FERAL ECOLOGY: นิเวศวิทยาหวนเถื่อน

 |  พืช สัตว์ สิ่งของที่มากกว่ามนุษย์
ผู้เข้าชม : 2098

FERAL ECOLOGY: นิเวศวิทยาหวนเถื่อน

“อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ในลำธารเล็ก ๆ กลางเขาในหมู่บ้านชุมชนกะเหรี่ยงมีปลาชะโดอาศัยอยู่?”

           ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ผู้เขียนติดตามการทำงานของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรไปยังชุมชนพุเม้ยง์ ชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโพล่ง จังหวัดอุทัยธานี โดยพื้นที่จัดกิจกรรมเป็นลานว่างริมลำห้วยของชุมชน ระหว่างที่ผู้เขียนกำลังเดินสำรวจฝายที่ชุมชนสร้างขึ้นเพื่อกักเก็บน้ำ ผู้เขียนพบกลุ่มเด็กชายที่กำลังเล่นน้ำบริเวณท้ายฝาย ด้วยความสงสัย ผู้เขียนจึงเข้าไปสอบถามทำไมเด็กกลุ่มนี้ถึงไม่ลงไปเล่นน้ำในฝายซึ่งไม่ได้ลึกขนาดที่เด็กกลุ่มนี้จะจมน้ำได้ โดยเด็กกลุ่มนี้ให้เหตุผลว่า กลุ่มตนเองและเพื่อนคนอื่น ๆ ถูกผู้ปกครองและผู้ใหญ่ในชุมชนห้ามลงเล่นน้ำในพื้นที่ฝายดังกล่าว โดยตอนแรกผู้เขียนเข้าใจว่าด้วยเหตุผลด้านการอนุรักษ์ที่ไม่อยากให้ไปรบกวนปลาในฝายที่มีปริมาณมาก แต่ทว่าผู้สูงอายุในชุมชนที่อยู่บริเวณนั้นได้ยินเข้าจึงเข้ามาช่วยตอบคำถามถึงสาเหตุที่ห้ามไม่ให้เด็กลงเล่นน้ำ เนื่องจากกลัวว่าปลาชะโดที่อยู่ในฝายจะทำร้ายเด็ก

           คำตอบที่ได้รับนี้ทำให้ผู้เขียนสงสัยที่มาที่ไปของปลาชะโด เนื่องจากปลาชะโดเป็นปลาที่อยู่อาศัยในแหล่งน้ำนิ่ง ไม่น่ามาอยู่ในระบบนิเวศแบบลำธารที่มีน้ำไหลตลอดเวลาได้ และเมื่อสอบถามสมาชิกคนอื่น ๆ ยิ่งชัดเจนว่า ปลาชะโดตัวนี้ไม่ได้ถูกนำเข้ามาโดยสมาชิกชุมชน แต่ “เข้ามาเองตามธรรมชาติ” โดยที่กิจกรรมและโครงสร้างพื้นฐานของมนุษย์ อยู่เบื้องหลังการเอื้อให้ปลาชะโดเข้ามาอยู่อาศัยในฝายของชุมชน โดยเฉพาะการสร้างฝายและอ่างเก็บน้ำ ข้อสงสัยนี้นำผู้เขียนไปสู่แนวคิด Feral ecology ที่ศึกษาปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นนอกเหนือจากการควบคุมหรือความตั้งใจของมนุษย์ ณ ที่นี้ ที่กระทำการโดยปลาชะโดจากการสร้างฝายซึ่งเป็นกิจกรรมของมนุษย์ และส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างคน สัตว์ โครงสร้าง และระบบนิเวศ ของชุมชนพุเม้ยง์


