วิกฤติวิพากษ์

 |  วัฒนธรรมร่วมสมัย
ผู้เข้าชม : 1194

วิกฤติวิพากษ์

“ความรุนแรงที่ไม่สามารถควบคุมได้ ไม่ใช่กระแสเสียงแห่งความโกรธเกรี้ยว

ไม่ใช่สัญชาตญาณแห่งความป่าเถื่อนทารุณ ไม่ใช่แม้กระทั่งผลของความคับแค้นใจ

แต่เป็นการซ่อมสร้างตนเองใหม่ของมนุษย์...
ชนพื้นเมืองรักษาความเจ็บป่วยจากโรคอาณานิคมโดยการขับไล่ด้วยอาวุธ...

ในวันแรก ๆ ของการปฏิวัติ คุณต้องฆ่า

การยิงปืนใส่ชาวยุโรปให้ตายตกไปตามกันเปรียบเสมือนการยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว
คือเพื่อที่จะทำลายทั้งระบอบที่กดขี่และผู้ที่กดขี่ไปพร้อมกัน”

(Sartre 1961)

           ข้อความที่ผู้เขียนยกมาในข้างต้น เป็นของนักปรัชญาและปัญญาชนสาธารณะที่ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งของฝรั่งเศส ฌ็อง-ปอล ซาทร์ (Jean-Paul Sartre) ในปี 1961 เขาชี้ให้เห็นว่าความรุนแรงไม่ได้เป็นเพียงวิถีแห่งการปลดปล่อยทางการเมืองเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นวิถีแห่งการสร้างตัวตนอย่างเต็มใจ (subjectivation) นั่นคือการตระหนักรู้ว่าตนเองเป็นเสรีชนที่การมีอิสรภาพจะช่วยปลดปล่อยตนเองออกจากความกลัวตาย ซาทร์เห็นว่าในการต่อต้านขัดขืนด้วยความรุนแรง มนุษย์คนใหม่จะถือกำเนิดขึ้นในฐานะมนุษย์ที่จุดจบของชีวิต ในขณะที่ระบอบและผู้กดขี่ปรารถนาดอกผลหลังได้รับชัยชนะ มนุษย์คนใหม่ที่ปฏิบัติการต่อต้านกลับปรารถนาชัยชนะมากกว่าการมีชีวิตรอด โดยทั่วไปผู้คนค้นหาความเป็นมนุษย์ในอีกด้านหนึ่งของความตายและความสิ้นหวัง แต่คนเหล่านี้ค้นหาความเป็นมนุษย์ในด้านที่พ้นไปจากความตายและความทุกข์ทรมาน การวิพากษ์ระบอบอาณานิคมและฉายให้เห็นวิธีคิดต่อความรุนแรงเช่นนี้ สร้างความเข้าใจใหม่ ๆ ต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม ณ ช่วงเวลานั้น

           บริบทที่ชี้ให้เห็นแง่มุมว่าด้วยความรุนแรงของซาทร์เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1950-1970 ของยุโรป อันเป็นช่วงเวลาหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองและการปลดปล่อยอาณานิคมตะวันตก ซึ่งนักปรัชญาการเมืองสายมาร์กซิสต์จากดินแดนอาณานิคมของฝรั่งเศส ฟรานต์ซ โอมาร์ ฟานอน (Frantz Omar Fanon) (1961) เห็นว่าความรุนแรงที่ระบอบอาณานิคมกระทำการย่ำยีและลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ถีบให้ชนพื้นเมืองถูกปฏิบัติเสมือนเป็นสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่น ต่อเมื่อชนพื้นเมืองตระหนักได้ว่าตนเองมีสถานะเฉกเช่นมนุษย์ไม่ต่างไปจากเจ้าอาณานิคม การก่อกบฏจึงเกิดขึ้นในฐานะที่เป็นการขับไล่และรื้อถอนโครงสร้างที่กดขี่ อย่างไรก็ดี ในช่วงเวลาปัจจุบัน หากเราลองจินตนาการถึงสถานการณ์สงครามโดยแทนที่อิสราเอลสำหรับชาวยุโรป และแทนที่ปาเลสไตน์สำหรับชนพื้นเมือง ซึ่งคนกลุ่มหลังโจมตีคนกลุ่มแรกในฐานะการตอบโต้ที่คนกลุ่มแรกเข้ายึดครองดินแดนหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง ดิดิเยร์ ฟาแซง (Didier Fassin) (2019) เห็นว่าหากซาทร์ยังมีชีวิตอยู่และออกมาให้ความเห็นถึงสถานการณ์การสู้รบดังกล่าวด้วยทัศนะต่อความรุนแรงข้างต้น เขาอาจถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ต่อต้านชาวยิวโดยไม่สนใจประเด็นที่เคยพูดไว้ก่อนหน้า1 และอาจถูกดำเนินคดีในฐานการแสดงออกอันเป็นการสนับสนุนการก่อการร้ายภายใต้กฎหมายใหม่ของฝรั่งเศส2 การวิพากษ์ในโลกปัจจุบันเดินทางมาถึงสถานการณ์ที่หดแคบลงอย่างน่าวิตก เนื้อหาของบทความนี้เป็นการทบทวนตรวจสอบการวิพากษ์ที่เสื่อมถอยลงในโลกปัจจุบัน ภายใต้คำถามว่าสถานะของการวิพากษ์ในปัจจุบันเป็นอย่างไร สถานการณ์ที่ตกต่ำลงนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ตลอดจนโลกวิชาการมีข้อเสนอต่อความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้างภายใต้วิกฤติของการวิพากษ์ในช่วงเวลาปัจจุบัน

