นิกโกลอ เด โกนติ: แรกฝรั่งกินทุเรียน

 |  โบราณคดี และประวัติศาสตร์
ผู้เข้าชม : 2046

นิกโกลอ เด โกนติ: แรกฝรั่งกินทุเรียน

           ขึ้นชื่อว่า “ทุเรียน” แล้ว มีทั้งคนชอบและไม่ชอบ คนชอบก็รักสุดใจ คนไม่ชอบก็เกลียดเข้าไส้ นั่นก็เพราะลักษณะเฉพาะของกลิ่นและรสของเนื้อทุเรียน นอกจากนี้ รูปลักษณ์ภายนอกเองก็มีหนามแหลมเป็นลักษณะพิเศษอันโดดเด่น ทำให้ปอกกินไม่ง่ายเหมือนผลไม้ชนิดอื่น เหตุที่ผมจะมาเล่าเรื่อง “แรกฝรั่งกินทุเรียน” ก็เพราะว่า ขณะที่ผมสำรวจเนื้อหาเอกสารที่ชาวยุโรปอ้างถึงเอเชียอาคเนย์นั้น ผมพบว่า มีเรื่องราวของ นิกโกลอ เด โกนติ (Niccolò de' Conti)1 พ่อค้าชาวเมือง เวนิส ได้อ้างถึงลักษณะและรสชาติของทุเรียนที่เกาะสุมาตราไว้ด้วย นั่นหมายความว่า “นิกโกลอ เคยกินทุเรียน!” และถือได้ว่าเป็นเอกสารเก่าที่สุดที่บันทึกเรื่อง “ฝรั่งกินทุเรียน” เพราะมีการประมาณอายุเนื้อหาตอนนี้ไว้ว่า นิกโกลอ เคยเดินทางมาเกาะสุมาตราในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 15 (ค.ศ. 1401-1450 / พ.ศ. 1944- 1993) แต่ปัญหาคือ ทุเรียนที่เขากินนั้นเป็นแบบที่เรารู้จักกันหรือเปล่า?

ภาพที่ 1 ทุเรียนหมอนทอง สายพันธุ์หนึ่งของ Durio zibethinus ที่คนไทยคุ้นเคย

ที่มาของภาพ RTP thailand (2021-04-23)

 

1. นิกโกลอ เด โกนติ เป็นใคร?

           เรื่องราวของ นิกโกลอ เด โกนติ ที่ได้รับการตีพิมพ์และแปลให้เราได้อ่านกันนั้น เขาไม่ได้เรียบเรียงเขียนเอง แต่นิกโกลอเป็นคนเล่าเรื่องราวการเดินทางของเขาให้แก่ ป็อจโจ บรัชโชลินี (Poggio Bracciolini) ชาวเมืองฟลอเรนส์ (Florence) ผู้เป็นนักเขียนและนักปรัชญาอิตาลี โดยป็อจโจ ได้ขอสัมภาษณ์นิกโกลอ และเมื่อได้เรื่องราวแล้ว จึงนำไปเรียบเรียงเป็นภาษาละติน แล้วนำไปรวมไว้ในหนังสือชุด 4 เล่มชื่อ “Historiae de Varietate Fortunae” (= นานาเรื่องราวจากความหลากหลายแห่งโชคชะตา) โดยเรื่องราวของนิกโกลอนั้นชื่อว่า “นานาเรื่องราวจากความหลากหลายแห่งโชคชะตา เล่มที่ 4” (เช่น Poggius Bracciolinus Florentinus 1492 & 1723: 126-152) และมีฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษโดย วินเทอร์ โจนส์ (Winter Jones (tr.) 1857) โดยใช้ชื่อเรื่องภาษาอังกฤษว่า “The Travels of Nocolò Conti, In the East, In the Early Part of the Fifteenth Century.” (= การเดินทางของนิโกโล ค็อนติ, ในบุรพทิศ, ช่วงต้นศตวรรษที่ 15)

           ป็อจโจ บรัชโชลินี เล่าให้เราฟังว่า นิกโกลอ เด โกนติ เป็นชาวเมืองเวนิส ช่วงวัยหนุ่มนั้น เขาเดินทางไปอยู่ค้าขายที่เมืองดามัสกัส เขตแดนแคว้นซีเรีย และได้เรียนรู้ภาษาอาหรับที่นั่น ต่อมา เขามีโอกาสร่วมกองคาราวานใหญ่ไปกับกลุ่มพ่อค้าอาหรับ กระทั่งไปอาศัยอยู่ที่เมืองคาลาคาเตีย (Calacatia)2 ในเขตแดนอาณาจักรเปอร์เซีย และที่นี่เอง นิกโกลอได้มีโอกาสเรียนภาษาเปอร์เซีย ต่อมาจึงได้เข้าร่วมเดินทางไปกับกลุ่มพ่อค้าเปอร์เซียที่กำลังจะมุ่งหน้าไปค้าขายยังโลกตะวันออก นิกโกลอได้เดินทางเข้ามายังอินเดียและเอเชียอาคเนย์ และบอกเล่าข้อมูลเกี่ยวกับจีนอีกด้วย

           สำหรับเอเชียอาคเนย์นั้น นิกโกลอเล่าว่า เขาเดินทางจากเกาะสิงหล มายังเมืองเชียมูเตรา (Sciamuthera = สมุทรา หรือ สุมาตรา)3 ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเกาะสุมาตรา บนชายฝั่งด้านตะวันออกเฉียงเหนือ จากนั้นเขาเดินทางขึ้นเหนือข้ามไปยังคาบสมุทรมลายูเพื่อไปขึ้นฝั่งที่เมือง เตร์นัสซารี (Ternassari = ตะนาวศรี) จากนั้นลัดเลาะไปเข้าปากแม่น้ำคงคา (Ganges) แล้วล่องตามลำน้ำขึ้นไปถึงเมืองเชร์โนเว (Cernove)4 เขาเดินทางไปเมืองต่าง ๆ ในบริเวณนั้นพักหนึ่ง แล้วจึงลัดเลาะต่อไปยังเมืองอาวะ (Ava = อังวะ) จากนั้น เขาเล่าว่า เขาไปยังเกาะชวาน้อย เกาะชวาใหญ่ และเชียมปา (Ciampa = จามปา) แล้วจึงเดินทางกลับไปยังเมืองเวนีส


2. สุมาตราจากปากคำของ นิกโกลอ เด โกนติ

           เรื่องกินทุเรียนนั้น เกิดขึ้นในช่วงที่เขาอยู่ในเมืองเชียมูเตรานานถึง 1 ปี จากเรื่องราวที่เขาเล่าเกี่ยวกับเกาะนี้ ทำให้เราทราบว่า นิกโกลอ เรียกเกาะสุมาตราว่า “เกาะตาโปรบานา” (Taprobana) ซึ่งการเรียกชื่อนี้ อาจเป็นต้นตอของความสับสนให้แก่ช่างทำแผนที่ยุคถัดมา ที่ระบุชื่อของเกาะสุมาตราบนแผนที่ว่า “ตาโปรบานา” ทั้งที่เอกสารกรีก-โรมัน ใช้ชื่อ “ตาโปรบาแน” ให้หมายถึงเกาะสิงหล (หรือ ศรีลังกา)

           ความคลาดเคลื่อนนี้อาจเป็นเพราะการปะทะกันระหว่างข้อมูลเก่ากับข้อมูลใหม่ แต่ช่างทำแผนที่ต้องการเก็บไว้ทั้งสอง กล่าวคือ ในสมัยเส้นทางการค้าทางทะเลอินโด-โรมัน ชาวยุโรปรู้จักเกาะศรีลังกาในนาม “ตาโปรบาแน” อย่างน้อยก็ถึงช่วงศตวรรษที่ 6 ตามบันทึกของ “คอสมัส ผู้ล่องอินเดีย” (ตรงใจ 2565) ต่อมาพยางค์ท้ายของชื่อนี้เพี้ยนไป จึงเรียกกันว่า “ตาโปรบานา”

           กระนั้น เมื่อเวลาผ่านไปถึงสมัยของนิกโกลอ คือช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 15 เหล่าพ่อค้าวานิชรู้จักเกาะสิงหลในชื่อ “ซีย์ลัม” (Ceylam) ซึ่งเพี้ยนมาจากต้นคำคือ สิมหฬัม (ทมิฬ: ஸிம்ஹளம்; Simhaḷam) จึงถือเป็นข้อมูลร่วมสมัยของยุคนั้น ด้วยเหตุนี้ ช่างทำแผนที่จึงต้องหาที่ลงให้เกาะใหญ่ชื่อ ตาโปรบานาที่มีมาแต่อดีต ด้วยไม่ทราบว่า ทั้งตาโปรบานากับซีย์ลัมนั้น เป็นเกาะเดียวกัน จึงได้นำชื่อ “ตาโปรบานา” ไปใช้เรียกเกาะขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ถัดไปทางตะวันออกของเกาะสิงหล นั่นคือเกาะสุมาตรา แผนที่โลกในช่วงศตวรรษที่ 15 ถึงต้นศตวรรษที่ 16 จึงมีลักษณะเฉพาะคือ เป็นการเก็บทั้งข้อมูลเก่าของปโตเลมี (ศตวรรษที่ 2 ที่เรียก ตาโปรบาแน) และข้อมูลร่วมสมัยจากนักเดินทางช่วงศตวรรษที่ 15 ไว้ในแผนที่เดียวกัน

