แผ่นดินไหว: เหตุมงคลในอุดมคติ ฤๅลางร้ายของแผ่นดิน

 |  โบราณคดี และประวัติศาสตร์
ผู้เข้าชม : 5150

แผ่นดินไหว: เหตุมงคลในอุดมคติ ฤๅลางร้ายของแผ่นดิน

1. แผ่นดินไหวกับโลกทัศน์ที่เปลี่ยนไป

           การมองว่า “แผ่นดินไหว” เป็นลางดีหรือลางร้ายนั้น ขึ้นอยู่กับโลกทัศน์ที่แตกต่างกันของแต่ละกลุ่มสังคมวัฒนธรรมว่าจะเชื่อมโยงเหตุการณ์แผ่นดินไหวให้เข้ากับเรื่องดีหรือร้ายของตนเอง แต่จุดร่วมที่ตรงกันไม่ว่าเรื่องนั้นจะดีหรือร้ายก็คือ เหตุการณ์นั้น “ต้องเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง” ทั้งนี้เพราะปรากฏการณ์แผ่นดินไหว เป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นปกติ และเมื่อแผ่นดินไหวเกิดขึ้น ก็ย่อมสั่นสะเทือนพื้นแผ่นดินอันเป็นที่อยู่อาศัย อันเป็นสัญลักษณ์แห่ง “ความมั่นคงและสวัสดิภาพของมนุษย์” ดังนั้น ปรากฏการณ์แผ่นดินไหวจึงปรากฏเป็นบทบันทึกอยู่ในงานวรรณกรรมของมนุษยชาติมาทุกยุคทุกสมัย และมีการสร้างคำอธิบายเกี่ยวกับบ่อเกิดของแผ่นดินไหวแตกต่างกันไปตามลัทธิความเชื่อทางศาสนา บทความนี้จึงขอยกตัวอย่างของทั้งสองแง่มุมเปรียบเทียบกัน แง่มุมหนึ่งมาจากคัมภีร์ “พระไตรปิฎก” ซึ่งเป็นตัวแทนของโลกทัศน์อินเดียโบราณ และอีกแง่มุมหนึ่งมาจากบันทึกประวัติศาสตร์ “พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ” ซึ่งเป็นตัวแทนของโลกทัศน์สังคมไทยสมัยอยุธยา เพื่อให้เป็นความรู้เกี่ยวกับมุมมองเรื่องแผ่นดินไหวในเอกสารโบราณ ทั้งในเชิงอุดมคติและในเชิงประวัติศาสตร์ หลังจากที่ประเทศไทยเกิดเหตุแผ่นดินไหวจำนวน 2 ครั้ง ขนาด 4.5 และ 1.61 ในวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2566 โดยมีศูนย์กลางอยู่ในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก แรงสั่นสะเทือนรู้สึกได้ทั้งในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ และกำแพงเพชร (กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว 2566ข-ค: ออนไลน์)

           สำหรับกรณี “เรื่องแผ่นดินไหวในพระไตรปิฎก” นั้น เป็นหลักฐานของหลักปรัชญาตามโลกทัศน์อินเดียโบราณที่ถือว่า แผ่นดินไหวเป็นทั้งปรากฏการณ์ธรรมชาติและเหนือธรรมชาติ โดยประการหลังนี้ ย่อมเกี่ยวข้องกับการเกิดขึ้นของ “ศุภมหามงคล” เหตุนี้ ปรัชญาพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทจึงมองว่า แผ่นดินย่อมเคลื่อนไหวได้ด้วยลักษณะโครงสร้างตามธรรมชาติของโลกและจักรวาล แต่กระนั้น โดยปกติแผ่นดินก็ย่อมต้องหนักแน่นอยู่กับที่ ไม่หวั่นไหว จะมีก็เพียง “อภิฤทธานุภาพ” ของเทวดาและผู้มีมหาบารมีเท่านั้น ที่ทำให้แผ่นดินหวั่นไหวได้ ดังนั้น การเกิดแผ่นดินไหวแบบเหนือธรรมชาตินี้ จึงเป็น “ผลกระทบ” (impact) โดยตรงจากการที่แผ่นดินไม่สามารถรองรับ มหาบารมีและอภิฤทธานุภาพของบุคคลเหล่านั้นได้ เป็นผลให้แม้แต่แผ่นดินที่ย่อมต้องอยู่นิ่ง ยังต้องหวั่นไหวด้วยอานุภาพนั้น หลักปรัชญานี้ปรากฏในพระไตรปิฎก เรื่อง มหาปรินิพพานสูตร และภูมิจาลสูตร2 ในพระสุตตันตปิฎกที่แสดงโลกทัศน์เหตุแห่งแผ่นดินไหวใหญ่ไว้ 8 ประการ (ดู 84000.org 2566ก-ข: ออนไลน์) และมีวินิจฉัยสาระของข้อความไว้ในคัมภีร์อรรถกถาภูมิจาลสูตร (ดู 84000.org 2566ค: ออนไลน์) โดยสามารถสรุปได้ดังนี้

(1) เหตุจากลมพายุพัด หรืออีกนัยคือ แผ่นดินไหวเพราะธาตุกำเริบ กล่าวคือ โดยธรรมชาติแล้ว แผ่นดินใหญ่ (= มหาปฐพี) ย่อมไหวได้เพราะตั้งอยู่บนน้ำ น้ำตั้งอยู่บนลม ลมตั้งอยู่บนอากาศ เมื่อลมพายุพัดแรง น้ำจึงไหว เมื่อน้ำไหว จึงทำให้แผ่นดินไหว

(2) เหตุจากผู้มีฤทธิ์ หรืออีกนัยคือ แผ่นดินไหวเพราะอานุภาพของผู้มีฤทธิ์ กล่าวคือ เป็นเพราะสมณะหรือพราหมณ์ผู้มีฤทธิ์ ได้บรรลุความชำนาญทางจิต หรือเทวดาผู้มีฤทธานุภาพมาก ได้เจริญปฐวีสัญญา (= เพิ่มพูนการหยั่งรู้เรื่องดิน) เพียงนิดหน่อย หรือ เจริญอาโปสัญญา (= เพิ่มพูนการหยั่งรู้เรื่องน้ำ) อย่างหาประมาณมิได้

(3) เหตุจากพระโพธิสัตว์จุติ หรืออีกนัยคือ แผ่นดินไหวเพราะเดชแห่งบุญจากการจุติ กล่าวคือ พระโพธิสัตว์จุติจากชั้นดุสิตลงสู่พระครรภ์พระมารดา

(4) เหตุจากพระโพธิสัตว์ประสูติ หรืออีกนัยคือ แผ่นดินไหวเพราะเดชแห่งบุญจากการประสูติ กล่าวคือ พระโพธิสัตว์ประสูติจากพระครรภ์พระมารดา

(5) เหตุจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้ หรืออีกนัยคือ แผ่นดินไหวเพราะเดชแห่งญาณจากการตรัสรู้ กล่าวคือ ในขณะเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้อภิสัมโพธิญาณนั้น แผ่นดินถูกเดชของพระญาณชักนำ จึงสั่นไหว

(6) เหตุจากพระพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนา หรืออีกนัยคือ แผ่นดินไหวเพราะอำนาจแห่งการให้สาธุการแก่การประกาศธรรมแก่โลก กล่าวคือ ในขณะเมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา (= ธรรมจักรกัปปวัตนสูตร) แผ่นดินยังนิ่งอยู่เพราะยังไม่มีการเปล่งเสียงสาธุ (= ภาวะแห่งสาธุการยังนิ่งอยู่) ต่อเมื่อการเทศนาจบลง เมื่อเปล่งเสียงสาธุ (= การให้สาธุการ) แผ่นดินก็สั่นไหว

(7) เหตุจากพระพุทธเจ้าสิ้นพระชนม์ หรืออีกนัยคือ แผ่นดินไหวเพราะความเห็นใจแก่โลก (= สภาวะแห่งความการุณย์) กล่าวคือ ในขณะเมื่อพระพุทธเจ้าปลงอายุสังขาร ความเห็นใจของแผ่นดินต่อสัตว์โลกนั้น ยังคงตั้งนิ่งอยู่ (= ภาวะแห่งความเห็นอกเห็นใจยังนิ่งอยู่ คือยังไม่แสดงออก) ต่อเมื่อแผ่นดินอดทนต่อการปรุงแต่งของจิตของตน (= จิตสังขาร) ไม่ได้ จึงแสดงความเห็นใจออกมา แผ่นดินก็สั่นไหว

