เนรเทศ เรื่องเล่าและน้ำเสียงของคนพลัดถิ่น

 |  พื้นที่ การอพยพเคลื่อนย้าย และชายแดน
ผู้เข้าชม : 2642

เนรเทศ เรื่องเล่าและน้ำเสียงของคนพลัดถิ่น

“มนุษย์เป็นสัตว์พิการซ้ำซ้อน ทั้งด้วยความยินยอมและความจำยอม”
(ภู กระดาษ, 2557)

           ข้อความนี้มาจากนวนิยายเรื่อง เนรเทศ (2557) ที่พยายามชี้ให้เห็นว่ามนุษย์บางกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มที่ด้อยอำนาจ ถูกกระทำในสถานะที่มิอาจหลบเลี่ยงได้ ทั้งทางร่างกายหรือสิ่งใด ๆ ในขณะที่บางกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มที่มีอำนาจอาจดูเหมือนว่ามีความพิการทางด้านจิตใจ และความพิการอันซ้ำซ้อนเหล่านี้เองอาจต้องกระทำต่อคนอื่นที่มีอำนาจด้อยกว่าเพื่อคงอำนาจของกลุ่มตนไว้ ดังนั้น นิยายเรื่อง เนรเทศ จึงเป็นการอธิบายภาพแทนของผู้คนที่ถูกกระทำและต้องอยู่กับปัญหาระหว่างความเป็นศูนย์กลางที่มีอำนาจกับชายขอบที่ด้อยอำนาจ


ฤดูกาลและปัจจุบันขณะของการเขียน เนรเทศ

           เนรเทศ เป็นนวนิยายที่เขียนโดย ภู กระดาษ (ถนัด ธรรมแก้ว) นักเขียนชาวอีสานได้เสนอภาพของชนบทอีสานที่มิได้ยอมรับกับอำนาจของศูนย์กลางเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการเปิดพื้นที่ให้กับเสียงที่หลากหลายของผู้คนที่ด้อยอำนาจด้วย ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ภู กระดาษ มีนวนิยายเรื่องสั้นร่วมสมัยที่น่าสนใจมากมาย อาทิเรื่อง ไม่ปรากฏ, ดั่งเรือนร่างที่ไร้องคาพยพ, 24-7/1, หนึ่งชั่วโมงก่อนพิธีสวนสนาม งานเขียนเหล่านี้ของเขามักบอกเล่าเรื่องราวที่ท้าทาย หยอกล้อเสียดสี และประชดประชันต่ออำนาจที่กดทับผู้คนเสียเป็นส่วนใหญ่

           ในบรรดางานเขียนหลายชิ้นของ ภู กระดาษ ผู้เขียนเลือกใช้นวนิยาย เนรเทศ เป็นเรื่องหลักในการอธิบายภาพแทนชนบทอีสาน เนื่องจากงานเขียนเรื่องดังกล่าวได้ให้ภาพของชนบทอีสานที่มิได้หยุดนิ่งตายตัวและไม่เปลี่ยนแปลง การเดินทางของตัวละครในนิยายในทศวรรษ 2550 ฉายให้เห็นความสัมพันธ์ของผู้คนกับพื้นที่อื่น ๆ อยู่ตลอดทั้งในทางเศรษฐกิจและสังคม

           หากเปรียบเทียบกับนิยายชิ้นอื่น ๆ ที่เสนอภาพแทนของชาวอีสานที่อยู่ในบริบทต่างกัน อาทิ ในทศวรรษที่ 2500 นวนิยายที่ให้น้ำเสียงของคนอีสานอย่างออกรส คือเรื่องฟ้าบ่กั้น (2501) นำเสนอภาพของความเป็นชนบทอีสานแร้นแค้นทุกข์ยาก ทศวรรษที่ 2520 เรื่องลูกอีสาน นำเสนอภาพชีวิตของชนบทอีสานที่มีแบบแผนขนบธรรมเนียมประเพณีที่ชัดเจน แต่เรื่อง เนรเทศ นั้นต่างออกไป นิยายเรื่องนี้มิได้เสนอภาพของชนบทอีสานที่อยู่ติดพื้นที่ เนื่องจากมีการเข้าถึงความสะดวกในการเดินทางมากขึ้น ดังนั้น เนรเทศ จึงเป็นการนำเสนอภาพแทนของความเป็นชนบทอีสานที่เคลื่อนย้ายไปมากับภูมิภาคอื่น ๆ เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนผ่านไป

