วิกฤตในวงการประเมินความรู้ (Peer Review Crisis)

 |  วัฒนธรรมร่วมสมัย
ผู้เข้าชม : 2466

วิกฤตในวงการประเมินความรู้ (Peer Review Crisis)

กฎที่แข็งตัวในการอ่านและประเมินบทความ

           โลกวิชาการอิงแอบอยู่กับการอาศัยทัศนะและความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชาการต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นกลไกและเครื่องมือสำหรับการตรวจสอบและประเมินคุณภาพงานวิชาการ (DeLisi, 2022) ถึงแม้ว่าการอิงแอบจะเป็นหลักประกันและตัวชี้วัดถึงมาตรฐานงานวิชาการ แต่สิ่งที่ไม่ถูกพูดถึงคือความคิดและทัศนะของผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้คือสิ่งที่น่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด ตัวอย่างเช่นการคัดเลือกและสรรหาผู้เชี่ยวชาญมาอ่านและให้ความเห็นต่อบทความเพื่อตีพิมพ์ในวารสาร ในบางกรณีกองบรรณาธิการและเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบการส่งบทความไปให้ผู้เชี่ยวชาญอ่านอาจเลือกบุคคลที่ไม่มีองค์ความรู้หรือไม่เข้าใจเนื้อหาทางวิชาการ ส่งผลให้การแสดงความคิดเห็นไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้เขียนบทความ (Tennant & Ross-Hellauer, 2020)

           ตัวอย่างในต่างประเทศ Moin Syed (2023) แสดงความรู้สึกต่อปัญหานี้ว่าบรรณาธิการวารสารค่อนข้างหาผู้เชี่ยวชาญที่เหมาะสมได้ยาก บทความจำนวนมากที่ส่งเข้าในพิจารณาต่างมีกรอบความคิดและกระบวนทัศน์ที่หลากหลาย เมื่อไม่สามารถหาผู้อ่านบทความที่ตรงกับเนื้อหาของบทความได้ จึงส่งผลกระทบต่อขั้นตอนการตีพิมพ์เผยแพร่บทความ บางครั้งต้องใช้เวลายาวนานมากเพื่อที่จะหาผู้เชี่ยวชาญอ่านบทความ แต่ปัญหาเรื่องใช้เวลานานเป็นเพียงส่วนหนึ่งของระบบ Syed (2023) ยกตัวอย่างจากประสบการณ์ตนเองที่ส่งบทความระดับปริญญาเอกไปที่วารสารแห่งหนึ่ง แต่ใช้เวลานานถึง 7 เดือนในการหาผู้เชี่ยวชาญอ่านบทความของเขา เขาพยายามติดต่อสอบถามไปยังบรรณาธิการถึง 2 ครั้งเพื่อที่จะได้รับทราบว่ามีผู้อ่านบทความของเขาแล้ว

           กลุ่มเพื่อนและคนรู้จักของ Syed ต่างพูดในทำนองเดียวกันว่าประสบปัญหาความล่าช้าของขั้นตอนส่งบทความไปให้ผู้เชี่ยวชาญอ่าน ในอีกด้านหนึ่งนักวิชาการที่ถูกเชิญให้เป็นผู้อ่านบทความก็ต้องประสบปัญหามีงานล้นมือ เพราะมีบทความจำนวนมากที่ส่งมาให้อ่านในเวลาอันสั้น จนทำให้ไม่สามารถอ่านบทความได้ตามกำหนด เช่นเดียวกับบรรณาธิการวารสารที่ต้องแสวงหาผู้อ่านบทความให้ทันกับกำหนดเวลาตีพิมพ์วารสาร บางครั้งจะได้รับการปฏิเสธจากผู้เชี่ยวชาญ ทำให้ต้องหาคนใหม่มาอ่านบทความ สิ่งนี้สะท้อนปัญหาโครการของระบบวิชาการที่ผลักดันและสร้างตัวชี้วัดว่านักวิชาการต้องตีพิมพ์บทความเพื่อการสำเร็จการศึกษาและเลื่อนตำแหน่งทางวิชาการ (Rennie, 2003)

