สังคมศาสตร์ปริทัศน์กับบทสนทนาว่าด้วย “จักรวรรดินิยมทางภูมิปัญญา”
วารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ (Social Science Review) เผยแพร่สู่สาธารณะครั้งแรกในช่วงเดือนมิถุนายน 2506 โดยมีสุลักษณ์ ศิวรักษ์เป็นบรรณาธิการยุคเริ่มแรก นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี ในเวลาถัดมา และสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทยเป็นเจ้าของ1 ภาพรวมของเนื้อหาจะมีลักษณะกึ่งวิชาการ คือ มีบทความที่นำเสนอแนวคิดและทฤษฎีด้านสังคมศาสตร์ มุมมองและข้อคิดเห็นต่อปรากฏการณ์ร่วมสมัยทั้งในไทยและต่างประเทศ รวมถึงบทกวี บทความเกี่ยวกับวัฒนธรรมประชานิยมต่าง ๆ นับว่าเป็นพื้นที่แสดงออกทางความคิดของปัญญาชนร่วมสมัยทั้งที่อยู่ในไทยและต่างประเทศ ในห้วงเวลาที่ประเทศไทยตกอยู่ภายใต้การปกครองของระบอบเผด็จการทหาร ประเด็นหนึ่งที่ผมเลือกมาสนทนาในบทความชิ้นนี้คือ ทรรศนะของปัญญาชนร่วมสมัยว่าด้วย “จักรวรรดินิยมทางภูมิปัญญา” (intellectual imperialism)
ตามประวัตินั้น สังคมศาสตร์ปริทัศน์ เริ่มต้นจากการที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกามอบหมายให้สำนักข่าวอเมริกัน (USIS) ดูแลรับผิดชอบและมอบเงินทุนสนับสนุนสำหรับจัดตั้งสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยในประเทศไทย ทั้งการตีพิมพ์หนังสือเผยแพร่อุดมการณ์อเมริกันนิยม หนังสือตำราเรียน และวารสารวิชาการ2 นอกจากนี้สหรัฐฯ ยังดำเนินการวิจัยเพื่อศึกษาแนวทางการจัดตั้งสำนักพิมพ์ในประเทศไทย โดยมีสุลักษณ์ ศิวรักษ์เป็นผู้ช่วย จึงกลายเป็นที่มาของบทบาทบรรณาธิการสำนักพิมพ์ที่กำลังจัดตั้งขึ้น3 ในการจัดทำวารสารนั้น สุลักษณ์ได้รับการสนับสนุนและอุปถัมภ์จากข้าราชการระดับสูงในรัฐบาลสมัยนั้น4 ประจักษ์ ก้องกีรติ ตั้งข้อสังเกตว่า สุลักษณ์ใช้เกราะคุ้มกันทางการเมืองที่ได้รับการสนับสนุนทั้งจากฝ่ายรัฐบาลและสหรัฐฯ วิพากษ์วิจารณ์บทบาททางสังคมและการเมืองของทั้งสองฝ่ายอย่างตรงไปตรงมา5
หัวข้อหนึ่งที่มีการสนทนาบ่อยครั้งในส่วนสถานการณ์การเมืองโลกในวารสารคือ บทบาทของสหรัฐอเมริกาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยุคสงครามเย็น สภาพแวดล้อมทางการเมืองร่วมสมัยจึงกลายเป็นที่มาของข้อถกเถียงทั้งในเชิงทรรศนะและวิชาการเกี่ยวกับบทบาทของสหรัฐอเมริกากับสงครามเวียดนาม ครอบคลุมมาถึงบทบาททางการทหารของสหรัฐฯ ในประเทศไทย ไม่เพียงแค่ในสังคมศาสตร์ปริทัศน์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงสิ่งพิมพ์อื่น ๆ ของทั้งฝ่ายอนุรักษ์นิยมและฝ่ายหัวก้าวหน้า วาทกรรมของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย คือ จักรวรรดินิยมอเมริกัน และการเคลื่อนไหวทางการเมืองภาคประชาชนในยุคสมัยเดียวกัน ทั่วโลก โดยเฉพาะผู้ยึดถืออุดมการณ์ฝ่ายซ้าย (Leftist) และซ้ายใหม่ (New Left) ในช่วงเริ่มต้น ปัญญาชนร่วมสมัยตั้งคำถามต่อบทบาทของสหรัฐฯ กับท่าทีของรัฐบาลไทยในวิกฤตสงครามเวียดนาม ดังที่ทวีศักดิ์ ชัญญาวงศ์ศักดิ์ มองว่าอธิปไตยไทยในปัจจุบันมีลักษณะคล้ายการ “หนีเสือปะจรเข้” ด้านหนึ่งคือการต้านทานภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสม์ ขณะเดียวกันก็กำลังเผชิญกับอำนาจครอบงำของสหรัฐฯ6 ซึ่งปฏิเสธได้ยากว่า การวิพากษ์วิจารณ์สหรัฐฯ ด้านหนึ่งก็เป็นการวิจารณ์รัฐบาลไทยโดยนัย
จุดเริ่มต้นของบทสนทนาเชิงวิพากษ์ว่าด้วยบทบาทของสหรัฐฯ ในจักรวรรดนิยมทางภูมิปัญญาเริ่มต้นขึ้นเมื่อปัญญาชนร่วมสมัยตั้งคำถามกับบทบาทเชิงพันธมิตรต้านคอมมิวนิสต์ระหว่างรัฐบาลเผด็จการทหารของไทยกับสหรัฐฯ ปัญญาชนร่วมสมัยเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับอิทธิพลทางวิชาการที่มากเกินไปและวิพากษ์การลอกเลียนแบบขนบความรู้และวิชาการแบบฝรั่งว่าเป็น “อุปสรรคต่อการพัฒนาชาติ” ดังที่สุลักษณ์ ศิวรักษ์ สะท้อนผ่านบทความ “อิทธิพลฝรั่ง” ในสังคมศาสตร์ปริทัศน์ฉบับหนึ่งไว้ว่า