           ลาว คำหอม (คำสิงห์ ศรีนอก) ผู้เขียนเรื่อง ฟ้าบ่กั้น บอกว่านวนิยายเป็นเสมือนดั่งเรื่องราวในฤดูกาล เมื่อผ่านพ้นยุคสมัยไปแล้วนิยายเล่มนั้นก็ตกยุคสมัยไป (ดูเพิ่มในคำนำ, คำสิงห์ ศรีนอก, 2523) ดังนั้น ความเป็นปัจจุบันขณะของนักเขียนนิยายนั้นจึงไม่เหมือนกัน ซึ่งในปัจจุบันภายใต้โลกาภิวัฒน์ที่มีความเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเร็วขึ้น ถี่ขึ้น และสะดวกมากยิ่งขึ้น (วิสุทธ์, 2566ก) ความเป็นปัจจุบันในขณะที่ ภู กระดาษ เขียนเรื่อง เนรเทศ ดำรงอยู่ท่ามกลางความสัมพันธ์ที่เชื่อมต่อกับที่อื่น ๆ อยู่ตลอดเวลา และมิได้ปิดตัวเหมือนภาพของชนบทในนวนิยายยุคก่อน นั่นคือ ไม่ได้อธิบายในพื้นใดพื้นที่หนึ่งอย่างแจ่มชัด แต่เป็นการเคลื่อนย้ายของตัวละครไปในหลายพื้นที่

           เนื้อหาหลักของนวนิยายเรื่องเนรเทศเป็นเรื่องราวที่เอ่ยถึงหนุ่มผลัดถิ่นในอีสานที่เดินทางเข้ามาทำงานที่ต่างจังหวัดและเล่าถึงชาวอีสานที่ผลัดพรากจากถิ่นฐานบ้านเกิด (ภู กระดาษ, 2558) ตัวละครหลักประกอบไปด้วย สายชน ไซยปัญญา (ตัวละครหลัก) ล.ไซยปัญญา (ภรรยาสายชน) อุ่น (ผู้เป็นลูกสาว) แม่ (แม่ของสายชน) และ (โจ้ หลานชาย) เนื้อเรื่องคือการเดินทางไปมาระหว่างอำเภอหนึ่งในจังหวัดศรีสะเกษกับจังหวัดชลบุรี โดยมีสถานีขนส่งหมอชิตในกรุงเทพฯเป็นทางผ่าน การเดินทางของสายชนเป็นการเดินทางด้วยรถทัวร์และเต็มไปด้วยความยากลำบาก เช่น คนอาละวาดระหว่างรอรถ รถทัวร์ไม่ตรงเวลา และความไม่สะดวกของสถานีขนส่ง ตัวละครเหล่านี้จึงมีลักษณะของการ “ด้น” อยู่กับปัญหา (อ้างถึงใน วิสุทธิ์, 2565) ในสถานการณ์ต่าง ๆ ที่พวกเขาต้องเผชิญ

           จากการสำรวจงานที่ศึกษาเกี่ยวกับนิยายเรื่องเนรเทศที่ผ่านมา มีงานศึกษาสองชิ้นด้วยกันคือ งานของ คงกฤช (2558) ที่พยายามชี้ให้เห็นถึงสภาวะกลับไม่ได้ไปไม่ถึงของตัวละครในนวนิยาย ทั้งในเรื่องของการแสดงอัตลักษณ์ ความเป็นอีสาน ความเป็นไทย ตำแหน่งแห่งที่ของคนอีสานในสังคมการเมืองไทย ซึ่งมีสภาวะของความอีหลักอีเหลือระหว่างความเป็นอีสานและความเป็นไทย และงานของ ณัฏฐวรรธน์ (2566) ที่พยายามชี้ให้เห็นสภาพของเมืองและชนบทที่ลักษณะของการใช้ชีวิตของตัวละครในนิยายมีลักษณะที่ไม่แตกต่างกันนัก

