WHEN TAMUI FALLS IN LOVE
“บุญแห่กัณฑ์หลอนตอนนั้นอ้ายจำได้ไหม
น้ำโขงเชื่อมโยงหัวใจ น้องยังจำได้สัญญาวันนั้น
เงินอ้ายทำบุญ เป็นทุนสร้างความสัมพันธ์
ฮักเฮาสานต่อจากนั้น น้องเฝ้ารอวันเรืออ้ายผ่านมา”
ท่วงทำนองจากกีตาร์โปร่งในอ้อมแขนคำปิ่นลู่ไปตามลมท้ายฤดูหนาวของปี ไม่นานหลังเวลาอาทิตย์อัสดง ความเงียบก็พลันเข้าปกคลุมหมู่บ้านเล็กริมน้ำโขงแห่งนี้ เสียงทุ้มต่ำของเธอดังระงมทั่วบ้านตามุย กองเพลิงสีแสดประทุขึ้นดังสปอตไลท์ฉายสีหน้านักร้องที่อยู่กลางวงที่ยังคงหลับตาพริ้มขณะที่ฝีปากขยับตามคำร้อง เรียกให้ทุกสายตาที่อยู่ละแวกนั้นจ้องมองไปทางเดียวกัน
หมู่คนที่นั่งล้อมรอบกองไฟต่างดื่มด่ำกับบรรยากาศ จนไม่ทันสังเกตแรงบันดาลใจแห่งลำนำรักที่เริ่มฉีกยิ้มด้วยความเคอะเขิน แม้หัวใจของเขาจะไม่ได้ยิ้มเหมือนใบหน้าก็ตาม
คนที่ใครต่อใครในตามุยต่างมอบฉายาพ่อพระเอกให้เขา พร้อมเปรียบชีวิตรักของเขาและเมียเป็นละครฉากหนึ่ง ชั่วขณะหนึ่งระหว่างเดินทางสู่กลางเพลง คลื่นลมหนาวพัดพากลิ่นน้ำโขงลอยมาเริงระบำกับเปลวเพลิง เป็นจังหวะเดียวกันที่ความคิดหนึ่งลอยเข้าสู่โสตประสาท
หากรักข้ามโขงที่กำลังบรรเลง มิใช่ชีวิตของพ่อตาลและแม่ลี
เนื้อร้องและท่วงทำนอง…จะเป็นเช่นไร
1
และแล้วฮักข้ามของก็บังเกิด
กาลครั้งหนึ่ง… ในดินแดนที่ปกคลุมด้วยความเหงา
ระหว่างทิวเขาสูงทอดยาวขนานสายน้ำกว้างใหญ่ไร้ซึ่งร่องรอยการอยู่อาศัยของมนุษย์ เว้นเสียแต่จะนับรวมเจ้าของรอยขีดเขียนบนผาสูงที่เพิ่งจะค้นพบเมื่อสี่สิบปีก่อนนี้ กระทั่งผู้คนจากทางเหนือล่องเรือลงใต้มาตั้งบ้านอยู่ริมลำห้วยและเรียกที่แห่งนี้ว่า…ตามุย
สืบสาวราวเรื่องจากความทรงจำแห่งตามุยได้ความว่า ผู้บุกเบิกพื้นที่มาจากนาโพธิ์กลาง ลงเรือที่คันท่าเกวียนล่องใต้เรื่อยมาจนถึงที่นี้ อาจเพราะหมู่บ้านที่เพิ่งสร้างอยู่กลางดงกกมุย ทั้งยังมีต้นมุยใหญ่ขนาดสองสามคนโอบไม่รอบขึ้นอยู่ริมห้วยใกล้บ้าน จึงเรียกใช้เป็นชื่อเรียกบ้านตามุย
เวลานั้นคนมาใหม่ไม่สนใจว่าเบื้องหน้าคือแม่น้ำกว้างใหญ่ และเบื้องหลังคือภูผากว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา พวกเขาสนใจเพียงความชุ่มฉ่ำร่วนซุยของของดินบริเวณร่องห้วยที่น่าจะเพาะปลูกได้ ชีวิตใหม่เกิดขึ้นเกินที่หมู่บ้านเล็กในดงกกมุยนี้จะรับไหว ผู้คนจึงกระจายออกไปตั้งบ้านในละแวกใกล้เคียง
เมื่อมีผู้คน ก็ย่อมมีชุมชน และเมื่อมีชุมชน ชีวิตและวัฒนธรรมก็บังเกิด วิถีลุ่มน้ำโขงเริ่มก่อตัวขึ้นอย่างช้า ๆ ความรุ่มรวยของธรรมชาติเชื้อเชิญให้ผู้คนมากหน้าหลายตามาใช้ชีวิตอยู่ทั้งฝั่ง เช่นเดียวกับดินแดนที่เคยปกคลุมด้วยความเหงาที่บัดนี้มีบ้านเล็กมาตั้งแทนที่ป่าใหญ่รกร้างริมแม่น้ำ
สายน้ำที่ว่ากันว่าไหลลงมาจากที่ราบสูงไกลโพ้นนามว่า “แม่ของ” เป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตนานาพันธุ์ ระหว่างสายน้ำไหลเชี่ยวมีเกาะแก่ง หิน ดิน ทราย คละด้วยตะไคร่และไม้ยืนต้นที่นกน้อยใหญ่ใช้พักพิงยามเหนื่อยล้าจากการโบยบิน นอกเหนือจากการเป็นแหล่งอาหารรสโอชะของคนสองฟากฝั่ง แม่น้ำสายนี้ยังเป็นเส้นทางสัญจรของผู้คนก่อนที่ถนนจะลาดผ่านหมู่บ้าน
แม้จะอยู่ในสองนิเวศที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง วัยยืนยันว่าคนละแวกนี้คุ้นเคยและใกล้ชิดกับแม่น้ำมากกว่า แต่ละวันผู้บ่าวจะออกเรือหาปลากันแต่เช้าตรู่ ทุกคนรู้ดีว่าจุดน้ำไหลทวนกระแสคือเวินปลาชุกชุม บางวันก็วนไปแก่งหินที่ฝูงปลาหลบน้ำเชี่ยว แทบไม่ลงแรงก็ได้ปลาพออิ่มท้องคนทั้งบ้าน
ขณะที่ผู้อยู่ติดเรือนที่ทำหน้าที่แม่ไปพร้อมกับแม่บ้าน พวกเธอมักกระเตงลูกน้อยแนบอกแล้วเดินเท้าไปตักน้ำที่ลำห้วยสำหรับดื่มกิน พร้อมหาฟืนมัดใหญ่ใช้เป็นเชื้อเพลิงสร้างความอบอุ่น บางวันหากมิได้เข้าป่าเก็บเห็ดเก็บหน่อไม้ก็จะสาละวนปลูกผักเก็บผลพลางเฝ้าดูวัวควายในทามตลอดทั้งวัน
เป็นเวลานานหลายชั่วชีวิตกว่าตามุยจะรู้จักกับเกษตรกรรมบนที่ราบ แม้จะอยู่ใกล้แหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ แต่วัตถุดิบบางอย่างก็ขาดแคลนหรือไม่มีให้เก็บ ครั้นพืชผักหรือฝ้ายที่ปลูกอยู่ริมฝั่งก็ไม่พอจะเลี้ยงดูทุกชีวิตใต้ชายคาเดียวกัน พวกเขาจึงเสาะแสวงหาอาหารด้วยวิธีอื่น