“…ลัทธิเอาอย่าง หรือการรับอิทธิพลอะไรของใคร โดยปราศจากความใคร่ครวญนั้น เป็นอันตรายยิ่งนัก ยิ่งในกรณีฝรั่งกับไทยด้วยแล้ว ยิ่งนับเป็นมหันตภัย… ก็เมื่อคนไทยส่วนมากไม่รู้จักตัวเองเป็นประการต้นเช่นนี้ แล้วมิหนำซ้ำยังหันไปนิยมชมชอบกับวัฒนธรรมตะวันตก ซึ่งตนเองก็ไม่เข้าใจได้ถ่องแท้ จึงเป็นเรื่องที่น่าเวทนาอย่างยิ่ง … การที่เราจะรับเอาวัฒนธรรมแง่ใดของเขามา เราควรขัรู้สภาวะของเราในแง่นั้น ๆ ด้วย เป็นอย่างน้อย และเราต้องรู้แน่ไว้แก่ใจด้วยว่าการที่ฝรั่งมามีอิทธิพลอยู่ในบ้านเมืองเรานี้ จะในปัจจุบันหรือในอดีตก็ตาม แกไม่ได้เอาอิทธิพลมายื่นให้เพราะความรักเราเป็นที่ตั้ง …
เรื่องของอิทธิพลตะวันตกนั้น เราน่าจะปรับความคิดกันได้แล้ว ว่าเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งจะเลี่ยงเสียไม่ได้ แต่ก็ไม่ใช่สิ่งซึ่งจะกระตือรือร้นยินดีไปด้วย บางทีความผิดพลาดของเราในเรื่องอยากทำตนเป็นฝรั่ง จะมีมานานก่อนที่เผด็จการคนสำคัญจะสั่งให้เลิกนุ่งจงกระเบนเสียดอกกระมัง … ถึงอเมริกันจะไม่มีจักรวรรดิอย่างสองมหาประเทศในยุโรป แต่กำลังดำเนินรอยตาม จะโดยตั้งใจหรือไม่ ก็ตาม … ก็ในเมื่อคนไทยส่วนใหญ่ไม่รู้จักตัวของตัวเอง และพร้อมอยู่เสมอที่จะรับหุ่นฝรั่งมาสวมใส่ ไม่ว่าหุ่นนั้นจะเป็นวัสดุภายนอก ระบบการปกครอง การทหาร หรือการศึกษาก็ตาม อนาคตของไทยจะไปในรูปแบบไหน จึงเป็นเรื่องที่น่าวิตกมากอยู่ … ถ้าเราไม่อยากให้ใครเขามาจูง มานำ มากระตุ้น เราต้องรู้จักตัวเราเองก่อน และเราต้องมีแต้มดูทันคู่ขาของเราด้วย”7 (เน้นตัวหนาโดยผู้เขียน)
จนกระทั่งเหตุการณ์ที่นักศึกษาอเมริกันได้เผยแพร่เอกสารระบุว่านักวิชาการไทยศึกษาสัญชาติอเมริกัน ได้แก่ Lauriston Sharp, David A. Wilson และ Herbert P. Phillips มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการวิจัยเพื่อสำรวจข้อมูลสำหรับการพัฒนาและต่อต้านคอมมิวนิสม์ในประเทศไทย ผ่านสภาที่ปรึกษาวิชาการประเทศไทย (The Academic Advisory Council of Thailand: AACT) ที่จัดตั้งขึ้นโดย USAID จนเกิดข้อถกเถียงในประเด็นเกี่ยวกับจริยธรรมการวิจัยกับการเมือง8 ช่วงเวลาเดียวกันนั้นบทบาทของอุดมการณ์การเมืองแบบซ้ายใหม่ (New leftism) และโลกที่สามนิยม (Third Worldism) กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้เริ่มมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับ “อาณานิคมทางภูมิปัญญา” (Intellectual colonialism)9 โดยวิทยากร เชียงกูล สะท้อนให้เห็นข้อท้าทายของปัญญาชนในโลกที่สาม (แน่นอนว่ารวมถึงไทย) ไว้ว่า
“นักทฤษฎีพัฒนาเศรษฐกิจจากโลกที่พัฒนาแล้ว ผู้พล่ามอยู่ตามมหาวิทยาลัยและองค์การระหว่างประเทศพยายามชี้ให้เราเห็นว่า ความเป็นประเทศด้อยพัฒนาเกิดจากความผิดพลาดของผู้คนในดินแดนเหล่านั้นเอง ที่ไม่รู้จักนำทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามหลักวิชา เขากล่าวโทษความโง่เขลา ความไร้ประสิทธิภาพในการจัดองค์การ และความเฉื่อยชาไม่พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงของพลเมืองโลกที่สาม ในฐานะที่เป็นที่มาแห่งปัญหาความด้อยพัฒนาทั้งปวง โดยเว้นที่จะเอ่ยถึงประวัติศาสตร์แห่งการเอารัดเอาเปรียบ”10
เนื้อหาที่วิทยากรนำเสนอนั้นมองผ่านแว่นรื้อถอนอาณานิคม (Decolonial thinking) ซึ่งกำลังเติบโตดินแดนที่กำลังต่อสู้จากช่วงเปลี่ยนผ่านหลังอาณานิคม สาระสำคัญประการหนึ่งที่กลายเป็นข้อถกเถียงสำคัญว่าด้วยบทบาทของ “จักรวรรดิ” (ในภาษามาร์กซิสต์) หรือ “อาณานิคม” คือ ทฤษฎีว่าด้วยการพึ่งพา (Dependency theory) ปัญญาชนร่วมสมัยเริ่มตั้งกับบทบาทของรัฐบาลไทยในการพึ่งพาทางเศรษฐกิจ การเมือง การทหาร รวมถึงความรู้และการศึกษาจากสหรัฐฯ งานเขียนชิ้นสำคัญ (นอกเหนือจากสังคมศาสตร์ปริทัศน์) คือ ภัยขาว จัดพิมพ์โดยกลุ่มสภาหน้าโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์11 เช่นเดียวกัน ในบทนำของสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ฉบับคนหนุ่ม ได้วิพากษ์วิจารณ์ประเด็นดังกล่าวว่า