(8) เหตุจากพระพุทธดับขันธ์ปรินิพพาน หรืออีกนัยคือ แผ่นดินไหวเพราะการร้องไห้คร่ำครวญของโลก กล่าวคือ ในขณะเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานนั้น การร้องไห้คร่ำครวญไปทั่ว(ของสัตว์โลก) ได้เร่งเร้าอารมณ์ของแผ่นดินให้รู้สึกอาดูร (= ทุกข์ร้อน) แผ่นดินจึงสั่นไหว

           จากเหตุแห่งแผ่นดินไหวใหญ่ 8 ประการนี้ ย่อมแสดงให้เห็นว่าเป็นการให้ความสำคัญกับพระพุทธเจ้า กล่าวคือ ประการที่ 3 – 6 (จุติ ประสูติ ตรัสรู้ ประกาศธรรมแก่โลก) เป็นเรื่องพึงยินดียิ่ง ขนาดที่ผืนแผ่นดินยังต้องแสดงความยินดีด้วยอาการสั่นไหว ขณะที่ประการที่ 7-8 (ปลงสังขาร ปรินิพพาน) เป็นเรื่องที่พึงโศกเศร้ายิ่ง ถึงการจากไปของพระพุทธเจ้าบนโลกมนุษย์ และการจากไปอย่างไม่หวนกลับคือนิพพาน ขนาดที่ผืนแผ่นดินยังรองรับความโศกเศร้านี้ไม่ได้

           ในทำนองเดียวกัน โลกทัศน์ความสัมพันธ์ระหว่างความเป็น “ผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่” กับ “แผ่นดินไหว” ในพระไตรปิฎกนี้ ย่อมถูกส่งผ่านมายังโลกทัศน์ของสังคมไทยด้วยเช่นกัน ดังมีตัวอย่างในกรณีของพรญาลือไท กับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี กล่าวคือ ใน “กลุ่มจารึกวัดป่ามะม่วง” ของพรญาลือไทเล่าไว้ว่า เมื่อครั้งพรญาลือไทเสด็จออกพระผนวชใน พ.ศ. 1904 เหตุเพราะบุญจากการครองผ้ากาสาวพัสตร์นั้นหนักมาก เกินกว่าพระธรณีจะรองรับบุญหนักนี้ได้ จึงสั่นไหว และเมื่อเสด็จประทับพระบาทลงบนพื้นธรณี พื้นปฐพีก็หวั่นไหวไปทั่ว (ตรงใจ หุตางกูร (บก.) 2558: 204, 223, และ 232; ตรงใจ หุตางกูร 2561: 99) ส่วนกรณีสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้น เล่าไว้ว่า พระยาตากปราบดาภิเษกเป็นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีในปี พ.ศ. 2311 (ประมาณว่าในเดือนเมษายน พ.ศ. 2311) และในปีเดียวกันนี้ เกิดแผ่นดินไหวในวันอังคารที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2311 (ตรงใจ หุตางกูร (บก.) 2561: 131-133; 151-153) แม้ว่าเอกสารคือ โคลงเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี กับพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี จะไม่ได้กล่าวโดยตรงว่า แผ่นดินไหวนี้ เกิดจากการปรากฏตัวของ “ผู้มีศักดิ์ใหญ่” แต่การอ้างถึงแผ่นดินไหวในเหตุการณ์สำคัญเช่นนี้ ก็ย่อมมีความเชื่อตามโลกทัศน์ข้างต้นแฝงอยู่ อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ปรากฏในเอกสารของอยุธยานั้น ดูเหมือนจะเป็นอีกโลกทัศน์หนึ่ง และเป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์เกี่ยวกับแผ่นดินไหว จากโลกทัศน์อุดมคติที่มองว่า แผ่นดินไหวคือสัญลักษณ์ของผู้ยิ่งใหญ่ทั้งทางโลกและทางธรรม มาเป็นโลกทัศน์แห่งโชคลาง ที่แผ่นดินไหวคือลางร้ายของผู้ยิ่งใหญ่ ดังปรากฏร่องรอยอยู่ในเอกสารของอยุธยาที่ชื่อ “พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ


2. สังคมอยุธยาคิดอย่างไรกับแผ่นดินไหว?

           “พงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ” ซึ่งเป็นเอกสารที่บันทึกเหตุการณ์สำคัญและวีรกรรมของกษัตริย์อยุธยาในช่วง พ.ศ. 1894-2148 นั้น ได้บันทึกเหตุการณ์แผ่นดินไหวไว้จำนวน 5 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 เกิดขึ้นใน จ.ศ. 887 (= ราวเมษายน พ.ศ. 2068 - มีนาคม พ.ศ. 2069) อยู่ในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 โดยระบุว่ามีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นทุกเมืองพร้อมมีเหตุอุบาทว์อื่นๆ ครั้งที่ 2 เกิดขึ้นใน จ.ศ. 908 (= ราวเมษายน พ.ศ. 2089 - มีนาคม พ.ศ. 2090) อยู่ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้ายอดฟ้า ระบุว่าหลังจากสมเด็จพระไชยราชาธิราชสวรรคต สมเด็จพระเจ้ายอดฟ้าขึ้นครองราชย์ ในปีนั้นก็เกิดแผนดินไหว ครั้งที่ 3 เกิดขึ้นเมื่อวันพุธ แรม 9 ค่ำ เดือนห้า จ.ศ. 946 (= วันพุธที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2127) อยู่ในรัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช-สมเด็จพระนเรศวรมหาราช (รัชสมัยนี้ ทรงครองราชย์ร่วมกัน) โดยระบุว่า ขณะเมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชยกทัพไปช่วยการศึกพระเจ้ากรุงหงสาวดี และแวะพักทัพ ณ เมืองกำแพงเพชรนั้น ได้เกิดแผ่นดินไหวที่เมืองกำแพงเพชร ครั้งที่ 4 เกิดขึ้นเมื่อวันจันทร์ แรม 8 ค่ำ เดือนสิบสอง จ.ศ. 950 (= วันจันทร์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2131) อยู่ในรัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช-สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ระบุเพียงว่าในวันเดือนปีนี้มีแผ่นดินไหว และ ครั้งที่ 5 เกิดขึ้นเมื่อวันศุกร์ แรม 7 ค่ำ เดือนยี่ จ.ศ. 951 (= วันศุกร์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2133) อยู่ในรัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช-สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ระบุว่าในปีนั้นข้าวแพง และเมื่อถึงวันเดือนปีนี้ก็เกิดแผ่นดินไหว (ดู ตรงใจ หุตางกูร 2561: 86, 99, 149, 159, 160)

           อย่างไรก็ตาม หากเราดูรายละเอียดและบริบทแวดล้อมของการเกิดแผ่นดินไหว และผลที่ตามหลังเกิดแผ่นดินไหวจะพบว่า ล้วนแต่มีเรื่องร้ายแรงเกิดขึ้นแก่บ้านเมืองกรุงศรีอยุธยาทั้งสิ้น และดูเหมือนว่า แผ่นดินไหว เป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งของ “ลางร้าย” เท่านั้น เพราะในพงศาวดารฉบับนี้ ได้บันทึกเหตุอุบาทว์อื่นที่ถือเป็นลางร้ายแก่บ้านเมืองไว้พอสมควร จึงอาจกล่าวได้ว่า องค์ประกอบสำคัญในการเรียบเรียงพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาคือ “เหตุอุบาทว์ลางร้าย” ซึ่งสะท้อนให้เห็นโลกทัศน์ของชาวอยุธยาได้อย่างชัดเจนว่า เป็นกลุ่มวัฒนธรรมที่ยึดมั่นในเรื่องโชคลาง และโชคลางเป็นส่วนสำคัญในการดำรงชีวิตในสังคม

