ทบทวนมโนทัศน์“ชนบท”ในประวัติศาสตร์ไทย

 |  โบราณคดี และประวัติศาสตร์
ผู้เข้าชม : 4082

ทบทวนมโนทัศน์“ชนบท”ในประวัติศาสตร์ไทย

           บทความชิ้นนี้พยายามทบทวนมโนทัศน์เรื่องชนบทในสังคมไทย ผ่านการปริทัศน์หนังสือหลัก 3 เล่มซึ่งให้ความสำคัญกับความเป็นชนบทที่มิได้เน้นในลักษณะเฉพาะหรือพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งอย่างชัดเจน แต่เน้นในลักษณะเชิงภาพรวม คือ (1) เศรษฐกิจหมู่บ้านไทยในอดีต เขียนโดย ฉัตรทิพย์ นาถสุภา (2) อ่าน “วัฒนธรรมชุมชน” วาทศิลป์และการเมืองของชาติพันธุ์นิพนธ์แนววัฒนธรรมชุมชน เขียนโดย ยุกติ มุกดาวิจิตร และ (3) เขียนชนบทให้เป็นชาติ กำเนิดมานุษยวิทยาไทยสมัยสงครามเย็น เขียนโดย เก่งกิจ กิติเรียงลาภ หนังสือทั้ง 3 เล่มนี้ได้ชี้ชวนให้ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตสามประการที่ช่วยทำให้เข้าใจมโนทัศน์ของชนบทในประวัติศาสตร์ไทย คือ

           ประการแรก ความหมายของ “ชนบท” แต่เดิม คำว่า “ชนบท” มิได้แพร่หลายมากนัก ก่อน พ.ศ. 2475 คำศัพท์ที่ให้ความหมายในทำนองเดียวกันชนบทส่วนใหญ่นิยมเรียกว่า “บ้านนอก” มากกว่า โดยคำว่าบ้านนอกมีนัยของความเจริญแตกต่างออกไปจากพื้นที่กรุงเทพฯ (เก่งกิจ, 2562, น51) หรือเป็นพื้นที่อื่นนอกศูนย์กลางอำนาจ (สามชาย, 2563) มากไปกว่านั้นคือ การจัดจำแนกเชิงชาติพันธุ์-ถิ่นฐาน ของชนชั้นนำในช่วงการสร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นช่วยให้ชนชั้นนำสยามรู้สึกได้ว่าตนอยู่ในสถานะที่สูงส่งทั้งในสยามเองและในความสัมพันธ์กับโลกภายนอก กล่าวอีกนัยหนึ่ง ช่วงแรกเริ่มของการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่รัฐสมัยใหม่ สยามเป็นปริมณฑลของการจัดลำดับชั้น มิใช่การจัดลำดับชั้นด้วยชนชั้นและสถานะเพียงเท่านั้น แต่ยังมีการจัดแบ่งชาติพันธุ์หรือผู้คนตามภูมิศาสตร์อีกอย่างหนึ่งด้วย (ธงชัย, 2560ก)

           ในแง่นี้ ความเข้าใจที่สื่อถึง “ชนบท” จึงเป็นสิ่งที่มิได้เกิดก่อนเมือง แต่สังคมเมืองต่างหากที่ “สร้าง” กรอบคิดเกี่ยวกับชนบท ผ่านการทำให้ชนบทเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับเมือง (ชูศักดิ์, 2559) หลัง พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา คำว่า “ชนบท” แพร่หลายมากขึ้น โดยสามารถมองผ่านวรรณกรรมอย่าง แผลเก่า ของ ไม้ เมืองเดิม ที่แต่งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2478 (สุจิตต์, 2563) และตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2479 หลังการปฏิวัติสยามเพียง 4 ปี (ภิญญาพันธุ์, 2566) แสดงให้เห็นการตัดขาดกันระหว่างเมืองกับชนบท และบุคลิกของตัวละครที่อาศัยอยู่ในเมืองกับชนบทนนั้นมีลักษณะที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน (ชูศักดิ์, 2558)

