มานุษยวิทยากับการหันมามอง “ความไม่รู้”

 |  แนวคิด ทฤษฎีมานุษยวิทยา
ผู้เข้าชม : 1428

มานุษยวิทยากับการหันมามอง “ความไม่รู้”

           ความไม่รู้ (ignorance) เป็นสภาวะของการขาดความรู้ซึ่งมีอยู่หลายรูปแบบ ตั้งแต่ความบริสุทธิ์ไร้เดียงสา ความไม่สามารถเข้าถึง รับรู้ หรือเข้าใจข้อมูลบางอย่างได้ ตลอดไปจนถึงการติดอยู่ในจิตสำนึกที่ผิดพลาดซึ่งเป็นผลมาจากจุดยืนทางอุดมการณ์บางอย่าง รูปแบบที่หลากหลายของความไม่รู้นี้อาจมีมิติที่เหลื่อมซ้อนกันได้จากคุณลักษณะบางประการที่ก้ำกึ่งหรือไม่อาจแบ่งแยกได้ชัดเจน (Gershon & Raj 2000) อย่างไรก็ตาม สมมติฐานเบื้องต้นของความสัมพันธ์ระหว่างรูปแบบต่าง ๆ ของความไม่รู้มักเริ่มต้นจากความไร้เดียงสาไปสู่การเข้าถึง รับรู้ และทำความเข้าใจข้อมูลบางอย่างจนเกิดเป็นแนวคิดที่ซับซ้อน ซึ่งแนวคิดดังกล่าวอาจให้ผลย้อนกลับในการแยกตัวเราออกจากการเข้าถึง รับรู้ และทำความเข้าใจข้อมูลอีกอย่างจนกลายเป็นความไร้เดียงสาได้ในทางกลับกัน ผลลัพธ์ของการพิจารณาความสัมพันธ์ของความไม่รู้แบบต่าง ๆ ในข้างต้นนี้ฉายให้เห็นว่า ความไม่รู้อาจไม่ใช่สภาวะที่แน่นิ่งของการขาดข้อมูลซึ่งรอให้ความรู้ที่เป็นวัตถุวิสัยเข้ามาถมเติม แต่เป็นกลไกที่มีพลวัตอันเกี่ยวเนื่องกับความรู้ในตัวของมันเอง

           ในระบบความคิดทางปรัชญา ทฤษฎีความรู้ หรือ ญาณวิทยา (epistemology) ซึ่งว่าด้วยการแสวงหาและเข้าถึงความรู้ ถูกนำเสนอขึ้นโดยเจมส์ เฟรเดอริก เฟอร์ริเออร์ (James Frederick Ferrier) ในขณะที่ทฤษฎีความไม่รู้ ซึ่งถูกสร้างขึ้นมาให้เป็นคู่ตรงข้ามของทฤษฎีความรู้ คือ agnoiology (ไม่พบคำแปลในภาษาไทย) เพื่ออธิบายความไม่รู้ กลับไม่แพร่หลายเท่าใดนัก (Gershon & Raj 2000) การเพิกเฉยหรือไม่สนใจความไม่รู้เช่นนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสมมติฐานที่ว่าความไม่รู้เป็นปริมณฑลอันว่างเปล่าที่ไม่มีอะไรน่าสนใจ นอกจากนี้ การเปรียบเปรยความไม่รู้ผ่านความมืดบอดยังได้สร้างความหวาดกลัวต่อความไม่รู้ เช่นเดียวกับการเปรียบเปรยให้ความรู้เป็นแสงสว่างนำทางให้กับผู้คนและขับเคลื่อนประวัติศาสตร์ของมนุษย์ ทำให้ความรู้ถูกให้คุณค่ามากกว่าความไม่รู้ ศาสตร์สมัยใหม่จึงให้ความสำคัญกับการสร้างความรู้และมุ่งตรวจสอบเพื่อกำจัดข้อผิดพลาด รวมถึงส่งผ่านความรู้ของศาสตร์นั้น ๆ ไปสู่การลดช่องว่างของความไม่รู้ในยุคสมัยต่อ ๆ ไป (Mair et al. 2012)