           “อุบาทว์” เป็นคำยืมมาจากภาษาบาลีว่า อุปทฺทว (อุ-ปัท-ทะ-วะ) แปลว่า เหตุร้าย (accident) โชคร้าย/เคราะห์ร้าย (misfortune) ทุกข์ทรมาน (distress) หรือ เข็ญใจ (oppression) (Pali Text Society, 1921-1925: upaddava) ซึ่งตรงกับภาษาสันสกฤตว่า อุปทฺรว (อุ-ปะ-ทฺระ-วะ) แปลว่า สิ่งที่จู่โจมหรืออุบัติโดยฉับพลัน (that which attacks or occurs suddenly) อุบัติเหตุอันนำมาซึ่งความโศกเศร้า (any grievous accident) เคราะห์ร้าย (misfortune) ความฉิบหาย (calamity) อุบัติภัยร้าย (mischief) หรือภัยพิบัติของชาติ เช่น ความอดอยาก (famine) โรคระบาด (plague) ความยากจนเข็ญใจ (oppression) หายนะ (eclipse) เป็นต้น (Monier-Williams 2003: 199) สำหรับความหมายในภาษาไทยนั้น พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายว่า อัปรีย์ จัญไร ไม่เป็นมงคล (สำนักงานราชบัณฑิตสภา 2566ก: อุบาทว์)

           หากพิจารณานิยามนี้ด้วยความเข้าใจแบบสังคมปัจจุบันแล้ว แผ่นดินไหวก่อเหตุในลักษณะภัยพิบัติร้ายแรง ดังนั้น จึงถือได้ว่า แผ่นดินไหวเป็นเหตุอุบาทว์ได้ตามโลกทัศน์ปัจจุบัน ทั้งนี้ผลของการสั่นไหวนั้น นำมาซึ่งความสูญเสียมากน้อยแตกต่างกันไปตามขนาด (magnitude) แต่ในเมื่อเรากำลังพยายามทำความเข้าใจโลกทัศน์ของสังคมสมัยอยุธยา จึงจำเป็นต้องวิเคราะห์ลักษณะโครงสร้างเนื้อหาของ “พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ” ว่า มีการวางเรื่องแผ่นดินไหว ให้อยู่ในสถานภาพใดของเรื่องราวทั้งหมด ผลจากการตีความพบว่า โลกทัศน์ของสังคมสมัยอยุธยา อาจถือเพียงว่า “แผ่นดินไหว” เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ส่อไปในทางลางร้าย แต่ไม่ใช่อุบาทว์ กล่าวคือ เชื่อได้ว่า ผู้เรียบเรียงพงศาวดารฯ ได้บันทึกเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นจริง โดยมิได้ระบุหรือชี้ชัดว่า แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นนั้นเป็นลางร้าย “แต่” การปรากฏขึ้นของแผ่นดินไหวก็มักมีการบันทึก “ลางร้ายแวดล้อม” ให้ปรากฏร่วมอยู่ โดยเฉพาะมีบางปีที่มีทั้งแผ่นดินไหวและเหตุอุบาทว์ ซึ่งอยู่ในบริบทการเกิดเหตุร้ายของบ้านเมือง ทั้งข้าวยากหมากแพง และการสวรรคตของพระมหากษัตริย์ ดังความว่า

[1] “ศักราช 886 วอกศก (= พ.ศ. 2067/2068) ครั้งนั้น เห็นงาช้างต้นเจ้าพระยาปราบ แตกข้างขวายาวไป (= ช้างต้นบาดเจ็บ เป็นลางร้ายเพราะช้างเป็นสัตว์คู่บุญบารมีของกษัตริย์) อนึ่ง ในเดือนเจ็ดนั้น คนทอดบัตรสนเท่ห์ ครั้งนั้น ให้ฆ่าขุนนางเสียมาก ศักราช 887 ระกาศก (= พ.ศ. 2068/2069) น้ำน้อยข้าวเสียสิ้นทั้งปวง อนึ่ง แผ่นดินไหวทุกเมือง แล้วแลเกิดอุบาทว์เป็นหลายประการ ครั้งรุ่งปีขึ้น ศักราช 888 (= พ.ศ. 2069/2070) ข้าวสารแพงเป็น 3 ทะนานต่อเฟื้อง (= ข้าวแพง) เบี้ยแปดร้อยเกวียนหนึ่ง เป็นเงินชั่งหกตำลึง(= เงินเฟ้อ) . . . ศักราช 891 ฉลูศก (= พ.ศ. 2072) เห็นอากาศนิมิตเป็นอินทรธนูแต่ทิศหรดี ผ่านอากาศมาทิศพายัพ มีพรรณขาว วันอาทิตย์ ขึ้น 8 ค่ำ เดือนสิบสอง (= วันอาทิตย์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2072) สมเด็จพระรามาธิบดีเจ้าเสด็จพระที่นั่งหอพระ ครั้นค่ำลงวันนั้น สมเด็จพระรามาธิบดีเจ้านฤพาน . . . ”

[2] “. . . แล ณ วันอังคาร ขึ้น 3 ค่ำ เดือนสี่ (ปรับแก้เทียบศักราชและความสอดคล้องของเหตุการณ์กับพื้นเมืองเชียงใหม่แล้วควรเป็น วันอังคาร ขึ้น 5 ค่ำ เดือนยี่ = วันอังคารที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2088) ได้เมืองลำพูนชัย วันศุกร์ ขึ้น 13 ค่ำ เดือนสี่ (ปรับแก้เทียบศักราชและความสอดคล้องของเหตุการณ์กับพื้นเมืองเชียงใหม่แล้วควรเป็น วันศุกร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือนยี่ = วันศุกร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2088) มีอุบาทว์เห็นเลือดติดอยู่ ณ ประตูบ้านแลเรือนแลวัดทั้งปวง ในเมืองแลนอกเมืองทั่วทุกตำบล . . . ศักราช 908 มะเมียศก เดือนหก (= ระหว่างวันที่ 11 เมษายน – 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2089) สมเด็จพระไชยราชาธิราชเจ้านฤพาน จึงสมเด็จพระเจ้ายอดฟ้าพระราชกุมารท่าน เสวยราชสมบัติพระนครศรีอยุธยา ในปีนั้นแผ่นดินไหว ศักราช 910 วอกศก วันเสาร์ ขึ้น 5 ค่ำ เดือนห้า (= วันเสาร์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2091) เสด็จออกสนามให้ชนช้าง แลงาช้างพญาไฟนั้น หักเป็น 3 ท่อน (= ช้างต้นบาดเจ็บ) อนึ่ง อยู่สองวัน ช้างต้นพระฉัททันต์ ไล่ร้องเป็นเสียงสังข์ (= ช้างต้นแสดงพฤติกรรมแปลก) อนึ่ง ประตูไพชยนต์ร้องเป็นอุบาทว์ ถึงวันอาทิตย์ ขึ้น 5 ค่ำ เดือนแปด สมเด็จพระเจ้ายอดฟ้าเป็นเหตุ . . .” (ดูคำอธิบายเทียบเหตุการณ์ปรับแก้ศักราชช่วงท้ายของสงครามอยุธยา-ล้านนาได้ใน ตรงใจ หุตางกูร 2561: 96-97)

           หรือแม้แต่การเกิดแผ่นดินไหวจำนวน 2 ครั้ง ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2131 กับเดือนมกราคม พ.ศ. 2133 และตามมาด้วยการสวรรคตของสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2133 ดังความว่า

[3] “ศักราช 950 ชวดศก ณ วันจันทร์ แรม 8 ค่ำ เดือนสิบสอง (= วันจันทร์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2131) แผ่นดินไหว ศักราช 951 ฉลูศก (= 2132/2133) ข้าวแพงเป็นเกวียนละสิบตำลึง ปิดตราพระยานารายณ์กำชับ (= ข้าวยากหมากแพง) ณ วันศุกร์ แรม 7 ค่ำ เดือนยี่ (= วันศุกร์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2133) แผ่นดินไหว ศักราช 952 ขาลศก วันอาทิตย์ แรม 13 ค่ำ เดือนแปด (= วันอาทิตย์ที่ 29 กรกฎาคม 2133) สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพระพฤฒาราชนฤพาน วันอังคาร แรม 2 คํ่า เดือนสิบสอง (= วันอังคารที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2133) มหาอุปราชายกทัพมาโดยทางกาญจนบุรี (= ภัยสงครามใหญ่) ครั้งนั้นได้ตัวพระยาพสิมตำบลตะเข้สามพัน . . .”

