ปรัชญามานิ: วิถีชีวิตและการปรับตัวของคนกับป่า

 |  ชาติพันธุ์ อัตลักษณ์
ผู้เข้าชม : 4708

ปรัชญามานิ: วิถีชีวิตและการปรับตัวของคนกับป่า

ปรัชญามานิ: วิถีชีวิตและการปรับตัวของคนกับป่า

 

สุดารัตน์ ศรีอุบล

นักวิชาการ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

 

           ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ ยังมีกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่ตั้งถิ่นฐานในป่าของประเทศไทยมาอย่างยาวนาน ชื่อเรียกของเขาคือ “มานิ” (Mani) หรือ “มานิค” (Maniq) ซึ่งเป็นชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใช้เรียกตนเองและมีความหมายว่า “คน” ในขณะที่ชื่อที่ผู้อื่นเรียกมีหลากหลายแตกต่างกันออกไป อาทิ โอรังอัสลี เนกริโต เซมัง ซาไก ชอง มอส ตอนกา เงาะ เงาะป่า เป็นต้น จากความหลากหลายของชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ทำให้เกิดข้อถกเถียงในงานทางวิชาการว่า “มานิ” คือ “เซมัง” ไม่ใช่ “ซาไก”1


           ซึ่งข้อถกเถียงเกี่ยวกับชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ การเรียกชื่อกลุ่มชาติพันธุ์มานิจึงมักเรียกแตกต่างกันออกไปภายใต้เงื่อนไขด้านบริบทของพื้นที่และเวลา โดยชื่อเรียกที่สะท้อนถึงอคติทางชาติพันธุ์ที่ชาวมานิหรือชาวโอรังอัสลีที่พวกเขาไม่ชื่นชอบในการถูกเรียก อาทิ ชื่อเรียก “ซาไก” ซึ่งมีความหมายผิดเพี้ยนจากเดิมที่หมายถึง “คนแข็งแรง” กลายมามีความหมายว่า “ทาส” คำดังกล่าวถูกใช้โดยคนภายนอกใช้เรียกและกดทับทำให้ชาวมานิกลายเป็นคนชายขอบ

           หากกล่าวถึงความเป็นมาของของคำว่า “ซาไก” ในบริบทของการเมืองระหว่างประเทศ จะเห็นว่า ในช่วงก่อนอาณานิคม ชื่อที่เรียกว่า “ซาไก” ที่ใช้ในการใช้เรียกกลุ่มชนเดิม ในภาษามลายู หมายถึง คนกระปรี้กระเปร่า คนแข็งแรง มีกำลังมาก พอเข้าสู่ช่วงอาณานิคม ชื่อที่เรียกว่า “ซาไก” กลับเป็นชื่อที่เลวร้ายที่สุดในบริบทสังคมมาเลเซีย เนื่องจากมีการจับพวกเขามาเป็นทาส ทำให้คำว่า “ซาไก” มีความหมายที่มี นัยยะของการเป็น “ทาส” หรือแม้กระทั่งชื่อเรียกจาก คำว่า “เงาะป่า” ที่หมายถึง ผลไม้ชนิดหนึ่ง ยังถือเป็นคำเรียกที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ให้กลายเป็นเพียงผลไม้ ในขณะที่ชื่อเรียกตนเองจากผู้ที่เป็นเจ้าของวัฒนธรรมกลับไม่มีคำที่ใช้เรียกตนเอง เนื่องจากพวกเขาเรียกชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อหัวหน้ากลุ่ม เช่น กลุ่มมะแซหรือผัดพริก กลุ่มจำปาดะ กลุ่มติ๊ก กลุ่มผู้ใหญ่ เป็นต้น

 

ที่มาภาพ: ภัทราพันธ์ อุดมศรี (2562)

ภาพที่ 1 ลักษณะที่อยู่อาศัย (ฮายะอ์) ของชาวมานิ

“มานิ” คือ ใคร?

           ถิ่นฐานที่อยู่ของชาวมานิอาศัยอยู่บริเวณเทือกเขาบรรทัดในเขตจังหวัดตรัง สตูล พัทลุง มีประชากรประมาณ 300 คน2  ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด

           ส่วนชาวมานิที่อาศัยอยู่ในจังหวัดยะลา และนราธิวาส อาศัยอยู่บริเวณป่าฮาลาและรอบเขื่อนบางลางในเขตอุทยานแห่งชาติบางลาง กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ของอำเภอบันนังสตา อำเภอธารโต และอำเภอเบตง ในจังหวัดนราธิวาสจะอาศัยอยู่ในพื้นที่ของอำเภอศรีสาคร อำเภอจะแนะ และอำเภอสุคีริน ซึ่งเป็นพื้นที่ติดต่อกับป่าฮาลาบาลาในแนวทิวเขาสันกาลาคีรี มีประชากรประมาณ 439 คน3  กลุ่มนี้มักถูกเรียกว่า โอรังอัสลี (Orang Asli) ซึ่งเป็นคำในภาษามลายู มาจากคำว่า “Orang” คือ คน (people) และ “Asli” หมายถึง ต้นแบบ