“เราเริ่มคุกเข่าก้มหน้านิ่งและพูดว่า “ฉันยอมรับ” แต่การพูดว่า ‘ยอมรับ’ ในยุคสมัยของเราก็เหมือนกับการพูดว่า เราได้ ‘ยอมรับ’ วิถีชีวิตแบบอเมริกาทั้งหมด ยอมรับการวิจัยทางสังคมศาสตร์ของอเมริกาในประเทศไทย… และคำขวัญต่าง ๆ ของค่ายเสรีประชาธิปไตย เราพบว่าในระยะเลาที่เราได้เติบโตขึ้นมา ชีวิตของเราดูจะไร้ความหมายมากขึ้น … คนหนุ่มสาวของเรารุ่นนี้ เริ่มได้ตระหนักแล้วว่า สิ่งที่คนรุ่นก่อนพร่ำแต่พูดถึงอธิปไตยของชาตินั้นเห็นจะไม่จริงเสียแล้ว อธิปไตยของชาติทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และทางปัญญา ย่อมสำคัญพอ ๆ กับอธิปไตยทางการเมือง การเป็นอาณานิคมโดยพฤตินัยของประเทศเราย่อมมีความสำคัญเท่ากับการเป็นอาณานิคมโดยนิตินัย แต่บัดนี้เรากลายเป็นอาณานิยมโดยพฤตินัยไปเสียแล้วหรือ…”12 (เน้นตัวหนาโดยผู้เขียน)
ในช่วงเวลานับตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1960 จนถึงต้นทศวรรษ 1970 ขบวนการเคลื่อนไหวกระแสทางสังคมต่อต้านบทบาทของสหรัฐฯ ในสงครามเวียดนาม เป็นไปอย่างดุเดือด เช่นเดียวกับในแวดวงวิชาการและสิ่งพิมพ์ การวิพากษ์วิจารณ์สหรัฐฯ นับเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวทางภูมิปัญญาในช่วงทศวรรษ 1970 นอกเหนือจากนโยบายสนับสนุนทางการเมืองและเศรษฐกิจแล้ว ปัญญาชนเริ่มตั้งคำถามและวิพากษ์โครงการทางวัฒนธรรมของสหรัฐฯ เช่น โครงการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมของนักเรียนที่ชื่อ American Field Service หรือ A.F.S.13 โครงการอาสาสมัครสันติภาพอเมริกัน14 และการสนับสนุนการสอนภาษาอังกฤษที่ได้รับงบสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ15 เป็นต้น ข้อวิจารณ์เหล่านี้ไม่ได้นำเสนอเพียงปัญหา แต่ยังสะท้อนให้เห็นผลกระทบเชิงลบที่มากกว่าเชิงบวกของโครงการเหล่านั้นที่ส่งผลต่อสังคมไทยในมิติต่าง ๆ จนกระทั่งในบทนำของสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ปีที่ 10 ฉบับที่ 2 บรรณาธิการได้ร่างจดหมายเปิดผนึกถึง “รัฐบาลเงา” ที่ถนนวิทยุ ซึ่งหมายถึงสหรัฐฯ16
นอกเหนือจากสำนึกชาตินิยมทางการเมืองและเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็วผ่านการวิพากษ์บทบาทของวาทกรรมการพัฒนาโดยสหรัฐฯ กับสังคมไทย ปัญญาชนร่วมสมัยเริ่มเกิดสำนึกชาตินิยมทางปัญญาและวัฒนธรรม(intellectual and cultural nationalism)โดยวิจารณ์การสนับสนุนทางวิชาการ การศึกษา และวัฒนธรรมของสหรัฐฯ ผ่านโครงการต่าง ๆ ในพื้นที่ที่สหรัฐฯ ให้งบประมาณสนับสนุนเอง สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ปีที่ 8 ฉบับที่ 3 ฉบับการวิจัยหรือการจารกรรม ได้รวบรวมบทความวิพากษ์บทบาทจักรวรรดินิยมทางภูมิปัญญาของสหรัฐฯ ในบทนำของฉบับทบทวนที่มาของการวิจัยทางสังคมศาสตร์ในไทยว่า
“มีผู้นำและนักวิชาการของสหรัฐฯ จำนวนไม่น้อยที่เชื่อว่า อีกในไม่ช้าประเทศไทยก็คงจะเป็นแบบเดียวกับเวียดนาม ลาว และตัวอย่างล่าสุดที่มองเห็นกันอยู่คือเขมร ดังนั้นการศึกษาและการวิจัยเกี่ยวกับเมืองไทยเพื่อต่อต้านการแทรกซึม จึงต้องเตรียมเสียแต่เนิ่น ๆ เพื่อเตรียมรับมือกับฝ่ายตรงข้ามทุกวิถีทาง ในการเข้ามาศึกษาวิจัยเมืองไทยนั้น รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ว่าจ้างโดยผ่านมาทางหน่วยงานของรัฐบาลเอง หรือไม่ก็ทางมหาวิทยาลัย ศูนย์วิชาการ และสถาบันรับจ้างวิจัยของเอกชน”17