“ไทบ้านที่นี่ทำประมงกันมาตั้งแต่จำความได้ เพราะที่ทำกินบ่ได้มีมากมาย ออกเรือแต่ละวันก็อาศัยปลาเอาไปแล้วข้าวนำพี่น้องนำหมู่ที่บ้านอื่น” พ่อวัยว่า
ปลาที่จับมาได้ในแต่ละวันจะถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งเก็บไว้กินเอง อีกส่วนก็เอาไปแลกข้าวสารกับบ้านละแวกใกล้กัน บางครั้งก็เอาไปแลกขี้กะบองเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงแทนฟืน บางครั้งก็เอาพืชผลที่ปลูกหรือเก็บได้ไปแลกวัตถุดิบอื่น เป็นที่รู้กันในคนแถบลุ่มน้ำนี้ว่าแต่ละหมู่บ้านมีความสามารถในการหาอาหารที่แตกต่างกัน จึงนำอาหารเหล่านั้นมาแลกเปลี่ยนเชิงต่างตอบแทนกัน
การเอาปลาไปแลกข้าวบ่อยครั้งทำให้ลูกแม่โขงต่างบ้านต่างถิ่นเริ่มสนิทสนมขึ้น พักหลังพวกเขาก็แทบไม่ต้องเลาะตระเวนหาบ้านต้องการแลกข้าวสารกับปลาที่หามาได้ แต่จะมุ่งตรงไปยังคนรู้จักที่คุ้นเคยเป็นอย่างดี หลายคนตัดสินใจให้คำมั่นสัญญาเป็นเสี่ยวฮักเสี่ยวแพงกัน การผูกไมตรีกับคนต่างบ้านอาศัยเพียงความถูกโฉลกและชอบในนิสัยใจคอกันและกันจนสามารถพึ่งเป็นพึ่งตายกันได้
นอกจากการแลกเปลี่ยนอาหารระหว่างกัน พวกเขาก็เติบโตและมีส่วนร่วมกับทุกช่วงเวลาสำคัญในชีวิตของกันละกัน ไม่ว่าญาติพี่น้องจะเกิดแก่เจ็บตาย เมียคลอดลูก หลานบวชเณร หรือมีงานบุญที่บ้านก็จะแวะไปมาหาสู่กันและกันตลอด เวลาตามุยมีงานบุญ เสี่ยวต่างบ้านก็มาเยือนล่วงหน้าสามสี่คืนเพื่อเตรียมงาน เช่นเดียวกัน หากบ้านไหนมีงานบุญไทบ้านตามุยก็ล่องเรือไปช่วยทุกเมื่อ
ชีวิตแห่งแม่โขงดำเนินเรื่อยมาจวบจบฤดูเก็บเกี่ยว แม้ไม่ได้ปลูกข้าวทำนาเหมือนบ้านอื่น แต่ผู้บ่าวตามุยรู้ดีว่าพวกเขากำลังจะได้ลิ้มรสน้ำเมาฝีมือแม่หญิงฟากโน้น อาจเพราะพวกเขาทำไร่ทำนากันเป็นกิจลักษณะ จึงมีข้าวมากพอจะนำมาต้มเป็นเหล้าได้ เป็นรสชาติที่ทองสายังจดจำได้จนถึงทุกวันนี้
เมื่อเสร็จจากการเอาปลาไปแลกข้าว หรือเอาข้าวเปลือกไปตำที่บ้านกุ่ม หนุ่มพรานปลาก็มักจะแวะริมโขงตรงที่สาวชาวนาตั้งเตากลั่นน้ำเมาจากข้าวที่พึ่งเกี่ยว เสียงเลื่องลือลอยละล่องตามสายน้ำโขงว่าน้ำเมารสมือแม่หญิงบ้านนี้อร่อยจนสามสี่จอกก็ไม่พอ
“สมัยก่อนม่วนคัก สาวบ้านนู้นเขาต้มเหล้าขายอยู่ริมโขง ทั้งบ่าวทั้งแก่นั่งกินเหล้าคุยกันไป”
“แล้วเหล้าแซบบ่”
“มันก็แซบนะ ยิ่งตรงยอดเหล้านะ แซ่บจนไปบ่ได้” พูดจบเขาก็หัวเราะชอบใจราวกับน้ำเมาแม่โขงสูตรไทบ้านที่อยู่ในความทรงจำเริ่มออกฤทธิ์
“ไปบ่ได้นี่คือยังไง”
“เมาจนกลับบ้านไม่ได้” ทองสายิ้มกริ่ม “เมาแล้วก็ไปคุยเล่น ไปจีบเขา ไปเล่นเขาบ้าง จนมีหลายคู่นะที่ได้สาวขายเหล้าเป็นเมีย”
ด้วยคารมอันคมคายทำให้แม่หญิงเข้ามาพูดคุยกับเขาอยู่เสมอ กระนั้นทองสาก็ไม่ได้สมหวังในความรักเสมอไป เขาหัวเราะให้กับโชคชะตาตัวเองที่ไม่ว่าจะปันใจให้หญิงใด ก็มักมีเหยี่ยวตาไวมาโฉบชิงตัวเธอผู้นั้นตัดหน้าเขาเสมอ บางคนเพิ่งพูดคุยกันออกรสเมื่อหลายวันก่อน ผ่านมาอีกวันเธอก็หนีไปตบแต่งกับทหารบ้านเดียวกันเสียแล้ว
กี่ชีวิตที่ลืมตาดูโลกหรือเข้าสู่ห้วงนิทราที่ไม่มีวันตื่น กี่คืนกี่วันที่ดวงจันทร์ลอยล่องเย้าแหย่ดวงอาทิตย์ หรือจะสักกี่หมื่นกี่พันก้าวที่เขาย่างเท้าจากบ้านอันเป็นที่รัก
กระทั่งทองสาได้เจอกับกล่องดวงใจที่ใครก็มิอาจมาพรากจากกันได้อีก
2
ฮักกับการปฏิวัติ
“สองฝั่งน้ำของเขาเชื่อมกันมาแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่พู้น มันก็คือพื้นที่และกลุ่มคนเดียวกันนั่นแหละ แต่ถูกแบ่งด้วยแม่น้ำและประเทศก็เท่านั้น”
พิมเอ่ยด้วยน้ำเสียงเรียบพลันคิดถึงเรื่องเล่าของแม่ ห้วงเวลาก่อนอาณาบริเวณนี้จะถูกแบ่งเป็นประเทศไทยและลาวโดยมีแม่น้ำโขงเป็นพรมแดนธรรมชาตินั้น สองฟากฝั่งเป็นหนึ่งเดียวกันมาตลอด แม่ไม่ได้หมายถึงแผ่นดินที่เชื่อมหากันจนย่างเท้าข้ามไปได้ แต่เป็นวัฒนธรรมที่เชื่อมร้อยพวกเขาไว้ด้วยกัน แม่หญิงสาละวันอย่างเธอก็มิได้รู้สึกแปลกแยกไปจากคนอื่นในบ้านตามุย
แล้วเมื่อใดกันที่ “แม่น้ำ” ถูกนำมาใช้แบ่ง “ประเทศ”?
