สมุทรสาครก่อนนอนคืนนี้

 |  วัฒนธรรมร่วมสมัย
ผู้เข้าชม : 5608

สมุทรสาครก่อนนอนคืนนี้

 

เรื่องโดย บำเพ็ญ ไชยรักษ์

 

 

ผู้คนในสมุทรสาครรอตรวจคัดกรอง ภาพโดย เริงฤทธิ์ คงเมือง

 

สมุทรสาครก่อนรุ่งสาง

           รถตู้เคลื่อนมาตามถนนสายหลักหลายเลน ก่อนจะเลี้ยวลัดเลาะเข้าไปในย่านตลาด เลียบคลองน้ำ สวนผัก เรือนแถวที่พักคนงาน ไซต์งานก่อสร้าง โรงงานใหญ่-น้อย บ้านเรือน ก่อนขับเข้ามาจอดข้างตึกสูงริมฝั่งแม่น้ำท่าจีน ผู้โดยสารออกอาการกล้าๆ กลัวๆ ที่จะก้าวขาลงจากรถ แต่เมื่อเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยส่งสัญญาณนกหวีดรัว ๆ ว่าห้ามจอดก็จำเป็นที่ต้องรีบกระชับหน้ากากอนามัย แล้วพุ่งตัวลงจากรถมายืนอยู่หน้าตึกโรงพยาบาลกระทุ่มแบน อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาครแบบงงๆ

           ลมแม่น้ำพัดเย็นสบาย แต่ผู้มาเยือนกลับรู้สึกสะท้านหนาว ประตูทุกด้านของตึกปิดคล้องโซ่เส้นเขื่อง เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยแจ้งว่าเป็นมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด 19 ต้องเข้าออกทางเดียวและคัดกรองด้วยการล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ ตรวจเครื่องสแกนอุณหภูมิร่างกาย หากอุณหภูมิปกติจะได้รับสติกเกอร์กลมๆ สีเขียว เล็กๆ ติดไว้ที่อกเสื้อจึงจะผ่านได้

           “บรรยากาศแปลกๆ เหมือนในหนังเลยเนาะ”

           เพื่อนร่วมทางให้ความเห็นเมื่อมองไปรอบๆ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลประจำจุดต่างๆ ล้วนสวมชุดป้องกันส่วนบุคคคล (PPE) แบบครึ่งตัว หน้ากากอนามัย บางคนมีเฟสซิล ไม่เว้นแม้แต่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) หรือแม่บ้านที่เดินอยู่ตามตึก พวกเราต้องเดินวนหาทางขึ้นไปบนอาคารพิเศษชั้น 5 ที่บัดนี้ปรับเป็นวอร์ดสำหรับคนไข้โควิด-19 ที่แสดงอาการป่วยทั้งคนไทยและต่างประเทศ ส่วนคนป่วยคนไทยที่ตรวจพบเชื้อแต่ไม่แสดงอาการจะมีการกักตัวเฝ้าดูอาการอยู่ที่วอร์ดห้องรวมชั้นล่าง ขณะที่คนป่วยที่เป็นแรงงานต่างประเทศที่ไม่แสดงอาการทั้งหมดต้องไปอยู่ที่โรงพยาบาลสนามซึ่งมีการจัดตั้งไว้แล้วอย่างน้อย 3 แห่งสามารถรองรับผู้ป่วยได้มากกว่า 3,000 - 5,000 คน

 

เจ้าหน้าที่สอบสวนโรคจากสำนักงานสาธารณสุขที่มาช่วยงานควบคุมโรคที่จังหวัดสมุทรสาคร

ภาพโดย เริงฤทธิ์ คงเมือง

 

           เรานัดหมายขอเข้าสังเกตการณ์การทำงานของเจ้าหน้าที่สอบสวนโรคจาก สำนักงานสาธารณสุข จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมาช่วยงานควบคุมโรคที่จังหวัดสมุทรสาคร ในช่วงเวลาที่จังหวัดสมุทรสาครเป็นศูนย์กลางการระบาดโควิด 19 ระลอกที่ 2

           เมื่อหาทางขึ้นตึกพบเราก็ผ่านการตรวจคัดครองต่างๆ ก่อนขึ้นลิฟท์มายังชั้น 5 ของอาคาร พอเดินออกจากลิฟท์ก็พลันพบเจ้าหน้าที่ที่นัดไว้ในชุดเสื้อกั๊กกรมควบคุมโรคกำลังจะเดินเข้าลิฟท์พอดี เลยได้ทราบว่าวันนี้งดสอบสวนโรคที่โรงพยาบาล เพราะมีคนไข้อาการวิกฤตต้องสอดท่อช่วยหายใจเร่งด่วนสองราย ว่าแล้วคนในเสื้อกั๊กทั้งสองก็ขอตัวกลับออกไปเปลี่ยนสนามสอบสวนโรคไปในชุมชนแทน

           แสงแดดยามสายสาดผ่านกระจกบานใหญ่มาจากด้านตะวันออก โค้งแม่น้ำท่าจีนผิวน้ำราบเรียบสะท้อนแสงเป็นสีเทาทอง ราวภาพวาดสีน้ำมันโทนเหลื่อมเทาๆ

           มองผ่านประตูกระจกหลายชั้นเข้าไปภายในห้องอำนวยการที่หมอและพยาบาลกำลังทำงานวุ่นอยู่ จอฉายภาพห้องพักคนไข้ คนทำงานในชุดสีฟ้าเคลื่อนไหวหยิบจับสิ่งของอยู่พัลวัน

           ทีมผู้มาเยือนและผู้ประสานงานจากกรมควบคุมโรค ตกลงกันว่าเราจะถอยไปตั้งหลักหาข้าวเช้ากินกันก่อน ค่อยกลับเข้ามาอีกครั้ง

           เมื่อตั้งหลักได้มั่นคง อิ่มท้องจากร้านก๋วยเตี๋ยวที่วัดริมแม่น้ำใกล้ๆ โรงพยาบาลแล้ว คณะเราก็กลับเข้ามาโรงพยาบาลกระทุ่มแบน มุ่งหน้ายังวอร์ดโควิด 19 อีกครั้ง ขณะหาทางขึ้นตึกพบว่าข้างหลังตึกมี บรรดาบุคลากรทางการแพทย์และคนไข้จำนวนหนึ่งกำลังเรียงแถวรอคิวเข้าเก็บตัวอย่างสิ่งส่งตรวจจากโพรงจมูกเพื่อตรวจหาเชื้อโควิด 19 จำนวนมาก เพราะตอนนี้โรงพยาบาลกระทุ่มแบนต้องมีการสับเปลี่ยนกำลังกันวุ่นวายเมื่อบุคลากรจำนวนหนึ่งต้องกักตัวถึงสองสัปดาห์จากการสัมผัสเสี่ยง หลังพบบุคลากรในโรงพยาบาลบางคนกลายเป็นผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโควิด 19 ทำให้ทั้งเจ้าหน้าที่และคนไข้ที่สัมผัสเสี่ยงต้องเข้ารับการตรวจหาเชื้อ

 

การเก็บตัวอย่างสิ่งส่งตรวจจากโพรงจมูกเพื่อตรวจหาเชื้อโควิด-19 ภาพโดย เริงฤทธิ์ คงเมือง

 

           ห้องด้านหลังตึกปรับให้เป็นห้องแรงดันลบเพื่อเก็บตัวอย่างสิ่งส่งตรวจชั่วคราว เจ้าหน้าที่จากแผนกทันตกรรมมาทำหน้าที่เก็บตัวอย่างสิ่งส่งตรวจในวันนี้ เพราะตั้งแต่โควิด 19 ระบาดแผนกทันตกรรมก็ปิดชั่วคราว ขณะที่เจ้าหน้าที่แผนกอายุรกรรมทั้งหมดต้องเข้ารับการตรวจ

           นายแพทย์พรชัย พงศ์ประภากร รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลกระทุ่มแบน ที่นำไปดูและอธิบายความจำเป็นการปรับสถานที่เตรียมรับมือกับจำนวนผู้ป่วยยืนยันที่กำลังเพิ่มขึ้น โดยตอนนี้เจ้าหน้าที่ที่มีความเสี่ยงสูงสัมผัสผู้ป่วยยืนยันโดยไม่รู้ตัวตอนนี้กักตัวที่ห้องพักชั้น 8 ของอาคารหลังใหม่ 10 ชั้น ที่เพิ่งสร้างเสร็จยังไม่เปิดให้บริการ ซึ่งตอนนี้กำลังปรับให้เป็นห้องปฏิบัติการตรวจหาเชื้อโควิด 19 (ห้องแล็บ) และสถานที่กักตัวของบุคลากรที่สัมผัสเสี่ยงสูง