นอกจากนี้ ยังมีการพิจารณาบทบาทระดับปฏิบัติการการทำวิจัยของสหรัฐฯ (ทั้งในนามของบุคคลหรือองค์กร) กับไทย โดยเสนอว่าการวิจัยที่ไม่ได้ดำเนินการภายใต้วัตถุประสงค์ทางวิชาการส่งผลร้ายต่อเสถียรภาพของรัฐบาล เพราะการรู้ความลับภายในประเทศบางอย่างอาจทำให้เสียอำนาจต่อรองในเวทีระหว่างประเทศ รัฐบาลไทยจึงควรมีส่วนเกี่ยวข้องกับการวิจัย โดยเฉพาะวิจัยบางประเด็นที่ควรตกเป็นภาระรับผิดชอบของรัฐบาลไทย ถ้ารัฐบาลไทยไม่มีส่วนรับผิดชอบรู้เห็น ย่อมถือว่างานวิจัยนั้นเป็นการจารกรรม จึงเห็นควรให้มีการสร้างมาตรการให้มีการนำเสนอผลงานการวิจัยออกมา ไม่ว่าจะทำโดยนักวิชาการไทยหรือต่างประเทศ แต่ก็มีข้อจำกัดบางส่วนเช่น ศูนย์รวมเอกสารทางทหารระหว่างไทย-อเมริกัน ดูราวกับว่าจะเป็นองค์การสายลับระหว่างประเทศมากกว่าศูนย์บริการงานวิจัยโดยเปิดเผย18
ในฉบับเดียวกันยังมีบทความ ประเมินผล 22 ปี ของความช่วยเหลือทางวิชาการของสหรัฐอเมริกาต่อประเทศไทย (พ.ศ.2492-2513) โดย เกริกศักดิ์ กองศิลป์, ปัญหาสำคัญของงานวิจัยในเมืองไทย โดย วารินทร์ วงศ์หาญเชาว์, งานวิจัยของนักวิชาการอเมริกันกับความมั่นคงของประเทศไทย โดย ธีรเวทย์ ประมวลรัฐการ, Western Social Science and Development: A Research Dilemma in Thailand โดย Ronald A. Witton, งานวิจัยของอเมริกันในทัศนะฝรั่ง โดย Herbert P. Phillips และงานวิจัยของอเมริกันในทัศนะฝรั่ง โดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ซึ่งนำเสนอเนื้อหาในประเด็นใกล้เคียงกันคือ ปัญหาของกระบวนการวิจัยด้านสังคมศาสตร์ไทยภายใต้ร่มเงาของสหรัฐฯ ปัญญาชนเหล่านี้ไม่ได้วิพากษ์บทบาทของสหรัฐฯ แต่เพียงฝ่ายเดียว แต่ยังวิจารณ์ท่าทีหรือการรับมือของประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะประเทศไทยอีกด้วย19
วารินทร์ วงศ์หาญเชาว์ ตั้งข้อสังเกตว่า ประเทศกำลังพัฒนานั้นมักมองว่าการทำวิจัยไม่สามารถมอบผลตอบแทนที่แน่นอน ประเทศเหล่านั้น “มักจะดำเนินนโยบายเกี่ยวกับงานวิจัย ในลักษณะที่ว่าถ้าตนได้ทรัพยากรสำหรับงานวิจัยมาจากที่อื่นโดยไม่เบียดเบียนทรัพยากรที่มีอยู่ของตนแล้ว ตนก็จะสนับสนุน” ดังกรณีประเทศไทย งบประมาณการวิจัยส่วนใหญ่มาจากองค์กร สถาบัน มูลนิธิ หรือการสนับสนุนของนักวิชาการอเมริกันทั้งสิ้น ซึ่งมักเต็มไปด้วย “อคติ” ด้านการวิจัย ไม่ว่าจะเป็นอคติในการเลือกประเภทของการวิจัย การเลือกเรื่องวิจัยที่ใช้ระยะเวลาวิจัยยาวนาน อคติของผู้ควบคุมงานวิจัย อคติในการเสนอผลงานวิจัย20 ในขณะที่เกริกศักดิ์ กองศิลป์ ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับบทบาทนำของนักวิชาการหรือนักวิจัยชาวอเมริกันซึ่งส่งผลต่อรูปแบบและผลลัพธ์การวิจัย21 และชาญวิทย์ เกษตรศิริ ตั้งข้อสังเกตว่าการค้นคว้าวิจัยหรือสร้างทฤษฎีทางวิชาการใดก็ตามจะสัมฤทธิ์ผลก็ต้องเมื่อมีการนำมาใช้ปฏิบัติบนพื้นฐานของวิทยาการ มีการพิสูจน์แบบวิทยาศาสตร์ ชาญวิทย์ตั้งคำถามทิ้งท้ายบทความว่า
“ปัญหาที่นักวิชาการทั้งหลายน่าจะต้องหาคำตอบก็คือ ตนควรจะเข้าเกี่ยวข้องในการวางนโยบายที่เกี่ยวกับความเป็นความตายของคนส่วนมากไหม ถ้าหากเข้าเกี่ยวข้องแล้วจะต้องมีขอบเขตเพียงไร… เป็นไปได้ไหมที่นักวิชาการควรจะดำรงตนเป็นนักคิดอิสระ อยู่นอกการควบคุมบังคับของผู้วางนโยบาย ทั้งนี้เพื่อที่ตนจะได้มีอิสระและโอกาสมากพอที่จะเสนอความคิด การวิพากษ์วิจารณ์ เพื่อประโยชน์ของสังคมทั้งมวล”22 (เน้นตัวหนาโดยผู้เขียน)