***

           สองทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 21 เต็มไปด้วยการเกิดขึ้นของปัญหาต่าง ๆ ในระดับโลก เทคโนโลยีต่าง ๆ อาทิ สื่อดิจิทัลและเครือข่ายสังคมออนไลน์ เป็นปัจจัยที่วางเงื่อนไขสำคัญต่อการรับรู้ปัญหาและการแสดงความคิดเห็น (Hart 2015) การทำความเข้าใจเรื่องราวต่าง ๆ ของผู้คนมีลักษณะไร้ฐาน (baseless) เพราะการนำเสนอของสื่อมวลชนที่แสร้งทำเป็นรู้ดีและการตีความของนักวิชาการหน้าจอ มักเป็นการนำทฤษฎีสำเร็จรูปมาวนใช้ซ้ำ ๆ หรือไม่ก็นำแนวคิดทางสังคมต่าง ๆ มาใช้แบบตื้นเขิน เพื่อสร้างความเข้าใจบางอย่างในวาระของตนเอง สภาพการณ์ดังกล่าวมีส่วนอย่างสำคัญต่อสังคมที่ระส่ำระสาย เพราะความเข้าใจของผู้คนอยู่ในลักษณะคลอนแคลนจากการขาดความคิดตริตรองด้วยข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน ข่าวสารต่าง ๆ ถูกปรุงแต่ง พาดหัว สรุปความ และป้อนเข้าสู่การรับรู้ของผู้ชมในทำนองว่าถูกคิดวิเคราะห์แยกแยะมาให้แล้ว หรือไม่ก็เป็นการนำเสนอข้อเท็จจริงบางส่วนที่อ้างเข้าว่าเป็นการรวบรวมข้อเท็จจริงทั้งหมด ในขณะที่คลื่นของเหตุการณ์ที่สลับซับซ้อนซึ่งซัดสาดเข้ามายังสังคมแต่ละระลอก ๆ ทำให้นักวิชาการจริง ๆ หัวหมุนเพราะขาดข้อมูล เวลา เครื่องไม้เครื่องมือ รวมไปถึงทรัพยากรที่เพียงพอในการทำความเข้าใจอย่างถี่ถ้วน การเผชิญหน้ากับการเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลของข่าวปลอม (fake news) และทฤษฎีสมคบคิด (conspiracy theories) ที่เลียนแบบข้อมูลข่าวสารอย่างแนบเนียนเสียจนดูเหมือนเป็นการคิดเชิงวิพากษ์ ภายใต้การแพร่หลายของสื่อและเครือข่ายสังคมต่าง ๆ ยิ่งซ้ำให้วิกฤติของการคิดวิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสังคมของผู้คนเลวลง

