สำนวนภาษาจากยาหม้อใหญ่ EP05 ตอน เลือดร้อน

 |  โบราณคดี และประวัติศาสตร์
ผู้เข้าชม : 1526

สำนวนภาษาจากยาหม้อใหญ่ EP05 ตอน เลือดร้อน

           “ไม่สนกฎหมาย วัยรุ่นเลือดร้อน ยกพวกเปิดศึกปาระเบิดใส่กันกลางถนน ชาวบ้านผวา” (ไทยรัฐออนไลน์ 23 ตุลาคม 2565)

           “เซียนไก่ชนเลือดร้อนชักปืนรัวยิงเด็ดชีพเพื่อนรักกลางสังเวียนไก่ชน โมโหต่อรองราคาไก่ชนหักหน้า” (ไทยรัฐออนไลน์ 29 พฤศจิกายน 2565)

           “วัยรุ่นเลือดร้อนมองหน้าไม่พอใจ แทงกันดับ 1 ศพกลางตลาดนกฮูก” (เดลินิวส์ออนไลน์ 5 มกราคม 2566)

           “ไรเดอร์เลือดร้อนเจอหนุ่มโรงเหล็กโจทก์เก่า คว้าปืนไทยประดิษฐ์ซัลโวดิ้นกลางถนน” (เดลินิวส์ออนไลน์ 2 กันยายน 2565)

           “ตำรวจยิงสกัดคุณแม่เลือดร้อน คว้าปืนบุกโรงเรียน ช่วยลูกโดนรังแก” (เดลินิวส์ออนไลน์ 31 มีนาคม 2565)

           “หนุ่มเลือดร้อนคว้าปืนลูกโม่จ่อยิงเพื่อนบ้านเจ็บ 3 คน” (สำนักข่าวไทย 22 ธันวาคม 2565)

           “โจ๋เลือดร้อนบุกบ้านสาววัย 18 มอบตัวแล้ว 1 คน” (สำนักข่าวไทย 24 กันยายน 2565)

           “หวิดไม่ถึงวันเด็ก 6 ล้อเลือดร้อนปาดหน้ารถนักเรียนปากุญแจใส่ ลากลุงขับรถลงมาต่อยซ้ำ” (ผู้จัดการออนไลน์ 13 มกราคม 2566)

           “รวบแล้วโจ๋เลือดร้อนโดนแย่งจีบสาว! พาพวกชักปืนจ่อหัว-ลากดาบซามูไรฟันหนุ่ม แม่สายเลือดสาด” (ผู้จัดการออนไลน์ 2 มกราคม 2566)

           จากสำนวนข่าวอาชญากรรมหลายสำนัก ได้ใช้สำนวน “เลือดร้อน” ในการพาดหัวข่าว หรือเขียนข่าวเพื่อแสดงให้เห็นถึงอารมณ์ของบุคคลผู้ก่อเหตุอาชญากรรมสะเทือนขวัญต่าง ๆ ที่มีลักษณะอารมณ์ร้อน ตกอยู่ในความโกรธ โมโห ใจร้อน วู่วามและมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะทำร้ายฝ่ายตรงข้าม ถ้าเป็นสำนวนยุคใหม่ขึ้นมาอีกนิดก็จะใช้คำว่า “หัวร้อน” สำนวนนี้สามารถใช้กับบุคคลได้ทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง วัยรุ่น วัยกลางคน หรือรุ่นดึก เพราะเมื่อค้นความหมายสำนวนเลือดร้อนเท่าที่พบในตอนนี้ มีในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานฉบับปี 2542 ต่อมาพบในพจนานุกรมฉบับมติชนฉบับปี 2547 และพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานฉบับปี 2554 ตามลำดับ จากพจนานุกรมทั้งสามฉบับให้ความหมายของสำนวนเลือดร้อนเพียงสั้นๆ นี้ว่า โกรธง่าย, โมโหง่าย เท่านั้น