           นิกโกลอให้ข้อมูลเกี่ยวกับสุมาตราในช่วงที่เขาไปเยือนว่า เกาะนี้มีขนาดใหญ่โต เป็นเมืองท่าค้าขายที่มีชื่อเสียงมาก ชาวเกาะป่าเถื่อนโหดร้าย ชายหญิงเจาะหูรูใหญ่ใส่ตุ้มหูอัญมณี นุ่งห่มผ้าลินินและไหม คลุมยาวถึงเข่า ชายมีเมียได้มากเท่าที่พอใจ เรือนบ้านปลูกทรงเตี้ยเพื่อไม่ให้บ้านร้อนแดด บูชาเทวรูป พริกไทยที่นี่เม็ดโตกว่าพริกไทยทั่วไป และยังมีพริกหาง การบูร และทองอีกเป็นจำนวนมาก ต้นพริกไทยมีลักษณะเป็นเถา เม็ดเขียว ชาวเกาะทำเม็ดให้แห้งด้วยการนำไปตากแดด โดยโปรยขี้เถ้าลงไปด้วย มีผลไม้สีเขียวเรียกว่า “ดูเรียน” ส่วนหนึ่งของเกาะที่เรียกว่า บาเตช (Batech) เป็นถิ่นของเผ่ากินเนื้อคน และมักสู้รบกับเพื่อนบ้าน ถือกันว่าหัวคนเป็นสมบัติมีค่า เหตุนี้ เมื่อรบกันและจับศัตรูมาได้ ก็จะตัดหัวแล้วกินเนื้อ จากนั้นจึงเก็บสะสมกะโหลกไว้ใช้ต่างเงินตรา โดยสามารถใช้กะโหลก 1-2 หัว แลกสิ่งของได้ ผู้ใดมีหัวเก็บไว้ที่บ้านมาก ผู้นั้นย่อมถูกยกย่องว่า เป็นผู้มั่งคั่งร่ำรวย (เก็บความจากWinter Jones (tr.) 1857)


3. คำแปลอันหลากหลาย

           ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า นิกโกลอ เด โกนติ ไม่ได้เป็นผู้เขียนเรื่องราวการเดินทางของตน แต่เขาเป็นผู้บอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ให้แก่ ป็อจโจ บรัชโชลินี (Poggio Bracciolini) นักเขียนและนักปรัชญาชาวอิตาลี ซึ่งได้เรียบเรียงเขียนขึ้นด้วยภาษาละติน ดังนั้น ต้นฉบับที่กล่าวถึงลักษณะและรสชาติของทุเรียนตามโลกทัศน์ฝรั่งแรกกินทุเรียนนี้ จึงเป็นข้อความภาษาละติน ซึ่งเป็นภาษาตามสมัยนิยมในการเขียนหนังสือของทวีปยุโรปช่วงนั้น อย่างไรก็ตาม ข้อมูลชุดเดียวกันนี้ มีปรากฏอยู่บนแผนที่โลกของ ฟรา เมาโร (Fra Mauro) ด้วยเช่นกัน เพียงแต่เขียนด้วยภาษาอิตาลีโบราณ (ถิ่นเวนิส) และมีข้อมูลบางประการแตกต่างกัน

           ผมสืบค้นได้ว่า ข้อมูลภาษาละตินที่อ้างถึงทุเรียนนั้น มีการแปลมาแล้วอย่างน้อย 6 สำนวน เป็นภาษาอังกฤษ 3 สำนวน ภาษาฝรั่งเศส 1 สำนวน และ ภาษาอิตาลี 2 สำนวน ผมได้แปลแต่ละสำนวนจากภาษาดังกล่าวเป็นภาษาไทยเพื่อเปรียบเทียบให้เห็นข้อมูลเหล่านี้ว่า มีปรากฏการณ์ “lost in translation” ดังนี้

สำนวนแปลที่ 1 ภาษาอังกฤษ โดย แฟรมป์ตัน (Frampton (tr.) 1579, อ้างโดย Breazeale 2004):

There is a greene fruite named Duriano, of the bignesse of Cucumbers. And there be some of the lyke Orengies or Lemans, of diverse savours and taste, as like butter, lyke milke, and like curdes.

บทแปลภาษาไทย โดย ตรงใจ หุตางกูร (2567):

มีผลไม้สีเขียวชื่อว่า “ดูเรียโน”, มีขนาดใหญ่เท่าผลแตงกวา (cucumbers). แลมีลักษณะเหมือนส้มหรือเลมอน, มีรสชาติหลากรส, เหมือนเนย, เหมือนนม แลเหมือนก้อนนม (เคิร์ด).

ภาพที่ 2 แตงกวา (Cucumis sativus); ละติน: cucumis; อังกฤษ: cucumber

ที่มาของภาพ matkubphom (2023-11-06)


ภาพที่ 3 ก้อนนม หรือ เคิร์ด (curd) ลิ่มน้ำนม ก็เรียก

ที่มาของภาพ: healthshots (2023-04-09)

 

สำนวนแปลที่ 2 ภาษาอังกฤษ โดย วินเทอร์ โจนส์ (Winter Jones (tr.) 1857):

In this island (Sumatra) there also grows a green fruit which they call duriano, of the size of a cucumber. When opened five fruits are found within, resembling oblong oranges. The taste varies like that of cheese.

บทแปลภาษาไทย โดย ตรงใจ หุตางกูร (2567):

ในเกาะนี้ (สุมาตรา) ที่นั่นปลูกผลไม้สีเขียวเช่นกัน ซึ่งพวกเขาเรียกมันว่า “ดูเรียโน”, มีขนาดเท่าผลแตงกวา (cucumber). เมื่อเปิดผลออก ภายในมี 5 พู, ซึ่งดูคล้ายผลส้มทรงยาว. รสชาติหลากหลายรส เหมือนรสชีส.

ภาพที่ 4 ชีสอันหลากหลาย (cheeses)

ที่มาของภาพ: Times Food (2021-04-14)


ภาพที่ 5 ส้ม; อังกฤษ: sweet orange; อิตาลีโบราณ: melarancia; อิตาลี-ละติน: mala rantia

ที่มาของภาพ: Wikipedia 2023

 

สำนวนแปลที่ 3 ภาษาอังกฤษ โดย ยูลและเบอร์แนลล์ (Yule & Burnell (tr.) 1903: 332):

They have a green fruit which they call durian, as big as a water-melon. Inside there are five things like elongated oranges, and resembling thick butter, with a combination of flavours.

บทแปลภาษาไทย โดย ตรงใจ หุตางกูร (2567):

พวกเขามีผลไม้สีเขียว ซึ่งพวกเขาเรียกว่า “ดูเรียน”, ขนาดผลใหญ่เท่าแตงโม (water-melon). ภายในมี 5 พู ดูเหมือนผลส้มทรงยาว, และคล้ายคลึงกับก้อนเนยหนา ๆ ที่มีหลายรสปนกัน.

ภาพที่ 6 แตงโม; อังกฤษ: watermelon; ฝรั่งเศส: pastèque; อิตาลี: cocomero / anguria

ที่มาของภาพ: Times Food (2021-04-14)


ภาพที่ 7 ก้อนเนยหนา (thick butter)

ที่มาของภาพ: BuzzyKitchen (2022-12-05)

 

สำนวนแปลที่ 4 ภาษาฝรั่งเศส โดย เมนารด์ (Ménard (tr.) 2004: 95):

Ils ont un fruit, nommé durianum, de la taille d’une pastèque, qui contient cinq fruits gros comme une orange; mais ils ont une forme allongée et un goût de beurre rance et de lait caillé.

บทแปลภาษาไทย โดย ตรงใจ หุตางกูร (2567):

พวกเขามีผลไม้ชนิดหนึ่ง, ชื่อว่า ดูเรียนุม, มีขนาดเท่าแตงโม (pastèque), ซึ่งภายในมี 5 พู ดูเหมือนส้ม; แต่พูเหล่านั้นมีรูปทรงยาว แลมีรสชาติแบบเนยกลิ่นตุ ๆ แลก้อนนมเหนียว ๆ.


