วิธีวิทยา “คิดผ่านสิ่งของ” (Thinking Through Things)
เมื่อนักมานุษยวิทยาเริ่มสนใจศึกษาวัตถุสิ่งของและสิ่งมีชีวิตที่มิใช่มนุษย์ แนวทาง วิธีการ และกรอบคิดที่ใช้ศึกษาจะเป็นอย่างไร การศึกษาแนวนี้เป็นเรื่องปกติสำหรับนักโบราณคดีและนักมานุษยวิทยากายภาพที่คุ้นเคยกับการขุดค้นซากสิ่งปลูกสร้าง อาคาร โครงกระดูก และวัตถุสิ่งของที่ถูกฝังในดิน เมื่อปี ค.ศ.2014 มีวงเสวนาในการประชุมของสมาคมมานุษยวิทยาอเมริกัน ภายใต้หัวข้อ Human-Animal-Nonhuman Relations มีนักวิชาการในสหรัฐอเมริกา ยุโรป ตะวันออกกลาง อเมริกาใต้ เข้าร่วมอภิปรายการทำงานภาคสนามเกี่ยวกับวัตถุและสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ (Wentworth, 2015b) ในเวทีวิชาการครั้งนั้น ประเด็นสนทนาในห้องประชุมและโต๊ะอาหารเต็มไปด้วยเรื่องสิ่งที่มิใช่มนุษย์ หลังเสร็จการประชุมดังกล่าว Kara Wentworth นักมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซาน ดิเอโก้ ได้รับการติดต่อทางอีเมลจำนวนมากเพื่อสอบถามว่าทำไมนักมานุษยวิทยาจึงศึกษาสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ Wentworth เล่าจากประสบการณ์ของตัวเองว่าเมื่อเก็บข้อมูลในโรงฆ่าสัตว์ เธอจำเป็นต้องปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมไม่ว่าจะเป็น หมูในคอก มีด อุณหภูมิของน้ำ รวมถึงจุลินทรีย์ในคอกสัตว์ คนที่อยู่ในสถานที่แบบนี้จำเป็นต้องสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ เพราะสิ่งที่มิใช่มนุษย์มีอิทธิพลต่อการกระทำของมนุษย์เป็นอย่างมาก
Wentworth (2015a) อธิบายว่าในโรงฆ่าสัตว์ ความตายและการมีชีวิตถูกแยกออกจากกันอย่างชัดเจน กิจกรรมการฆ่าสัตว์เป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เกิดการจัดประเภทว่าสิ่งไหนที่ต้องถูกฆ่า ใครคือผู้ฆ่า สิ่งไหนที่ต้องถูกปกป้องและถูกจัดการ มีการจัดแบ่งมนุษย์เป็นผู้บริโภคและคนงาน ผู้บริโภคเนื้อสัตว์จะต้องได้รับการปกป้องคุ้มครอง กระบวนการฆ่าสัตว์และผลิตเป็นสินค้าต้องสะอาดปลอดภัย คนงานที่ทำหน้าที่ฆ่าสัตว์ต้องปฏิบัติตามกฎที่เคร่งครัดเพื่อยืนยันว่าจะไม่เกิดสิ่งสกปรกในเนื้อสัตว์ เจ้าของธุรกิจและหัวหน้าคนงานจะทำหน้าที่ตรวจตราการทำงานของคนงานอย่างเข้มงวด โรงฆ่าสัตว์จึงเหมือนค่ายทหาร คนงานในโรงฆ่าสัตว์จึงมีความเครียดและลาออกบ่อย ผู้บริโภคเนื้อสัตว์มักจะไม่รู้ว่าอะไรคือสถานการณ์ของคนงานในโรงฆ่าสัตว์ สวัสดิภาพของคนงานจึงถูกละเลย แต่ผู้บริโภคจะสนใจคุณภาพของเนื้อสัตว์ที่ต้องปลอดภัย ในกรณีนี้ ชีวิตของคนงานมีลักษณะต่ำต้อยกว่าเนื้อสัตว์ที่ซื้อขายเป็นสินค้า องค์กรเกี่ยวกับผู้บริโภคมักจะสนใจคุณภาพของสินค้ามากกว่าคุณภาพชีวิตของแรงงานที่ทำหน้าที่ผลิตสินค้า ในโรงฆ่าสัตว์จึงเป็นพื้นที่ของการปฏิบัติเชิงวัตถุวิสัยที่มีการจัดแบ่งชีวิตคนงานให้เป็นแรงงานที่ต้องปฏิบัติตามกฎ วางขอบเขตสัตว์ที่ถูกฆ่าให้เป็นสิ่งที่ต้องตาย และทำให้ผู้บริโภคเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการปกป้อง พรมแดนเหล่านี้คือเครือข่ายของมนุษย์และสิ่งที่มิใช่มนุษย์ที่ต่างตอบโต้กันบนกฎระเบียบของธุรกิจฆ่าสัตว์