อาจต้องย้อนกลับไปไกลถึงช่วงที่มนุษยชาติประดิษฐ์สิ่งล่องหนที่เรียกว่า “รัฐชาติ” (nation-state) เป็นช่วงเวลาเดียวกันที่กลุ่มคนแปลกหน้าพูดภาษาฟังไม่รู้ความเดินทางเข้ามาสำรวจแม่น้ำแห่งนี้เพื่อหวังใช้เป็นทางสัญจรสู่อาณาจักรอันยิ่งใหญ่ทางตอนเหนือ พวกเขาคงไม่รู้ว่าท่ามกลางกระแสน้ำเชี่ยวเต็มไปด้วยเกาะแก่งและโขดหินยากที่เรือลำใหญ่จะล่องผ่านได้
แม้โครงการสำรวจเส้นทางสู่ความรุ่งโรจน์นั้นจะไม่ประสบผลสำเร็จ คนแปลกหน้าที่ใครต่อใครในละแวกนี้ต่างเรียกว่าฝรั่งเศสกลับเข้ามาอ้างความเป็นเจ้าของเหนือดินแดนฝั่งขวาทั้งหมด ขณะที่ตามุยที่อยู่ทางซ้ายก็ถูกผนวกรวมให้เป็นส่วนหนึ่งของสยามประเทศ
เส้นจินตนาการใหม่นี้ก็ไม่สามารถพรากความชิดใกล้ของลูกแม่โขงได้ แม้ฟากหนึ่งจะอยู่ภายใต้การดูแลของสยามและอีกฝั่งใต้อารักขาของฝรั่งเศส แต่พวกเขายังคงเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างกันตลอดเวลา กระทั่งห้วงคนพื้นเมืองเริ่มลุกขึ้นต้านอำนาจพวกฝรั่งฯ เริ่มมีไทบ้านบางส่วนหนีข้ามแม่น้ำมาหลบที่บ้านตามุย เฉกเช่นครอบครอบครัวพ่อสาที่เดินทางข้ามฝั่งนับครั้งไม่ถ้วน
“สมัยสงครามน่าจะช่วงฝรั่งเศส พ่อหนีทหารอพยพมาอยู่ที่นี่ มาเจอแม่ที่บ้านนี้ก็อยู่กินกันจนมีพี่ชายแล้วพาแม้ย้ายกลับไปฝั่งนู้น รู้สึกว่าจะมีลูกด้วยกัน 7 คน 4 เหลือพี่ชาย ผม แล้วก็น้องสาว”
“ตอนนั้นสถานการณ์ฝั่งลาวไม่ค่อยดี วัณโรคก็ระบาดอีก ตระกูลผมก็ตายเพราะโรคเกือบทั้งหมด สมัยนั้นไม่มียารักษา น้องผมพี่ผมก็ติดแต่ไปรักษาที่อุบลทัน มีผมคนเดียวที่รอด”
“ก่อนลาแกก็สั่งแม่ไว้ ถ้าแกตายให้รีบกลับด่วนที่สุด สถานการณ์ตอนนั้นเริ่มแย่ ฮอ เครื่องบินบินว่อนไปทั่ว ได้ยินเสียงปืนแทบจะทุกวัน”
“ตอนกลับมาผมได้แค่เดิน ได้ควายมาสองตัว เป็นสองตัว ก็ต้องเอามาให้หมด ไหน ๆ ก็ไม่กลับไปอีกแล้ว นาก็ขายให้ญาติพี่น้องหมด ควายที่ได้มาก็เอาไปแลกจักรยาน จูงลัดป่ามาถึงนี่”
วิบากกรรมของบ้านเกิดเมืองนอนทำให้ผู้บ่าวสาละวัน-จำปาศักดิ์หลายคนจากบ้านมาไกลเพื่อหลีกหนีความตาย แท้จริงรูปร่างหน้าตา สำเนียงภาษา หรือวิถีของคนที่เพิ่งมาอยู่ใหม่แทบไม่ต่างคนตามุยเดิม จนไม่สามารถแยกได้ว่าใครเป็นใคร พวกเขาหลบหนีมาใช้ชีวิตสงบสุขที่นี่จนพบรักกับแม่หญิงตามุยและให้กำเนิดพยานฮักสองฝั่งของหลานคน
ความเคลื่อนไหวบริเวณรอยต่อระหว่างสองแผ่นดินเริ่มทวีความรุนแรงขึ้น ข่าวการปฏิวัติของลาวแดงที่เริ่มขยับขยายมาแถบทางใต้กระจายไปทุกแห่งหน ทั้งในวิทยุและพวกทหารลายพรางต่างเตือนให้ไทบ้านคอยเฝ้าระวังไม่ให้พวกคอมมิวนิสต์ลักลอบเข้าประเทศ
ทั้งที่ไม่มีไทบ้านคนไหนรู้ด้วยซ้ำว่าคอมมิวนิสต์ที่เขาว่าหน้าตาเป็นยังไง!