           ในระบบที่ต้องเร่งรัดการตีพิมพ์บทความ ทำให้สถาบันต่าง ๆ ผลิตวารสารของตนเองขึ้นมาเพื่อใช้เป็นสื่อสำหรับตีพิมพ์บทความของหน่วยงาน ปัจจุบันจึงพบวารสารจำนวนมากเกิดขึ้นตลอดเวลา (Petrescu & Krishen, 2022) ปัญหานี้ยิ่งซ้ำเติมการไม่สามารถหาผู้อ่านบทความได้เหมาะสมและทันต่อเวลา ปัญหาอีกประการหนึ่งคือ บรรณาธิการบางคนอาจส่งบทความที่ผ่านการแก้ไขแล้วกลับไปยังผู้ประเมินซ้ำหลายรอบ ทำให้เกิดความล่าช้าในการตีพิมพ์ (Syed, 2023) ในกรณีนี้ อาจเนื่องมาจากการเข้มงวดเรื่องเล็กน้อย เช่น การสะกดคำผิด หรือการเขียนอ้างอิงผิดรูปแบบที่กำหนด ผู้ประเมินอาจส่งกลับไปให้ผู้เขียนแก้ซ้ำ และเมื่อพบคำผิดอีก ก็จะส่งกับไปแก้ไขอีก บางครั้งขั้นตอนเหล่านี้กองบรรณาธิการอาจดำเนินการแก้ไขเองโดยไม่ต้องส่งให้ผู้เขียนบทความแก้

           ปัจจุบัน การค้นหาผู้เชี่ยวชาญเพื่อเชิญมาเป็นผู้อ่านและประเมินบทความ สามารถทำได้หลายช่องทาง ทั้งเลือกจากรายชื่อที่อยู่ในฐานข้อมูลผู้ประเมินบทความ ค้นหาจากายชื่อนักวิชาการที่ถูกอ้างอิงในบทความวิชาการ ติดต่อเชิญจากคนที่คุ้นเคยและรู้จักในแวดวงวิชาการ หรือได้รายชื่อแนะนำจากผู้เขียนบทความ การตัดสินใจเลือกผู้อ่านบทความจึงเป็นดุลยพินิจและความคิดของบรรณาธิการซึ่งบางครั้งเลือกคนที่ตนเองคุ้นเคยแม้ว่าคน ๆ นั้นจะไม่มีความรู้หรือไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในประเด็นที่ปรากฎอยู่ในบทความ กรณีประเทศตะวันตก บรรณาธิการวารสารมักจะเลือกนักวิชาการที่มีชื่อเสียงมากกว่าจะเลือกจากนักวิชาการรุ่นใหม่หรืออยู่ในประเทศที่กำลังพัฒนา Syed (2023) กล่าวว่าการที่วารสารมีรายชื่อผู้เชี่ยวชาญไว้ในฐานข้อมูลสำหรับผู้อ่านและประเมินบทความ อาจปิดกั้นมิให้นักวิชาการรุ่นใหม่หรือหน้าใหม่เข้ามาช่วยอ่านบทความ

           Petrescu และ Krishen (2022) กล่าวว่านักวิชาการที่ถูกเชิญให้อ่านบทความประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์จะตอบปฏิเสธ เพราะว่าพวกเขาไม่มีความรู้และไม่คุ้นเคยกับเนื้อหาในบทความ สิ่งนี้สะท้อนว่าบรรณาธิการวารสารมักจะเลือกผู้เชี่ยวชาญที่ไม่สอดคล้องกับความรู้ที่ผู้เขียนบทความนำเสนอ บรรณาธิการมักจะเลือกนักวิชาการที่ตนเองคุ้นเคยเป็นอันดับแรก ถ้าบทความถูกส่งไปให้ผู้ที่มีไม่ความรู้พอก็จะเสี่ยงต่อการให้คำแนะนำที่ไม่เป็นประโยชน์และไม่ตรงกับเนื้อหาของบทความ (misinformed feedback) การแสดงความคิดของผู้อ่านและประเมินบทความจึงอ่านทำให้เกิดความเข้าใจที่ไม่ตรงกันกับผู้เขียน (Parletta, 2021)