           หลังจากดูโดยรอบแล้ว คณะเรากลับขึ้นไปตึกพิเศษชั้น 5 พอเดินออกจากลิฟท์เลี้ยวขวาหันหน้าเข้าหาห้องทำงานของพยาบาลและแพทย์ประจำวอร์ด ป้าแม่บ้านถอดชุดป้องกันส่วนบุคคลและทำความสะอาดร่างกายแล้วเสร็จหลังจากกลับออกมาจากการทำความสะอาดห้องพักคนไข้ ป้ายืนอยู่กับน้องพยาบาลที่กำลังเช็คและจัดเก็บเวชภัณฑ์จำนวนมากที่เพิ่งขนมากองไว้กลางห้องรอคัดแยกจัดระเบียบ กองเวชภัณฑ์เหล่านั้นทำให้ห้องซึ่งแคบอยู่แล้วแคบลงไปอีก

           เมื่อได้รับแจ้งภารกิจของผู้มาเยือน รัชดา แก้วอินชัย หรือพี่เข่ง พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ ผู้ซึ่งทำงานวิชาชีพพยาบาลมาตั้งปี 2528 ปีจนบัดนี้เธออยู่กับอาชีพนี้มานาน 36 ปี เธอรับหน้าที่เป็นหัวหน้าพยาบาลประจำวอร์ดพิเศษเฉพาะกิจในช่วงวิกฤตแพร่ระบาดของโรคโควิด 19

           “บนนี้มีคนป่วยยืนยันทั้งสิ้น 24 คนในจำนวนนี้มีคนไข้วิกฤตอาการหนักอยู่ 3 ราย ในจำนวนนี้จัดให้อยู่ในห้องแยกเฉพาะ 2 คนและอยู่ ICU 1 คน”

 

พยาบาลกำลังจดจ่ออยู่กับการส่งสัญญาณบังคับ “น้องปิ่นโต” ภาพโดย เริงฤทธิ์ คงเมือง

 

           ผู้มาเยือนทั้งสามได้รับอนุญาตให้ยืนสังเกตการณ์และถ่ายภาพการทำงานอยู่ด้านนอกในโซนปลอดภัยขณะที่สาวพยาบาลคนหนึ่งกำลังนำถุงอาหารวางบนชั้นวางหุ่นยนต์ “น้องปิ่นโต” ที่ใช้เครื่องบังคับให้เคลื่อนไปจอดหน้าห้องพักคนไข้ที่ได้รับโทรศัพท์ให้ออกมารับอาหารทีละห้อง

           “ฝึกมาหลายวันแล้วตอนนี้เริ่มคล่อง” น้องพยาบาลที่กำลังจดจ่ออยู่กับการส่งสัญญาณบังคับ “น้องปิ่นโต” ให้พาห่อข้าวที่มีชื่อคนไข้ให้ไปจอดตรงหน้าห้องคนไข้คนนั้น           

           คุณหมอกำลังฝ้าดูจอมอร์นิเตอร์ห้องคนไข้พร้อมโทรศัพท์พูดคุยสอบถามอาการคนไข้และอธิบายแนวทางการตรวจรักษาทีละราย

           อัมไพ หุ่นภู อายุ 61 ปี แม่บ้าน ทำงานทำความสะอาดในโรงพยาบาลมา 20 ปี ก่อนมาทำที่วอร์ดโควิดก็ได้รับการฝึกอบรมเรื่องการป้องกันตัวเองก่อนจนมั่นใจว่าเราทำได้ก็ทำและฝึกน้องๆ คนอื่นที่หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันมาทำ คุณแม่บ้านบอกว่าการเช็ด ถู ขัด ล้าง เก็บขยะ เปลี่ยนผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน เสื้อผ้าของผู้ป่วย ต้องทำอย่างระมัดระวัง ป้องกันไม่ให้เชื้อกระจายไป

           “งานของเราช่วยหมอ พยาบาล การทำความสะอาดช่วยป้องกันให้ทุกคนปลอดภัยอีกทาง ช่วยให้มีระเบียบเรียบร้อยทำงานง่าย”​ ป้าอัมไพเล่าด้วยความภูมิใจกับงานของตัวเองทำมาจนเป็นมืออาชีพ

           “พี่เข่งจ๋า...เย็นนี้หนูขอพิชซ่าถาดใหญ่นะจ๊ะ”  น้องพยาบาลสาวอวบอ้อนพี่หัวหน้าวอร์ด พร้อมส่งสายตาพริ้มหวาน เธอรู้ดีว่าแววตาของตัวเองมีพลังเกินกว่าที่จิตใจอันปรานีของพี่เข่งจะทานได้ ไม่ว่าเธอจะปรารถนา ส้มตำข้าวโพด, ยำวุ้นเส้นทะเล, ยำมะม่วงเปรี้ยว หรืออื่นใด พี่เข่งก็จะพาสิ่งนั้นมาวางตรงหน้า แม้วันที่เธอลืมบอกก็ยังมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่อร่อยๆ มาวางบริเวณที่พักเจ้าหน้าที่ สำหรับเธอและผองเพื่อนเสมอ

           วันนี้เธอและเพื่อนลงความเห็นว่ารู้สึก “โหย” เพราะเพิ่งกรำงานช่วยแพทย์ในการสอดท่อหายใจให้ผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบวิกฤตไป 2 ราย และช่วยเหลือคนไข้ที่เข้ามาเพิ่มขึ้น

           เข่งเล่าว่า น้องๆ ที่กำลังทำงานกันเป็นพยาบาลบรรจุใหม่ ทำงานในวอร์ดนี้เดือนเศษไม่มีใครได้กลับบ้านเลย พวกเขาทำงานมาหลายปีแล้ว แต่เพิ่งได้บรรจุเป็นข้าราชการ ถ้าไม่มีวิกฤตโควิดก็ไม่แน่ว่าจะได้บรรจุ เธอในฐานะรุ่นพี่เห็นว่าน้องๆ ทำงานหนักมากจึงมักจะหาของกิน ของฝากเล็กๆ น้อยๆ พามาให้กำลังใจน้องๆ เสมอ

           พี่เข่งเล่าว่าตอนโควิดระบาดรอบแรก บุคลากรทางการแพทย์เริ่มเรียนรู้และเตรียมทีมกันไว้ แม้รอบที่สองที่สมุทรสาครจะค่อนข้างหนักคนไข้ที่ขึ้นมาวอร์ดพิเศษนี้มักจะไปจบที่ใส่ท่อหายใจกันหลายราย ทำให้ทุกคนเหนื่อยมาก เรามีน้องพยาบาลมาทำงานในวอร์ดนี้วันละสามสี่คนสลับกันมา โดยได้ฝึกฝนเรียนรู้กันว่าเราจะอยู่กับเชื้อโรคชนิดนี้ให้ตัวเองปลอดภัยได้อย่างไร แต่เพื่อความไม่ประมาทโรงพยาบาลมีการเตรียมทีมสนับสนุนที่เข้มแข็ง เพราะวันหนึ่งทีมที่อยู่วอร์ดนี้อาจจะล้มไปทั้งทีมหากมีใครคนใดคนหนึ่งได้รับเชื้อมา เราทำได้แค่ป้องกันตัวเองให้ดีที่สุดปรับตัวเองให้อยู่กับโรคให้ได้เหมือนอยู่กับไข้หวัดเพราะมันจะไม่หายไปจากเรามันจะอยู่กับเราไปอีกนานหรืออาจจะอยู่ตลอดไป

           “เราคงต้องเข้าไปคุยกันข้างใน”  พี่เข่งขยับบอกทีม เพราะจะมีการนำคนผู้ป่วยรายใหม่อีกคนผ่านเข้ามาทางนี้ ว่าพลางเธอก็เปิดประตูให้พวกเราเข้าไปรวมอยู่ในห้องทำงานประจำวอร์ดที่มีคุณหมอ และพยาบาลทำงานอยู่ก่อนแล้ว 