           อย่างไรก็ดี งานศึกษาเรื่อง เนรเทศ ทั้งสองชิ้นเป็นการชี้ให้เห็นถึงสภาวะอีหลักอีเหลือระหว่างความเป็นอีสานกับความเป็นไทย หรือระหว่างความเป็นเมืองกับความเป็นชนบท แต่ก็มิได้ศึกษาในมิติการเคลื่อนย้ายซึ่งถือเป็นฤดูกาลปัจจุบันของการเขียนนิยาย เนื่องจากนวนิยายเล่มนี้มิใช่นิยายที่เหล่าตัวละครนั้นมีลักษณะของการหยุดนิ่งหรือติดพื้นที่เหมือนนิยายในยุคก่อน แต่มีการเคลื่อนไหวของตัวละครอยู่ตลอดเวลา ทั้งการเดินทางไปยังพื้นที่ต่าง ๆ อยู่ตลอดทั้งเรื่อง นิยายเล่มนี้จึงเป็นการนำเสนอภาพแทนของผู้ย้ายถิ่นและโลกเชื่อมถึงกัน (วิสุทธิ์, 2566ข) ซึ่งชี้ให้เห็นถึงการต่อรองต่อสู้ของผู้คนที่ไม่มีเสียงผ่านการเล่าเรื่องในนิยาย (ปิยนันท์, 2565)

           การพิจารณาการเคลื่อนย้ายของตัวละครหลักในมิติการเคลื่อนย้ายศึกษา (mobility study) นอกจากมุ่งศึกษาการเคลื่อนย้ายแล้ว ยังเป็นกรอบการศึกษาที่มองหาความซับซ้อนที่การดำรงอยู่ของสิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้นในความเปลี่ยนแปลงที่อาจประมวลผลใหม่อยู่อย่างต่อเนื่อง และสร้างผลอุบัติใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา ซึ่งสัมพันธ์กับวัตถุ อารมณ์ ชีวิตทางสังคม (ประเสริฐ, 2561) บทความชิ้นนี้เป็นการวิเคราะห์นวนิยายเรื่องเนรเทศผ่านกรอบการศึกษานี้


เนรเทศ กับโครงเรื่องประวัติศาสตร์

 “...ปัจจัยที่ร่วมกันระหว่างเรื่องราวที่เป็นประวัติศาสตร์กับนวนิยายได้แก่ การตีความ การสร้างชีวิต และพลังให้กับเรื่องราวนั้น ๆ จนกระทั่งผู้อ่านเรื่องราวไม่ว่าจะในประวัติศาสตร์หรือนวนิยายก็มีความรู้สึกร่วมกับตัวละครและเนื้อเรื่องที่ดำเนินไปอย่างมีอารมณ์ความรู้สึกได้ยิน ได้เห็น และเอนเอียงไปตามตัวละครที่ผู้อ่านมีความผูกพันอย่างแน่นแฟ้นไปด้วยได้ ราวกับว่าเขาได้เข้าไปมีชีวิตร่วมกับตัวละครและฉากต่าง ๆ ในเรื่องราวเหล่านั้นด้วยกันเอง”

(นิธิ, 2545, น.4) (เน้นโดยผู้เขียน)

           นวนิยายเรื่องเนรเทศนำเสนอโครงเรื่องทางประวัติศาสตร์ที่มิได้เล่าผ่านโครงเรื่องแบบเดียวเท่านั้น แต่ได้ไกล่เกลี่ยโครงเรื่องประวัติศาสตร์ในลักษณะที่หลากหลาย อาทิ ตำนานท้องถิ่น ประวัติศาสตร์ชาติกระแสหลัก ประวัติศาสตร์บาดแผล และเป็นการเล่าเรื่องที่สลับไปมาในแต่ละบท โครงเรื่องประวัติศาสตร์ต่าง ๆ นี้ถูกบอกเล่าผ่านตัวละครหลักอย่างสายชนระหว่างการเดินทางบนรถทัวร์เพื่อสะท้อนว่า การเดินทางออกจากอีสานไปยังหัวเมืองใหญ่ถูกขับเคลื่อนจากคติปรัมปราและบริบททางประวัติศาสตร์ที่ศูนย์กลางอำนาจกระทำต่อคนชายขอบผู้เขียนจึงพยายามถอดโครงเรื่องต่าง ๆ ที่นำเสนอออกมาในนวนิยาย ดังนี้