สำนวนแปลที่ 5 ภาษาอิตาลีโบราณ โดย รามูสิโญ (Ramusio (tr.) 1588: 340):

Nasce anchora in questa isola un frutto ch’essi dimandano Duriano, ch’è verde, et di grandezza d’una anguria, in mezzo del quale aprendolo si trovano cinque frutti, come sarian melarancie, ma un poco più lunghi, d’eccellente sapore, che nei mangiare pare un butiro rappreso.

บทแปลภาษาไทย โดย ตรงใจ หุตางกูร (2567):

บนเกาะนี้ปลูกผลไม้ชนิดหนึ่งอีกด้วย ซึ่งเรียกว่า ดูเรียโน, ซึ่งมีสีเขียว, แลมีขนาดใหญ่เท่าแตงโม (anguria), ในกลางผลนั้น เมื่อเปิดออกก็จะพบ[เนื้อ] 5 พู, ดูเหมือนผลส้ม (melarancie), แต่ยาวกว่าเล็กน้อย, มีรสชาติเป็นเลิศ, ซึ่งขณะกินนั้น เหมือน[เคี้ยว]ก้อนเนยหนาๆ.


สำนวนแปลที่ 6 ภาษาอิตาลี โดย โลงเกนา (Longhena (tr.) 1929: 134):

Hanno un fructo che si chiama duriano di gradezza d'un cocomero, nel quale sono V pomi come melarance. Ma sono lunghi et di vario sapore a similitudine di butiro rappreso.

บทแปลภาษาไทย โดย ตรงใจ หุตางกูร (2567):

พวกเขามีผลไม้ชนิดหนึ่ง เรียกว่า ดูเรียโน, ซึ่งมีขนาดใหญ่เท่าแตงโม (cocomero), ซึ่งในผลนั้นคือ[เนื้อ] 5 พู [ดู]เหมือนส้ม (melarance). แต่[ทรง]ยาว แลมีหลากรสปนเป คล้ายคลึง[ก้อน]เนยหนา ๆ.

[สิ้นสุดบทแปล]


4. ปัญหา lost in translation จากการแปลคำละติน cucumis

           จากสำนวนแปลทั้ง 6 นี้ แม้จะได้ชื่อว่าแปลมาจากต้นฉบับภาษาละติน แต่ก็มีการแปลตามโลกทัศน์ของผู้แปล ที่ทำให้คำแปลไม่ตรงกัน รวมไปถึงเรื่อง “lost in translation” ที่เกิดจากการแปลคำบอกเล่าภาษาอิตาลีโบราณ (ถิ่นเวนิส) ของนิกโกลอ เด โกนติ มาเป็นภาษาละติน โดยป็อจโจ บรัชโชลินี ซึ่งทำให้คำแปลนี้กลายเป็น “ละตินแบบอิตาลี” โดยเฉพาะศัพท์เรียกผลไม้ ที่ยังไม่เข้ามาในสมัยโรมัน แต่เพิ่งเข้ามาช่วงนครรัฐอิตาลี ทำให้ ชาวโรมันไม่มีคำศัพท์เรียก “แตงโม” และ “ส้มเกลี้ยง” (sweet orange) ด้วยภาษาละติน

           โดยทั่วไป คำละติน คูคูมิส (cucumis) หมายถึง แตงกวา แต่ก็เป็นไปได้ว่าในบางกรณี cucumis ถูกใช้เรียกผลแตงชนิดต่างๆ แบบรวม ๆ (collective melon kinds) อันรวมไปถึงผลจำพวกแตงไทย แคนตาลูป หรือเมลอนชนิดต่างๆ หลากหลายขนาด ดังที่สมัยต่อมา cucumis ได้กลายเป็นรากคำให้แก่คำอิตาลี โคโคเมโร (cocomero) ที่ใช้เรียกแตงโม ปัจจุบันพบว่า ในงานอนุกรมวิธานนั้น นักพฤกษศาสตร์ใช้คำละติน cucumis ตั้งชื่อสกุลให้แก่พืชจำนวกแตงเป็นสกุล Cucumis เช่น แตงกวา (C. sativus) หรือ แตงไทย/เมลอน (C. melo) แต่แตงโมนั้น แม้จะอยู่ในวงศ์เดียวกัน กลับถูกจัดไว้ในอีกสกุลคือ สกุล Citrullus

           ด้วยเหตุที่ cucumis มีนัยยะทางความหมายให้หมายถึงพืชจำพวกแตงได้ และไม่มีคำละตินที่หมายถึง “แตงโม” โดยตรง จึงเป็นไปได้ว่า เมื่อป็อจโจต้องการแปล “แตงโม” ซึ่งภาษาอิตาลีโบราณมีเรียก 2 แบบคือ anguria และ cocomero นั้น ให้เป็นคำละติน ป็อจโจจึงเลือกใช้คำละติน cucumis ซึ่งอาจเพราะป็อจโจเห็นว่า คำนี้เป็นรากคำของ cocomero แต่ทว่า ความหมายโดยทั่วไปของ cucumis ในภาษาละตินนั้น หมายถึง “แตงกวา”! ทำให้ แฟรมป์ตัน กับ วินเทอร์ โจนส์ แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า cucumber ซึ่งหมายถึงแตงกวา แทนที่จะแปลเป็น water-melon นี่คือ lost in translation ที่เกิดขึ้นกับคำแปลบทภาษาอังกฤษดังกล่าว


5. ปัญหาข้อความขาดหาย คำแปลคลาดเคลื่อน

           เนื่องจากผมสำรวจพบต้นฉบับตีพิมพ์ 2 สำนวน คือ “ฉบับ ค.ศ. 1492” กับ “ฉบับชำระ ค.ศ. 1723” จึงได้ค้นข้อความภาษาละตินที่อ้างถึง “ทุเรียน” แล้วพบว่า “ฉบับชำระ ค.ศ. 1723” ได้แก้การสะกดคำสองคำ แต่กลับมีคำขาดหายไปสองคำด้วย ตามข้อความดังนี้ (อักษรสีน้ำเงินคือแก้การสะกดคำ อักษรสีแดงคือหายไป)

           (1) “ฉบับ ค.ศ. 1492”:
           fructum viridem habent nomine durianum magnitudine cucumeris: in quo sunt quinque veluti Mala rantia oblonga varii saporis instar butiri & lactis coagulati.

           (2) “ฉบับชำระ ค.ศ. 1723”:
           fructum viridem habent nomine durianum magnitudine cucumeris: in quo sunt quinque veluti Malarancia oblonga varii saporis instar butyri coagulati.

           จากการเปรียบเทียบข้อความทั้งสอง พบข้อผิดพลาด 3 ประการคือ

           (1) แก้ไขรูปคำ จาก “Mala racia” เป็น “Malarancia” (= ส้มจีน หมายถึงส้มเช้ง-ส้มเกลี้ยง)

           (2) แก้ไขรูปคำ จาก “butiri” เป็น “butyri” (= ของเนย)

           (3) คัดลอกตกหล่น คือคำว่า “& lactis” (= และของนม) หายไป

           การหายไปของคำว่า “ของนม” (lactis) ย่อมส่งผลกระทบต่อความหมายของประโยคที่แปลอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นตอนที่เกี่ยวข้องกับ “ลักษณะรสชาติของทุเรียน” อีกด้วย กล่าวคือ จากคำแปลทั้งหมดน่าสังเกตว่า มีเพียงคำแปลของแฟรมป์ตันกับเมนารด์เท่านั้น ที่ยังคงคำแปล “นม” เอาไว้ ซึ่งเป็นไปได้ที่ แฟรมป์ตัน กับเมนารด์ ใช้เนื้อหาของ “ฉบับ ค.ศ. 1492” ในขณะที่ฉบับแปลอื่นไม่ปรากฏ “นม” เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นไปได้ว่า เป็นคำแปลจาก “ฉบับชำระ ค.ศ. 1723” เมื่อนำคำแปลเฉพาะส่วนนี้มาเปรียบเทียบกัน ได้ผลดังนี้

           (1) แฟรมป์ตัน ว่า “มีรสชาติหลากรส, เหมือนเนย, เหมือนนม แลเหมือนก้อนนม (เคิร์ด)

           (2) วินเทอร์ โจนส์ ว่า “รสชาติหลากหลายรส เหมือนรสชีส

           (3) ยูลและเบอร์แนลล์ ว่า “คล้ายคลึงกับก้อนเนยหนาๆ ที่มีหลายรสปนกัน

           (4) เมนารด์ ว่า “แลมีรสชาติแบบเนยกลิ่นตุๆ แลก้อนนมเหนียว ๆ

           (5) รามูสิโญ ว่า “มีรสชาติเป็นเลิศ, ซึ่งขณะกินนั้น เหมือน(เคี้ยว)ก้อนเนยหนา ๆ

           (6) โลงเกนา ว่า “แลมีหลากรสปนเป คล้ายคลึง(ก้อน)เนยหนา ๆ


6. คำแปลใหม่จากต้นฉบับภาษาละติน

           ด้วยเหตุที่คำแปลสำนวนต่าง ๆ ลักลั่นกันอยู่ ผมจึงพิจารณาว่า หากเราแปลเนื้อหาจากภาษาละตินเป็นภาษาไทยแล้ว คำแปลภาษาไทยที่สมบูรณ์ตามภาษาละตินควรเป็นเช่นใด? ในการนี้ ผมได้นำภาพของข้อความของนิกโกลอที่อ้างถึงทุเรียน จากเอกสาร “ฉบับ ค.ศ. 1492” มานำเสนอ พร้อมทั้งการแปลเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษดังนี้

ที่มา: ข้อความภาษาละตินจากฉบับ ค.ศ. 1492 (Poggius Bracciolinus Florentinus 1492)

 

ข้อความภาษาละตินที่อ้างถึง “ทุเรียน” โดย นิกโกลอ เด โกนติ

คำแปลภาษาไทยและอังกฤษโดย ตรงใจ หุตางกูร (2567, ผู้เขียน)

The Latin Text referred to “Durian” by Niccolò de' Conti

Translation in Thai and English by Trongjai Hutangkura (2024, author)

           ละติน: fructum viridem habent, nomine durianum, magnitudine cucumeris.

