Alien-washing: เปลี่ยนต่างถิ่นเป็นท้องถิ่น

 |  พืช สัตว์ สิ่งของที่มากกว่ามนุษย์
ผู้เข้าชม : 1894

Alien-washing: เปลี่ยนต่างถิ่นเป็นท้องถิ่น

           ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา ในงานเทศกาลเกษตรแฟร์ จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน มีการเปิดตัวเมนูอาหารจาก “ปลาหยก” สัตว์เศรษฐกิจชนิดใหม่ที่พัฒนาสายพันธุ์โดยบริษัทยักษ์ใหญ่ และถูกนำเสนอว่าเป็นวัตถุดิบหรู เลี้ยงง่าย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การเปิดตัวปลาหยกในงานดังกล่าว นำมาสู่การตั้งคำถามจากบรรดานักสิ่งแวดล้อมและผู้คนในสื่อออนไลน์จำนวนมากว่า เพราะเหตุใดสายพันธุ์ปลาที่ห้ามนำเข้าและเพาะเลี้ยงกลับถูกนำมาขายและประชาสัมพันธ์ในงานดังกล่าว ก่อนที่จะถูกกดดันและพับปิดหน้าร้านไปในที่สุด

           การที่สัตว์ต่างถิ่นดังกล่าวถูกโปรโมตว่าเป็นสินค้ายั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทำให้ผู้เขียนนึกถึงแนวคิด “การฟอกเขียว” (Greenwashing) ที่เคยเกิดขึ้นกับปัญหาและผลกระทบทางนิเวศ-สิ่งแวดล้อมและเกิดจากสัตว์สายพันธุ์ต่างถิ่นในประเทศไทย


Alien-washing: การฟอกสายพันธุ์(ต่างถิ่น)

           ผู้เขียนใช้คำว่า Alien-washing ประกอบด้วยคำว่า Alien จาก Alien species (สายพันธุ์ต่างถิ่น) ที่พูดถึงประเด็นปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสัตว์สายพันธุ์ต่างถิ่น และ washing จาก Greenwashing (การฟอกเขียว)

           ปัญหาจากสายพันธุ์ต่างถิ่น เกิดขึ้นจากการที่สายพันธุ์ต่างถิ่นถูกนำเข้ามาจากระบบนิเวศอื่นและสร้างปัญหากระทบต่อระบบนิเวศท้องถิ่นเดิม ปัญหาด้านนิเวศ-สิ่งแวดล้อมนี้ยังลุกลามและส่งผลกระทบต่อปัญหาด้านอื่นด้วย เช่น ปัญหาด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงทางอาหารจากความหลากหลายทางชีวภาพของสายพันธุ์พื้นถิ่นที่ลดลง ซึ่งมีที่มาจากการระบาดของสายพันธุ์ต่างถิ่น เป็นต้น

           

ส่วนการฟอกเขียว (Greenwashing) หมายถึง กระบวนการสร้างภาพลักษณ์ที่ทำให้ดูเหมือนว่าสินค้าและบริการดังกล่าวมีความรับผิดชอบต่อสังคม ยั่งยืน และเป็นมิตรสิ่งแวดล้อมที่บรรดาผู้คนและองค์กรต่าง ๆ ต่างใช้เพื่อพยายามฝังกลบหรือบิดเบือนความเป็นจริงของกิจกรรมดังกล่าวที่ไม่ได้เป็นไปอย่างแท้จริงหรือถูกต้องทั้งหมด แต่ภาพลักษณ์ถูกสร้างและนำมาใช้เพื่อบรรลุผลประโยชน์ต่าง ๆ ที่จะได้รับจากการสร้างภาพดังกล่าว เช่น โมเดลกิจกรรมเพื่อสังคม (Corporate Social Responsibility หรือ CSR), การผลิตสินค้าที่มีกระบวนการผลิตสีเขียว ลดการปล่อยคาร์บอนในการผลิต, การใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือการที่ธุรกิจโรงแรมขอให้แขกที่พักใช้ผ้าขนหนูซ้ำเพื่ออนุรักษ์น้ำและพลังงาน ซึ่งในความเป็นจริงบรรดาองค์กรธุรกิจดังกล่าวมีส่วนช่วยเหลือสิ่งแวดล้อมเพียงนิดเดียวเท่านั้น1 (Kerner, 2022) เป็นต้น