           โดยรวมแล้ว โอรังอัสลี จึงหมายถึง ชนพื้นเมืองดั้งเดิม (aborigines) เป็นคำที่ทางการมาเลเซียได้ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อให้แทนคำที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ภายใต้นโยบายทางการเมืองในการรวบรวมชนกลุ่มน้อยให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของรัฐ ในขณะที่ชื่อเรียกตนเองจากผู้ที่เป็นเจ้าของวัฒนธรรมกลับไม่มีคำที่ใช้เรียกตนเอง เนื่องจากพวกเขาเรียกชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อหัวหน้ากลุ่ม เช่น กลุ่มมะแซหรือผัดพริก กลุ่มจำปาดะ กลุ่มติ๊ก กลุ่มผู้ใหญ่ เป็นต้น

           ภาษามานิถูกจัดอยู่ในกลุ่มภาษาอัสเลียน หรือตระกูลออสโต-เอเชียติค (Austroasiatic) ซึ่งเป็นตระกูลภาษาดั้งเดิมในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สาขาภาษามอญ-เขมรใต้ แต่ไม่มีภาษาเขียน แต่ปัจจุบันได้เกิดการผสมผสานกับภาษามลายูและภาษาไทย และมีการผสมผสานทางวัฒนธรรมและการดำรงชีพท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม

 

ที่มาภาพ: ดัดแปลงจาก http://www.googlemap.com

ภาพที่ 2 ที่ตั้งของกลุ่มชาติพันธุ์มานิ

 

การจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์มานิในประเทศไทย

ชาวมานิที่อาศัยอยู่ในภาคใต้ของไทยได้ถูกแบ่งเป็น 4 กลุ่ม4  ตามลักษณะภาษาประจำกลุ่ม ได้แก่

  1. มานิกันซิว (Kensiw) กลุ่มนี้พูดภาษากันซิว อาศัยอยู่ในเขตอำเภอธารโต จังหวัดยะลา
  2. มานิยะฮาย (Jahai) กลุ่มนี้พูดภาษายะฮาย อาศัยอยู่ในเขตอำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส
  3. มานิแตะเด๊ะ (Tea-da) หรือเยแด กลุ่มนี้พูดภาษาแตะเด๊ะ อาศัยอยู่บริเวณภูเขาสันกาลาคีรี จังหวัดยะลา และอำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส
  4. มานิแต็นเเอ็น (Teanean) กลุ่มนี้ใช้ภาษาแต็นแอ็น อาศัยอยู่บริเวณเทือกเขาบรรทัด  อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง และอำเภอควนโดน จังหวัดสตูล

 

ผืนป่า คือ “บ้าน”: การถูกมองว่าเป็น “คนเร่ร่อน” ที่ต้องได้รับการพัฒนา

           ในอดีตชาวมานิดำรงชีพแบบเคลื่อนย้ายไปตามผืนป่า ซึ่งถูกเรียกว่า “บ้าน” ที่พวกเขาสามารถเคลื่อนย้ายไปได้ทุกที่บนผืนป่า “บ้าน” ตามความหมายของชาวมานิจึงแตกต่างจาก “บ้าน” ในความหมายของคนพื้นราบที่เป็นสิ่งปลูกสร้างที่มีคงทนและถาวร

           ความแตกต่างทางวิธีคิดข้างต้นจึงทำให้ชาวมานิถูกมองว่าจากรัฐว่าเป็นกลุ่มคนเร่ร่อน บุกรุกทำลายป่า และต้องได้รับการพัฒนา รัฐจึงมีนโยบายการสร้างที่อยู่อาศัยให้เป็นหลักแหล่งถาวร ดังเช่น กรณีมานิกันซิวที่หมู่บ้านซาไก จังหวัดยะลา ซึ่งเป็นกลุ่มแรกที่กรมประชาสงเคราะห์ได้รวบรวมข้อมูลมานิที่เร่ร่อนในอำเภอบันนังสตาและอำเภอธารโต จังหวัดยะลา ให้มาอยู่รวมกันในพื้นที่ของนิคมสร้างตนเองธารโต รัฐมีการจัดสรรที่ดินทำกินให้ประมาณ 300 ไร่ เมื่อปี 2516 ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี นามว่า “ศรีธารโต” เพื่อจดทะเบียนการเป็นประชาชนไทยอย่างถูกต้องและได้รับการรับรองสิทธิตามกฎหมายในปี 2519