           แปลโดยศัพท์: [พวกเขา]มีผลสีเขียว โดยชื่อ “ดูเรียนุม”, โดย[มี]ขนาดใหญ่ของแตงโม.

           แปลโดยอรรถ: พวกเขามีผลไม้สีเขียวชื่อ “ดูเรียน” ขนาดใหญ่เท่าแตงโม.

           คำแปลอังกฤษ: They have a green fruit, [called] by the name durian, [and considered] by the size of watermelon.

อธิบายศัพท์: fructum viridem (ซึ่งผลไม้สีเขียว; จาก fructus = ผลไม้, viridis = เขียว); habent (พวกเขามี; จาก habere = มี); nomine (โดยชื่อ; จาก nomen = ชื่อ); durianum (ดูเรียนุม; จาก ธาตุคำ durian- + um); magnitudine (โดยขนาดใหญ่; จาก magnitudo = ขนาดใหญ่); cucumeris (ของแตง; จาก cucumis = แตง)

ปัญหาการแปล: คำว่า cucumis ต้องแปลตามบริบทภาษาอิตาลีว่าหมายถึง “แตงโม” กล่าวคือ โดยทั่วไปในภาษาละตินนั้น คำว่า cucumis (คู-คู-มิส) หมายถึง “แตงกวา” ซึ่งเป็นรูปนามการกเอกพจน์ (singular, nominative case) และมีรูปกรรมการกเอกพจน์ (singular, accusative case) คือ cucumerem (คู-คู-เม-เรม) ซึ่งรากคำ cucumer- (คู-คู-เมรฺ) ได้เป็นต้นศัพท์ให้แก่คำอังกฤษว่า cucumber (คิ้ว-คัม-เบอรฺ; Lewis & Short 1879: 487) กับคำฝรั่งเศสว่า concombre (กง-กง-เบฺรอะ; Gaffiot 1934: 448) ในความหมายเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ภาษาอิตาลีกลับนำคำนี้ ไปใช้เรียก “แตงโม” ด้วยรูปคำว่า cocomero (โก-โก-เม-โร; UTET Grandi Opere 2018: 248) ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นไปได้ว่า ป็อจโจ ซึ่งเป็นชาวอิตาลี ตั้งใจใช้คำอิตาลีว่า cocomero ที่เข้าใจกันโดยทั่วไปในหมู่ชาวอิตาลีว่าหมายถึง “แตงโม” แปลกลับตามรากคำไปเป็นรูปคำละติน คือ cucumis แล้วผันเป็นรูปสัมพันธ์การกเป็น cucumeris ดังนั้น การแปลเป็นบทภาษาไทยนี้ จึงขอแปลความหมายตามบริบทภาษาอิตาลีว่า “แตงโม” ตามที่ ยูลและเบอร์แนลล์ตีความว่าเป็น watermelon (แตงโม) เพราะสอดคล้องกับขนาดและรูปทรงของทุเรียน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะมีขนาดและรูปทรงแบบแตงกวา.


           ละติน: in quo sunt quinque, veluti Mala rantia oblonga,

           แปลโดยศัพท์: ภายในลูกนี้ ห้า[พู]อยู่ [รูปร่าง]ดุจส้มจีนทรงยาว,

           แปลโดยอรรถ: ภายในผล มีอยู่ห้าพู ซึ่งดูเหมือนผลส้มจีนทรงยาว ๆ,

           คำแปลอังกฤษ: In that [fruit], five [segments of pulp] are [in there], [which] look-like an oblong Chinese orange (Citrus sinensis = sweet orange).

 

อธิบายศัพท์: in (ใน); quo (ที่สิ่งนั้น; จาก qui = ผู้นั้น สิ่งนั้น); sunt (พวกมันอยู่; จาก esse = เป็น อยู่ คือ); quinque (ห้า; ในที่นี้หมายถึง ห้าพู); veluti (เหมือน ดุจ); Mala rancia (ส้มจีน หมายถึง ส้มเช้ง-ส้มเกลี้ยง, ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Citrus x sinensis หรือ Citrus × aurantium f.aurantium, ภาษาอังกฤษเรียก sweet orange, ภาษาดัทช์เรียก Sinaasappel แปลตามศัพท์ = แอ๊ปเปิ้ลจีน; oblonga (ทรงยาว).

ปัญหาการแปล: (1) sunt quinque: ป็อจโจ ใช้คำกำกวมว่า “ห้า” (quinque) หมายถึงสิ่งที่มี 5, ส่วนคำว่า sunt นั้นเป็นคำกริยา เทียบอังกฤษคือ “are” วลีนี้จึงควรหมายถึง ห้าสิ่งนี้อยู่ภายในผลทุเรียน (five things are in durian) อย่างไรก็ตาม หากรู้จักลักษณะของทุเรียนแล้ว “ห้า” ดังกล่าวต้องเป็นสิ่งที่ภาษาไทยเรียกว่า “พู” นั่นคือ ภายในผลทุเรียน มี 5 พู. (2) mala rancia: คำว่า mala rancia (มาลา รันเคีย) หรือที่ได้รับการแก้เป็น malarancia นั้น ไม่ใช่คำละตินแท้ แต่เป็นคำที่ ป็อจโจ แปลทับศัพท์มาจากคำอิตาลีว่า melarancia ที่หมายถึงส้มเช้ง-ส้มเกลี้ยง ซึ่งมาจาก mela (แอ็ปเปิ้ล) + (n)arancia (ส้ม) (wiktionary 2023: melarancia) และเทียบเป็นรูปคำละตินได้คือ malum aurantium (Bonomi 2008: melarancia) ซึ่งสังเกตรากคำได้คือ mal- และ aurant-; ดังนั้น malarancia / melarancia จึงอาจหมายถึง ส้มเช้ง หรือ ส้มเกลี้ยง การแปลเป็นภาษาไทยครั้งนี้จึงขอแปลโดยใช้ศัพท์ว่า “ส้มจีน”; อนึ่ง “sweet orange” ตรงกับคำจีนคือ 甜橙 (tiánchéng เถียนเฉิงร์) หมายถึง ส้มเช้ง โดยมีความหมายตามศัพท์ว่า “ส้มหวาน”, คำว่า 橙 (เฉิงร์) หมายถึง “ส้ม” ออกเสียงตามแต้จิ๋วว่า “เช้ง” (เธียรชัย 2541: 339) เหตุนี้ ภาษาไทยจึงเรียกส้มชนิดนี้ว่า “ส้มเช้ง”; น่าสนใจว่า นิกโกลอ เปรียบเทียบสีของเนื้อทุเรียนที่เขาเห็นกับสีส้ม นั่นแสดงว่า ทุเรียนที่เขาได้ลิ้มรสนั้น เป็นชนิดเนื้อสีส้ม ไม่ใช่สีเหลืองแบบที่คนไทยคุ้นเคย.

 

           ละติน: varii saporis instar butiri & lactis coagulati.

           แปลโดยศัพท์: แห่งรสชาติที่หลากหลาย, ความคล้ายคลึงกับ[เนื้อ]เนย แลกับ[เนื้อ]ก้อนนมข้นหนา.

           แปลโดยอรรถ: มีหลากรสปนเป, เนื้อคล้ายเนยแลก้อนนมหนา ๆ.

           คำแปลอังกฤษ: [Its taste is] of various taste, [having] resemblance [of texture] of butter and thicken milk (= coagulated milk or curds).

 

อธิบายศัพท์: varii saporis (ของรสชาติที่หลากหลาย); instar (ความคล้ายคลึง); butiri (ของเนย); & (และ); lactis (ของนม); coagulati (ที่ข้นเหนียว).