           Awati (2023) ให้ความเห็นว่าในกรณีที่ผู้อ่านและประเมินบทความไม่มีความรู้ตรงกับเนื้อหาของบทความและพยายามให้ความคิดเห็นตามทัศนคติและกระบวนทัศน์ของตัวเอง บางครั้งส่งผลให้มีการแก้ไขบทความแบบรื้อขนานใหญ่ บางกรณีจะพบว่าผู้อ่านบทความ 2- 3 คนอาจให้ความเห็นต่อบทความเดียวกันไปคนละทิศละทาง บางคนอาจพอใจกับบทความ แต่บางคนอาจแสดงความเห็นเชิงลบต่อบทความ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ผู้เขียนบทความจึงรู้สึกประหลาดใจและสับสนว่าความเห็นที่ต่างกันนี้จะบ่งบอกคุณภาพของบทความได้อย่างไร หากย้อนไปดูขั้นตอนการเลือกผู้อ่านและประเมินบทความ ถ้าเลือกคนที่ไม่มีความรู้ก็ย่อมเสี่ยงที่คน ๆ นั้นจะอ่านบทความไม่เข้าใจและให้ความเห็นในเชิงลบ บางคนอาจใช้กระบวนทัศน์ของตนเองมาตัดสินคุณภาพของบทความ


กระบวนทัศน์วิทยาศาสตร์ที่ชี้นำ

           ประเด็นที่น่าคิดคือ วัฒนธรรมของการอ่านและประเมินบทความวิชาการ ก่อตัวและมีจุดกำเนิดจากแวดวงการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ (Deslandes & Moura da Silva, 2013) การประเมินของผู้เชี่ยวชาญจึงเป็นกิจกรรมทางวิทยาศาสต์ (scientific activity) จะเห็นได้จากรูปแบบของบทความทางวิทยาศาสตร์ที่ประกอบด้วยหัวข้อที่เป็นมาตรฐานตายตัว (Tropini et al., 2023) ได้แก่ บทนำ ระเบียบวิธีวิจัย สมมติฐาน กลุ่มตัวอย่าง การอภิปรายผล และบทสรุป โครงสร้างของบทความทางวิทยาศาสตร์บ่งชี้ว่าผู้เขียนบทความจำเป็นต้องแจกแจงและอธิบายทุกอย่างด้วยเหตุผลและข้อมูเชิงประจักษ์ โดยเฉพาะการอธิบายกลุ่มตัวอย่างที่ศึกษา จำนวนประชากรที่ศึกษา และวิธีการประมวลข้อมูลตามหลักการทางสถิติและวิทยาศาสตร์ ดังนั้น บทความทางวิทยาศาสตร์จึงจำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบและประเมินความถูกต้องของระเบียบวิธีวิจัยและการประมวลผล จะเห็นได้ว่าแบบฟอร์มและข้อกำหนดในหัวข้อที่ผู้เชี่ยวชาญต้องอ่านและประเมินจะระบุชัดเจนว่าการอธิบายที่ปรากฎถูกต้องและน่าเชื่อถือตามหลักวิทยาศาสตร์หรือไม่

           กรอบในการอ่านและประเมินบทความในแนวนี้ ทำให้การตัดสินคุณภาพบทความวางอยู่บนหลักคิดของ “ความถูก-ผิด” ซึ่งอาจใช้ไม่ได้กับบทความที่ใช้การอธิบายความผ่านประสบการณ์ชีวิตและมุมมองเชิงสังคมและวัฒนธรรม บทความทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์บางสาขา เช่น มานุษยวิทยา ปรัชญา และการวิพากษ์องค์ความรู้อาจใช้กรอบการประเมินที่มีหัวข้อตายตัวแบบวิทยาศาสตร์ไม่ได้ เป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่งถ้าบรรณาธิการวารสารด้านสังคมศาสตร์จะยอมรับกรอบการประเมินตามบรรทัดฐานทางวิทยาศาสตร์ เพราะธรรมชาติของการสร้างความรู้และการทำความเข้าใจความจริงเกี่ยวกับโลกของสังคมศาสตร์มิได้วางอยู่บนตรรกะเดียวกันกับวิทยาศาสตร์