Liron Shani นักมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยฮิบรู เมืองเจรูซาเล็ม อธิบายว่าเขาสนใจสิ่งที่มิใช่มนุษย์ผ่านการทำงานด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้เขาสงสัยว่าทำไมการรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมจึงมองข้ามผู้กระทำการที่ไม่ใช่มนุษย์ แต่สนใจการกระทำของมนุษย์แต่ฝ่ายเดียว Shani (2023) เล่าประสบการณ์ทำงาน 4 ปีในเขตอาราว่า เขตทะเลทรายของอิสราเอลและปาเลสไตน์ ซึ่งติดตามการเดินทางของหมัด แมลงวัน และแมลงหลายชนิด เขาพยายามตรวจสอบผลกระทบทางนิเวศและการเมืองที่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่ชาวยิวเข้าไปตั้งถิ่นฐานซึ่งมีการนิยามสายพันธุ์ท้องถิ่นกับต่างถิ่นอย่างคลุมเครือ เขาพบว่าเครือข่ายความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่เกษตรกรรมที่แห้งแล้งนี้ประกอบด้วยสัตว์ แมลง บ่อน้ำ ท่อน้ำ ซึ่งมีบทบาทต่อการนิยามปัญหาสภาพแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศ โครงสร้างกสิกรรมในอิสราเอลยังเกี่ยวข้องกับอำนาจทางการเมือง เห็นได้จากรัฐเข้ากำหนดว่าชุมชนไหนที่ควรส่งเสริมกสิกรรม ทำให้เกิดการแบ่งแยกชุมชน รัฐเข้ามาควบคุมการใช้ที่ดินภาคเกษตรกรรม เข้ามาจัดระเบียบและกำหนดให้สิ่งที่มิใช่มนุษย์แยกขาดจากมนุษย์ ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อระบบนิเวศมากขึ้น การศึกษาของShani พบว่าชุมชนกสิกรรมอาราว่าคือพื้นที่ควบคุมภายใต้ลัทธิอาณานิคมของตะวันตกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมและการควบคุมโดยรัฐ พื้นที่เกษตรกรรมจะถูกใช้เป็นกลไกแบ่งแยกมนุษย์ออกจากสิ่งที่มิใช่มนุษย์ แบ่งแยกธรรมชาติออกจากวัฒนธรรม
Shani (2023) กล่าวว่าแมลงที่ผ่านกระบวนการทำให้เชื่อง ถือว่าเป็นแมลงที่ดีในความคิดของเกษตรกรในชุมชนอาราว่า ตรงข้ามกับแมลงที่อยู่ในป่าจะถูกนิยามว่าเป็นสิ่งชั่วร้ายและอันตราย ดังนั้น กระบวนการกสิกรรมในพื้นที่ชุมชนคือเครื่องมือสำคัญที่สร้างขอบเขตที่ต่างกันระหว่างความดีกับความเลว รวมถึงแบ่งแยกว่าใครคือคนของชาติอิสราเอล และคนพื้นเมืองตามชาติพันธุ์ที่มิใช่คนของชาติ การกสิกรรมโดยกลุ่มชาติพันธุ์ (เบดูอิน) ถือว่าเป็นกิจกรรมที่มิใช่ชาติ พืชและแมลงที่อยู่ในพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์จึงถูกตีตราว่าเป็นพืชและสัตว์ท้องถิ่นที่อันตราย ต่างจากพื้นที่เกษตรกรรมของชาวยิวที่รัฐบาลเข้ามาดูแลควบคุม
Ruth Goldstein นักมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน กล่าวว่าความสนใจของเธอที่มีต่อสิ่งที่มิใช่มมนุษย์มาจากความรู้สึกส่วนตัวที่สงสัยว่าทำไมมนุษย์จึงไม่ค่อยแคร์กับความรู้ของสัตว์และพืช มนุษย์มีวิธีเชื่อมต่อและตัดขาดจากโลกภายนอกอย่างไร เมื่อได้พบเห็นป่าฝนในลุ่มน้ำอะเมซอนถูกทำลายจากการทำเหมืองทองทำให้รู้สึกหดหู่ Goldstein (2020) ชี้ให้เห็นว่าตั้งแต่ทศวรรษ 1950 รัฐบาลหลายประเทศในลาตินอเมริกามีนโยบายทำเหมืองแร่ส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อป่า สิ่งนี้เรียกว่านโยบายเปลี่ยนทองเป็นเศษโลหะและอาหารให้กลายเป็นยาพิษ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเหมืองทอง เหมืองแร่ การตัดไม้ และการขุดเจาะน้ำมันแพร่กระจายไปทั่วเขตป่าอะเมซอน นอกจากนั้น มีกลุ่มขุดทองแบบผิดกฎหมายจำนวนมากใช้สารปรอทเพื่อสกัดแร่ทองคำที่จมอยู่ในแม่น้ำและพื้นดิน วิธีนี้เป็นการลงทุนราคาถูกและรวดเร็ว แต่ผลเสียคือสัตว์น้ำได้รับสารปรอทเข้าไปในร่างกาย เมื่อมนุษย์นำสัตว์น้ำมาบริโภคก็จะได้รับสารพิษ คนท้องถิ่นจึงหวาดกลัวสารปรอทที่ตกค้างในธรรมชาติ
เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน ปี 2019 Goldstein พร้อมกับนักมานุษยวิทยาอีกสองคนคือ Angela Arriola และ Daniel Rodriguez รวมตัวกับคนพื้นเมืองในประเทศเปรูเพื่อไปร่วมงานประชุมของสหประชาชาติที่รำลึกถึงภัยร้ายของสารปรอทที่ทำให้เกิดโรคมินามาตะ การประชุมนี้มีเป้าหมายปกป้องสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมจากการปล่อยสารปรอท และการเสนอกฎเกณฑ์เพื่อควบคุมห่วงโซ่อุปทานของปรอทที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น แบตเตอรี่ หลอดไฟ ยาฆ่าแมลง