ปัญหาการแปล: (1) varii saporis: ศัพท์นี้แปลตรงตัวตามภาษาอังกฤษว่า of various flavor หรือ having various flavor หมายความว่า เนื้อทุเรียนที่นิกโกลอได้กินนั้น มีหลากหลายรสปนเปกัน แต่ก็ไม่ชัดเจนว่า รสชาติประมาณใด จึงทำให้ผู้เขียนสันนิษฐานว่า หรือเป็นความพยายามของป็อจโจ ในการถ่ายทอดคำบอกเล่าของนิกโกลอ ที่สื่อว่าเป็น “รสปนเปบอกไม่ถูก” ? นั่นคือ ไม่สามารถให้นิยามได้ว่า รสชาติเด่นไปทางใด ตรงกับสำนวนไทยที่เวลาได้กินของแปลกๆ แล้วบอกว่า “รสชาติบอกไม่ถูก” แต่กระนั้น นิกโกลอ ก็พยายามให้นิยามต่อไปอีกว่า รสคล้ายก้อนนมก้อนเนย นั่นคือ รสมัน แต่ก็แปลกที่ นิกโกลอ ไม่บอกความรู้สึกถึง “รสหวาน” ของทุเรียนเลย มิเช่นนั้นก็อาจเป็นไปได้ว่าทุเรียนที่นิกโกลอได้กินนั้น งอมนิ่มรสมันอย่างเดียว เจือเพียงหวานปะแลม เปรี้ยวๆ ฝาดๆ ที่อาจเรียกได้ว่า รสมันหวานเปรี้ยวฝาดผสมกลิ่นทุเรียน จึงเป็นที่มาของการอธิบายว่า “หลากรสปนเป” หรือ “รสชาติบอกไม่ถูก”. (2) butiri: รูปคำนี้สะกดคลาดเคลื่อนมาจาก butyri (บูติวริ) แปลว่า “ของเนย” โดยมีรูปนามการก (nominative case) ที่แปลว่า “เนย” คือ butyrum (บูติวรุม). (3) lactis coagulati: ศัพท์นี้แปลตรงตัวตามภาษาอังกฤษได้ว่า of coagulated milk นั่นคือ นมที่ถูกทำให้ข้นกลายเป็นก้อนจับตัวกัน ซึ่งตรงกับศัพท์อังกฤษว่า “curd” ผู้เขียนจึงขอแปลว่า “ก้อนนมหนา” อย่างไรก็ตาม โดยบริบทของ “ก้อนนม” นี้ ก็ทำให้ตีความว่าอาจหมายถึง “ชีส” ได้เช่นกัน ดังที่ วินเทอร์ โจนส์ แปลไว้ แต่ก็น่าคิดว่า หากนิกโกลอ ต้องการสื่อถึง “ชีส” ทำไม ป็อจโจ ไม่เลือกใช้คำว่า “formaticum” (= ชีส; อิตาลี: formaggio; ฝรั่งเศส:formage).

[สิ้นสุดคำแปล]

 

7. อภิปรายข้อมูล

           จากคำแปลบทภาษาละตินของนิกโกลอ เด โกนติ เป็นภาษาไทยข้างต้น คือ

พวกเขามีผลไม้สีเขียวชื่อ “ดูเรียน” ขนาดใหญ่เท่าแตงโม.
ภายในผล มีอยู่ห้าพู ซึ่งดูเหมือนผลส้มจีนทรงยาว ๆ,
มีหลากรสปนเป, รสคล้ายเนยแลก้อนนมหนา.
(ตรงใจ หุตางกูร 2567)

           ทำให้เราเห็นประเด็นที่อาจนำมาอภิปรายได้ 5 ประเด็น ดังนี้

           (1) ชื่อ: จากรูปศัพท์ durianum เมื่อถอดวิภัติแสดงความเป็นนามการกแล้ว จะได้ศัพท์ durian ซึ่งชัดเจนว่า นิกโกลอ ได้ยินศัพท์ตามเสียงมลายูว่า durian (ดู-เรียน) แปลตามศัพท์ว่า “ลูกหนาม” จาก duri (= หนาม) + -an(คำเติมท้าย เพื่อแสดงความเป็นกลุ่มก้อน).

           (2) ลักษณะภายนอก: แม้ว่า นิกโกลอ ได้บอกเล่าว่า ผลทุเรียนมีสีเขียว และมีขนาดใหญ่เท่าแตงโม แต่ก็น่าประหลาดใจว่า ทำไมนิกโกลอ บอกเล่าให้ป็อจโจฟังเพียงแค่สีกับขนาด แต่กลับไม่บอกเล่าเกี่ยวกับ “หนามทุเรียน” ซึ่งถือเป็นลักษณะเด่นสะดุดตา หรือมิเช่นนั้น คงเป็นการคัดลอกข้อมูลตกหล่นได้หรือไม่? ทั้งนี้เพราะในแผนที่ของฟรา เมาโร ซึ่งเขียนด้วยภาษาอิตาลีโบราณนั้น เนื้อหาข้อมูลที่เขียนประกอบบนแผ่นที่ “มีลักษณะที่เชื่อได้ว่า” เป็นข้อมูลชุดเดียวกันกับ นิกโกลอ เด โกนติ อย่างแน่นอน มีเพียงประเด็นย่อยเท่านั้น ที่แตกต่างกันอยู่บ้าง ดังเช่นเรื่องหนามทุเรียน นั่นก็เพราะแผนที่ของฟรา เมาโร กล่าวถึง “หนามทุเรียน” ซึ่งเนื้อหาดังกล่าว ผมขอนำเสนอปิดท้ายบทความนี้

           (3) ลักษณะภายในผล: นิกโกลอ สื่อความหมายได้ถูกต้องเกี่ยวกับลักษณะภายในผลทุเรียนว่า มีลักษณะเป็นพู ทั้งนี้ลูกทุเรียนที่นิกโกลอได้กินนั้น มี 5 พู ข้อมูลนี้เปรียบเทียบได้กับคำบรรยายของ “หม่า ฮวน” คนจีนที่ได้กินทุเรียนบนเกาะสุมาตราเช่นเดียวกันกับนิกโกลอ ผู้กล่าวว่า “หากเมื่อผลสุก แกะ[เปลือกนี้]ออก ภายในมีห้าหกส่วน [= ห้าหกพู] กลิ่นเหมือนเนื้อเน่า” (Rockhill 1915: 155) สำหรับเรื่องสีสันของเนื้อทุเรียนนั้น ฉบับภาษาละตินเปรียบเทียบลักษณะรูปทรงให้เหมือนกับ “ผลส้มทรงยาว” (oblong orange) นั่นย่อมแสดงเป็นนัยว่า ทุเรียนที่นิกโกลอกินเป็นทุเรียนที่มีเนื้อสีส้มจัด ซึ่งเป็นลักษณะเด่นประการหนึ่งของ “ทุเรียนแดง” อนึ่ง บทบรรยายภาษาอิตาลีโบราณของฟรา เมาโร กล่าวว่าเนื้อทุเรียนที่สุมาตรามีสีม่วงแกมแดง (paonaço = อิตาลี: paonazzo) (Falchetta 2006: 181)นอกจากนี้ หม่า ฮวน ก็กล่าวถึงสีเนื้อของทุเรียนที่เขากินด้วยเช่นกัน แต่ทุเรียนที่เขากินนั้นเป็น “ทุเรียนขาว” (Rockhill 1915: 155)

           (4) ลักษณะก้อนเนื้อ: จากนั้น นิกโกลอ ได้เปรียบเทียบลักษณะรูปทรงและสีของก้อนเนื้อทุเรียนว่า ดูเหมือนส้มจีนที่มีรูปทรงยาวๆ ข้อมูลนี้ ย่อมแสดงว่า ทุเรียนที่นิกโกลอได้กินนั้น เป็นทุเรียนเนื้อสีส้ม แต่คำว่า oblonga ซึ่งแปลว่าทรงยาวนี้ อาจหมายถึงทั้งพู ซึ่งมีหลายเม็ด หรือหมายถึง ก้อนเนื้อทุเรียนของเม็ดเดียว ในพูนั้นก็ได้ โดยอาจพิจารณาว่า นิกโกลอ เทียบขนาดกับผลส้ม แต่ว่าผลส้มนั้น “กลม” ในขณะที่ทุเรียน 1 เม็ดพร้อมเนื้อนั้น ไม่ใช่ทรงกลม และมีลักษณะเป็น “ท่อนยาว” ซึ่งก็ตรงกับศัพท์ oblonga