           ในทำนองเดียวกัน ความรู้ในวิชามานุษยวิทยาวางอยู่บนความรู้ความเข้าใจโลกทัศน์ของคนอื่น กล่าวได้ว่า ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับคนอื่นถูกแสวงหาเพื่อเติมเต็มช่องว่างของความไม่รู้ โดยที่ความรู้ในวิชามานุษยวิทยาดังกล่าวเป็นการสะสมเพิ่มพูนขึ้นของสิ่งที่ผู้คนที่ถูกศึกษาอธิบายว่าโลก จักรวาลทัศน์ ความสัมพันธ์ทางสังคม ตลอดจนสิ่งต่าง ๆ ในการใช้ชีวิตเป็นไปอย่างไร รอย ดิลลีย์ (Roy Dilley) (2010) บอกว่าปัญหาสำคัญของการค้นคว้าทางมานุษยวิทยาคือการมุ่งค้นหาว่าความรู้ทางวัฒนธรรมของผู้คนถูกสื่อสาร ส่งผ่าน และเผยแพร่อย่างไร โดยไม่สนใจอีกด้านหนึ่งของความรู้ นั่นคือ ความไม่รู้ ในขณะที่ความรู้ถูกพิจารณาว่าเป็นผลผลิตสำคัญของการสร้างและพัฒนาที่ค้ำจุนสังคม ความไม่รู้ถูกพิจารณาว่าเป็นปรากฏการณ์เชิงลบซึ่งเป็นปัญหาต่อความก้าวหน้าและไม่นำไปสู่การสร้างสิ่งใหม่ ลักษณะของความไม่รู้จึงไม่ใช่สิ่งอื่นใดนอกเสียจากการขาดความรู้ซึ่งเป็นปัญหา อย่างไรก็ดี การศึกษาทางมานุษยวิทยาระยะหลังเริ่มหันมาสนใจและตั้งคำถามกับความไม่รู้มากขึ้นในแง่ที่ความไม่รู้ไม่เพียงเป็นผลมาจากการขาดความรู้แต่เพียงเท่านั้น

           ดิลลีย์ (2010) เสนอให้มองว่าความไม่รู้เป็นองค์ประกอบส่วนสร้างของความรู้ ไม่ใช่เพียงแค่ด้านตรงข้าม แต่ยังช่วยสร้างบทสนทนาระหว่างกันด้วย หากความรู้ถูกสื่อสาร ส่งผ่าน และแพร่กระจาย ความรู้นั้นย่อมเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการที่ถูกขับเคลื่อนด้วยศักยภาพของความไม่รู้ ยิ่งไปกว่านั้น หากทั้งความรู้และความไม่รู้เป็นองค์ประกอบบส่วนสร้างซึ่งกันและกัน ทั้งสองย่อมเป็นผลลัพธ์ของทั้งการรู้และการแสวงหาความรู้ การทำงานภาคสนามของนักมานุษยวิทยาเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจซึ่งอนุญาตให้ความไม่รู้ของตนเองกลายเป็นยุทธศาสตร์ในการเรียนรู้ เข้าไปแฝงตัว และทำความเข้าใจคนอื่น ในทัศนะเช่นนี้ ความไม่รู้จึงไม่ใช่หลุมดำที่ว่างเปล่า แต่เป็นแรงขับให้เกิดผลผลิต การค้นคว้า และการแสวงหาความรู้ใหม่ ๆ ตลอดจนสร้างภาวะก้ำกึ่งของความรู้และความไม่รู้เพื่อปลดปล่อยตนเองออกจากพันธะของความยึดมั่นถือมั่นในความรู้บางแบบ