แม้ในฉบับเดียวกันจะปรากฏบทความของนักวิชาการต่างประเทศ(ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นนักวิชาการอเมริกัน) แต่ก็เป็นบทความวิจารณ์กระบวนผลิตความรู้ภายใต้บทบาทนำของสหรัฐฯ ในสงครามเย็น Ronald A. Witton ตั้งแง่ว่าสถาบันวิชาการอเมริกันที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในทางสังคมศาสตร์มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมือง ทำให้กระบวนการผลิตความรู้เริ่มขาดความเป็นกลาง (nneutral) ทั้งเสรีภาพทางวิชาการ (academic freedom) ก็เริ่มเลือนหายไป23 หรือในบทความ งานวิจัยของอเมริกันในทัศนะฝรั่ง ซึ่งแปลบทความถามตอบของ Herbert P. Phillips นักมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ และแนบท้ายเอกสารบันทึกของ Michael Moerman และ Charles F. Keyes ถึงสมาชิกของ AACT และคณะกรรมการชั่วคราวของ ARPA (Advanced Research Project Agency) ก็ตั้งคำถามเกี่ยวกับจริยธรรมการวิจัยของนักมานุษยวิทยาที่เข้าร่วมโครงการวิจัย Project AGILE (โครงการพัฒนาและความมั่นคงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ในประเทศไทยภายใต้โครงการการต่อต้านผู้ก่อการร้ายของเพนตากอนหรือกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ24
อย่างไรก็ตาม ความคิดเห็นของนักวิชาการไทยก็กระจัดกระจายไปหลายทิศทาง ธีรเวทย์ ประมวลรัฐการชี้ประเด็นว่าบทบาททางวิชาการของสหรัฐฯ มีทั้งนักวิชาการจริง ๆ และนักวิชาการจอมปลอม และผลลัพธ์การวิจัยก็จำเป็นต้องมีการคัดสรร อะไรที่เป็นประโยชน์ก็สามารถนำมาปรับใช้ได้25 ขณะที่ไพฑูรย์ สายสว่าง มองว่าข้อเสนอของนักวิชาการเหล่านั้นห่างไกลจากสำนึกแบบชาตินิยมทางวิชาการ เพราะ “อันที่จริงแล้วเป็นเพียงอัตนิยมทางวิชาการเท่านั้น ส่วนที่จะเห็นผลได้ผลเสียของชาตินั้น ความเป็นชาตินิยมก็เพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นที่จะต้องมีคุณศัพท์ว่าวิชาการมาเพิ่มด้วยเลย การที่กล่าวหาว่าผู้ที่มีความสนใจเรื่องนี้เป็นนักชาตินิยมทางวิชาการจึงเป็นเรื่องเหลวไหว”26 หรือข้อคิดเห็นของชัยสิริ สมุทวณิช ในจดหมายถึงบรรณาธิการก็วิพากษ์บทความในฉบับก่อนหน้าว่า
“สังคมศาสตร์ปริทัศน์ฉบับวิจัยหรือจารกรรม มีอยู่หลายตอนที่นักเขียนขาดข้อเท็จจริงบางอย่างไป แต่จะโทษคนเหล่านั้นไม่ได้ทีเดียวนัก เพราะข้อเท็จจริงบางอย่างอาจจะขาดไปจริงตามขอบข่ายของระบบเก็บข่าวสารของศูนย์วิจัยต่าง ๆ ก็ได้ กระนั้นก็ดี ผมเชื่อว่าปัญหาวิจัยหรือจารกรรมเรายังสามารถคุมสถานการณ์ได้บ้าง เพราะไม่ใช่ว่างานดังกล่าวจะจำกัดอยู่แต่ชาวต่างประเทศเท่านั้น report ต่าง ๆ ต้องผ่านคนไทยไม่มากก็น้อย แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะสนใจจริงจังหรือไม่อย่างไร
ผมเชื่อว่านักเขียนต่าง ๆ ลืมคิดไปว่า การวิจัยที่เป็นการจารกรรมและบ่อยทำลายแน่ ๆ คือการวิจัยของพวกคอมมิวนิสต์ ใครคิดว่าพวกผู้ก่อการร้ายไม่รู้จักการวิจัยก็ควรจะทำความเข้าใจเสียใหม่… ผมเห็นว่า ค.ม. มีการวิจัยที่น่ากลัวและน่ารังเกียจกว่านี้นัก”27 (เน้นตัวหนาโดยผู้เขียน)
ธีรเวทย์ ประมวลรัฐการ ได้ขยายความข้อเสนอของตนเพิ่มเติมในสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ฉบับหนังต้องห้าม?โดยเสนอว่าการวิจัยเพื่อสืบความลับของประเทศต่าง ๆ เป็นกิจกรรมที่ปกติวิสัยในทุกพื้นที่ และชี้ให้เห็นความแตกต่างของการวิจัยสืบความลับในช่วงสงครามกับการวิจัยเชิงมานุษยวิทยาโดยอ้างถึงรายงานของคณะกรรมาธิการของสมาคมมานุษยวิทยาอเมริกัน ภายใต้การนำของ Margaret Mead ในเดือนกันยายน 2514 ซึ่งถกเถียงเกี่ยวกับจริยธรรมการวิจัยทั้งในด้านระเบียบวิธีวิจัยและกระบวนการพัฒนาโครงการวิจัยในภาพรวม รวมถึงความพยายามตลอดบทความของเขาในการอธิบายความต่างระหว่าง ‘นักวิชาการบริสุทธิ์’ และ ‘นักวิชาการชาตินิยม’ เพื่อสร้างข้อเสนอในทิศทางเดียวกันกับบทความก่อนหน้าว่า
“การวิเคราะห์บทบาทของนักวิชาการต่างประเทศที่ทำงานอยู่ในเมืองไทย และความสัมพันธ์ประเภทต่าง ๆ ของสถานภาพของเขานั้นยังเป็นเรื่องที่จะต้องศึกษาต่อไป หากเราจะยอมรับความจริงที่ว่าความร่วมมือระหว่างประเทศเป็นสิ่งจำเป็นที่ยังขาดมิได้ ผู้เขียนเชื่อในความบริสุทธิ์ใจว่าได้พยายามพิจารณาโดยใช้อารมณ์หรือความรู้สึกชาตินิยมน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้”28 (เน้นตัวหนาโดยผู้เขียน)
ในสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ฉบับที่มีสันติภาพขาย และฉบับตาคลี: ขยะสงคราม มีบทสัมภาษณ์ Herbert P. Phillipsในประเด็นเกี่ยวกับความข้องเกี่ยวทางการเมืองของนักวิชาการอเมริกันสำนักไทยศึกษา โดยเขาได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ … ว่า “ผมคิดว่าการยุ่งเกี่ยวชนิดนี้โดยเนื้อแท้แล้วรัฐบาลไทยเป็นผู้เชิญองค์การอย่าง ARPA เข้ามาในประเทศไทยเอง และในฐานะของประชาชนอเมริกัน ผมย่อมมีสิทธิที่จะ ‘เข้ายุ่งเกี่ยว’”29 หรือในฉบับถัด ๆ มายังมีบทสัมภาษณ์ Joseph Fischer ซึ่งแสดงความเห็นว่า “นักวิชาการไทยมักมีแนวโน้มที่จะยินยอมให้ข้อเขียนของชาวตะวันตกเข้ามาเป็นประหนึ่งคัมภีร์ หากนักวิชาการไทยต้องการจะเขียนถึงสังคมของเขา เขาก็ควรจะออกไปค้นหาหลักฐานในสังคมของเขาก่อนที่จะใช้มาตรฐานคุณค่าทางวิชาการของชาวตะวันตก” และ “คนไทยที่มาเรียนที่นี่ (สหรัฐฯ) มาเรียนเอาความรู้ทางวิชาชีพแบบแคบ ๆ เสียส่วนมาก ไม่ค่อยมาเรียนวิชาที่ใช้ปัญญามากนัก… ผมเองไม่เห็นว่าเราสามารถแยกทฤษฎีออกจากภาคปฏิบัติได้ คนไทยมาเรียนภาคปฏิบัติ แต่ก็ไม่รู้จักประยุกต์ใช้ เรียนภาคทฤษฎีแต่ก็ไม่รู้จะใช้ประสบการณ์ของตนและประเทศของตนอย่างไร” กระนั้น นักวิชาการเหล่านี้ก็วิพากษ์ภูมิทัศน์ทางวิชาการและการวิจัยในสหรัฐฯ เนื่องจากกรณีวิจารณ์บทบาทของนักวิชาการกับการมีส่วนร่วมในนโยบายของรัฐ30
อย่างไรก็ตาม ควรตั้งข้อสังเกตว่าสำนึกชาตินิยมทางวิชาการและจักรวรรดินิยมทางภูมิปัญญาในกระแสความเคลื่อนไหวทางภูมิปัญญาของปัญญาชนเดือนตุลาฯ ผ่านสังคมศาสตร์ปริทัศน์นั้น ก็มีข้อจำกัดบางประการ โดยเฉพาะการสร้างความสัมพันธ์เชิงอาณานิคมบนคู่ตรงข้ามระหว่างไทย-สหรัฐฯ จนอาจละเลยบทบาทเชิงอาณานิคมหรือจักรวรรดินิยมของนักวิชาการหรือรัฐบาลประเทศอื่น ๆ31 โดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชียที่เริ่มมีการสถาปนาสถานภาพจักรวรรดินิยมทางภูมิปัญญาไม่ต่างจากบทบาทของสหรัฐฯ มากนัก หรือแม้กระทั่งบทบาทของนักวิชาการ องค์กรหรือสถาบันที่สถาปนาความรู้เกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ ในประเทศ32 อาจกล่าวได้ว่ากระแสสำนึกชาตินิยมทางวิชาการและจักรวรรดินิยมทางภูมิปัญญาก็ไม่ได้พบเห็นได้ในเพียงสังคมศาสตร์ปริทัศน์เท่านั้น แต่ยังปรากฏในวัฒนธรรมการเมืองและวัฒนธรรมประชานิยมร่วมสมัย ขณะที่ สังคมศาสตร์ปริทัศน์ก็ยังมีประเด็นที่รอศึกษาอีกจำนวนมาก
หมายเหตุ
ภาพโปสเตอร์ปรับแต่งจากภาพ Nixon Tearing the Heart out of Indochina โดยศิลปินชาวคิวบัน René Mederos (1971) จาก The Lindsay Webster Collection of Cuban Posters บริเวณมุมขวาล่างของภาพฉบับเต็มปรากฏตราสัญลักษณ์ OSPAAAL หรือ Organization of Solidarity with the Peoples of Africa, Asia, and Latin America (หรือ Organización de Solidaridad con los Pueblos de Asia, África y América Latina ในภาษาสเปน) ก่อตั้งขึ้นภายหลังการประชุมไตรทวีป (Tricontinental Conference) ในปี 1966 ซึ่งให้ความสนใจกับสถานการณ์การเมืองในอินโดจีนและคิวบาเป็นสำคัญ (ซึ่งเป็นสมรภูมิรบระหว่างสหรัฐอเมริกาและค่ายสังคมนิยม)
รายการอ้างอิง
1 ประจักษ์ ก้องกีรติ (2545) ค้นพบเพิ่มเติมว่า สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทยจดทะเบียนเป็นสมาคมอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2499 จากแนวคิดริเริ่มในงานประชุมร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ฝ่ายสังคมศาสตร์ขององค์การยูเนสโกและนักวิชาการไทยซึ่งเห็นพ้องกันว่าไทยจำเป็นต้องมีการจัดตั้งสมาคมสังคมศาสตร์เหมือนในต่างประเทศ โดยมีที่ทำการอยู่ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีความพร้อมด้านบุคลากรมากกว่าสถาบันการศึกษาอื่นในเวลาเดียวกัน นอกจากนี้คณะกรรมการสมาคมก็มีความเกี่ยวข้องหรือใกล้ชิดกับรัฐบาล
