banner image

Subject Guide

หน้าแรก / Subject Guide / ชาติพันธุ์ / ไทใหญ่

ชาติพันธุ์ / ไทใหญ่

Export All

image author

รวบรวมโดย : จรรยา ยุทธพลนาวี

เผยแพร่ 01 ส.ค. 2563

ขอบเขตของเนื้อหา

          กลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่เรียกตัวเองว่า “ไต” นั้น อาศัยอยู่บนแผ่นดินใหญ่เอเชีย นับตั้งแต่ตอนเหนือของประเทศเวียดนาม ตลอดแนวตอนใต้ของประเทศจีน ประเทศลาว ประเทศไทย ทางตอนเหนือของประเทศพม่าไปจนถึงแคว้นอัสสัมทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย ด้วยการกระจายตัวไปตั้งรกรากถิ่นฐานในพื้นที่แตกต่างกัน พวกเขาจึงมีชื่อเรียกมากมาย ตามประเทศและกลุ่มคนที่ตนอาศัยอยู่ร่วม คนไต แต่เดิมถูกเรียกหรือจัดให้อยู่ในกลุ่มเดียวกับ ชาน (ฉาน) สยาม เสียม หรืออาหม ส่วนคำว่า “ไทใหญ่” นั้นพบว่าเป็นคำที่คนไทยในประเทศไทยเท่านั้นที่ใช้เรียกกลุ่มชาติพันธุ์นี้

         อัตลักษณ์ร่วม ที่โดดเด่นของชาวไทใหญ่คือ ความศรัทธาอย่างลึกซึ้งต่อพุทธศาสนา โดยเฉพาะในการทำบุญทำทาน จนถึงกับมีคำกล่าวว่า ”อย่ากินอย่างม่าน (พม่า) อย่าตาน (ทำทาน) อย่างไท”  เพราะคนไทใหญ่ให้ความสำคัญต่อการบำเพ็ญทานบารมี ใครทำทานให้กับวัดกับพุทธศาสนามาก ก็จะได้รับเกียรติได้รับการยกย่องจากสังคมของคนไทใหญ่ วิถีชีวิตของชาวไทใหญ่ตั้งแต่เกิดจนตายต่างผูกพันกับพระพุทธศาสนา
       คู่มือแนะนำทรัพยากรสารสนเทศกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ในครั้งนี้ จะให้ความสำคัญกับรายการทรัพยากรสารสนเทศที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ที่อาศัยในบริเวณภาคเหนือประเทศไทย  และในบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ในประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงสังคมวัฒนธรรม วิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่

 


อ้างอิงจาก 
ฐานข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย. "กลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่"  เข้าถึงได้จาก https://www.sac.or.th/databases/ethnic-groups/ethnicGroups/131

คำสำคัญ

แหล่งข้อมูล

คู่มือแนะนำทรัพยากรสารสนเทศ กลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ ประกอบด้วยแหล่งข้อมูล ดังนี้ หนังสือภาษาไทยและหนังสือภาษาอังกฤษ (Book), งานวิจัยและวิทยานิพนธ์ (Research) ,บทความในหนังสือ (Book Chapter), บทความในวารสาร (Articles), สื่อโสตทัศน์ (Multimedia), ฐานข้อมูล (Database), เว็บไซต์ (Website)

เรียงลำดับข้อมูลจากใหม่ไปเก่า | เรียงลำดับข้อมูลจากเก่าไปใหม่


image

Author

สราวุธ รูปิน

Imprint

ไม่ระบุ

Collection

วารสารวิจิตรศิลป์ ปีที่ 3, ฉบับที่ 1 (Jan./Jun. 2555), หน้า 191-222 : ภาพประกอบ, แผนที่