           เป้าหมายของการอ่านประเมินบทความในแวดวงวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่สิ่งเดียวกับสังคมศาสตร์ โดยเฉพาะการประเมินเพื่อตรวจสอบความถูกต้องทางสถิติและวิธีการศึกษาที่ถูกควบคุมในห้องทดลอง การค้นหาความผิดจากข้อมูล วิธีวิจัย และการประมวลผลข้อมูลจึงเป็นเรื่องใหญ่สำหรับวิทยาศาสตร์ เพราะถ้าผู้วิจัยนำเสนอข้อมูลที่ไม่ตรงกับความจริงจะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือ เช่น การประเมินเพื่อบ่งชี้ว่ามีข้อมูลเพียงพอและน่าเชื่อถือหรือไม่ ข้อมูลของวิทยาศาสตร์จำเป็นต้องวัดได้และตรวจสอบได้เป็นรูปธรรม เช่น จำนวน ปริมาณ ความจุ ความถี่ ฯลฯ ข้อมูลเหล่านี้คือความจริงเชิงวัตถุที่ผู้ประเมินจะต้องตรวจสอบ ในขณะที่คำอธิบายทางสังคมศาสตร์เป็นเรื่องของการตั้งคำถามเกี่ยวกับประสบการณ์และความรู้สึกของมนุษย์ สิ่งนี้ไม่สามารถตัดสินได้ว่าจำนวนประสบการณ์มากน้อยแค่ไหนถึงเพียงพอต่อการสรุปผลการศึกษา ไม่สามารถตัดสินได้ว่าประสบการณ์ของใครถูกหรือผิด ดังนั้น การตีความประสบการณ์ของมนุษย์จึงมิใช่การหาข้อสรุปที่ตายตัวเชิงสถิติ

           Deslandes และ Moura da Silva (2013) ตั้งข้อสังเกตว่าหลักการพื้นฐานของการอ่านและประเมินบทความคือ การสนับสนุนและสร้างความร่วมมือของเครือข่ายนักวิชาการที่กำลังทำงานในประเด็นที่สนใจร่วมกัน แต่กลไกปัจจุบันที่เกิดขึ้นในระบบวารสารวิชาการถูกชี้นำด้วยวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ การอ่านและประเมินบทความทางสังคมศาสตร์จึงค่อนข้างเปราะบาง ถ้าผู้เชี่ยวชาญใช้กรอบคิดวิทยาศาสตร์อาจประเมินบทความด้วยการตัดสินถูกผิด นำไปสู่ข้อขัดแย้งระหว่างผู้เขียนและผู้อ่านบทความ ทั้งนี้ ความคิดเห็นของผู้อ่านและประเมินบทความอาจมิได้มีความเป็นกลางเสมอไป ขึ้นอยู่กับโลกทัศน์ จุดยืนทางวิชาการ การเปิดและปิดทางความคิด ความเร่งรีบในการอ่าน เป็นต้น (Lee et al., 2013)