           อย่างไรก็ตาม เนื่องจากชาวมานิในยุคแรกไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ได้ เนื่องจากวิถีการดำรงชีพแบบเดิมสามารถเคลื่อนย้ายไปได้อย่างอิสระบนผืนป่า แต่การที่รัฐจัดสรรพื้นที่ให้ชาวมานิให้อยู่แบบเป็นหลักแหล่งรวมกับคนพื้นราบและมีการจัดสรรที่ดินทำกินให้ชาวมานิทำการเพาะปลูกเลี้ยงสัตว์ วิถีการดำรงชีพที่รัฐส่งเสริมนั้นไม่สอดคล้องกับองค์ความรู้เดิมของชาวมานิ ทำให้ชาวมานิรู้จักเพียงการเพาะปลูกแต่ไม่สามารถดูแลรักษาให้พืชผลหรือสัตว์เลี้ยงเจริญเติบโตได้ อีกทั้งแนวทางดังกล่าวยังทำให้ชาวมานิบางส่วนรู้สึกถึงการขาดอิสระในการดำรงชีพทำให้พวกเขามีการย้ายถิ่นไปยังประเทศมาเลเซีย เนื่องจากนโยบายภูมิบุตรา5  ที่รัฐบาลมาเลเซียได้ให้สิทธิความเป็นพลเมือง มีที่ดินทำกิน มีที่อยู่อาศัยให้สำหรับคนที่ต้องการอาศัยอยู่ในเขตเมืองและคนที่ต้องการสร้างที่อยู่อาศัยในเขตพื้นที่ป่า มีเงินเดือนให้ แต่ต้องเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม การที่ชาวมานิได้สิทธิพิเศษตามนโยบายดังกล่าว เนื่องจากชาวมานิถือเป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิมที่หลังจากสหพันธรัฐมาลายาได้รับเอกราชจากอังกฤษ ใน ค.ศ. 1957 และได้มีการจัดตั้งเป็นสาธารณรัฐมาเลเซีย มีอำนาจในการปกครองตนเอง ได้มีนโยบายเรียกชื่อซาไกซึ่งถูกจัดประเภทว่าเป็นเชื้อสาย “เนกริโต” และกลุ่มอื่น ๆ ขึ้นใหม่ว่า “โอรังอัสลี” หรือ “คนบริสุทธิ์ (Purity)” ต่อมาจึงได้เปลี่ยนความหมายอีกครั้งให้สอดคล้องกับประเทศออสเตรเลียที่ใช้คำว่า “ชนพื้นเมืองดั้งเดิม” (aborigines) เงื่อนไขข้างต้นจึงเอื้อให้ชาวมานิในหมู่บ้านซาไกจำนวนมากอพยพไปอยู่ประเทศมาเลเซีย เหลือเพียงชาวมานิหนึ่งครอบครัวที่แต่งงานข้ามชาติพันธุ์กับชาวไทยที่ยังคงตั้งถิ่นฐานในอำเภอธารโต จังหวัดยะลา

 

จากการดำรงชีพแบบเคลื่อนย้าย สู่ ความหลากหลายในการตั้งถิ่นฐาน

           จากเดิมที่ชาวมานิมีการตั้งถิ่นฐานในรูปแบบการเคลื่อนย้ายในผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ ภายหลังจากการพัฒนาที่ไหลบ่าเข้าไปยังพื้นที่ ที่เป็นบ้านของชาวมานิ ส่งผลให้ทรัพยากรในการดำรงชีพร่อยหลอลง ชาวมานิจึงต้องดิ้นรนปรับตัวเอาตัวรอดโดยการเปลี่ยนแปลงตั้งถิ่นฐานใน 3 ลักษณะ6  ได้แก่