ช่วงเวลานี้เองที่ความรักระหว่างมนุษย์สองคนถูกมองข้ามและแทนที่ด้วยรักต่อจินตนาการใหม่ที่แบ่งลูกแม่โขงออกเป็นคนต่างกลุ่มต่างพวกกัน ชายชุดลายพรางเดินสาละวนในตามุยทั้งช่วงกลางวันและกลางคืน แม้กระทั่งไทบ้านก็ต้องจัดเวรสลับกันเฝ้ายามช่วงกลางคืน คอยสอดส่องไม่ให้ผู้คนจากอีกฝั่งลักลอบข้ามมา เกรงว่าจะเป็นพวกเอียงซ้ายเข้ามาสืบความลับ
ญาติพี่น้องหรือเสี่ยวที่อยู่ทางโน้นเริ่มขาดการติดต่อ ไม่มีใครรู้ว่าเป็นตายร้ายดียังไง ทำได้เพียงส่งฝากจดหมายแล้วรอการติดต่อกลับที่ไร้วี่แวว บางครอบครัวที่มีสารส่งกลับมาก็นัดหมายเจอกันที่ริมฝั่งอาศัยจังหวะพวกในเครื่องแบบเผลอพูดคุยถามไถ่ทุกข์สุขกัน
ข่าวแพร่กระจายมาว่าคนอีกฝั่งส่วนใหญ่ถูกเรียกให้ไปเข้าสัมมนา ว่ากันว่าเป็นการไปเรียนรู้วิถีการใช้ชีวิตในระบอบใหม่ตามที่ทางการเขาออกแบบไว้ ส่วนใหญ่ก็ถูกเรียกไปเป็นปีสองปี ต่างฝ่ายต่างเข้าใจกันไปเองว่าสัมมนาคือการเรียกตัวให้ไปเป็นทหารของพวกลาวแดง
ตามุยกลับเข้าสู่ความเงียบอีกครั้ง ไทบ้านกลับมาทำมาหากินตามปกติ เว้นช่วงกลางค่ำกลางคืนที่ต้องสับเปลี่ยนกันมาเฝ้ายามดูแลหมู่บ้าน พวกเขาเริ่มสังเกตเห็นคนฝั่งลาวหลบหนีมาอยู่ฝั่งไทยมากขึ้น สืบสาวราวเรื่องได้ว่าหนีค่ายสัมมนามา บางคนตกอยู่ในภาวะหวาดระแวง คำพูดคำจาฟังไม่รู้ความ ไม่รู้ว่าไปประสบพบเจอสิ่งใดมา จนสุดท้ายทหารลาวแดงเริ่มจับสังเกตได้ ความชุลมุนก็บังเกิดอีกครั้ง
ภาพที่ทุกคนจำได้เป็นอย่างดีคือ คลื่นมนุษย์ที่แหวกว่ายข้ามน้ำเซาะเกาะแก่งตะเกียกตะกายมาจากอีกฝั่ง เสียงกรีดร้องดังระงมเคล้าห่ากระสุนที่พุ่งออกมาจากป่ารกชัด ไม่มีใครเห็นว่าต้นตอของกระสุนมาจากผู้ใด ร่างไร้วิญญาณไหลตามสายน้ำเชี่ยวลอยเทียบแก่งหินกลางลำน้ำ บนแขนขาของผู้หลบหนีความตายหลายคนปรากฏแผลเหวอะพร้อมหยดเลือดที่ไหลตามสายน้ำ
“มันน่าสมเพชมากนะ สงครามทำให้มีทั้งคนขาขดขาขาด บางคนก็ลอยน้ำหนีตายมาฝั่งนี้ โดนปืนไล่ยิงตามหลัง ไม่ตายแต่ก็บาดเจ็บสาหัส เราเห็นก็ช่วย แล้วพาไปส่งตำรวจ” ทองสาลดเสียงทุ้มพลันนึกถึงวัยเยาว์ที่ละแวกบ้านเต็มด้วยคนลาวที่อพยพหนีตายมา พลอยทำให้เขาวิตกว่าจะโดนลูกหลงไปกับสงครามความรักรูปแบบใหม่นี้ด้วยหรือไม่ จึงหนีไปอยู่หลังเขานานกว่าเดือนสองเดือน
“มาคิดย้อนดูเราไม่เป็นไร เราก็คิดว่ามันสงบ แต่ตอนนั้นใจหายเหมือนกัน ตอนนั้นในหมู่บ้านมีแต่คนลาวอพยพเต็มไปหมด เรากลัว… เรากลัวพวกนั้นจะไล่ล่ามา มันกระทบกับเราด้วย”
“เราก็หนีไปตรงนู้น เพราะค่ายทหารกักกันคนลาวตามชายแดนมันมีอยู่ทุกที่เลย ฝั่งนู้นก็มีทหารคุมที่แก่งทราย แก่งสร้อย แก่งท่า” เขาพลันนึกถึงคำพูดสุดท้ายของหัวหน้าคนในเครื่องแบบที่เคยมาฝึกการป้องกันตัวให้กับไทบ้านตามุย “ขอให้เราอย่าเจอกันที่ศูนย์อพยพไทย อย่าให้มี”
“และนั่นก็เป็นครั้งสุดท้ายที่ไทบ้านเฮาเห็นบักหัวโล้น” น้ำเสียงนิ่งเรียบของวัยดังแทรกขึ้นมา กระทั่งใบหน้าฉงนของคนรอบวงทำให้เขาต่อเล่าต่อ
“ไทบ้านเฮาเชื่อว่าบักหัวโล้นเป็นภูตน้ำ เหมือนเด็กตัวเล็กผิวดำ ส่วนใหญ่จะเจอช่วงหน้าแล้ง พอน้ำลดลงก็จะเห็นบักหัวโล้นอยู่กลางดอนกลางเกาะ”
“ช่วงนั้นทหารลาวเขาเอาระเบิดโยนลงน้ำไว้ใช้หาปลา ปลาเกือบสูญพันธุ์ไม่พอ เฮาแทบจะไม่เห็นบักหัวโล้นที่เกาะกลางน้ำอีกเลย…”
“ตั้งแต่บักหัวโล้นหายไป เด็กจมน้ำเยอะขึ้น เลยคิดว่าบักหัวโล้นดูแลเด็กที่ลงไปเล่นน้ำโขง”
แสงตะวันสาดส่องแม่น้ำกว้างใหญ่เริ่มเปลี่ยนเป็นสีเข้ม น้ำในแม่น้ำโขงเริ่มลดลงแต่ก็ไร้ซึ่งวี่แววบักหัวโล้น มีเพียงสายน้ำเชี่ยวไหลกระทบแก่งหิน เป็นวินาทีเดียวกับที่พวกเขาเริ่มตระหนักได้ว่าสงครามความรักครั้งใหม่ค่อย ๆ ทำให้อีกฟากฝั่งไกลห่างออกจากพวกเขาทีละน้อย
3
ฮักเมื่อคราวห่า(ไม่)ลง
และแล้วความรักก็บังเกิด (อีกครั้ง)
ท่ามกลางเงาทะมึนของสงครามร้อนบนรอยต่อธรรมชาติ ชีวิตที่ตามุยดำเนินไปตามปกติราวกับไม่มีความเคลื่อนไหวใดเกิดขึ้น ไม่รู้ว่าเพราะไทบ้านเริ่มคุ้นชินกับชีวิตที่ไม่ปกตินั้น หรือสถานการณ์ที่ทุเลาลงจนผู้คนสองฝั่งเริ่มลดปืนในมือลง