การประเมินบทความทางมานุษยวิทยา

           ในแวดวงมานุษยวิทยา Reeves (2022) แสดงความเห็นเกี่ยวกับผู้อ่านและประเมินบทความว่าเป็นผู้ที่ช่วยประคับประคองและช่วยเหลืออย่างใส่ใจต่อผู้เขียนบทความ (affective practice of care) ทำหน้าที่เสมือนเป็นเพื่อนร่วมคิด (co-thinking) และทำงานไปกับผู้เขียน (form of accompaniment) ซึ่งเป็นนักมานุษยวิทยาที่กำลังนำข้อมูลภาคสนามมาอธิบายด้วยกรอบคิดทฤษฎีบางอย่าง เนื่องจากวิธีการสร้างความรู้ทางมานุษยวิทยาเป็นการค้นหา “ช่องว่างของความรู้” ที่ยังไม่มีการกล่าวถึงหรือถูกมองข้ามไปจากศาสตร์อื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ข้อมูลภาคสนามกับการใช้ทฤษฎีคือช่องว่างที่เกิดขึ้นเสมอ รวมทั้งประสบการณ์ตรงในพื้นที่กับการสะท้อนออกมาเป็นภาษาเขียนทางวิชาการ ข้อแตกต่างระหว่างสิ่งที่เคยเป็นมากับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นใหม่ ช่องว่างต่าง ๆ นี้คือความท้าทายของการสร้างความรู้ทางมานุษยวิทยา บทบาทของผู้อ่านและประเมินข้อเขียนทางมานุษยวิทยาจึงต่างไปจากการค้นหาความถูกผิด แต่เป็นการตระหนักรู้ว่าประสบการณ์ของผู้เขียนต่างไปจากประสบการณ์ของผู้อ่านประเมิน

           การให้ความคิดเห็นต่อบทความทางมานุษยวิทยา มิใช่การชี้สิ่งที่ขาดตกบกพร่องในงานเขียน แต่เป็นการคิดอย่างลึกซึ้งว่าการอธิบายของบทความควรเสนอแง่มุมความรู้ใดบ้าง โดยที่ความรู้นั้นไม่เคยถูกกล่าวถึงมาก่อน (Reeves, 2022) ผู้อ่านและประเมินจำเป็นต้องยืนเคียงข้างผู้เขียนและทำความเข้าใจความคิดของผู้เขียน มิใช่การตำหนิและกล่าวโทษสิ่งที่ผู้เขียนกำลังอธิบาย (Baraitser, 2017) นักมานุษยวิทยา Marilyn Strathern (2008) เคยตั้งข้อสังเกตว่าการอ่านและประเมินบทความวิชาการของผู้เชี่ยวชาญคือความน่าสะพรึงกลัวและน่าตื่นตระหนกในวงวิชาการปัจจุบัน Strathern กล่าวว่าเมื่อเธอเขียนบทความครั้งแรกราว 50 ปีที่แล้ว ปัจจุบันความน่ากลัวในวงการประเมินบทความก็ยังมีอยู่และมีมากขึ้น การทำหน้าที่ผ่านและประเมินบทความดูเหมือนจะเป็นความพยายามของระบบที่ต้องการจะตัดสิ่งว่าบทความที่ดีเป็นอย่างไรและใครที่ทำไม่ได้ก็จะถูกตำหนิจนสูญเสียความมั่นใจและพบกับความสิ้นหวัง

           เป็นเรื่องยากสำหรับผู้เขียนบทความวิชาการที่ต้องนำเสนอความรู้ใหม่ที่ต่างไปจากเดิม ในการแสวงหาคำอธิบายหรือกรอบแนวคิดที่น่าสนใจมาอธิบายปรากฎการณ์สังคมคือเรื่องที่ซับซ้อน ไม่เหมือนกับการค้นหาความจริงทางวิทยาศาสตร์ที่อาศัยการทดลองและควบคุมตัวแปรต่าง ๆ ในทางตรงกันข้าม ความรู้ทางมานุษยวิทยาเต็มไปด้วยช่องว่างมากมาย ไม่มีใครรู้ได้ว่าจะอุดช่องว่างนี้ด้วยความรู้แบบไหน (Strathern, 2008) ในประเด็นนี้ Reeves(2022) อธิบายว่าการเขียนคืออารมณ์ที่ขุ่นมัว ผู้เขียนไม่รู้ว่าสิ่งที่เขียนคือความรู้ที่จะทำให้เกิดความเข้าใจใหม่หรือไม่ แต่พยายามค้นคว้าคำอธิบายที่แตกต่างไปจากเดิม ดังนั้น ผู้ที่ช่วยอ่านบทความจึงเสมือนผู้ที่เข้ามาสนับสนุนให้ผู้เขียนเห็นประเด็นที่นำไปเขียนได้ เหมือนหาบันไดให้กับผู้ที่ตกไปในหลุมปีนขึ้นมาได้ การจุดประกายความคิดจึงเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับการอ่านและประเมินบทความ การเป็นผู้ชี้แนะเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากกว่าการเป็นผู้ตำหนิติเตียน (Strathern, 2008)