           โครงเรื่องแรก คือ โครงเรื่องเกี่ยวกับตำนาน (ตำนานที่นิยายเรื่องนี้นำมาดัดแปลง) เป็นโครงเรื่องที่เผยให้เห็นถึงการจัดลำดับชนชั้นของผู้คน กลายเป็นชนชั้นและชนชาติต่าง ๆ ณ ตำบลนาน้อยอ้อยหนู ตำนานที่นิยายเรื่องเนรเทศ ดัดแปลงมานี้เป็นตำนานของกลุ่มไต-ไท ที่ปรากฏในตำนานขุนบรม ที่เอ่ยถึงนาน้อยอ้อยหนูเป็นแหล่งที่ผู้คนหลั่งไหลออกมาจากน้ำเต้าปุง กลายเป็นชนชาติต่าง ๆ และเป็นเมืองแห่งแรกที่พวกไต-ไทตั้งขึ้น ก่อนจะส่งลูกหลานไปเที่ยวตั้งเมืองหรือยึดเมืองต่าง ๆ ต่อไป (นิธิ, 2559, น 13-15) โครงเรื่องนี้จึงชี้ให้เห็นลำดับชั้นและการลำเลิกบุญคุณจากผู้ถูกกระทำ

           โครงเรื่องที่สอง คือ โครงเรื่องประวัติศาสตร์กระแสหลัก ฉากนิยายที่ถ่ายทอดโครงเรื่องนี้ออกมาคือสายชน (ตัวละครหลัก) ซึ่งเป็นผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์ และอ่านหนังสือประวัติศาสตร์เป็นจำนวนมากอยู่แล้ว ระหว่างที่เขานั่งรถกลับศรีสะเกษนั้นได้พรรณนาถึงประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมและการรวมศูนย์อำนาจภายใต้โครงเรื่องประวัติศาสตร์กระแสหลักกล่าวคือ

“ในห้วงคำนึงของสายชนเกี่ยวกับสิ่งที่เขาได้รับรู้มาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ การรถไฟไทยที่เริ่มจากเหตุผลด้านเอกภาพและความมั่นคงของสยาม การยกเลิกระบบทาส การปฏิรูปการศึกษา ทั้งนี้ก็เพื่อทัดทานจักรวรรดินิยม อังกฤษและฝรั่งเศส จนกระทั่งสยามรอดพ้นจากการตกเป็นเมืองขึ้น การรับรู้ เรื่องราวเหล่านี้ทำให้ เขามักจะขนลุกเสมอแต่ในคราวครั้งที่ได้รับรู้แต่แรก ๆ นั้น…” (ภู กระดาษ, 2557, น.166) (เน้นโดยผู้เขียน)

           โครงเรื่องที่สาม คือ โครงเรื่องประวัติศาสตร์บาดแผล โดยนิยายเล่มนี้เล่าเรื่องราวของหมู่บ้านและครอบครัวของสายชน คือการถูกกวาดต้อนมาจากเวียงจันทน์ เมื่อครั้งเจ้าอนุวงศ์พ่ายแพ้ให้แก่ สยามซึ่งได้กวาดต้อนคนไทลาวข้ามแม่น้ำของมาด้วยเป็นจำนวนมหาศาลกระจัดกระจายอยู่หลายพื้นที่ในสยามประเทศหรือประเทศไทยในปัจจุบันนี้ (ภู กระดาษ, 2557)

           ครอบครัวทางฝ่ายปู่ ย่า ตา ยาย ของเหล่าตัวละครในนิยายก็เป็นกลุ่มคนที่ถูกกวาดต้อนมาเรื่อย ๆ (ภู กระดาษ, 2557, น.78) ในสมัยสงครามเย็น ครอบครัวสายชนได้รับผลกระทบต่อการปราบปรามคอมมิวนิสต์ในช่วงเวลานี้ ซึ่งได้เล่าถึงพ่อของสายชนเข้าป่าไปเป็นสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย กล่าวคือ

