การเคลื่อนย้ายกับการท่องเที่ยวที่แผ่ขยาย

 |  พื้นที่ การอพยพเคลื่อนย้าย และชายแดน
ผู้เข้าชม : 1410

การเคลื่อนย้ายกับการท่องเที่ยวที่แผ่ขยาย

           นอกจากประเด็นการย้ายถิ่นแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญอันนำไปสู่การตระหนักถึงการเคลื่อนย้ายในโลกปัจจุบันคือการท่องเที่ยวที่แพร่หลายอันเกิดจากการเดินทางที่เข้าถึงได้ในระดับชีวิตประจำวัน การท่องเที่ยวศึกษา (tourism studies) จึงถือกำเนิดขึ้นโดยเชื่อมโยงกับการเคลื่อนย้ายอย่างมีนัยสำคัญ เพราะการศึกษาการท่องเที่ยวเป็นการศึกษาการเคลื่อนย้ายของผู้คนไปยังสถานที่ต่าง ๆ โดยมีมิติอื่นเข้ามาประกอบอย่างหลากหลาย (Coles et al. 2004) มิติเหล่านี้ถูกศึกษาโดยสาขาวิชาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสังคมวิทยา มานุษยวิทยา ภูมิศาสตร์ ตลอดจนจิตวิทยา การท่องเที่ยวศึกษาโดยรวมจึงมีลักษณะเป็นการศึกษาแบบ สหสาขาวิชา ส่งผลให้การศึกษาการท่องเที่ยวมีลักษณะของการทำความเข้าใจความหมายเบื้องหลังแบบต่าง ๆ ของการเคลื่อนย้าย อันมีประเด็นการเดินทางเพื่อพักผ่อนหย่อนใจเป็นหมุดหมายหลัก

           ความเป็นมาของการท่องเที่ยวอาจย้อนกลับไปได้ที่ศตวรรษที่ 17 และ 18 ในทวีปยุโรป รูปแบบการท่องเที่ยวที่เรียกว่าแกรนด์ทัวร์ (grand tour) จำกัดวงแคบเฉพาะในกลุ่มขุนนางและชนชั้นสูงในทวีปยุโรป โดยผู้เดินทางมักเป็นคนหนุ่มที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาและกำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่หน้าที่การงานของวงศ์ตระกูล การเดินทางที่เรียกว่าแกรนด์ทัวร์ของคนกลุ่มนี้ เป็นการเดินทางท่องเที่ยวในยุโรปเพื่อสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต ฝึกภาษา เรียนรู้ศิลปะ และทักษะการเข้าสังคม อย่างไรก็ดี การท่องเที่ยวดังกล่าวมักเป็นการเดินทางโดยมีจุดหมายแฝงคือเพื่อใช้ชีวิตเสรีก่อนเข้ารับภาระหน้าที่หลังการเดินทางสิ้นสุด โดยทั่วไปแล้ว การเดินทางแบบนี้มักเป็นการเดินทางร่วมกับผู้ฝึกสอน (tutor) หรือสมาชิกครอบครัว รูปแบบการท่องเที่ยวเช่นนี้เผยให้เห็นถึงศักยภาพการเคลื่อนย้ายที่จำกัดในการเดินทางของผู้คนเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจที่ดำรงอยู่เฉพาะในกลุ่มชนชั้นสูง

           ภายใต้กรอบคิดเรื่องการเคลื่อนย้าย นักมานุษยวิทยา แฟรงคลิน เอเดรียน (Franklin Adrian) (2003; 2014) ชี้ให้เห็นการเปลี่ยนผ่านสำคัญของยุคสมัยที่การเคลื่อนย้ายด้วยจุดประสงค์ของการพักผ่อนหย่อนใจแผ่ขยายไปพร้อมกับพัฒนาการของเทคโนโลยีการเดินทาง ตลอดจนการเปลี่ยนผ่านของวัฒนธรรมการบริโภคในโลกสมัยใหม่ กล่าวคือนับตั้งแต่ช่วงกลางศตวรรษที่ 19 จนถึงกลางศตวรรษที่ 20 การแผ่ขยายของเทคโนโลยีเครื่องจักรไอน้ำ (steam technology) โดยเฉพาะรถไฟแบบรถจักรไอน้ำ นำไปสู่การเชื่อมต่อของพื้นที่โดยมีรางรถไฟเป็นตัวเชื่อม เครือข่ายของรางรถไฟเช่นนี้ก่อให้เกิดการเชื่อมโยงเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างภาคการตลาดและอุตสาหกรรม โทมัส คุก (Thomas Cook) นักธุกิจชาวอังกฤษเป็นผู้ริเริ่มกิจการนำเที่ยวผ่านการจัดการการท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบ การท่องเที่ยวที่แผ่ขยายนี้เป็นไปได้ด้วยพัฒนาการของเทคโนโลยีการเดินทางอย่างรถไฟซึ่งนำไปสู่แบบแผนการบริโภค วัฒนธรรม และความพึงพอใจที่การท่องเที่ยวมีวัตถุประสงค์ต่างไปจากแกรนด์ทัวร์