           Reeves (2022) กล่าวว่าการจุดประกายความคิดจากผู้อ่านบทความ คือความพยายามที่จะส่งเสริมและช่วยเหลือให้ผู้เขียนสามารถเดินทางไปในโลกวิชาการได้ ถึงแม้ว่าผู้เขียนจะนำเสนอประเด็นที่ไม่ตรงกับโลกทัศน์ของผู้อ่านก็ตาม แต่การส่งเสริมผู้เขียนคือการให้ทางเลือก ให้อิสระกับผู้เขียนที่จะเห็นต่าง รวมทั้งทำให้เข้าใจสถานการณ์ของการเขียนที่ยุ่งยากที่ผู้เขียนกำลังพิจารณาอย่างละเอียด การทำให้ผู้เขียนสามารถใช้ความคิดของตนเพื่อสร้างสรรค์บทความคือกระบวนการสำคัญ “การอยู่เคียงข้าง” (being with) จึงเป็นสิ่งที่สำคัญของผู้อ่านและประเมินบทความ

           ปัจจุบัน วงการอ่านและประเมินบทความของวารสารเต็มไปด้วยความเย็นชา แข็งกระด้างและสร้างผลกระทบทางจิตใจให้กับผู้เขียนและผู้อ่านบทความ บทความจำนวนมากที่เผยแพร่ออกมาจึงเต็มไปด้วยทัศนคติที่ผู้ประเมินบทความได้ตัดสิน ชี้นำ และควบคุมให้เป็นไปตามความเชื่อของตน ผู้เขียนไม่ค่อยมีโอกาสสร้างสรรค์ความคิดของตนเองในบทความเท่าใดนัก เพราะถ้าไม่แก้ไขตามคำวามเห็นของผู้ประเมิน บทความนั้นก็จะถูกปฏิเสธ Reeves (2022) เล่าถึงความรู้สึกของเขาเมื่อได้รับความเห็นจากผู้ประเมินที่เขียนกลับมาว่า “งานที่ไร้สาระและโง่เขลา” พร้อมกับคำตำหนิจำนวนมากที่เขียนลงไปในบทความ ทำให้รู้สึกชาไปทั้งตัว Reeves (2022) ค้นพบว่าความรู้สึกของผู้ประเมินบทความนั้นอาจจะมาจากความไม่เห็นด้วยกับวิธีการนำเสนอหรือรูปแบบที่ไม่คุ้นชิน ส่งผลให้ผู้ประเมินตำหนิและแสดงความรู้สึกไม่พอใจ

           ในความคิดของ Reeves (2022) ระบบการอ่านและประเมินบทความที่เป็นอยู่ในปัจจุบันยังมีข้อจำกัดอยู่มากเพราะมันทำให้ผู้เชี่ยวชาญที่อ่านบทความได้รับสิทธิเต็มที่ในการวิจารณ์และไม่เปิดเผยตัวตน โดยคำวิจารณ์เชิงลบและไม่สร้างสรรค์เหล่านั้นได้ทำให้ผู้เขียนจิตตกและสิ้นหวัง ยิ่งทำให้ผู้ประเมินบทความไม่ต้องเปิดเผยตัวเองมากเท่าใด คำวิจารณ์เชิงลบที่เยียบย่ำจิตใจก็จะมีมากขึ้นเท่านั้น Reeves (2022) พิจารณาว่าผู้อ่านและประเมินบทความควรเขียนอธิบายว่าความเห็นของต้นเป็นเพียงคำแนะนำ มิใช่การบังคับให้เชื่อและต้องทำตาม การทำความเข้าใจความคิดของผู้เขียนจึงเป็นสิ่งสำคัญ ประเด็นที่ผู้เขียนอธิบายไม่ควรถูกตัดสินว่าถูกหรือผิด หรือตำหนิว่าเป็นสิ่งที่ใช่ไม่ได้ บางครั้งผู้ประเมินกำหนดให้ผู้เขียนเพิ่มประเด็นที่อยู่นอกเหนือขอบเขตของบทความจนทำให้กลายเป็นเรื่องที่ขยายกว้างออกไป ผู้ประเมินควรให้ข้อแนะนำที่ตรงกับคำอธิบายของผู้เขียน