“พ่อของเขาเข้าป่าไปเป็นคอมมิวนิสต์และเดินทางเข้าออกไปมาระหว่างเขตป่าเขาและหมู่บ้านอยู่เนื่อง ๆ เป็นปกติ หลังจากเกิดการปราบปรามนิสิตนักศึกษาอย่างเลือดเย็นในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ.1976 แม้จะมีการประกาศนโยบาย 66/23 ออกมาเป็นปี ๆ แต่การสู้รบยังไม่ได้ยุติแต่อย่างใด... กระทั่งพ่อของเขาก็สู้รบจนถูกฆ่าตายในเขตป่า...” (ภู กระดาษ, 2557, น.107-108) (เน้นโดยผู้เขียน)

           ในแง่นี้ นอกเหนือไปจากโครงเรื่องเกี่ยวกับตำนานแล้ว นิยายเรื่องเนรเทศ จึงพยายามที่จะชี้ให้เห็นว่าในช่วงเวลาต่าง ๆ นั้น พื้นที่ภาคอีสานถูกกระทำอย่างไรบ้าง อาทิ ช่วงต้นรัตนโกสินทร์ถูกกวาดต้อนเข้ามาเพื่อใช้แรงงาน ช่วงสงครามเย็นพื้นที่อีสานก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นพื้นที่คอมมิวนิสต์

           ทั้งสามโครงเรื่องนี้ จึงพยายามชี้ให้เห็นโครงเรื่องทางประวัติศาสตร์ที่ทาบทับกัน ประหนึ่งว่าเป็นโครงเรื่องที่ขัดกันแต่สามารถเล่าไปในเรื่องเดียวกันได้ ซึ่งการเล่าเรื่องในแนวนี้ทำให้ตัวละครใน เนรเทศ ต้องเคลื่อนย้ายอยู่โดยตลอด ตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐานอย่างถนนการพัฒนาแบบรวมศูนย์ โครงสร้างเศรษฐกิจที่กระจุกตัว และการถูกกระทำโดยอำนาจส่วนกลาง โครงเรื่องทางประวัติศาสตร์เหล่านี้ทำให้ สายชน (ตัวละครหลัก) หรือ คนอีสานในที่ต่าง ๆ ในนิยายต้อง “เนรเทศ” ตนเองออกมาจากถิ่นฐานบ้านเกิดในฐานะที่จำยอม แม้จะไม่ใช่การกวาดต้อนเหมือนเมื่อก่อน แต่ก็เป็นการกวาดต้อนในทางเศรษฐกิจ แต่ในภาวะปัจจุบันก็ทำให้หลากครอบครัวในอีสานก็ต้อง “เนรเทศ” ตนเองออกมาจากถิ่นฐานบ้านเกิด

           เหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งที่ให้ภาพของการ “เนรเทศ” ตัวเองออกมาจากพื้นที่อีสานเป็นตัวแทนของคนอีสานวงกว้าง ก็คือ บริบททางเศรษฐกิจ งานของสุเทพ สุนทรเภสัช (2548) ได้ชี้ให้เห็นการพัฒนาของพื้นที่อีสานกล่าวว่า สภาพด้อยพัฒนาของอีสานทำให้รายได้ต่อหัวของชาวอีสานต่ำกว่าภูมิภาคอื่น สอดคล้องกับนิยายของ ภู กระดาษ เรื่องนี้ที่เป็นการชี้ให้เห็นชีวิตของคนอีสานที่เข้ามาเป็นแรงงานในเมือง กล่าวคือ

“ท่ามกลางกลิ่นเครื่องจักรที่อวลตลบ ความเงียบงันสงบรำงับแต่ขมึงเคลียดในใจ นิ่งฟังคำสวดของลูกชายเจ้าของโรงงานและผู้จัดการที่ต่างรุกสุมใส่เสมอกัน ผู้จัดการนั้นเป็นคนบ้านเดียวกับสายชน กับลุงของโจ้กับสายชนนั่นแหละ และผู้จัดการคนนี้นี่แหละที่เป็นคนพาพี่น้องป้องปายใคร ๆ ไทหมู่บ้าน รวมทั้งลุงของโจ้มาทำงานยังโรงงานแห่งนี้ด้วย” (ภู กระดาษ, 2557, น.202) (เน้นโดยผู้เขียน)