           หรือการเกิดแผ่นดินไหว ร่วมกับลางร้ายหลายประการ อันเป็นลางบอกเหตุว่า ไมตรีระหว่างกรุงศรีอยุธยากับกรุงหงสาวดีจะขาดกันยังให้เกิดสงครามใหญ่ดังมีใน “เหตุการณ์ไมตรีขาดกัน พ.ศ. 2127” ความว่า

[4] “ศักราช 946 วอกศก (= พ.ศ. 2127/2128) ครั้งนั้น สมเด็จพระนารายณ์เป็นเจ้าเสวยราชสมบัติ ณ เมืองพิษณุโลก รู้ข่าวมาว่า พระเจ้าหงสากับพระเจ้าอังวะผิดกัน ครั้งนั้น เสด็จไปช่วยการศึกพระเจ้าหงสา แลอยู่ในวันพฤหัสบดี แรม 3 ค่ำ เดือนห้า (= วันพฤหัสบดีที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2127) ช้างต้นพลายสวัสดิมงคล แลช้างต้นพลายแก้วจักรรัตน์ชนกัน แลงาช้างต้นพลายสวัสดิมงคลลุ่ยข้างซ้าย (= ช้างต้นบาดเจ็บ) แลโหรทำนายว่าห้ามยาตรา แลมีพระราชโองการตรัสว่า ได้ตกแต่งการนั้นสรรพแล้ว จึงเสด็จพยุหยาตราไป ครั้นถึง ณ วันพุธ แรม 9 ค่ำ เดือนห้า (= วันพุธที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2127) เสด็จออกตั้งทัพไชยตำบลวัดยม ท้ายเมืองกำแพงเพชร ในวันนั้น แผ่นดินไหว แล้วจึงยกทัพหลวงเสด็จไปถึงเมืองแครง แล้วจึงทัพหลวงเสด็จกลืบคืนมาพระนครศรีอยุธยา ฝ่ายเมืองพิษณุโลกนั้น อยู่ในวันพุธ ขึ้น 8 ค่ำ เดือนสิบ (= วันพุธที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2127) เกิดอัศจรรย์แม่น้ำทรายหัวเมืองพิษณุโลกนั้นป่วนขึ้นสูงกว่าพื้นนํ้านั้น 3 ศอก (= อาเพศ) อนึ่ง เห็นสตรีภาพผู้หนึ่งหน้าประดุจหน้าช้าง แลทรงสัณฐานประดุจงวงช้าง แลหูนั้นใหญ่ นั่งอยู่ ณ วัดประสาทหัวเมืองพิษณุโลก (= อุบาทว์) อนึ่ง ช้างใหญ่ตัวหนึ่ง ยืนอยู่ ณ ท้องสนามนั้น อยู่ก็ล้มลงตายกับที่บัดเดี๋ยวนั้น (= อุบาทว์) อนึ่ง เห็นตักแตนบินมา ณ อากาศเป็นอันมาก แลบังแสงอาทิตย์ บดมาแล้ว ก็บินกระจัดกระจายสูญไป (= อุบาทว์) ในปีเดียวกันนั้น ให้เทครัวเมืองเหนือทั้งปวง ลงมายังกรุงพระนครศรีอยุธยา ในปีเดียวกันนั้น พระเจ้าหงสาให้พระเจ้าสาวถีแลพระยาพสิมยกพลลงมายังกรุงพระนคร (= ภัยสงครามใหญ่) แล ณ วันพุธ ขึ้น 2 ค่ำ เดือนยี่ (= วันพุธที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2128) เพลาเที่ยงคืนแล้ว 2 นาฬิกา 9 บาท เสด็จพยุหยาตราไปตั้งทัพตำบลสามขนอน ครั้งนั้นศึกหงสาแตกพ่ายหนีไป อนึ่ง ม้าตัวหนึ่งตกลูก แลศีรษะม้านั้นเป็นศีรษะเดียว แต่ตัวม้านั้นเป็น 2 ตัว แลเท้าม้านั้นตัวละสี่เท้า ประดุจชิงศีรษะแก่กัน (= อุบาทว์)”

3. บทวิเคราะห์แผ่นดินไหวในโลกทัศน์ลางร้ายของแผ่นดินอยุธยา

           แผ่นดินไหวครั้งที่ 1 ลางร้ายของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2: อันที่จริงก่อนเกิดเหตุแผ่นดินไหว 1 ปี ใน พ.ศ. 2067 เกิดลางร้ายคือ (1) ช้างต้นงาแตก: งาข้างขวาของช้างต้นเจ้าพระยาปราบแตกเป็นแนวยาว ซึ่งถือเป็นลางไม่ดีแก่พระมหากษัตริย์และบ้านเมือง เพราะช้างต้นนั้นถือเป็นสัตว์คู่บุญบารมีแก่องค์ราชาและบ้านเมือง ตามมาด้วย (2) บัตรสนเท่ห์ข่าวลือ: เกิดข่าวลือไม่ดีเกี่ยวกับพระองค์แพร่ไปทั่ว ทำให้ทรงประหารชีวิตขุนนางจำนวนมาก ซึ่งถือเป็นการกระทำบาปกรรมแก่บ้านเมือง ในปีถัดมาคือ พ.ศ. 2068 จึงเกิด (3) ภัยแล้งข้าวตาย: ปีนี้น้ำน้อย ทำให้ข้าวในท้องนาตายเป็นจำนวนมาก และปีนี้เองที่เกิด (4) “แผ่นดินไหว” ตามมาด้วย (5) “เหตุอุบาทว์หลายประการ” ซึ่งเอกสารก็มิได้บอกว่ามีเหตุอะไรบ้าง ในปีถัดมาคือ พ.ศ. 2069 เกิดเหตุ (6) ข้าวสารแพง: ซึ่งถือเป็นปัญหาเศรษฐกิจของอยุธยา ดังคำว่า “ข้าวยากหมากแพง” ทั้งนี้ก็เป็นผลมาจากปีก่อนหน้านี้เกิดเหตุภัยแล้งนั่นเอง และถัดมาอีก 3 ปี คือ พ.ศ. 2072 เกิดเหตุ (7) รุ้งแปลกสีขาว: ในเอกสารเรียกรุ้งกินน้ำว่า “อินทรธนู” ซึ่งแปลว่า โก่งธนู หรือคันธนูของพระอินทร์ แต่ที่แปลกว่าปกติคือ ครั้งนี้รุ้งกินน้ำเป็นเพียงแสงสีขาว พาดมาจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ไปทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นเหตุผิดธรรมชาติที่ต้องมี 7 สี และปีนี้เองที่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 เสด็จสวรรคต ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องร้ายของบ้านเมือง เหตุร้ายอันเกิดแก่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 นั้นยังไม่จบที่พระองค์ ยังไปเกิดขึ้นพระราชโอรสและพระราชนัดดาของพระองค์ด้วย นั่นคือหลังจากที่พระองค์สวรรคตและสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 (หน่อพุทธางกูร) ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระองค์ได้ราว 5 ปี ก็เสด็จสวรรคตตามพระราชบิดาใน พ.ศ. 2076 จึงสมเด็จพระรัษฐาธิราช ซึ่งมีพระชนมายุเพียง 5 พรรษา ขึ้นครองราชย์แทนพระราชบิดา ซึ่งทรงครองราชย์ได้เพียง 5 เดือน ก็ถูกสมเด็จพระชัยราชาธิราชปลงพระชนม์ แล้วสมเด็จพระชัยราชาธิราชจึงเสด็จขึ้นครองราชย์ (ดู ตรงใจ หุตางกูร 2561: 86-90)