เป็นเวลาเดียวกันที่วิทยุรายงานข่าวผู้นำสองประเทศร่วมเจรจาเพื่อหาทางกลับมาเชื่อมสัมพันธ์กันอีกครั้ง สุดท้ายมิตรไม่แท้ศัตรูไม่ถาวรก็กลับมาจับมือกัน ข่าวพ่อใหญ่ชาติชายเสนอแผนเปลี่ยนสนามรบให้กลายเป็นสนามการค้าเริ่มกระจายไปทั่วทั้งตามุย พลอยทำให้ไทบ้านบรรเทาความกังวลลง
กระนั้น ผู้ใช้ชีวิตอยู่ตามตะเข็บชายแดนอย่างพวกเขาก็ยังคงหากินลำบาก พรานปลาที่หากินกับลำน้ำล้วนสังเกตเห็นตรงแก่งหินกลางลำน้ำมีคราบเขม่าและเศษดินกระจายทั่วทุกบริเวณ พวกเขาเชื่อว่าเป็นเพราะระเบิดที่พวกทหารลาวแดงใช้ ไม่เพียงแค่ปลาที่หายไป แต่บักหัวโล้นที่พวกเขาเห็นมาแต่อ้อนแต่ออกก็คงตกใจกลัวหนีไปไม่กลับมาอีก พวกเขากล่าวโทษทหารลาวแดงที่มาทำลายแหล่งหากินที่สมบูรณ์ บางคนต้องใช้เวลาเกือบทั้งวันกว่าจะได้ปลามาพออิ่มท้องคนทั้งบ้าน
นับแต่สงครามปะทุขึ้น ผู้บ่าวตามุยเริ่มหันมาค้าขายมากขึ้น อาศัยปลาที่จับมาได้แต่ละวันหรือปลาที่รับมาอีกทอดล่องตระเวนขายให้หมู่บ้านที่อยู่ริมน้ำ กิโลละบาทสองบาท พอให้มีเงินติดตัวไว้ใช้จ่ายในยามจำเป็น แต่บ่อยครั้งที่เงินตราถูกผลาญไปกับความฟุ่มเฟือยที่ไม่ได้สร้างขึ้นเอง จนพวกเขาก็ไม่ทันรู้ตัวว่า “เงิน” กลายเป็นปัจจัยที่ห้าของชีวิตไปเสียแล้ว
ขณะเดียวกันงานบุญที่เคยเงียบเหงามานานหลายปีก็กลับมาคึกคัก ครั้งงานบุญผะเหวดบ้านสุละฝั่งจำปาศักดิ์มักจัดช่วงเวลาใกล้กันกับบุญบ้านกุ่มฝั่งโขงเจียมไม่ไกลจากตามุย คนสองฟากฝั่งกลับมารวมกันตัวกัน พูดคุยถามไถ่ทุกข์สุข กินข้าวด้วยกัน ฟ้อนรำกันอย่างสนุกสนาน
บรรยากาศครื้นเครงทำให้ตาลที่จากบ้านไปทำงานในเมืองกรุงหลายเดือนคลายความรู้สึกคิดถึง ท่ามกลางขบวนแห่ต้นเงินข้ามสองฝั่ง ตาลยังคงจดจำวินาทีแรกที่เขาตกหลุมรักหญิงคนงามบ้านสุละได้อย่างดี รอยยิ้มบนใบหน้าเด่นชัดจนเขาไม่อาจละสายตาได้
“ตอนบุญก็เฮ็ดต้นเงินกัน ทางบ้านกุ่มก็แห่ไปบ้านสุละ สุละก็แห่มาถวายบ้านกุ่ม ก็เลยผ่อกันตอนแห่กัณฑ์หลอน… ไม่มีไผชวนไผคุย มองกันซือ ๆ” ลีอมยิ้มเลือดบนใบหน้าเริ่มสูบฉีด
“หลังจากนั้นเพิ่นก็ไปเฮ็ดงานกรุงเทพ บ่ได้ผ่อกัน… แล้วก็มาตอนบั้งไฟพญานาค บุญออกพรรษา เพิ่นกลับมาก็ข้ามไปหา ไปแนม จนได้คุยกันอีกเทื่อ”
“นั่งคุยกันซื่อ ๆ กลางคืนก็ไต้กะบอง ไต้ตะเกียงเอา บางเทื่อก็พาไปเลาะที่ตามุยบ้าง ที่โขงเจียมบ้าง จำได้ว่าตอนเดือนเพ็ญ (อำนวยพร) กะสาธิต (ทองจันทร์) มาเล่นหมอลำ ก็พานั่งเรือไปเบิ่ง”
เป็นเวลาเดียวกันในหลายปีถัดมาหลังจากที่อ้ายตาลฝากดวงใจเขาไว้ที่สุละ พิม บุนลาดเสนาแห่งบ้านนาโนงจดจำนัยน์ตาคมเข้มของหนุ่มแปลกหน้าที่มองมาที่เธอ ราวความชุลมุนรอบตัวหยุดนิ่งไปชั่วขณะ มีเพียงดวงตาของคนหนุ่มสาวที่จ้องมองหากัน
“แฟนแม่ข้ามไปเที่ยวบุญประจำปีฝั่งนู้น แต่ก่อนไม่ต้องผ่านต.ม. นั่งเรือข้ามไปซื่อ ๆ เพิ่นไปผ่อไปเจอกันแล้วก็ชอบกัน…”
“สุดท้ายเฮาก็ฮักแพงกัน”
ช่วงเวลาที่ป่ารกชัดใต้ร่มเงาภูตามุยถูกประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ สายลมแสงแดดสาดส่องเข้ามายังบ้านจันทร์สุข เป็นสองสามปีที่ลูกหลานพ่อกิ แม่ทิม จันทร์สุข เป็นฝั่งเป็นฝาไล่เลี่ยกัน เป็นเวลาเนิ่นนานหลังจากผูกแขนสำราญและถาวร ทหารหนุ่มที่หนีตายมาช่วงลาวแตก ก็ถึงคราวของตาลและลีที่ชอบพอกันมาแต่บุญแห่กัณฑ์หลอนเมื่อหลายปีก่อน
“ตอนนั้นพ่อเพิ่นป่วย เป็นโรคม้ามโต บ่มีคนแทงยาให้ บ้านนอกเนาะ หาหมอมาแทงยาให้ยาก ก็ไปช่วย”ตาลเล่าย้อนกลับไปช่วงก่อนจะตัดสินใจชวนอีกฝ่ายผูกแขนตบแต่งกัน
“พ่อของแม่เป็นหมอ ฉีดยาได้ ฉีดยาเป็น เพิ่นมีตำราเล่มนึง เพิ่นสิอ่านหนังสือแล้วก็เฮ็ดตาม” ลีเล่าต่อทั้งรอยยิ้ม เป็นรอยยิ้มเดียวกันเมื่อครั้งเธอมองหนุ่มบ้านตามุยที่แสนอ่อนโยนคนนั้น