  1. กลุ่มอพยพเคลื่อนย้ายที่อยู่อาศัยหาของป่าล่าสัตว์แบบดั้งเดิม หรือ กลุ่มที่อาศัยอยู่ในป่าลึก เป็นกลุ่มที่ไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนภายนอก ยังคงกินมันเป็นหลัก ใช้ยาสมุนไพร เคลื่อนย้ายตามปกติ เนื่องจากยังคงอาศัยอยู่ในป่าที่อุดมสมบูรณ์ เป็นกลุ่มที่ไม่มีสนใจเรื่องบัตรประชาชนและการได้รับบริการใด ๆ จากรัฐ ใช้ลูกดอกอาบยาพิษเพื่อการล่าสัตว์เล็กมาเป็นอาหาร จะมีการเคลื่อนย้ายถิ่นหาอาหารบริเวณใกล้ที่พักหมด หรือสมาชิกในกลุ่มเสียชีวิต กลุ่มนี้จะเร่ร่อนหากินในเขตป่าที่อุดมสมบูรณ์ ใกล้แหล่งนี้ มีการติดต่อสัมพันธ์กับกลุ่มชาวบ้านภายนอกบ้าง
  2. กลุ่มตั้งถิ่นฐานกึ่งถาวร (กึ่งสังคมชุมชน) ในพื้นที่ริมชายป่าเศรษฐกิจที่เป็นแนวกันชนระหว่างพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจของคนพื้นถิ่นกับขอบเขตป่าไม้ของรัฐ การมีแหล่งอาหารที่ไม่เพียงพอจึงเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้ชาวมานิต้องมีการเคลื่อนย้ายและติดต่อกับบุคคลภายนอก การขยายพื้นที่เกษตรและการตัดไม้ทำลายป่าจึงส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวมานิที่จะต้องมีการเคลื่อนย้ายเร็วขึ้น จากเดิมบางพื้นที่เคยอยู่ได้นานถึงสองเดือน แต่ปัจจุบันไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ถึงหนึ่งอาทิตย์ อีกทั้งพื้นที่สมุนไพรเจือปนด้วยสารเคมี พื้นที่ตั้งทับตามฤดูกาลถูกบุกรุก การหมุนเวียนกลับมาพื้นที่เดิมในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งพื้นที่กลับกลายเป็นพื้นที่ทำสวนทั้งหมด ทำให้ชาวมานิต้องมีความลำบากมากขึ้น เนื่องจากขาดความรู้และทักษะสำคัญที่จะทำให้ชาวมานิสามารถออกไปรับจ้างได้ ผนวกกับอคติทางสังคมที่คนภายนอกมีต่อชาวมานิ ส่งผลต่อการถูกจำกัดโอกาส แม้จะมีการท่องเที่ยวที่ส่งเสริมในการให้นักท่องเที่ยวเข้ามาชมหรือศึกษาวิถีมานิทำให้วิถีชีวิตของชาวมานิถูกผูกโยงกับการท่องเที่ยว กลับกลายเป็นเพียงการช่วยเหลือแบบสงเคราะห์เพียงด้านเดียว โดยที่ชาวมานิทำหน้าที่เพียงรอรับนักท่องเที่ยว แม้ว่าชาวมานิบางส่วนเริ่มเข้ามารับบริการจากรัฐซึ่งเป็นผลมาจากการได้บัตรประชาชนแล้วก็ตาม แต่วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวมานิยังคงถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้างอยู่เสมอ จึงกล่าวได้ว่าชาวมานิกลุ่มนี้มีการเปลี่ยนแปลงวิถีแบบดั้งเดิม มีการติดต่อสัมพันธ์กับชาวบ้านเพื่อความอยู่รอดมากขึ้น เช่น หาของป่ามาขายเพื่อนำเงินไปซื้อข้าวสาร เนื้อหมู ไก่ ขนม ยาเส้น บุหรี่ แต่ยังคงหาหัวมันป่าและล่าสัตว์มากินเองเป็นบางครั้ง มีการสร้างบ้านเรือนที่ถาวรมากขึ้น เป็นต้น
  3. กลุ่มตั้งถิ่นฐานถาวร ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มบัตรประจำตัวประชาชน มีการรับจ้างทำสวน บางพื้นที่มีสวนเป็นของตนเอง แต่อยู่ในที่ดินของรัฐ ชาวมานิกลุ่มนี้จะเปลี่ยนแปลงวิถีการล่าสัตว์ลดน้อยลง มีการยึดหลักการสร้างรายได้เหมือนคนทั่วไปในสังคม เนื่องจากชาวมานิมีวิถีการเคลื่อนย้ายที่อยู่อาศัยตามความอุดมสมบูรณ์ของอาหาร เมื่อบริบทสังคมเปลี่ยนแปลงไปในยุคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมความเป็นเมืองได้กระจายเข้ามาสู่วิถีชีวิตชาวมานิ ทำให้พื้นที่ตั้งถิ่นฐานและแหล่งอาหารของชาวมานิเหลือเพียงเล็กน้อย

           จากที่กล่าวมาข้างต้นสะท้อนให้เห็นเงื่อนไขในการการอพยพและการตั้งถิ่นฐานของมานิที่มีส่วนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับนโยบายและกฎหมายที่สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อวิถีชีวิตชาวมานิ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศซึ่งเป็นผลมาจากการพัฒนาที่มีผลทำให้ชาวมานิจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อสร้างเครือข่ายทางสังคมกับคนพื้นราบมากขึ้น มีการตั้งบ้านเรือนหรือที่อยู่อาศัยแบบกึ่งถาวรและถาวร มีการปรับเปลี่ยนวิถีการดำรงชีพในการรับจ้างทำสวนยางพารา สวนปาล์มและสวนผลไม้ รู้จักการเพาะปลูกข้าวไร่ เลี้ยงไก่ บางคนมีการแต่งกายแบบสมัยใหม่สวมเสื้อเชิ้ต กางเกงยีนส์ รองเท้าผ้าใบ ดูโทรทัศน์ ขับขี่รถจักรยานยนต์ ใช้โทรศัพท์มือถือและอินเตอร์เน็ตในการดูยูทูป รู้จักการใช้เงินตราในการแลกเปลี่ยน
เป็นต้น

 

ปรัชญาชีวิตมานิ: การปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกันของคนกับป่า

           มานิถือเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมหนึ่งที่เรียกว่า “วัฒนธรรมแบบหาของป่า
ล่าสัตว์” (Hunting Gathering) วิถีชีวิตของชาวมานิจึงเน้นการปรับตัวให้อยู่ร่วมกับระบบนิเวศวิทยาทางธรรมชาติ โดยใช้ความรู้ภูมิปัญญาหรือทุนทางวัฒนธรรมเพื่อใช้ในการดำรงชีวิตในป่า เช่น องค์ความรู้ด้านการล่าสัตว์ การทำกระบอกไม้ซางและลูกดอกอาบยาพิษ การรู้จักเรียนรู้สรรพคุณของพืชเพื่อใช้รักษาโรค การเรียนรู้ธรรมชาติและสัญชาตญาณสัตว์ รวมทั้งความรู้ภูมิปัญญาที่เกี่ยวกับป่าและการใช้ชีวิตในป่า เป็นต้น การที่ชาวมานิมีความผูกพันและรู้จักอยู่กับธรรมชาติโดยที่ยังคงรักษาทรัพยากรธรรมชาติไว้ใช้ต่อไปในอนาคต มีการปรับตัวโดยใช้ความรู้ที่ตนมีเกี่ยวกับการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ พืชพรรณ หรือสัตว์ป่า เป็นองค์ความรู้ที่เรียนรู้สืบต่อมาจากรุ่นพ่อแม่ เป็นสิ่งที่ได้จากการสังเกต การเรียนรู้ในชีวิตประจำวัน โดยที่ไม่ต้องอาศัยการเข้าสู่ระบบการศึกษา ชาวมานิเรียนรู้สิ่งรอบตัวเพื่อใช้เป็นประโยชน์ในการนำวัตถุธรรมชาติมาใช้ พวกเขาสามารถธำรงอยู่ได้เพราะการทำความเข้าใจศึกษาธรรมชาติ มีการเรียนรู้และปรับตัวในการป้องกันโรคภัยไข้เจ็บโดยเฉพาะโรคที่เกิดจากความไม่สะอาดของอาหารและที่พักอาศัย การป้องกันโรคไข้หวัดและโรคมาลาเรียโดยการจุดไฟเพื่อไล่แมลงและความชื้นภายในทับ เป็นต้น

           ในอดีตชาวมานิมีวิถีชีวิตที่พึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติในทุกด้านเพื่อเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต แต่ภายหลังจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ.2504 ได้ส่งผลให้ผู้คนจากหลากหลายกลุ่มสามารถเข้าถึงระบบนิเวศเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติเริ่มเสื่อมโทรม เกิดการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าดิบให้กลายเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่นำความทันสมัยมายังชาวมานิอย่างรวดเร็ว ชาวมานิเริ่มมีการติดต่อกับชาวบ้านในพื้นราบมากยิ่งขึ้น ทำให้ชาวมานิมีการเรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จนนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชาวมานิในปัจจุบัน ทั้งในด้านอาหาร วิถีการบริโภค ที่อยู่อาศัย เครื่องแต่งกาย ภาษา วัฒนธรรม ความเชื่อ เป็นต้น โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงที่อยู่อาศัยหรือบ้านแบบเคลื่อนย้ายมาเป็นการสร้างที่อยู่อาศัยแบบกึ่งถาวรและถาวรมากขึ้น ซึ่งถือเป็นกลวิธี (Tactic) เพื่อความอยู่รอดหรือเป็นทางเลือกในการดำรงชีพรูปแบบหนึ่ง ชาวมานิจึงต้องปรับตัวโดยการออกมาทำงานรับจ้างทำงานภายนอกมากขึ้น เพื่อต้องการฟื้นฟูแหล่งอาหารให้เติบโตและเหมาะสมสำหรับการย้ายกลับมาอยู่ในอนาคตและเปลี่ยนย้ายสถานที่ให้เหมาะสมกับการเดินทางลงจากภูเขาเพื่อมาทำงานรับจ้างในพื้นที่ราบ การย้ายที่พักจึงทำให้ชาวมานิเข้าหานายจ้างและสร้างความรู้สึกมั่นคงทางอาหารแก่กลุ่มของตนเอง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าชาวมานิมีการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมเดิม

           ในขณะเดียวกันชาวมานิก็มีการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ ซึ่งเป็นผลมาจากการติดต่อกับคนภายนอกทำให้เกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรมตนเองเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่นการแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่มีการปกปิดมิดชิด การใช้เงินเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนในชีวิตประจำวันยังผลให้ชาวมานิต้องออกรับจ้างเพื่อการอยู่รอดของตนเอง การใช้ภาษาไทยพื้นถิ่นเพื่อสื่อสารกับคนไทย มีการรับเอาเทคโนโลยีจากภายนอกมาใช้เพื่อความสะดวกโดยการใช้โทรศัพท์มือถือมาใช้ในการติดต่อสื่อสาร การเรียนรู้การกินอาหาร การแต่งกายให้เหมือนกับชาวบ้านทั่วไปหรือคนพื้นราบ มีการเรียนรู้การขับขี่รถจักรยานยนต์ การใช้เครื่องมือเครื่องใช้ที่ทันสมัย เรียนรู้การเพาะปลูก เป็นต้น ซึ่งสะท้อนถึงการรับเอาวัฒนธรรมภายนอกเข้ามาปรับใช้กับกลุ่มตนเอง