           ปรากฏการณ์ทางสังคมอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นเป็นวงกว้างในปัจจุบันคืออาการตาสว่าง (woke) ซึ่งผู้คนที่เคยเพิกเฉยหรือมองไม่เห็นปัญหาทางสังคมเกิดความเข้าใจและออกมาวิพากษ์วิจารณ์ เรียกร้อง ถกเถียง หรือเคลื่อนไหวในปัญหาที่พวกเขาไม่เคยรับรู้หรือแม้แต่ตระหนักถึง อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เคียงคู่กันมากับอาการตาสว่างคือการแสร้งตาสว่าง หรือก็คืออาการตาสว่างเท็จ (fake woke) นิยามของการแสร้งตาสว่างปรากฏตั้งแต่การเข้าร่วมถกเถียงแต่ไม่สร้างความเปลี่ยนแปลงหรือความเข้าใจใหม่ ๆ การยุยงให้เกิดการแบ่งเขาแบ่งเราและถ่างความแตกแยกในสังคมจนยากประสานกันได้ในทางความคิด การออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องเพราะหื่นกระหายความสนใจหรือแม้แต่การอุดหนุนทางการเงิน ตลอดไปจนถึงการนำเสนอข้อมูลข่าวสารตามกระแสสังคมเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคและการซื้อโฆษณาในมิติการสื่อสารมวลชนและการตลาด ความพยายามที่จะตาสว่าง (trying to be woke) ไปตามกระแสโดยปราศจากความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องครบถ้วน มุ่งสร้างข้อถกเถียงที่เน้นเอาชนะเชิงฝีปากและเล่ห์เหลี่ยม ใช้ความเป็นอาจารย์และความเป็นวิชาการนำหน้าเพื่อชี้นำสังคมโดยแอบซ่อนวาระทางการเมืองและผลประโยชน์ ตลอดจนนำเสนอข้อมูลและเชื่อมโยงเหตุการณ์อย่างสะเปะสะปะ นำไปสู่การสร้างข่าวปลอมและคำอธิบายเชิงทฤษฎีสมคบคิดที่ดูเป็นวิชาการ ถูกต้อง เที่ยงตรง เป็นกลาง ชอบด้วยคุณธรรมและศีลธรรมอันดี อีกทั้งยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ปลุกเร้าการคิดวิพากษ์แบบหักล้างทำลาย (destructive) เพื่อลดทอนความน่าเชื่อถือ ผ่านการท้าทายให้พิสูจน์ยืนยันความจริง บนฐานของการสงสัยและระแวงระวังอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งในเชิงสาระภายในและในเชิงปฏิกิริยา

           บรูโน ลาตูร์ (Bruno Latour) (2004) บอกว่าจิตวิญญาณของการวิพากษ์ในช่วงเวลาปัจจุบันกำลังหมดแรง ความเข้าใจโดยทั่วไปเกี่ยวกับการวิพากษ์ในทุกวันนี้มักอยู่ในรูปของการหักล้าง (debunking forms) อาทิ การถอดรื้อ ตอบโต้ โจมตี และประณามหยามเหยียด ซึ่งมุ่งบ่อนทำลายเพื่อเอาชนะคะคานกันมากกว่าที่จะนำเสนอ ให้บทสะท้อน หรือข้อคิดอันนำไปสู่คำอธิบายและความเข้าใจใหม่ ๆ ลาตูร์อุปมาว่าโลกในปัจจุบันเต็มไปด้วยสงครามมากมาย ไม่ว่าจะเป็นสงครามต่อวิทยาศาสตร์ สงครามต่อวัฒนธรรม สงครามต่อความยากจน รวมถึงสงครามต่อการก่อการร้าย เรายังจำเป็นต้องเพิ่มซากปรักหักพังใหม่ ๆ เข้าไปในดงซากปรักหักพังที่มีอยู่แต่เดิมอีกหรือ งานของเราคือการเพิ่มการถอดรื้อเข้าไปในความหมายของการทำลายล้างเช่นนั้นหรือ จิตวิญญาณของการวิพากษ์กลายเป็นอะไรไปแล้ว เขายอมรับว่าที่ผ่านมาเขาอาจมีส่วนในการสร้างความเข้าใจที่ผิดอย่างโง่ ๆ ในลักษณะดังกล่าว การแสดงให้เห็นความไม่แน่นอนทางวิทยาศาสตร์ในการสร้างข้อเท็จจริง (construction of facts) ที่มีปัจจัยทางสังคมในลักษณะต่าง ๆ เข้ามาเป็นปัจจัยร่วม ไม่ได้มีเจตนาในการชี้ชวนให้เกิดการหักล้างข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ที่นิ่งนอนแล้วและเป็นที่ยึดถือโดยทั่วกัน แต่เป็นการปลดปล่อยสังคมออกจากข้อเท็จจริงที่ถูกทำให้เป็นกลางอย่างเป็นธรรมชาติ เขายังตั้งคำถามต่อไปว่า ที่ผ่านมาเราใช้เวลาไปกับการตรวจสอบอคติและวาระต่าง ๆ ซึ่งซุกซ่อนอยู่เบื้องหลังการปรากฏตัวของคำกล่าวอ้างที่ดูเป็นกลาง ไม่เลือกฝักเลือกฝ่าย แต่ในปัจจุบันนี้ เรากลับต้องเปิดเผยข้อเท็จจริงที่สามารถพิสูจน์ได้ ซึ่งถูกหลบเลี่ยงหรือปิดบังไว้ด้วยภาพลวงตาของอคติ อุดมการณ์ ตลอดจนวาระซ่อนเร้นต่าง ๆ ใช่หรือไม่