           แผ่นดินไหวครั้งที่ 2 ลางร้ายของสมเด็จพระชัยราชาธิราชและสมเด็จพระเจ้ายอดฟ้า: อันที่จริงก่อนเกิดเหตุแผ่นดินไหวนั้น ในรัชกาลสมเด็จพระชัยราชธิราช มีลางร้ายเกิดขึ้นหลายเหตุการณ์ แม้ว่าพระองค์ทรงเป็นเชื้อพระวงศ์ แต่การสังหารสมเด็จพระเจ้ายอดฟ้าเพื่อขึ้นครองราชย์นั้น ถือเป็นบาป อีกทั้งพระองค์ยังนำบ้านเมืองเข้าสู่สงครามขยายอาณาเขตพุ่งรบกับทั้งอาณาจักรมอญและล้านนา ทำให้ทหารสูญเสียชีวิตมากมาย หากเชื่อเรื่องบุญบาปแล้ว นี่คงเป็นเหตุให้ทรงมีชีวิตสั้นเพราะบาปกรรมที่ก่อไว้ จึงครองราชย์อยู่เพียง 12 ปี และเป็นการสิ้นพระชนม์แบบกรรมตามสนองเพราะถูกลอบสังหารจากแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์กับขุนชินราชที่ต้องการขึ้นครองราชย์แทนพระองค์

           สำหรับลางร้ายที่เกิดขึ้นกับพระองค์นั้น เริ่มใน พ.ศ. 2082 คือ เมื่อคราวยกทัพไปตีเมืองมอญ (1) ทัพเรือถูกลมพายุเสียหาย ซึ่งถือเป็นลางไม่ดีแก่การออกรบ (2) ขุนนางเป็นกบฏ ซึ่งถือเป็นลางไม่ดีแก่การบริหารบ้านเมือง ต่อมาใน พ.ศ. 2089 ขณะยกทัพตีเชียงใหม่อยู่นั้น (3) เกิดเหตุเพลิงไหม้ใหญ่ที่กรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นเหตุร้ายแรงของบ้านเมือง และเมื่อทรงยึดเมืองลำพูนได้ ก็เกิดเหตุอุบาทว์ (4) เลือดติดอยู่ที่ประตูบ้านเรือนและวัดทุกแห่งทั้งในและนอกเมือง ซึ่งถือเป็นลางไม่ดีแก่ผู้เข้ามายึดบ้านเมืองคนอื่น และในปีนั้นเอง สมเด็จพระชัยราชาธิราชก็เสด็จสวรรคต เหล่าขุนนางจึงสถาปนาสมเด็จพระเจ้ายอดฟ้า ซึ่งเป็นราชโอรสของพระองค์ ขึ้นครองราชย์ และในปีเดียวกันนี้ ก็เกิด (5) “แผ่นดินไหว” และหลังจากเกิดแผ่นดินไหวปี 2089 แล้ว เหตุอุบาทว์อันเป็นลางบอกเหตุร้ายแก่พระมหากษัตริย์ก็ตาม นั่นคือใน พ.ศ. 2091 (6) ช้างทรงเลี้ยงชนกัน งาแตกสามท่อน ตามมาด้วย (7) ช้างต้นพระฉัททันต์ร้องเป็นเสียงสังข์ และ (8) ประตูไพชยนต์ส่งเสียงร้อง เหล่านี้ล้วนเป็นลางบอกเหตุว่า ในปีเดียวกันนี้ สมเด็จพระเจ้ายอดฟ้าสิ้นพระชนม์พระถูกปลงพระชนม์โดยแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์กับขุนชินราช อันที่จริงเหตุลอบปลงพระชนม์โดยบุคคลทั้งสองนี้ ก็ถือได้ว่าเป็นอุบาทว์ของบ้านเมือง เพราะสุดท้ายแล้ว ทั้งสองก็ถูกสังหารโดยสมเด็จพระเธียรราชาธิราช ซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์ เมื่อสถานปาขึ้นปกครองอยุธยาแล้ว จึงทรงพระนามสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (ดู ตรงใจ หุตางกูร 2561: 90-103)

           อนึ่ง หากเชื่อว่า “แผ่นดินไหว” เป็นลางบอกเหตุร้ายที่อาจเกิดขึ้นได้ภายใน 3-5 ปีหลังจากเกิดเหตุ ก็อาจกล่าวได้ เหตุการณ์ “แผ่นดินไหว พ.ศ. 2089” เป็นลางบอกเหตุร้ายเสียกรุงศรีอยุธยาได้ เพราะหลังจากสมเด็จพระมหาจักรพรรดิขึ้นครองราชย์ได้เพียง 7 เดือน พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้แห่งกรุงหงสาวดีก็ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา แม้ว่าในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาทุกฉบับไม่ได้ระบุว่าเป็นการเสียเอกราชให้แก่กรุงหงสาวดี แต่ตามพฤตินัยที่ปรากฏทั้งในเอกสารฝ่ายไทย ที่เชื้อพระวงศ์ถูกจับเป็นตัวประกัน และเอกสารฝ่ายพม่าที่ระบุว่ากรุงศรีอยุธยายอมเป็นประเทศราช ย่อมบ่งชี้ว่า นี่คือ “การเสียเอกราช” ครั้งแรกของกรุงศรีอยุธยาในปี 2092 ให้แก่ต่างชาติเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่สถาปนากรุงเมื่อ พ.ศ. 1894 แต่มิได้เป็น “การเสียกรุง” ซึ่งจะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากนี้อีก 20 ปี คือใน พ.ศ. 2112 (ดู ตรงใจ หุตางกูร 2561: 104-106)

           แผ่นดินไหวครั้งที่ 3 ลางร้ายแก่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชถูกพม่าหักหลัง (ตามเอกสารฝ่ายไทย): เหตุการณ์ “แผ่นดินไหว พ.ศ. 2127” ถูกบอกเล่าไว้เป็นลางร้ายอันหนึ่ง ในลักษณะที่ว่าสมเด็จพระนเรศวรมหาราชจะถูกพระเจ้ากรุงหงสาวดีปองร้าย เรื่องมีอยู่ว่า ในรัชสมัยที่อยุธยาเป็นประเทศราชของหงสาวดี และมีพระมหากษัตริย์ปกครองคู่กันสองพระองค์คือ สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช กับสมเด็จพระนเรศวรมหาราชผู้เป็นพระราชโอรสนั้น การเมืองของพม่าหงสาวดีเกิดความวุ่นวาย เพราะพระเจ้ากรุงหงสาวดี (คือ นันทบุเรง) ผิดใจกับพระเจ้าอังวะ (คือ สะโตมางจอ เป็นพระพี่เขยของนันทบุเรง) เป็นเหตุให้พุ่งรบกัน สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงทราบ จึงมีพระประสงค์ยกทัพขึ้นไปช่วยการศึกพระเจ้าหงสาวดี3 จากนั้นจึงเกิดลางร้ายขึ้นมาเตือนพระองค์ถึงความไม่ปลอดภัย คือ (1) งาช้างลุ่ย: ช้างต้นพลายสวัสดิมงคลกับช้างต้นพลายแก้วจักรรัตน์ชนกัน ทำให้งาซ้ายของช้างต้นพลายสวัสดิมงคลลุ่ย โหรจึงทำนายห้ามเคลื่อนทัพไปรบ แต่พระองค์เห็นว่าได้เตรียมทัพไว้แล้ว แลเมื่อเคลื่อนทัพชัยไปถึงตำบลวัดยม ท้ายเมืองกำแพงเพชร ก็เกิด (2) แผ่นดินไหว จากนั้น ทรงมุ่งหน้าต่อไปถึงเมืองแครง แล้วเสด็จกลับ

           เรื่องที่ว่าถึงเมืองแครงแล้วยกทัพกลับนี้ ปรากฏอยู่ใน “ฉบับหลวงประเสริฐ” แต่พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับอื่นๆ นั้น มีรายละเอียดอย่างพิสดารว่า ทั้งหมดนี้เป็นอุบายของพระเจ้ากรุงหงสาวดีที่ต้องการกำจัดสมเด็จพระนเรศวรมหาราช โดยการหลอกให้พระองค์ยกทัพมาช่วย แต่หากจับตัวได้ก็จะกำจัดเสีย ดังนั้น ตามบริบทนี้ จึงเสมือนว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราชถูกพระเจ้านันทบุเรงหักหลัง หากกล่าวด้วยความเชื่อโชคลางแล้ว ก็อาจกล่าวได้ว่า เป็นเพราะบุญญาธิการของพระองค์ ทำให้พระองค์แคล้วคลาดและรอดกลับมาได้ แต่ลางร้ายยังไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะต่อไปจะเป็นลางร้ายของกรุงศรีอยุธยาที่จะต้องเจอศึกใหญ่กับหงสาวดีโดยทันที เป็นลางบอกเหตุว่า ตั้งแต่นี้ไป กรุงศรีอยุธยากับกรุงหงสาวดีขาดไมตรีจากกัน นั่นคือ หลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหว เมื่อวันพุธที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2127 แล้ว เมื่อถึงวันพุธที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2127 เกิดเหตุอัศจรรย์ (1) แม่น้ำทรายหัวเมืองพิษณุโลก ป่วนขึ้นสูงกว่าพื้นน้ำ 3 ศอก (= ราว 1.5 เมตร) “ปรากฏการณ์น้ำป่วนสูง” นี้ไม่ได้เกิดจากแผ่นดินไหว เพราะเอกสารระบุชัดเจนว่าเป็นเหตุ “อัศจรรย์” และถ้าเป็นปรากฏการณ์แผ่นดินไหว เอกสารชุดนี้ ก็จะแจ้งว่า “แผ่นดินไหว” ไว้อย่างชัดเจน ดังนั้น เหตุการณ์น้ำป่วนกระเพื่อมขึ้นสูงราว 1.50 เมตร นี้ น่าจะเกิดจากเหตุอื่น จากนั้น ก็มีลางร้ายอีกคือ (2) มีสตรีนางหนึ่งนั่งอยู่ที่วัดประสาทหัวเมืองพิษณุโลก แต่สตรีนางนั้นมีใบหน้าดุจช้าง ตามมาด้วย (3) มีช้างใหญ่ตัวหนึ่ง ยืนๆ อยู่แล้วก็ล้มลงตายโดยทันที และ (4) มีฝูงตั๊กแตนจำนวนมหาศาลขนาดที่บังแสงแดดได้ บินมาบังแสงแดดระยะหนึ่งแล้วก็แยกย้ายจากกันไป ปีถัดมา จึงเกิด “ศึกพระเจ้าสาวถี-พระยาพสิม พ.ศ. 2128” อันเป็นศึกจากการล้างแค้น ซึ่งในปีนั้นก็มีอุบาทว์อีกประการคือ (5) มีม้าตัวหนึ่งออกลูกมามีหัวเดียวแต่มี 2 ลำตัว

           อนึ่ง “ลางดี” ก็มีเช่นกัน นั่นคือ ปีถัดมาคือ วันเสาร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2129 ใน “ศึกพระเจ้าสาวถี พ.ศ. 2129” ขณะที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จโดยชลมารคไปทางป่าโมกนั้น (1) มีนกกระทุงจำนวนมากบินมาทั้งซ้ายขวานำหน้าเรือพระที่นั่ง และเมื่อถึงวันพฤหัสบดีที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2129 ขณะทรงช้างพระที่นั่งพลายมงคลทวีป พร้อมทัพช้างและม้าอยู่ริมแม่น้ำนั้น ก็เกิดพระอาทิตย์ทรงกรด และรัศมีของแสงนั้น ส่องลงมาโดนช้างพระที่นั่ง เกิดเป็นภาพดุจเงากรดมากั้นช้างพระที่นั่ง จากนั้นจึงทรงรบกับพระเจ้าสาวถี และทรงได้ชัยชนะ (ดู ตรงใจ หุตางกูร 2561: 149-153)

           แผ่นดินไหวครั้งที่ 4 และ 5 ลางร้ายต่อเนื่องแก่สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช: “ฉบับหลวงประเสริฐ” ระบุแต่เพียงว่า เกิดแผ่นดินไหว(ครั้งที่ 4) เมื่อวันจันทร์ แรม 8 ค่ำ เดือนสิบสอง จ.ศ. 950 (= วันจันทร์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2131) ไม่มีข้อมูลอื่นในปีนี้ แต่ถัดมาอีกราว 1 ปี คือใน จ.ศ. 951 (อาจอยู่ในช่วง พ.ศ. 2132) เกิดภาวะข้าวแพงและถัดมาถึงวันศุกร์ แรม 7 ค่ำ เดือนยี่ จ.ศ. 951 (= วันศุกร์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2133) จึงเกิดแผ่นดินไหว(ครั้งที่ 5) และถัดมาอีกราว 6 เดือนนั้น เมื่อถึงวันอาทิตย์ที่ 29 กรกฎาคม 2133 สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชก็เสด็จสวรรคต หากพิจารณาด้วยความเชื่อโชคลางแล้ว ก็อาจกล่าวได้ว่า การเกิดแผ่นดินไหวถึง 2 ครั้ง ย่อมเป็นลางบอกเหตุการสิ้นชีพของ “ผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่” ซึ่งในกรณีนี้คือ การสวรรคตของสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช


4. บทสรุป

           มีข้อน่าสังเกตเกี่ยวกับการเรียบเรียงข้อมูลของ “พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ” ว่า เนื้อหาก่อน จ.ศ. 800 (พ.ศ. 1981) ไม่มีเรื่องราวเกี่ยวกับลางดีลางร้ายเลย การกล่าวถึงสิ่งที่ถือว่าเป็นลางร้ายครั้งแรกนั้น เริ่มต้นที่ พ.ศ. 1981 ในรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 เรื่องมีอยู่ว่าเมื่อครั้งสมเด็จพระราเมศวรพระราชโอรส (ต่อมาคือ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ) เสร็จประทับยังเมืองพิษณุโลก พระพุทธชินราชหลั่งน้ำพระเนตรเป็นโลหิต (ดู ตรงใจ หุตางกูร 2561: 36) แม้เอกสารไม่ได้บอกว่าเป็นลางดีหรือลางร้าย แต่จากบริบททางประวัติศาสตร์นั้น พิษณุโลกและสุโขทัยตกเป็นอาณาจักรอยุธยาโดยสมบูรณ์ตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ แต่การกล่าวถึงสิ่งอัปมงคลหรือที่เรียกว่า “อุบาทว์” นั้น ปรากฏครั้งแรกใน พ.ศ. 2031/2032 ในรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 เมื่อครั้งเสด็จไปเอาเมืองทวาย เมื่อเมืองทวายใกล้แตก ก็เกิดอุบาทว์หลายประการ ซึ่งเป็นเรื่องสัตว์ออกลูกเป็นพหุรยางค์ (polymelia) คือ ลูกวัวแปดขา ลูกเจี๊ยบสี่ขา ไข่สามฟองฟักออกเป็นหกตัว ข้อมูลนี้ทำให้ทราบว่า สังคมอยุธยาถือเอาการเกิดของสัตว์พหุรยางค์เป็นเรื่องอุบาทว์ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องแปลกคือ ข้าวสารงอกเป็นใบ และในปีเดียวกันนี้เอง สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จสวรรคตที่เมืองพิษณุโลก (ดู ตรงใจ หุตางกูร 2561: 74)

           เนื้อหาหลังจากนี้ จึงเริ่มกล่าวอ้างถึงเหตุอุบาทว์ ลางร้าย และแผ่นดินไหว ที่สัมพันธ์กับเหตุร้ายของบ้านเมืองเป็นระยะ คือ จ.ศ. 886 (พ.ศ. 2067) งาช้างต้นแตกร้าว; จ.ศ. 887 (พ.ศ. 2068) น้ำน้อยข้าวตาย แผ่นดินไหว เหตุอุบาทว์หลายประการ; จ.ศ. 888 (พ.ศ. 2069) ข้าวยากหมากแพง ข่าวลือและการสังหารขุนนาง; จ.ศ. 891 (พ.ศ. 2072) มีอินทรธนู กษัตริย์สวรรคต; จ.ศ. 900 (พ.ศ. 2082) เรือรบหลวงพังเสียหายเพราะพายุ ขุนนางกบฏ; จ.ศ. 907 (พ.ศ. 2088) มีเหตุอุบาทว์เลือดติดที่ประตูบ้านเรือนและวัดทุกแห่งทั้งในและนอกเมืองลำพูน; จ.ศ. 908 (พ.ศ. 2089) เพลิงไหม้ใหญ่กรุงศรีอยุธยา กษัตริย์สวรรคต กษัตริย์อ่อนแอได้ราชสมบัติ แผ่นดินไหว; จ.ศ. 909/910 (พ.ศ. 2091) งาช้างต้นหักสามท่อน ช้างต้นร้องเสียงแปลก ประตูไพชยนต์ร้องเป็นอุบาทว์ กษัตริย์ถูกปลงพระชนม์ ทรราชครองราชย์; จ.ศ. 946 (พ.ศ. 2127) ช้างต้นงาลุ่ย แผ่นดินไหว แม่น้ำป่วนสูง หญิงหน้าช้าง ช้างใหญ่ล้มตาย ฝูงตั๊กแตนบังแสง ม้าสองตัวหัวเดียว; จ.ศ. 950 (พ.ศ. 2131) แผ่นดินไหว; จ.ศ. 951 (พ.ศ. 2133) แผ่นดินไหว; จ.ศ. 954 (พ.ศ. 2135) เพดานของช้างต้นไชยานุภาพที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชจะทรงเป็นช้างศึก ตกออกมาขนาดใหญ่ขนาดประมาณห้าองคุลี (= 5 ข้อนิ้ว) ทำพิธีฟันไม้ข่มนาม; จ.ศ. 954 (พ.ศ. 2136) ทรงเห็นพระบรมสารีริกธาตุลอย (= ลางดี) เสด็จออกรบฝ่าฤกษ์หน่อยหนึ่งพระหัตถ์ขวาจึงถูกกระสุนหน่อยหนึ่ง ก่อนกระทำยุทธหัตถีนั้นหมวกของมหาอุปราชตกพื้นจึงเก็บมาสวมใหม่ (= ลางร้ายแก่พม่า ลางดีแก่ไทย) สมเด็จพระนเรศวรมหาราชชนะยุทธหัตถี; จ.ศ. 957 (พ.ศ. 2139) ทำพิธีฟันไม้ข่มนาม; จ.ศ. 961 (พ.ศ. 2142) ทำพิธีฟันไม้ข่มนาม; จ.ศ. 963 (พ.ศ. 2144) สุริยุปราคา; จ.ศ. 966 (พ.ศ. 2148) ทำพิธีฟันไม้ข่มนาม; จ.ศ. 966 (พ.ศ. 2148) พระเสาร์ไปราศีธนูเป็นองศาหนึ่ง.

           จากลักษณะการบันทึกและเรียบเรียงเนื้อหาดังกล่าว เราจึงมิอาจปฏิเสธได้ว่า พื้นฐานวัฒนธรรมไทยนั้น พัฒนามาจากโลกทัศน์แห่งการเชื่อถือโชคลาง เพราะแม้ในปัจจุบันที่สังคมไทยอุดมไปด้วยเทคโนโลยีและความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ที่บางเรื่องน่าอัศจรรย์มากกว่าอำนาจเหนือธรรมชาติ แต่การที่เราสามารถอธิบายที่มาที่ไปของความอัศจรรย์ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเหล่านั้นได้ ก็เป็นการทำลาย “ความศักดิ์สิทธิ์แห่งความไม่รู้” แต่ทว่า “ความเชื่อในอำนาจลึกลับ” ซึ่งมิอาจพิสูจน์ได้ด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ว่ามีอยู่จริงนั้น กลับมี “ความศักดิ์สิทธิ์แห่งความไม่รู้” อย่างไร้ข้อกังขา และทำให้ความศักดิ์สิทธิ์นั้น กลายเป็นเส้นขนานกับการพิสูจน์ข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งปัจจุบันก็ยังคงอยู่ในรูปแบบของ “การเชื่อถือโชคลาง” และ “การทำนายทายทัก”

           ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ มิได้ประสงค์ให้ผู้อ่านเกิดความเชื่อหรือเห็นดีเห็นงามไปกับเรื่องโชคลางต่างๆ เพียงแต่ต้องการนำเสนอแง่มุมด้านความเชื่อถือโชคลางจากเอกสารโบราณอันเป็นตัวแทนการแสดงโลกทัศน์ของสังคมสมัยอยุธยาเท่านั้นว่า สังคมอยุธยาเป็นสังคมที่ยึดถือวิถีแห่งการเชื่อถือโชคลางอย่างแน่นแฟ้น กระทั่งกลายเป็นสิ่งสำคัญมากขนาดที่ต้องบันทึกไว้เป็นส่วนหนึ่งในเอกสารประวัติศาสตร์ของราชอาณาจักร อนึ่ง การที่ผู้คนในปัจจุบันยังคงเชื่อถือโชคลางกันอยู่นั้น หากเป็นไปเพื่อความสบายใจ ไม่เดือดร้อนตนเองและผู้อื่น ก็เชื่อถือกันไปได้ตามอัธยาศัย เพราะถือเป็นความชอบส่วนบุคคล ดุจชอบอะไรไม่ชอบอะไรบังคับกันไม่ได้ แต่หากจะบรรลุถึงความสบายใจขั้นสูงสุดทางปรัชญาพุทธศาสนาแล้ว ก็คงไม่พ้นคำกล่าวที่ว่า “ตนแล เป็นที่พึ่งแห่งตน”


เอกสารอ้างอิง

กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว, 2566ก. “ระบบตรวจวัดแผ่นดินไหวในประเทศไทย”. กรมอุตุนิยมวิทยา. เข้าถึง: 4 กรกฎาคม 2566. url: https://earthquake.tmd.go.th/mi.htm

กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว, 2566ข. “บริเวณศูนย์กลาง: ต.ไผ่ล้อม อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก”. กรมอุตุนิยมวิทยา. เข้าถึง: 4 กรกฎาคม 2566. url: https://earthquake.tmd.go.th/inside-info.html?earthquake=11093

กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว, 2566ค. “บริเวณศูนย์กลาง: ต.เนินกุ่ม อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก”. กรมอุตุนิยมวิทยา. เข้าถึง: 4 กรกฎาคม 2566. url: https://earthquake.tmd.go.th/inside-info.html?earthquake=11116

ตรงใจ หุตางกูร (บรรณาธิการ), 2558. มรดกความทรงจำแห่งเมืองศรีสัชนาลัย-สุโขทัย: ประมวลจารึกสมัยพระยาลิไทย. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).

ตรงใจ หุตางกูร, 2561. การปรับแก้เทียบศักราชและการอธิบายความพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).

มูลนิธิกองทุนรักษ์ช้าง, 2566. เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับฟันของช้าง. เข้าถึง: 6 กรกฎาคม 2566. url: http://www.elephantsfund.org/elephant-facts/เรื่องน่ารู้-เกี่ยวกับฟันของช้าง.html

สันติ ภัยหลบลี้, 2021. “สรุปหน่วยวัดแผ่นดินไหว กับข้อคิดการดับทุกข์.” มิตรเอิร์ธ (Mitrearth). เข้าถึง: 6 กรกฎาคม 2566. url: http://www.mitrearth.org/4-169-measurement-of-earthquake/

สำนักงานราชบัณฑิตสภา, 2566ก. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554. เข้าถึง: 5 กรกฎาคม 2566.
url: https://dictionary.orst.go.th/

สำนักงานราชบัณฑิตสภา, 2566ข. คลังความรู้: องคุลี (27 เมษายน 2554). จาก: บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย” ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2554 เวลา 7.00-7.30 น. เข้าถึง: 6 กรกฎาคม 2566. url: legacy.orst.go.th/?knowledges=องคุลี-๒๗-เมษายน-๒๕๕๔

AmboseliTrust, 2015. Youtube: Elephant tooth development. Retrieved: 6th July 2023.
url: https://www.youtube.com/watch?v=7vwaObde3Nk

Monier-Williams M., 2003. A Sanskrit-English Dictionary: Etymologically and Philologically Arranged with Special Reference to Cognate Indo-European Languages. AES 3rd reprint. New Delhi: Asian Educational Services.