           คุณหมอจดจ่ออยู่กับการอ่านบันทึกรายงานคนไข้ สอบถามรายละเอียดอาการจากพยาบาล เฝ้าดูจอมอนิเตอร์แสดงภาพภายในห้องพักคนไข้ ต่อสายคุยกับคนไข้ทีละคนๆ ทำบันทึกการตรวจรักษาและสั่งยาเป็นรายๆ ไป

 

การทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ ต่อสายคุยกับคนไข้ทีละคน ภาพโดย เริงฤทธิ์ คงเมือง

 

           แม่บ้านและพยาบาลสองสามคนยังขยับจัดเก็บเวชภัณฑ์จำนวนมากที่วางอยู่กลางห้องเข้าที่ ผู้มาเยือนได้แต่มองไปรอบ เพราะการขยับเดินไปถามนั่นนี่ในห้องนี้ดูจะเกะกะไร้ประโยชน์อย่างที่สุด

           คนไข้ปอดอักเสบรายใหม่ในเปลนอนแรงดันลบเข็นผ่านเข้าไปในห้องกระจกอีกด้านหนึ่ง แม่บ้านตามออกไปทำความสะอาดตามทางเดินและลิฟท์ทันที ก่อนพี่เข่งจะพาออกไปยืนคุยกันต่อที่เดิม

           คนไข้รายใหม่เป็นผู้สูงอายุติดเตียงมีอาการปอดอักเสบอยู่ระหว่างรอผลตรวจเชื้อโควิด 19 คนไข้อาศัยอยู่กับลูกสาวและหลานตัวเล็กซึ่งอยู่ที่บ้านด้วยกันมาก่อน เมื่อลูกสาวจำเป็นจะต้องมาเฝ้าแม่แต่ไม่อาจจะทิ้งลูกน้อยอยู่บ้านคนเดียวได้ เดินมาขอความเห็นใจจากพี่เข่งว่าคืนนี้เธอจะขอพาลูกมานอนในห้องแยกของคนป่วยผู้เป็นแม่ที่เพิ่งเข็นเตียงผ่านไป

           “ฝากแม่ก่อนนะหมอ ขอลงไปเอาเสื้อผ้าก่อน”  หญิงวัยกลางคนที่เพิ่งเดินกระหืดกระหอบขึ้นบันไดมาพูดกับพยาบาล ที่พิจารณาแล้วว่าทั้งสามสัมผัสอยู่บ้านด้วยกันมาตลอด การอยู่ด้วยกันในห้องแยกตัวก็เป็นทางเลือกเดียวของครอบครัวนี้ระหว่างรอผลตรวจ

           “ไม่ต้องห่วงเราจะดูแลให้”  เมื่อได้ยินพยาบาลพูดเช่นนั้น หญิงคนนั้นก็กระตุกแขนเด็กชายตัวน้อยที่ยังชะเง้อมองหาเตียงของคุณยายที่เข็นลับไปแล้ว

           “แม่จะเป็นไรไหม ลูกจะอยู่กับใครหากเธอป่วยอีกคน หยุดงานมาร่วมเดือนจะมีเงินที่ไหนใช้จ่ายระหว่างที่รักษาตัว”  ความคิดเหล่านี้วนเวียนอยู่ในหัวของเธอ ลูกชายตัวน้อยหลับไปแล้ว แม่หายใจรวยระรินอยู่บนเตียงคนไข้ ไม่ว่าบนบ่าจะแบกอะไรไว้เธอก็วางหัวลงกับกระเป๋าเสื้อผ้าที่ใช้ต่างหมอนแล้วค่อยๆหลับตาลง

           “โชคดีที่มีสิทธิรักษาพยาบาล ได้ห้องพัก ได้อยู่ใกล้หมอ”  ก่อนนอนคืนนี้ความคำนึงยังวนเวียนถึงค่าใช้จ่าย สิทธิ โอกาส และโชคชะตาของตัวเองและครอบครัวที่มีกันเพียงสามคน

           ขอบฟ้าขลิบแสงตะวันสีแดงระเรื่อค่อย ๆ ส่องลำแสงอ่อน ๆ เหนือผิวน้ำ...ที่สมุทรสาครก่อนรุ่งสางวันนี้มีคนคนหนึ่งยังนอนลืมตาโพลง

 

คนไข้ที่ที่รับการรักษาและรอดูอาการ ภาพโดย เริงฤทธิ์ คงเมือง

 

สมุทรสาครก่อนตะวันลับฟ้า

           ลมพัดอยู่ในความมืดเหนือแม่น้ำท่าจีนที่ไหลเรื่อยลงสู่อ่าวไทย ตั้งแต่สมัยอยุธยาบริเวณปากแม่น้ำนี้เป็นเมืองท่าที่มีชาวจีนนำเรือสำเภาเข้ามาจอดเทียบค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าและพักอาศัยจำนวนมากจึงเรียกกันว่า "บ้านท่าจีน" ต่อมายกฐานะเป็น “เมืองสาครบุรี" เพราะเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญในการป้องกันข้าศึกรุกรานทางทะเล ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น "เมืองสมุทรสาคร" หมายถึงเมืองแห่งทะเลและสายน้ำ

           ตอนนี้บริเวณปากน้ำท่าจีนกลายเป็นย่านธุรกิจการค้า อุตสาหกรรมสัตว์น้ำและอาหารทะเลขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คนท้องถิ่นยังนิยมเรียกที่นี่ "มหาชัย" ซึ่งมีที่มาจากชื่อคลองที่ขุดลัดจากเมืองธนบุรี เป็นแนวตรงไปออกปากน้ำเมืองสาครบุรี แทนคลองโคกขามที่คดเคี้ยว บริเวณฝั่งซ้ายปากคลองได้เกิดชุมชนขนาดใหญ่ขึ้นชื่อว่า "มหาชัย"

           17 ธันวาคม 2563 มีรายงานผู้ป่วยยืนยันรับเชื้อโควิด 19 เป็นหญิงไทยวัย 67 ปี อาชีพค้าขายที่ตลาดกลางกุ้ง ตำบลมหาชัย อำเภอเมืองสมุทรสาคร ไม่มีประวัติการเดินทางออกนอกประเทศ จึงได้มีการตรวจคัดกรองในตลาดกลางกุ้งและพบว่าแรงงานชาวเมียนมาติดเชื้อจำนวนมาก ส่วนใหญ่ไม่มีอาการทำให้โรคแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งแรงงานเหล่านั้นพักอาศัยอยู่รวมกันอย่างแออัด นับจากวันที่ตรวจพบว่าหญิงไทยติดเชื้อโควิดในเวลาเพียง 52 วัน (17 ธ.ค. 63 -7 ก.พ. 64) มียอดผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโควิด-19 สะสมมากถึง 14,893 คน เป็นคนไทย 1,248 คน เป็นแรงงานต่างประเทศ 11,659 คน รักษาหายแล้ว 8,827 คน มีผู้เสียชีวิตสะสม 5 คน ขณะที่ทั่วประเทศระบุยอดการติดเชื้อระลอกที่สอง 23,624 ราย ยังรักษาในโรงพยาบาลจำนวน 6,781 คนเสียชีวิตแล้ว 79 คน

           มาถึงโรงพยาบาลสนามสนามกีฬาจังหวัดสมุทรสาคร ตอนก่อนตะวันจะลับขอบฟ้า ทีมประสานงานเงียบหายไปบนตึกเพื่อขอเข้าถ่ายภาพโรงพยาบาลสนามซึ่งช่างภาพมีความพยายามขอเข้าไปหลายครั้งแต่ไม่ประสบความสำเร็จเมื่อเจ้าหน้าที่ยื่นคำขาดห้ามเข้า ทุกครั้งไป

 

โรงพยาบาลสนาม ภาพโดย เริงฤทธิ์ คงเมือง

 

           ครั้งนี้ทีมประสานงานมีความมั่นใจอย่างมากว่าจะได้เข้าไปสังเกตการณ์และถ่ายภาพภายในโรงพยาบาลสนาม เพราะพวกเราเดินทางมาพร้อมรถของกรมควบคุมโรคและเจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารที่สวมเสื้อระบุต้นสังกัด แต่แล้วก็กลับลงมาจากตึกอำนวยการด้วยอาการผิดหวัง และบอกว่า

           “ต้องมีหนังสืออนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัดเท่านั้น”