           กล่าวโดยสรุป โครงเรื่องทางประวัติศาสตร์และบริบททางเศรษฐกิจ ทั้งสองแบบนี้สัมพันธ์กับการย้ายถิ่นแบบจงใจ ตลอดจนการเอาใจใส่และการกระจายทรัพยากรของรัฐ ซึ่งไม่เสมอภาคระหว่างอีสานกับภูมิภาคอื่น ๆ โดยเฉพาะภาคกลางกับภาคตะวันออก
(สุเทพ, 2548, น.242) ดังนั้น ด้วยโครงเรื่องทางประวัติศาสตร์และเหตุผลทางเศรษฐกิจในนิยายเรื่องนี้จึงเป็นปัจจัยหนึ่งในการ “เนรเทศ” ตนเองออกจากพื้นที่ที่ไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรได้เท่ากับพื้นที่อื่น ๆ


เนรเทศ กับภาพตัวแทนของผู้ย้ายถิ่น

           นอกจากโครงเรื่องประวัติศาสตร์และบริบททางเศรษฐกิจในนิยายที่บรรยายถึงการเคลื่อนย้ายของผู้คนจากอีสานเข้าสู่หัวเมืองใหญ่แล้ว ฉากของการพรรณนาทั้งสองประเด็นนี้คือการนั่งพรรณนาบนรถโดยสาร ดังที่กล่าวไปข้างต้นว่า นิยายเล่มนี้มีฉากหลักอยู่ที่การเดินทางอยู่ตลอดทั้งเล่ม จึงเป็นภาพตัวแทนของผู้ย้ายถิ่นอีสานที่มีมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

           การเข้ามาของถนนในยุคสงครามเย็นทำให้ผู้คนเชื่อมต่อกับพื้นที่อื่น ๆ มากยิ่งขึ้น และอพยพเคลื่อนย้ายตนเองออกจากพื้นที่อีสานมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย ถนนจึงนำมาซึ่งการปะทะกันของวิถีชีวิตที่ผู้คนต้องเผชิญระหว่างวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมกับวิถีชีวิตแบบสมัยใหม่ ซึ่งนิยายได้ให้ภาพอย่างดี กล่าวคือ

“เส้นทางสายนี้นี่แหละที่ได้พาทั้งวัยรุ่นหนุ่มสาววัยทำงานให้ออกเดินทางไปทำงานยังต่างถิ่นไปผจญภัยโชคตามวัยคะนองอยากรู้อยากเห็น กวาดต้อนไปดุจเดียวกับอดีตกว่าสองร้อยปีที่ผ่านมาสมัยกรุงเทพฯ กรุงไทยและภาคตะวันออกของประเทศ อันเป็นภูมิภาคที่น้ำไหลไฟสว่าง ทางดี มีงานให้ทำ มีเงินให้ใช้ ได้เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เคลื่อนย้ายหลั่งไหลตามกันไปนับตั้งแต่ปีเดือนเหล่านั้นเป็นต้นมาอย่างมิเคยบันเบาสร่างซาลงแม้สักน้อยหนึ่ง...” (ภู กระดาษ, 2557, น.77) (เน้นโดยผู้เขียน)

           ในขณะเดียวกัน เหตุการณ์อันน่าเศร้าในจากไปของ ล.ไซยปัญญา (ภรรยาของสายชนตัวละครหลักในนิยาย) ระหว่างการคลอดลูกสาว (อุ่น) ที่โรงพยาบาลประจำอำเภอ และสายชนเองก็ต้องนั่งรถโดยสารจากหมอชิตใหม่ไปสู่ปลายทางที่จังหวัดศรีสะเกษ (ภู กระดาษ, 2557) เป็นการชี้ให้เห็นว่าการเข้าถึงทรัพยากรที่จำเป็นแม้แต่ในชีวิตประจำวันก็ไม่สามารถเข้าถึงได้ กล่าวคือ