           Alien-washing ในความหมายของผู้เขียน หมายถึง การกล่าวอ้างถึงผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการกระทำอันหนึ่งอันใดกับสายพันธุ์ต่างถิ่น ผ่านการสร้างความจริงชุดหนึ่งที่บิดเบือน เปลี่ยนแปลง หรืออำพรางความจริงอีกด้านที่ขัดแย้งกัน โดยเฉพาะปัญหาและผลกระทบที่เกิดจากสายพันธุ์ต่างถิ่น (Alien species) ที่นำไปสู่การเป็นสายพันธุ์ต่างถิ่นรุกราน (Invasive species) ในภายหลัง

           การฟอกเขียวสายพันธุ์ต่างถิ่นมักอ้างถึงเหตุผลและความจำเป็นเพื่อผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ โดยมองข้ามผลกระทบหรือปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ตามมาภายหลัง ขณะเดียวกัน ผลประโยชน์ที่เคยคาดหวังจากสายพันธุ์ดังกล่าวก็อาจจะไม่ได้สัมฤทธิ์ผลดังที่คาดหวังไว้ เช่น กรณีของปลานิลที่ถูกนำมาใช้เป็นปลาเศรษฐกิจภายใต้วาทกรรม “ปลาพระราชทาน” ที่แม้แต่หน่วยงานด้านการประมงของรัฐก็นำสายพันธุ์ดังกล่าวไปใช้แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจหรือการลดลงของสายพันธุ์ปลาพื้นเมืองจากความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นการซ้ำเติมปัญหามากยิ่งขึ้นการเพิ่มจำนวนของปลานิลในระบบนิเวศเป็นระยะเวลานานทำให้ปลาดังกล่าวถูกเข้าใจว่าเป็นปลาพื้นเมือง รวมถึงความนิยมในการบริโภค ท้ายที่สุดปลานิลกลายเป็นปลาเศรษฐกิจที่เข้ามาแก้ปัญหาการขาดแคลนอาหาร ทำให้ไม่มีการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง


วิชาการฟอกกุ้ง

           นอกจากด้านเศรษฐกิจแล้ว การฟอกเขียวสายพันธุ์ยังถูกกระทำผ่านสถาบันวิชาการ (institutionalized) โดยใช้งานวิจัยเพื่อรองรับความน่าเชื่อถือว่าสายพันธุ์ดังกล่าวจะไม่เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม อย่างกรณีของ กุ้งก้ามแดง หรือกุ้งเครย์ฟิช ที่ถูกผลักดันให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจชนิดใหม่ในช่วงปี 2560 การสร้างความชอบธรรมในการพัฒนาเป็นสัตว์เศรษฐกิจของกุ้งก้ามแดงผ่านโครงการวิจัยของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และนำผลลัพธ์จากโครงการมาบรรยายเพื่อกลบประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากกุ้งก้ามแดง ดังในหนังสือ “กุ้งก้ามแดงชีววิถี ต้นทุนต่ำ” (2559) มีเนื้อหาบางส่วนพูดถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม แต่พูดถึงเพียงผลกระทบที่มีต่อต้นข้าวหรือนิเวศในนาข้าวเท่านั้น เอกสารดังกล่าวยังระบุว่า กุ้งก้ามแดงไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (ณ ช่วงเวลานั้นที่ปัญหาการระบาดยังไม่แพร่หลายชัดเจนเท่าปัจจุบัน) แต่เป็นประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจ การเลี้ยงกุ้งก้ามแดงยังทำให้ชาวนาต้องหันมาทำนาข้าวแบบเกษตรอินทรีย์ซึ่งดีต่อสุขภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม2 มากกว่านาข้าวเคมีด้วย

 

รูปภาพที่ 1 หนังสือแนะนำการเลี้ยงกุ้งก้ามแดง

           การใช้ข้ออ้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมที่ผ่านการสร้างงานวิจัยที่น่าเชื่อถือของสถาบันวิชาการที่เกี่ยวข้อง เป็นการปกปิดความจริงอีกด้านของปัญหาและผลกระทบอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นจากสายพันธุ์ต่างถิ่นในภายหลัง ปฏิบัติการในการฟอกสายพันธุ์ต่างถิ่นอาจเกิดขึ้นด้วยแรงจูงใจ ผลประโยชน์ กระบวนการ ที่แตกต่างหลากหลายไปตามแต่ละกรณี ในบทความนี้ผู้เขียนจะอธิบายกระบวนการฟอกเขียวสายพันธุ์ต่างถิ่นโดยอธิบายผ่านกรณีปลาหยก (Jade perch)