           (5) รสชาติ: จากข้อมูลนี้ ทำให้พิจารณาได้ว่า นิกโกลอไม่สามารถชี้ขาดรสชาติเด่นของทุเรียนได้ จึงระบุเพียงว่า “มีหลากรสปนเป” ทั้งนี้อาจเป็นเพราะเป็นรสชาติรวมกันระหว่างรสหวานปนเปรี้ยวอ่อนๆ และหอมมัน ที่สำคัญ นิกโกลอให้ได้ “รสสัมผัสก้อนเนื้อทุเรียนในปาก” โดยอธิบายว่า “รสคล้ายเนยแลก้อนนมหนา” อย่างไรก็ตาม ในประเด็นเรื่องความหวานนี้ หากพิจารณาข้อมูลของฟรา เมาโร กลับพบว่า มีการระบุว่า รสชาติของทุเรียนนั้น (หวาน)อร่อย (sauvità = อิตาลี: soavità) (Falchetta 2006: 181) แต่กลับไม่ปรากฏบทบรรยายเปรียบเทียบความมันหอมเหมือนเนยและก้อนนมเลย อนึ่ง หม่า ฮวน คนจีนผู้ได้เคยลิ้มรสทุเรียนที่สุมาตรา แต่เป็น “ทุเรียนขาว” นั้น กล่าวถึงรสชาติของทุเรียนไว้ว่า “เนื้อขาวนุ่มนิ่ม มีสิบห้าชิ้น [= เม็ด] แลรสหวานมาก” (Rockhill 1915: 155)

           จากข้อมูลทั้งหมดนี้ เราได้พบว่า คำบรรยายเกี่ยวกับทุเรียนของนิกโกลอ เด โกนติ ที่ถ่ายทอดเป็นภาษาละตินโดยป็อจโจนั้น ไม่ได้กล่าวถึง “คุณสมบัติสำคัญ” ของทุเรียน นั่นคือ ลักษณะของผลที่มี “หนามแหลม” “กลิ่นแรง” และ “รสหวาน” แต่เรื่อง “หนามแหลม” และ “รสหวาน” นั้น เราจะพบร่องรอยอยู่ในงานของฟรา เมาโร ซึ่งก็ไม่มีเรื่อง “กลิ่นแรง” อยู่ดี ต่างที่ หม่า ฮวน ระบุว่า ทุเรียนกลิ่นเหมือนเนื้อเน่า แต่รสชาตินั้นหวานยิ่ง (Rockhill 1915: 155)


8. แรกฝรั่งกินทุเรียน ตามข้อเขียนของ ฟรา เมาโร

           ขณะที่ผมสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมนั้น ผมได้พบข้อมูลเกี่ยวกับทุเรียนอีกในเอกสารรุ่น ค.ศ. 1450 ซึ่งถือได้ว่าร่วมสมัยกับนิกโกลอ เด โกนติ นั่นคือ “แผนที่โลกของฟรา เมาโร” สิ่งที่น่าประหลาดใจคือ แม้ฟรา เมาโร ไม่ได้ระบุว่า ข้อมูลของเกาะสุมาตราที่เขียนประกอบไว้บนแผนที่นั้นมาจากไหน โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับทุเรียนนั้น กลับมีโครงสร้างข้อมูลคล้ายคลึงกับข้อมูลของนิกโกลอ เด โกนติ อย่างมีนัยยะ แม้มีรายละเอียดต่างกันบ้างก็ตาม

           หากต้องสันนิษฐานแหล่งที่มาของข้อมูลแล้ว ก็คงหนีไม่พ้นที่ผมจะสันนิษฐานว่า ฟรา เมาโร อาจเคยได้พบกับนิกโกลอ เด โกนติ เพื่อสัมภาษณ์เก็บข้อมูลส่วนตัว และคงเป็นเหตุให้ข้อมูลที่นิกโกลอ เด โกนติ เล่าให้ฟรา เมาโร ฟัง มีรายละเอียดเพิ่มเติมจากข้อมูลที่เขาบอกเล่าให้ป็อจโจฟัง ที่ถือได้ว่าเป็น “ส่วนเติมเต็ม” ที่ป็อจโจขาดหายไป สำหรับการแปลเนื้อหาที่ฟรา เมาโร เขียนไว้บนแผนที่นั้น ปีเญโร ฟัลเชตตา (Piero Falchetta) ได้แปลเป็นภาษาอังกฤษแล้ว และผมขอแปลข้อความที่เกี่ยวข้องกับทุเรียนในแผนที่โลกของฟรา เมาโร จากบทแปลภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยดังนี้

 

ข้อมูลจากแผนที่โลกฟรา เมาโร (ภาษาอิตาลีโบราณ)

E qui nasce in arbori uno fruto chiamado durian, è de grandeça de una rasonevel anguria e ha el scorço verde e gropoloso come la pigna et ha dentro ve fructi, chadamo de grandeça de una rasonevel pigna e chadauno de questi ve fructi hano differentte sauvità de sapor, e sono dentro de color paonaço e sono molto calidi.

สำนวนแปลภาษาอังกฤษของ ฟัลเชตตา (Falchetta 2006: 181):

Here trees bear a fruit called the durian, which is the size of a reasonably big watermelon and has a green, knobby skin, rather like a pine cone. The five fruits inside is each one the size of a reasonably big pine cone and each one of them has its own pleasant taste; inside they are reddish-purple in colour and they are very warm.

บทแปลภาษาไทย โดย ตรงใจ หุตางกูร (2567):

ที่นี้ ต้นไม้ออกลูกเป็นผลไม้ชนิดหนึ่ง เรียกว่า ดูเรียน, ซึ่งมีขนาดพอ ๆ กับแตงโมลูกใหญ่ แลมีสีเขียว, เปลือกเป็นปุ่มปมยื่นเด่น, ซึ่งค่อนข้างดูเหมือนลูกสน. ภายในนั้นมี[เนื้อ] 5 พู แต่ละพูมีขนาดพอๆ กับลูกสน แลแต่ละพูของทั้งห้านี้ ให้รสหวานอร่อยเฉพาะตัวแตกต่างกัน; พู[ทุเรียน]ที่อยู่ภายใน มีสีม่วงอมแดง แลอุ่นมาก.

 

อธิบายศัพท์: (1) “แตงโม” ตรงกับคำต้นฉบับคือ anguria ซึ่งภาษาอิตาลีบางถิ่นยังใช้คำนี้อยู่ โดยทั่วไปภาษาอิตาลีเรียกแตงโมว่า cocomero. (2) “เปลือกเป็นปุ่มปมยื่นเด่น” แปลจาก knobby skin ซึ่งตรงกับคำต้นฉบับคือ gropoloso คำนี้เป็นคำภาษาเวนิสแปลว่าเป็นปุ่มปมไม่เรียบ (Patriarchi 1821: 102). (3) “รสหวานอร่อย” แปลจาก pleasant taste ตรงกับคำต้นฉบับคือ sauvità de sapor คำว่า sauvità ตรงกับคำอิตาลีคือ soavità แปลว่า ความอร่อย ความหวานอร่อย ความอร่อยถูกปาก และคำว่า sapor ตรงกับคำอิตาลีคือ sapore แปลว่า รสชาติ จึงอาจแปลได้ว่า “หวานอร่อยถูกปาก”. (4) “สีม่วงแกมแดง” แปลจาก reddish-purple ซึ่งตรงกับคำต้นฉบับคือ paonaço คำนี้ตรงกับภาษาอิตาลีปัจจุบันว่า “paonazzo” ซึ่งเป็นโทนสีม่วงที่ออกไปทางสีบานเย็น.

 

           ผมพบว่า บทแปลทั้งของป็อจโจ กับ ฟรา เมาโร นี้ มีลำดับโครงสร้างเนื้อหาหลักเหมือนกัน 3 ส่วนคือ (1) เริ่มต้นด้วยการบอกว่า ที่เกาะนี้มีผลไม้ชื่อ “ดูเรียน” (2) การบอกขนาดโดยการเทียบกับขนาดของแตงโม (3) ภายในผลทุเรียนมี 5 พู และ (4) เนื้อทุเรียนมีหลากรส ดังนั้น จากโครงสร้างนี้ ทำให้ทราบว่าชุดข้อมูลของ ฟรา เมาโร เป็นข้อมูลของนิกโกลอ เด โกนติ แต่ชุดข้อมูลของ ฟรา เมาโร กลับมีข้อมูลเพิ่มเติมคือ

           (1) ลักษณะเปลือกทุเรียน ที่ระบุว่า ทุเรียนมีเปลือกเป็นปุ่มปมยื่นเด่น ดูเหมือนลูกสน ซึ่งก็แปลกเช่นกันว่า ทำไมไม่ใช้คำว่า “หนามแหลม” แต่กลับใช้คำอิตาลีโบราณ gropoloso ที่แปลว่า ปุ่มปมยื่นเด่น (Patriarchi 1821: 102) (2) ข้อมูลของ ฟรา เมาโร เปรียบเทียบขนาดของพูทุเรียนว่า มีขนาดพอๆ กับลูกสน ในขณะที่ข้อมูลที่เรียบเรียงโดยป็อจโจกลับเปรียบเทียบลักษณะของพูทุเรียนว่า เหมือนส้มที่มีทรงยาวๆ (3) ข้อมูลสีของเนื้อทุเรียนต่างกัน กล่าวคือ ป็อจโจระบุเป็นนัยทางอ้อมว่าเนื้อทุเรียนสีส้ม แต่ฟรา เมาโร กล่าวว่าเนื้อทุเรียนมีสีม่วงแกมแดง และ (4) ฟรา เมาโร ระบุว่าเนื้อทุเรียนที่อยู่ภายในผลนั้น มีไออุ่น ซึ่งไม่ปรากฏในข้อเขียนของป็อจโจ

