วัฏจักรเกษตรกรรมกับเกณฑ์เริ่มต้นปีใหม่ในวัฒนธรรมไทย

 |  โบราณคดี และประวัติศาสตร์
ผู้เข้าชม : 9930

วัฏจักรเกษตรกรรมกับเกณฑ์เริ่มต้นปีใหม่ในวัฒนธรรมไทย

 

วัฏจักรเกษตรกรรมกับเกณฑ์เริ่มต้นปีใหม่ในวัฒนธรรมไทย

 

ดร.ตรงใจ หุตางกูร

นักวิชาการ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


           การครบรอบ 1 ปีนั้น เรามีเกณฑ์อ้างอิงอยู่ 2 แบบ คือ อ้างอิงดวงอาทิตย์ เรียกว่า      สุริยคติ (Solar Calendar) ที่ใช้จำนวนวันที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ครบ 1 รอบ ซึ่งใช้เวลา 365 วัน 6 ชั่วโมง และอ้างอิงดวงจันทร์ เรียกว่า จันทรคติ (Lunar Calendar) ที่ใช้จำนวนวันที่ดวงจันทร์โคจรรอบโลกครบ 12 รอบ ซึ่งใช้เวลา 354-355 วัน

           แรกเริ่มนั้น มนุษย์คงนับรอบปีตามจันทรคติ เพราะสังเกตได้ง่าย แต่ก็มีปัญหาว่า วันทางจันทรคติมีจำนวนน้อยกว่าวันทางสุริยคติ ทำให้วันเริ่มต้นฤดูกาลต่างๆ ในปฏิทินจันทรคติของแต่ละปี วันจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ และวันดังกล่าวก็จะเวียนกลับมาจุดเดิมทุกๆ 33 ปี ตัวอย่างปฏิทินจันทรคติที่ยังคงใช้ระบบนี้อยู่คือปฏิทินอิสลาม หรือที่เรียกกันว่า “ปฏิทินฮิจญ์เราะฮ์” นั่นเอง

           เนื่องจากปัญหาวันเริ่มปีใหม่ของปฏิทินจันทรคติไม่คงที่ตรงกับฤดูกาลที่เปลี่ยนไปของโลก วัฒนธรรมจีนและอินเดียจึงได้เพิ่มจำนวนวันเพื่อชดเชยวันที่ขาดไป ทำให้ได้วันปีใหม่ทางจันทรคติที่ตกอยู่ในช่วงการเปลี่ยนฤดูกาล โดยกำหนดว่าทุกๆ 3 ปี ต้องเพิ่มเดือนเข้าไปอีกหนึ่งเดือน ซึ่งทางอินเดียจะเรียกปีที่มีเดือนเพิ่มขึ้นนี้ว่า “ปีอธิกมาส” แปลว่า ปีที่มีเดือนเพิ่มขึ้น หรือ ที่เรารู้จักกันว่า เดือน 8 สองหนนั่นเอง

           ในกรณีของวัฒนธรรมจีนนั้น ได้มีการผสมทั้งระบบสุริยคติและจันทรคติเข้าด้วยกัน เรียกว่า ปฏิทินสุริยจันทรคติ (Lunisolar Calendar) ตัวอย่างคือ ชาวจีนกำหนดให้วันปีใหม่ตกอยู่ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งเริ่มต้นในวันที่ 3 หรือ 4 กุมภาพันธ์ของทุกปีตามปฏิทินสุริยคติ เพราะเป็นช่วงเวลาที่สัมพันธ์กับวงโคจรของดวงอาทิตย์โดยตรง วันเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลินี้เรียกว่า วันลี่ชุน (立春) หรือที่บ้านเราเรียกด้วยสำเนียงแต้จิ๋วว่า “ลิบชุน” แต่วันปีใหม่ (ชุนเจี๋ย 春節) หรือ วันตรุษจีน นั้น จะไม่ใช่วันเดียวกันทุกปีในปฏิทินสุริยคติ โดยแต่ละปีจะเปลี่ยนวันไปตามแต่ว่าวัน 1 ค่ำ เดือน 1 ตามปฏิทินจันทรคติจีน จะเริ่มวันไหน อย่างไรก็ตาม วันตรุษจีนก็จะตกอยู่ระหว่างวันที่ 21 มกราคม ถึง 20 กุมภาพันธ์ ซึ่งก็ยังถือว่าอยู่ในช่วงเวลาเริ่มต้นของฤดูใบไม้ผลิ