Feral Ecology: นิเวศวิทยาหวนเถื่อน

           Feral ecology หรือ นิเวศวิทยาหวนเถื่อน คำว่า feral มีที่มาจากคำว่า ferus ในภาษาละติน ที่แปลว่า wild ในภาษาอังกฤษ ที่พยายามสื่อถึงลักษณะของสิ่งมีชีวิตที่เจริญเติบโตหรือมีชีวิตอยู่ตามธรรมชาติ ที่ปราศจากการควบคุมหรือครอบงำโดยมนุษย์ คำนี้มีความหมายเฉพาะในทางนิเวศวิทยา ในการใช้อธิบายสิ่งมีชีวิตที่เคยถูกนำมาเลี้ยงโดยมนุษย์ หลุดพ้นจากการควบคุมของมนุษย์ไปสู่ธรรมชาติ คำว่า Feral ในทางนิเวศวิทยานิยมใช้เรียกสัตว์ต่างถิ่นที่ถูกนำเข้าไปยังระบบนิเวศแห่งใหม่โดยมนุษย์ เช่น Feral swine หรือหมูป่ายุโรปที่ถูกนำเข้ามาในแคนาดาช่วง ค.ศ. 1980–1990 เพื่อขยายอุตสาหกรรมปศุสัตว์ หมูป่าถูกเลี้ยงแบบปล่อย (Free-ranging) และบางส่วนหลุดจากฟาร์มและเพิ่มจำนวนตามธรรมชาติ การเพิ่มจำนวนของหมูป่าตามธรรมชาติในแคนาดากำลังสร้างปัญหาให้กับภาคเกษตรกรรมและระบบนิเวศในแคนาดา รวมถึงความกังวลเรื่องการแพร่ระบาดของโรคในสัตว์ เช่น แบคทีเรียบลูเซลโลซิส (Brucella), ASF หรืออหิวาห์แอฟริกาในหมู (African swine fewer) (Global News, 12 March 2022) Feral catแมวที่ใช้ชีวิตตามสัญชาตญาณโดยปราศจากการควบคุมของมนุษย์ การนำแมวมาเลี้ยงในออสเตรเลียและหลุดไปสู่ธรรมชาติ ส่งผลให้ประชากรสัตว์พื้นเมืองในออสเตรเลียลดลงเนื่องจากพฤติกรรมของแมวที่ล่าสัตว์มากมายหลายชนิด ตั้งแต่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก นก ไปจนถึงสัตว์เลื้อยคลาน จนทำให้สัตว์พื้นเมืองหลายชนิดใกล้สูญพันธุ์และถูกประกาศเป็นสัตว์อนุรักษ์ (Dickman, 1966)

           MAAN BARUA พูดถึงปัญหาของคำว่า ferality ในทางนิเวศวิทยา ที่มีความหมายครอบคลุมเฉพาะสิ่งมีชีวิตที่หลุดจากการควบคุมของมนุษย์เท่านั้น ferality ในที่นี้ จึงแสดงให้เห็นอำนาจของมนุษย์ที่ครอบงำสิ่งมีชีวิตอื่น และสร้างเส้นแบ่งการคัดเลือกโดยมนุษย์ (artificial selection) เพื่อที่จะก้าวข้ามข้อจำกัดนี้จึงเสนอว่า ferality ควรถูกใช้ในการศึกษาสิ่งมีชีวิตอื่นอย่างเท่าเทียมกันที่ไม่ถูกจำกัดไว้เฉพาะสัตว์เลี้ยง (domestic) หรือสัตว์ที่อยู่ในธรรมชาติ (wild) เพียงสายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่งเป็นพิเศษ ในงานของ Barua (2022) นำแนวคิด feral ecology ไปใช้ในการศึกษามานุษยวิทยาเมือง (urban anthropology) โดยศึกษาปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนหลากหลายกลุ่มผ่านนกหงษ์หยกอินเดีย (Parakeet) ที่ถูกนำเข้ามายังลอนดอนผ่านอุตสาหกรรมการค้าสัตว์เลี้ยงและหลุดสู่ธรรมชาติและเพิ่มจำนวนมากขึ้น นกหงษ์หยกเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับระบบนิเวศของลอนดอนหลากหลายรูปแบบทั้งกับมนุษย์ เช่น คนให้อาหารนกหงษ์หยกตามสวนสาธารณะและในสวนหลังบ้าน นักปักษีวิทยาที่กังวลว่านกหงส์หยกจะช่วงชิงแหล่งอาหารของนกพื้นเมือง และสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ที่ปรับตัวเข้าหานกหงษ์หยก เช่น กระรอกเทาที่เป็นสัตว์ต่างถิ่นที่ถูกนำเข้ามาก่อนหน้านกหงษ์หยกเป็นเวลานาน นกพิราบที่เข้ามาขอส่วนแบ่งอาหารจากกิจกรรมให้อาหารนกในสวนสาธารณะ เหยี่ยวเพเรกรินที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเข้ามาทำรังอาศัยอยู่ในเมืองเพื่อล่านกหงษ์หยกมากขึ้น การศึกษานกหงษ์หยกแสดงให้เห็นถึงสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่ได้เข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับองค์ประกอบทางนิเวศอื่น ๆ ในฐานะกระบวนการประกอบร่วมกัน (Recombinant) ของระบบนิเวศเมืองในลอนดอน (Barua, 2022)