เครื่องสำอาง และสารสำหรับอุดฟัน คนพื้นเมืองกล่าวในวงประชุมเพื่ออธิบายปัญหาของสารปรอทที่ตกค้างในแม่น้ำและระบบนิเวศที่สร้างอันตรายต่อสุขภาพ ในปี 2019 Goldstein และชนพื้นเมืองในเปรูที่ได้รับผลกระทบจากสารปรอท ได้มีโอกาสไปร่วมประชุมที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อนำเสนองานวิจัยที่ชี้ให้เห็นลัทธิอาณานิคมใหม่ในคราบของอุตสาหกรรมเหมืองทองคำที่ทำลายสิ่งแวดล้อมในป่า อะเมซอน อุตสาหกรรมนี้คืออำนาจทางเศรษฐกิจและสารเคมีซึ่งทำให้เกิดผลกระทบที่เป็นพิษ (toxic effects) สารปรอทจะมีสถานะเป็น “เทพเจ้าแห่งการค้า” เพราะมันสามารถนำทองคำออกมาเป็นสินค้าในระบบทุนนิยม ทองคำที่ถูกสกัดได้จึงเป็น “สินทรัพย์ที่เป็นพิษ” (toxic assets) ปัจจุบัน รัฐบาลเปรูยังไม่มีมาตรการแก้ไขปัญหาสารปรอทตกค้างในพื้นที่ของชนพื้นเมือง ไม่มีการให้ความรู้เกี่ยวกับสารพิษและผลกระทบต่อสุขภาพ
Hugh Raffles นักมานุษยวิทยาจาก The New School for Social Research ในเมืองนิวยอร์ค กล่าวว่าธรรมเนียมของงานเขียนทางมานุษยวิทยามักจะสนใจการ “เล่าเรื่อง” (narrative) ดังนั้นในสถานการณ์ที่สิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์เป็นประเด็นในการศึกษาทางมานุษยวิทยา การเล่าเรื่องจะเป็นไปอย่างไร การใช้ภาษาและการเรียบเรียงจะมีทิศทางอย่างไร ภาษาเขียนในเรื่องเล่าจะเป็นตัวแทนเกี่ยวกับสิ่งที่มิใช่มนุษย์ได้อย่างไร นักมานุษยวิทยามักจะใช้การเล่าเรื่องเพื่ออธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม ฉะนั้นรูปแบบการเขียนย่อมสะท้อนวิธีสร้างความหมายเพื่อสื่อสารออกไปให้คนอื่นรับรู้ ผลที่เกิดขึ้นจากเรื่องเล่าจึงเป็นสิ่งที่ควรพิจารณา การใช้ภาษาและคำอธิบายในเรื่องเล่าย่อมทำให้ผู้อ่านรับรู้เกี่ยวกับบางสิ่ง การเล่าเรื่องยังสัมพันธ์กับอำนาจระหว่างมนุษย์กับสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ การทำความเข้าใจอำนาจในความสัมพันธ์ดังกล่าวจะเหมือนกับอำนาจในรูปแบบอื่นหรือไม่ การเขียนเกี่ยวกับวัตถุและสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์อาจต้องบอกเล่าเกี่ยวกับสิ่งนั้นอย่างรอบด้าน
Raffles (2020) นำประสบการณ์สูญเสียน้องสาวของตนเองมาเล่าผ่านก้อนหินและแผ่นศิลาที่พบในแผ่นหินทรายสูงที่เรียกว่า “หินโอดิน” ในหมู่เกาะออร์กนีย์ ก้อนหินอุกกาบาตที่มีหลุมขนาด 20 ตัน หินแกรนิตไนส์ของลูอิสในสกอตแลนด์ แร่กลีบหินขาวที่เตรียมไว้ในค่ายกักกันของนาซีในเทเรซีนสตัดท์ หินภูเขาไฟสีดำจากชายหาด Djúpalónssandur ของไอซ์แลนด์ และชั้นหินอ่อนที่อยู่ในแมนฮัตตัน หินเหล่านี้บ่งบอกชีวิตที่อยู่ในระบอบทุนนิยมและลัทธิอาณานิคมซึ่งลุกล้ำเข้าไปปรับเปลี่ยนและหยิบฉวยเอามาใช้ประโยชน์ผ่านนักล่าอาณานิคม นักเดินทาง นายทุนและพ่อค้า นักวิทยาศาสตร์ นักล่าปลาวาฬและแมวน้ำ นักขุดแร่ และแม้แต่นักมานุษยวิทยาที่เข้าไปนำวัตถุของชนพื้นเมืองมาเก็บไว้ เหตุการณ์เหล่านี้คือการทำลายล้างและทำให้ก้อนหินตายจากไป ภายใต้อำนาจทุนนิยมและลัทธิอาณานิคมตะวันตก ภูมิประเทศคือสิ่งไม่มีชีวิตที่มนุษย์เข้าไปทำลายและจัดการให้เป็นเพียงวัตถุ Raffles กล่าวว่าความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับก้อนหินเป็นไปในลักษณะการสร้างความรุนแรง มนุษย์ปฏิบัติต่อก้อนหินในฐานะที่มันไร้ชีวิต แต่ก้อนหินได้สะท้อนการมีชีวิตอยู่ของมนุษย์ภายใต้การกระทำต่อก้อนหิน สิ่งเหล่านั้นคือร่องรอยที่ปรากฎอยู่ในรูปรอยที่ก้อนหินแสดงออกมา ก้อนหินในสถานที่ที่มนุษย์เข้าไปทำกิจกรรมล้วนจารึกความทรงจำ ประวัติศาสตร์ และความรู้สึก