           “ผมมี”   หนึ่งในช่างภาพผู้อยู่เก็บภาพการรับมือกับวิกฤตโควิค 19 มาร่วมเดือนโพล่งขึ้นมา เพราะเขาอกหักไม่ได้เข้าหลายครั้งทำให้เขาให้หน่วยงานทำหนังสือขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอนุญาตเข้าถ่ายภาพภายในโรงพยาบาลสนามเพื่อบันทึกประวัติศาสตร์หน้าสุขภาพของประเทศไทยอีกหน้าหนึ่ง

           “ผมมีหนังสืออนุญาตจากผู้ว่า...ในฐานะช่างภาพจากกระทรวงสาธารณสุข”ช่างภาพยืนยัน ทั้งทีมหายใจโล่ง ทีมประสานงานรีบวิ่งกลับขึ้นไปห้องอำนวยการพร้อมใบอนุญาตในมือ แล้วกลับลงมาพร้อมกับเจ้าหน้าที่สาวสองคน พวกเธออยู่ชุดปฏิบัติการทีมแพทย์สนามสีฟ้าอ่อน สวมหมวกคลุมผม หน้ากากอนามัย และครอบใบหน้าด้วยเฟสซิล ผู้มาเยือนเดินตามเจ้าหน้าที่ไปอย่างว่าง่าย 

           “ต้องสวมชุดป้องกันนะคะ”  เธออธิบายน้ำเสียงจริงจังพร้อมยื่นชุดป้องกันส่วนส่วนบุคคล (PPE) มาให้ ช่วยสอนวิธีสวมเพื่อความปลอดภัย ระบุว่าให้เวลาในการทำงานของเราเพียง 15 นาที เพื่อลดความเสี่ยงของจะเข้าไปบริเวณด้านในโรงพยาบาลสนาม

           “โซนนี้เป็นโซนปลอดภัยจะมีแรงดันให้อากาศอยู่ภายในไม่ออกมานอกรั้วสามารถสวมชุดป้องกันแบบครึ่งตัวได้ เจ้าหน้าที่สาวบอกข้อกำหนดให้คนเขียนอยู่เฉพาะโซนนี้ ส่วนช่างภาพที่ต้องการเข้าไปข้างในเพื่อถ่ายภาพต้องสวมชุดป้องกันส่วนบุคคลเต็มตัวปิดตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า”

           “ไม่เกิน 15 นาทีนะ” เธอย้ำเสียงแข็งขัน

           แสงยามพลบค่ำเมลืองมะลัง ผู้มาเยือนยืนอยู่บนแท่นสูงในโซนปลอดภัย สามารถมองเข้าไปภายในเห็นเตียงพักของคนไข้ที่วางเป็นแนวตรงไปจุดสุดแนวหลังคาเรื่อนพักชั่วคราว จำนวนหลายร้อยเตียง แบ่งเป็นโซนผู้ชายด้านซ้ายมือของทางเดินตรงกลาง และโซนผู้หญิงและเด็กอยู่ขวามือ

 

อาคารเตียงพักคนไข้ ภาพโดย เริงฤทธิ์ คงเมือง

 

แรงงานเมียนมาเข้ารับการตรวจ ภาพโดย เริงฤทธิ์ คงเมือง

 

           “คนไข้ทั้งหมดเป็นแรงงานชาวเมียนมาที่ตรวจพบเชื้อและไม่มีอาการ พวกเขาเป็นคนไข้ที่น่ารักมาก เขารู้ว่าเขาติดเชื้อพวกเขาก็จัดการตัวเอง ช่วยระวังเราด้วยซ้ำ เขาจะไม่ให้เราเข้าใกล้ไม่ให้เราจับมือเขาจะบอกว่าหมออยากได้อะไรบอกไม่ต้องทำให้เดี๋ยวหมอจะป่วย พวกเขาช่วยเหลือตัวเอง เรียบร้อยมาก พอทำงานนานเข้าก็รู้จักกัน เป็นเหมือนเพื่อนร่วมงานกัน ช่วยเราทำงานอย่างเป็นระบบ”

           “ต้องเข้าใจก่อนว่าแรงงานเหล่านี้เขาไม่ได้อยากป่วย หลายคนมาทำงานในไทยนานมากแล้วอยู่นี่กันทั้งครอบครัว เป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจไทยแล้ว เมื่อเจอวิกฤตโรคระบาดพวกเขาก็ให้ความร่วมมือดีมากเพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปให้ได้ ส่วนเราก็ต้องทำงานกับเขาเป็นหน้าที่ โดยป้องกันตัวเองอย่างดีที่สุด ไม่ประมาท เมื่อสวมชุด PPE หรือถอดชุดก็ต้องระมัดระวัง และหมั่นตรวจหาเชื้อเพื่อให้มั่นใจว่าเรายังปลอดภัย ยังทำงานต่อไปได้อยู่ เพราะโรคนี้คงอยู่กับเราไปอีกนาน”

           นันทนัฐ ศรีทัศน์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายทันตกรรม ผู้ซึ่งกลายมาเป็นเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือคนไข้ ที่โรงพยาบาลสนาม ณ สนามกีฬาจังหวัดสมุทรสาคร เธอบอกว่าตอนนี้คนทำงานไม่พอ ไม่ว่าเราจะทำงานแผนกไหนทุกหน่วยต้องมาช่วยเหลือคนไข้เหมือนกัน

           เสียงตามสายประกาศภายในอาคารเป็นภาษาเมียนมา คนสวมหมวกสีเขียวกำลังเดินแจกจ่ายข้าวของยังชีพให้คนไข้ทีละเตียง

           “คนที่สวมหมวกเขียว คืออาสาสมัครสาธารณสุขแรงงานต่างด้าว (อสต.) พวกเขาเป็นผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อด้วย และอาสาทำงานช่วยทีมแพทย์ พวกเขาทำงานดีมากคอยช่วยทุกอย่างตั้งแต่วันแรก ช่วยเช็คชื่อตามทะเบียนคัดแยกคนไข้ ช่วยแปลภาษาในกรณีที่ล่ามทำงานไม่ทันเพราะคนเยอะมาก ถ้าเราต้องการอะไรบอก เขาก็จะช่วยอย่างรวดเร็วไม่เคยมีข้อแม้ เช่น ช่วยเก็บตัวอย่างเสมหะ ช่วยตรวจเช็คร่างกายคนที่ท้อง ช่วยวัดไข้ ช่วยวัดความดัน ช่วยวัดค่าออกซิเจนในเลือด ช่วยแจกอาหาร ช่วยเก็บกวด เพราะเจ้าหน้าที่มีไม่กี่คนแต่คนไข้ตอนนี้กว่า 700 คน ลำพังเจ้าหน้าที่เราทำไม่ไหว ก็ได้พวกเขาช่วยเราทำให้ทำงานในโรงพยาบาลสนามเป็นไปได้รวดเร็ว และง่ายขึ้น”

 

อาสาสมัครสาธารณสุขแรงงานต่างด้าว (อสต.) ภาพโดย เริงฤทธิ์ คงเมือง

 

           สุพรรษา ชาลีผล หรืออ้อม พยาบาลวิชาชีพ บอกว่าเธอเป็นพยาบาลมาสองปีแล้ว และเดินทางมาจากโรงพยาบาลจากจังหวัดภาคอีสาน มาช่วยทำงานที่โรงพยาบาลสนามมาตั้งแต่เริ่มเปิดโรงพยาบาลสนามเป็นเวลาหนึ่งเดือนแล้ว โดยมาอยู่ตั้งแต่โรงพยาบาลสนามเริ่มเปิดรับลงทะเบียนคนไข้และตรวจเช็คอาการของคนไข้แต่ละคนเป็นประจำทุกวัน

           “เหลือเวลาอีก 5 นาทีนะคะพี่”

           น้องเจ้าหน้าที่ส่งสัญญาณเตือนอย่างเกรงอกเกรงใจ ผู้มาเยือนรีบกวาดสายตามองไปรอบๆ ใต้โดมหลังคาแบบชั่วคราวโค้งที่คลุมสนามกีฬา เตียงนอนเรียงแถว แสงไฟสีเหลืองภายในนั้นสว่างกว่าความสลัวรางของบริเวณโดยรอบ มุ้งม่านแต่ละเตียงขนาดไม่เกิน 3 ฟุตบอกให้รู้อาณาบริเวณส่วนบุคคลของคนไข้แต่ละคนพ้นจากแนวเตียงออกไปเป็นแนวห้องอาบน้ำและห้องสุขาหลายสิบห้องเรียงรายอยู่รอบๆ ขอบโรงเรือนที่พัก