“...โรงพยาบาลประจำอำเภอที่เธอเข้ารับการรักษานั้นไม่มีเครื่องมือทางการแพทย์มากพอสำหรับการผ่าตัด หรือกล่าวอีกอย่างเป็นจริงเป็นจังอย่างที่สุดว่าไม่พร้อมทั้งสิ้นสำหรับการผ่าตัดไม่ว่ากรณีใด ๆ หากเกิดกรณีผ่าตัดอย่างนี้หรืออย่างที่อื่น ๆ ขึ้นมาก็ต้องส่งเข้าไปรักษาต่อยังโรงพยาบาลจังหวัดเพียงสถานเดียว และโรงพยาบาลจังหวัดก็อยู่ห่างไกลกว่าเจ็ดสิบกิโลเมตร” (ภู กระดาษ, 2557, น.55-56) (เน้นโดยผู้เขียน)

           ฉากสุดท้ายของนวนิยายเรื่องนี้คือฉากของการจบบนรถทัวร์ ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตประการหนึ่งคือ นิยายเล่มนี้พยายามชี้ให้เห็นถึงการอยู่กับปัญหาตลอดทั้งเล่ม ในฐานะที่ทรัพยากรของพื้นที่อีสานนั้นไม่เท่าเทียมกับพื้นที่ภาคกลางและพื้นที่ภาคตะวันออก

“ความอาลัยอาวรณ์เช่นนี้เกิดขึ้นเสมอ และมันก็คงไม่แตกต่างกับพี่น้องป้องปายคนไทหมู่บ้านคนอื่น ๆ ที่ต้องทิ้งลูกหลานไว้อยู่บ้านเกิดแล้วออกไปหางานทำ ไปยังศูนย์รวมทุกสิ่งอย่างทั้งมีเงินให้ใช้ มีงานให้ทำ น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดีที่กรุงเทพฯ กรุงไทย และภาคตะวันออกของประเทศอย่างชลบุรี ระยอง จันทบุรี ที่กี่ร้อยปีมาลีชาติก็ยังรวมศูนย์อยู่เพียงแต่เท่านั้น...” (ภู กระดาษ, 2557) (เน้นโดยผู้เขียน)

           บทความชิ้นนี้จึงพยายามชี้ให้เห็นถึงภาพแทนของคนพลัดถิ่นอีสาน ที่ต้องระหกระเหินไปตามเส้นทางแห่งชะตากรรม (ภู กระดาษ, 2557) โดยถูกกระทำในลักษณะต่าง ๆ ความเป็นอยู่โดยทั่วไปยิ่งต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วประเทศ การขยายการคมนาคมสื่อสารจากส่วนกลางเข้าไปในภาคอีสาน ทำให้คนในภาคอีสานมีการติดต่อใกล้ชิดกับคนในภาคกลางมากขึ้น ก่อให้เกิดความรู้สึกว่ากรุงเทพฯ คือศูนย์กลางอำนาจอย่างแท้จริง (สุเทพ, 2548)

           ท้ายที่สุด นิยายเล่มนี้จึงชี้ให้เห็นถึงภาพแทนของชาวอีสานที่ถูกกระทำจากอำนาจรัฐส่วนกลางอยู่ตลอดเวลาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ดังนั้น ภายใต้ความไม่แน่นอนของโลกสมัยใหม่ที่ต้องเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ ด้วยตนเอง (วิสุทธิ์, 2565) ปัญหาต่าง ๆ ที่บทความชิ้นนี้พยายามจะกล่าวถึงส่วนใหญ่มักเป็นปัญหาเกี่ยวกับ การเมือง เศษฐกิจ และสังคม สิ่งเหล่านี้จะส่งผลต่อโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐเป็นผู้ออกแบบให้กับผู้คนที่มีลักษณะเป็นไปในทางที่จำกัด ซึ่งจะเห็นว่าตัวละครในนิยายเล่มนี้จึงมีลักษณะของการ “ด้น” อยู่กับปัญหา (อ้างถึงใน วิสุทธิ์, 2565) ในฐานะของการยินยอมที่จะเผชิญกับปัญหาเหล่านั้น และไม่จำยอมต่อสภาพที่ตนเองในระหว่างที่กำลังถูกกระทำ


เอกสารอ้างอิง

คงกฤช ไตรยวงค์. “เนรเทศ นิราศแห่งความลำเค็ญของคนอีสาน.” วารสารสงขลานครินทร์. 1.21 มกราคม-มีนาคม. 2558.