           ในความหมายที่การวิพากษ์หมายถึงการเผยให้เห็นเบื้องหลังทางสังคม วัฒนธรรม และปฏิบัติการต่าง ๆ ที่มิได้ปรากฏตัวหรือเผยโฉมให้เห็นอย่างตรงไปตรงมา ปฏิกิริยาต่อการรับรู้และเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่เทคโนโลยีต่าง ๆ พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งอิทธิพลต่อการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษาทั่วทั้งโลก การคิดเชิงวิพากษ์ถูกขับเน้นให้เป็นทักษะสำคัญของการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย พระราชบัญญัติการอุดมศึกษา (Higher Education Act) ของประเทศสวีเดน ระบุว่านักศึกษาต้องมีทักษะในการประเมิน ตีความ ตลอดจนร่วมถกเถียงเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันได้อย่างวิพากษ์วิจารณ์ ขณะที่ในออสเตรเลีย ทิม จอห์น มัวร์ (Tim John Moore) (2011) บอกว่าการคิดเชิงวิพากษ์เป็นเป้าหมายของการศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย นโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2563-2570 ของไทย สนับสนุนให้มีการเพิ่มขีดความสามารถในการคิดเชิงวิพากษ์ เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของการคิดตาม ๆ กัน (สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ 2562) แต่จะเกิดอะไรขึ้นถ้าการวิพากษ์กลายเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการคิดตาม ๆ กันที่ดูเหมือนจะใช้สมองแล้วแต่ไม่ใช่ อีกทั้งยังมุ่งทำลายล้างมากกว่าสร้างสรรค์ยิ่งกว่าที่เคยเป็น ลาตูร์ (2004) สังเกตว่าการวิพากษ์ที่ร่ำเรียนกันในระดับอุดมศึกษานี้วางอยู่บนการหักล้าง ระแวงระวัง และมุ่งจับผิด ซึ่งเป็นไปในลักษณะเดียวกับความเข้าใจโดยทั่วไปว่าการวิพากษ์คือการก่อสงครามที่มุ่งเอาชนะและทำลายสิ่งที่ตนเองไม่ชอบหรือไม่เห็นด้วย พลังในการสร้างความเปลี่ยนแปลงของการวิพากษ์อ่อนแอลงไปพร้อมกับสภาวะที่ตัวมันเองกลายเป็นสิ่งไม่น่าพิสมัย สถานะของการวิพากษ์ตามความเข้าใจเช่นนี้มีส่วนอย่างสำคัญในการสร้างสังคมสองมาตรฐาน (double standards) ที่ไม่เชื่อในอะไรที่ไม่ถูกต้องตรงใจนับแต่แรกเห็น

“การศึกษาปริญญาเอกตลอดหลักสูตรในสหรัฐอเมริกายังคงทำให้มั่นใจว่านักศึกษาคนเก่งจะได้เรียนรู้ว่าข้อเท็จจริง (facts) เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น ไม่มีสิ่งที่เป็นกลาง โปร่งใส และไร้อคติในการอธิบายความจริง เราต่างเป็นนักโทษของภาษาเสมอมา เช่นเดียวกับที่เราต่างพูดจากจุดยืนที่จำเพาะของเรา ในขณะเดียวกันนั้นเอง พวกสุดโต่งก็ใช้ความคิดว่าด้วยการสร้างทางสังคมในทำนองดียวกันมาใช้หักล้างและทำลายหลักฐานข้อเท็จจริงบางประการที่อาจช่วยชีวิตพวกเราไว้”

(Latour 2004)