           “คนไข้ที่ไม่มีอาการจะอยู่ที่นี่จนครบ 14 วัน ก็กลับไปกักตัวต่อที่บ้านอัก 14 วัน พรุ่งนี้คนไข้ชุดเดิมพ้นกำหนดกักตัวราวสองร้อยกว่าคน แต่ก็จะมีคนไข้ใหม่เข้ามาเพิ่มจำนวนเท่าเดิม เพราะข้างนอกจำนวนการตรวจพบเชื้อยังเพิ่มมากขึ้นทุกวันเมื่อเตียงว่างลงก็จะมีคนใหม่มาแทนทันที ตอนนี้โรงพยาบาลแห่งที่สองที่สามกำลังเร่งจัดเตรียม” พยาบาลสาวให้ข้อมูลเพิ่มเติม

           เสียงตามสายยังประกาศแจ้งข่าว การปฏิบัติตัว และอื่นๆ เป็นระยะ ซึ่งผู้มาเยือนฟังไม่เข้าใจ          

           “พวกเขาอยู่กันหลายคน แต่มีวินัยมากๆ เราจึงรู้สึกไม่เหนื่อยเท่าที่คิดก่อนมาทำงานที่นี่”

           คือข้อประทับใจที่ตรงกันของเจ้าหน้าที่สาวทั้งสองคนที่นำทางมาดูสถานที่ทำงานชั่วคราวที่พวกเธอต้องทำงานอยู่นี่มากว่าหนึ่งเดือนแล้ว

           “ปกติเราต้องเดินวัดค่าออกซิเจนในเลือดของคนไข้ถ้าเขามีอาการไข้ หรือมีค่าออกซิเจนต่ำกว่า 96 เราต้องติดตามแจ้งแพทย์เพื่อการรักษาหรือส่งต่อ ซึ่งคนไข้ในนี้ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ แต่มีอยู่คนหนึ่งที่เมื่อตรวจค่าออกซิเจนแล้วมีค่าออกซิเจนในเลือดเพียง 87 ซึ่งค่อนข้างต่ำ แต่ตัวเขาก็ยังดูสบายดีไม่มีอาการอะไร ไม่มีไข้ ไม่มีไอเลย เราเห็นแบบนี้ก็รีบรายงานแพทย์และส่งต่อไปโรงพยาบาลสมุทรสาคร ปรากฏว่าไปถึงหมอก็ตรวจพบว่าระบบการหายใจเขาเริ่มมีปัญหาแล้ว ปอดเขาทำงานได้น้อยลงแล้วต้องรีบใส่ท่อช่วยหายใจโดยด่วนซึ่งกรณีนั้นถ้าเราละเลยเขาก็อาจจะไม่รอด อันนี้แหละงานเราช่วยตรวจเช็กอาการเบื้องต้นของคนไข้ และเราคิดว่ามันสำคัญมากและต้องรอบคอบเสมอ”

           พยาบาลอ้อม แบ่งปันประสบการณ์ทำงานของเธอซึ่งเธอบอกว่าเธอและเพื่อนร่วนงานรวมทั้งคนไข้ต่างช่วยเหลือกัน เพื่อจะผ่านพ้นช่วงเวลานี้ไป เธอทำงานที่นี่เป็นวันสุดท้าย พรุ่งนี้เช้าออกเวรไปเธอจะต้องเดินทางกลับไปต้นสังกัดของเธอที่ต่างจังหวัด

           เมื่อหมดเวลากำหนดน้องพยาบาลไม่รีรอรีบพาผู้มาเยือนเดินออกมา พ้นโซนรั้วชั้นแรกเธอคอยอธิบายวิธีถอดชุดป้องกันอย่างถูกวิธี ช่วยฉีดพ่นแอลกอฮอล์ที่มือ รอบตัว และตรงพื้นรองเท้าเป็นสำคัญ

           “ขอบคุณมาก ขอให้ได้พักผ่อนบ้างนะ”  ผู้มาเยือนคิดว่าเป็นคำลาที่ดูเหมาะสมที่สุดแล้วในตอนนี้ ทั้งสองยังรอส่งจนผู้มาเยือนขึ้นรถให้แน่ใจว่ารถขับออกนอกรั้วภายนอกทั้งสองจึงกลับขึ้นไปบนตึก

           “ไม่เอาเชื้อขึ้นมานะ...หรือบนรถนี้มีเชื้อเยอะกว่าข้างล่าง”  หนึ่งในทีมที่นั่งรอบนรถพูดติดตลก แต่ดูเหมือนคนบนรถไม่มีใครนึกขำเพราะต่างตระหนักว่าเวลานาทีของการควบคุมโรคนั้นเราต่างก็เสี่ยง

           “เรามารบกวนเขาเนาะ”   หนึ่งในทีมปรารภขึ้นอย่างเข้าใจว่าทำไมการขออนุญาตเข้ามาในโรงพยาบาลสนามของพวกเราที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับการรักษาจึงยากเย็น

 

สมุทรสาครก่อนนอนคืนนี้

 

สมุทรสาคร ภาพโดย เริงฤทธิ์ คงเมือง

 

           ตัวเลขผู้ป่วยยืนยันจำนวนมากที่สมุทรสาคร ศูนย์กลางในการแพร่ระบาดโควิด 19 โดยเฉพาะในหมู่แรงงานชาวเมียนมา ทำให้แสงไฟแห่งการตรวจสอบส่องพรึบมายังสมุทรสาคร ฉายภาพเส้นทางการเข้าเมืองของแรงงานชาวเมียนมา นโยบายและการปฏิบัติต่อแรงงานในด้านสวัสดิการ สุขาภิบาลในที่พักอาศัย เพราะจังหวัดสมุทรสาครเป็นที่อยู่อาศัยและทำงานของแรงงานชาวเมียนมามาอยู่กันมากจนได้ชื่อ “เมียนมาทาวน์” หรือ “ย่างกุ้งน้อย” ปัจจุบันมีชาวเมียนมาทั้งเด็กเล็ก หนุ่มสาว วัยแรงงาน ไปจนถึงคนเฒ่าคนแก่ ทั้งที่เข้าประเทศมาอย่างถูกกฎหมายและลักลอบเข้ามา หลายคนอยู่ที่นี่หลายสิบปี โดยอาศัยอยู่ในห้องหอพัก ตึกแถว หรืออาคารพานิชย์ที่รายรอบตลาดในสภาพค่อนข้างแออัด

 

ห้องพักของแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาในสมุทรสาคร ภาพโดย เริงฤทธิ์ คงเมือง

 

           ประชากรตามทะเบียนราษฎรของจังหวัดสมุทรสาคร ณ วันที่ 30 กรกฎาคม 2563 มีจำนวนรวม 587,338 คน ความหนาแน่นเท่ากับ 673 คน ต่อตารางกิโลเมตร โดยเฉพาะอำเภอเมืองมีประชากร 304,563 คน รองลงมาคืออำเภอกระทุม่แบนมีประชากร 174,005 คน และอำเภอบ้านแพ้ว มีประชากร 100,559 คน ความหนาแน่นของประชากรที่กล่าวมาไม่รวมประชากรกรที่เป็นแรงงานจากที่อื่นรวมทั้งแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงาน

           ข้อมูลจากแรงงานจังหวัดสมุทรสาครระบุจำนวนแรงงานต่างประเทศที่ทำงานอยู่ในจังหวัดมีราวสองแสนกว่าคนซึ่ง ส่วนใหญ่เป็นแรงงานสัญชาติเมียนมา 243,335 คน กัมพูชา 12,934 กัมพูชา ลาว 10,241 คน และอื่น ๆ 9,412 คน2

           สมุทรสาครเป็นแหล่งอุตสาหกรรม ปี พ.ศ. 2560 มีรายงานระบุว่ามีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่กว่า 5,916 แห่ง เงินลงทุน 267,319 ล้านบาท ลูกจ้างในโรงงานอุตสาหกรรมกว่า 317,816 คน3  นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งธุรกิจประมง ศูนย์กลางการซื้อขายสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่ส่งจำหน่ายทั้งในไทยและส่งออกต่างประเทศ ซึ่งทั้งหมดอาศัยแรงงานจำนวนมาก จึงมีแรงงานเข้ามาทำงานทุกอย่าง ตั้งแต่งานก่อสร้าง งานเกษตร งานโรงงาน งานบ้าน จนกล่าวได้ว่า 2 ใน 3 ของคนที่เดินอยู่ในจังหวัดสมุทรสาครเป็นแรงงานจากต่างประเทศ