           การศึกษาชาวบักตามาน (Baktaman) ในนิวกินีของฟรีดิก บาร์ธ (Fredik Barth) (1975) ให้ความสนใจกับการส่งผ่านความรู้ลับ ๆ (secret knowledge) ในกระบวนการตระหนักรู้ที่นำไปสู่ปฏิบัติการทางสังคม (social praxis) ในขณะที่ผู้หญิงชาวบักตามานมีบทบาทในการสนับสนุน มีเพียงผู้ชายที่มีส่วนร่วมในการส่งผ่านความรู้ เด็กผู้ชายจะได้รับการบอกต่อข้อมูลและการทดสอบต่าง ๆ เพื่อเปลี่ยนผ่านไปเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์และเข้าร่วมกลุ่มย่อย (cult) เพื่อทำหน้าที่ต่าง ๆ เช่น การเพาะปลูก การล่าสัตว์ และการทำสงคราม การผลิตซ้ำ (replication) ข้อมูลที่ถูกส่งผ่านกันมาเกิดเป็นความรู้ซึ่งปราศจากคำอธิบายประกอบ (exegesis) ผู้ที่ได้รับความรู้นั้นมาต้องอาศัยการตีความโดยไม่มีอุดมคติของความจริงที่เที่ยงแท้ ข้อค้นพบในการศึกษาของบาร์ธ ชวนให้หันกลับมาทบทวนนิยามของความรู้ในฐานะวัฒนธรรมที่ทุกคนในสังคมมีร่วมกัน เขาเห็นว่าโครงสร้างสังคมดังกล่าวเป็นระบบของการส่งผ่านความรู้ต่อ ๆ กัน กระนั้นเอง สถานะของการเป็นผู้ใหญ่ในการส่งผ่านความรู้ลับ ๆ ดังกล่าวกลับอยู่ระหว่างผู้รู้กับผู้ไม่รู้ เพราะผู้ที่ได้รับความรู้ต่อ ๆ กันมาก็ไม่สามารถรู้ได้ว่าข้อมูลที่ถูกส่งผ่านมาถึงตนเป็นข้อมูลเดียวกับข้อมูลต้นฉบับหรือไม่ มีความผิดพลาดเกิดขึ้นในการตีความระหว่างทางหรือไม่อย่างไร ด้วยลักษณะของข้อมูลที่ประสบการณ์ของความรู้ไม่มีใครสามารถยืนยันได้ ความกำกวมระหว่างความรู้และความไม่รู้ดำรงจึงอยู่ในฐานะสิ่งค้ำจุนสังคมแทนที่จะเป็นความรู้

           ตัวอย่างอื่น ๆ ที่น่าสนใจในการศึกษาความไม่รู้ของมานุษยวิทยา เช่น การปฏิเสธความคิดเกี่ยวกับหมอผี (shamanism) ของชาวแอมะซอนเผ่าวาโอรานิ (Waorani) ใน เอกวาดอ เคซี่ ไฮห์ (Casey High) (2012) อธิบายว่า แม้ปฏิบัติกการของพ่อมดหมอผีมักเป็นที่มาของความรู้ในจักรวาลทัศน์ของสังคมแอมะซอน แต่ชาววาโอรานิที่แม้จะมีจักรวาลทัศน์ร่วมกันกับชาวแอมะซอนเผ่าอื่น ๆ ก็มักปฏิเสธเรื่องราวของเวทมนตร์คาถาและการกลายเป็นหมอผี เนื่องจากสังคมวาโอรานิคำนึงถึงความอันตรายของเวทมนตร์และไสยเวทย์ สถานะและปฏิบัติการต่าง ๆ ของหมอผีภายในสังคมดังกล่าวจึงเป็นที่ถกเถียงและไม่เผยตัวในที่สาธารณะ วีคาโก (Wekago) ชาววาโอรานิคนหนึ่งบอกกับไฮห์ว่า ครั้งหนึ่ง พ่อตาของเขาที่เป็นคนจากเผ่าอื่นเคยเสนอว่าจะสอนเวทมนตร์คาถาในการมองเห็นและเยียวยาโรคร้ายให้ แต่เขาปฏิเสธที่จะเรียนรู้และยืนยันว่าขอไม่รู้เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ไฮห์เห็นว่าในบริบทนี้ แทนที่จะเป็นความรู้ที่ถูกให้คุณค่าเชิงบวกดังเช่นในสังคมตะวันตก ความไม่รู้ต่างหากที่ถูกประเมินคุณค่าผ่านพลังทางสังคมของเผ่าเพื่อให้ผู้ไม่รู้ปลอดภัยจากการถูกกล่าวหาเมื่อมีเหตุร้ายของเวทมนตร์และไสยเวทย์เกิดขึ้นในสังคม โดยเฉพาะในสังคมที่ไม่เชื่อในรื่องเหตุบังเอิญ

