หวนสู่ยุคของการแยกความฝันออกจากความจริง: ว่าด้วยความฝันและวิทยาศาสตร์
ความเข้าใจความฝันในหลายช่วงสมัยของมนุษย์สัมพันธ์กับมิติการสร้างโลกมนุษย์และโลกของสรรพสิ่ง นัยที่ซ่อนอยู่ในความฝันจึงสะท้อนไปมาต่อช่วงชีวิตในตอนตื่น (Swancutt, 2024)
เมื่อหลายเดือนที่ผ่านมามีใครสักคนหนึ่งในประเทศไทยเล่าเรื่องความฝันประหลาดยาวจนถึงเรื่องการรักษากระดูกและร่างกายโดยก้อนหินในแม่น้ำให้ผมฟัง คำพูดนั้นยังดังก้องในโสตประสาทเป็นระยะเพราะไม่บ่อยครั้งนักในชีวิตจะได้ฟังคนที่มีมุมมองการดำเนินชีวิตยึดโยงสัมพันธ์กับสรรพสิ่งอย่างลุ่มลึก
อะไรที่ทำให้เขามีทัศนคติและการรับรู้ชีวิตกับดาวโลกอย่างลุ่มลึกในแบบดังกล่าว?
หากสะท้อนความประหลาดใจของผมคงเป็นสิ่งที่นักวิชาการพยายามสร้างความเข้าใจใหม่ต่อมรดกมุมมองความรับรู้การจัดแบ่งขอบเขตของธรรมชาติและวัฒนธรรม เมื่อไหร่ก็ตามที่ผมเกิดความสงสัยประหลาดใจ นั่นหมายความว่าผมเป็นหนึ่งคนที่สมาทานการแยกความเป็นเหตุเป็นผลออกจากสิ่งเหลือเชื่ออันเป็นมรดกความรู้ทางปรัชญาและวิทยาศาสตร์ตะวันตก ซึ่งมุมมองดังกล่าวนำมาสู่การสร้างทวิภาวะคู่ตรงข้ามอีกหลายประการ เช่นมนุษย์กับสิ่งมีชีวิต องค์ประธานมนุษย์และวัตถุอื่น ตลอดจนการแยกธรรมชาติในฐานะสิ่งไร้มนุษย์และวัฒนธรรมอันเป็นสิ่งที่มนุษย์ยึดถือเป็นแก่นเพื่อถอยห่างออกจากโลกของสิ่งอื่น (เก่งกิจ, 2563)
ฉะนั้น การที่บางสังคมจะฝันถึงนกประหลาด มังกร หรือในสังคมไทยที่ปรากฏการฝันถึงพญานาคก็อาจไม่ใช่มุมมองที่ต้องตัดสินว่าถูกผิดหรืองมงายเพียงอย่างเดียว แต่ควรสงสัยหรือตั้งคำถามถึงความรู้ทางปรัชญาวิทยาศาสตร์ที่ครอบงำความรับรู้ของเราต่อโลกนอกพื้นที่กายภาพเฉกเช่นความฝันหรือเรื่องจินตนาการต่าง ๆ ด้วย พื้นที่ความฝันในปัจจุบันจึงอยู่บนฐานที่ถูกแบ่งอย่างชัดเจนระหว่างมุมมองความเป็นธรรมชาติ-วัฒนธรรมภายใต้กรอบคิดระหว่างวิทยาศาสตร์-ความรู้ศาสตร์อื่น
สู่ปลายยุคกลาง... การก่อรูปของฐานคิดข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์
นักมานุษยวิทยา ทิม อิงโกลด์ (Tim Ingold) พาย้อนสู่ปลายยุคกลางเพื่อหาร่องรอยการกีดกันความเป็นจริงที่กลายเป็นการสร้างรอยแยกโลกความจริงและโลกของจินตนาการ ในยุคต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16 แผนงานที่นักปรัชญาการเมืองตั้งหมุดหมายถึงความยิ่งใหญ่ของการปรับตำแหน่งแห่งที่ภาระงานของวิทยาศาสตร์ โดยปฏิเสธวิถีทางความรู้แบบจารีต และผสมสร้างความเป็นจริงของโลกบนฐานข้อเท็จจริง (fact) ที่มนุษย์สามารถตรวจสอบและตัดสินได้ เพราะมนุษย์ไม่ได้สร้างความรู้จากการคาดเดาและการทำนายโลกผ่านเหตุจำลองของจินตนาการ หากแต่เกิดขึ้นผ่านการทดลองและค้นคว้าพิจารณาข้อเท็จจริงด้วยตัวเอง (Ingold, 2013)