Henare and others (2007) ตั้งข้อสังเกตว่าการศึกษาวัตถุและสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ในแวดวงมานุษยวิทยาจะมีแนวทางอย่างไร สิ่งที่คุ้นชินในการอธิบายวัตถุสิ่งของในวัฒนธรรม นักมานุษยวิทยามักจะวิเคราะห์วัตถุและสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ในฐานะเป็นภาพสะท้อนของความหมายที่มนุษย์นำไปอธิบายโลกและความสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ ทั้งนี้ ธรรมเนียมของมานุษยวิทยามักจะแยกพรมแดนวัฒนธรรมและวัตถุออกจากกัน นักมานุษยวิทยาจะสนใจเรื่องราวและกิจกรรมทางสังคมและวัฒนธรรมของมนุษย์ ในขณะที่สิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์จะถูกบอกเล่าในฐานะเป็นส่วนขยายและหนุนเสริมเรื่องราวทางวัฒนธรรมให้ชัดเจนขึ้นโดยมีกรอบแนวคิดทฤษฎีมาตีความ เห็นได้จากการศึกษาชีวิตทางสังคมวัตถุของ Miller (1987, 2005)ซึ่งเป็นความพยายามที่จะสลายเส้นแบ่งระหว่างมนุษย์กับสิ่งของ อย่างไรก็ตาม วัตถุและสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์จะไม่ถูกบอกเล่าจากตัวของมันเอง ในแง่นี้ Henare and others (2007) จึงเสนอว่าการอธิบายสิ่งที่มิใช่มนุษย์จำเป็นต้องละทิ้งตรรกะและกระบวนทัศน์แบบเหตุผลสมัยใหม่ที่ฝังแน่นอยู่ในวงการมานุษยวิทยาตะวันตก ซึ่งมักติดกับดักคู่ตรงข้ามระหว่างวัฒนธรรมกับธรรมชาติ
วิธีวิทยาแบบ “คิดผ่านสิ่งของ” (Thinking through things) เป็นแนวทางหนึ่งที่จะอธิบายสิ่งของในมุมที่สิ่งของเป็น การนำวัตถุและสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์มาเป็นศูนย์กลางในการศึกษา คือการพิจารณาสิ่งของในฐานะเป็นสิ่งที่คิดได้เอง (Thing-as-heuristic) ต่างไปจากการศึกษาเดิมที่มองสิ่งของในฐานะเป็นภาพสะท้อนของการตีความ (thing-as-analytic) การพิจารณาสิ่งของเป็นสิ่งที่คิดได้จำเป็นต้องไม่นำแนวคิดทฤษฎีไปวิเคราะห์ แต่ปล่อยให้สิ่งของอธิบายตัวมันเอง เช่น การศึกษาของ Holbraad กล่าวถึงแป้งในพิธีกรรมของร่างทรงในคิวบาคือสิ่งเดียวกับอำนาจ แป้งมิใช่ตัวแทนความหมายทางวัฒนธรรมที่บ่งบอกถึงพลังอำนาจของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่แป้งในตัวมันเองคืออำนาจ จะเห็นว่าวิธีคิดผ่านวัตถุคือการทำความเข้าใจจุดที่สิ่งของเป็น นั่นคือ “แป้งเป็นอำนาจ” อำนาจที่เป็นสิ่งของเป็นสิ่งที่จับต้องได้ มองเห็นได้ มิใช่สิ่งที่อยู่ในความคิด Henare and others (2007) กล่าวว่าแนวทางการอธิบายสิ่งของในลักษณะนี้คือความเป็นไปได้ที่จะมองสิ่งของต่างไปจากเดิม ไม่ต้องอาศัยทฤษฎีใดมาวิเคราะห์ มิใช่มองผ่านประสบการณ์ของมนุษย์และก้าวข้ามระบบเหตุผลที่มักจะแยกอำนาจออกจากสิ่งของ
การคิดผ่านสิ่งของเป็นการตรวจสอบว่าสิ่งที่เรียกว่าสิ่งของนั้นคืออะไร คำถามคือมนุษย์เป็นสิ่งของชนิดหนึ่งหรือไม่ สิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวมนุษย์มีสถานะเท่ากับมนุษย์หรือไม่ ในความคิดของ Bruno Latour (2004) การเป็นสิ่งของคือการเป็นทั้งวัตถุและความคิดในเวลาเดียวกัน ไม่จำเป็นต้องแยกมนุษย์ออกจากสิ่งของ Latour เชื่อว่าสิ่งของต่างๆ คือความจริงในตัวเองและดำรงอยู่ในแบบของมัน ทำให้เกิดการศึกษาภววิทยาของสิ่งของที่อยู่นอกวิธีรับรู้และวิธีแสวงหาความรู้ของมนุษย์ Latour จึงเสนอการศึกษาแบบ “เครือข่าย” เพื่ออธิบายการเชื่อมเข้าหากันและการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างสิ่งของ ถึงแม้การศึกษาแบบเครือข่ายจะช่วยให้สลายวิธีคิดที่แบ่งแยกมนุษย์ออกจากวัตถุ แต่ก็ยังคงมีกรอบคิดเรื่องเครือข่ายที่เป็นกระบวนทัศน์ของมนุษย์ Henare and others (2007) จึงเสนอการมองสิ่งของในฐานะที่เป็นผู้กระทำสิ่งต่างๆ ได้ตามลำพังโดยไม่ต้องอาศัยเครือข่าย สิ่งของที่สร้างความหมายในตัวเองโดยไม่ต้องเป็นเพียงที่รองรับความหมายจากการตีความโดยมุมมองของมนุษย์