Annotation

บทความเรื่องนี้แปลจากเอกสารเรื่องประวัติความเป็นมาบ้านห้วยทราย เมื่อบ่อแก้ว สปป.ลาว โดย สุริยง ส.ห่าน และ โบ ห่าน ซึ่งกล่าวถึงเรื่องราวที่ชาวไทใหญ่เข้ามาอาศัยในบ้านห้วยทรายเพื่อทำการสำรวจและขุดหาแก้วหรือรัตนชาติ โดยเอกสารฉบับนี้เรียบเรียงขึ้นจากบันทึกของชาวไทใหญ่ที่ได้เดินทางเข้าไปสำรวจแก้วดังกล่าว นอกจากบันทึกเกี่ยวกับการเข้าไปค้นหาแก้วของชาวไทใหญ่แล้วนั้น ยังประกอบไปด้วยเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ในช่วงก่อนการยึดครองของฝรั่งเศส ซึ่งหมู่บ้านห้วยทรายได้กลายเป็นพื้นที่กันชนระหว่างการแย่งชิงอำนาจระหว่างอังกฤษและฝรั่งเศสในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
 

อ่านต่อ...
image

Author

นิรมล เมธีสุวกุล, ทีวีไทย.

Imprint

ออกอากาศ วันที่ 14 มิ.ย. 2552 (25.16 นาที)

Collection

Audio Visual Materials: CDF 000616

Annotation

ชาวไทใหญ่มีความพยายามในการรักษาภาษาชาติพันธุ์ของตนเองไว้ทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน  ท่ามกลางเหตุการณ์ความขัดแย้งและการลี้ภัย ซึ่งคนที่พูดภาษาคำเมืองหรือภาษาล้านนาจะสามารถทำความเข้าใจภาษาไทใหญ่ได้ไม่ยาก ส่วนอักษรไทใหญ่มีพื้นฐานมาจากภาษามอญและปรากฏอยู่ในอักษรธรรมด้วย
ในอดีตรัฐฉานเคยมีหลักสูตรการเรียนการสอนเป็นภาษาไทใหญ่ ด้วยเหตุการณ์ความไม่สงบทำให้ชาวไทใหญ่ไม่ได้รับอิสรภาพทางชาติพันธุ์ การสอนภาษาไทใหญ่จึงเหลือเพียงภายในวัดหรือบางหมู่บ้านที่ผู้นำชุมชนเป็นผู้ออกทุนและจัดการเรียนการสอน เพื่อสืบสานภาษาวัฒนธรรมไทใหญ่ไว้ ในประเทศไทยบริเวณที่มีชาวไทใหญ่อาศัยอยู่ เช่น อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ มีการสอนภาษาไทใหญ่ให้แก่เด็กในช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อน โดยอาศัยลานวัด ลานหน้าบ้าน เป็นที่ดำเนินการเรียนการสอน
 

อ่านต่อ...
image

Author

เสมอชัย พูลสุวรรณ

Imprint

ไม่ระบุ

Collection

จุลสารไทยคดีศึกษา. ปีที่ 17, ฉบับที่ 4 (พ.ค. 2544), หน้า 59-60

Annotation

การศึกษากรณีเมืองคำ บริเวณลุ่มน้ำมาว เนื่องจากลุ่มน้ำมาวอยู่คาบเกี่ยวกับรัฐไตใหญ่ของพม่าและมณฑลยูนนานของจีน พลเมืองของทั้งสองประเทศนี้ส่วนใหญ่เป็นคนไตที่นับพุทธศาสนา ชาวไตในเมืองคำมีความใกล้ชิดทางวัฒนธรรมและผูกพันกับชาวไตในยูนนานมากกว่าชาวพม่า ในปัจจุบันมีความสำคัญทางเศรษฐกิจด้านการค้าขายผ่านชายแดนกับจีน รวมถึงเป็นเมืองสำคัญทางการท่องเที่ยว
จากการศึกษา เมืองคำในอดีตเป็นศูนย์กลางอาณาจักรมาวหลวงของชาวไตใหญ่ที่นำโดยเจ้าเสือข่านฟ้า โดยชาวไตใหญ่ใช้ตำนานเป็นเครื่องมือบอกเล่าถึงความเป็นชนชาติไตใหญ่ ที่แสดงถึงการมีตัวตนอยู่จริงของอาณาจักรมาวหลวงและวีรบุรุษเจ้าเสือข่านฟ้า รวมถึงโศกนาฎกรรมตำนานเจ้านางมอนละ ซึ่งความเป็นไตใหญ่ในปัจจุบันเป็นการปรับตัวและการสร้างอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชุมชนไตใหญ่ภายใต้ความสัมพันธ์กับวัฒนธรรมของผู้ปกครองอย่างพม่า รวมถึงวัฒนธรรมกับคนไตกลุ่มอื่นๆ
 