การฟอกสายพันธุ์ต่างถิ่นใน “ปลาหยก”

           แรกเริ่มเดิมที ปลาหยก (Jade perch, Scortum barcoo) ถูกนำเข้ามาในปี 2561 โดยบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร ซึ่งมีการทำเรื่องขออนุญาตจากกรมประมงเพื่อศึกษาวิจัยเพาะเลี้ยง ต่อมามีการขออนุญาตเพาะเลี้ยงทำการตลาดเพื่อที่จะพัฒนาไปเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดใหม่ ก่อนที่บริษัทดังกล่าวจะทำนอกเหนือจากกรอบการวิจัยและจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ก่อนที่จะแจ้งให้กรมประมงทราบ จนถูกกรมประมงเตือนให้ระงับการประชาสัมพันธ์จนต้องเก็บหน้าร้านไปจากงานเกษตรแฟร์ในที่สุด3 โดยส่วนหนึ่งอาจมีสาเหตุมาจากเทคนิคการทำการตลาด แม้กรมประมงจะอนุญาตให้จำหน่ายเนื้อปลาเพื่อทดลองตลาดตามที่บริษัทได้ขอกับทางกรมประมง4 แต่การประชาสัมพันธ์ในฐานะสัตว์เศรษฐกิจอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดด้านการเพาะเลี้ยง ที่ปลาหยกเป็นสัตว์น้ำห้ามเพาะเลี้ยงตามกฎหมาย

 

รูปภาพที่ 2 ปลาหยก หรือ Jade perch (Scortum barcoo)
ภาพจาก : https://fishesofaustralia.net.au/home/species/701

           การฟอกเขียวปลาหยก เริ่มต้นจากการนำเข้าสายพันธุ์ต่างถิ่นด้วยเหตุผลทางด้านการวิจัยเพื่อเศรษฐกิจ บริษัทฯ ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยศึกษาอุปนิสัยและลักษณะการกินอาหารเพื่อเปรียบเทียบกับสายพันธุ์พื้นถิ่น เพื่อที่จะป้องกันปัญหาสัตว์ต่างถิ่นแย่งอาหารสัตว์พื้นถิ่นหากเกิดการหลุดหรือแพร่กระจายในธรรมชาติ งานวิจัยดังกล่าวให้ข้อสรุปว่าปลาหยกเป็นปลาที่กินได้ทั้งพืชและสัตว์ มีปริมาณการกินอาหารน้อยกว่าปลาพื้นถิ่น อาศัยอยู่ในธรรมชาติของไทยได้ ทว่าอาหารที่กินมีความหลากหลายมากกว่าปลาพื้นถิ่น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการแก่งแย่งอาหารปลาพื้นถิ่น อย่างไรก็ตามในตอนท้ายของบทคัดย่อมีการสรุปความไว้ว่า

“…ข้อมูลยังไม่สามารถระบุได้ชัดว่าจะสามารถแก่งแย่งทรัพยากรได้ดี เนื่องจากอาจกินอาหารในปริมาณที่น้อยกว่าปลาพื้นเมืองของไทย โดยสัดส่วนน้ำหนักอาหารต่อน้ำหนักตัวยังน้อยกว่าปลาพื้นเมืองของประเทศไทย…”5

           งานวิจัยดังกล่าวแสดงถึงทัศนะที่มีต่อปลาหยกซึ่งเป็นไปอย่างย้อนแย้ง ในด้านหนึ่ง ปลาหยกก็อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหากหลุดลงสู่ธรรมชาติ แต่ในอีกด้านหนึ่งปลาหยกก็อาจไม่สามารถแข่งขันกับปลาพื้นถิ่นในธรรมชาติได้ ผู้เขียนมองว่า ความหลากหลายในการกินอาหารของปลาหยกเป็นสิ่งที่น่าหวั่นเกรง เพราะแม้จะกินไม่มากเท่าปลาพื้นเมืองที่ถูกนำมาเปรียบเทียบ แต่ปลาหยกก็ยังสามารถกินอาหารชนิดอื่นที่ไม่ซ้ำกับปลาพื้นเมืองแทนได้ การวิเคราะห์ผลกระทบจากการแข่งกันด้านอาหารจึงอาจไม่สามารถตอบคำถามผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดจากปลาหยกได้ทั้งหมด

           ความคลุมเครือในการอธิบายผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทำให้ปลาหยกดูจะไม่เป็นอันตรายกับแหล่งน้ำไทยมากนัก การเพาะเลี้ยง ศึกษา พัฒนาสายพันธุ์จึงยังคงดำเนินต่อไปจนกระทั่งกรมประมงประกาศเรื่องกำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามเพาะเลี้ยงในราชอาณาจักร พ.ศ. 2564 ซึ่งมีผลบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2564 แต่การเพาะเลี้ยงยังสามารถดำเนินการต่อไปได้โดยต้องมีการขอใบอนุญาตจากกรมประมง โดยที่ยังคงห้ามปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติการประชาสัมพันธ์ให้มีการเพาะเลี้ยงและจำหน่ายเพื่อผลประโยชน์เชิงพาณิชย์จึงเป็นสิ่งที่ขัดต่อกฎหมาย การเปลี่ยนโฉมจากปลาต่างถิ่นไปเป็นปลาเศรษฐกิจของปลาหยกในงานเกษตรแฟร์คงไม่อาจกระทำได้ หากไม่มีการเปลี่ยนชื่อ


Renaming = Rebranding: Some kind of Aliens Washing

           การเปลี่ยนชื่อปลาหยกจึงเกิดขึ้นเพื่อปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์และความหมายให้แตกต่างไปจากเดิม ในช่วงแรกปลาหยกถูกเรียกชื่อทั้งในเอกสารและในงานวิจัยว่า “ปลาเก๋าหยก” ก่อนที่ปลาตัวดังกล่าวจะถูกนำมาจำหน่ายในงานเกษตรแฟร์รวมถึงการประชาสัมพันธ์ตามสื่อต่าง ๆ ว่า  “ปลาหยก”

           เป็นที่น่าสังเกตว่าการเปลี่ยนชื่อหรือการรีแบรนด์ปลาเก๋าหยกอาจทำเพื่อหลบเลี่ยงข้อบังคับทางกฎหมาย6 เพราะในกฎหมายระบุชื่อไทยว่า “ปลาเก๋าหยก” รวมถึงชื่อภาษาอังกฤษ “Jade perch” และชื่อวิทยาศาสตร์ “Scortum barcoo” แต่ในงานประชุมสุดยอดผู้นำ APEC ครั้งที่ 29 ที่จัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ช่วงเดือนพฤษจิกายน ปี 2565 กลับพบเมนูอาหารจาก “ปลาหยก” ถูกบรรจุเป็นหนึ่งในเมนูอาหารให้ผู้นำประเทศต่าง ๆ ที่เข้าร่วมการประชุม และต่อมาในงานเกษตรแฟร์ก็มีการใช้ชื่อว่า “ปลาหยก” อีกครั้ง จึงดูเหมือนว่า “ปลาเก๋าหยก” จะเกิดขึ้นและสูญหายไปหลังจากมีการประกาศของกรมประมงในช่วงกลางปี 2564 และถูกแทนที่ด้วย “ปลาหยก” แทน

           การนำปลาหยกขึ้นเป็นเมนูอาหาร เผยแพร่ภาพออกสื่อสาธารณะหลังมีการประกาศข้อกฎหมายเป็นส่วนหนึ่งของการประชาสัมพันธ์ทางการตลาดและการเลือกนำเสนอในงานดังกล่าว ซึ่งมีการพูดถึงประเด็นเรื่องความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมทั้งในแนวคิดการคัดเลือกเมนูอาหาร จึงดูเหมือนว่าบริษัทพยายามที่จะฟอกสายพันธุ์ให้ปลาหยกเป็นปลายั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