           ประการที่สอง พลวัตของความหมาย “ชนบท” ความรู้แบบหนึ่งของชนชั้นนำสมัยรัชกาลที่ 5 ดังที่กล่าวไปแล้วในประการแรกคือการสร้างความรู้เกี่ยวกับ“คนอื่น”ซึ่งเป็นพื้นฐานของการมองภาพชนบทของชนชั้นนำสยามที่มีฐานคิดว่าด้วยความศิวิไลซ์ (ธงชัย, 2560ข) ซึ่งได้รวบรวมงานเขียนประเภทชาติพันธุ์นิพนธ์ในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ปรากกฎอยู่ในหนังสือวชิรญาณวิเศษ ซึ่งการที่ชนชั้นนำให้ความสำคัญกับการจำแนกผู้คนบ่งบอกว่าสถานะของชนชั้นนำในยุคการเปลี่ยนผ่านที่ “ยิ่งปกครองหลากหลายอำนาจของตนก็มากขึ้นตามไปด้วย” (เน้นโดยผู้เขียน) (ธงชัย, 2560ก)

           ช่วงสงครามเย็น ภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์ รัฐจึงให้ภาพของ “ชนบท” เป็นสิ่งที่แร้นแค้นและจำเป็นต้องพัฒนา ความรู้ในทางสังคมศาสตร์แบบอเมริกันมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการสร้างความเป็นชนบท จากการศึกษาของ เก่งกิจ กิติเรียงลาภ (เก่งกิจ, 2562) ได้พิจารณาบทบาทการวิจัยด้านชนบทหมู่บ้านและไทยศึกษาที่เริ่มก่อตัวขึ้นในสมัยสงครามเย็นเนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่ใกล้กับสมรภูมิรบในสงครามเวียดนาม การทำความเข้าใจสังคมไทยจึงเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการต่อกรกับคอมมิวนิสต์ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามโดยตรงต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมของสหรัฐฯ

           การขาดความรู้เกี่ยวกับมวลชนโดยเฉพาะชาวนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐฯก่อให้เกิดการศึกษาชนบทหมู่บ้านในประเทศไทย (เก่งกิจ, 2562, น55-56) รัฐไทยในช่วงเวลานั้นจึงเป็นการปรับตัวให้เข้ากับระเบียบโลกใหม่ตามสหรัฐฯ (ณัฐพล, 2563) ศูนย์วิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับหมู่บ้านชนบทและไทยศึกษาจึงเกิดขึ้นในช่วงเวลานี้เป็นจำนวนมาก (เก่งกิจ, 2560)เก่งกิจเสนอว่า การเข้าสู่ภาวะสมัยใหม่จำเป็นที่จะต้องพิจารณาบทบาทของอเมริกัน โดยเฉพาะประเด็นเรื่องความรู้เกี่ยวกับไทยศึกษาและหมู่บ้านหรือชนบทที่ต้องพิจารณาในฐานะอาณานิคมทางปัญญา (เก่งกิจ, 2562)

           ภายหลังยุคพัฒนาและสงครามเย็น ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เกิดในนามของการพัฒนาได้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อชาวบ้านแบบรอบด้านซึ่งเป็นที่รับรู้กันในวงกว้าง นักวิชาการด้านสังคมศาสตร์จึงตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชนบท ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องสิทธิที่ทำกินและการถูกแย่งชิงทรัพยากร ปัญหาเรื่องเชื้อชาติ/สัญชาติ ปัญหาหนี้สินและความยากจน ปัญหาการแตกสลายของครอบครัวและชุมชน ปัญหาความเสื่อมโทรมทางวัฒนธรรมและประเพณีต่าง ๆ ซึ่งปัญหาเหล่านี้เริ่มเป็นที่รับรู้และให้ความสนใจในหมู่ปัญญาชนมาตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 2510 เป็นต้นมา (ณัฏฐพงษ์, 2564, น23)