Henare and others (2007) ยังชี้แจงว่าในช่วงทศวรรษ 1980-1990 นักมานุษยวิทยาสนใจการสะท้อนย้อนคิดจากการเขียนและบอกเล่างานภาคสนามในฐานะตัวแทนของความจริง ทำให้กระบวนการตรวจสอบภาษาและวาทกรรมในงานมานุษยวิทยาได้รับความสนใจจนกลายเป็น “จุดเปลี่ยนของการเขียน” ตั้งแต่นั้นมาการทำงานสนามของนักมานุษยวิทยาก็ถูกตรวจสอบและเป็นรากฐานให้เกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับโลกความจริงที่ต่างกัน ในช่วงทศวรรษ 1990-2000 จึงเกิดการศึกษาภววิทยาที่ตระหนักถึงข้อจำกัดของความรู้ของมนุษย์ที่ไม่สามารถใช้เป็นภาพแทนของความจริงเกี่ยวกับสิ่งของได้ คำถามใหม่ของนักมานุษยวิทยาคือสิ่งที่เกิดขึ้นนอกเหนือการรับรู้ของมนุษย์จะสร้างความเข้าใจใหม่ได้อย่างไร Eduardo Viveiros de Castro (1998) ตั้งข้อสังเกตว่านักมานุษยวิทยามักจะแสวงหาคำอธิบายเกี่ยวกับวัตถุเพื่อให้กลายเป็นความรู้ แต่การรู้จักวัตถุเหล่านั้นจะเป็นไปได้หรือไม่ เพราะคำอธิบายเกี่ยวกับวัตถุอาจเป็นเพียงความคิดส่วนตัวของนักมานุษยวิทยา วิธีการสร้างความรู้โดยอาศัยโลกทัศน์ของมนุษย์จึงเป็นเพียงสิ่งสมมติที่ใช้บอกเล่าถึงวัตถุต่างๆ โลกทัศน์นั้นเป็นทฤษฎีที่มนุษย์สร้างขึ้นซึ่งมิใช่ความจริงที่มีอยู่ในสิ่งของ ปัญหานี้ฝังแน่นอยู่กับยุคสมัยใหม่ที่ตะวันตกพยายามแยกวัตถุออกจากตัวมนุษย์ เป็นปัญหาของระบบเหตุผลและตรรกะที่สร้างความรู้ผ่านการตีความ โลกธรรมชาติเป็นเพียงวัตถุที่มนุษย์ใช้สมมติฐานไปสร้างความหมายให้กับสิ่งเหล่านั้น
ตามธรรมเนียมมานุษยวิทยา ความรู้เกี่ยวกับคนอื่นภายใต้กรอบแนวคิดทฤษฎีต่างๆ ซึ่งนักมานุษยวิทยานำไปสร้างเป็นคำอธิบายเกี่ยวกับวัฒนธรรมล้วนเป็นผลผลิตมาจากตรรกะแบบเหตุผลในยุคสมัยใหม่ โลกทัศน์ของนักมานุษยวิทยาตะวันตกจึงถูกใช้เป็นตัวแทนความจริงในการอธิบายวัฒนธรรมของคนอื่นและสิ่งของ Viveiros de Castro (1998) กล่าวว่าสิ่งนี้คือข้อจำกัดของมานุษยวิทยา ภายใต้ระบบเหตุผลที่เชื่อว่าโลกวัตถุดำรงอยู่แยกขาดจากโลกมนุษย์ หน้าที่ของมนุษย์คือการสร้างคำอธิบายให้กับวัตถุ และแสวงหาความแตกต่างทางวัฒนธรรมเพื่อใช้เป็นเงื่อนไขที่จะบอกว่าคนพื้นเมืองในที่ต่างๆ มีโลกทัศน์ต่างกันในการสร้างความหมายให้วัตถุ แต่วิธีคิดดังกล่าววางอยู่บนกระบวนทัศน์ที่ว่าโลกมีเพียงหนึ่งเดียวซึ่งเป็นโลกของมนุษย์ และวัตถุจะถูกมนุษย์ให้ความหมายผ่านวัฒนธรรมที่ไม่เหมือนกัน การเชื่อในโลกที่มีหนึ่งเดียวจึงกลายเป็นปัญหาของการสร้างความจริง ส่วนการมองต่างจากเดิมที่พิจารณาว่าโลกมีมากกว่าหนึ่งอาจเป็นการใคร่ครวญว่าอะไรคือโลกที่ไม่ใช่มนุษย์ Henare and others (2007) กล่าวว่าการหลีกหนีจากปัญหาโลกที่มีหนึ่งเดียวเพื่อไปหยิบฉวยความคิดเรื่องโลกที่มีหลายใบหรือ “ความจริง” ที่มีมากกว่าหนึ่ง ก็อาจเป็นการอยู่ในกับดักคู่ตรงข้ามเช่นกัน ไม่ว่าจะแสวงหาโลกที่หลากหลายหรือการตรวจสอบความจริงที่มากกว่าหนึ่งก็มีความไม่แน่นอน
วังวนเกี่ยวกับความคิดเรื่องโลกทัศน์ที่หลากหลายภายใต้โลกเดียวกัน กับความคิดเกี่ยวกับโลกความจริงที่หลากหลายนอกเหนือจากโลกของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็น “โลกทัศน์” หรือ “โลก” นักมานุษยวิทยาก็อธิบายด้วยแนวคิดเรื่องความแตกต่างและความหลากหลายHenare and others (2007) กล่าวว่าสิ่งที่เรียกว่า “ญาณวิทยา” หรือ “ภววิทยา” เป็นเพียงคำศัพท์ทางวิชาการ เช่นเดียวกับการพูดว่าโลกทัศน์ที่หลากหลาย หรือโลกที่หลากหลาย สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดคำถามว่า “ความแตกต่างหลากหลาย” หมายถึงอะไร มันเป็นตรรกะคู่ตรงข้ามระหว่างการมีหนึ่งเดียวกับการมีหลากหลาย ใช่หรือไม่ ปัญหาของการสร้างภาพแทนและสร้างคำอธิบายเกี่ยวกับการมีอยู่ของโลกและการแตกต่างทางวัฒนธรรมคือการทำให้ภาพแทนและคำอธิบายทั้งหลายเท่ากับ “ความจริง” การอธิบายของนักมานุษยวิทยาเกี่ยวกับความแตกต่างทางวัฒนธรรมจึงเป็นท่าทีของการเชื่อในการสร้างภาพแทน รวมถึงแนวทางที่ว่าความหมายต่างๆ เป็นสิ่งที่สังคมสร้างขึ้น กระบวนทัศน์นี้คือสัมพัทธนิยมทางวัฒนธรรมที่เป็นแกนกลางของมานุษยวิทยา ความหมายและคำอธิบายเกี่ยวกับวัฒนธรรมล้วนเป็นสิ่งที่บ่งชี้ว่านักมานุษยวิทยาเชื่อมั่นในวิธีการสร้างคำอธิบาย หน้าที่ของนักมานุษยวิทยาจึงอยู่ที่ “การตีความ” ว่าอะไรคือวัฒนธรรม พร้อมกับสร้างคำอธิบายตัวแทนทางวัฒนธรรมของคนอื่น สิ่งที่นักมานุษยวิทยาทำคือการสร้างคำอธิบายของวัฒนธรรมที่แตกต่างกันจำนวนมาก Henare and others (2007) ตั้งข้อสังเกตว่า “การตีความ” จึงเป็นเกมส์ที่นักมานุษยวิทยาทุกคนต่างเข้าไปเล่น
การตีความแบบสัมพัทธนิยมอาจไปต่างจากการสร้างคำอธิบายแบบปฏิฐานนิยม เพราะทั้งสองได้สร้างความเป็นหลักสากลของวิธีวิทยา วิธีทำงานของนักมานุษยวิทยาสนใจการแปลความหมาย การเปรียบเทียบ การแสวงหาลักษณะเฉพาะของวัฒนธรรม วิธีการดังกล่าวถูกเรียกว่าการแปลข้ามวัฒนธรรม (cross-cultural translations) เพื่อค้นหาความคล้ายคลึงและความแตกต่างของวัฒนธรรมมนุษย์ ซึ่งนำไปสู่ความคิดเรื่อง “โลกทัศน์” (world-view) ที่มีความแตกต่างกัน ในขณะที่นักวิชาการแบบปฏิฐานนิยมสนใจหลักสากลของความเป็นมนุษย์ นักมานุษยวิทยาจะสนใจการตีความวัฒนธรรม แต่ทั้งปฏิฐานนิยมและสัมพัทธนิยมล้วนเชื่อในความเป็น “โลกเดียว” ที่มนุษย์เป็นศูนย์กลาง
จุดเปลี่ยนทางภววิทยาได้เสนอว่า “โลก” มีมากกว่าหนึ่ง โลกที่มิใช่โลกทัศน์ แต่เป็น “โลก” ของสิ่งต่างๆนอกเหนือจากโลกของมนุษย์ ดังนั้น วิธีการตีความที่นักมานุษยวิทยาใช้อยู่ย่อมจะนำไปเป็นภาพแทนของโลกอื่นมิได้ เพราะในโลกของสิ่งของก็ย่อมจะมีวิธีคิดที่ไม่เหมือนโลกมนุษย์ ความคิดแบบมนุษย์จึงมีข้อจำกัดในการตีความเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของสิ่งของที่มีโลกต่างไป Henare and others (2007) เสนอว่านักมานุษยวิทยาอาจต้องทบทวนวิธีคิดเกี่ยวกับ “โลกเดียว” เพื่อแสวงหา “โลกอื่น” ที่ไม่เหมือนกับโลกมนุษย์ วิธีการสำคัญคือการพิจารณาสิ่งของอย่างที่มันเป็น นักมานุษยวิทยาต้องไม่ยึดติดกับโลกทัศน์ทางวัฒนธรรมที่มนุษย์เป็นผู้กำหนดสร้าง แต่แสวงหาโลกอื่นที่อยู่นอกโลกทัศน์และการรับรู้แบบมนุษย์ (Viveiros de Castro, 2005) สิ่งนี้คือความท้าทายใหม่ Henare and others (2007) แนะนำว่าการทำความเข้าใจโลกอื่นที่มิใช่โลกมนุษย์ ประกอบด้วย 2 ขั้นตอน ขั้นตอนแรกคือการตรวจสอบความรู้เดิมที่มี เพราะโลกอื่นอาจถูกอธิบายด้วยภาพแทนทางวัฒนธรรม ซึ่งนักมานุษยวิทยามักจะคุ้นเคยกับการตีความด้วยประสบการณ์ของมนุษย์ ดังนั้น การอธิบาย “โลกอื่น” จึงมิใช่การตีความจากความรู้และความหมายทางวัฒนธรรมที่สร้างเป็นภาพแทน ขั้นตอนที่สองคือ การพิจารณาถึง “โลกอื่น” ที่ต่างไปจากโลกมนุษย์ อาจดูได้จากคุณสมบัติของสิ่งของ (property of things) ซึ่งเป็นที่อยู่ของโลกอื่น การกลับไปพิจารณาการดำรงอยู่ของสิ่งต่างๆ ในแบบที่มันเป็นคือการเริ่มเห็น “โลกอื่น” แต่การเห็นในที่นี้ไม่ใช่เกิดขึ้นโดยประสบการณ์ทางผัสสะเหมือนกับการจ้องมองวัตถุสิ่งของ และเห็นว่ามันมีรูปร่างอย่างไร การเห็น “โลกอื่น” จึงเป็นเรื่องที่อยู่นอกผัสสะ