           สภาวะของการหวนเถื่อน นำมาสู่การทบทวนการศึกษาการประกอบสร้างโลกของสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ โดยเฉพาะในยุคสมัยแห่งมนุษย์หรือแอนโทรโพซีน (Anthropocene) ที่ไม่ได้มีแค่มนุษย์เท่านั้นที่เป็นผู้เปลี่ยนแปลงโลกทั้งทางตรงและทางอ้อม สิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ (non-human) รูปแบบต่าง ๆ ได้เข้ามามีส่วนในการเปลี่ยนแปลงโลกในปัจจุบันด้วย ในปัจจุบันที่กิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์สร้างการเปลี่ยนแปลงทางระบบนิเวศจนถูกเรียกว่ายุคสมัยแห่งมนุษย์หรือแอนโทรโพซีน (Anthropocene) Tsing และคนอื่นๆ (2020) ระบุว่า feral หรือการ “หวนเถื่อน” เป็นผลมาจากกระบวนการสร้างระบบนิเวศร่วมกันระหว่างมนุษย์และสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ (non-human) ในยุคแอนโทรโพรซีน สิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ได้เข้ามาพัวพันกับโครงสร้างพื้นฐานหรือกิจกรรมที่มนุษย์ได้สร้างหรือกระทำขึ้น และก่อให้เกิดสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุมหรือคาดหมายของมนุษย์ในรูปแบบต่างๆ Feral ecology จึงเป็น ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมของมนุษย์ ที่กระทำโดยสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์นอกเหนือการควบคุมของมนุษย์ ชีวิตของมนุษย์จึงไม่สามารถดำรงอยู่ได้หากปราศจากผลของ feral มนุษยชาติยังคงต้องพึ่งพาการปราศจากการควบคุมของมนุษย์ในลักษณะเช่นนี้อยู่ เช่น การขยายตัวของป่า การเก็บของป่าล่าสัตว์ การทำประมงธรรมชาติ ที่มนุษย์ไม่ได้เป็นผู้ควบคุมกิจกรรมการสืบพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตอื่น แต่ในขณะเดียวกัน feral ก็สามารถหวนกลับมาทำร้ายมนุษย์ได้ ดังเช่น การระบาด ASF ในหมู หรือโควิด-19 ในคน เป็นต้น ดังนั้น feral จึงสามารถเป็นได้ทั้งผลดีและผลเสียต่อมนุษย์

