การปรับตัวเพื่อรับมือกับความไม่แน่นอน จากความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า
ความไม่แน่นอน เป็นสิ่งที่มนุษย์เผชิญหน้าอยู่ตลอดเวลา อันเป็นผลมาจากการสัมผัสกับประสบการณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจ หรือเป็นปรากฎการณ์ที่มนุษย์ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น ความรู้จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการนำมาใช้อธิบายและทำความเข้าใจ และเปลี่ยนความไม่แน่นอนให้เป็นความแน่นอน หรือลดระดับของความไม่แน่นอนลง ในแง่นี้ มนุษย์จึงพยายามผลิตสร้างความรู้ ใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อแสวงหาคำอธิบายและหนทางเอาชนะหรือหลีกเลี่ยงความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นในปรากฎการณ์ต่าง ๆ ประสบการณ์ที่มนุษย์ต้องเผชิญและดำรงอยู่ภายใต้สภาวะความไม่แน่นอน กระบวนการตัดสินใจ และการเลือกใช้ความรู้ เครื่องมือ หรือวิธีการในการอยู่ร่วมหรือรับมือกับความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น ตลอดจนชัยชนะของมนุษย์จากการผลิตสร้างความรู้เพื่อเปลี่ยนให้ความไม่แน่นอนเป็นความแน่นอนที่มนุษย์สามารถควบคุมได้ (ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี, 2566, 2-3)
เป็นเวลากว่า 20 ปีที่พื้นที่ภาคตะวันออกของประเทศไทยโดยเฉพาะบริเวณป่ารอยต่อเกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า (Human-Elephant conflict) ความขัดแย้งในพื้นที่ภาคตะวันออกเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ จากการเพิ่มจำนวนประชากรของช้างในผืนป่าภาคตะวันออก การเพิ่มขึ้นของช้างนำมาสู่ปัญหาประชากรช้างล้นขนาด (Overpopulation) ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตของช้าง ส่งผลให้ช้างต้องออกมาหากินนอกพื้นที่ป่า จากเดิมที่อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์แต่ในปัจจุบันช้างป่าออกมาหากินและอาศัยอยู่ในพื้นที่เกษตรกรรมจนเป็นเรื่องปกติไปแล้ว ช้างป่าจึงกลายเป็นความไม่แน่นอนที่เกษตรกรและผู้ที่อาศัยอยู่รอบผืนป่ารอยต่อต้องหาทางรับมือและปรับตัวกับปัญหาช้างป่า ในขณะที่ช้างป่าก็ต้องปรับตัวกับกิจกรรมจากมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงไปเช่นเดียวกัน
บทความนี้ผู้เขียนพยายามนำเสนอภาพของความไม่แน่นอนโดยอิงจากงานของ กัมปนาท เบ็ญจนาวี ที่ศึกษาความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นในชีวิตเกษตรกรจังหวัดปราจีนบุรีหลังได้รับผลกระทบจากการขยายตัวของโครงการ EECความไม่แน่นอนในฐานะสิ่งที่ถูกประกอบสร้างขึ้นจากตัวแปรและผู้กระทำการต่าง ๆ และปฏิบัติการณ์ของเกษตรกรที่ใช้รับมือกับความไม่แน่นอน (กัมปนาท เบ็ญจนาวี, 2566, 70-71) ดังนั้นแล้ว เพื่อทำความเข้าใจถึงที่มาของความไม่แน่นอนของชีวิตผู้คนรอบป่าอนุรักษ์ที่มีปัญหาความขัดแย้งกับช้างป่า เงื่อนไขและข้อจำกัดต่าง ๆ ที่มีส่วนในการตัดสินใจแก้ไขปัญหาหรือดำรงชีวิตอยู่ท่ามกลางสภาวะความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นในพื้นที่ นำไปสู่ภาพของวิถีชีวิตที่คนในพื้นที่ต้องปรับตัวกับปัญหาช้างป่าอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