           ท่ามกลางสถานการณ์ของการวิพากษ์ที่กำลังหมดแรง มุ่งหักล้าง ไม่สร้างสิ่งใหม่ และไม่สู้ทำประโยชน์ในทางสร้างสรรค์ สถานะของการวิพากษ์ในปัจจุบันอยู่ในขั้นวิกฤติ (Fassin 2017; Fassin & Harcourt 2019; Hart 2015) สถานการณ์ที่ยากลำบากนี้สัมพันธ์กับการถกเถียงของกลุ่มล้ำหน้า (avant-garde) ซึ่งตั้งคำถามว่าเรายังวิพากษ์กันไปได้ไม่ไกลพอใช่หรือไม่ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้คนสูญเสียความสามารถในการตั้งคำถามเรื่องความรู้กับอำนาจใช่หรือไม่ และเป็นพันธะทางศีลธรรมของพวกเขาหรือไม่ที่จะทบทวนการวิพากษ์เพื่อที่จะนำเสนอประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ ฟาแซง และฮาร์คอร์ท (2019) อธิบายว่าจุดยืนดังกล่าวของกลุ่มล้ำหน้าเป็นปฏิกิริยาจากความเข้มข้นในปัจจุบันของแนวคิดแบบปฏิฐานนิยม (positivism) ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐและเอกชนในนามของประสิทธิภาพ (efficacy) ที่มีวาระทางเศรษฐกิจและการพัฒนาเป็นตัวนำ การคิดเชิงวิพากษ์ที่มุ่งสะท้อนปัญหาและให้ข้อเสนอที่แตกต่างออกไปจึงไม่ค่อยได้รับความสำคัญในสถานการณ์ที่วิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ อำนาจทางการเมือง และการได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจประสานกันอย่างมีพลัง ทั้งนี้ ไม่ใช่แค่ในทางการเมืองและเศรษฐกิจ แต่ยังรวมถึงโลกวิชาการและสถาบันการศึกษาด้วย การวิพากษ์ทั้งที่ตั้งมั่นว่าข้อเท็จจริง (facts) เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น และทั้งที่เลียนแบบโดยมีวาระซ่อนเร้นแอบแฝง อันปรากฏอย่างผสมปนเปในรูปของสงครามหักล้างทำลายเช่นนี้ กลับไม่ได้มีบทสะท้อนที่จะช่วยประเมินและสร้างให้มีคุณูปการใหม่ ๆ เกิดขึ้นอย่างที่ควรจะเป็น

           ในแง่ที่การวิพากษ์เป็นสิ่งตอบสนองต่อสภาวะของสังคม ฟาแซง (2019) อธิบายให้เห็นที่มาที่ไปของสถานการณ์ดังกล่าวผ่านการตรวจสอบสถานะของการวิพากษ์ในช่วงทศวรรษ 1960-1970 และ 2000-2010 ในสองประเทศ คือฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกา เพื่อที่จะวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์การวิพากษ์และเทียบให้เห็นพัฒนาการในบริบททางประวัติศาสตร์ การกล่าวถึงแง่มุมว่าด้วยความรุนแรงของซาทร์เมื่อปี 1961 ก่อนที่เขาจะได้รับรางวัลโนเบลในอีก 3 ปีถัดมา แสดงให้เห็นการเปิดกว้างต่อการวิพากษ์ของฝรั่งเศสในช่วงเวลาดังกล่าว ขณะที่ในปี 1964 ของสหรัฐอเมริกา ตัวอย่างการประท้วงของนักศึกษาต่อแคทเธอรีน โทว์ล ผู้บริหารมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ (University of California, Berkeley) ที่ประกาศห้ามไม่ให้มีการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองและจะบังคับใช้กฎระเบียบอย่างเคร่งครัด นำมาซึ่งการหยิบยกข้อตกลงว่าด้วยการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี (free speech) ในท้ายที่สุด อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกับที่ฝรั่งเศสลงเอยด้วยกฎหมายต่อต้านการกระทำที่มีแนวโน้มสนับสนุนการก่อการร้าย ในปี 2017 เขาเทียบให้เห็นว่าในปีเดียวกัน มหาวิทยาลัยดังกล่าวในสหรัฐอเมริกากลับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาควบคุมการประท้วงของนักศึกษาต่อองค์ปาฐกที่มีประวัติเหยียดสีผิว การถดถอยลงของการวิพากษ์ในแง่หนึ่งจึงสัมพันธ์กับการกลับมาเรืองอำนาจของการเมืองฝ่ายขวา ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในหลาย ๆ แห่งทั่วโลก ตลอดจนความเข้าใจของฝ่ายซ้ายที่มีต่อการวิพากษ์ว่าเป็นการก่อสงครามต่อศัตรูทางการเมืองที่คิดผิดไปจากพวกตน