           ช่วงเวลานี้จึงมีการศึกษาชนบทอย่างเข้มข้น จากการศึกษาหมู่บ้านของ ฉัตรทิพย์ นาถสุภา เป็นการพยายามศึกษาแก่นแท้ดั้งเดิมของหมู่บ้าน ทั้งในเรื่องชีวิตทางวัฒนธรรมและธรรมชาติของชาวบ้านในอดีต การผลิตแบบพอยังชีพ ความเปลี่ยนแปลงสำหรับหมู่บ้านที่สำคัญ ได้แก่สนธิสัญญาเบาริงได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในหมู่บ้านภาคกลาง เนื่องจากต้องผลิตเพื่อขายมากขึ้น ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากระบบการผลิตแบบพอยังชีพมาสู่ระบบการผลิตเพื่อการแสวงหากำไรและความเป็นชุมชนก็แตกสลายลงจากทำลายจากระบบทุนนิยมที่เข้ามาในหมู่บ้าน (ฉัตรทิพย์, 2527)

           อย่างไรก็ดี ภูมิภาคอื่น ๆ อย่างภาคเหนือไม่ได้รับความเปลี่ยนแปลงมากนักหลังสนธิสัญญานี้เนื่องจากการคมนาคมยากลำบาก และมีความคล้ายกับภาคอีสาน วัฒนธรรมดั้งเดิมของทั้งสองภูมิภาคนี้จึงมีอยู่มาก (เรื่องเดียวกัน, น75-80) ฉัตรทิพย์ ตั้งข้อสังเกตว่า “การเกิดขบถของสองภูมิภาคนี้ในแต่ละครั้งเป็นการพยายามรักษาลักษณะการปกครองตนเองภายใน และลักษณะพอยังชีพของหมู่บ้านทั้งหมู่บ้านมีแรงผูกพันภายในสูง” (เน้นโดยผู้เขียน) (เรื่องเดียวกัน, น 88)

           สิ่งที่ฉัตรทิพย์พยายามชี้ให้เห็นก็คือความเป็นชุมชนนั้นสามารถยืนอยู่ได้ด้วยตนเอง ความหมายของชนบทในงานเขียนลักษณะนี้จึงมีความเปลี่ยนแปลงจากชนบทคือพื้นที่อื่นไร้ อารยธรรมและเป็นขั้วตรงข้ามกับเมือง กลายมาเป็นพื้นที่ที่สวยงามน่าชื่นชม มีวัฒนธรรมอันดี ทุนนิยมและรัฐเป็นสิ่งที่มาทำลายความเป็นชุมชน การเขียนงานลักษณะนี้จึงเป็นการหาวัฒนธรรม ระบบคุณค่าของชาวบ้านเพื่อการพัฒนาชุมชนที่แตกสลาย (ยุกติ, 2548)

           แนวคิดในการศึกษาชุมชนหมู่บ้านของฉัตรทิพย์ เกี่ยวพันอย่างลึกซึ่งกับทฤษฎีที่เริ่มมาจากความฝังใจในความคิดแบบอนาธิปัตย์นิยม โดยเฉพาะความคิดของ Kropotkin เกี่ยวกับสังคมอุดมคติในรูปของชุมชนที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน (อานันท์, 2544) ในส่วนของวิธีการศึกษาในงานเขียนมักเป็นไปในทาง “ประวัติศาสตร์แบบคำบอกเล่า” (oral History) ด้วยการสัมภาษณ์จากผู้เฒ่าผู้แก่เป็นหลัก เพราะเอกสารราชการจะให้ภาพในแง่มุมของรัฐอย่างเดียว จึงไม่สามารถที่จะสะท้อนมุมมองของชาวบ้านได้ (เรื่องเดียวกัน, น 154-155)