อิงโกลด์สังเกตว่าความต่อเนื่องของวิทยาศาสตร์กระทั่งบริบทร่วมสมัยไม่ได้มีกระบวนทัศน์อะไรผิดพลาดจากแต่ก่อน ในปัจจุบันความชอบธรรมของวิทยาศาสตร์ก็ยังดำรงอยู่เป็นมรดกข้อมูลที่ถูกทำซ้ำและตรวจสอบซ้ำเพื่อค้นหาความจริงอย่างไม่สิ้นสุด และแม้ว่าในบ่อยครั้งที่กระบวนทัศน์แบบวิทยาศาสตร์มีข้อผิดพลาดแต่กระนั้นก็ทระนงว่าเป็นศาสตร์ที่ต้องรับผิดชอบต่อโลก (Ingold, 2011) กระบวนทัศน์แบบวิทยาศาสตร์ยังถือว่าความจริงของโลกธรรมชาติสามารถค้นพบได้ผ่านระบบการสำรวจตรวจค้น แต่ส่วนของโลกจินตนาการหลายสถานหลายเวลาเป็นเพียงสิ่งที่ถูกเสกสร้างขึ้นมา ปริมณฑลโลกของตัวมันเองระหว่างความเป็นจริงและโลกจินตนาการ นิทาน หรือความฝันจึงแยกจากกันชัดเจน อีกทั้งยังกำหนดและฝังคุณค่าการสถาปนาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในการครอบครองอำนาจความรู้สูงสุด (Ingold, 2013)
ในแง่นี้ โลกของความฝัน จินตนาการ และนิทาน จึงไม่มีสิทธิเหนือความเป็นเหตุเป็นผลแบบวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ปลายยุคกลางจัดวางวัตถุการศึกษาในแบบความเป็นเหตุเป็นผล ซึ่งรวมถึงการศึกษาธรรมชาติที่ถูกขีดเขียนจบเรียบร้อยแล้ว ความลับธรรมชาติจะถูกเปิดเผยเมื่อมีการตรวจสอบอย่างเข้มงวด และทุก ๆ การค้นพบเกี่ยวกับธรรมชาติก็จะอ้างถึงความก้าวหน้าที่ไม่สามารถรับรู้ได้ในแนวอื่นนอกจากข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ โลกของวิทยาศาสตร์มองความเป็นจริงโดยไม่ชี้แนะแนวทางว่าควรทำอะไรหรือทำอย่างไร มีแต่ข้อเท็จจริงว่าสิ่งนั้นเป็นแบบนั้น (ibid.) ในขณะที่วิทยาศาสตร์อยู่ในเส้นบรรทัดของการทดลองและการตรวจสอบ แต่สิ่งนอกเหนือจากนั้นจึงกลับถูกวางอยู่ในเส้นบรรทัดของการพรรณนาและการอธิบายความจริงของปัญญาอย่างมีขีดจำกัด
เมื่อเข้าสู่ยุคสมัยใหม่หนังสือธรรมชาติจึงถูกทำให้เงียบหรือไร้ความสำคัญในตัวของมันเอง ความหมายของธรรมชาติเป็น'สิ่ง'ของวัตถุ เส้นขอบเขตความอิสระของธรรมชาติก็ถูกห้อมล้อมด้วยภาพแทนที่ตายตัวบางชุด ธรรมชาติกลายเป็นสนามของความรู้และการทดลอง ตลอดจนวัตถุการใช้สอยที่ถูกปรับเปลี่ยนไปมาโดยมนุษย์ (ดู เก่งกิจ, 2563)
แนวคิดเรื่องความเงียบของธรรมชาติถูกมองอย่างแตกต่าง นักวิชาการบางท่านเสนอว่าโลกธรรมชาติล้วนแล้วแต่มีความเคลื่อนไหวและท่าทางของสรรพสิ่งในตัวมันเอง นับเฉพาะเรื่องเสียง การที่มนุษย์เปล่งเสียงในแบบท่าทางคำพูดสร้างจังหวะคลื่นความถี่ของเสียง แต่เสียงของธรรมชาติที่มีจังหวะและคลื่นเสียงในแบบของมันถูกนับว่าเป็นท่าทางของธรรมชาติหรือไม่? เช่นนั้นแล้วไม่ง่ายนักที่จะบอกว่าความรับรู้ของมนุษย์สามารถหาความแม่นยำในการเป็นคู่สนทนากับท่าทางความเคลื่อนไหวของธรรมชาติ (Vogel, 2006) ฉะนั้นภายใต้กระบวนทัศน์โลกความเป็นจริง โลกกลับไม่ได้มอบตัวเองแก่วิทยาศาสตร์ภายใต้พันธะใด ๆ เลย ข้อเท็จจริงที่ประกอบเป็นข้อมูลโลกก็เป็นสิ่งที่ความรู้แบบวิทยาศาสตร์ห่อหุ้มมันขึ้นมาเท่านั้น (Ingold, 2013)