           บริบทสำคัญของการทำความเข้าใจการวิพากษ์ในช่วงทศวรรษ 1950-1970 คือช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ เช่นเดียวกับการแผ่กว้างของกระแสความคิดแบบถึงราก (radical thinking) ไปทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ปฏิกิริยาต่อช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงและกระแสความคิดดังกล่าวก็เริ่มปะทุขึ้นในช่วงทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา นั่นคือการผงาดขึ้นของช่วงเวลาแห่งนโยบายแบบเสรีนิยมใหม่และกระแสความคิดแบบขวาจัด ฟาแซง (2019) บอกว่าระเบียบโลกใหม่ถูกสร้างขึ้นภายใต้เส้นแบ่งเชิงอุดมการณ์ที่ชัดเจนระหว่างฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา กล่าวอย่างง่ายคือฝ่ายเสรีนิยมและอนุรักษนิยม อันที่จริง นับตั้งแต่ครึ่งหลังทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา เผด็จการฝ่ายขวาเติบโตขึ้นมากในประเทศแถบลาตินอเมริกา การปราบปรามฝ่ายซ้ายได้รับความช่วยเหลือจากสำนักข่าวกรองกลาง (CIA) ของสหรัฐอเมริกา ในฐานะพื้นที่ทดลองระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ ขณะที่ในยุโรป การเมืองฝ่ายอนุรักษนิยมก็เติบโต นำไปสู่การแผ่ขยายของนโยบายเสรีนิยมใหม่โดยเฉพาะภายใต้การนำของโรนัลด์ เรแกน (Ronald Reagan) และมาร์กาเร็ต แธตเชอร์ (Margaret Thatcher) การจัดการเชิงเสรีนิยมใหม่ของรัฐและทุนนำมาซึ่งระบบที่กำกับและเสริมความเข้มแข็งให้กับการก่อตัวของกลุ่มอำนาจเก่า (Biehl & McKay 2012) พัฒนาการดังกล่าวนำไปสู่สิ่งที่ฟิลลิป มิโรวสกี (Phillip Mirowski) (2011) เรียกว่าเป็นการเกิดขึ้นของเศรษฐกิจความรู้แบบใหม่ (new knowledge economy) ในช่วงทศวรรษ 2000-2010 ซึ่งการคิดเชิงวิพากษ์ถูกพิจารณาจากกลุ่มอำนาจการเมืองฝ่ายขวาว่าไม่มีประโยชน์สำหรับตลาด ไม่สัมพันธ์กับความรู้แบบวิทยาศาสตร์ และให้ผลเชิงลบต่อการพัฒนาแบบเส้นตรงเดี่ยว (unilinear) ของรัฐสมัยใหม่ ลาตูร์ (2004) ตั้งคำถามว่า ภายใต้บรรยากาศดังกล่าว การวิพากษ์จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโครงสร้างอำนาจได้อย่างไร ในขณะเดียวกัน การวิพากษ์เพื่อหักล้างทำลายก็กลายเป็นอาวุธของฝ่ายซ้ายในการสู้รบและตอบโต้กับฝ่ายขวา ส่งผลให้ความพยายามลดทอนจิตวิญญาณของการวิพากษ์และควบคุมให้อ่อนแรงในลักษณะต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการตีวงแคบหรือการสร้างสังคมที่กระจัดพลัดพรายในการตะลุมบอนทางความคิด ล้วนเป็นผลมาจากพัฒนาการดังกล่าวทั้งในทางตรงและทางอ้อม