           ภาพของชนบทในงานเขียนของฉัตรทิพย์ จึงใกล้เคียงกับจินตภาพแบบเมืองไทยนี้ดี ที่มีลักษณะแบบเมืองไทยในชนบทยังมีความอุดมสมบูรณ์ มีธรรมชาติสวยงาม ภาพความเป็นไทยจึงเป็นชนบทอันดีงามสืบเนื่องมาจากพุทธศาสนาและขนบธรรมเนียมประเพณี การผลิตสร้างอุดมการณ์ความเป็นไทยในลักษณะนี้เป็นไปเพื่อสร้างความภาคภูมิใจ และความรักความหวงแหนต่อบ้านเกิด (สามชาย, 2563, น 92)

           จากการอธิบายชนบทของฉัตรทิพย์ในบริบทหลังสงครามเย็น ความหมายของชนบทจึงมิได้หยุดนิ่งตายตัวเสียทีเดียว แต่มีความผสมปนเปและอิหลักอิเหลื่อกันอยู่ คือ ชนบทคือพื้นที่ทางกายภาพที่ห่างไกลจากเมือง เป็นพื้นที่ป่าเขา ไม่เป็นที่รู้จัก ชนบทจึงเต็มไปด้วยอันตราย ไร้ระเบียบ แร้นแค้น อำนาจรัฐเอื้อมมือเข้าไม่ถึง ในขณะเดียวกัน ชนบทก็มิใช่ที่รกร้างว่างเปล่า แต่มีลักษณะเป็นชุมชนที่มีผู้คนอยู่อาศัย มีวิถีชีวิตเรียบง่าย มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ เพราะสภาพพื้นที่ยังเต็มไปด้วยต้นไม้และป่าเขา (เรื่องเดียวกัน)

           ดังนั้น ความเป็นชนบทนั้นไม่สามารถกล่าวได้ว่าในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ ชนบทจะมีความหมายใดที่แน่นอนตายตัว เพราะความหมายของชนบทเกิดขึ้นซ้อนทับกันอยู่ ความเป็นชนบทจึงเป็นเสมือนการต่อสู้ช่วงชิงความหมายที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา (ยุกติ, 2538, น 127) อิทธิพลทางความคิดของฉัตรทิพย์ในการให้ภาพของ“ชนบท” เป็นสิ่งที่งดงาม มีคุณค่า ส่งผลต่อการสร้างชนบท ภายใต้สำนักที่เรียกว่า “วัฒนธรรมชุมชน”

           ประการสุดท้าย วิวาทะว่าด้วย “ชนบท” การขยับเข้าสู่การสนใจประวัติศาสตร์ประชาชนหลัง 14 ตุลาฯ ได้กระตุ้นให้นักวิชาการและปัญญาชนท้องถิ่นหันมาสนใจท้องถิ่นในเชิงสถาบัน โดยเฉพาะวิทยาลัยครูในพื้นที่ต่าง ๆ พยายามสร้างหลักสูตรท้องถิ่นเป็นของตนเอง จนเกิดแรงผลักดันให้มีการจัดสัมมนาท้องถิ่นและวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เกิดขึ้นหลายครั้งในจังหวัดต่าง ๆ ตั้งแต่ทศวรรษที่ 2520 จึงเกิดเป็นกระแสและแนวทางการศึกษาท้องถิ่น (อานันท์, 2544, น148)