           หากเราลองค้นความหมายของคำว่า เลือดร้อน นี้เพิ่มเติมก็จะพบว่า ในคัมภีร์แพทย์แผนไทยที่ชื่อว่า คัมภีร์ชวดาร ได้กล่าวถึงโรคอันเนื่องมาจากเลือดและลม กล่าวว่าในร่างกายมนุษย์มีลมอยู่ 2 ประเภท ได้แก่ ลมที่พัดจากสะดือขึ้นมาจนถึงศีรษะเรียกว่า “อุธังคมาวาต” หรือลมเบื้องบน ลมที่พัดลงไปจนปลายเท้าเรียกว่า “อโธคมาวาต” หรือลมเบื้องล่าง และเมื่อลมทั้งสองชนิดได้พัดปนระคนกันแล้วละก็ จะทำให้ เลือดร้อน ดั่งไฟ เกิดได้วันละร้อยหน อาการทั้ง 32 ก็พิกลพิกาลจากภาคที่อยู่ เตโชธาตุก็ไม่ปกติ แล้วเหตุใดบ้างที่จะทำให้ลมทั้งสองมาปะปนระคนกันได้ ในคัมภีร์ชวดารนั้นบอกว่า “เพราะมนุษย์บริโภคอาหารไม่เสมอตามปกติ” กล่าวคือ กินอิ่มเกินไปบ้าง กินน้อยเกินไปบ้าง กินของดิบของเน่า ของบูด ของหยาบบ้าง กินผิดเวลาบ้าง บางพวกอยากกินเนื้อผู้อื่นบ้าง จึงทำให้ลมพิการจนเกิดโรคต่าง ๆ จากคำอธิบายนี้แสดงให้เห็นว่าอาการ เลือดร้อน นี้เกิดจากลมในร่างกายที่เดินทางผิดปกติมาประสมระคนกัน ทั้งนี้เนื่องมาจากการกินอาหารที่ไม่เป็นปกติ อิ่มเกินไป น้อยเกินไป กินของบูดเน่า กินผิดเวลา เป็นต้น นอกจากนี้ยังอธิบายคำว่า เลือดร้อน ไว้อีกว่าเป็นอาการวูบวาบของสตรีก่อนมีประจำเดือน หรือปรากฏในสตรีวัยก่อนหมดประจำเดือนได้อีกด้วย ซึ่งจะพ้องกับอีกอาการหนึ่งคือ “เลือดจะไป ลมจะมา”

           ในหนังสือสมุดไทยตำรายาโรคลมของวัดท่าพูด จ.นครปฐม รหัสเอกสาร NPT001-008 ได้กล่าวถึงโทษของการกินอาหารมากเกินไปดังนี้

“ยังมีลมจำพวกหนึ่งด้วยพัดมูตรคูถให้พิกลต่าง ๆ ถ้าบริโภคอาหารนั้นมากเกินขนาด ไฟธาตุเผาไม่ทัน ลมนั้นก็จะพัดนำอาหารเข้าไปตามผิวเนื้อหนังจึงเป็นโทษ เพราะอาหารนั้งยังไม่ทันจะละเอียด รสนั้นไม่ซึมซาบเข้าไปได้กำลังจึงถอย ทั้งธาตุไม่เสมอกันจึงเป็นแล”

สมุดไทยเรื่อง ตำรายา รหัสเอกสาร NPT001-008

ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย

           กลับมาที่สำนวน เลือดร้อน ในปัจจุบัน ผู้เขียนสันนิษฐานว่าสำนวนนี้น่าจะมีที่มาจากอาการของโรคชนิดหนึ่งที่เกิดจากความผิดปกติของเลือด และลมที่มีบันทึกอยู่ในคัมภีร์แพทย์แผนไทยที่ชื่อว่า “คัมภีร์ชวดาร” อาการเลือดร้อนนี้ยังหมายถึง อาการวูบวาบของสตรีก่อนมีประจำเดือน หรือปรากฏในสตรีวัยก่อนหมดประจำเดือน ซึ่งอาการแบบนี้เองที่จะทำให้เกิดอาการตามร่างกาย ได้แก่ ร้อนวูบวาบ (ขี้หนาวขี้ร้อน) ท้องอืด ท้องผูก ผิวแห้งและคัน ปวดเมื่อยตามร่างกาย นอนไม่หลับ นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนสภาพทางจิตใจได้อีกด้วย เช่น โมโหง่าย ซึมเศร้า ขี้ลืม ใจน้อย เป็นต้น การเปลี่ยนสภาพทางจิตใจของผู้ที่มีอาการ เลือดร้อน ที่มีลักษณะโมโหง่าย มีอารมณ์ฉุนเฉียว ทำอะไรก็ไม่ถูกใจ (อารมณ์แบบนี้คนที่เป็นมักไม่รู้ตัว คนที่รู้ก็คือคนใกล้ตัว อย่างคุณผู้ชาย หรือคุณสามี) น่าจะเป็นที่มาของความหมายในสำนวน เลือดร้อน ในปัจจุบันนี้นั่นเอง


ผู้เขียน

ดอกรัก พยัคศรี
นักวิชาการคลังข้อมูล
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ เลือดร้อน สำนวนภาษา คัมภีร์แพทย์แผนไทย เอกสารโบราณ ดอกรัก พยัคศรี

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share