การปรับตัวภายใต้สภาวะความไม่แน่นอนจากปัญหาช้างป่า
ภายหลังจากยุคสัมปทานป่าไม้ในพื้นที่อำเภอท่าตะเกียบจบลงเมื่อ พ.ศ. 2532 ผู้ที่เคยอพยพเพื่อมาเป็นแรงงานในสัมปทานป่าไม้ได้ผันตัวไปเป็นเกษตรกรและถือครองพื้นที่ที่ครั้งหนึ่งเคยถูกใช้ทำสัมปทาน โดยปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดต่าง ๆ เช่น มันสำปะหลัง ข้าวโพด แตงโม ตลอดจนพืชผักสวนครัวทั้งเพื่อยังชีพและจำหน่าย จนกระทั่ง พ.ศ. 2545 เริ่มมีช้างกลุ่มแรกออกจากพื้นที่ป่าและเข้าหากินในไร่และในหมู่บ้านที่อยู่ติดกับเขตป่า ก่อนที่จะขยับขยายพื้นที่ออกไปไกลมากขึ้น
หมู่บ้านเขาวงศ์ อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา ตามคำบอกเล่าของกลุ่มอาสาเฝ้าระวังช้างป่าและคนในพื้นที่ ถูกระบุว่าเป็นหมู่บ้านแห่งแรก ๆ ที่พบปัญหาช้างป่าเข้าทำลายพืชผลทางการเกษตรและทำร้ายคนในหมู่บ้านมาตั้งแต่ พ.ศ. 2545 โดยสาเหตุของการเข้ามายังพื้นที่เกษตรกรรมถูกวิเคราะห์ว่าเป็นปัญหาการขาดแคลนอาหารในป่า ศักยภาพของป่าในการผลิตอาหารที่มีปริมาณไม่เพียงพอต่อประชากรช้างที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ช้างต้องหาแหล่งอาหารใหม่ซึ่งก็คือพื้นที่เกษตรกรรมของมนุษย์ ที่พื้นที่ป่ารอยต่อถูกรายล้อมด้วยแปลงเกษตรกรรมพืชไร่และไม้ผลอันเป็นแหล่งอาหารของช้าง การบุกรุกของช้างป่าจึงมีเป้าหมายอยู่ที่ผลผลิตทางการเกษตร และปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าในช่วงแรก เป็นประเด็นความเสียหายในผลผลิตที่เกิดขึ้นกับช้าง มากกว่าการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการถูกช้างทำร้าย ซึ่งพบได้น้อยในอดีตแต่กลับเกิดขึ้นบ่อยและรุนแรงมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
การออกไปเฝ้าแปลงเกษตรตลอดทั้งคืน ถูกนำมาใช้เป็นวิธีแก้ไขปัญหาในช่วงแรก เนื่องจากชาวบ้านเริ่มสังเกตพฤติกรรมช้างเพื่อหาทางรับมือและพบว่า ช้างป่าจะออกมาหากินเฉพาะช่วงเวลากลางคืน และหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับมนุษย์ ทำให้การเฝ้าไร่ทั้งคืน เป็นวิธีการป้องกันช้างป่าที่มีประสิทธิภาพ หากแต่สามารถใช้ได้เฉพาะช่วงแรกที่มีปัญหาเท่านั้น เนื่องจากการแก้ปัญหาด้วยวิธีการนี้มีปัญหาสำคัญคือ ความเหนื่อยล้าที่เกิดขึ้นจากการอดนอนเพื่อมาเฝ้าระวังช้าง สมาชิกหมู่บ้านเขาวงศ์รายหนึ่งให้ข้อมูลว่า การเฝ้าช้างจะเผลอไม่ได้แม้แต่คืนเดียว เพราะช้างก็มีความระแวดระวังสูง และมีพฤติกรรมเฝ้าดูท่าทีของมนุษย์ ในอดีตตอนที่ยังปลูกข้าวโพดและต้องเฝ้าไร่ ด้วยความเหนื่อยล้าสะสมเป็นเวลานานทำให้เผลอหลับระหว่างเฝ้าไร่ และในคืนนั้นเองช้างก็อาศัยโอกาสนี้ขโมยกินข้าวโพดทำให้ผลผลิตทั้งหมดเสียหายทั้งหมด
