banner image

Subject Guide

หน้าแรก / Subject Guide / ชาติพันธุ์ / ไทใหญ่

ชาติพันธุ์ / ไทใหญ่

Export All

image author

รวบรวมโดย : จรรยา ยุทธพลนาวี

เผยแพร่ 01 ส.ค. 2563

ขอบเขตของเนื้อหา

          กลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่เรียกตัวเองว่า “ไต” นั้น อาศัยอยู่บนแผ่นดินใหญ่เอเชีย นับตั้งแต่ตอนเหนือของประเทศเวียดนาม ตลอดแนวตอนใต้ของประเทศจีน ประเทศลาว ประเทศไทย ทางตอนเหนือของประเทศพม่าไปจนถึงแคว้นอัสสัมทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย ด้วยการกระจายตัวไปตั้งรกรากถิ่นฐานในพื้นที่แตกต่างกัน พวกเขาจึงมีชื่อเรียกมากมาย ตามประเทศและกลุ่มคนที่ตนอาศัยอยู่ร่วม คนไต แต่เดิมถูกเรียกหรือจัดให้อยู่ในกลุ่มเดียวกับ ชาน (ฉาน) สยาม เสียม หรืออาหม ส่วนคำว่า “ไทใหญ่” นั้นพบว่าเป็นคำที่คนไทยในประเทศไทยเท่านั้นที่ใช้เรียกกลุ่มชาติพันธุ์นี้

         อัตลักษณ์ร่วม ที่โดดเด่นของชาวไทใหญ่คือ ความศรัทธาอย่างลึกซึ้งต่อพุทธศาสนา โดยเฉพาะในการทำบุญทำทาน จนถึงกับมีคำกล่าวว่า ”อย่ากินอย่างม่าน (พม่า) อย่าตาน (ทำทาน) อย่างไท”  เพราะคนไทใหญ่ให้ความสำคัญต่อการบำเพ็ญทานบารมี ใครทำทานให้กับวัดกับพุทธศาสนามาก ก็จะได้รับเกียรติได้รับการยกย่องจากสังคมของคนไทใหญ่ วิถีชีวิตของชาวไทใหญ่ตั้งแต่เกิดจนตายต่างผูกพันกับพระพุทธศาสนา
       คู่มือแนะนำทรัพยากรสารสนเทศกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ในครั้งนี้ จะให้ความสำคัญกับรายการทรัพยากรสารสนเทศที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ที่อาศัยในบริเวณภาคเหนือประเทศไทย  และในบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ในประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงสังคมวัฒนธรรม วิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่

 


อ้างอิงจาก 
ฐานข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย. "กลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่"  เข้าถึงได้จาก https://www.sac.or.th/databases/ethnic-groups/ethnicGroups/131

คำสำคัญ

แหล่งข้อมูล

คู่มือแนะนำทรัพยากรสารสนเทศ กลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ ประกอบด้วยแหล่งข้อมูล ดังนี้ หนังสือภาษาไทยและหนังสือภาษาอังกฤษ (Book), งานวิจัยและวิทยานิพนธ์ (Research) ,บทความในหนังสือ (Book Chapter), บทความในวารสาร (Articles), สื่อโสตทัศน์ (Multimedia), ฐานข้อมูล (Database), เว็บไซต์ (Website)

เรียงลำดับข้อมูลจากใหม่ไปเก่า | เรียงลำดับข้อมูลจากเก่าไปใหม่


image

Author

ศิราพร ณ ถลาง และ สุพิน ฤทธิ์เพ็ญ.

Imprint

กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2558

Collection

Book: DS582.5.ท9 ศ64 2558

Annotation

การศึกษางานปอยของชาวไทใหญ่ในจังหวัดเชียงใหม่ โดยทุกปีชาวไทใหญ่ ในจังหวัดเชียงใหม่จะจัดงานปอย ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาถือเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวไทใหญ่ และยังเหมือนสายใยที่เชื่อมความเป็นชาวไทใหญ่จากรัฐฉานกับชาวไทใหญ่ที่ย้ายถิ่นฐานให้มาอยู่รวมกัน งานปอยจึงเปรียบเสมือนพื้นที่ให้แสดงความเป็นตัวตนของชาวไทใหญ่ ทั้งศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณีต่างๆ แม้กระทั่งการแต่งกาย
 

อ่านต่อ...
image

Author

เจ้ายอดศึก.

Imprint

กรุงเทพฯ : สยามปริทัศน์, 2555

Collection

Books: DS530.8.ฉ6จ75 2555

Annotation

หนังสือเล่มนี้ได้รวบรวมบทความและบทสัมภาษณ์จำนวน 19 เรื่อง มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการต่อสู้      ที่ยาวนานทั้งทางด้านวัฒนธรรมและการเมืองของชาวไทใหญ่ ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยของประเทศพม่าที่ได้ทำการต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการทหาร เพื่อเรียกร้องสิทธิในการปกครองตัวเอง ภายใต้ประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย และในยุคที่ลัทธิอุดมการณ์ทางการเมืองภายหลังจากเหตุการณ์สงครามเย็น ซึ่งประเทศมหาอำนาจในโลกต่างเข้ามามีอิทธิพลกับปัญหาความขัดแย้งระหว่างชนกลุ่มน้อยและรัฐบาลทหารพม่าเช่นกัน ทั้งยังเสนอถึงอิทธิพลด้านวัฒนธรรมที่มีต่อการรักษาอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์ ซึ่งได้ให้ความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมประเพณีและค่านิยมความเชื่อต่างๆ ของชาวไทใหญ่และชาติพันธุ์อื่นๆ ในพม่า รวมทั้งทัศนคติ ของชาติพันธุ์ต่างๆ ที่มีต่อประเทศไทยและประชาชนชาวไทย
 

อ่านต่อ...
image

Author

นันทริยา สาเอี่ยม.