           ในเวลาเดียวกัน การขยายตัวขององค์กรเอกชนและการพัฒนาชนบทที่อาศัยแนวทางของฉัตรทิพย์ ได้ก่อให้เกิดมุมมองต่อชนบทใหม่ผ่านสำนักวัฒนธรรมชุมชน โดยปะทะกับความคิดที่ว่าชนบทนั้นล้าหลัง ไม่ก้าวหน้า และไม่เป็นวิทยาศาสตร์ให้หันกลับมาเชิดชูคุณค่าของวัฒนธรรมชนบท โดยมีลักษณะสำคัญสองประการคือ (1) มีวัฒนธรรมเป็นของตนเอง มีคุณค่า งดงาม มีภูมิปัญญาของตนเอง สิ่งเหล่านี้ถือเป็นฐานของการพัฒนาชนบทได้อย่างสอดคล้องและเหมาะสมที่สุด และ (2) การรุกคืบเข้ามาของทุนนิยมที่เข้ามาพร้อมกับอำนาจรัฐ ได้ทำลายความเป็นชุมชนในหลาย ๆ ด้าน (เรื่องเดียวกัน, น 149)

           อย่างไรก็ดี กระแสทางมานุษยวิทยาที่สำคัญในช่วงทศวรรษที่ 1980 (พ.ศ.2520) คือกระแส Writing Culture ที่พยายามตั้งคำถามต่ออำนาจของงานเขียนเชิงชาติพันธุ์นิพนธ์ (James Clifford and George E Marcus, 1986, introduction) การปรับใช้แนวคิดนี้ในการวิเคราะห์การศึกษาชนบทในสังคมไทย คืองานเขียนของยุกติ มุกดาวิจิตร ที่พยายามชี้ให้เห็นถึงความหมายและตั้งคำถามต่องานเขียนของสำนัก“วัฒนธรรมชุมชน” และพยายามถอดความหมายต่าง ๆ ให้เห็น ผ่านการวิเคราะห์บริบททางเศรษฐกิจ สังคม และการเติบโตขึ้นของชนชั้นกลางที่หาความหมายในการพัฒนา นอกจากบริบทภายนอกแล้วยังมีการวิเคราะห์ภายในงานเขียน และการวิเคราะห์ทางด้านการสร้างตัวตน การสร้างอัตลักษณ์ ที่อธิบายเกี่ยวกับลักษณะของชนบทที่งานเขียนนำเสนอ (ยุกติ, 2538)

           ความหมายของชนบทในช่วงเวลาต่าง ๆ จึงขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมทางความหมาย ทั้งในเรื่องของเศรษฐกิจ สังคม ที่จะทำให้ความเป็นชนบทชุดใดมีเหตุผล และมีพลังในการอธิบาย (เรื่องเดียวกัน) ดังนั้น การ“สร้าง”ชนบทคือการใช้ชุดความจริง จึงมีความหมายในลักษณะของการ “สร้าง” มิใช่สะท้อนความเป็นจริง เนื่องจากงานเขียนที่แสดงออกมาในช่วงเวลาต่าง ๆ มีบริบททางสังคม การเมือง เศรษฐกิจที่แตกต่างกันออกไป (ยุกติ, 2548) ในอีกทางหนึ่ง การเขียนชนบทก็ถูกกำกับด้วยโลกทัศน์ ศีลธรรม ความดีงาม ปรัชญา ฯลฯ ในตัวของผู้เขียนเอง

           นอกจากนี้ งานเขียนของสำนัก“วัฒนธรรมชุมชน” ซึ่งนำโดยฉัตรทิพย์ นาถสุภา ที่มีอิทธิพลต่อการศึกษาหมู่บ้านหรือชนบทในสังคมไทย ยังถูกวิพากษ์โดยนักวิชาการหลายคน อาทิ อานันท์ กาญจนพันธุ์ ตั้งข้อสังเกตในเรื่องของการใช้ข้อมูลกับวิธีวิทยา ธงชัย วินิจจะกูล วิเคราะห์ในเรื่องของอุดมการณ์และแนวความคิดจากงานเขียน เครก เจ เรย์โนลด์ ทบทวนผู้วิพากษ์งานเขียนของ ฉัตรทิพย์ในหลายชิ้น อย่างไรก็ดี ผู้วิพากษ์หลายท่านพยายามชี้ให้เห็นว่างานเขียนของสำนัก“วัฒนธรรมชุมชน”นั้นได้ให้ภาพของความเป็นหมู่บ้านหรือชนบทเคลื่อนมาจากชนบทที่แร้นแค้นและจำเป็นต้องพัฒนามาเป็นภาพชนบทที่งดงามมาตั้งแต่แรก (ดูเพิ่มใน, อานันท์, 2544, ยุกติ, 2548, ธงชัย, 2562, เครก, 2562, สามชาย, 2563)