 

ที่มาภาพ: ภัทราพันธุ์ อุดมศรี (2562)

ภาพที่ 3 การแต่งกายของชาวมานิในปัจจุบัน

 

มานิกับการประกอบสร้างอัตลักษณ์ให้เป็นที่ยอมรับจากคนพื้นราบ

           นอกจากนี้ ชาวมานิยังมีการปรับตัวในการประกอบสร้างอัตลักษณ์ให้เป็นที่ยอมรับ เช่น การเป็นผู้อนุรักษ์ป่าไม้ มายาคติของการเป็นผู้บุกรุกพื้นที่ป่า ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นผลมาจากสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมลง ผนวกกับชาวบ้านและบุคคลภายนอกเข้ามาล่าสัตว์ ทำให้สัตว์ลดลดลง อีกทั้งหากชาวมานิจะนำสัตว์ป่ามากินเป็นอาหาร มักจะถูกมองว่าเป็นกลุ่มคนที่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ในมุมมองของเจ้าหน้าที่อนุรักษ์พิทักษ์ป่า ชาวมานิจึงรับประทานอาหารประเภทสัตว์ป่าลดลง และหันไปบริโภคสัตว์ขนาดเล็ก และปลาในลำห้วย แต่พวกเขาจะไม่กินสัตว์ตัวเมียเพราะถือว่าในท้องของมันมีลูก นอกจากนี้แม้ว่าชาวมานิจะมีวิถีชีวิตแบบล่าสัตว์มาตั้งแต่บรรพบุรุษ แต่ในปัจจุบันสัตว์ป่าหลายประเภทมีสถานะใกล้สูญพันธุ์ ทำให้พวกเขาต้องมีความระมัดระวังมากยิ่งขึ้นในการล่า ประกอบกับพวกเขารับรู้ว่าพื้นที่เหนือเขื่อนบางลางเป็นพื้นที่อนุรักษ์ จึงมีกฎเกณฑ์ที่พวกเขาสร้างขึ้นมาเพื่อป้องกันสัตว์ป่าหมดไปจากพื้นที่ เช่น ปัจจุบันพวกเขาไม่กินนกเงือกและระมัดระวังในการกินกวาง ดังเช่น กรณีของกลุ่มมะแซหรือกลุ่มผัดพริก ซึ่งเป็นชื่อที่คนพื้นราบตั้งให้ชื่อเรียกกลุ่มมานิจึงมักจะอิงตามกลุ่มที่คนพื้นราบที่พวกเขาติดต่อหรือสนิทสนม หากใกล้ชิดกับหมู่บ้านมุสลิมก็มักจะมีชื่อในภาษามลายูและภาษาอาหรับ กลุ่มที่ใกล้ชิดกับหมู่บ้านไทยพุทธก็จะมีชื่อภาษาไทย ทำให้ชาวมานิบางคนมีหลายชื่อ ตามแต่คนหมู่บ้านไหนจะเรียก เช่น มะแซและผัดพริกเป็นชาวมานิคนเดียวกัน กลุ่มดังกล่าวจะมีกฎเกณฑ์หรือข้อตกลงที่อนุญาตให้กินกวางได้เพียงสอง ตัวในระยะเวลาสามเดือน เนื่องจากกวางเป็นสัตว์ที่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อีกทั้งกวางเป็นสัตว์ที่จะต้องถูกนำมาใช้ในประเพณีการแต่งงานของกลุ่มผัดพริก การล่าจึงต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ หากกวางหมดไปพวกเขาก็อาจขาดสิ่งสำคัญสำหรับทำพิธีแต่งงานให้แก่ตนเองและบุตรหลาน7

 