           บรรดาแรงงานจำนวนมากเหล่านี้เป็นผู้ออกแรงผลักให้สมุทรสาครเป็นจังหวัดที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงมาก   ข้อมูลจากสำนักงานคลังจังหวัดสมุทรสาคร ปี พ.ศ. 2561 ระบุว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมสินค้าประมงจังหวัดสมีมูลค่าประมาณ 12,354 ล้านบาท นอกจากนี้ภาคเกษตรกรรม โรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดย่อม มีมูลค่ากว่า 290,000 ล้านบาท และมีความต้องการแรงงานสูงและผู้ประกอบการได้จ้างแรงงานข้ามชาติมากถึงร้อยละ 92 ของแรงงานในจังหวัด แรงงานเหล่านี้เองที่ผลักให้สมุทรสาครมีผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดในปี 2562 หรือ Gross provincial product (GPP) มูลค่า 409,169 ล้านบาท4  จัดเป็นอันดับ 5 ของประเทศ เป็นจังหวัดนำส่งภาษีสูงสุดอันดับที่ 8 ด้วยมูลค่าภาษีจัดเก็บได้ปีละประมาณ 16,000 ล้านบาท และแรงงานเหล่านี้ก็ออกแรงช่วยให้คนสมุทรสาครมีรายได้เฉลี่ยต่อคนสูงราว 345,000 บาทต่อปีจัดเป็นอันดับ 7 ของจังหวัดที่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงสุดในประเทศ

 

บรรยากาศตลาดประมงในสมุทรสาครหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภาพโดย เริงฤทธิ์ คงเมือง

 

           กล่าวเฉพาะด้านการประมงสมุทรสาครเป็นจังหวัดที่มีชายฝั่งทะเลยาว 41.8 กิโลเมตร มีศักยภาพด้านการประมงทั้งน้ำจืด ประมงน้ำกร่อย และประมงทะเล รวมถึงเกิดธุรกิจที่ต่อเนื่องจากการประมง ทำให้เกิดอาชีพด้านการประมง และอาชีพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก เป็นศูนย์กลางในการจำหน่ายสินค้าสัตว์นำ โดยมีตลาดค้าสินค้าสัตว์น้ำขนาดใหญ่ ได้แก่ ตลาดทะเลไทย ตลาดกลางการค้ากุ้ง และตลาดลีลา จังหวัดสมุทรสาครมีพื้นที่แหล่งน้ำกร่อย/เค็ม (ระยะ 12 ไมล์ ทะเล) 548,625 ไร่ มีชาวประมงพื้นบ้านประมาณ 500 ราย ส่วนใหญ่ทำการประมงอวนลอยปลา เรือช้อนเคย เรือจับหอย เป็นต้น มีประมงพาณิชย์ที่จดทะเบียนกับจังหวัดสมุทรสาครปี พ.ศ. 2559 จำนวน 487 ลำ ผลผลิตจากการทำการประมงประมาณ 210,667 ตัน/ปี การทำการประมงนอกน่านน้ำ 110,645 ตัน/ปี นอกจากนี้การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 35,169 ไร่ มีผู้เลี้ยง 2,146 ราย ในจำนวนนี้เป็นการเลี้ยงกุ้งทะเล ประมาณ 10,000 ไร่ จำนวน 751 ราย การเลี้ยงหอยแครงประมาณ 16,065 ไร่ มีผู้เลี้ยง 565 ราย ผลผลิตจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งประมาณ 10,490 ตัน/ปี นอกนั้นยังมีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด มีพื้นที่เลี้ยงประมาณ 7,488 ไร่ มีจำนวนผู้ขึ้นทะเบียนเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 646 ราย ส่วนใหญ่ เป็นการเลี้ยงปลาสลิดกว่า 4,400 ไร่ โดยมีจำนวนผู้เลี้ยงปลาสลิด 174 ราย รองลงมาเป็นการเลี้ยงปลานิล ปลาตะเพียน ตามลำดับ ผลผลิตรวมสัตว์น้ำจืดประมาณ 8,340 ตัน/ปี6

           วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ผู้เขียนได้มาถึง “ตลาดกลางกุ้ง” หรือ “ตลาดกลางการค้ากุ้งสมุทรสาคร” สถานที่เกิดเหตุการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด 19 รอบที่สองในจังหวัดสมุทรสาคร ขับรถมาตามถนนสายหลักมุ่งหน้ากรุงเทพฯ เลี้ยวซ้ายเข้าไปหน่อยเดียวก็ถึงตลาด ข้างในนั้นมีอาคารโถงตลาดขนาดใหญ่ด้านหน้าหนึ่งอาคาร ด้านข้างอีกอาคารโถงโล่งยาวลึกเข้าไป ในนั้นมีแพกุ้งชื่อต่างๆ เรียงราย บัดนี้ปิดทำการมาร่วมเดือนแล้วนับตั้งแต่มีการตรวจพบผู้ป่วยยืนยันโควิด 19 รายแรก

           ปกติที่ตลาดนี้จะคึกคักตลอด ตั้งแต่ตีสองตีสามก็จะมีคนงานจำนวนมากเป็น พันๆ คน มาทำงานสาละวนอยู่กับการล้าง แกะ ปอก ทำความสะอาดกุ้ง หรือปลาหมึก มีเสียงพูดคุยดังโฉ่งเฉ่งตลอดเวลา ขณะที่ด้านข้างตลาดล้อมรอบด้วยอาคารพาณิชย์สูง 4-5 ชั้น สภาพค่อนข้างเก่าเรียงรายกันหลายคูหาตลอดความยาวของโถงตลาดซ้อนๆ กันหลายแถว เป็นอาคารที่พักของคนงาน เมื่อก่อนชั้นล่างบางห้องจะเปิดเป็นร้านขายของเบ็ดเตล็ด ขายสินค้า เช่น โสร่ง ผ้าถุง เครื่องแกง ไม้ทานาคา แป้งทานาคา หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก ฯลฯ

           วันนี้รอบตลาดแม้จะแห้งสนิทไม่มีปลาไม่มีกุ้ง แต่กลิ่นคาวปลาคาวสัตว์น้ำยังคละคลุ้งแตะจมูกแม้จะมีมาตรการปิดตลาดกุ้งมาเดือนหนึ่งแล้ว รั้วลวดหนามที่เคยวางเป็นแนวกั้นห้ามเข้าออกเก็บกู้ไปแล้ว วันนี้คนป่วยยืนยันโควิด 19 ซึ่งพ้นระยะเวลากักตัวหลังกลับจากโรงพยาบาลสนาม บุคคลที่มีความเสี่ยงสูงผ่านช่วงกักตัว 14วันที่อยู่แต่ในห้องพักมาร่วมเดือนทยอยลงมารายงานตัวเพื่อรับใบรับรองการกักตัว เตรียมจะเริ่มทำงานได้ทันทีหลังตลาดเปิด

           เสียงเจรจาด้วยภาษาที่ผู้มาเยือนฟังไม่เข้าใจดังอึงอลทั่วบริเวณ ในโถงตลาดตั้งโต๊ะรับและแจกเอกสาร เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร และ อสต. กำลังช่วยกันเรียงลำดับเอกสารคำร้องขอหนังสือรับรองที่ยื่นมาร่วม 3,000 ราย ในจำนวนนี้มีเด็กเกือบ 200 คน

 

ชาวเมียนมามารายงานตัวเพื่อรับใบรับรองการกักตัว ภาพโดย เริงฤทธิ์ คงเมือง

 

           “เฉพาะรอบๆ ตลาดนี้มีอาคารที่พัก 4 ตึกใหญ่รวมราว 1,300 ห้อง มีคนงานที่ทำงานและพักอาศัยในบริเวณรอบๆ ตลาดกุ้งราว 3,500-4,000 คน และคนเหล่านี้ราว 2 ส่วนใน 4 ส่วนเป็นผู้ป่วยยืนยันที่ส่วนใหญ่รักษาหายแล้ว ขณะที่ที่เหลือกลายเป็นผู้มีความเสี่ยงสูงต้องกักตัวอยู่เฉาะในที่พัก พวกเขาต่างเฝ้ารอวันที่จะได้กลับไปทำงาน”

 