           ท้ายที่สุด บทความชิ้นนี้เป็นการถอดรื้อความเป็น “ชนบท” ที่ถูกสร้างขึ้นในบริบทต่าง ๆ ข้อสังเกตทั้งสามประการของผู้เขียนได้ข้อสรุปว่า “ชนบท”เป็นสิ่งที่ไม่หยุดนิ่งตายตัวและมีความเปลี่ยนแปลงมาเป็นลำดับ สิ่งที่ทำให้ภาพความเป็นชนบทมีลักษณะนี้เนื่องจากบริบททางการเมือง อาทิ ช่วงการสร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ “ชนบท”ถูกจัดลำดับเพื่อแสดงถึงอำนาจของชนชั้นนำ หรือในช่วงสงครามเย็น มีการใช้การศึกษา “ชนบท” เพื่อต่อต้านอุดมการณ์แบบคอมมิวนิสต์ หลังเหตุการณ์ 14ตุลาฯ ที่ทำให้มีการศึกษาชนบทในวงกว้างเพื่อตอบโต้ชนบทที่มีลักษณะที่แร้นแค้นและไม่น่าอาศัยอยู่ให้เป็นชนบทที่สวยงาม น่าท่องเที่ยว รวมไปถึงการเติบโตขององค์กรเอกชนและการพัฒนาชนบทในทศวรรษที่ 2520 รวมถึงกระแสทางวิชาการที่ให้มุมมองของการถกเถียงในประเด็นเรื่องชนบท ความหมายของ “ชนบท” จึงมีพลวัตจากการปะทะกันของบริบทเหล่านี้


บรรณานุกรม

เก่งกิจ กิติเรียงลาภ. เขียนชนบทให้เป็นชาติ: กำเนิดมานุษยวิทยาไทยในยุคสงครามเย็น. กรุงเทพฯ: มติชน, 2562.

เครก เจ เรย์โนลด์. “ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ผู้วิพากษ์ของท่านและการวิพากษ์ใหม่.” ใน. จดหมายจากสุดขอบโลก: คำนึงถึงอดีตในปัจจุบัน. ปรีดี หงษ์สต้น. บรรณาธิการแปล. กรุงเทพฯ: สยามปริทัศน์. 2562.

ฉัตรทิพย์ นาถสุภา. เศรษฐกิจหมู่บ้านไทยในอดีต. กรุงเทพ: บริษัท สำนักพิมพ์สร้างสรรค์ จำกัด. 2527.

ชูศักดิ์ ภัทรกุลวนิช. “แผลเก่า และแผลจากที่ฝากไว้ก่อน.” ใน. อ่านใหม่: เมืองกับชนบทในวรรณกรรมไทย.กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์อ่าน. 2558.

ชูศักดิ์ ภัทรกุลวนิช. “ภาพเสนอความเป็นชนบทในวรรณกรรมหลังสงครามโลกครั้งที่ 2” ประชาไท. https://prachatai.com/journal/2016/12/69259. เข้าถึงเมื่อ 14/12/2566.

ณัฏฐพงษ์ สกุลเลี่ยว. วิธีวิทยาของการศึกษาประวัติศาสตร์ไทย: ศึกษาจากวิทยานิพนธ์สาขาประวัติศาสตร์ในประเทศไทย ทศวรรษ 2520 ถึงทศวรรษ 2550. พิษณุโลก: ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร. 2564.

ณัฐพล ใจจริง. ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรีย์: การเมืองไทยภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา 2491-2500.นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน.2563.