คำถามต่อมาคือ นักมานุษยวิทยาจะพบเจอโลกอื่นในการศึกษาได้อย่างไร Henare and others (2007) เสนอว่า “โลกอื่น” คือมโนภาพ (conceptions) การทำความเข้าใจสิ่งของในฐานะเป็นมโนภาพที่มันดำรงอยู่อย่างนั้น คือการคิดถึงสิ่งต่างๆ ที่เป็นตัวมัน มโนภาพจะเป็นเครื่องมือที่จะเปิดเผยให้เห็นว่าสิ่งของคืออะไร Henare and others (2007) อธิบายว่าเมื่อคิดถึง “สิ่งของ” นักมานุษยวิทยาต้องเห็นมโนภาพของสิ่งนั้นก่อน เช่น มโนภาพเกี่ยวกับแป้ง คือการคิดถึง “แป้ง” อย่างที่มันเป็น ดังนั้น การทะลุทะลวงทางภววิทยาต้องเริ่มต้นด้วยการคิดว่า “โลกอื่น” ดำรงอยู่เป็นสิ่งเดียวกับ “สิ่งของ” จากนั้นจึงพิจารณาว่าสิ่งนั้น (วัตถุสิ่งของ สิ่งที่มิใช่มนุษย์) จะใช้มโนภาพอะไรเพื่อบ่งบอกถึงการดำรงอยู่ จะเห็นว่าวิธีวิทยา “คิดผ่านสิ่งของ” มิใช่การบอกว่ามนุษย์คิดถึงสิ่งของอย่างไร หรือให้ความหมายกับสิ่งของในลักษณะใด แต่เป็นการมองเห็นว่า “สิ่งของ” ดำรงอยู่ด้วยตัวเองอย่างไร ตัวอย่างเช่น การศึกษาการกระทำของร่างทรงหรือผู้ติดต่อวิญญาณที่ปฏิบัติต่อวัตถุสิ่งของในพิธีกรรมในฐานะที่มันเป็นอำนาจวิเศษ สิ่งที่นักมานุษยวิทยาต้องไตร่ตรองแบบ “คิดผ่านสิ่งของ” คือตระหนักว่าร่างทรงคิดเกี่ยวกับวัตถุนั้นในแบบที่มันเป็น มิใช่ในแบบที่นักมานุษยวิทยาตีความด้วยกรอบแนวคิดทฤษฎีที่มองจากสายตาของคนนอก การคิดผ่านสิ่งของจะทำให้การดำรงอยู่ของสิ่งของมิใช่การสร้างความหมายจากมุมมองและญาณวิทยาของมนุษย์
จะเห็นว่าข้อเสนอของ Henare and others (2007) อาจเป็นเพียงแบบทดลองที่จะเปลี่ยนความคิดและวิธีการศึกษาเพื่อที่จะเห็นโลกของสิ่งของที่ไม่เหมือนโลกมนุษย์ อย่างไรก็ตาม การมีอยู่ของโลกอื่นโดยใช้มโนภาพเป็นเครื่องมือในการศึกษาก็อาจเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก ในทางปฏิบัติ นักมานุษยวิทยาหลายคนพยายามฝึกการคิดผ่านสิ่งของโดยการทดลองสร้างมโนภาพของสิ่งของผ่านการปฏิบัติจริงของคนกลุ่มต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจว่าการปฏิบัติเหล่านั้นได้ทำให้สิ่งของปรากฎเป็นมโนภาพได้อย่างไร สิ่งนี้เป็นการย้ายการศึกษาจาก “บุคคล” ที่เป็นผู้สร้างความหมาย ไปสู่การศึกษา “สิ่งของ” ในฐานะที่เป็นผู้ปฏิบัติ Wagner(1981) เคยตั้งข้อสังเกตว่าเมื่อโลกทัศน์ของนักมานุษยวิทยาปะทะกับการดำรงอยู่ของสิ่งของ สิ่งที่เกิดขึ้นคือการเพิ่มของการอุปมาอุปไมย (metaphorical extension) หมายถึงการสร้างความหมายทับซ้อนเข้าไปในสิ่งของ มุมมองของนักมานุษยวิทยาที่อธิบายวัฒนธรรมของคนอื่นจะปรากฏอยู่บนการดำรงอยู่ของสิ่งของที่มนุษย์ในวัฒนธรรมนั้นปฏิบัติต่อมัน คล้ายกับการสร้างภาพโฮโลแกรมที่บันทึกข้อมูลด้วยแสงเลเซอร์ ทำให้เห็นภาพเป็นลักษณะ 3 มิติมีระยะชัดลึกและลอยตัวรอบด้าน ทำให้วัตถุในภาพราวกับเป็นของจริง
ปัจจุบันนี้ ไม่มีกฎเกณฑ์ที่ตายตัวว่าวิธีวิทยาแบบ “คิดผ่านสิ่งของ” จะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับการลงไปทำงานในพื้นที่ของนักมานุษยวิทยาซึ่งต้องเผชิญหน้ากับผู้คนที่กำลังกระทำต่อสิ่งต่างๆ ไม่เหมือนกัน การเข้าไปอยู่กับคนอื่นและสิ่งของจึงเป็นทั้งการทบทวนวิธีวิทยาแบบเดิมและทดลองวิธีการใหม่ๆ Henare and others (2007) กล่าวว่าการคิดผ่านสิ่งของเสมือนเป็นการทำงานทางวิธีวิทยา (methodological project) ซึ่งมิได้เอาโลกทัศน์ของนักมานุษยวิทยาเป็นตัวตั้ง แต่ใช้สิ่งของเป็นแบบทดสอบ การฝึกวิธีคิดผ่านสิ่งของจึงเปิดกว้างไปสู่ความเป็นไปได้ต่างๆ ไม่มีขอบเขตจำกัด เป็นการแสวงหา “พหุมโนภาพ” ของสิ่งของ ตัวอย่างเช่นการศึกษาของ Reed (2007) เกี่ยวกับบุหรี่ในเรือนจำในประเทศปาปัวนิวกินี พบว่านักโทษสูบบุหรี่เพราะมันคือสิ่งที่ทำให้พวกเขาลืมทุกสิ่งและทำให้เวลาผ่านไปเร็วขึ้น บุหรี่เป็นผู้กระทำต่อชีวิตนักโทษ การดำรงอยู่ของบุหรี่ในเรือนจำคือการมีอยู่ของผู้ทำลายความทรงจำและผู้ทำให้เวลาสั้นลง ในโลกของบุหรี่เต็มไปด้วยการหลงลืมและการก้าวข้ามผ่านเวลา บรรดานักโทษจึงอยู่กับบุหรี่เพื่อที่จะอยู่ในโลกที่ปราศจากความจำที่เจ็บปวด นักโทษที่แลกเปลี่ยนบุหรี่ให้เพื่อนๆ จึงเป็นการนำเพื่อนเข้ามาอยู่ในโลกที่ลืมทุกอย่างไว้ข้างหลัง