           ข้อมูลเพิ่มเติมจากฟรา เมาโร นี้ ทำให้ผมสงสัยว่า หรือเบื้องแรกนั้น ฟรา เมาโร ศึกษาข้อมูลจากข้อเขียนของป็อจโจ บรัชโชลินี ต่อมา ฟรา เมาโร อาจมีโอกาสได้ไปสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเป็นการส่วนตัวจากนิกโกลอ เด โกนติ จึงทำให้ได้ข้อมูลเกี่ยวทุเรียนเพิ่มเติมจากที่ป็อจโจเขียนอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะข้อมูลสำคัญว่า ลักษณะผลของทุเรียนที่เป็น “ปุ่มปมยื่นเด่น” ซึ่งก็คือ หนามทุเรียน และสีของทุเรียนออกไปทางเฉดสีแดง

ภาพที่ 8 ลูกสน (pinecone) ที่ฟรา เมาโร ว่ามีลักษณะที่ดูคล้ายทุเรียน

ที่มาของภาพ: Descouens (2012-08-05)

 

ภาพที่ 9 การเปรียบเทียบสีของเนื้อทุเรียนกราวีโอเลนส์เฉดสีแดงเข้ม กับเฉดสีมาตรฐานของสื่อสิ่งพิมพ์ออนไลน์ ที่มาของภาพทุเรียน: ElleTV1706 (2022-09-03); ที่มาของเฉดสี: Color Codes (2024: Red Purple); Color Codes (2024: Rose Red); Color Codes (2024: Cardinal Red); Color Codes (2024: Carmine); Color Codes (2024: Cherry); Color Codes (2024: Crimson)


           แม้เรามิอาจทราบได้เลยว่า ฟรา เมาโร ได้ข้อมูลทุเรียนที่ต่างไปจากป็อจโจเรียบเรียงไว้นั้น มาจากไหน? แต่หากเราสันนิษฐานว่า ฟรา เมาโร ได้ข้อมูลเพิ่มเติมจากการพูดคุยส่วนตัวกับนิกโกลอแล้ว ก็อาจสังเคราะห์ข้อมูลได้ว่า นิกโกลอ เด โกนติ พรรณนาถึงทุเรียนไว้ดังนี้

           (1) ลักษณะภายนอก: ลูกทุเรียนสีเขียว ใหญ่เท่าแตงโม เปลือกเป็นปุ่มปมยื่นเด่น ดูเหมือนลูกสน

           (2) ลักษณะภายใน: เมื่อเปิดออก ภายในลูกทุเรียนมี 5 พู แต่ละพูมีลักษณะคล้ายส้มเกลี้ยง-ส้มเช้ง ทรงยาว ๆ หรือกล่าวอีกนัยได้ว่าแต่ละพูมีขนาดและทรงคล้ายลูกสน

           (3) สีของเนื้อทุเรียน: เนื้อทุเรียนมีสีเฉดออกไปทางสีส้มถึงสีม่วงอมแดง

           (4) รสสัมผัสของเนื้อทุเรียน: เป็นก้อนคล้ายเนยหรือก้อนนมหนาๆ มีหลากรสปนเปกัน

           (5) ลักษณะอื่นภายในผล: เนื้อขณะอยู่ในผลนั้น มีไออุ่น

           และนี่คือ ข้อมูลสังเคราะห์ของการรับรู้เกี่ยวกับทุเรียนที่นิกโกลอ เด โกนติ ฝรั่งคนแรกที่บันทึกประสบการณ์กินทุเรียนที่สุมาตราไว้ในความทรงจำของตน ทั้งที่ถูกถ่ายทอดไว้ให้เราได้รับทราบโดย ป็อจโจ บรัชโชลินี (Poggius Bracciolinus Florentinus 1492) และฟรา เมาโร (Falchetta 2006: 181)


9. นิกโกลอกินทุเรียนพันธุ์ใด

           จากข้อมูลเนื้อทุเรียนสีส้มของป็อจโจ บรัชโชลินี กับเนื้อทุเรียนสีม่วงอมแดงของฟรา เมาโร ทำให้สรุปได้ว่า ทุเรียนที่นิกโกลอ เด โกนติ กินอาจเป็น “ทุเรียนติดขั้ว” หรือเรียกตามภาษาอังกฤษว่า “ทุเรียนกราวิโอเลนส์” ซึ่งมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Durio graveolens (ละติน: ดูริโญ กราเวโญเลนส์) ซึ่งเป็นพันธุ์พื้นเมืองของหมู่เกาะในประเทศอินโดนีเซีย แต่ก็พบในภาคใต้ของประเทศไทยด้วยเช่นกัน อนึ่ง ในทางพฤกษศาสตร์แล้ว ทุเรียนที่คนไทยคุ้นเคย ซึ่งมีเนื้อสีเหลืองนั้น เป็นคนละชนิดกับทุเรียนติดขั้ว และมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Durio zibethinus (ละติน: ดูริโญ ศิเบทินุส) ดังที่รู้จักกันดีเป็นต้นว่า หมอนทอง ก้านยาว และ ชะนี นอกจากนี้ ภาคใต้ของไทยเราก็มีทุเรียนติดขั้วด้วยเช่นกัน

           กระนั้น ทุเรียนกราเวโอเลนส์มีความแปรปรวนของสีสูงมาก ทั้งสีผล สีเนื้อ และสีเม็ด นั่นคือ สีผลแปรปรวนตั้งแต่เขียวเหลือง น้ำตาล และแดง สีของเนื้อทุเรียนแปรปรวนตั้งแต่มีเนื้อสีแดงถึงเนื้อสีขาว และสีเม็ดแปรปรวนจากสีน้ำตาลอ่อนถึงดำ เนื้อหวาน ไม่มีกลิ่น (ทรงพล 2551: 7)

           อนึ่ง ทุเรียนติดขั้วนี้ ในประเทศไทยเรียกกันอีกชื่อว่า “ทุเรียนแดง” (วีระชัย 2566) หรือเรียกตามชนิดว่า “ทุเรียนกราวีโอเลนส์” ผู้สนใจสามารถดูคลิปยูทูปเกี่ยวกับทุเรียนกราวีโอเลนส์ได้ที่ durianrider (2015-09-03); Fitshortie (2018-03-05); The Star (2019-10-16); businessfact_sano (2023-06-30) ด้วยข้อมูลเหล่านี้ ทำให้ผมมั่นใจที่จะสรุปว่า “นิกโกลอ เด โกนติ เคยกินทุเรียนกราวีโอเลนส์เนื้อสีส้มๆ แดงๆ!

ภาพที่ 10 “ทุเรียนกราวีโอเลนส์” ทั้งเนื้อสีส้มอมแดง และสีส้มอมเหลือง

ที่มาของภาพ: Fitshortie (2018-03-05, caption: 10:13)

 

(1) เอกสารอ้างอิง:

ตรงใจ หุตางกูร, 2565. “แดนกานพลูของ คอสมัส ผู้ล่องอินเดีย: “น่านสมุทรคาบหมู่เกาะ” ของเอเชียอาคเนย์ในศตวรรษที่ 6.” วารสารมานุษยวิทยา 5 (2): 161-239. [ https://so06.tci-thaijo.org/index.php/jasac/article/view/261182 ]

ทรงพล สมศรี, 2551. ทุเรียนไทยและการปรับปรุงพันธุ์: กรณีศึกษาพันธุ์จันทบุรี 1 จันทบุรี 2 จันทบุรี 3. กรุงเทพฯ: กรมวิชาการเกษตร เอกสารวิชาการลำดับที่ 5/2551.

ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช, 2549. กรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่ง. กรุงเทพฯ: มติชน.

เธียรชัย เอี่ยมวรเมธ, 2541. พจนานุกรมจีน-ไทย ฉบับนักเรียน (จีนกลาง กวางตุ้ง แต้จิ๋ว). กรุงเทพฯ: บริษัทรวมสาส์น (1977) จำกัด.