2 ในทางหนึ่ง อาจกล่าวได้ว่าสังคมศาสตร์ไทยเติบโตพร้อมกับนโยบายการต่างประเทศระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามเย็น โดยเฉพาะบทบาทของนักวิชาการสายเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาและไทยศึกษาสกุลคอร์แนล (Cornell University) องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกา (USAID) สำนักข่าวสารอเมริกัน (USIS) องค์การบริหารวิเทศกิจแห่งสหรัฐ (USOM) หน่วยสันติภาสหรัฐอเมริกา (Peace Corps) มูลนิธิ Fulbright, Rockefeller, Ford, Asia เป็นต้น ดู สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์, เขียนจีนให้เป็นไทย: ตัวตน “ไทย-จีน” ที่เพิ่งสร้าง กับการเมือง/การทูตวิชาการในสังคมศาสตร์สงครามเย็น (กรุงเทพฯ: มติชน, 2564), 117-130. และ เก่งกิจ กิติเรียงลาภ, มานุษยวิทยาจักรวรรดิ: การประดิษฐ์หมู่บ้านชนบทและกำเนิดมานุษยวิทยาไทยในยุคสงครามเย็น (รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์), (กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, 2559), 47-60.
3 ประจักษ์ ก้องกีรติ, “ก่อนจะถึง 14 ตุลาฯ : ความเคลื่อนไหวทางการเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร (พ.ศ. 2506-2516),” (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2545).
4 จึงเป็นเหตุผลให้สังคมศาสตร์ปริทัศน์ฉบับแรก ๆ เต็มไปด้วยผู้เขียนในกลุ่มที่อาจเรียกเป็นสายเจ้านายและนักคิดอาวุโส กระนั้น ก็ปรากฏนักเขียนรุ่นใหม่จำนวนมาก โดยเฉพาะนักเรียนนอกที่กำลังหรือสำเร็จการศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาในต่างประเทศ (ส่วนใหญ่คือสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร) และนักเขียนต่างชาติในบางฉบับ
5 ประจักษ์ ก้องกีรติ, อ้างถึงแล้ว, 80-82.
6 ทวีศักดิ์ ชัญญาวงศ์ศักดิ์, “อธิปไตยของไทย,” สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ฉบับนิสิตนักศึกษา, กุมภาพันธ์ 2511: 39-41.
7 สุลักษณ์ ศิวรักษ์, “อิทธิพลฝรั่ง,” สังคมศาสตร์ปริทัศน์ 4, 3(2509): 3-6.
8 Eric Wakin, Anthropology Goes to War: Professional Ethics and Counterinsurgency in Thailand (Madison, WI: Center for Southeast Asian Studies, University of Wisconsin-Madison, 1992).; สำหรับบทบาทของนักวิชาการเหล่านี้ในแวดวงวิชาการไทยศึกษา ดู สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์, (2564)
9 ผมได้ยกตัวอย่างข้อเสนอของนักวิชาการมลายู Syed Hussein Alatas แห่งมหาวิทยาลัยสิงคโปร์ ใน นิฌามิล หะยีซะ, “รื้อถอน “อาณานิคม” ทางความรู้: สังคมวิทยาความรู้กับกรณีเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา,” 8 กันยายน 2566, https://sac.or.th/portal/th/article/detail/520. คาบเกี่ยวกับช่วงเวลาที่ปัญญาชนไทยเริ่มตั้งคำถามในประเด็นเดียวกัน
10 วิทยากร เชียงกูล, “ปัญหาของคนหนุ่มสาวในโลกที่สาม,” สังคมศาสตร์ปริทัศน์ 8, 2(ก.ย.-พ.ย. 2513): 12-16.
11 กลุ่มสภาหน้าโดม, ภัยขาว (พระนคร: อักษรสัมพันธ์, 2514).
12 “บทนำ,” สังคมศาสตร์ปริทัศน์ 8, 2(ก.ย.-พ.ย. 2513): 3-5.
13 ธเนศวร์ เจริญเมือง, “อาณานิคมทางปัญญา: เอ.เอฟ.เอส. ‘จะยุบหรือไม่ยุบ,’” สังคมศาสตร์ปริทัศน์ 12, 7(ก.ค. 2517): 51-55.
14 ชลิต แนวพนิช, “อาสาสมัครสันติภาพอเมริกัน: ผักชีโรยหน้าจักรวรรดินิยมแผนใหม่,” สังคมศาสตร์ปริทัศน์ 12, 7(ก.ค.2517): 36-44.