ในแง่นี้ การที่วิทยาศาสตร์จะยืนยันถึงความเป็นไปได้ของรากฐานความรู้ในหมุดหมายการขับเคลื่อนความรู้โลกในฐานะวัตถุ ตลอดจนเงื่อนไขที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถเป็นผู้รู้ต่อโลกได้ในกระบวนทัศน์ต่าง ๆ จำเป็นต้องสร้างรากฐานความรู้ใหม่ในแบบเปิด และสมานกับโลกธรรมชาติในมุมมองอื่น เช่นการเปิดกว้างทางวิญญาณนิยม (Ingold, 2011) หรือแม้แต่ความฝันอันเป็นสิ่งที่ถูกมองนอกเหนือโลกกายภาพมนุษย์
ความฝัน (dream) และความคลุมเครือของสภาวะความเป็นจริง
ประสบการณ์ความฝันในทางมานุษยวิทยาบรรยายภาพฝันภายใต้เส้นทางวัฒนธรรม ความฝันสามารถสืบค้นความหมายทางวัฒนธรรม ความเชื่อ วิญญาณนิยม และเชื่อมต่อกับชีวิตที่ตื่นรู้ได้ เมื่อความจริงทางสังคมดำเนินตามเวลาของประวัติศาสตร์มนุษย์เรื่อยมามันได้เปิดโอกาสให้ความฝันโลดแล่นอย่างมีอิสระในฐานะปฏิบัติการของความแปลกใหม่ ความฝันของมนุษย์ด้านหนึ่งเป็นผลลัพธ์ทางธรรมชาติและวัฒนธรรมที่หล่อหลอมหรือยืดหยุ่นไปมาหากัน (Mageo, 2022; Swancutt, 2024) การดำรงอยู่ของความฝันและจินตนาการของความฝันจึงอยู่ในสภาวะที่คลุมเครือ ยากในการจำแนกแบบทวิลักษณ์ทางวัตถุและทางธรรมชาติหรือแบบในและนอกมิติกายภาพ แม้ความฝันจะเป็นโหมดความเป็นส่วนตัวของปัจเจกแต่ภววิทยาที่ข้ามไปมาระหว่างความฝันกับการตื่นรู้ส่งผลให้ความรับรู้ของมนุษย์ต่อโลกไม่ได้ถูกจำกัดกรอบความรับรู้เชิงเดี่ยวอีกต่อไป (Kohn, 2007)
อิงโกลด์ยกรายงานของนักชาติพันธุ์วรรณาท่านหนึ่งผู้ศึกษาชาวโอจิบวา (Ojibwa) ทางตอนเหนือของแคนาดา ลือกันว่าในชนกลุ่มนี้มีคนได้ยินเสียงนกเหมือนเสียงฟ้าร้อง ในรายงานเล่าว่า ช่วงกลางคืนที่ท้องฟ้าเต็มไปด้วยพายุสายฟ้า มีเด็กชายคนหนึ่งวิ่งออกจากที่พัก เห็นนกตัวหนึ่งเกาะอยู่บนก้อนหิน เขาจึงกลับไปเรียกหาพ่อของเขา แต่ระหว่างที่พวกเขากลับมาถึง นกตัวนั้นได้หายไปพร้อมกับเสียงสายฟ้า เรื่องราวนกประหลาดถูกยืนยันโดยชายในเผ่า เขาฝันเห็นตัวนั้นและยืนยันถึงเรื่องที่เด็กคนนั้นเล่าถึงนกสายฟ้าจริง (ดู Hallowell (1960) ใน Ingold, 2013) สำหรับอิงโกลด์แล้วผัสสะความรับรู้ด้านเสียงสร้างความรู้สึกของการมีอยู่ไม่ใช่ในฐานะวัตถุโลกกายภาพ หากแต่เป็นปรากฏการณ์ของประสบการณ์ (Ingold, 2011) ประสบการณ์ของจินตนาการและความฝันนี้เองถือเป็นวิธีหนึ่งที่ไม่ได้ทำให้ความรับรู้ของมนุษย์ต้องเริ่มจากการมองเห็น เช่นเดียวกับชาวโอจิบวา การมองเห็นเนื้อหนังของนกเป็นเพียงตัวแสดงจากนกจริงในความฝัน และในทางกลับกันนกสายฟ้าจะไม่สามารถดำรงอยู่ได้หากไม่มีประสบการณ์ของความฝันเหล่านี้ ฉะนั้นผู้คนจึงเลือกที่จะเห็นด้วยกับการมีอยู่ของนกสายฟ้าที่เด็กเห็นบนก้อนหินในคืนนั้นโดยมีผู้ฝันยืนยันถึงการมีอยู่ของประสบการณ์ร่วม
อย่างไรก็ตาม มันแปลกตรงที่นักวิทยาศาสตร์อ้างเรื่องทำนองนี้เป็นปรากฏการณ์อันน่าอัศจรรย์ เรื่องแปลก ๆ ควรเอาความฝันมายืนยันก็ถูกแล้ว แต่เอาเข้าจริงนักวิทยาศาสตร์เคมีบางคนก็เอาสิ่งประหลาดของความฝันมาเป็นสารตั้งต้นของทฤษฎี นั่นหมายความว่า ถ้าความฝันเป็นเรื่องของคนกลุ่มน้อยจินตนาการของความฝันเป็นสิ่งเลื่อนลอยเหนือจริงหรือไม่ แต่ถ้าความฝันนั้นมาจากกระบวนทัศน์การหาความรู้แบบวิทยาศาสตร์มันกลับเป็นสิ่งที่ถูกทำให้ยอมรับได้และทำให้เป็นสิ่งน่าเชื่อถืออย่างมีเหตุมีผลในโลกกายภาพมนุษย์
เรื่องของนักเคมีคนนั้น มีนามว่า Friedrich Kekule ผู้ค้นพบโครงสร้างการเชื่อมต่อของอะตอมในคาร์บอน ข้อค้นพบทฤษฎีของเขาเริ่มต้นจากคืนหนึ่งในปีค.ศ. 1865 เขาฝันถึงงูกินหางตัวเองเป็นรูปทรงกลม นั่นจึงเป็นที่มาของการพัฒนาโครงสร้างโมเลกูลเบนซีนตามรูปทรงดังกล่าว (ดู Britannica, n.d.) นักเคมีผู้นี้แสดงให้เห็นว่าการฝันไม่ใช่ภาพวิสัยทัศน์อันเป็นผลกระทบ แต่เป็นภาพนามธรรมของตรรกะความคิดและโครงสร้างการทำให้เป็นความจริง ดังนั้นสำหรับเขาแล้วภาพความเคลื่อนไหวของงูในฝันและวงแหวนเบนซีนเป็นการแบ่งภววิทยาของความฝันและความจริงในลักษณะเปรียบเทียบ (Ingold, 2013) ความฝันในกรณีนี้ยอมรับได้เพราะถูกเปรียบเทียบและถูกทดสอบเชิงประจักษ์ในตอนตื่น
แต่สำหรับชาวโอจิบวากลับตรงกันข้าม ความจริงของสิ่งต่าง ๆ ไม่ใช่สิ่งที่ถูกวัดด้วยการพบและการทดสอบ มันสามารถเป็นความจริงภายใต้การมีประสบการณ์ร่วมผ่านนิมิตของบุคคลได้ เหตุใดเด็กหนุ่มคนหนึ่งถึงมองเห็นนกสายฟ้าและผู้คนเริ่มเชื่อจากการมีความฝันมายืนยัน นั่นเป็นเพราะว่าจักรวาลทัศน์และความรู้ของพวกเขาเกิดขึ้นผ่านประสบการณ์ต่ออำนาจของสิ่งเหนือมนุษย์ การรับรู้ความจริงมันจึงขุ่นมัวเพราะมันไม่ได้วางอยู่บนประสบการณ์ความจริงที่มาจากผัสสะที่มนุษย์รับรู้ได้ทั้งหมด (Mageo, 2022) ความฝันของนกสายฟ้าในจักรวาลทัศน์ของชาวโอจิบวาจึงเหมือนภาษาชนิดหนึ่งที่อยู่บนฐานความแตกต่างจากภาษาอื่น ความสัมพันธ์ระหว่างการฟังเสียงและการตอบสนองต่อภาษาหรือความรับรู้ดังกล่าวอาจไม่ต้องแปลความหมายตลอดเวลาแต่เน้นไปที่การก่อตัวของความรู้สึกและประสบการณ์ที่เปิดโอกาสให้นกสายฟ้าและคนในชนเผ่าเป็นส่วนหนึ่งต่อกัน คนในเผ่ารับรู้และเข้าใจในแบบภาษาของพวกเขา เหมือนที่วิทยาศาสตร์เข้าใจภาษาในแบบของตน (Ingold, 2011; 2013)