           นัยสำคัญของการเปลี่ยนแปลงนี้คือภาวะที่การท่องเที่ยวเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจกลายสภาพเป็นวัตถุประสงค์หลักของการเดินทางในตัวเอง เทคโนโลยีการเดินทางและการเชื่อมถึงกันของพื้นที่ผ่านเทคโนโลยีดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นของโลกาภิวัตน์ การสร้างสัญลักษณ์ของประเทศ ภูมิภาค และเมือง สำหรับการบริโภคของนักท่องเที่ยวเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ การเติบโตนี้ยังส่งผลต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอีกด้วย นอกจากนี้ การสร้างโรงแรม บ้านพักตากอากาศ และศูนย์กลางการคมนาคมขนส่ง กลายเป็นองค์ประกอบในสภาพแวดล้อมที่สร้างขึ้นของเมืองและพื้นที่ใหม่ ๆ สำหรับนักท่องเที่ยวใหม่ ไม่ว่าจะเป็นบ้านพักตากอากาศชายทะเล การตั้งแคมป์ใจกลางหุบเขา ตลอดจนอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์

           อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา สถานที่สำคัญ ๆ ในยุโรปถูกทำลายด้วยผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่สอง รสนิยมการท่องเที่ยวใหม่ ๆ ถือกำเนิดขึ้น จากการเดินทางเพื่อเยี่ยมชมสถานที่สวยงาม กลายสภาพเป็นการท่องเที่ยวในสถานที่และวัฒนธรรมที่แปลกตา (exotic) การเกิดขึ้นของทิกิบาร์ (Tiki bar) ในสหรัฐอเมริกาเกิดขึ้นโดยอ้างอิงถึงการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมแบบใหม่ซึ่งมีแนวโน้มไปทางสภาพภูมิอากาศเขตร้อนแบบหมู่เกาะโพลินีเซียน และมีการจัดการการท่องเที่ยวในลักษณะที่ยืดหยุ่นกว่าช่วงก่อนสงคราม สภาพการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นพร้อมกับภาวะที่การท่องเที่ยวมีค่าใช้จ่ายถูกลงด้วยเทคโนโลยีการเดินทาง โดยเฉพาะสายการบินราคาประหยัดตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา ในโลก โลกาภิวัตน์ การท่องเที่ยวกลายเป็นตัวอุปลักษณ์สำคัญของชีวิตทางสังคมในโลกสมัยใหม่ดังที่ซิกมันท์ บาวมัน (Zygmunt Bauman) (2000) เรียกว่าความเป็นสมัยใหม่ที่ลื่นไหลซึ่งขอบเขตกายภาพและนามธรรมอย่างพรมแดนและวัฒนธรรมถูกทำให้พร่าเลือนและข้ามไปข้ามมาได้

           ความเปลี่ยนแปลงนับตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมาไม่เพียงแต่ทำให้การท่องเที่ยวระหว่างประเทศแพร่หลายและเข้าถึงได้ง่ายขึ้นเท่านั้น แต่ยังทำให้นักท่องเที่ยวและสถานที่ทุก ๆ แห่งกลายเป็นแหล่งบริโภคเพื่อการท่องเที่ยว นั่นหมายความว่าลักษณะตรงข้ามที่เคยกำหนดการท่องเที่ยวในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 จนถึงกลางศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะที่บ้านและปลายทาง พื้นที่ในชีวิตประจำวันและการท่องเที่ยว ความคุ้นเคยและความแตกต่างเริ่มสลายลงเมื่อการท่องเที่ยวกลายเป็นรูปแบบของประสบการณ์ทางสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการกระจายเชิงพื้นที่มากขึ้น สภาวะโลกาภิวัตน์สร้างความจำเป็นและแรงผลักดันให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับสถานที่ในดินแดนอื่นซึ่งขยับขยายไปถึงการทำงานและการย้ายถิ่นฐาน

           จะเห็นได้ว่าการท่องเที่ยวสัมพันธ์กับรูปแบบของการพักผ่อนหย่อนใจที่เชื่อมโยงกับการเคลื่อนย้าย ทั้งในแง่ของการก่อรูปและถูกก่อรูปภายใต้ปฏิบัติการของการผลิตและการบริโภคการท่องเที่ยวในตัวเอง (Hall et al. 2004) การท่องเที่ยวจึงมีลักษณะเป็นการเคลื่อนย้ายที่มุ่งเน้นไปที่การพักผ่อนหย่อนใจ (leisure oriented mobility) อีกทั้งยังเกี่ยวโยงกับการทำความเข้าใจการเคลื่อนย้ายทั้งระดับมหภาคและจุลภาค การท่องเที่ยวในฐานะที่เป็นช่วงปฏิบัติการการเคลื่อนย้ายจึงแฝงไปด้วยประเด็นหลากหลายมิติซึ่งมุมมองแบบการเคลื่อนย้ายศึกษาได้เข้ามาชี้ให้เห็นการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเข้ากับบริบทของความสนใจในมิติต่าง ๆ ที่กว้างขวางขึ้นอันทำให้การพักผ่อนหย่อนใจดำเนินไปพร้อมกับการเดินทางของผู้คน


รายการอ้างอิง

Coles, T. E. 2004. Tourism, Diaspora, and Space. London: Routledge.

Hall, C. M. 2005. Tourism: Rethinking the Social Science of Mobility. Harlow: Prentice Hall.

Franklin, A. 2003. Tourism: An Introduction. London: Sage.

Bauman, Z. 2000. Liquid Modernity. Cambridge: Polity.

Franklin, A. 2014. Tourism Studies. Routledge Handbook of Mobilities, Peter Audey et al. (Eds). New York: Routledge.


ผู้เขียน

วิสุทธิ์ เวชวราภรณ์
นักวิจัย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ การเคลื่อนย้าย การท่องเที่ยว วิสุทธิ์ เวชวราภรณ์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share