           Reeves (2022) กล่าวว่าการอ่านและประเมินบทความควรจะเป็นการสร้างโอกาส เป็นการแลกเปลี่ยนระหว่างผู้เขียนกับผู้อ่าน เป็นการขยายพรมแดนความรู้ที่อยู่นอกกฎระเบียบทางวิชาการ เพื่อทำให้ผู้เขียนบทความสามารถนำเสนอความคิดเห็นที่แตกต่าง หรือทำให้ผู้เขียนเห็นแนวทางใหม่ ๆ ที่อาจไม่เคยคิดมาก่อน สิ่งสำคัญคือ เป็นโอกาสที่จะทำให้เห็นช่วงชั้นความรู้ที่กำลังทับถมและก่อตัวในการศึกษาทางมานุษยวิทยา ซึ่งผู้เขียนบทความกำลังต่อจิ๊กซอว์เหล่านั้นขึ้นมา


เอกสารอ้างอิง

Awati, M. (2023). Tips for responding to peer reviewers. Retrieved from https://www.editage.com/insights/tips-for-responding-to-peer-reviewers

Baraitser, L. (2017). Enduring Time. London and New York: Bloomsbury.

Deslandes, S.E., & Moura da Silva, A. A. (2013). Peer review: demand-side crisis or change of values? Cadernos de Saúde Pública, Rio de Janeiro, 29(3), 421-423.

DeLisi, L.E. (2022). Editorial: Where have all the reviewers gone?: Is the peer review concept in crisis? Psychiatry Research, 310.

Lee, C.J, Sugimoto. C.R, Zhang. G., & Cronin, B. (2013). Bias in peer review. Journal of the Association for Information Science and Technology, 64, 2–17.

Parletta, N. (2021). How to respond to difficult or negative peer-reviewer feedback. Retrieved from https://www.nature.com/nature-index/news/how-to-respond-difficult-negative-peer-reviewer-feedback

Petrescu, M., & Krishen, A. (2022). The evolving crisis of the peer-review process. Journal of Marketing Analytics, 10(2), 185-186.

Reeves, M. (2022). Falling into the Gaps, Together: On Peer Review as Intellectual Accompaniment. Polar, 45(1), 119-123.

Rennie, D. (2003). Editorial peer review: its development and rationale. Peer review in health sciences, 2, 1–13.

Strathern, M. (2008). Outside Desk-Work: A Reflection from Marilyn Strathern. Journal of the Royal Anthropological Institute, 21(1), 244–245.

Syed, M. (2023). The “Peer Review Crisis” and How to Solve It. Retrieved from https://getsyeducated.substack.com/p/the-peer-review-crisis-and-how-to

Tennant, J.P., & Ross-Hellauer, T. (2020). The limitations to our understanding of peer review. Research Integrity and Peer Review volume, 5(6). Retrieved from https://researchintegrityjournal.biomedcentral.com/articles/10.1186/s41073-020-00092-1

Tropini, C. et al. (2023). Time to rethink academic publishing: the peer reviewer crisis. mBio® 14(6):e0109123


ผู้เขียน
ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ วิกฤต การประเมินความรู้ Peer Review Crisis ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา