การศึกษาระบบขนส่ง: จากภูมิศาสตร์การขนส่งถึงมานุษยวิทยาการขนส่ง

 |  พื้นที่ การอพยพเคลื่อนย้าย และชายแดน
ผู้เข้าชม : 2720

การศึกษาระบบขนส่ง: จากภูมิศาสตร์การขนส่งถึงมานุษยวิทยาการขนส่ง

           การเคลื่อนย้ายศึกษาชี้ให้เห็นนัยสำคัญของการเคลื่อนที่ซึ่งมนุษย์และสิ่งต่าง ๆ มิได้ดำรงอยู่แบบหยุดนิ่งในสังคม โดยเฉพาะในแง่ของประสบการณ์และปฏิบัติการ อย่างไรก็ตาม แม้การเคลื่อนย้ายศึกษาและกระบวนทัศน์การเคลื่อนย้ายเพิ่งจะเริ่มขึ้นเมื่อไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา แต่ก็อาจกล่าวได้ว่าการศึกษาในประเด็นการเคลื่อนย้ายเกิดขึ้นมานานแล้วภายใต้อภิปรัชญาแบบติดที่ หนึ่งในแนวการศึกษาการเคลื่อนย้ายแบบเดิมภายใต้อภิปรัชญาดังกล่าวคือการศึกษาภูมิศาสตร์การขนส่ง (transport geography) ซึ่งภายหลังการศึกษาบางแนวทางกลายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนทัศน์การเคลื่อนย้ายศึกษา และนักมานุษยวิทยาได้เข้ามามีส่วนร่วมในการศึกษาตามแนวทางดังกล่าวด้วย

           ภูมิศาสตร์ขนส่งถูกอธิบายว่าเป็นการศึกษาเชิงพื้นที่ว่าด้วยระบบขนส่ง อันหมายรวมถึงสถานที่ โครงสร้าง สภาพแวดล้อม พัฒนาการของเครือข่าย ตลอดจนการวิเคราะห์และอธิบายปฏิสัมพันธ์ของการเคลื่อนย้ายของทั้งผู้คนและสิ่งของ (Goetz et al. 2003) นอกจากนี้ ขอบข่ายของการศึกษายังขยับขยายไปถึงกฎระเบียบเชิงสถาบัน สิ่งอำนวยความสะดวก การสร้างนโยบายและผลกระทบ การบริหารจัดการระบบต่าง ๆ ตลอดจนบริบทอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เครือข่ายของระบบขนส่งและผลกระทบต่อเครือข่ายเหล่านี้จะเป็นตัวกำหนดภูมิศาสตร์มนุษย์ (human geography)1 ที่กว้างขึ้น (Rodrigue et al. 2009) อย่างไรก็ดี ภาพจำและวิธีคิดของภูมิศาสตร์การขนส่งยังคงติดหล่มในวิธีคิดตามอภิปรัชญาแบบติดที่ ผ่านการใช้แนวการวิเคราะห์แบบศาสตร์เชิงพื้นที่ (spatial science) ซึ่งมองพื้นที่แบบหยุดนิ่ง และอาศัยมุมมองแบบกว้างซึ่งตรึงการเคลื่อนย้ายเอาไว้ในฐานะที่เป็นส่วนประกอบภายในพื้นที่เอง รูปลักษณ์ของภูมิศาสตร์ขนส่งในฐานะส่วนหนึ่งของศาสตร์เชิงพื้นที่นำไปสู่การผลิตสร้างแนวการวิเคราะห์เชิงอรรถประโยชน์ของมนุษย์ผู้เคลื่อนย้ายอย่างมีเหตุผล (rational mobile man) (Shaw & Docherty 2014)

           การศึกษาระบบขนส่งในยุคแรกเริ่มพร่องไปจากการพูดถึงประสบการณ์และปฏิบัติการของการเคลื่อนย้าย (Keeling 2007) ซึ่งเป็นผลมาจากวิธีการศึกษาแบบปฏิฐานนิยม (positivism) และหลักคิดเรื่องการเลือกอย่างมีเหตุผล (rational choice) ทิม เครสเวล (Tim Cresswell) และปีเตอร์ เมอร์ริแมน (Peter Merriman) (2011) อธิบายว่าความตระหนักรู้เกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายในภูมิศาสตร์มนุษย์เริ่มขึ้นอย่างเร็วที่สุดคือช่วงทศวรรษ 1930 เมื่อมุมมองภูมิศาสตร์แบบพลวัต (dynamic geography) กลายเป็นศูนย์กลางความคิดว่าด้วยการเคลื่อนย้ายของผู้คนและสิ่งต่าง ๆ เอ็ดเวิร์ด อัลแมน (Edward Ullman) (1954) วิจารณ์ว่าความคิดทางภูมิศาสตร์ที่ให้ความสำคัญกับพื้นที่และขอบเขตพื้นที่มากเกินไป ทำให้มองไม่เห็นผลกระทบสืบเนื่องที่พื้นที่หนึ่งมีต่อพื้นที่อื่น ๆ การศึกษาระบบขนส่งจึงเริ่มมีความสำคัญต่อการศึกษาภูมิศาสตร์ในฐานะมาตรวัดและสิ่งเชื่อมต่อความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ ทั้งในทางสังคมและเศรษฐกิจ ภายใต้ความคิดเช่นนี้ พัฒนาการของการศึกษาการขนส่งในช่วงทศวรรษ 1960 นับได้ว่ามีความล้ำหน้าและโดดเด่นไม่ต่างไปจากกระบวนทัศน์การเคลื่อนย้ายศึกษาในสังคมศาสตร์ปัจจุบัน (Shaw & Docherty 2014)

           ถึงแม้จะล้ำหน้าและโดดเด่น การศึกษาระบบขนส่งยังคงเป็นแบบปฏิฐานนิยม2 และอาศัยหลักคิดเรื่องการเลือกอย่างมีเหตุผล3 ซึ่งให้ความสำคัญกับความคุ้มค่าในความสัมพันธ์ระหว่างระยะทางกับมิติทางเศรษฐกิจ รวมไปถึงระยะเวลาที่ใช้ในการเดินทาง การศึกษาระบบขนส่งในแง่นี้เป็นไปเพื่อช่วยย่นย่อระยะทางระหว่างที่อยู่อาศัยและโรงงานอุตสาหกรรม นักเศรษฐศาสตร์และวิศวกรมีอิทธิพลอย่างมากต่อการศึกษาระบบขนส่งและการศึกษาเพื่อสร้างนโยบาย จนกระทั่งทศวรรษ 1980 ไมเคิล เอเลียต-เฮิร์สต์ (Michael Eliot-Hurst) (1974) เห็นว่าแนวการศึกษาแบบปฏิฐานนิยมที่ศึกษาระบบขนส่งอย่างเป็นวัตถุวิสัยไม่เพียงพอต่อการศึกษาที่ครบถ้วนรอบด้าน อัตวิสัยของผู้คนเป็นสิ่งจำเป็นในการศึกษาการตัดสินใจ การเมือง และการจัดการของรัฐบาล การศึกษาระบบขนส่งต้องมีความเป็นมนุษยนิยมมากกว่าที่เป็นอยู่ และขยับขยายความสนใจไปที่ผู้คนจริง ๆ อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาหลังจากนั้น การศึกษาภูมิศาสตร์การขนส่งกระแสหลักก็ไม่ได้มีความเปลี่ยนแปลงมากเท่าที่ควร อีกทั้งในภาพรวมยังถดถอยลงจนกลายเป็นชายขอบของวิชาภูมิศาสตร์ไป (Hanson 2003)

           ในฝ่ายมานุษยวิทยาเอง เดิมทีแล้วระบบขนส่งแทบไม่ถูกพิจารณาว่ามีความเกี่ยวข้องกับการศึกษาสังคมวัฒนธรรมของมนุษย์ ทว่าในปัจจุบัน นักมานุษยวิทยาเริ่มหันมาสนใจระบบขนส่งในหลายแง่มุม อาทิ นิเวศวิทยาการเมือง การเมืองเชิงเทคโนโลยี ความยุติธรรมทางสังคม อารมณ์ความรู้สึก ตลอดจนการให้ความหมายต่อสิ่งต่าง ๆ ผ่านการเคลื่อนย้าย พื้นเพอย่างหนึ่งของการกลับมาสนใจสิ่งที่ไม่เคยเป็นที่สนใจเช่นนี้ เกิดขึ้นทั้งบนฐานของกระบวนทัศน์การเคลื่อนย้ายและประสบการณ์การใช้งานระบบขนส่งของนักมานุษยวิทยาเอง (Clarke 2020) ไม่ว่าการศึกษาระบบขนส่งในมานุษยวิทยาจะถูกเรียกว่ามานุษยวิทยาการขนส่ง (transport anthropology) หรือชื่ออื่นอย่างไร หัวใจสำคัญของการทำงานมานุษยวิทยาที่ศึกษาระบบขนส่ง คือปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับวัตถุภาวะ การเมือง และความเป็นระบบของการเคลื่อนย้าย

           ในขณะที่การทำงานมานุษยวิทยาในยุคแรก ๆ มักเป็นการเดินทางไปยังพื้นที่ห่างไกลเพื่อมองหาวัฒนธรรมที่น่าตื่นตาตื่นใจในพื้นที่แยกขาด (isolated) โครงสร้างพื้นฐานและระบบขนส่งที่นักมานุษยวิทยาอาศัยเดินทางไปก็ทำให้พื้นที่และวัฒนธรรมดังกล่าวเปลี่ยนตามไปด้วย แม้มานุษยวิทยาจะเริ่มมีการศึกษาระบบขนส่งมาตั้งแต่ช่วงกลางศตวรรษที่ 20 แต่ในช่วง 2 ทศวรรษให้หลังจากที่ภูมิศาสตร์ขนส่งพยายามมองหาแนวทางแบบมนุษยนิยมมากขึ้นและตกต่ำลงจนกลายเป็นชายขอบไป นักมานุษยวิทยาเริ่มตระหนักว่าการมาถึงของระบบการเคลื่อนย้ายได้ส่งสัญญาณถึงจุดจบของการศึกษาวัฒนธรรมแบบเดิม ๆ การรับรู้ถึงผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจ เกิดขึ้นพร้อมกับการเคลื่อนย้ายข้ามพื้นที่ของผู้คนด้วยระบบขนส่งต่าง ๆ ที่แผ่กว้างมากขึ้นทุกขณะ การศึกษาระบบการเคลื่อนย้ายช่วยตั้งคำถามใหม่ ๆ และท้าทายต่อความเข้าใจเดิม ๆ อัตวิสัยของผู้คนจริง ๆ ที่เอเลียต-เฮิร์สต์เสนอให้นักภูมิศาสตร์ขนส่งทำการศึกษา ถูกรับช่วงต่อโดยนักมานุษยวิทยารุ่นหลัง ๆ โดยเฉพาะภายใต้กระบวนทัศน์การเคลื่อนย้ายใหม่ การจัดเรียงตัวใหม่ของการสร้างความรู้เกี่ยวกับระบบขนส่งและกระแสความสนใจเรื่องการเคลื่อนย้ายนี้ ช่วยให้นักมานุษยวิทยาขยับขยายมุมมองต่อวิถีชีวิตของผู้คน ตลอดจนสังคมและวัฒนธรรมที่ไม่หยุดนิ่งให้กว้างขวางขึ้น (Sadana 2022)

           ตัวอย่างร่วมสมัยที่น่าสนใจ เช่น ดัก บาล์คมาร์ (Dag Balkmar) และอัลฟ์ เมลสตรอม (Ulf Mellstrom) (2020) ให้ข้อเสนอที่น่าสนใจว่า แทนที่จะมองอารมณ์ในฐานะองค์ประกอบทางจิตวิทยา เราควรมองว่าอารมณ์ทำงานเป็นสื่อกลางระหว่างปัจเจกบุคคลและสังคมโดยรวม ในทางหนึ่ง อารมณ์และความรู้สึกจึงมีอิทธิพลต่อการเดินทางและการใช้ระบบขนส่งแบบต่าง ๆ ซึ่งประเด็นดังกล่าวนี้ยังเชื่อมโยงกับหมวดหมู่ของเพศ ชนชั้น และอายุ อันเกิดขึ้นภายใต้การหมุนเวียนอารมณ์ (affective economies)4 ด้วย การพิจารณาความคิดเรื่องมนุษย์ผู้เคลื่อนย้ายอย่างมีเหตุผลอย่างที่เคยเป็นในภูมิศาสตร์การขนส่ง ถูกท้าทายด้วยวิธีคิดแบบอื่นที่พ้นไปจากปริมณฑลของการใช้เหตุผลตายตัวเป็นเกณฑ์กำหนดการกระทำของมนุษย์ ในขณะที่รัศมี ซาดานา (Rashmi Sadana) (2022) ทำงานชาติพันธุ์วรรรณนาว่าด้วยรถไฟฟ้าในเดลีห์เพื่อศึกษากรต่อรองการใช้ชีวิตและการเดินทางผ่านระบบขนส่งในเมืองใหญ่ ทั้งในแง่ของพื้นที่ทางกายภาพและในแง่ของระบบบราชการ เธอพบว่าเมืองและระบบขนส่งไม่ใช่ระบบที่หยุดนิ่ง แต่เปลี่ยนแปลงและขับเคลื่อนผู้คนไปในทิศทางต่าง ๆ อย่างมีพลัง

           ปฏิบัติการทางมานุษยวิทยาท่ามกลางการศึกษาระบบขนส่งเช่นนี้ เรียกร้องให้ผู้ศึกษาพิจารณาความหมายใหม่ ๆ ของสถานที่และสิ่งรอบตัว ไม่ใช่แค่ให้ความสำคัญกับความคุ้มค่าในความสัมพันธ์ระหว่างระยะทางกับมิติทางเศรษฐกิจ และระยะเวลาที่ในการเดินทางอย่างเช่นการศึกษาระบบขนส่งในอดีต ความรู้จากการทำงานมานุษยวิทยาในลักษณะนี้มีส่วนสำคัญต่อการนำไปสู่การใช้ประโยชน์ได้หลายรูปแบบ หากอนาคตของมานุษยวิทยาดำรงอยู่ในประเด็นทางทฤษฎีและวิธีการศึกษาในแนวหน้าของปฏิบัติการสร้างความรู้ (Baba & Hill 2006) ความพรั่งพร้อมของมานุษยวิทยาการขนส่งก็มีส่วนขับเคลื่อนไปสู่อนาคตดังกล่าวด้วย ไม่ว่าจะผ่านการสร้างความรู้ความเข้าใจพื้นฐานไปพร้อมกับการทำงานเชิงแนวคิดทฤษฎี การเปิดโอกาสให้นักมานุษยวิทยาร่วมวิเคราะห์ประเด็นปัญหาร่วมสมัย แสวงหาทางออก ตลอดจนสร้างข้อเสนอและประเมินผลกระทบทางนโยบาย อันมีผลต่อสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ผู้คนในสังคมต้องอาศัยระบขนส่งในการเดินทางในชีวิตประจำวัน

 

รายการอ้างอิง

Baba, M. L. & Hill C. E. 2006. What's in the Name “Applied Anthropology”?: An Encounter with Global Practice. National Association for the Practice of Anthropology Bulletin 25(1):176 – 207.

Clarke, M. H. 2020. Transportation and Change through an Anthropological Lens. Journal of Business Anthropology. 9(2): 192-224.

Eliot-Hurst, M. 1974. Transportation Geography: Comments and Readings. New York: McGraw-Hill.

Goetz, A. et al. 2003. Transportation Geography. In Gaile, G. et al. (Eds.), Geography in America at the Dawn of the 21st Century. Oxford: Oxford University Press.

Hanson, S. 2003. Transportation: Hooked on Speed, Eyeing Sustainability. In Sheppard, E & Barnes, T. (Eds.), A Companion to Economic Geography. Oxford: Blackwell.

Keeling, D. 2007. Transportation Geography: New Direction on Well-worn Trails. Progress in Human Geography. 31(2): 217-225.

Rodrigue, J-P. et al. 2009. The Geography of Transport Systems. New York: Routledge.

Sadana, R. 2022. Anthropology at the End of the Lines. City and Society. 36(1): 41-46.

Shaw, J & Docherty, I. 2014. Geography and Transport. Routledge Handbook for Mobilities, Peter Audey et al. (Eds). New York: Routledge.

Ullman, E. 1954. Geography as Spatial Interaction. Seattle: University of Washington Press.


1  ภูมิศาสตร์มนุษย์เป็นสาขาหนึ่งของวิชาภูมิศาสตร์ที่ศึกษาการใช้งานพื้นผิวโลก ตลอดจนความสัมพันธ์เชิงพื้นที่ระหว่างสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม

2  การศึกษาที่อาศัยหลักคิดเชิงเหตุผลแบบวิทยาศาสตร์ มองสิ่งต่าง ๆ อย่างเป็นวัติถุวิสัยและไม่นำค่านิยมเข้าไปปะปนกับผลการศึกษา

3  ความคิดเรื่องมนุษย์ผู้เคลื่อนย้ายอย่างมีเหตุผลล้อมาจากหลักการดังกล่าวซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่ามนุษย์ผู้เลือกอย่างมีเหตุผล (rational economic man)

4  การหมุนเวียนอารมณ์มองว่าอารมณ์ไม่ใช่แค่เรื่องส่วนตัวหรือกำเนิดขึ้นจากภายในปัจเจกบุคคลแล้วเคลื่อนออกไปสู่ผู้อื่น ทว่ามีลักษณะเป็นกลไกบางที่เชื่อมโยงร่างกายของผู้คนให้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมด้วย


ผู้เขียน

วิสุทธิ์ เวชวราภรณ์

นักวิจัย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ การศึกษาระบบขนส่ง ภูมิศาสตร์การขนส่ง มานุษยวิทยาการขนส่ง วิสุทธิ์ เวชวราภรณ์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share