Imprint

เชียงใหม่ : ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2554.

Collection

Books: PN6519.ท9น64 2554

Annotation

การวิจัยเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์โครงสร้างภาษิตภาษาไทใหญ่ และเพื่อศึกษาวัฒนธรรม       ไทใหญ่ที่ปรากฏอยู่ในภาษิตภาษาไทใหญ่ ใช้วิธีการเก็บข้อมูลโดยการสำรวจเอกสาร และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับภาษิตและภาษิตภาษาไทใหญ่ รวมทั้งการสัมภาษณ์ผู้บอกภาษาชาวไทใหญ่เพื่ออธิบายความหมายสุภาษิตภาษาไทใหญ่ จากการศึกษาพบว่าโครงสร้างของภาษิตไทใหญ่ส่วนมากมีสองวรรค โดยมีจำนวนคำในแต่ละวรรคแตกต่างกันไป มีวิธีการใช้สัมผัสระหว่างวรรค ส่วนวัฒนธรรมด้านต่างๆ ที่ปรากฏในภาษิตภาษาไทใหญ่นั้น มีทั้งการแต่งกาย เครื่องมือเครื่องใช้ การทำนา การประกอบอาชีพ อาหาร ศิลปะการแสดง ดนตรีและการละเล่น ความเชื่อเกี่ยวกับสัตว์ ช่วงอายุ การทำบุญ การพูด การฟัง มารยาท หน้าตา รวมไปถึงคำสอนในการดำเนินชีวิต ทั้งนี้ในรายงานการวิจัยได้รวบรวมภาษิตภาษาไทใหญ่พร้อมทั้งความหมายภาษาไทยให้ผู้สนใจได้ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม
 

อ่านต่อ...
image

Author

มนธิรา ราโท, บรรณาธิการ.

Imprint

กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2554

Collection

Books: DS528.2.อ63 2554

Annotation

หนังสือรวบรวมบทความบางส่วนจากการนำเสนอในการประชุม International Conference, Performing Arts, and Exhibitional on "Shan Studies" ซึ่งจัดโดยสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่างวันที่ 15-17 ตุลาคม 2552 ประกอบไปด้วยบทความจากนักวิชาการไทยในประเด็นต่างๆ ด้านฉานศึกษา ทั้งเรื่องของภาษา พิธีกรรม การย้ายถิ่น ผ้าทอชาวไทใหญ่และภูมิสถาปัตย์ ซึ่งจะทำให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมของชาวไทใหญ่ที่อาศัยอยู่ในรัฐฉาน ประเทศเมียนมาร์ และบางส่วนของประเทศไทยได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และสิ่งสำคัญที่แม้ว่าจะเกิดกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคม ชาวไทใหญ่ก็ยังคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ความเป็นชาติพันธุ์ของตนเองไว้อย่างเข้มแข็ง
 

อ่านต่อ...
image

Author

วีระพงศ์ มีสถาน.

Imprint

กรุงเทพฯ : เอกพิมพ์ไทย, 2544.

Collection

Books: DS570.ท94ว64

Annotation

หนังสือเล่มนี้ ได้เรียบเรียงขึ้น จากการค้นคว้าข้อมูลทางเอกสารและการเก็บข้อมูลภาคสนามจาก บ้านปางหมู อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยใช้วิธีการสังเกตอย่างมีส่วนร่วม รวมทั้งการสัมภาษณ์ และร่วมใช้ชีวิตอยู่ในหมู่บ้านของชาวไทยใหญ่ ข้อมูลได้ถูกเรียบเรียงทั้งในส่วนของประวัติความเป็นมา ประชากร  ที่อยู่อาศัยและลักษณะบ้านเรือน การแต่งกาย ลักษณะภาษาไทยใหญ่ โครงสร้างทางสังคม การประกอบอาชีพ ศาสนาและความเชื่อ ประเพณีและพิธีกรรม อาหารการกิน การสันทนาการ รวมไปถึงของใช้ในวัฒนธรรม ทั้งนี้ผู้เขียนได้ค้นคว้าและรวบรวมข้อมูล โดยจำแนกหมวดหมู่อย่างชัดเจน พร้อมทั้งมีภาพประกอบ เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถศึกษาค้นคว้าเรื่อง ภาษาและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์โดยเฉพาะชาวไทยใหญ่ในประเทศไทยต่อไป
 

อ่านต่อ...

ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 โทร. 0-2880-9429 ต่อ 3702 

แฟ็กซ์ 0-2434-6254 อีเมล์ library@sac.or.th
 

Facebook : ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร-Sac library
Line@ : @sac-library หรือคลิกเพื่อ Add Line http://line.me/ti/p/~@SAC-Library


  

ห้องสมุด (ชั้น 8)

จันทร์ - ศุกร์ : 8:30 – 16:30 น.

เสาร์ : 9:00 – 16:00 น.

ห้องสมุดสุข กาย ใจ

จันทร์ - ศุกร์ : 8:00 – 18:00 น.

เสาร์ : 8:00 – 17:00 น.

หยุดวันนักขัตฤกษ์และวันหยุดตามประกาศราชการ