           อีกตัวอย่างหนึ่งคือ การศึกษาการเขียนประวัติศาสตร์นิพนธ์แบบอัตชีวประวัติ (autobiographical historiography) ที่เรียกว่าจิบุนชิ (jibunshi) ของชุนซุเกะ โนซาวะ (Shunsuke Nozawa) (2012) ในฐานะที่เป็นการเขียนประวัติศาสตร์ของคนธรรมดาซึ่งอยู่นอกขนบความรู้เชิงสถาบัน โดยให้ความสำคัญกับเรื่องเล่าในชีวิตประจำวัน โนซาวะอธิบายว่า จิบุนชิไม่เพียงเป็นการเขียนถึงความรู้เกี่ยวกับตนเองผ่านการสร้างตัวบทในฐานะสัญทางประวัติศาสตร์เท่านั้น แต่ยังเป็นองค์ประกอบของความหวั่นวิตกลึก ๆ ในโลกสมัยใหม่ในประเด็นการเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ของคนธรรมดาด้วย เขาอธิบายว่าการไม่รู้ตำแหน่งแห่งที่และความคู่ควรทางประวัติศาสตร์ของตนเองชี้ให้เห็นว่าความไม่รู้นำมาซึ่งปฏิบัติการทางสังคมและการตามหาคุณค่าของตนเอง กล่าวโดยสรุปได้ว่า ตัวอย่างการศึกษาความไม่รู้ทางมานุษยวิทยาเหล่านี้เผยให้เห็นว่าการพิจารณาความไม่รู้ไม่เพียงเป็นด้านตรงข้ามของความรู้ที่มีคุณค่าเชิงลบอย่างที่ผ่านมา แต่เป็นกลไกที่มีพลังและเนื้อหาสาระให้เข้าไปสำรวจและสร้างคำอธิบาย


รายการอ้างอิง

Barth, F. 1975. Ritual and Knowledge among the Baktaman of New Guinea. Oslo: Universitetsforlaget.

Dilley, R. 2010. Reflections on Knowledge Practices and the Problem of Ignorance. Journal of the Royal Anthropological Institute, 16, S176-S192.

Gershon, I. & Raj, D. S. 2000. Introduction: The symbolic capital of ignorance. Social Analysis: The International Journal of Social and Cultural Practice, 44(2), 3-14.

High, C. 2012. Between Knowing and Being: Ignorance in Anthropology and Amazonian Shamanism. In the Anthropology of Ignorance: An Ethnographic Approach. New York: Palgrave Macmillan US.

Kirsch, T. G. & Dilley, R. 2015. Regimes of Ignorance. Regimes of Ignorance: Anthropological Perspectives on the Production and Reproduction of Non-knowledge. New York: Berghahn Books.

Mair, J., Kelly, A. H. & High, C. 2012. Introduction: Making Ignorance an Ethnographic Object. In the Anthropology of Ignorance: An Ethnographic Approach. New York: Palgrave Macmillan.

Nozawa, S. 2012. Discourses of the Coming: Ignorance, Forgetting, and Prolepsis in Japanese Life-historiography. In the Anthropology of Ignorance: An Ethnographic Approach. New York: Palgrave Macmillan.


ผู้เขียน
วิสุทธิ์ เวชวราภรณ์
นักวิจัย ฝ่ายวิจัยและพัฒนา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ มานุษยวิทยา ความไม่รู้ วิสุทธิ์ เวชวราภรณ์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share