ที่สุดแล้วชาวบ้านตระหนักดีว่าไม่สามารถทำการเฝ้าแปลงเกษตรได้ตลอดเวลา วิธีการที่ดูจะมีประสิทธิภาพกว่าและเหนื่อยน้อยกว่าคือ การเปลี่ยนชนิดพันธุ์พืชที่ปลูกเพื่อไม่ให้ช้างเข้ามากิน เนื่องจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างดูอยู่ที่การเข้าแย่งกินผลผลิตทางการเกษตร เช่น แตงโม กล้วย ข้าวโพด อ้อย และผลไม้ที่ปลูกตามริมรั้วบ้าน ชาวบ้านเขาวงศ์จึงเปลี่ยนไปปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ และคิดว่าไม่อยู่ในความสนใจหรือเป็นอาหารของช้าง เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และยูคาลิปตัส หรือพืชที่ใช้เวลาดูแลน้อยกว่าพืชไร่อย่างลำไย ตลอดจนการพยายามแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุอย่างการป้องกันช้างป่าบุกรุกพื้นที่เกษตรกรรมและที่อยู่อาศัย โดยเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาทางป้องกันการออกมาหากินนอกพื้นที่ป่า เนื่องจากในช่วงแรก ช้างป่าออกมาหากินข้างนอกแค่ตอนกลางคืนและกลับเข้าป่าตอนกลางวัน
เพื่อกำหนดเขตพื้นที่ การทำแนวรั้วรูปแบบต่าง ๆ ตลอดจนโครงการคูกั้นช้าง (elephant trench) จึงถูกนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหา โดยแบ่งแยกพื้นที่ระหว่างพื้นที่ของคนกับพื้นที่ธรรมชาติของช้าง(และของรัฐ) คูกั้นช้างเป็นหนึ่งในแนวทางหลีกเลี่ยงความขัดแย้งโดยเน้นการจัดการเชิงพื้นที่เป็นหลัก เช่นเดียวกับการแบ่งแยกพื้นที่ระหว่างคนกับสัตว์ป่าที่เคยมีมาในอดีตเช่นเดียวกับการประกาศเขตพื้นที่อนุรักษ์ของรัฐ หากแต่คูกั้นช้างและแนวรั้วกลายเป็นเส้นแบ่งทางกายภาพที่มีถูกสร้างขึ้นจริง มิใช่เส้นสมมติที่ขีดเขียนบนแผนที่ อย่างไรก็ตามคูกั้นช้างมิได้เกิดขึ้นในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ แต่เกิดขึ้นในพื้นที่ของชาวบ้าน คูกั้นช้างของบ้านเขาวงศ์ถูกขุดในพื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้าน เจ้าของพื้นที่ที่ถูกขุดคูกั้นช้างให้ข้อมูลว่า เป็นความเข้าใจผิดตอนเซ็นสัญญาที่มีคนมาขออนุญาตเข้าพื้นที่ว่าเป็นการขอใช้พื้นที่เพื่อเป็นทางผ่านไปขุดคูในพื้นที่ แต่เมื่อเริ่มดำเนินการปรากฏว่าถูกขุดในพื้นที่ของตนเอง โดยมองว่าสาเหตุที่ขุดในที่ดินของชาวบ้าน เนื่องจากมีการดำเนินงานที่ง่ายกว่าการทำในพื้นทีอนุรักษ์ของรัฐซึ่งเต็มไปด้วยระเบียบกฎหมายและลำดับขั้นตอนในการยื่นเรื่อง รวมถึงการก่อสร้างในพื้นที่ป่ายังผิดวัตถุประสงค์การอนุรักษ์ทรัพยากรและสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติของหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบพื้นที่ การแก้ไขปัญหาจึงถูกจำกัดไม่ให้ไปขัดขวางกับนโยบายของชาติที่ต้องการอนุรักษ์ช้าง ท้ายที่สุดโครงการขุดคูกั้นช้างจึงเกิดขึ้นบนพื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้าน ซึ่งคูกั้นช้างประสบความสำเร็จและใช้ได้จริงเพียงไม่นานเท่านั้น ภายหลังจากการก่อสร้าง ปัญหาด้านสภาพพื้นที่ที่พื้นที่เกษตรกรรมต่ำกว่าพื้นที่ป่า ทำให้คูกั้นช้างกลายเป็นคลองระบายน้ำ และทำให้น้ำล้นท่วมเข้ามาในพื้นที่เกษตรกรรม ช้างเรียนรู้ที่จะใช้เส้นทางที่น้ำพัดแนวคูแตกเป็นเส้นทางเดินข้ามมา ตลอดจนเมื่อเวลาผ่านไปช้างก็เรียนรู้วิธีการเดินข้ามคูกั้นช้าง และมองหาจุดที่เดินข้ามง่ายที่สุด และด้วยปัญหาการซ่อมแซมคูกั้นช้างทีล่าช้าจากการทำเรื่องของบประมาณรายปี ทำให้คูกั้นช้างไม่อาจซ่อมแซมกลับมาเหมือนเดิมได้ทันเวลา ณ ปัจจุบันคูกั้นช้างจึงมีประโยชน์กับเกษตรกรและกลุ่มอาสาในฐานะเครื่องมือที่ช่วยระบุจุดที่ช้างป่าจะใช้เป็นเส้นทางเดินประจำ มากกว่าการใช้ป้องกันช้างป่าออกนอกพื้นที่
นอกเหนือปัญหาภายในพื้นที่แล้ว การแก้ไขปัญหาคนกับช้างป่ายังเผชิญปัญหาจากภายนอกพื้นที่ด้วย ตัวเลขสถิติบอกปริมาณการลดลงของช้างป่าในอดีตและการระบุว่าช้างเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์จนนำมาสู่การออกกฎหมายอนุรักษ์ช้าง และนโยบายของรัฐที่ส่งเสริมให้เพิ่มประชากรช้างและพื้นที่อนุรักษ์ในฐานะที่อยู่อาศัยของช้างและสัตว์ป่าอื่น ๆ ตลอดจนค่านิยมของคนในสังคมที่มีต่อช้างนานาประการ และแนวคิดแบบธรรมชาตินิยมที่มองว่าคนเป็นภัยต่อธรรมชาติ สนับสนุนการแยกคนออกจากป่า นำไปสู่วาทกรรมคนบุกรุกป่าที่ถูกใช้กับกลุ่มชาติพันธุ์หรือผู้ที่อาศัยและใช้ประโยชน์จากผืนป่าหรือพื้นที่ที่อยู่ใกล้กับป่าอนุรักษ์ อำนาจของช้างในพื้นที่ชายป่าจึงมีมากกว่าคน แม้จะอยู่นอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ แต่บ่อยครั้งที่ในอดีต ความขัดแย้งระหว่างคนกับป่าถูกกล่าวโทษโดยมนุษย์ในฐานะผู้บุกรุกป่าที่มองว่าเป็นบ้านของช้าง ซึ่งมักปรากฏในคำพูดทำนองว่า “ช้างมาก่อนคน คนบุกรุกป่า”
การขับไล่ช้างที่เข้ามาในพื้นที่เกษตรกรรม กลายเป็นกระแสที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อออนไลน์จากความเข้าใจผิดว่าคนไปบุกรุกพื้นที่ป่าของช้าง รวมถึงการบอกให้ชาวบ้านเสียสละผลผลิตบางส่วนให้ช้างกิน เพื่อที่คนกับช้างจะได้อยู่ร่วมกันอย่างสันติและปราศจากอันตรายที่เกิดขึ้นทั้งกับคนและช้าง แม้แต่การแก้ไขปัญหาของหน่วยงานรัฐในพื้นที่เองก็ถูกจำกัดไม่ให้กิจกรรมถูกตีความว่าขัดขวางกับนโยบายของประเทศที่ส่งเสริมการอนุรักษ์