วีระชัย ณ นคร, 2566. “ทุเรียนแดง.” ใน: สมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย. เข้าถึง: 2566-11-07. [ http://hsst.or.th/articles-fruit-th/durio/ ]

Bonomi F., 2008. “melarancia.” In: Dizionario Etimologico Online. Retrieved: 2023-10-30. [ https://www.etimo.it/?term=melarancia ]

businessfact_sano, 2023-06-30. Youtube: Have you ever eaten red durian. Retrieved: 2024-01-12. [ https://www.youtube.com/shorts/r4N9boAL94U ]

durianrider, 2015-09-03. Youtube: Red Durian Of Brunei & Borneo. Retrieved: 2024-01-12. [ https://www.youtube.com/watch?v=2FyQM9LDc64 ]

Fitshortie, 2018-03-05. Youtube: HAVE YOU EVER SEEN A RAINBOW DURIAN? Retrieved: 2024-01-12. [ https://www.youtube.com/watch?v=4QylM0RlL_M ]

Frampton J. (tr.), 1579. The Most Noble and Famous Travels of Marcus Paulus, one of the Nobilitie of the State of Venice, unto the East Partes of the World, as Armenia, Persia, Arabia, Tartary, with many other Kingdomes and Provinces. London: R. Newbery.

Gaffiot F., 1934. Dictionnaire Latin Français. Paris : Hachette. [ https://micmap.org/dicfro/introduction/gaffiot ]

Lewis T., Short C., 1879. A Latin Dictionary, Founded on Andrews' edition of Freund's Latin dictionary. Oxford: Clarendon Press. [ https://archive.org/details/in.ernet.dli.2015.61236/page/n505/mode/2up ]

Longhena M. (tr.), 1929. Viaggi in Persia, India e Giava di Nicolo de' Conti, Girolamo Adorno e Girolamo da Santo Stefano. Milano: Archetipografia di Milano, Viaggi e Scoperte di Navigatori ed Esploratori Italiani.

Patriarchi G., 1821. Vocabolario Veneziano et Padovano. Terza Edizione. Padova: Nella Tipografia del Seminario.

Poggius Bracciolinus Florentinus, 1492. India Recognita. Mediolani: Udalricus Scinzenzeler, Christoforus bullatus ducis Isubrium senator Petro Carae ducis alobrogum Senatoris, d.15 febrero 1492.

Poggius Bracciolinus Florentinus G.F., 1723. “Historiae de Varietate Fortunae Liber Quartus.” in: Poggii Bracciolini Florentini Historiae De Varietate Fortunae, Libri Quatuor. Lutetiae Parisiorum: Typis Antonii Urbani Coustelier, pp.126-152.

Ramusio G.B. (tr.), 1588. “Viaggio di M. Nicolo di Conti, Venetiano, descritto per Messer Poggio Finrentino.” In: Delle Navigationi et Viaggi, Primo Volume. Quarta Editione. Venetia: Nella Stamperia de Givnti.

Rockhill W.W., 1915. “Notes on the Relations and Trade of China with the Eastern Archipelago and the Coast of the Indian Ocean during the Fourteenth Century. Part II.” T’oung Pao (Second Series) 16 (1): 61-159.

The Star, 2019-10-16. Youtube: DURIAN ADVENTURE: Red durian takes centre stage. Retrieved: 2024-01-12. [ https://www.youtube.com/watch?v=41vwnxcHk-w ]

UTET Grandi Opere, 2018. Grande dizionario della lingua italiana: Cocomero. Retrieved: 2023-10-29. [ https://www.gdli.it ]

Wheatley P., 1973. The Golden Khersonese. Reprinted. Connecticut: Greenwood Press.

Wiktionary 2023. Melarancia. Retrieved: 2023-10-30. [ https://en.wiktionary.org/wiki/melarancia ]

Winter Jones J., (tr.), 1857. “The Travels of Nocolò Conti, In the East, In the Early Part of the Fifteenth Century.” In: Major R.H. (ed.). India in the Fifteenth Century, being a Collection of Narratives of Voyages to India. London: The Hakluyt Society, 32 p.

Yule H., Burnell A.C. (tr.), 1903. “Durian.” In: Hobson-Jobson: A Glossary of Colloquial Anglo-Indian Words and Phrases, and of Kindred Terms, Etymologogical, Historical, Geographical and Discursive. Crooke W., (New Edition). London: John Murray.


(2) แหล่งที่มาของภาพประกอบ:

BuzzyKitchen (2022-12-05). “Will Butter Thicken a Sauce?” In: Buzzy Kitchen. Retrieved: 2023-11-06. [ https://buzzykitchen.co.uk/will-butter-thicken-a-sauce/ ]

Descouens D., 2012-08-05. Wikimedia: Cone of Coulter Pine. Retrieved: 2024-01-12. [ https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Pinus_coulteri_MHNT_Cone.jpg ]

healthshots (2023-04-09). “Adding cucumber or boondi to your curd bowl? Here’s why you shouldn’t.” In: Healthshots. Retrieved: 2023-11-06. [ https://www.healthshots.com/healthy-eating/nutrition/6-reasons-why-you-may-have-been-eating-curd-the-wrong-way/ ]

matkubphom (2023-11-06). “Cucumber vegetable isolated on white background.” In: Freepik. [ https://www.freepik.com/premium-photo/cucumber-vegetable-isolated-white-background_9885456.htm]

RTP Thailand (2021-04-23). “9 สายพันธุ์ทุเรียน ที่ชายสวนต้องลองปลูก!” ใน: บทความรู้. บริษัท รุ่งทิพย์ พลาสแพค จำกัด. เข้าถึง: 2566-11-06. [ https://rtpthailand.com/2021/04/23/9-สายพันธุ์ทุเรียนที่ชาว/ ]

Times Food (2021-04-14). “Know your Cheese: A complete guide to types of Cheese.” In: TimesOfIndia. Retrived: 2023-11-06. [ https://recipes.timesofindia.com/articles/features/know-your-cheese-a-complete-guide-to-types-of-cheese/articleshow/82065716.cms ]

UrbanBazaar (2023-11-06). “Watermelon (खर्बुजा).” In: UrbanBazaar. Retrieved: 2023-11-06. [ https://urbanbazaar.com.np/product/watermelon-1-kg/ ]

Wikipedia 2023. “Citrus × sinensis.” In: Wikipedia, The Free Encyclopedia. Retrieved: 2023-11-07. [ https://en.wikipedia.org/wiki/Citrus_%C3%97_sinensis ]


1 ชื่อ Niccolò de' Conti นี้ ผมสะกดและถอดเสียงอ่านตามภาษาอิตาลี (เช่น Surdich 1983) เทียบ IPA คือ Nik-ko-lɔ de Kon-ti ดังนั้น จึงอ่านเป็น นิก-โก-ลอ เด โกนฺ-ติ; อนึ่ง ชื่อ Niccolò นี้ หากสะกดตามภาษาละตินคือ Nicolaus (อ่าน นิ-โค-ลา-วุส) ซึ่งงานแปลภาษาอังกฤษนิยมถอดชื่อเป็น Nicolò (อ่าน นิ-โค-โล).

2 ไม่ทราบว่าคือเมืองใด แต่ควรอยู่ในระยะทางระหว่าง เกาะฮอร์มัส (Hormus) ซึ่งตั้งอยู่บริเวณปากทางเข้าอ่าวเปอร์เซีย กับพื้นที่บริเวณอ่าวคัมภัต (Gulf of Khambat) ในเขตแดนรัฐคุชราต.

3 ตรงกับชื่อตามการออกเสียงภาษามลายูว่า ซามุเดอรา หรือ เซอมุเดอรา (Samudera or Semudera); ปัจจุบันถูกใช้เป็นชื่อเรียกเกาะสุมาตรา (Sumatra) ตามภูมิศาสตร์สากล แต่ถ้าเป็นชื่อเขตการปกครองปัจจุบันของประเทศอินโดนีเซียแล้ว ตามภาษาอินโดนีเซียสะกดว่า “Sumatera” (ซูมาเตอรา) อันประกอบด้วยชื่อจังหวัดซูมาเตอรา-อูตารา (= สุมาตราเหนือ) ซูมาเตอรา-บารัต (= สุมาตราตะวันตก) และซูมาเตอรา-เซอลาตัน (= สุมาตราใต้).

4 โดยทั่วไป ในการศึกษาสมัยแรกนั้น นักวิชาการตะวันตกตีความว่าเป็นแม่น้ำคงคากับเมืองในอินเดีย แต่พอล วีทลีย์ (Wheatley 1973: 235) ตีความว่าเมืองเชร์โนเวนี้ ตรงกับ Sharinau ที่ชาวเปอร์เซียเรียก อยุธยา ดังนั้น เชร์โนเว คือ กรุงศรีอยุธยา. (ดูเพิ่ม ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช 2549: 17-19).


ผู้เขียน
ดร.ตรงใจ หุตางกูร
นักวิจัยด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี ฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ นิกโกลอ เด โกนติ ฝรั่ง ทุเรียน ดร.ตรงใจ หุตางกูร

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share