15 เดวิด แรนสัน, “จักรวรรดินิยมทางภาษา,” แปลโดย ทรงยศ แววหงษ์, สังคมศาสตร์ปริทัศน์ 12, 7(ก.ค. 2517): 45-50.
16 “บทนำ: จดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลเงาที่ถนนวิทยุ,” สังคมศาสตร์ปริทัศน์ 12, 2(ก.พ. 2517): 9-12.
17 “บทนำ: การวิจัยทางวิชาการหรือการจารกรรม,” สังคมศาสตร์ปริทัศน์ 8, 3(ธ.ค. 2513 - ก.พ. 2514): 3-5.
18 เรื่องเดียวกัน, 5.
19 ตัวอย่างเช่น บทความ สถานการณ์เกี่ยวกับการวิจัยทางสังคมศาสตร์ในภาคเหนือของประเทศไทย โดย สุเทพ สุนทรเภสัช แสดงให้เห็นถึงความขาดแคลนในความรู้เกี่ยวกับชนพื้นเมืองในภาคเหนือของไทย โดยเฉพาะที่ดำเนินการโดยนักวิชาการไทย; นอกจากนี้ยังมีรายงานพิเศษในบทความ “เบื้องหลังการจารกรรมของสหรัฐฯ ต่อประเทศไทย,” สังคมศาสตร์ปริทัศน์ 12, 2(ก.พ. 2517): 37-46.
20 วารินทร์ วงศ์หาญเชาว์, “ปัญหาสำคัญของงานวิจัยในเมืองไทย,” สังคมศาสตร์ปริทัศน์ 8, 3(ธ.ค. 2513 - ก.พ. 2514): 18-28.
21 เกริกศักดิ์ กองศิลป์, “ประเมินผล 22 ปี ของความช่วยเหลือทางวิชาการของสหรัฐอเมริกาต่อประเทศไทย (พ.ศ.2492-2513),” สังคมศาสตร์ปริทัศน์ 8, 3(ธ.ค. 2513 - ก.พ. 2514): 6-16.
22 ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, “งานวิจัยของอเมริกันในทัศนะไทย,” สังคมศาสตร์ปริทัศน์ 8, 3(ธ.ค. 2513 - ก.พ. 2514): 86-88.
23 Ronald A. Witton, “Western Social Science and Development: A Research Dilemma in Thailand,” สังคมศาสตร์ปริทัศน์ 8, 3(ธ.ค. 2513 - ก.พ. 2514): 64-78.
24 “งานวิจัยของอเมริกันในทัศนะฝรั่ง,” ผู้แปล สุธีรา ทอมสัน, สังคมศาสตร์ปริทัศน์ 8, 3(ธ.ค. 2513 - ก.พ. 2514): 82-86.
25 ธีรเวทย์ ประมวลรัฐการ, “งานวิจัยของนักวิชาการอเมริกันกับความมั่นคงของประเทศไทย,” สังคมศาสตร์ปริทัศน์ 8, 3(ธ.ค. 2513 - ก.พ. 2514):
26 ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, “งานวิจัยของอเมริกันในทัศนะไทย,” สังคมศาสตร์ปริทัศน์ 8, 3(ธ.ค. 2513 - ก.พ. 2514): 86-88.
27 ชัยสิริ สมุทวณิช, “จดหมายถึงบรรณาธิการ: จดหมายจากอเมริกา,” สังคมศาสตร์ปริทัศน์ 8, 4(มี.ค. - พ.ค. 2514): 124-125.
28 ธีรเวทย์ ประมวลรัฐการ, “นักวิจัยสายลับหรือนักวิจัยทางวิชาการ,” สังคมศาสตร์ปริทัศน์ 10, 3 (มี.ค. 2515): 12-17.
29 “สัมภาษณ์: เฮอเบิต ฟิลลิปส์ (ต่อ),” สังคมศาสตร์ปริทัศน์ 10, 8(ส.ค. 2515): 12-18.
30 “สัมภาษณ์อเมริกันใหม่: โจเซฟ ฟีสเชอร์,” สังคมศาสตร์ปริทัศน์ 10, 11(พ.ย. 2515): 10-18.
31 สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์ (2564) ตั้งข้อสังเกตในประเด็นเดียวกันโดยยกกรณีงานวิชาการเกี่ยวกับคนจีนโพ้นทะเลในประเทศไทยและสังคมศาสตร์สงครามเย็นซึ่งเน้นบทบาทของสหรัฐฯ มากจนเกินไป หากมองประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาไทยจะเห็นว่า สิ่งที่พบเห็นได้น้อยคือ ปฏิสัมพันธ์ทางวิชาการของไทยกับกลุ่มประเทศที่ยึดอุดมการณ์ฝ่ายซ้ายหรือดินแดนที่เป็นชายขอบในระบบโลก ซึ่งจะทำให้เห็นพัฒนาการของความคิดที่เรียกว่า “ราดิคัล” (Radicalism) หรือ “ก้าวหน้า” (Progressivism) ในไทย
32 หากมองอย่างเป็นกลางที่สุด ผมก็เห็นควรให้มีการศึกษาการเมืองของการผลิตความรู้ของต้นสังกัด นั่นคือ “ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรฯ” ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการผลิตองค์ความรู้ทางมานุษยวิทยา ประวัติศาสตร์ และโบราณคดีที่สำคัญแหล่งหนึ่งของไทยเช่นเดียวกัน
ผู้เขียน
นิฌามิล หะยีซะ
ผู้ช่วยนักวิจัย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ป้ายกำกับ สังคมศาสตร์ปริทัศน์ จักรวรรดินิยม มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ นิฌามิล หะยีซะ