แรงงานข้ามชาติชาวเมียนมารอตรวจ และถูกนำไปโรงพยาบาลสนาม ภาพโดย เริงฤทธิ์ คงเมือง

 

           ภัทราภรณ์ ตั๋นคำ หรือน้องภัทร พยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งมาทำงานประจำที่โรงพยาบาลสนามตลาดกุ้งตั้งแต่เริ่มตรวจพบเชื้อเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2563 หลังตรวจพบผู้ติดเชื้อรายแรก วันแรกที่ตั้งหน่วยตรวจก็พบผู้ติดเชื้อเฉพาะในตลาดนี้ 548 คนและตรวจเรื่อยๆ ตรวจซ้ำบางคนตรวจหลายครั้งถึงวันนี้ (1 กุมภาพันธ์ 2564) พบผู้ติดเชื้อ 1,344 คน

           น้องภัทรบอกว่าในช่วงแรกทำงานยากมาก การให้เขาหยุดทำงานกักตัว การนำผู้ป่วยยืนยันไปอยู่โรงพยาบาลสนามโดยที่เขาไม่แสดงอาการใดๆ เขาก็ไม่อยากไป บางรายเมื่อแม่ติดก็ไม่อยากแยกกับลูกตัวเล็กๆ และถ้าให้เด็กไปอยู่โรงพยาบาลสนามเด็กก็เสี่ยงมาก จึงต้องปรับวิธีการโดยสร้างโรงพยาบาลสนามสำหรับแม่ลูกอ่อน คนท้อง หรือคนชรา หรือกระทั่งทำความเข้าใจเรื่องสุขปฏิบัติต่างๆ เช่น การที่พวกเขากินหมากต้องไม่บ้วนน้ำหมากน้ำลายลงพื้นตลาด พื้นที่พัก หรือถนนหนทาง ซึ่งจะทำให้แพร่เชื้อได้อย่างรวดเร็ว ต้องประกาศแจ้งให้เก็บน้ำหมากให้ถูกวิธี เพราะถือเป็นขยะติดเชื้อ สำหรับการทำงานป้องกันและควบคุมโรคที่ตลาดกุ้งนั้นไม่ได้ตรวจหาเชื้ออย่างเดียวแต่ต้องทำความเข้าใจ อธิบายว่ามีกฎหมายควบคุมโรค ในช่วงแรกต้องให้ตำรวจทหารมาช่วยอธิบาย แต่ก็ไม่มีเหตุรุนแรงใดๆ พวกเขาให้ความร่วมมือดีขึ้น ต้องจัดกิจกรรมให้ เด็กๆ ที่อยู่ในตลาดนี้ รวมทั้งกิจกรรมคลายความตึงเครียดสำหรับคนที่ต้องกักตัวรวมกันอยู่ในที่แคบๆ ในห้องพักแคบๆ เป็นเวลานาน ภัทรบอกว่าเธอทำงานในตลาดกุ้งมากว่าสองเดือนพวกเขาก็เริ่มคุ้นหน้าและรู้ว่าถ้าป่วย ถ้าไม่สบายก็จะมาหาเราได้เสมอ บางคนก็ช่วยทีมสาธารณสุขทำงาน เป็นล่ามให้ไปคุยกับคนอื่นๆ กระจายข่าวสาร

 

แรงงานข้ามชาติชาวเมียนมา ขณะรอตรวจ พร้อมลูกเล็ก ภาพโดย เริงฤทธิ์ คงเมือง

 

           “เขาเป็นส่วนหนึ่งที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ทางเดียวคือช่วยเหลือรักษาเขาให้หายจากโรค ช่วยปรับปรุงฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมที่เขาอยู่ไม่ให้เป็นแหล่งเชื้อโรค ต้องทำความเข้าใจกับเจ้าของแพปลา เจ้าของตลาด ซึ่งไม่ง่ายแต่ก็เป็นไปได้เพราะทุกคนต่างเข้าใจดีว่าเราต้องช่วยกันจึงจะกลับมาทำงานได้ เศรษฐกิจจึงจะฟื้นฟูกลับมาได้ เราร่วมมือกับหน่วยงานอื่นดูแลสุขภาพจิตเขา ทำกิจกรรมกับเด็กๆ ด้วยในช่วงกักตัวเพื่อไม่ให้เขาเครียดมาก”  พยาบาลภัทร ผู้ทำงานด่านหน้าที่สมรภูมิโควิดสมุทรสาครให้ทัศนะการทำงานกับแรงงานข้ามชาติของและทีมเพื่อนร่วมงานของเธอ

           มายู (ชื่อสมมุติ) หญิงอายุ 43 ปี ผมยาวในชุดลงจี (ผ้าถุง) ลายดอกไม้สีสดใสยาวกรอมตาตุ่มเสื้อเข้ารูปสีเข้ากัน เธอเป็นคนงานในตลาดกุ้งที่หยุดทำงานกักตัวมาร่วมเดือน วันนี้มารอรับใบรับรอง เธอเล่าว่าข้ามมาทำงานในประเทศไทยตั้งแต่อายุ 21 ปี รวมเวลา 22 ปีแล้วที่เธอมาทำงานและอาศัยอยู่ที่ตลาดกุ้ง เธอบอกว่าบ้านเดิมของเธออยู่ที่เมืองเมาะลำใย เดินทางข้ามแดนมาที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ตอนนั้นเดินด้วยเท้าเป็นเวลา 3 วัน 3 คืนจึงถึงชายแดนแล้วก็ขึ้นรถมุ่งตรงมาทำงานที่ตลาดกลางกุ้งไม่เคยไปทำงานที่อื่นได้รับเงินค่าจ้างรายวันราว200–350 บาทต่อวันในช่วง 22 ปีมานี้

           ถิ่นยู (ชื่อสมมุติ) หนุ่มวัย 34 ปี เล่าว่าบ้านเกิดเมืองนอนของเขาอยู่ในเขตรัฐมอญของประเทศเมียนมา เขามาทำงานที่ประเทศไทยตอนอายุ 18 ปี หลังเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ตอนนั้นมีนายหน้ามาติดต่อจะพาไปทำงานที่ประเทศไทยโดยจะต้องจ่ายค่านายหน้าเป็นทองคำหนัก 1 บาท นายหน้าบอกว่าจะพามาส่งถึงที่ทำงานเมื่อปรึกษากับทางบ้านแล้วก็ตกลงว่าจะมาและจ่ายทองให้นายหน้าก่อนออกเดินทาง โดยการเดินเท้าเข้ามาที่ฝั่งพรมแดนจังหวัดจันทบุรีใช้เวลาเดินเฉพาะตอนกลางคืนตอนกลางวันพักเพื่อหลบเจ้าหน้าที่ เดินเป็นเวลา 1สัปดาห์มาด้วยกันกับเพื่อน 23 คนเป็นชาย 10 คนผู้หญิง 13 คน โดยแต่ละคนจะพกน้ำมันเชื้อเพลิง ไฟฉาย และเกลือมาด้วยหาของกินในป่ามาเรื่อยๆ

           “ในระหว่างที่เดินข้ามน้ำข้ามเขาทั้งเหนื่อย หิว และกลัว ก็คิดถึงบ้านจนน้ำตาไหล แต่ก็ออกเดินมาแล้ว ทองก็จ่ายให้เขาแล้วทางเดียวคือเดินต่อไป”

           เมื่อข้ามมาฝั่งไทยแล้วนายหน้าพาไปส่งทำงานที่จังหวัดสระบุรี เป็นโรงงานไก่สด ตอนนั้นเข้ามาไม่ถูกกฎหมายพูดภาษาไทยไม่ได้ลำบากและคิดถึงบ้านมาก เวลานอนน้ำตามันร่วงอยู่เป็นเดือนๆ แต่ทำอะไรไม่ได้ได้แต่ทนต่อไป พออยู่มาเรื่อยๆ หลายปีก็เริ่มสื่อสารภาษาไทยได้จึงติดต่อเพื่อนที่ กรุงเทพฯ ขอมาทำงานกับเขาคราวนี้ได้ทำงานในปั๊มน้ำมันเจอกับหัวหน้าที่เป็นคนไทย แต่เขาเป็นชาวกระเหรี่ยงมาจากภาคเหนือของไทย เราคุยกันได้รู้เรื่องเขาใจดีเห็นใจและช่วยเหลือจนได้ขึ้นทะเบียนแรงงาน ทำอยู่พักหนึ่งก็ย้ายมาทำงานกับพี่สาวที่เขาเข้ามาอยู่ที่สมุทรสาครเป็นงานขายของในตลาดได้ค่าแรงมากกว่าวันละ 450–500 บาท เป็นลูกจ้างรายวันโดยต้องทำงานทุกวันตั้งแต่เช้ามืดจนร้านปิดราวสามทุ่ม เงินที่ได้ก็ส่งกลับไปครอบครัวที่เมียนมาราว 7,000–8,000 บาทต่อเดือน เป็นค่าเช่าห้อง ค่าอาหารตัวเองบ้าง และตั้งแต่มาทำงานที่ประเทศไทยเป็นเวลา 16 ปีเคยกลับบ้านสองครั้งเพื่อเยี่ยมพ่อที่ป่วย