***

           ในขณะที่คีธ ฮาร์ท (Keith Hart) (2015) บอกว่าการวิพากษ์เป็นความสามารถในการตัดสิน (judgment) ผ่านการใช้ความคิดเห็นบนฐานของการคิดใคร่ครวญอย่างถี่ถ้วนเพื่อที่จะประเมินและยกระดับความคิดเห็นให้ก้าวข้ามขีดจำกัด มิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault) (1996) เห็นว่าการวิพากษ์เป็นกระบวนการที่ปัจเจกบุคคลให้สิทธิตนเองในการตั้งคำถามต่อความจริงที่เป็นผลมาจากอำนาจ ฟาแซง (2019) อธิบายว่าการวิพากษ์เรียกร้องการประเมิน นั่นคือการตรวจสอบความหมาย นัยสำคัญ และความสลับซับซ้อน ไปพร้อมกับการเคลื่อนบทสะท้อนเพื่อตั้งคำถามในประเด็นต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ อย่างไรก็ตาม ลาตูร์ (2004) ตั้งข้อสังเกตว่าวัฏจักรการวิพากษ์เริ่มต้นจากการหยิบยกสิ่งที่ถูกวิพากษ์ขึ้นมานำเสนอก่อนอย่างตรงไปตรงมา แล้วต่อด้วยการฉายให้เห็นว่ามีความคิดหรือความปรารถนาบางประการดำรงอยู่ด้วย จากนั้นจึงชี้ว่าความคิดหรือความปรารถนาเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งใดนอกจากผลผลิตบางอย่างของเงื่อนไขทางสังคม วัฏจักรที่ไม่สร้างสิ่งใหม่เช่นนี้มีส่วนก่อรูปการวิพากษ์ในลักษณะหักล้างที่เป็นปัญหา ในบางครั้ง การวิพากษ์บางสิ่งบางอย่างถูกสวนกลับด้วยการวิพากษ์ข้อวิพากษ์ คู่ตรงข้ามของข้อเท็จจริงและความคิดเห็นถูกผลิตซ้ำและฉีกให้แยกขาดออกจากกันซ้ำแล้วซ้ำเล่าในคำถามว่าเราจะเชื่ออะไรได้บ้างในการวิพากษ์ ลาตูร์เห็นว่าจิตวิญญาณของการวิพากษ์แบบหักล้างเช่นนี้ชี้นำให้เราเดินไปผิดทาง ข้อคิดเห็นดังกล่าวไม่ใช่การปฏิเสธความคิดเรื่องการประกอบสร้างทางสังคม แต่เป็นการสำรวจตรวจสอบใหม่เพื่อไม่ให้เราต่อสู้กับศัตรูผิดคน เขาเห็นว่าการไปให้พ้นจากทวิลักษณ์ของการวิพากษ์ไม่ใช่การไม่พูดเรื่องข้อเท็จจริง แต่เป็นการเข้าใกล้เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง (Latour 2004) ในทำนองเดียวกัน ฟาแซง (2017) เห็นว่าการวิพากษ์ไม่ใช่ป้อมปราการที่ต้องบุกยึด แต่เป็นพื้นที่ของการบ่มเพาะความคิดใหม่ ๆ คำตอบของการวิพากษ์จึงไม่ใช่การทำลายล้าง หากแต่เป็นการซ่อมสร้างใหม่เพื่อช่วยพัฒนาในทางสร้างสรรค์ (constructive) ด้วยมุมมองที่แตกต่างกันไป

           ท่ามกลางวิกฤติในช่วงเวลาปัจจุบัน อีฟ โคซอฟสกี้ เซ็ดกวิก (Eve Kosofsky Sedgwick) (2003) อธิบายว่าความเข้าใจต่อการวิพากษ์เป็นความหมายเชิงลบ โดยวางอยู่บนการตั้งข้อสงสัย เธอบอกว่าแทนที่การวิพากษ์จะเป็นการมุ่งหักล้างทำลาย มันควรเป็นการเสริมพลังและผลิตสร้าง เช่นเดียวกับการสนับสนุนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น การพิจารณาและทำความเข้าใจแบบหวาดระแวง (paranoid reading) ซึ่งมุ่งตั้งคำถามและพยายามหักล้างควรถูกแทนที่ด้วยการพิจารณาและทำความเข้าใจแบบซ่อมสร้าง (reparative reading) ซึ่งมีท่าทีของการวิพากษ์เชิงสร้างสรรค์ นาธาน เฮนสลีย์ (Nathan Hensley) (2013) กล่าวถึงการพิจารณาและทำความเข้าใจแบบภัณฑารักษ์ (curatorial reading) โดยบอกว่าเราสามารถเผยให้เห็นจุดตำหนิไปพร้อมกับนำเสนอแง่มุมที่สวยงามไปพร้อมกันได้ ลาตูร์ (2010) เห็นว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะสร้างสิ่งต่าง ๆ ขึ้นมาโดยไม่สนใจสิ่งที่มีอยู่ก่อนอย่างเพียงพอ การวิพากษ์แบบหักล้างทำลายมักมองข้ามความตั้งใจและวิธีการที่สิ่งต่าง ๆ ถูกเสนอขึ้น ในทางมานุษยวิทยา ฟาแซง (2017) เสนอว่าการทำงานชาติพันธุ์วรรณนามีบทบาทในการสร้างบทวิพากษ์ทางสังคมวัฒนธรรมที่หนักแน่นและสมเหตุสมผล เพราะในการทำงานชาติพันธุ์วรรณนา ผู้ทำเปรียบเสมือนคนที่อยู่ในถ้ำกับคนที่ศึกษา ในขณะเดียวกัน การเขียนเพื่อนำเสนอเรื่องราวก็เหมือนกับการอยู่นอกถ้ำกับคนที่เห็นด้วยหรือเห็นแย้งจากการนำเสนองานดังกล่าว ในฐานะของการทำงานชาติพันธุ์วรรณนาเชิงวิพากษ์ ผู้ทำจะอยู่ในวิภาษภาวะในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โจอาว บีห์ล (Joao Biehl) และรามาห์ แม็คเคย์ (Ramah McKay) (2012) เห็นว่าการทำงาน ชาติพันธุ์วรรณนาไม่เพียงมีศักยภาพในการวิพากษ์ แต่ยังมีศักยภาพในสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงการเมืองที่อิงอยู่กับหลักฐานข้อเท็จจริงในการอธิบายและวิเคราะห์อย่างรอบคอบด้วย เพื่อที่จะกอบกู้วิกฤติของการวิพากษ์ในปัจจุบันไม่ให้ตกลงไปในหล่มความคิดที่ไม่ทำให้สังคมเคลื่อนไปข้างหน้า ท่าทีและความเข้าใจต่อการวิพากษ์จำเป็นต้องถูกทบทวนใหม่อันจะทำให้จุดมุ่งหมายของการวิพากษ์เป็นการสร้างมากกว่าทำลายอย่างที่เคยเป็นมา