           นอกจากกรณีของจีนแล้ว ก็ยังมีวัฒนธรรมอื่นๆ อีกบนโลกนี้ ที่ใช้ฤดูใบไม้ผลิเป็นจุดเริ่มต้นปีใหม่เหมือนๆ กัน เสมือนว่า เมื่อผ่านพ้นฤดูหนาวอันเหน็บหนาวและไม่มีผลผลิตทางการเกษตรให้บริโภค ก็ได้เริ่มต้นวงจรชีวิตที่อบอุ่นและมีผลผลิตทางการเกษตรไว้บริโภค ดังเช่นในปฏิทินโรมันโบราณ (ก่อนการปฏิรูปปฏิทินของจูเลียส ซีซาร์) ชาวโรมันมี 10 เดือน โดยเดือนแรกคือ เดือนมาร์เทียส หรือเดือนแห่งเทพมาร์ส (mensis martius) ปัจจุบันคือเดือนมาร์ช (March) ในภาษาอังกฤษ เหตุที่เดือนมาร์เทียสเป็นเดือนแรกนั้นเพราะว่า เป็นเดือนเริ่มต้นของฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งเป็นฤดูที่ส่งเสริมกิจกรรมต่างๆ ไว้ว่าจะเป็นการเกษตร การทหาร และการค้าทางทะเล เหตุที่เดือนนี้ถูกยกให้เป็นเดือนของเทพมาร์สนั้น เพราะชาวโรมันเชื่อว่าบรรพบุรุษของพวกตนสืบเชื้อสายมาจากเทพองค์นี้นั่นเอง นอกจากนี้ ในปฏิทินแห่งชาติอินเดีย (Indian National Calendar) ก็กำหนดให้วันปีใหม่เริ่มต้นเมื่อโลกโคจรเข้าราศีเมษอันเป็นการเริ่มต้นวสันตฤดู หรือฤดูใบไม้ผลิด้วยเช่นกัน ช่วงเวลานี้ โลกโคจรย่างเข้าสู่หมู่ดาวจิตระ ดังนั้น เดือนนี้จึงได้ชื่อว่า “ไจตระ” (ไจตฺร चैत्र) และถือเป็นเดือนแรกของปี มีช่วงเวลาราววันที่ 22 มีนาคม ถึง 20 เมษายนของทุกปีตามปฏิทินสุริยคติ อันเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อการเริ่มต้นทำการเกษตรและกิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจอื่นๆ

           ถึงแม้ว่าเราจะรับรู้กันว่าปีใหม่ไทยโบราณตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยานั้น คือช่วงวันสงกรานต์ แต่มีจุดน่าสังเกตว่า ทำไมการนับปีใหม่ไทย ไม่นับช่วงสงกรานต์เป็นเดือนอ้าย แต่กลับนับเป็นเดือน 5 นั่นแสดงว่า ปีใหม่ไทยโบราณก่อนการรับวัฒนธรรมอินเดียนั่นคือเดือนอ้ายใช่หรือไม่? และการกำหนดให้เดือนอ้าย เป็นเดือนแรกของปีตามปฏิทินจันทรคตินั้น เกี่ยวข้องอย่างไรก็กับวัฏจักรเกษตรกรรมในภูมิภาคนี้หรือไม่?

           หลักฐานการใช้คำลักษณะนามเรียกจำนวนปีว่า “เข้า” ในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง ซึ่งตรงกับคำว่า “ข้าว” ในภาษาไทยปัจจุบันนั้น เช่น “เมื่อกูขึ้นใหญ่ได้สิบเก้าเข้า” แปลว่า “เมื่อข้าพเจ้าเติบใหญ่อายุได้ 19 ปี” เป็นต้น