Pali Text Society, 1921-1925. The Pali Text Society's Pali-English dictionary. London: Chipstead.
url: https://dsal.uchicago.edu/dictionaries/pali/

84000.org, 2566ก. “มหาปรินิพพานสูตร.” ใน พระไตรปิฎก เล่มที่ 10 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 2 ทีฆนิกาย มหาวรรค. url:https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=10&A=1888&w=%E1%BC%E8%B9%B4%D4%B9%E4%CB%C7

84000.org, 2566ข. “ภูมิจาลสูตร.” ใน พระไตรปิฎก เล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต. url:https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=23&A=6499&w=%E1%BC%E8%B9%B4%D4%B9%E4%CB%C7

84000.org, 2566ค. “อรรถกถาภูมิจาลสูตร.” ใน อรรถกถา อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต สันธานวรรคที่ 1, 17. ภูมิจาลสูตร. url: https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=23&i=167


1  ตามมาตราริคเตอร์ คือ ตามเกณฑ์การกำหนดตัวเลข (= มาตรา) เพื่อบอก “ขนาด” (magnitude) ของแรงสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นจากปริมาณพลังงานที่แผ่นดินไหวปล่อยออกมาครั้งหนึ่งๆ สำหรับกรณีแผ่นดินไหวขนาด 1.6 กับ 4.5 นั้น แผ่นดินไหวขนาด 1.6 ซึ่งอยู่ในช่วงขนาด 1 - 2.9 เป็นการสั่นไหวเล็กน้อย ผู้คนเริ่มมีความรู้สึกถึงการสั่นไหว บางครั้ง รู้สึกเวียน ศีรษะ และแผ่นดินไหวขนาด ขนาด 4.5 ซึ่งอยู่ในช่วงขนาด 4 - 4.9 เป็นการสั่นไหวปานกลาง ผู้ที่อาศัยอยู่ทั้งภายในอาคาร และนอกอาคาร รู้สึกถึงการ สั่นสะเทือน วัตถุห้อยแขวนแกว่งไกว แต่ถ้าแผ่นดินไหวอยู่ในช่วงขนาด 6-6.9 เป็นการสั่นไหวรุนแรงมาก อาคารเริ่มเสียหาย พังทลาย และถ้าอยู่ในช่วงขนาด 7.0 ขึ้นไป เป็นการสั่นไหวร้ายแรง อาคาร สิ่งก่อสร้างมีความเสียหายอย่างมาก แผ่นดินแยก วัตถุที่อยู่บนพื้นถูกเหวี่ยงกระเด็น (กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว 2566ก: ออนไลน์); ในอดีตนั้น การรายงานขนาดแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว นิยมใส่เลขระดับตามด้วยคำว่า “ตามมาตราริคเตอร์” เช่น “แผ่นดินไหวขนาด 4.5 ตามมาตราริคเตอร์” หรือบางครั้งถูกย่อด้วยความเข้าใจผิดเป็น “ริคเตอร์” แต่ในปัจจุบัน การรายงานขนาดดังกล่าวไม่จำเป็นต้องใส่คำใดๆ ต่อท้าย เพราะ “ขนาด” (magnitude) ในการศึกษาแผ่นดินไหวเป็นการบอกระดับของขนาดที่แสดงด้วยตัวเลข (scale) ไม่ใช่ปริมาณจากการชั่งตวงวัด (ดูคำอธิบายเกี่ยวกับหน่วยวัดแผ่นดินไหวเพิ่มที่ สันติ ภัยหลบลี้ 2021: ออนไลน์).

2  ภูมิจาลสูตร = พระสูตรว่าด้วยแผ่นดินไหว; จาก ภูมิ (= แผ่นดิน) + จาล (= สั่นไหว) + สุตฺต (= พระสูตร).

3  เหตุแห่งการเสด็จไปช่วยรบนี้ เอกสารฝ่ายไทย กับพม่า ให้ไว้ไม่ตรงกัน เอกสารฝ่ายไทยตาม “พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ” ว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราชมีพระประสงค์จะไปช่วยการศึก แต่ตามพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับอื่นๆ (ซึ่งเรียกรวมๆ ว่า ฉบับความพิสดาร) เล่าว่า พระเจ้ากรุงหงสาวดีวางแผนกำจัดสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จึงออกอุบายรับสั่งให้สมเด็จพระนเรศวรมหาราชยกทัพไปช่วยพระองค์รบกับพระเจ้าอังวะ และหากสมเด็จพระนเรศวรมหาราชยกทัพมาตามอุบายที่วางไว้ ก็จะกำจัดเมื่อได้ตัว เสมือนว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราชถูกหักหลัง ในทางกลับกัน เอกสารฝ่ายพม่าเล่าว่า เมื่อครั้งพระเจ้ากรุงหงสาวดีรบกับพระเจ้าอังวะ พระเจ้ากรุงหงสาวดีเกรงว่ากำลังพลจะสู้มิได้ จึงมีรับสั่งให้อยุธยาส่งทัพมาช่วยรบ ทางอยุธยาจึงส่งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชยกทัพขึ้นไปช่วย แต่ขณะที่เคลื่อนทัพอยู่ในเขตแดนอาณาจักรหงสาวดี แต่ยังไม่ถึงกรุงหงสาวดีนั้น พระเจ้ากรุงหงสาวดีเอาชนะพระเจ้าอังวะได้ และทรงประทับอยู่ ณ เมืองอังวะ จึงส่งคนมาบอกทัพอยุธยาที่กำลังเคลื่อนพลอยู่ว่า ทรงมีรับสั่งให้สมเด็จพระนเรศวรมหาราช นำทัพขึ้นไปเข้าเฝ้าพระองค์ที่เมืองอังวะ แต่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับมิปฏิบัติตาม ทรงนำทัพมุ่งหน้าไปยังกรุงหงสาวดีเพื่อปิดล้อมเมือง เมื่อพระเจ้ากรุงหงสาวดีทรงทราบการกระทำของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ก็พิโรธยิ่ง จึงมีรับสั่งให้ทัพหลวงยกทัพลงมาป้องกันกรุงหงสาวดี เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงทราบข่าวการเคลื่อนทัพของพระเจ้ากรุงหงสาวดี จึงมีรับสั่งให้ถอนทัพกลับกรุงศรีอยุธยา แต่นี่คือสาเหตุของความบาดหมางระหว่างอยุธยากับหงสาวดี และถือเป็น “การประกาศเอกราช พ.ศ. 2127” โดยพฤตินัยของกรุงศรีอยุธยา เพราะหลังจากนี้ หงสาวดีส่งกองทัพมาปราบอยุธยาโดยทันทีหลายครั้งคือ (1) “ศึกพระเจ้าสาวถี-พระยาพสิม พ.ศ. 2128” (2) “ศึกพระเจ้าสาวถี พ.ศ. 2129” และ (3) “ศึกพระเจ้าหงสาวดี พ.ศ. 2129” แต่ก็พ่ายแพ้แก่อยุธยาทุกครั้ง (ดู ตรงใจ หุตางกูร 2561: 149-157).

4  “เพดาน” โดยศัพท์แปลว่า ส่วนบนสุด ส่วนปกคลุม (จาก สันสกฤต-บาลี: วิตาน) ดังนั้น “เพดาน” ในบริบทฟันช้างจึงหมายถึง ฟันกรามแท้ชุดบนของช้าง ทั้งนี้ ช้างมีฟันกรามแท้ผลัดเปลี่ยน 6 ชุดในช่วงอายุขัย 60 ปี เหตุการณ์นี้จึงเป็นการที่ช้างต้นไชยนุภาพผลัดฟันกรามเป็นชุดใหม่ ฟันกรามเดิมจึงถูกดันให้หลุดออกมา (ดูคำอธิบายเกี่ยวกับลักษณะและพัฒนาการของฟันช้างได้ที่ มูลนิธิกองทุนรักษ์ช้าง 2566; AmboseliTrust 2015) ซึ่งมีขนาดยาว 5 องคุลี หรือ ประมาณ 15 ซม. (เทียบ 1 องคุลี ยาวประมาณ 3 ซม.) (ดูคำอธิบายเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของหน่วยวัดความยาว “องคุลี” ได้ที่ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา 2566ข: องคุลี).


ผู้เขียน
ดร.ตรงใจ หุตางกูร
นักวิจัยด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ แผ่นดินไหว เหตุมงคลในอุดมคติ ลางร้าย ผู้ไร้แผ่นดิน ดร.ตรงใจ หุตางกูร

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share