รายการอ้างอิง

สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ. 2562. นโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2563-2570. กรุงเทพฯ: กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

Biehl, J. & McKay, R. 2012. Ethnography as Political Critique. Anthropological Quarterly. 85(4): 1209-1227.

Fanon, F. [1961] 2004. The Wretched of the Earth. New York: Grove.

Fassin, D & Harcourt, B. 2019. Introduction, In A Time for Critique, Fassin, D & Harcourt, B. (eds.) New York: Columbia University Press.

Fassin, D. 2019. How is Critique? In A Time for Critique, Fassin, D & Harcourt, B. (eds.) New York: Columbia University Press.

Hart, K. 2015. Cultural Critique, In International Encyclopedia of Social & Behavioral Sciences. Oxford: Pergamon Press.

Hensley, N. 2013. Curatorial Reading and Endless War. Victorian Studies. 56(1): 59-83.

Latour, B. 2004. Why Has Critique Run out of Steam? From Matters of Fact to Matters of Concern. Critical Inquiry. 30(2):225-248.

Latour, B. 2010. An Attempt at a Compositionist Manifesto. New Literary History. 41(3): 471-490.

Mirowski, P. 2011. Science-Mart: Privatizing American Science. Massachusetts: Harvard University Press.

Moore, T. J. 2011. Critical Thinking and Disciplinary Thinking: A Continuing Debate. Higher Education Research & Development. 30(3): 261-274.

Sartre, J-P. [1961] 2004. Preface, In The Wretched of the Earth, by Fanon, Frantz. New York: Grove.

Sedgwick, E. K. 2003. Paranoid Reading and Reparative Reading or, You’re so Paranoid, You Probably Think This Essay Is About You. In Touching Feeling: Affect, Pedagogy, Performativity. Durham: Duke University Press.


1  ซาทร์เคยเขียนบทความ Reflections on the Jewish Question (1946) ซึ่งอธิบายถึงอคติและการเลือกปฏิบัติต่อชาวยิวภายหลังจากการปลดปล่อยปารีสออกจากการยึดครองของเยอรมันในปี 1944

2  กฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายของฝรั่งเศสเริ่มบังคับใช้เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2560 เป็นช่วงเวลาสองปีให้หลังจากเหตุโจมตีในปารีส เดือนพฤศจิกายน 2558 (November 2015 Paris attacks) อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติให้ความเห็นว่า กฎหมายดังกล่าวส่งผลกระทบด้านลบต่อสิทธิเสรีภาพและความเคลื่อนไหวทางสังคมด้วย


ผู้เขียน
วิสุทธิ์ เวชวราภรณ์
นักวิจัย ฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ วิกฤติ วิพากษ์ศัพท์มูลวิทยา วิสุทธิ์ เวชวราภรณ์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share