           การศึกษาพลวัตของการหวนเถื่อน (Feral dynamic) จึงมีความสำคัญในการศึกษากระบวนการสร้างความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ ๆ ของสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ในระบบนิเวศแห่งใหม่ที่สิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์นั้นเข้าไปอยู่อาศัยและกระทำการโดยปราศจากการครอบงำของมนุษย์ เพื่อที่จะแสดงให้เห็นว่า ภูมิทัศน์ที่มนุษย์สร้างขึ้นไม่ได้เกิดขึ้นจากมนุษย์เพียงอย่างเดียว แต่ภูมิทัศน์ดังกล่าวเป็นผลมาจากการปรับตัวและความเป็นผู้กระทำของสิ่งอื่นที่ไม่ใช่มนุษย์ที่มีต่อกิจกรรมที่มนุษย์กระทำ

           เพื่อให้เห็นภาพความเป็นผู้กระทำของสิ่งอื่นที่ไม่ใช่มนุษย์ ที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตมนุษย์ รวมถึงเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันและมนุษย์กับสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ ผู้เขียนจึงขอยกประสบการณ์จากการเก็บข้อมูลภาคสนามเมื่อปี 2565 ที่จังหวัดอุทัยธานี เกี่ยวกับการเข้ามาของปลาชะโดในแหล่งน้ำของชุมชน


ปลาชะโด กับการจัดการน้ำของมนุษย์

           ปลาชะโด (Channa micropeltes) เป็นปลาพื้นถิ่นดั้งเดิมของไทยที่พบได้ตามที่ราบลุ่มแม่น้ำ นิยมอยู่อาศัยในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ กินสิ่งมีชีวิตอื่นในแหล่งน้ำ เป็นปลาที่มีอุปนิสัยก้าวร้าว และหวงถิ่น โดยเฉพาะในช่วงฤดูผสมพันธุ์ ในประเทศไทยมีรายงานข่าวคนถูกปลาชะโดกัดขณะทำประมงหรือเล่นน้ำอยู่เป็นระยะ ความดุร้ายและพฤติกรรมการดูแลลูกในช่วงอายุน้อย ทำให้ปลาชะโดเป็นหนึ่งในสายพันธุ์ที่มีอัตราการรอดชีวิตในธรรมชาติสูง ในต่างประเทศมีการนำเข้าปลาชะโดเพื่อเป็นปลาสวยงามและเกมกีฬาตกปลา เมื่อหลุดสู่ธรรมชาติ ทำให้ปลาชะโดกลายเป็นสัตว์ต่างถิ่นรุกรานที่ส่งผลกระทบต่อปลาน้ำจืดและระบบนิเวศในหลายประเทศ (นณณ์ ผาณิตวงศ์, 2565,หน้า 760) ลูกปลาชะโดจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่มโดยมีพ่อแม่ดูแล เมื่อโตขึ้นจะแยกตัวออกจากฝูงและอพยพย้ายถิ่นไปยังแหล่งน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ การอพยพย้ายถิ่นมีเฉพาะในช่วงที่มีขนาดเล็ก เนื่องจากขนาดตัวที่ใหญ่ส่งผลให้การอพยพย้ายถิ่นนอกเหนือจากมีฤดูน้ำท่วมทุ่งเป็นไปได้ยาก ทำให้ปลาชะโดนิยมอยู่อาศัยในแหล่งน้ำนิ่งขนาดใหญ่ตลอดปี