           ในงานเกษตรแฟร์ ปลาหยกถูกนำเสนอว่ากระบวนการผลิตเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ7 แสดงให้เห็นว่านอกเหนือจากประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว บริษัทยังพยายามฟอกเขียวปลาหยกและทำการตลาดโดยใช้แนวคิด อาหารเพื่อสุขภาพ เพื่อดึงดูดกลุ่มลูกค้าและผู้คนที่หันมาสนใจสุขภาพมากขึ้นในช่วงหลังการระบาดของCOVID-198 การกินเพื่อสุขภาพเป็นหนึ่งในความสนใจและวัฒนธรรมบริโภคที่หลาย ๆ ธุรกิจนำมาปรับใช้เพื่อเป็นกลยุทธ์ทางการตลาด เช่น การอุดมไปด้วยสารอาหารที่ดีต่อร่างกาย การมีสารอาหารมากกว่าปลาแซลมอนหลายเท่า การนำเอาสารอาหารต่าง ๆ ที่พบมานำเสนอ ความเป็นอาหารสุขภาพ เช่น มี DHA ช่วยบำรุงเซลล์ประสาท สมอง และดวงตา เสริมภูมิคุ้มกันให้เด็ก ลดอาการอ่อนล้าจากการทำงาน มีคอลลาเจนที่ช่วยให้ผิวพรรณดี เป็นต้น

           การบิดเบือนความจริงด้วยการเปลี่ยนชื่อจาก “ปลาเก๋าหยก” เป็น “ปลาหยก” นอกจากจะหลบเลี่ยงข้อกฎหมายที่ระบุชื่อสายพันธุ์เดิมแล้ว ยังสร้างความเข้าใจผิดให้กับผู้บริโภคที่ไม่ได้รับรู้เรื่องสายพันธุ์ต่างถิ่น หรือในหมู่ผู้ที่คุ้นเคยชื่อว่าปลาเก๋าหยกเป็นปลาห้ามเลี้ยง จนเกิดความสับสนว่าเป็นปลาคนละชนิดกันกับที่ระบุในกฎหมาย รวมถึงผู้รับข้อมูลข่าวสารอาจเกิดความเข้าใจผิดจากการสร้างมูลค่าและคุณประโยชน์ของปลาหยก จนเข้าใจไปว่าเป็นปลาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งที่สิ่งที่ถูกนำเสนอว่า “เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” คือระบบการผลิตหรือการเพาะเลี้ยง ไม่ใช่ตัวสายพันธุ์ปลาหยก


บทสรุป

           การเคลื่อนย้ายสัตว์ข้ามพรมแดนระบบนิเวศหรือการนำเข้าสัตว์ต่างถิ่นไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่หรือเป็นเรื่องที่ผิดเสมอไป ในยุคปัจจุบันที่การโยกย้ายสายพันธุ์ต่าง ๆ ไปยังสถานที่ใหม่ ๆ ตั้งแต่นิเวศในระดับท้องถิ่น ภูมิภาคหรือพรมแดนรัฐชาติ เป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไป ประเทศไทยนำเข้าและส่งออกสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ต่าง ๆ มากมายหลายชนิดและหลากแรงจูงใจ เช่น อุตสาหกรรมปลาสวยงามที่ไทยส่งออกปลาท้องถิ่นไปยังตลาดต่างประเทศ การนำเข้าพันธุ์ไม้จากต่างประเทศเพื่อนำมาปลูกเป็นไม้ประดับในรั้วบ้าน การนำเข้า-ส่งออกวัตถุดิบสำหรับบริโภคหรือแปรรูปในอุตสาหกรรม เป็นต้น การศึกษาวิจัยหรือเพาะเลี้ยงเพื่อสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับสายพันธุ์ต่างถิ่นเป็นเรื่องที่ดี หากมีระบบการศึกษาและเทคโนโลยีในการควบคุมและป้องกันปัญหาการหลุดลงสู่แหล่งธรรมชาติ หากแต่ในทางปฏิบัติไม่ใช่ทุกกรณีที่ระบบการควบคุมจะมีประสิทธิภาพหรือมีการตรวจสอบที่ดีเพียงพอ โดยเฉพาะเมื่อเกิดความนิยมในการเพาะเลี้ยงจำนวนมาก เช่น หอยเชอรี่ ปลาซัคเกอร์ กุ้งเครย์ฟิช เป็นต้น โดยส่วนใหญ่ปัญหาของสายพันธุ์ต่างถิ่นจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อหลุดสู่ธรรมชาติ (going feral) ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของมนุษย์