การรับมือกับช้างป่าในฐานะความไม่แน่นอนของชาวบ้านเขาวงศ์จึงอยู่ภายใต้ข้อจำกัดหลากหลายด้าน ทั้งเรื่องต้นทุนทางเศรษฐกิจและทรัพยากรที่ชุมชนมีเพียงน้อยนิด อำนาจของช้างที่ถูกผลิตสร้างขึ้นจากกฎหมายอนุรักษ์กลายเป็นข้อจำกัดในการตัดสินใจและบีบให้แนวทางการแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างจำกัด แนวทางและตัวเลือกการตัดสินใจแก้ไขปัญหาของชาวบ้านจึงวางอยู่บนการแก้ไขที่ตนเองเป็นหลัก เลือกปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตแทนการแก้ไขปัญหาต้นเหตุที่ชาวบ้านไม่มีอำนาจและกำลังมากเพียงพอที่จะทำได้ แม้จะรู้ดีว่าต้นเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นมีที่มาจากช้างก็ตาม
ทั้งนี้กระบวนการแก้ไขปัญหาความไม่แน่นอนจากช้างที่เกิดขึ้น ดูเหมือนจะบรรเทาลงในช่วงแรกที่มีการขุดคูกั้นช้างเสร็จ หรือมีการเปลี่ยนแปลงชนิดพืชที่ปลูก หากแต่ปัญหาสำคัญคือ มนุษย์ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตเดียวที่รู้จักปรับตัวและรับมือกับปัญหาและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชีวิต ในขณะที่มนุษย์กำลังปรับตัวเพื่อรับมือกับช้างป่า ช้างป่าเองก็เริ่มเรียนรู้พฤติกรรมของมนุษย์และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำรงชีวิตของตนเองให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ที่มนุษย์สร้างขึ้นด้วย
คนเปลี่ยน ช้างก็เปลี่ยน
เพื่อทำความเข้าใจปฏิบัติการปรับตัวของมนุษย์เพื่อรับมือกับช้าง และช้างที่ต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากมนุษย์ ภายใต้สถานการณ์ที่ต่างฝ่ายต่างแข่งขันกันปรับตัวเพื่อเอาชีวิตรอดท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง พืชผลทางการเกษตร (Crops) จึงเป็นหนึ่งในวัตถุสำคัญสำหรับใช้ในการศึกษากระบวนการการแข่งขันปรับตัว เนื่องจากเป็นเป้าหมายและแรงจูงใจที่ทั้งสองฝ่ายล้วนต้องปรับตัว ตลอดจนการเป็นวัตถุศูนย์กลางหรือพื้นที่ปะทะกันของการปรับตัว ผู้เขียนจะเล่าถึงประวัติการเปลี่ยนแปลงพืชผลที่ทำเกษตรกรรมของสมาชิกชุมชนบ้านเขาวงศ์คนหนึ่ง ที่เล่ากระบวนการปรับเปลี่ยนพืชผลในแต่ละช่วงเวลาของชีวิต สิ่งที่เกิดขึ้นและผลที่ตามมาของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เพื่อให้เห็นว่า การปรับตัวมิได้จำกัดหรือเป็นเพียงแค่การเปลี่ยนพืชผล แต่หมายรวมถึงวิถีชีวิตและปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงไปสู่การปลูกพืชผลชนิดใหม่ด้วย
ดังที่กล่าวไปก่อนหน้านี้เรื่องการเปลี่ยนแปลงพืชเศรษฐกิจหลังเริ่มมีปัญหาช้างป่าจึงตัดสินใจเปลี่ยนมาปลูกลำไยเนื่องจากได้รับคำบอกกล่าวว่าช้างไม่กินลำไย โดยทำการแบ่งพื้นที่ออกเป็นหลายส่วนเพื่อทดลองปลูกพืชหลายชนิดที่สามารถสร้างรายได้ระหว่างที่รอต้นลำไยเจริญเติบโตจนสามารถให้ผลผลิตซึ่งใช้เวลาถึง 2 ปี สำหรับพื้นที่อื่นนอกจากลำไยก็ทดลองปลูกแตงโม พืชสวนครัวที่ใช้เวลาปลูกไม่นาน ตลอดจนไปรับจ้างเป็นแรงงานขุดมันทั้งภายในและภายนอกหมู่บ้าน ช่วงเวลานี้ไม่พบช้างป่าเข้ามาหากินในไร่ลำไยจึงทำให้คิดว่าช้างไม่กินลำไย จนกระทั่งเข้าปีที่ 3 พอถึงฤดูที่ต้นลำไยเริ่มผลิดอกออกผล ปัญหาช้างป่าเข้าแย่งกินผลผลิตก็กลับมาอีกครั้งจากการที่ช้างเริ่มเรียนรู้ว่าลำไยเป็นอาหาร ตลอดจนปรับพฤติกรรมให้ตรงกับช่วงเวลาออกผลของลำไย ทำให้สมาชิกคนดังกล่าวต้องเผชิญปัญหาช้างป่าเข้าแย่งกินลำไย และต้องเปลี่ยนอาชีพอีกครั้ง