           การพัฒนาระบบชลประทานของรัฐไทยเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในภาคเกษตรกรรมและแก้ปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งผ่านโครงการสร้างอ่างกับเก็บน้ำและเขื่อนทั่วประเทศ การเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศจากเดิมที่มีลักษณะเป็นแหล่งน้ำที่มีน้ำท่วมตามฤดูกาล ทำให้ปลาชะโดเริ่มถูกมองว่าเป็นปัญหาการลดลงของสัตว์น้ำพื้นถิ่น นณณ์ ผาณิตวงศ์ ระบุว่า การสร้างอ่างเก็บน้ำและเขื่อนเอื้อต่อการอยู่อาศัยและพฤติกรรมการหาอาหารของปลาชะโด การสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ ขุดบ่อน้ำนิ่งขนาดลึก ทำให้แหล่งซ่อนตัวของปลาสายพันธุ์อื่นลดลง เปิดทางให้ปลาชะโดหาอาหารได้ง่ายขึ้น ปลาพื้นถิ่นไทยหลายชนิดอาศัยช่วงฤดูน้ำท่วมในการผสมพันธุ์และอพยพย้ายถิ่น พืชน้ำ หรือพืชชายน้ำที่จมน้ำในช่วงฤดูน้ำท่วมเป็นแหล่งอาหารและที่หลบภัยให้กับปลาขนาดเล็ก แต่เมื่อมีการสร้างเขื่อนกีดขวางทางน้ำธรรมชาติ และการควบคุมการไหลของน้ำในธรรมชาติ ทำให้ทุ่งน้ำท่วมมีจำนวนลดลง ส่งผลให้ปลาพื้นถิ่นหลายชนิดไม่สามารถอพยพหรือวางไข่ตามฤดูกาลได้ ในขณะที่ปลาชะโดเป็นปลากินเนื้อที่สามารถสืบพันธุ์ในแหล่งน้ำนิ่งได้ดี จึงทำให้ปลาชะโดเพิ่มจำนวนขึ้นสวนทางกับปลาชนิดอื่นที่ลดจำนวนลง นอกจากนี้ส่วนหนึ่งของปัญหาการเพิ่มจำนวนปลาชะโดมาจากการขาดแคลนผู้ล่าตามธรรมชาติ

“…ในสภาพที่เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่เปิดโล่ง ปลาชะโดแทบจะไม่มีสัตว์ผู้ล่าใด ๆ มาควบคุมประชากรเลย และสภาพน้ำนิ่งก็ทำให้ปลาชะโด ซึ่งสามารถหายใจอากาศโดยตรงได้ ได้เปรียบปลาในกลุ่มอื่น ๆ มาก ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มีปลาชะโดมากไปตามอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ” (นณณ์ ผานิตวงศ์, 2555)

           นอกจากประเด็นด้านคุณสมบัติของปลาชะโดแล้ว การปล่อยปลาเพื่อความเชื่อทางศาสนาและการปล่อยปลาเพื่อวัตถุประสงค์การอนุรักษ์ในอ่างเก็บน้ำและเขื่อน จึงเป็นเสมือนการเพิ่มอาหารให้กับปลาชะโดมากกว่าการอนุรักษ์และขยายพันธุ์สัตว์น้ำเนื่องจากมองข้ามปัญหาความเหมาะสมของระบบนิเวศในอ่างเก็บน้ำที่ไม่เอื้อต่อการอยู่อาศัยและขยายพันธุ์ของปลาชนิดอื่น

           ในกรณีของชุมชนพุเม้ยง์ ผู้เขียนสันนิษฐานว่าปลาชะโดที่เข้ามาอาศัยอยู่ในฝาย อพยพมาจากอ่างเก็บน้ำห้วยขุนแก้ว ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากชุมชนและเป็นปลายทางการไหลของน้ำในลำธารที่ไหลผ่านชุมชน จากการสำรวจพื้นที่ชุมชนเบื้องต้น ผู้เขียนพบว่า นอกจากอ่างเก็บน้ำแล้ว ฝายและสะพานข้ามลำห้วยมีส่วนสนับสนุนให้เกิดการอพยพของปลาชะโดเข้ามายังลำห้วยกลางหุบเขาในพื้นที่ชุมชน

ภาพที่ 1 แผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ แสดงตำแหน่งอ่างเก็บน้ำห้วยขุนแก้วที่มีการอยู่อาศัยของปลาชะโด และลำห้วยพุเม้ยง์ตั้งแต่อ่างเก็บน้ำจนถึงจุดที่พบปลาชะโด

