2564. เข้าถึงได้จาก https://www.thetsis.com/post/2020-research-tips-mistress
TheStandard. ‘กระเช้าสีดา’ เวอร์ชันใหม่ นุ่น วรนุช ฟาดพลังกับ กรีน อัษฎาพร พลิกจากบทประพันธ์และเวอร์ชันเดิมอย่างแปลกตา. เข้าถึงเมื่อ 15 กรกฎาคม 2564. เข้าถึงได้จาก https://thestandard.co/krachao-seeda/
มติชนออนไลน์. ‘ป้อน นิพนธ์’ ปลื้มความสำเร็จ ‘เมีย 2018’ ขอโทษโฆษณาโผล่ บอกเป็นเรื่องธุรกิจ. เข้าถึงเมื่อ 12 กรกฎาคม 2564. เข้าถึงได้จาก https://www.matichon.co.th/entertainment/news_1107555
ป้ายกำกับ เมียนมา เพศสภาพ ละครโทรทัศน์ วัฒนธรรมร่วมสมัย จุฑามณี สารเสวก