อิงโกลด์ให้ข้อสังเกตอย่างแหลมคมว่า กระบวนทัศน์วิทยาศาสตร์ต่อโลกนอกเหนือความเป็นจริงไม่มีการชี้แนะแนวทางว่าควรทำอะไรและทำอย่างไร มีแต่ข้อเท็จจริงว่าสิ่งนั้นเป็นแบบนั้น ฐานคิดแบบนี้ทำให้ความรับรู้บางด้านบางเรื่องไม่มีคุณค่า ปัญญาได้แต่วิ่งตามหลังข้อมูล (Ingold, 2013) ทำนองเดียวกันกับโลกของความฝัน การจินตนาการถึงนกสายฟ้า มังกร หรือแม้แต่พญานาค สิ่งเหล่านี้ไม่เคยถูกดึงเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบความรู้ธรรมชาติ
มันจึงไม่มีนกสายฟ้า มังกร และพญานาคในระบบอนุกรมทางวิทยาศาสตร์ สิ่งเหล่านี้ร่วงหล่นในรอยแยกความรู้ที่มีมานานและยากจะคลี่คลาย ตำแหน่งแห่งที่ของความฝันและจินตนาการของความฝันถูกทำให้อยู่ตรงข้ามกับข้อเท็จจริง-ความเป็นจริง-และความจริงเรื่อยมา ทั้ง ๆ ที่สิ่งเหล่านี้ล่องลอยอยู่ในบรรยากาศของมนุษย์ผู้เป็นส่วนหนึ่งที่สัมพันธ์ต่อโลกของสรรพสิ่งเสมอมาโดยตลอด
เอกสารอ้างอิง
เก่งกิจ กิติเรียงลาภ. (2563). Perspective: ภววิทยาแบบมุมมองนิยมและความเป็นซับเจค. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: illuminations editions.
Britannica. (n.d.). August Kekule von Stradonitz summary. Retrieved 10 March 2568, Form https://www.britannica.com/summary/August-Kekule-von-Stradonitz.
Ingold, Tim. (2011). Being Alive: Essays on Movement, Knowledge and Description. Abingdon: Routledge.
Ingold, Tim. (2013). Dreaming of dragons: on the imagination of real life. Journal of the Royal Anthropological Institute, 19(4). 734-752.
Kohn, Eduardo. (2007). How Dogs Dream: Amazonian Natures and the Politics of Transspecies Engagement. American Ethnologist, 34(1). 3-24.
Mageo, Jeannette. (2022). Defining New Directions in the Anthropology of Dreaming. In New Directions in the Anthropology of Dreaming. edited by Mageo, Jeannette and Sheriff, Robin. 3-22. . Abingdon: Routledge.
Swancutt, Katherine. (2024). Dreams, Visions, and Worldmaking: Envisioning Anthropology Through Dreamscapes. Annual Review of Anthropology, 53(1). 111-126.
Vogel, Steven. (2006). The Silence of Nature. Environmental Values, 15(2). 145-171.
ผู้เขียน
วิมล โคตรทุมมี
นักวิจัย ฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ป้ายกำกับ ความฝัน ความจริง วิทยาศาสตร์ วิมล โคตรทุมมี