“ก็เลยสนิทสนทกันมา พ่อแม่ก็เห็นว่าเข้ากันดีอยู่ เพิ่นเอาพ่อมาคุยที่นี่ ตกลงว่าห้าพัน… แต่ก็บ่ได้เบิ่ดเด้… บ่มีเงินเนาะ ทางนี้ก็บ่มีเงิน ทางนั้นก็ว่าค้างไว้ เอาไปส่งสามพัน ค้างไว้สองพัน แต่กี้นี่หลายแล้วนี่ ได้ซำนี้กะว่างามเติบนั่นแหละ” พูดจบเธอก็หัวเราะกับกลเล่ห์ของอีกฝ่ายที่นั่งยิ้มอยู่ข้าง ๆ
ชั่วพริบตาเดียวก็ถึงทีโก้พาสาวนาโนงมาผูกแขนอีกคน “สมัยแม่สินสอดไม่แพง ประมาณสองสามห้าพัน แต่สมัยนี้ไม่มีเงินแสนไม่ได้แล้ว บางคนแสนห้า บวกทองอีกห้าบาท” พิมเสริมทั้งเสียหัวเราะ
ช่วงเวลาที่ทั้งสองตกลงปลงใจตบแต่งกัน พิมจำได้ดีว่าตามุยยังมีแต่ถนนลูกรัง ไม่มีเสาไฟฟ้ามาปักในหมู่บ้าน เช่นเดียวกับฝั่งนาโนงที่ผู้คนยังพึ่งแสงสว่างจากตะเกียงและกะบอง ซ้ำบ้านของพิมต้องเดินเท้าจากริมฝั่งเข้าไปอีกหลายกิโล ฝ่ายชายจึงตักสินใจไปใช้ชีวิตอยู่ที่โน่นด้วยกัน
“ตอนแต่งกันแล้วอยู่ฝั่งนู้นได้แค่เดือนเดียว หลวงเขามาหา บอกว่าไม่ให้พ่ออยู่ เพราะพ่อไม่ได้เข้าถูกต้องตามกฎหมาย ไม่มีใบอนุญาต เขาว่าอยู่ไม่ได้ ถ้าอยู่นานเขาจะปรับเงิน”
“เกือบติดคุกด้วยนะ” สาเอ่ยแทรกเข้ามา “ไม่ธรรมดา แต่เจ้าหน้าที่เป็นญาติของนางเอก เลยพอคุยกันได้ เกือบไปนอนในคุกฝั่งนู้นแล้ว” พูดจบก็หัวเราะชอบใจราวกับอยู่ในเหตุการณ์ ฝ่ายที่ถูกกล่าวถึงเผยยิ้มออกมาด้วยความเขินอาย
“นั่นละ เขาก็ส่งพ่อกลับก่อน ตอนนั้นญาติเสียพอดีเลยบ่ได้มา” พิมเล่าต่อ
“พอพ่อกลับมาได้เดือนนึง แม่ก็บอกว่าจะกลับมา พ่อบอกว่าจะไปรับ พ่อก็เรือล่ม” แม้เรื่องที่เล่าจะเป็นเหตุการณ์ที่น่าสะเทือนใจ แต่ใบหน้าของเธอนิ่งเฉยราวไม่มีใดเกิดขึ้น
“แม่ไม่เห็นเหตุการณ์ ก็เลยไม่รู้ว่าพ่อเป็นยังไง… แต่ก็เกือบตายนั่นละ”
“ก็…” สาแทรกขึ้นมาอีกครั้ง “ตอนนั้นช่วงหน้าฝน น้ำขึ้นแล้วมีน้ำวน หมุน ๆ อยู่หลายที่ พ่อพระเอกก็พายเรือจะไปรับนางเอกฝั่งโน้น แต่เรือล่มลงไป จมจนเห็นแต่ผม อีกคนอยู่แต่ฝั่ง เขาเก่ง คล่องแคล่ว เขากล้ามาก ว่ายฝ่าน้ำวนเข้าไปเลย มือหนึ่งหยิบผมรีบดึงขึ้นเรือ ไม่รีบก็กลัวจะตาย”
เหตุการณ์นั้นกลายเป็นที่มาของเรื่องเล่าเรือรักข้ามโขงล่มที่เลื่องลือไปทั่วน้ำโขง
4
หม่องใด๋มีฮัก… หม่องหนั่นมีทุกข์?
ไม่มีใครทันตั้งตัวกับทุกสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เช่นร่างกายและดวงใจแห่งตามุยที่เติบโตขึ้นทุกคืนวัน แว่วข่าวลือเรื่องฝายคอนกรีตที่ทอดตัวขวางน้ำมูนตรงรอยต่อระหว่างสองแม่น้ำแพร่สะพัดมาพร้อมกับการเปิดตัวสะพานคอนกรีตที่เชื่อมอีสานเหนือกับนครหลวงเวียงจันทน์
บัดนี้ประจักษ์พยานของฮักข้ามของที่เติบโตท่ามกลางสงครามอันร้อนระอุเติบโตเป็นผู้ใหญ่โดยสมบูรณ์ ข่าวลือที่ลอยลิ่วตามสายลมทำให้พวกเขาปักใจเชื่อว่าผู้คนสองฟากฝั่งกำลังจะกลับมารวมกันเป็นหนึ่งอีกครั้ง เป็นเวลาเดียวกันที่พวกเขาตระหนักได้ว่าข้าวปลาอาหารที่มีอยู่ในบ้านนั้นไม่พอกิน ไทบ้านตามุยหลายคนเริ่มเดินทางออกไปหางานต่างบ้านต่างเมือง
“พ่อไปทำงานกรุงเทพฯ อยู่หลายปี ขนาดนั่งรถไฟไปก็ยังคิดถึงบ้าน ได้แต่บ่น… กว่ากูจะได้กลับ สี่ห้าเดือนนู่น หรืออาจจะเป็นปี ว้าเหว่ไปเรื่อย แล้วติดต่อทางจดหมายกว่าจะถึง เราจะเป็นห่วง” ทองสาพูดพลางนึกย้อนถึงวินาทีที่ขบวนรถไฟสู่มหานครค่อย ๆ เคลื่อนตัวออกจากสถานีอุบลราชธานี
“ไปทำงานอะไรครับ”
“ตอนนั้นไปนำนายหน้า ชื่อพ่อใหญ่เต๊อะ ตอนนี้ตายแล้ว เพิ่นมาจากศรีเมืองใหม่มาถามว่าใครอยากจะไปทำงานที่กรุงเทพฯ เขาก็มารับไป เพิ่นว่าไม่เสียค่านายหน้า แต่หักค่าเดินทางจากค่าจ้าง”
“นั่งรถไฟไปถึงหัวลำโพงก็มีคนมารับ มีผมกับแม่หญิงอีกคน พาไปนครปฐมที่มีเจดีย์ใหญ่ ไปคัดผลไม้ในตลาด ตอนนั้นเราไม่รู้อะไรเลย ไม่รู้ว่าจะได้งานอะไรด้วย”
นายหน้าต่างบ้านจะวนเวียนเข้ามาถามหาคนงานที่ตามุยแทบทุกเดือน หากเป็นผู้หญิงก็จะเป็นงานแม่บ้านหรืองานสวน ขณะที่ผู้ชายจะเป็นงานโรงงานหรือกรรมกรแบกหาม ลักษณะงานและลูกจ้างที่พวกเขาต้องการก็ขึ้นอยู่กับต้นทางที่นายหน้าเหล่านี้ไปรับสารมา