การเปลี่ยนอาชีพครั้งที่สาม สมาชิกคนนี้ได้รับวัว 1 คู่ จากมูลนิธิฯแห่งหนึ่งที่ทำงานในพื้นที่ จึงปรับสภาพที่ดินที่อยู่ติดป่าให้เป็นทุ่งหญ้าพร้อมปลูกหญ้าเนเปียร์เสริมสำหรับเลี้ยงวัวโดยให้ข้อมูลเสริมว่า การปรับสภาพที่ดินเป็นที่โล่ง ทำให้ช้างรู้สึกระแวดระวังในการออกจากป่าบริเวณที่ดินดังกล่าว หรือหากออกมาก็จะลดความเสียหายเนื่องจากหญ้าที่ช้างกินมีต้นทุนต่ำ และช้างเลือกที่จะกินผลไม้มากกว่าจึงเดินไปหากินที่อื่น การปรับสภาพเป็นที่โล่งช่วยให้การทำงานเฝ้าระวังช้างง่ายขึ้นเพราะไม่มีต้นไม้บดบังสายตา แต่การปรับสภาพเป็นพื้นที่เลี้ยงวัวก็ต้องมีการทำรั้วไฟฟ้าเสริมเพื่อป้องกันวัวออกนอกพื้นที่และต้องคอยปิดรั้วไฟฟ้าเมื่อถึงเวลากลางคืนเพราะอาจทำอันตรายต่อช้างและสร้างปัญหาทางกฎหมายตามมาได้หากมีช้างตายจากรั้วไฟฟ้า และในขณะที่ชุมชนอื่น ๆ ได้รับคำแนะนำและการสนับสนุนจากภาครัฐในการหันไปปลูกยางพาราและยูคาลิปตัสแทนพืชเศรษฐกิจที่หวังผลผลิตแบบเดิม การเปลี่ยนอาชีพของชุมชนประสบปัญหาเรื่องต้นทุนและหนี้สินที่สะสมจากความเสียหายเมื่อครั้งอดีต ทำให้การเปลี่ยนไปปลูกยางพาราและยูคาลิปตัสซึ่งเป็นพืชที่ต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะเริ่มให้ผลผลิตไม่สามารถทำได้เนื่องจากความกังวลเรื่องรายได้ระหว่างรอ หากแต่สมาชิกหลายคนรวมถึงชุมชนโดยรอบที่ยังไม่ได้รับผลกระทบก็เริ่มหันมาปลูกยางพาราตามกระแสและคำแนะนำของรัฐ โดยที่ ณ ช่วงเวลานั้นคนยังไม่รู้ว่าการทำสวนลำไย ยางพารา และยูคาลิปตัสมีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนพฤติกรรมช้างครั้งใหญ่
ส่วนการปลูกยางพาราและยูคาลิปตัส ได้เปลี่ยนภูมิทัศน์จากทุ่งที่เคยปลูกพืชผลที่ต้องการแสงแดด เช่น อ้อย มันสำปะหลัง แตงโม พืชสวนครัวขนาดเล็ก หญ้าเลี้ยงวัว ไปสู่ภูมิทัศน์แบบป่าที่เต็มไปด้วยไม้ยืนต้น อย่างเช่นยางพารา ยูคาลิปตัส ตลอดจนไม้ผลชนิดอื่นที่ได้รับความนิยมทางเศรษฐกิจ เช่น ทุเรียน ลำไย มังคุด ฯลฯ สมาชิกกลุ่มที่ทำงานอาสาผลักดันช้างเล่าว่า พฤติกรรมของช้างจะรู้สึกไม่ปลอดภัยหากอยู่ในที่โล่ง และเลือกที่จะวิ่งหนีกลับเข้าป่าหรือหาที่กำบัง (ในลักษณะที่มีร่มเงาพรางตัว) ครั้งหนึ่งสมาชิกคนดังกล่าวผลักดันช้างผ่านไร่มันสำปะหลังไปจนถึงชายป่า ปรากฏว่าเมื่อช้างไปถึงเขตป่าที่มีร่มเงา ช้างเริ่มหยุดวิ่งและหันกลับมาจ้องมองคนที่ไล่ ที่ถูกอธิบายว่าเป็นพฤติกรรมที่หมายถึงว่าช้างฝูงนั้นพร้อมจะสู้กลับหากมีการผลักดันต่อ