วิธีวิทยา “คิดผ่านสิ่งของ” จึงเป็นวิธีตรวจสอบและทดลองในเวลาเดียวกันเพื่อให้นักมานุษยวิทยาเดินออกไปจากแนวการศึกษาและการสร้างคำอธิบายที่ยึดติดอยู่กับแนวคิดทฤษฎี วิธีคิดผ่านสิ่งของพยายามก้าวข้ามทฤษฎีสากลและเปิดเผยให้เห็นความเป็นไปได้ที่จะทำความเข้าใจ “สิ่งของ” ในสภาวะที่มันเป็นโดยไม่ต้องใช้ความคิดและความรู้สึกของนักมานุษยวิทยา วิธีการนี้อาจช่วยให้เข้าใกล้การมีอยู่ของ”โลกอื่น” ที่ต่างไปจากโลกเดียวที่มีแต่มนุษย์
เอกสารอ้างอิง
Goldstein, R. (2020). Making Mercury History: Toxic Assets and Neocolonial Extraction. Toxic New. Retrieved from https://toxicnews.org/2020/02/28/making-mercury-history-toxic-assets-and-neocolonial-extraction/
Holbraad, M. (2007). The power of powder: multiplicity and motion in the divinatory cosmology of Cuban Ifá (or mana, again). In Henare, A., Holbraad, M., & Wastel, S. (Eds.). Thinking through things. (pp.189-225). New York: Routledge.
Henare, A., Holbraad, M., & Wastel, S. (Eds.). (2007). Thinking through things.New York: Routledge.
Latour, B. (2004). Why has critique run out of steam?: from matters of fact to matters of concern. Critical Enquiry, 30(2), 25–48.
Miller, D. (1987). Material Culture and Mass Consumption. Oxford: Blackwell.
Miller, D. (Ed.). (2005). Materiality. Durham and London: Duke University Press.
Raffles, H. (2020). The Book of Unconformities: Speculations on Lost Time. New York: Pantheon Books.
Reed, A. (2007). ‘Smuk is king’: the action of cigarettes in a Papua New Guinea Prison. In Henare, A., Holbraad, M., & Wastel, S. (Eds.). Thinking through things. (pp.32-46). New York: Routledge.
Shani, L. (2023). Predatory Fleas, Sterile Flies, and the Settlers: Agricultural Infrastructure and the Challenge of Alien-Native Dichotomies in Israel/Palestine. Cultural Anthropology, 38(1), 87– 112.
Viveiros de Castro, E. (1998). Cosmological perspectivism in Amazonia and elsewhere, four lectures delivered 17 February–10 March at the Department of Social Anthropology, University of Cambridge.
Viveiros de Castro, E. (2005). The gift and the given: three nano-essays on kinship and magic’, in Sandra Bamford and James Leach. (Eds) Genealogy Beyond Kinship: Sequence, Transmission, and Essence in Ethnography and Social Theory. Oxford: Berghahn.
Wagner, R. (1981). The Invention of Culture (revised and expanded edition). Chicago: University of Chicago Press.
Wentworth, K. (2015a). Sensing Sentience and Managing Microbes: Lifedeath in the Slaughterhouse. Mosaic: An Interdisciplinary Critical Journal, 48(3), 141-157.
Wentworth, K. (2015b). Writing/Power/Story: Why and How to Do Ethnography of Nonhuman Beings and Things. Retrieved from https://culanth.org/fieldsights/writing-power-story-why-and-how-to-do-ethnography-of-nonhuman-beings-and-things
ผู้เขียน
ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
ผู้จัดการ ฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ป้ายกำกับ วิธีวิทยา คิดผ่านสิ่งอื่น Thinking Through Things ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