           จากภาพ ระยะทางจากจุดที่พบปลาชะโด ไปจนถึงอ่างเก็บน้ำซึ่งเป็นแหล่งที่เหมาะสมกับการอยู่อาศัยของปลาชะโด มีระยะทางประมาณ 7-8 กิโลเมตร (อิงจาก Google map) ลักษณะของลำห้วยพุเม้ยง์เป็นลำธารตื้นที่มีน้ำไหลตลอดทั้งปี มีน้ำป่าในช่วงฤดูฝนและช่วงที่ฝนตกหนักติดต่อกันในห้วยขาแข้งซึ่งเป็นต้นน้ำของลำธารพุเม้ยง์ สภาพแวดล้อมของลำธารพุเม้ยง์ที่มีความสูงจากระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยขุนแก้ว ทำให้การอพยพทวนกระแสน้ำของปลาชะโดในอดีตเป็นไปได้ยาก องค์ความรู้เรื่องปลาชะโดและปลาชนิดอื่นนอกเหนือจากสายพันธุ์ที่พบในลำธารของชุมชนในปัจจุบัน เป็นผลจากการเข้าไปใช้ประโยชน์ในอ่างเก็บน้ำนอกชุมชนเพื่อหาปลาเลี้ยงชีพ ที่สมาชิกชุมชนได้รับอนุญาตให้ทำประมงในอ่างเก็บน้ำห้วยขุนแก้ว ซึ่งสภาพกายภาพและสายพันธุ์สัตว์น้ำของอ่างเก็บน้ำมีความแตกต่างจากลำธารของชุมชน

           การเดินสำรวจสภาพแวดล้อมริมลำห้วยในชุมชน พบว่า นอกเหนือจากบริเวณฝาย (ตอนปลายของเส้นสีฟ้าฝั่งซ้ายในภาพ) แล้ว ชุมชนพุเม้ยง์ยังมีการสร้างฝายบริเวณตลาดกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็นที่มีขนาดเล็กกว่าฝายที่พบปลาชะโด อีกทั้งตลอดเส้นทางจากอ่างเก็บน้ำมายังบริเวณที่พบปลาชะโด มีการทำสะพานข้ามลำธารทั้งหมด 6 จุดด้วยกัน ลำธารบริเวณที่มีการสร้างฝายและตอม่อใต้สะพานข้ามลำห้วย มีลักษณะเป็นแหล่งน้ำนิ่ง ฝายและต่อม่อเปลี่ยนแปลงรูปแบบการไหลของน้ำในลำธาร จากเดิมที่น้ำไหลต่อเนื่องและมีความตื้นใกล้เคียงกันทั้งลำธาร โครงสร้างของมนุษย์ได้เข้าไปขวางทางน้ำเดิมและทำให้น้ำไหลได้ช้าลง เกิดการสะสมของตะกอน เศษกิ่งไม้ใบไม้ทั้งขนาดเล็กละขนาดใหญ่บริเวณลำธารส่วนที่อยู่เหนือสิ่งกีดขวาง และส่วนที่อยู่ใต้สิ่งกีดขวางกลายเป็นเวิ้งน้ำนิ่งขนาดใหญ่ ปลาชะโดขนาดเล็กที่อพยพออกจากอ่างเก็บน้ำเพื่อหาแหล่งอาหารใหม่ เดินทางทวนกระแสน้ำเพื่อหาสัตว์น้ำขนาดเล็กที่อยู่อาศัยตามแหล่งน้ำไหล เช่น ปลาซิวหนวดยาว ปลาสร้อยลูกกล้วย กุ้ง ปู และแมลงน้ำในลำธาร แหล่งน้ำนิ่งที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศที่เกิดจากมนุษย์ได้สร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมให้ปลาชะโดอพยพมาอยู่อาศัย และว่ายทวนกระแสน้ำไปเรื่อย ๆ จนถึงบริเวณฝายในชุมชน ซึ่งเป็นแอ่งน้ำนิ่งขนาดใหญ่ที่สุดในลำธาร

           การมาถึงของปลาชะโดและฝายเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับลำธาร จากเดิมที่ลำธารและฝายเป็นดั่งสนามเด็กเล่นของเด็กในชุมชน ก็ถูกห้ามโดยผู้ใหญ่ในชุมชน ในขณะเดียวกันบรรดาผู้ใหญ่ในชุมชนก็พูดคุยหารือกันว่าจะทำอย่างไรกับปลาชะโด เพราะแม้จะทราบดีว่าปลาชะโดเป็นอันตรายต่อคนที่ใช้ประโยชน์จากลำธาร แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่อนุรักษ์ด้วย อีกทั้งการจับปลาชะโดเป็นไปได้ยาก เนื่องจากในฝายเต็มไปด้วยเศษกิ่งไม้ใบไม้ที่ลอยมากับน้ำและมากองอยู่บริเวณฝาย การตกตะกอนของเศษดินและหินจากกระแสน้ำที่ไหลช้าลง ทำให้เศษซากไม้ถูกฝังอยู่กลางกองหินและตะกอนใต้น้ำ ซึ่งยากต่อการทำฝายให้โล่งเตียนก่อนที่จะจับปลาชะโดตัวดังกล่าว

           อย่างไรก็ตาม ความกังวลเรื่องปลาชะโดเกิดขึ้นเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ เท่านั้น ในเดือนมีนาคมปีเดียวกัน เนื่องจากฝนตกต่อเนื่องเป็นเวลาหลายวันในผืนป่าห้วยขาแข้ง เกิดน้ำป่าไหลหลากในลำธารพุเม้ยง์ น้ำป่าได้ทำลายฝายทั้งหมดในชุมชน ทั้งฝายและปลาชะโดก็หายไปจากชุมชนพุเม้ยง์ พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยในลำธาร เช่น ทิศทางน้ำที่เปลี่ยนไปเล็กน้อยบริเวณฝาย เนินตะกอนดินและหินที่เกิดขึ้นใหม่รอบ ๆ ฝายจากการเปลี่ยแปลงการไหลของน้ำ ซากต้นไม้กิ่งไม้ชุดใหม่ที่ทับถมแทนที่กองเดิมที่ไปกระจุกรวมกันบริเวณสะพานซึ่งมีโครงสร้างแข็งแรงกว่าจึงรอดพ้นจากการถูกทำลายโดยน้ำป่าแทน การหายไปของปลาชะโดจึงเกิดขึ้นพร้อมกับการพังทลายลงของฝายในช่วงน้ำหลาก แม้ว่าปลาชะโดจะเข้ามาในชุมชนแค่ช่วงเวลาสั้น ๆ เท่านั้น แต่ก็แสดงให้เห็นว่า การหวนเถื่อนของปลาชะโดเข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับคนพุเม้ยง์ ปลาพื้นถิ่น ระบบนิเวศในแหล่งน้ำ และโครงสร้างฝายที่มนุษย์สร้างเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศ และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบต่าง ๆ


บทสรุป

           Feral Ecology หรือนิเวศวิทยาหวนเถื่อน แสดงให้เห็นบทบาทของสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ที่กระทำสิ่งต่าง ๆ โดยปราศจากการควบคุมของมนุษย์ มนุษย์ไม่ได้เป็นผู้เดียวที่มีบทบาทในการปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ สิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ (non-human) ได้เข้ามามีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวด้วย สิ่งมีชีวิตทุกชนิดนอกจากมนุษย์แล้วมีสภาวะของการเป็นผู้กระทำการในตัวเอง สภาวะการหลุดพ้นจากการควบคุมของมนุษย์ (feral) ของสัตว์ที่ถูกมนุษย์นำมาเลี้ยงเพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ โดยเฉพาะสัตว์ต่างถิ่นที่ถูกเคลื่อนย้ายจากระบบนิเวศเดิมไปสู่อีกระบบนิเวศใหม่ จากการเคลื่อนย้ายคนและสัตว์ทั่วโลกทั้งในอดีตและปัจจุบัน สิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิดที่ถูกนำเข้าไปยังระบบนิเวศใหม่ เมื่อหลุดสู่ธรรมชาติ ได้เพิ่มจำนวนมากขึ้นและเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ภายในระบบนิเวศใหม่ สิ่งมีชีวิตบางสายพันธุ์สร้างปัญหาและผลกระทบทางนิเวศ หรือที่รู้จักกันในนาม สายพันธุ์รุกราน (Invasive species) ที่พบได้ทั้งในพืช (floral) และสัตว์ (fauna) การเข้าไปอยู่ในระบบนิเวศแบบใหม่ สร้างความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งต่าง ๆ ภายในระบบนิเวศขึ้นใหม่ และส่งผลโดยตรงต่อเศรษฐกิจ สังคม และความเป็นอยู่ของชีวิตมนุษย์