หากเปรียบเทียบช่วงเวลาการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตหรือผลผลิตทางการเกษตร กับช่วงเวลาที่เริ่มพบปัญหาช้างป่าที่กระจายตัวออกนอกพื้นที่เป็นวงกว้างมากขึ้น ชุมชนที่เผชิญความขัดแย้งกับช้างป่าจะปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตก่อนชุมชนอื่นที่ยังไม่ได้รับผลกระทบ การเปลี่ยนแปลงหรือผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในบ้านเขาวงศ์จึงเกิดขึ้นก่อนชุมชนอื่น ก่อนที่ปัญหาจะขยายตัวออกไปยังชุมชนหมู่บ้านในพื้นที่รอบนอก ตามการเดินทางของช้างที่มองว่าบ้านเขาวงศ์ไม่ได้อุดมสมบูรณ์หรือมีสภาพเหมาะที่จะอาศัยอยู่ ตลอดจนการที่ช้างป่าที่มักพบเห็นอยู่ในพื้นที่บ้านเขาวงศ์เป็นประจำยังคงเลือกที่จะอาศัยอยู่ในป่าตอนกลางวันและออกมาหากินในหมู่บ้านตอนกลางคืนเหมือนเดิม ต่างจากพฤติกรรมของช้างป่ารอบ ๆ ที่เลือกที่จะอาศัยอยู่ในพื้นที่เกษตรกรรมหรือตามป่าชุมชนแทนการเดินทางไปกลับจากป่า
ส่วนการเปลี่ยนแปลงชนิดพันธุ์พืชที่ปลูกก็มิได้เป็นไปอย่างพร้อมเพรียงกันหรือเหมือนกันทั้งชุมชนหมู่บ้าน/พื้นที่ ที่บ้านเขาวงศ์ยังพบเห็นสมาชิกคนหนึ่งที่ยังคงยึดอาชีพปลูกแตงโมเป็นพืชเศรษฐกิจหลักโดยไม่ได้เปลี่ยนแปลงการปลูกพืชเหมือนกับคนอื่น ๆ ในชุมชน หรือการที่สมาชิกชุมชนคนนี้ตัดสินใจปลูกหญ้าและเลี้ยงวัวซึ่งต่างจากคนอื่นก็ด้วยการได้รับการสนับสนุนที่ไม่ได้กระจายไปทุกคนในชุมชน ตลอดจนปัจจัยด้านตำแหน่งที่ดินที่แต่ละคนเป็นเจ้าของที่สมาชิกคนนี้มีที่ดินติดกับป่าอนุรักษ์เลยจำเป็นต้องเปลี่ยนภูมิทัศน์เพื่อให้ง่ายต่อการเฝ้าระวัง
สำหรับในงานอาสาผลักดันช้างซึ่งเป็นกิจกรรมใหม่ที่เกิดจากปัญหาช้างป่า การผลักช้างมีการใช้วิธีการและเครื่องมือต่าง ๆ ทั้งการสร้างเสียงหรือแสงสว่างตอนกลางคืนเพื่อให้ช้างตกใจกลัวและวิงหนี ซึ่งเป็นวิธีการที่ถูกใช้แก้ปัญหาในหลายพื้นที่ทั่วโลกนอกเหนือจากการสร้างเส้นแบ่งทางกายภาพอย่างรั้วและคูกั้นช้าง (Shaffer et al., 2019, p.4) แต่ในปัจจุบันเริ่มประสบปัญหาจากการที่ช้างเริ่มคุ้นเคยกับกิจกรรมที่มนุษย์เคยใช้ขับไล่หรือทำให้ตกใจ เช่น การตะโกนไล่ การยิงปืนขึ้นฟ้าเพื่อสร้างเสียงดัง เสียงระเบิดปิงปอง คูกั้นช้าง รั้วไฟฟ้า ตลอดจนเสียงโดรนที่ถูกใช้เพื่อระบุตำแหน่ง สมาชิกกลุ่มที่ทำงานอาสาพบว่าช้างเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนแปลงเวลาออกหากิน จากเดิมที่เคยออกหากินช่วง6 โมงเย็นจนถึงช่วงพระอาทิตย์ขึ้น แต่เมื่อกลุ่มอาสาใช้เวลานี้เป็นเวลาปฏิบัติงาน ช้างก็ปรับพฤติกรรมและออกหากินดึกขึ้น เช่น 1-2 ทุ่ม และกลับเข้าป่าสายมากขึ้น