           สิ่งที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอคือ กระบวนการฟอกซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการทำให้มนุษย์ในสังคม ให้การยอมรับสายพันธุ์ที่ถูกนำเข้ามาใหม่ ด้วยการให้เหตุผลหรือความจำเป็นในการกำหนดตำแหน่งและหน้าที่ของสิ่งมีชีวิตดังกล่าวในสังคมนั้น ๆ เช่น การเป็นแหล่งอาหารใหม่ พืช-สัตว์เศรษฐกิจชนิดใหม่ เป็นต้น และการที่จะถูกยอมรับจากมนุษย์ในสังคมจึงต้องมีการดึงเอาปัจจัยเกี่ยวข้องต่าง ๆ เข้ามาให้เหตุผลหนุนเสริมเพื่อสร้างความชอบธรรมให้สายพันธุ์ เช่น มูลค่าทางเศรษฐกิจ ความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม สุขภาพที่ดีของมนุษย์ ฯลฯ

           การฟอกสัตว์ต่างถิ่น (Alien-washing) จึงพยายามแสดงให้เห็น กระบวนการที่มนุษย์หรือองค์กรกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งใช้วิธีการบางอย่างเพื่อที่จะสร้างประโยชน์จากสายพันธุ์ต่างถิ่น จนมองข้ามประเด็นสำคัญในการศึกษาสัตว์ต่างถิ่นคือ ผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากสายพันธุ์ต่างถิ่น ที่ประเด็นผลกระทบมักถูกกลบด้วยผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ในอีกแง่หนึ่ง แนวคิดนี้ก็พยายามทำให้คนสนใจการสร้างความหมายใหม่ให้กับสัตว์ต่างถิ่นที่มักระบุเกินจริงหรือมีผลประโยชน์บางอย่างแอบแฝง การขาดความรู้เรื่องสัตว์ต่างถิ่นในสังคมไทยเป็นหนึ่งในปัญหาที่สำคัญที่สุดที่ส่งผลให้เกิดปัญหาสัตว์ต่างถิ่นรุกราน (Invasive species) ตามมา และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ตลอดจนเพิ่มความเข้าใจให้กับผู้คนในสังคมสำหรับจำแนกแยกแยะสายพันธุ์ต่างถิ่นและสายพันธุ์พื้นเมือง ที่สายพันธุ์ต่างถิ่นบางชนิดมักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นสายพันธุ์พื้นเมืองดั้งเดิม เพราะมีการหลุดสู่ธรรมชาติจนพบเห็นเป็นระยะเวลานานและเกิดความคุ้นเคยจนเข้าใจว่าเป็นสายพันธุ์ที่มีมานานอยู่แล้ว เช่นกรณีของ ปลานิล9 และผักตบชวา ที่หลุดสู่แหล่งน้ำในประเทศไทยมาเป็นเวลานานหลายสิบปี

 

เอกสารอ้างอิง

BBC NEWS THAI. (2566, 3 กุมภาพันธ์). ซีพี : ปลาหยก สัตว์น้ำห้ามเพาะเลี้ยงในไทย ที่ยักษ์ใหญ่ธุรกิจอาหารชูเป็น “สัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดใหม่”. สืบค้นเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2566. เข้าถึงจาก https://www.bbc.com/thai/articles/c0v91r518r8o.

Dixon, L. (2020). Autonowashing: The greenwashing of vehicle automation. Transportation research interdisciplinary perspectives, 5, 100113.

Kerner, M., (2022). What is greenwashing?. สืบค้นเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2566. เข้าถึงจาก. https://searchcrm.techtarget.com/definition/greenwashing.

SCB Wealth. (2022, 23 สิงหาคม). ‘การฟอกเขียว’ ฝันร้ายและภัยมืดของนักลงทุนสาย ESG. สืบค้นเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2566. เข้าถึงจาก. https://thestandard.co/greenwashing/.

กรุงเทพธุรกิจ. (2566, 3 กุมภาพันธ์). ““กรมประมง”สั่งด่วน ปม “ปลาเก๋าหยก CPF” ขู่ยึดใบอนุญาต”. สืบค้นเมื่อ 14 กุมภาพันธ์2566. เข้าถึงจาก https://www.bangkokbiznews.com/news/news-update/1051359.

ฐานเศรษฐกิจ. (2566, 2 กุมภาพันธ์). กรมประมงแจง “ซีพีเอฟ”ขายเนื้อปลาหยก ได้รับอนุญาตแล้ว. สืบค้นเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2566. เข้าถึงจาก https://www.thansettakij.com/business/trade-agriculture/555075.

ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามเพาะเลี้ยงในราชอาณาจักร พ.ศ. 2564. (2564, 17 มิถุนายน). ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 138 ตอนพิเศษ 130 ง. หน้า 9.

ปุณยานุช แดงจะนะ, วันศุกร์ เสนานาญ, สันติ พ่วงเจริญ, มานพ กาญจนบุรางกูร, รัฐชา ชัยชนะ. (2558). อุปนิสัยการกินอาหารของปลาเก๋าหยกและการเปรียบเทียบการกินอาหารกับปลาตะเพียนทองและปลาหมอช้างเหยียบ. ใน เรื่องเต็มการประชุมวิชาการระดับชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ครั้งที่ 12: ตามรอยพระยุคลบาท เกษตรศาสตร์กำแพงแสน.นครปฐม: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน สำนักงานวิทยาเขตกำแพงแสน กองบริหารวิชาการและนิสิต. หน้า 573-581.

ผู้จัดการออนไลน์. (2566, 31 มกราคม). ซีพีเอฟเปิดตัว “ปลาหยก” คุณภาพพรีเมียม ชูระบบการเลี้ยงปลอดภัย ไร้สารตกค้าง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม. สืบค้นเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2566. เข้าถึงจาก https://mgronline.com/business/detail/9660000009490.

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. (2564, 23 เมษายน). อาหารเพื่อสุขภาพ เทรนด์ร้อนยุค New Normal. สืบค้นเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2566. เข้าถึงจาก http://resourcecenter.thaihealth.or.th/article/อาหารเพื่อสุขภาพ-เทรนด์ร้อนยุค-new-normal.

อภิชาติ ศรีสะอาด และสุทธิพงศ์ ถิ่นเขาน้อย. (2559). กุ้งก้ามแดงชีววิถี ต้นทุนต่ำ. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: นาคา อินเตอร์มีเดีย.


1  Kerner, M., 2022. What is greenwashing?.

2  อภิชาติ ศรีสะอาด และสุทธิพงศ์ ถิ่นเขาน้อย. (2559). กุ้งก้ามแดงชีววิถี ต้นทุนต่ำ. หน้า 20-36.

3  BBC NEWS THAI. (2566, 3 กุมภาพันธ์). ซีพี: ปลาหยก สัตว์น้ำห้ามเพาะเลี้ยงในไทย ที่ยักษ์ใหญ่ธุรกิจอาหารชูเป็น “สัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดใหม่”.

4  ฐานเศรษฐกิจ. (2566, 2 กุมภาพันธ์). กรมประมงแจง “ซีพีเอฟ”ขายเนื้อปลาหยก ได้รับอนุญาตแล้ว.

5  ปุณยานุช แดงจะนะ, วันศุกร์ เสนานาญ, สันติ พ่วงเจริญ, มานพ กาญจนบุรางกูร, รัฐชา ชัยชนะ. (2558). อุปนิสัยการกินอาหารของปลาเก๋าหยกและการเปรียบเทียบการกินอาหารกับปลาตะเพียนทองและปลาหมอช้างเหยียบ. หน้า 573

6  ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามเพาะเลี้ยงในราชอาณาจักร พ.ศ. 2564

7  ผู้จัดการออนไลน์. (2566, 31 มกราคม). ซีพีเอฟเปิดตัว “ปลาหยก” คุณภาพพรีเมียม ชูระบบการเลี้ยงปลอดภัย ไร้สารตกค้าง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม.

8  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. (2564, 23 เมษายน). อาหารเพื่อสุขภาพ เทรนด์ร้อนยุค New Normal.

9  จากการสอบถามสมาชิกในครอบครัว, เพื่อนที่สถานศึกษา, เพื่อนร่วมงานของผู้เขียนหลายคน พบว่า หลายคนยังคงเข้าใจผิดว่า ปลานิล เป็นปลาพื้นเมืองของไทย และเพิ่งมาเข้าใจว่าเป็นปลาต่างถิ่นเมื่อไม่นานมานี้


ผู้เขียน

ธนพล เลิศเกียรติดำรง

นักวิจัย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ การฟอกเขียว ปลาหยก Greenwashing Species-washing Alien-washing ธนพล เลิศเกียรติดำรงค์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share