เก่งกิจ กิติเรียงลาภ. “สถาบันความรู้ด้านไทยศึกษาและมานุษยวิทยาแบบอเมริกันในประเทศไทย.”ใน. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ. บรรณาธิการ. ความ (ไม่) เป็นสมัยใหม่: ความเปลี่ยนแปลงและความย้อนแย้งของไทย. กรุงเทพฯ: สยามปริทัศน์. 2560.

ธงชัย วินิจจะกูล. “คนอื่นในผืนตน: การเดินทางกับการจำแนกชาติพันธ์ของราษฎรสยามตามถิ่นฐานระหว่าง พ.ศ.2428-2453.”ใน คนไทย/คนอื่น: ว่าด้วยคนอื่นในความเป็นไทย. นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน 2560.

ธงชัย วินิจจะกูล. “ชาตินิยมกับปัญญาชนหัวก้าวหน้าในประเทศไทย.” ใน. ออกนอกขนบประวัติศาสตร์ไทย: ว่าด้วยประวัติศาสตร์นอกขนบและวิธีวิทยาทางเลือก. นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน. 2562.

ธงชัย วินิจจะกูล. “ภาวะอย่างไรหนอที่เรียกว่าศิวิไลซ์: เมื่อชนชั้นนำสยามสมัยรัชกาลที่ 5 แสวงหาสถานะของตนเองผ่านการเดินทางและพิพิธภัณฑ์ทั้งในและนอกประเทศ. ใน คนไทย/คนอื่น : ว่าด้วยคนอื่นในความเป็นไทย. นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน. 2560.

ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัลย์. “แผลเก่า แห่งทุ่งบางกะปิ ร่อยรอย การชนกันของชนชั้น เมือง และชนบทหลังปฏิวัติ.” 101.World. https://www.the101.world/plae-kao-of-bangkapi/. เข้าถึงเมื่อ 18/12/2566.

ยุกติ มุกดาวิจิตร. “การก่อตัวของกระแส “วัฒนธรรมชุมชน”ในสังคมไทย พ.ศ.2520-2537.” วิทยานิพนธ์สังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต สาขามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 2538.

ยุกติ มุกดาวิจิตร, “อ่าน”วัฒนธรรมชุมชน: วาทศิลป์และการเมืองของชาติพันธุ์นิพนธ์แนววัฒนธรรมชุมชน.นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน.2548.

สามชาย ศรีสันต์. บทสำรวจวาทกรรมชนบทและบ้านนอกในความเป็นไทยรื้อ-สร้าง-ทบทวน สำนึกและมายาคติต่อความขัดแย้งและความเหลื่อมล้ำของชนบทกับเมือง ตั้งแต่ไพร่ ชาวนา คนเสื้อแดง ถึงชนชั้นกลางใหม่.กรุงเทพฯ: สมมติ. 2563.

สุจิตต์ วงษ์เทศ.“ขวัญ-เรียม ในแผลเก่า ย่านบางกะปิ-แสนแสบ ใกล้อาร์ซีเอ” มติชนสุดสัปดาห์, https://www.matichonweekly.com/column/article_352848. เข้าถึงเมื่อ18/12/2566.

อานันท์ กาญจนพันธุ์.“สังคมไทยตามความความคิดและความใฝ่ฝันในงานของอาจารย์ฉัตรทิพย์ นาถสุภา” ใน. ๖๐ ปี ฉัตรทิพย์ นาถสุภา. กรุงเทพฯ. ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2544.

James Clifford and George E Marcus. Writing Culture: The politices and Ethnography. California: university of California pass.1986.


ผู้เขียน
ณัฏฐวรรธน์ คล้ายสมมุติ


 

ป้ายกำกับ ทบทวน มโนทัศน์ ชนบท ประวัติศาสตร์ไทย ณัฏฐวรรธน์ คล้ายสมมุติ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share