โครงสร้างพื้นฐานที่มนุษย์รังสรรค์ขึ้นผ่านภูมิทัศน์เกษตรกรรมจึงมีส่วนสำคัญต่อการเพิ่มประชากรและการออกมาอาศัยนอกพื้นที่ป่าของช้าง ไร่ที่ปลูกไม้ต้นซึ่งมีลักษณะเหมือนป่า มีส่วนในการทำให้ช้างมีพฤติกรรมดุร้ายมากขึ้น ทั้งจากการปะทะเข้ากับมนุษย์ในระยะใกล้โดยที่ต่างฝ่ายต่างไม่รู้ นำมาซึ่งความตกใจและเข้าทำร้ายมนุษย์ สภาพแวดล้อมของสวนยางและยูคาลิปตัสที่เหมาะสมสำหรับเป็นที่อยู่อาศัยและอาหาร ที่ช้างป่าเองก็ปรับตัวและเริ่มเรียนรู้ที่จะกินใบยางพาราและเปลือกต้นยูคาลิปตัส ตลอดจนเรียนรู้และปรับตัวตามพฤติกรรมของมนุษย์อยู่ตลอดเวลา กิจกรรมการผลักดันช้างทำได้ยากขึ้น ช้างป่าเริ่มคุ้นชินกับเสียงปืน เสียงระเบิดปิงปอง ตลอดจนคุ้นชินกับการทำร้ายมนุษย์ ที่ช้างป่าในพื้นที่บางตัวมีประวัติทำคนเสียชีวิตมากกว่าหนึ่งครั้ง
ในกรณีของความไม่แน่นอนที่เกิดจากช้างป่า การเปลี่ยนแปลงหรือปรับตัวของมนุษย์จึงไม่อาจพิจารณาหรือคาดการณ์ได้อย่างสมบูรณ์และแน่นอนทั้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและผลลัพธ์ของการแก้ไขปัญหา ช้างซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญในปัญหาความขัดแย้งเองก็มีการเรียนรู้และสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้เช่นกัน ดังที่เห็นว่าตลอดเวลาที่มนุษย์พยายามปรับตัวเพื่อป้องกันปัญหาช้างป่าด้วยวิธีการต่าง ๆ ทั้งการเปลี่ยนพืชผล การผลักดันช้าง การทำคอกกั้นช้างเพื่อกำหนดพื้นที่ช้าง ช้างเองก็เรียนรู้ที่จะกินผลผลิตชนิดใหม่ ๆ ที่มนุษย์นำเข้ามาในพื้นที่ คุ้นชินกับเสียงอุปกรณ์หรือวิธีการที่มนุษย์พยายามใช้เพื่อไล่ต้อน รวมถึงจดจำตำแหน่งที่เคยเดินข้ามคูกั้นช้างและใช้เส้นทางเดินประจำ หรือแสวงหาเส้นทางเดินใหม่ ๆ สภาวะที่ต้องรับมือกับความไม่แน่นอนจึงไม่ได้จำกัดแค่มนุษย์ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรหรือผู้ผลักดันช้าง แต่ยังขยับขยายไปถึงช้างที่ต้องปรับตัวกับความไม่แน่นอนของมนุษย์ด้วยเช่นกัน
รายการอ้างอิง
Shaffer, L. J., Khadka, K. K., Van Den Hoek, J., & Naithani, K. J. (2019). Human-elephant conflict: A review of current management strategies and future directions. Frontiers in Ecology and Evolution, 6, 235.
โอษา กิติลาภะ. (2566, 5 กันยายน). สถานการณ์ช้างป่าของบ้านเขาวงศ์ในปัจจุบัน. (ธนพล เลิศเกียรติดำรงค์, ผู้สัมภาษณ์).
กัมปนาท เบ็ญจนาวี. (2566). เมื่อชีวิตเกษตรกรแขวนอยู่บนเส้นด้าย: การปิดล้อมใหม่และความไม่แน่นอนที่ถูกสร้างขึ้นในพื้นที่หลังบ้านอีอีซี. วารสารสังคมศาสตร์, 35(1), 25 - 62.
ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี. (2566). ฝ่าภาวะความไม่แน่นอน: การดำรงอยู่ในห้วงเปลี่ยนผ่านของสังคมไทย. วารสารสังคมศาสตร์,35(1), 1 – 24.
ยอดรัก กิติลาภะ. (2566, 5 กันยายน). ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปัญหาช้างป่า. (ธนพล เลิศเกียรติดำรงค์, ผู้สัมภาษณ์).
ผู้เขียน
ธนพล เลิศเกียรติดำรงค์
นักวิจัย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ป้ายกำกับ การปรับตัว ความไม่แน่นอน ความขัดแย้ง คนใน ช้างป่า ธนพล เลิศเกียรติดำรงค์