ภาพที่ 2 ตัวอย่างแผนผังที่แสดงให้เห็นถึงการทับซ้อนกันระหว่างปัญหา (สีส้ม) และประโยชน์ (สีแดง) ที่มนุษย์ได้รับจากสัตว์ต่างถิ่น ที่มา: Kourantidou, Melina, et al. (2022)

           การสร้างฝายของชุมชนและอ่างเก็บน้ำของรัฐส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับระบบนิเวศ และในขณะเดียวกันปลาชะโดก็มีบทบาทในการกำหนดรูปแบบความสัมพันธ์ดังกล่าวด้วยเช่นเดียวกัน ความสัมพันธ์ระหว่างคน ปลา และฝายในชุมชนพุเม้ยง์มีความซับซ้อน ที่ชุมชนพุเม้ยง์มองว่าปลาชะโดเป็นทั้งภัยคุกคามและประโยชน์ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน ดังเช่นในภาพด้านบน การพิจารณาเรื่องคุณประโยชน์และโทษของสัตว์ต่างถิ่น ตลอดจนความสัมพันธ์กับมนุษย์ที่สิ่งมีชีวิตต่างถิ่นสามารถถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามพร้อมกับถูกมองว่าเป็นประโยชน์ในเวลาเดียวกันได้เมื่อมองจากหลายมุมมอง


อ้างอิง

Anna L. Tsing, Jennifer Deger, Alder Keleman Saxena, & Feifei Zhou. (2020). FERAL ATLAS. Stanford University Press. from https://feralatlas.org/.

Barua, M. (2022). Feral ecologies: the making of postcolonial nature in London. Journal of the Royal Anthropological Institute, 28(3), 896-919.

Dickman, C. R. (1996). Overview of the impacts of feral cats on Australian native fauna (pp. 1-92). Canberra: Australian Nature Conservation Agency.

Kourantidou, M., Haubrock, P. J., Cuthbert, R. N., Bodey, T. W., Lenzner, B., Gozlan, R. E., ... & Courchamp, F. (2022). Invasive alien species as simultaneous benefits and burdens: trends, stakeholder perceptions and management. Biological Invasions, 24(7), 1905-1926

นณณ์ ผาณิตวงศ์. (15 ตุลาคม 2555). จดหมายเหตุ: กรณีปลาชะโดล้นเขื่อน 55. MGR Online. https://mgronline.com/science/detail/9550000126385

นณณ์ ผาณิตวงศ์. (2565). ปลาน้ำจืดไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพ: สยามเอ็นสิส เพรส.

Global News. (2022, March 12). Feral Swine Bomb: How wild pigs are threatening Canada’s ecosystems and economy. [video].Youtube. https://www.youtube.com/watch?v=DLqLVX1dnAE


ผู้เขียน

ธนพล เลิศเกียรติดำรง
นักวิจัยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร


 

ป้ายกำกับ FERAL ECOLOGY นิเวศวิทยาหวนเถื่อน ธนพล เลิศเกียรติดำรงค์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share