อ่านต่อ...
image

Author

อมรรัตน์ ปานกล้า

Imprint

ไม่ระบุ

Collection

สยามอารยะ. ปีที่ 3, ฉบับที่ 45 (พ.ย. 2539), หน้า 16-23

Annotation

กล่าวถึงเรื่องราวของชาวไทยใหญ่ที่อาศัยในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งในอดีตจังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นส่วนหนึ่งของรัฐฉาน ประเทศเมียนมาร์ ทำให้ชาวไทยใหญ่ในอดีตที่เคยอยู่อาศัยในบริเวณนั้นและอพยพมาจากเมียนมาร์ได้นำศิลปะ วัฒนธรรม คติความเชื่อ วิถีชีวิตต่างๆ มาจนทำให้เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน แม้ว่าปัจจุบันพื้นที่พรมแดนระหว่างไทยและเมียนมาร์แยกขาดกันอย่างชัดเจน แต่ชาวไทยใหญ่ในแม่ฮ่องสอนยังไปมาหาสู่พบญาติมิตรอยู่เสมอ แสดงให้เห็นว่าพรมแดนไม่อาจกั้นความเป็นชาวไทยใหญ่ได้
 

อ่านต่อ...
image

Author

ขวัญใจ เอมใจ

Imprint

ไม่ระบุ

Collection

สารคดี. ปีที่ 9, ฉบับที่ 107 (ม.ค. 2537), หน้า 38

Annotation

บทความนี้กล่าวถึงประเพณี “งานจองแปดหลัง” ของชาวไทยใหญ่ที่อาศัยอยู่บริเวณเมืองปอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน ในทุกปีช่วงวันขึ้น 7-15 ค่ำ เดือน 12 ชาวบ้านจะรวมตัวกันสร้าง “จอง” ซึ่งเป็นปราสาทที่ทำด้วยไม้ไผ่ ล้อมด้วยรั้วราชวัติทรงสี่เหลี่ยมสำหรับเป็นแนวกำหนดเขตของจองเพื่อให้พระสงฆ์คอยรับบาตรตามแนวรั้วนั้น
การสร้างจองมีความหมายทางโลกเปรียบเสมือนการทำบุญสะเดาะห์เคราะห์ ส่วนทางธรรมเปรียบเหมือนการจำลองวัดในสมัยพุทธกาล ในวันแห่จองชาวบ้านจะรวมตัวกันนำจองของวัดมาแห่ไปรอบหมู่บ้านเพื่อไปรับจองอีก 7 หลังที่เกิดจากแรงศรัทธาของชาวบ้านที่ช่วยกันสร้าง เมื่อจองเคลื่อนไปที่ใด ชาวบ้านจะโปรยข้าวตอก ดอกไม้ใส่ขบวน หลังจากแห่เสร็จในวันรุ่งขึ้นชาวบ้านจะมาทำบุญตักบาตรตามแนวรั้วราชวัติที่ล้อมรอบจองทั้ง 8 หลัง รวมถึงฟังเทศน์ฟังธรรมจาก “จเร” นักปราชญ์หรือผู้รู้เป็นเวลา 7 วัน
 

อ่านต่อ...

ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 โทร. 0-2880-9429 ต่อ 3702 

แฟ็กซ์ 0-2434-6254 อีเมล์ library@sac.or.th
 

Facebook : ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร-Sac library
Line@ : @sac-library หรือคลิกเพื่อ Add Line http://line.me/ti/p/~@SAC-Library


  

ห้องสมุด (ชั้น 8)

จันทร์ - ศุกร์ : 8:30 – 16:30 น.

เสาร์ : 9:00 – 16:00 น.

ห้องสมุดสุข กาย ใจ

จันทร์ - ศุกร์ : 8:00 – 18:00 น.

เสาร์ : 8:00 – 17:00 น.

หยุดวันนักขัตฤกษ์และวันหยุดตามประกาศราชการ