คำพูน บุญทวี. ลูกอีสาน .กรุงเทพฯ: โป๊ยเซียน. 2543.

ณัฏฐวรรธน์ คล้ายสมมุติ. “บ้านนอกในกรุง บ้านทุ่งในเมือง: ภาพแทนความเป็นชนบทในวรรณกรรมเรื่อง“เนรเทศ”.รายงานสืบเนื่องประชุมวิชาการอิเล็กทรอนิกส์ (E-Proceeding) งานสัมมนาเครือข่ายระดับบัณฑิตศึกษา สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ครั้งที่22. พิษณุโลก: ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยนเรศวร. 2566.

นิธิ เอียวศรีวงศ์. การเมืองของประวัติศาสตร์และความทรงจำ. กรุงเทพฯ: มติชน. 2545.

นิธิ เอียวศรีวงศ์. ความไม่ไทยของคนไทย. กรุงเทพฯ: มติชน. 2559.

ประเสริฐ แรงกล้า. บรรณาธิการ. ชีวิตทางสังคมในการเคลื่อนย้าย (Social live on the Move). กรุงเทพฯ: คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์). 2561.

ปิยนันท์ จินา, “ภู กระดาษ: “เครื่องมือของผมคือภาษา” เสียงแห่งความเป็นอื่นต้องมีที่ยืนในสังคมที่มีความหลากหลาย.” Way Magazine. https://waymagazine.org/phu-kradart/. เข้าถึงเมื่อ  22/1/2567.

ภู กระดาษ. เนรเทศ: นวนิยายที่สร้างจากความบิดเบี้ยวนับแต่ส่วนยอดของสังคมผลักดันให้คนชายขอบจำต้องระหกเหินไปตามเส้นทางแห่งชะตากรรม. กรุงเทพฯ: มติชน. 2557.

ลาว คำหอม. ฟ้าบ่กั้น: วรรณกรรมแห่งฤดูกาล รวมเรื่องสั้นว่าด้วยความยากไร้และคับแค้นของสังคมไทย. 2523.

วิสุทธิ์ เวชวราภรณ์. (ก)“ “การย้ายถิ่นศึกษา” กับมานุษยวิทยาในการย้ายถิ่น.” ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). https://www.sac.or.th/portal/th/article/detail/454. เข้าถึงเมื่อ  10/1/2567.

วิสุทธิ์ เวชวราภรณ์. (ข)“มานุษยวิทยากับการเคลื่อนย้าย: ความคิด การศึกษา และกระบวนทัศน์.” ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). https://www.sac.or.th/portal/th/article/detail/427. เข้าถึงเมื่อ 4/1/2567.

วิสุทธิ์ เวชวราภรณ์. “คน ด้น เมือง: วัฒนธรรมการเคลื่อนย้ายบนเส้นทางของรถเมล์สายหนึ่งในกรุงเทพมหานคร.” วิทยานิพนธ์สังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต สาขามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 2565.

สุเทพ สุนทรเภสัช. “ระบบอาณานิคมภายในกับภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: ตัวแบบเพื่อศึกษาความสัมพันธ์ทางด้านสังคมเศรษฐกิจ และการเมืองของอีสานกับรัฐบาลกลางของประเทศไทย.” ใน. มานุษยวิทยากับประวัติศาสตร์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ. 2548.


ผู้เขียน
ณัฏฐวรรธน์ คล้ายสมมุติ


 

ป้ายกำกับ เนรเทศ คนผลัดถิ่น เรื่องเล่า นวนิยาย การเคลื่อนย้าย ความเหลื่อมล้ำ อำนาจ ณัฏฐวรรธน์ คล้ายสมมุติ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share