หนุ่มสาวตามุยหลายคนมองเห็นโอกาสหาเงินเพื่อจุนเจือครอบครัวก็ออกเดินทางไป พวกเขาคิดแค่ว่าไปแล้วจะได้ดีและได้เงิน ไม่มีใครเกี่ยงว่างานนั้นจะหนักหรือเบา
“บางทีเฮาไปเจอเถ้าแก่บ่ดี ยามกินเฮาก็บ่ได้กิน บางคนเฮ็ดงานยังบ่ทันได้เสร็จ ก็หนีจากหม่องเก่า หนีไปหางานใหม่ ถ้าเจอผู้ดีก็อยู่นาน กลับบ้านปีสองปีก็ไปอยู่นำเขาคือเก่า… ก็เขาดีเด้” แดง เมียของวัยพูดขึ้นขณะที่ในปากก็เคี้ยวชิ้นหมากจนน้ำเสียงอู้อี้ฟังไม่ชัด
มากไปกว่านั้นเส้นจินตนาการที่ขีดเขียนด้วยสายน้ำโขงเริ่มเข้มขึ้น และไม่มีทีท่าว่าจะเลือนหายไปได้ง่ายนัก การเป็นคนแปลกหน้าในจินตกรรมความเป็นไทยประจักษ์ชัดเมื่อลีและพิมให้กำเนิดลูกคนแรก แม้จะข้ามดินข้ามน้ำมาอยู่กินกับผัวตามุยอยู่หลายปี แต่พวกเธอก็ถูกเรียกว่า “ลาวอพยพ” หรือที่ภายหลังมักเรียกกันด้วยภาษาสวยหรูว่า “บุคคลไร้สัญชาติ”
“เมื่อก่อนแม่ถือสัญชาติลาว แต่ตอนนี้ไม่มีสถานะทางสัญชาติในบัตร แม่ยังเป็นคนไร้สัญชาติ ไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน แต่ขึ้นสมรสนำผัว มีชื่อในใบเกิดลูก ทะเบียนลูก” พิมว่า
ไม่ทันพูดจบลีก็แทรกต่อ “คือตอนนั้นมันก็ยากแหน่ เราก็เอาผัวไทย เพิ่นก็ติก็เตือน เฮาสิไปหากินหายาก บ่ได้ไปเฮ็ดบัตรเฮ็ดใบ(พา)สปอตหยัง ถือว่ารักละข้ามหากันซื่อ ๆ”
“จนลูกคนแรกเกิดปี 35 เพิ่นก็บ่อยากออก(สัญชาติ)ให้ เพิ่นว่าให้ขึ้นนำแม่ ถ้าแม่เป็นคนไทยจังได้สิทธิ พ่อก็ไปด่าเพิ่น ตอนทหารก็บ่ได้เอาแม่หญิงไปเป็นทหารแหน่” ความหาญกล้าของผู้เป็นพ่อในครั้งนั้นทำให้ทั้งเธอและชายคนรักที่นั่งเคียงข้างต่างหลุดหัวเราะออกมาประสานเสียงกัน
“แต่ความหมายจริง ๆ คือ ถ้าป๊ะกันอิหยังนี่ แม่สิไปทางนั้น ลูกก็สิไปนำ”
การมีคนรักที่ถูกทางการตราหน้าว่าเป็นคนไร้สัญชาติเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปในตามุย ผู้บ่าวผู้สาวลาวที่ข้ามมากินอยู่กับผัวเมียที่ตามุยมักเจอปัญหาเมื่อเดินทางไปติดต่อสถานที่ราชการ ช่วงแรกที่ทางการเข้ามาสำรวจทะเบียนประวัติผู้อพยพจากอินโดจีน กลุ่มคนเหล่านี้จะได้รับการรับรองและออกบัตรเลข 6 แสดงสถานะคนลาวอพยพ แต่ก็มีน้อยคนที่ได้รับบัตรนั้น ด้วยเหตุผลเรื่องความยากลำบากในการเข้าถึงบริการและความกังวลว่าจะทางการส่งกลับไปบ้านเกิดที่หนีมา
จนกระทั่งมีการสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติอีกครั้ง ส่วนใหญ่บ้านที่มีผัวลาวเมียไทย หรือผัวไทยเมียลาวก็จะได้รับบัตรเลข 0 ระบุเป็นผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน หรือที่เรียกขานกันในหมู่คนที่ถือบัตรว่า “บัตรสีชมพู” หรือที่ลีเองเรียกว่า “บัตรทหาร” เพราะทหารคอยช่วยเหลือเรื่องออกบัตรให้กับเธอ
“เราไม่มีบัตรก็เลยจับกลุ่มกัน มีนำกลุ่มคนไร้รัฐ คนไร้สัญชาติ กลุ่มรักต่างถิ่นต่างแดน ผัวไทยเมียลาว ผัวลาวเมียไทย จับกลุ่มช่วยกันเดินเอกสารจนได้บัตรชมพู แม่เคยไปหน้าทำเนียบนะ ไปขอความเป็นธรรม เราอยากได้บัตรเลขศูนย์ ไม่ใช่สัญชาตินะ” น้ำเสียงของพิมเจือความโศกเศร้าที่ไร้หยดน้ำตา
“เฮารู้ว่าบัตรชมพู ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง แต่เวลาเจ็บป่วยจะได้สิทธิรักษาพยาบาลฟรี ไม่ได้เสียตังค์ แม่ป่วยเป็นไทรอยด์ ไปโรงบาลตอนไม่มีบัตร ค่ายาเทือละพันสองพัน ค่ากลืนแร่อีกไม่รู้เท่าไหร่”
ความวัวไม่ทันหาย ความความก็เข้าแทรก ครั้นฝ่ายผัวหรือเมียที่ถือบัตรประจำตัวสัญชาติไทยก็ใช่ว่าจะไม่เจอปัญหา ในระหว่างที่ผัวลาวเมียลาวลงถนนเพื่อร้องเรียกสิ่งที่พวกเขาพึงได้นั้น คู่ชีวิตของพวกเธอก็เจอกับกระสุดนัดใหม่ที่พุ่งทะยานเข้ามาโดยไม่ทันตั้งตัว กระสุนที่ชื่อว่ากฎหมายที่ดินและอุทยาน
“ที่ดินที่อยู่ตอนนี้ก็ของพ่อ(โก้) มันก็จะง่ายเพราะเขาเป็นคนไทย แต่ที่นี่ไม่มีโฉนดเลยนะ ที่นาที่กินก็ยังไม่มีโฉนด เขาบอกว่าเป็นของอุทยานทั้งหมด” พูดจบพิมก็ชี้ไปอีกฟากถนน “ที่นี่ก็เป็น ที่อยู่อาศัยทั้งหมดก็เป็นเขตป่าสงวน” แววตาเศร้าหมองของเธอบอกเล่าหมื่นพันล้านคำที่อัดอั้นอยู่ในใจ