การปรับตัว ต่อรอง และการธำรงอัตลักษณ์ของชาวมานิ

           ชาวมานิมีการปรับตัวในการดำรงชีพและการธำรงอัตลักษณ์ที่สะท้อนให้เห็นการใช้ทุนทางวัฒนธรรมหรือการใช้ศักยภาพของชาวมานิในการอยู่ร่วมกับธรรมชาติและความพยายามในการธำรงรักษาเผ่าพันธุ์ของตนเองภายใต้ความเชื่อหรือข้อห้ามที่สอดคล้องกับการรักษาสมดุลของธรรมชาติและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ มาใช้เป็นบรรทัดฐานที่ใช้ควบคุมกำกับพฤติกรรมของผู้คนในกลุ่ม ซึ่งหากใครฝ่าฝืนจะถือว่า “บาป” เช่น ข้อห้ามเกี่ยวกับการขับถ่ายลงน้ำ การขึ้นไปอาบน้ำเหลือแหล่งน้ำที่ใช้ดื่มกิน การตัดต้นไม้ใหญ่ การกินสัตว์มีท้อง การล่าสัตว์ที่ไม่แบ่งปันผู้อื่น การหลับนอนกับฮามิ (คนเมือง) การฆ่าสัตว์ไม่มีขน การดูคนอื่นกินอาหาร การข้ามของกิน เป็นต้น อย่างไรก็ตามการปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดของชาวมานิไม่ใช่เพียงแค่การมีชีวิตรอดท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงเท่านั้น หากแต่ยังหมายถึง การปรับตัวเพื่อการอยู่รอดของอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์อีกด้วยชาวมานิจึงพยายามแสดงและธำรงอัตลักษณ์ของกลุ่มไว้ให้คงอยู่สืบไป อาทิ หลักคิดเรื่อง “การมีชีวิตอยู่เพื่อวันนี้เท่านั้น” ทำให้ชาวมานิไม่มีการสะสมทุนทั้งในรูปแบบข้าวของเครื่องใช้หรือเงินตรา หลักคิดข้างต้นจึงทำให้ชาวมานิยังคงรักษาวิถีชีวิตแบบการพึ่งพิงและแบ่งปันซึ่งกันและกัน การมีความเชื่อเรื่องโรคภัยไข้เจ็บว่ามีผลมาจากอำนาจเหนือธรรมชาติ รวมทั้งการหลบหนีไปสร้างที่อยู่อาศัย (ทับ) ในป่าลึกเพื่อให้รอดค้นจากไวรัสโคโรน่า (โควิด – 19) ถือเป็นการนำทุนทางวัฒนธรรมในด้านหลักคิดในการเคลื่อนย้ายที่อยู่อาศัยหากเกิดโรคระบาดหรือมีคนในกลุ่มเสียชีวิตมาปรับใช้กับสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการระบาดของไวรัสโคโรน่าเพื่อรักษาจำนวนประชากรชาวมานิ เป็นต้น

           นอกจากชาวมานิจะมีการปรับตัวและการธำรงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมแล้ว ชาวมานิยังมีการปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์เพื่อใช้ต่อรองความสัมพันธ์เชิงอำนาจให้สามารถยกระดับสถานภาพทางสังคมให้ดีขึ้น เช่น การรับจ้าง การรับเอาความทันสมัยเพื่อปลดตัวเองจากวาทกรรมการเป็นคนชายขอบหรือการเป็นคนอื่นที่ทำให้ชาวมานิถูกมองอย่างแปลกแยกจากคนกลุ่มใหญ่ในสังคม โดยบางกลุ่มมีการเปลี่ยนแปลงในการนับถือผีและอำนาจเหนือธรรมชาติหันมานับถือศาสนาอิสลามและศาสนาพุทธเพื่อยกระดับสถานภาพทางสังคมเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป สะท้อนให้เห็นการต่อรองและการปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์ให้มีความผสมกลมกลืนกับคนพื้นราบมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ชาวมานิยังปรับเปลี่ยนวิธีการเป็นผู้ล่าสัตว์หาของป่าเฉพาะในช่วงที่ทรัพยากรในป่ามีความอุดมสมบูรณ์ ในขณะเดียวกันก็ผันตัวเองไปเป็นแรงงานรับจ้าง เป็นผู้นำทางการท่องเที่ยว เป็นลูกจ้างและนักแสดงวิถีชีวิตตนเองให้กับอุทยานและรีสอร์ท การปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์ข้างต้นถือเป็นการประกอบสร้างภาพตัวแทนใหม่ในการเป็นผู้อนุรักษ์ป่าแทนมายาคติเดิมที่ชาวมานิถูกมองจากรัฐว่าเป็นผู้บุกรุกทำลายป่า เป็นต้น

           จากที่กล่าวมาข้างต้น ผู้เขียนต้องการสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นผู้กระทำการ (Agency) ของชาวมานิที่มีความสามารถในการปรับตัว ดิ้นรน แสวงหาทางเลือกในการดำรงชีพที่มีความหลากหลาย โดยบางกลุ่มเลือกที่จะปรับตัวเข้ากับคนพื้นราบมากขึ้นเพื่อดำรงชีวิต เนื่องจากไม่สามารถดำรงชีวิตในป่าได้อีกเพราะสภาพพื้นที่ป่าขาดความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งเป็นผลมาจากการถูกบุกรุกพื้นที่ป่าที่เคยเป็นแหล่งอาหาร ทำให้ชาวมานิต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้เข้ากับสภาพการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ในขณะที่บางกลุ่มเลือกที่จะธำรงอัตลักษณ์ดั้งเดิมของตนไว้จึงเลือกที่จะหลบหนีเข้าสู่ป่า