           กลิ่นคาวอาหารทะเลยังลอยวน ขณะที่ขยะกองใหญ่ยังกองอยู่ด้านหน้าอาคารที่พักที่เรียงรายอยู่โดยรอบเนื่องจากมาตรการทำความสะอาดทำให้ผู้คนนำสิ่งของต่างๆ ที่เก็บสะสมไว้ออกมาทิ้งและถือเป็นขยะติดเชื้อ “เก็บต่อไปอีกสักเดือนไม่รู้จะหมดไหม”​ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ทำงานประจำอยู่ในตลาดกลางกุ้งกล่าว แต่เพราะคาดว่ามีการปนเปื้อนเชื้อโควิด 19 อยู่ในสิ่งแวดล้อมทำให้มีการเร่งทำความสะอาด

           “มันกำลังจะดีขึ้นอยู่แล้วเชียว....กำลังจะได้กลับบ้านอยู่แล้วเชียว”

           นานู (ชื่อสมมุติ) หญิงวัย 32 ปี หนึ่งในแรงงานพม่าที่ทำงานในตลาดกลางกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร มาตั้งแต่อายุ 15 ปี เธอพึ่งออกมาจากสถานที่กักตัวเพราะเธอคือผู้ป่วยติดเชื้อโควิด 19 วันนี้เป็นวันแรกที่พวกเขาได้ออกจากห้องพักหลังกักตัวมากว่า 2 สัปดาห์ออกมารับใบยืนยันการตรวจโควิดและรับรองการกักตัว

           หญิงสาวผู้เดินทางมาจากเมาะลำไย เพื่อแสวงโชคที่ประเทศไทยเมื่อ 17 ปีที่แล้ว เธอบอกว่าเธอมาทำงานรับจ้างรายวันที่ไทยยาวนานกว่าช่วงเวลาที่เธอใช้ชีวิตอยู่เมียนมาด้วยซ้ำ เธอบอกว่าเธอพักอยู่ในห้องเช่าขนาด 3x3 เมตร ค่าเช่า 1,600 บาทไม่รวมค่าน้ำค่าไฟ เธอทำงานได้ค่าจ้างวันละ 300–330 บาทโดยเริ่มทำงานตั้งแต่ 03.30 น. ของทุกวันทำงานวันละ 5-8 ชั่วโมง แล้วแต่ว่าวันไหนมีกุ้งมีปลามากน้อย

           “วันหยุดคือวันที่ป่วย หรือขี้เกียจ”ตลอด 17 ปีมานี้เธอบอกว่าเธอพยายามมาทำงานทุกวันเพื่อจะได้ค่าจ้าง เธออาศัยอยู่ในห้องพักกับสามี เธอมีลูกและคลอดที่ประเทศไทยตอนนี้อายุ 8 ขวบแล้ว แต่เธอพากลับไปส่งให้อาศัยอยู่ตายายที่เมียนมา เธอกับสามีจะกลับไปเยี่ยมบ้านบ่อยครั้งโดยมีรถตู้รับส่งจากที่ตลาดกุ้งไปด่านแม่สอดเมยวดีค่ารถตู้ 800 บาท ตอนที่ป่วยโควิดเธอมีอาการไข้ไอและรักษาตัวอยู่ที่ โรงพยาบาลสมุทรสาคร หายแล้วก็มากักตัวต่อที่พัก วันนี้มารอรับใบรับรองเพื่อกลับไปทำงาน หวังว่าตลาดจะเปิดในสัปดาห์หน้า  

           “มันเจ็บที่ใจนี่ทุกอย่างที่เราหวังสิ้นสลาย”  เธอกล่าวทั้งน้ำตา บอกว่าความหวังที่จะได้กลับไปอยู่บ้านตัวเอง กลับไปอยู่กับลูกที่บ้านเกิดต้องยืนยาวออกไป ขณะที่ตัวเองและสามีทำงานรับจ้างอยู่ที่ตลาดกุ้งเพื่อจะเก็บเงินทุกบาทส่งกลับบ้านเพื่อจะได้สร้างบ้านสร้างครอบครัวที่ดีของตัวเองในประเทศของตัวเองที่เศรษฐกิจกำลังจะดีขึ้นและเป็นประชาธิปไตย

           “ทุกอย่างที่เราหวังสิ้นสลาย...ติดโควิดตายยังดีกว่ารัฐประหาร ติดโควิดยังติดต่อลูกพ่อ แม่ได้ พูดคุยกันได้ แต่รัฐประหารแล้วไปหาก็ไม่ได้ โทรหาก็ไม่ได้ ไม่รู้ลูกเป็นอย่างไรบ้าง สงครามที่บ้านเรามันทุกข์กว่าติดโควิดที่ไทยหลายร้อยเท่า”

           เสียงตัดพ้อของสาวแรงงานเมียนมาคนนั้น ยังตามมาดังในสำนึกก่อนนอนคืนนี้...ความขัดแย้งทางการเมืองนับเป็นสาเหตุสำคัญที่ผลักไสพวกเขาให้มาอยู่อย่างแออัดที่ประเทศไทย เป็นความจริงโดยแท้ที่ความขัดแย้งทางการเมืองเข่นฆ่าคนได้มากกว่าเชื้อโรคใดๆ ในโลกนี้ ต้องบันทึกไว้ว่านี้ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นวันที่มีรายงานข่าวการทำรัฐประหารอีกแล้วที่ประเทศเมียนมา

           .

           .

           .

           พรุ่งนี้ทั้งทีมเรามีนัดเข้าตรวจหาเชื้อโควิด 19 จากการลงทำงานภาคสนามมานานแรมเดือนเราอาจจะเป็นคนไข้โควิด 19 รายต่อไปได้เสมอ

           “ถ้าพรุ่งนี้ผลตรวจว่าติดโควิดจะทำอย่างไรนะ”  คืนนี้ล้มตัวลงนอน และหลับไปพร้อมกับคำถามนี้

 

 

1  บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการคลังภาพถ่ายทางมานุษยวิทยา ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

2  สำนักงานแรงงานจังหวัดสมุทรสาคร. สถานการณ์แรงงานต่างด้าวจังหวัดสมุทรสาคร [ออนไลน์]. เข้าถึงจาก: https://samutsakhon.mol.go.th/ศูนย์ข้อมูลสารสนเทศ/ข้อมูลด้านแรงงานของจังหวัดสมุทรสาคร เข้าถึงเมื่อ 6 พฤษภาคม 2564

3  จังหวัดสมุทรสาคร. “แผนพัฒนาจังหวัด 5 ปี 2561-65 ฉบับทบทวน (รอบ 2565) จังหวัดสมุทรสาคร” [ออนไลน์]. เข้าถึงจาก: http://www.samutsakhon.go.th/_new/news_devpro เข้าถึงเมื่อ 18 พฤษภาคม 2564

4  สำนักงานคลังจังหวัดสมุทรสาคร. “ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดสมุทรสาคร พ.ศ. 2562” [ออนไลน์]. เข้าถึงจาก: https://www.cgd.go.th/  เข้าถึงเมื่อ 18 พฤษภาคม 2564

5  จังหวัดสมุทรสาคร. “แผนพัฒนาจังหวัด 5 ปี 2561-65 ฉบับทบทวน (รอบ 2565) จังหวัดสมุทรสาคร” [ออนไลน์]. เข้าถึงจาก: http://www.samutsakhon.go.th/_new/news_devpro เข้าถึงเมื่อ 18 พฤษภาคม 2564

 

ป้ายกำกับ โควิด-19 COVID-19 สมุทรสาคร แรงงานข้ามชาติ เมียนมา บุคลากรทางการแพทย์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share