วันที่ 23 มิถุนายน 2562 ห้าปีหลังทางการเริ่มทวงคืนผืนป่าตามแนวอุทยานจากไทบ้าน ฤทธิ์ จันทร์สุขผู้เป็นน้องชายของตาลและโก้ หรือน้องเขยของลีและพิมถูกเรียกให้ไปรายงานตัวที่สถานีตำรวจภูธร อำเภอโขงเจียม ในข้อหาบุกรุกและแผ้วถางพื้นที่อุทยาน เป็นอีกครั้งที่แผ่นกระดาษไม่กี่ใบกลายเป็นอุปสรรคทำลายความรัก ความสุข และความทรงจำที่อยู่ในบ้านจันทร์สุขแห่งตามุย
“ไม่ตายก็เหมือนกับตาย อย่างไร่มันพ่อฤทธิ์ที่ถูกจับ ทำมาหลายปีแถมมีใบเกษตร ยังโดนจับได้ แล้วที่ตรงนั้นเคยเสียภาษีดอกหญ้าปีนึงตั้งหลายบาท” ชายปริศนานามว่าอหิงสกะโพล่งขึ้นท่ามกลางความเงียบงัน “ที่ดินที่มีอยู่คนละสองสามไร่ตามหุบเขานี่ กลายเป็นเสียพื้นที่ตรงนี้ไปเฉย ๆ”
มิหนำซ้ำข่าวลือเรื่องความฝันแห่งลุ่มน้ำโขงตอนล่างในนามเขื่อนบ้านกุ่ม-สาละวันและเขื่อนภูงอยเริ่มแพร่สะพัดเข้ามา เดิมไทบ้านตามุยคิดว่าเป็นเพียงความฝันที่ไม่มีวันเป็นจริง กระทั่งพวกเขาเห็นคนแปลกหน้าเข้ามาสำรวจพื้นที่เช่นเดียวกับที่ฝรั่งเศสเคยมาสำรวจแม่น้ำโขง ไม่รู้ว่าประวัติศาสตร์ที่เคยสร้างรอยแผลที่ยังแก้ไขไม่ได้มาจนถึงทุกวันนี้จะเดินซ้ำรอยเดิมหรือไม่
ไทบ้านตระหนักได้ว่าฝายคอนกรีตยักษ์นั้นสร้างความชิบหายมากเกินกว่าแสงสว่างอันน้อยนิดที่แทบไม่ตกมาถึงมือพวกเขา กระแสน้ำขึ้นลงผิดปกติ พอ ๆ กับฝูงปลาที่เริ่มหายไปจากเวิ้งน้ำ ทิ้งไว้เพียงร่องรอยความทรงจำบนโขดหิน ฝายคอนกรีตที่อยู่ไกลห่างออกไปยังสร้างวิบัติได้เพียงนี้ พวกเขาไม่กล้าจินตนาการภาพวันที่ตามุยถูกขนาบด้วยความฝันที่พวกเขาไม่ได้มีส่วนร่วม
“ผมเคยคิดนะว่าประเทศนี้มันเกิดอะไรขึ้น เราอยู่ดีมีสุขมาตลอด จะทุกข์ก็เป็นทุกข์โดยธรรมชาติ ทุกข์โดยอาหารการกินไม่พอ ทุกข์โดยที่ไร่ที่นาเราไม่พอ”
“แต่นี่เป็นทุกข์เพราะโดนคนไทยเราเองขับไล่ออกจากพื้นที่ ทำเขื่อนให้น้ำท่วมเขา ประกาศอุทยานทับที่เขา ทำให้เขาไม่มีที่ไป มันคล้ายว่าเราไล่คนของเราเองออกจากพื้นที่ นี่คือการขับไล่”
“มันเป็นกรรมของชาวบ้านจริง ๆ คล้ายตกนรกแล้ว แต่ไม่รู้ว่าจะตกหลุมไหน”
······························
บทเพลงฮักข้ามของบรรเลงเรื่อยมาจนถึงท่อนสุดท้าย เสียงทุ้มของกีตาร์โปร่งและคนร้องค่อยลง เพลิงไฟใกล้มอดลิ่วตามลมหนาวที่เริ่มกรรโชกแรงขึ้น ผู้คนที่นั่งรายล้อมกลับเข้าสู่ภวังค์อีกครั้ง ลำนำรักแห่งตามุยที่ถูกถ่ายทอดผ่านน้ำเสียง สีหน้า และแววตาของความทรงจำแห่งตามุย ทำให้รู้สึกยะเยือกสลับกับร้อนผ่าวภายในจิตใจไปพร้อมกัน
จังหวะเริงระบำของเปลวไฟชวนจินตนาการถึงตามุยในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เวลาผ่านไปเนิ่นนานจนดินแดนระหว่างทิวเขาและแม่น้ำไม่เงียบเหงาอีกต่อไป หลายชีวิตเกิดขึ้นและดับลงบนผืนแดนดินอันเป็นที่รักตลอดเวลา ไม่ทันได้จินตนาการว่าตามุยในวันพรุ่งนี้จะเป็นเช่นไร แม่น้ำโขงก็ส่งสัญญาณเตือนในดวงใจที่กำลังตกหลุมรักและแหลกสลายไปพร้อมกัน
โอ้ละหนอ… ตามุยเอย
ความรักเป็นเรื่องธรรมดาของทุกสรรพสิ่งบนโลก
เป็นความสวยงามแสนธรรมดาที่ดำรงอยู่ทุกแห่งที่
มันอาจกอปรด้วยความโรแมนติกที่แสนเรียบง่าย
แต่ก็อาจแฝงไปด้วยทุกข์ระทมที่เข้ามากัดกินดวงใจในคราเดียวกัน
…
โอ้ละหนอ… ตามุยเอย
ข้าเดินทางมานานแสนนาน ไกลแสนไกล
ข้ามอบทุกห้องดวงใจให้เจ้า
สายน้ำ ฝูงปลา หรือผืนป่ากว้าง
แล้วเมื่อไหร่กัน ที่ข้าจะได้รับความรักกลับมาอีกครั้ง
เมื่อไหร่กัน…
เมื่อไหร่…
เมื่อ…
…
หมายเหตุ: ชื่อบทความนี้ดัดแปลงมาจากบทเพลง When Emma Falls in Love (Taylor’s Version) (From The Vault) โดย Taylor Swift
เรื่องและภาพ: นิฌามิล หะยีซะ และกิติยาณี แวโน๊ะ
ป้ายกำกับ ตามุย อุบลราชธานี แม่น้ำโขง รักข้ามโขง นิฌามิล หะยีซะ กิติยาณี แวโน๊ะ สารคดีชุมชน พื้นที่ชายแดน