           การปรับตัวในการดำรงชีพของชาวมานิที่กล่าวมาข้างต้นถือเป็นผลพวงมาจากนโยบายการพัฒนาที่ส่งผลให้เกิดการเปิดป่าสัมปทานและบุกรุกป่าจากบุคคลภายนอก รัฐออกกฎหมายพื้นที่ป่าสงวนหรือเขตอนุรักษ์ หรือการปราบปรามชาวมานิที่อาศัยอยู่ในเขตป่าที่รัฐมองว่าเป็นที่ตั้งของพรรคคอมมิวนิสต์ มุมมองดังกล่าวได้เหมารวมภายใต้มายาคติที่เกี่ยวกับกับความมั่นคงของชาติในยุคคอมมิวนิสต์8  จนนำมาสู่การถูกปราบปราม จากนั้นในช่วงเวลาต่อมายาคติที่ถูกสร้างโดยรัฐยังผลักให้ชาวมานิกลายเป็นผู้บุกรุกป่า ซึ่งเป็นการกีดกันชาวมานิออกจากการพัฒนาหรือการถูกกีดกัดจากทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นที่อยู่อาศัยดั้งเดิม แม้ว่าในปัจจุบันรัฐได้มีนโยบายในการส่งเสริมการท่องเที่ยวชาติพันธุ์เพื่อดึงชาวมานิเข้าสู่การพัฒนามากขึ้น แต่การพัฒนาด้านการท่องเที่ยวของรัฐที่เน้นการประกอบสร้างเพื่อขายวิถีชีวิต และไม่ได้ตรงตามสภาพความเป็นจริง เช่น การแต่งตัวเหมือนในภาพยนตร์ การแสดงวิถีชีวิตเป่าลูกดอก การทำสินค้าของที่ระลึกจำหน่าย ถือเป็นการลดทอนคุณค่าหรือวิถีชีวิตที่แท้จริงของชาวมานิให้กลายเป็นเพียงตัวตลกที่แปลกตาเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้มาพบเห็น ดังนั้น ในการดำเนินนโยบายหรือการศึกษากลุ่มชาติพันธุ์จะต้องคำนึงหรือให้ความสำคัญกับวิถีชีวิตและทางเลือกในการดำรงชีพที่มีความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่จะช่วยหนุนเสริมพลังให้กลุ่มชาติพันธุ์สามารถดำรงชีพและแสดงออกทางวัฒนธรรมได้อย่างมีศักดิ์ศรีเพื่อสร้างความเข้าใจและลดอคติที่มีต่อกลุ่มชาติพันธุ์จากมุมมองคนนอกให้เกิดความตระหนักและเคารพความแตกต่างทางวัฒนธรรมเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

 


 

1  บุญเสริม ฤทราภิรมย์. (2557). เงาะป่าภาคใต้ของไทยเป็นเผ่าเซมังไม่ใช่ซาไก. สตูล: วิทยาลัยชุมชนสตูล.

2  สิริพร สมบูรณ์บูรณะ. (2558). รายงานการวิจัยเรื่องกลุ่มชาติพันธุ์ กรณีกลุ่มซาไกหรือมานิในภาคใต้  จังหวัดพัทลุง ตรัง และสตูล. กรุงเทพ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).

3  บัณฑิต ไกรวิจิตร และคณะ. (2562). โครงการชาวโอรังอัสลี ภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทย. กรุงเทพฯ:  ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).

4  ไพบูรณ์ ดวงจันทร์. (2523). ซาไกเจ้าแห่งขุนเขาและสมุนไพร. กรุงเทพฯ: อนงค์ศิลป์.

5  นโยบายภูมิบุตรา (Bumiputera) เป็นภาษามลายูมาจากคำสองคำคือ Bumi หมายถึง แผ่นดิน และ Putera  หมายถึง เจ้าชายหรือบุตร ตามพจนานุกรม มาเลย์-ไทย (ฉบับปรุบปรุงพ.ศ. 2550) Bumiputera อ่านว่า บูมีปุตตรา หมายถึง พลเมืองโดยกำเนิด เป็นนโยบายที่มีลักษณะของการให้สิทธิพิเศษบางประการกับชาวมลายูและชนพื้นเมืองเดิมตามที่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญของสหพันธรัฐมาเลเซียเพื่อเป็นหลักประกันทางด้านสังคมและเศรษฐกิจของประชากรในกลุ่มที่เรียกว่า ภูมิบุตรา ซึ่งประกอบด้วยชาวมลายูและชนพื้นเมืองเดิม ที่มา: เฉลิมชัย โชติสุทธิ์. (2557). ภูมิบุตรา: นโยบายเชื้อชาตินิยมในมาเลเซีย. วารสารปาริชาต มหาวิทยาลัยทักษิณ, 27(1); 78-97.

6  สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และชุมพล โพธิสาร. (2559). มานิ (ซาไก) ชนพื้นเมืองในภาคใต้ของไทย. ดำรงวิชาการ, 14(1); 33-56.

7  บัณฑิต ไกรวิจิตร และคณะ. (2562). เรื่องเดิม. หน้า 127

8  สิริพร สมบูรณ์บูรณะ. (2558). เรื่องเดิม. หน้า 82

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share