           ศัพท์คำนี้เองทำให้เราทราบว่า คนสุโขทัยโบราณใช้วัฏจักรเกษตรกรรม เพื่อนับจำนวนปี ร่องรอยนี้สอดคล้องกับเนื้อความเรื่องพระราชพิธีสิบสองเดือน ใน “กฎหมายตราสามดวง” ซึ่งตราขึ้นในรัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ราว พ.ศ. 2011 ดังความที่กล่าวถึงเดือน 12 ว่ามีพิธีจองเปรียง ลดชุดลอยโคมลงน้ำ และเดือน 1 หรือ เดือนอ้าย มีพิธีไล่เรือ เถลิงพิธีตรียำปวาย ถึงแม้ว่าความที่กล่าวนี้ไม่ได้พูดถึงการทำนาข้าวโดยตรง แต่มีข้อน่าสังเกตคือ ระยะเวลาระหว่างเดือน 12 กับ เดือน 1 ซึ่งตรงกับระยะเวลาในปฏิทินสากลระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคมนั้น ต่างก็มีนัยเกี่ยวข้องกับปริมาณน้ำมาก เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างพระราชพิธีกับวัฏจักรเกษตรกรรมนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงอธิบายโดยยกพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ไว้ในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือนไว้ว่า “การยกโคมชัยในพิธีจองเปรียง เดือน 12 นั้น ยกเพื่อเหนี่ยวรั้งน้ำเอาไว้เลี้ยงข้าวในนาให้ทั่วถึงก่อนถึงเวลาเก็บเกี่ยว ถือเป็นพิธีอุปการะข้าวในนา พอถึงเดือนอ้าย ก็ได้เวลาเก็บเกี่ยว ดังนั้นจึงต้องทำพิธีไล่น้ำออกจากนา” ตรงนี้จะเห็นได้ว่า พระราชพิธีไล่เรือ มีจุดประสงค์เพื่อไล่ให้น้ำลดไปจากท้องนาโดยเร็ว เพื่อไม่ให้ข้าวที่พร้อมเก็บเกี่ยวได้รับความเสียหายจากน้ำมากเกินไป ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่า วันปีใหม่ของไทยแต่โบราณก่อนได้รับอิทธิพลทางศาสนาจากอินเดียนั้น อิงอยู่กับวัฏจักรเกษตรกรรมในรอบปีของการปลูกข้าว การขึ้นปีใหม่ของไทยโบราณจึงถือเอาวันแรกของเดือนจันทรคติที่ต้องเก็บเกี่ยวข้าวเป็นเกณฑ์ ซึ่งต่างกับวัฒนธรรมจีน อินเดีย หรือ ยุโรป ที่ใช้การเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิ คือ เริ่มต้นเพาะปลูกเป็นเกณฑ์

           ความเชื่อทางศาสนาก็มีส่วนในการปรับเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ ในกรณีของอยุธยาเห็นได้ชัดว่า การนับลำดับเดือนก็ยังคงนับตามวัฏจักรเกษตรกรรม แต่วันขึ้นปีใหม่กลับเปลี่ยนมารับความเชื่อของอินเดีย ดังในกฎหมายตราสามดวงถือเอาเดือน 5 เป็นเดือนแรกสำหรับประกอบพระราชพิธี 12 เดือน เดือน 5 นี้ มีพระราชพิธีเผด็จศก ลดแจตร ออกสนาม ซึ่งชัดเจนว่าเป็นพิธีที่เกี่ยวกับการสิ้นปีและการเริ่มปีใหม่ เพราะคำว่า “เผด็จศก” ก็คือ ตัดปี หมายถึงสิ้นปี (เผด็จ มาจากคำเขมร ផ្ដេច [เผฺดจ อ่าน เผฺดจ] แปลว่า ตัด) “ลดแจตร” ก็คือ การย่างเข้าสู่กลุ่มดาวจิตระ (ลด น่าจะเพี้ยนเสียงมาจากคำเขมร លោត [โลด อ่าน โลด] แปลว่า กระโดด ข้ามพ้น) คำว่า “แจตร” ก็คือชื่อเดือน “ไจตระ” นั่นเอง ซึ่งเป็นเดือนแรกของปฏิทินอินเดีย

 

                 

 

ผู้เขียน

ดร.ตรงใจ หุตางกูร

นักวิชาการ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ป้ายกำกับ โบราณคดีและประวัติศาสตร์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share