มานุษยวิทยาพ้นมนุษย์

 |  แนวคิด ทฤษฎีมานุษยวิทยา
ผู้เข้าชม : 3318

มานุษยวิทยาพ้นมนุษย์

รูปที่ 1 ปกหนังสือ มานุษยวิทยาพ้นมนุษย์
หมายเหตุจาก. ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

           มานุษยวิทยาพ้นมนุษย์ เป็นชื่อที่บรรณาธิการของหนังสือเล่มนี้ร่วมกันขบคิดให้กับหนังสือที่พวกเขารับผิดชอบ โดยต้องการให้ชื่อหนังสือนั้นสะท้อนถึงงานเขียน จำนวน 6 เรื่อง ที่กำลังอภิปรายถึงแนวคิดและกระบวนการศึกษาทางมานุษยวิทยาที่ปรับเปลี่ยนไปจากการศึกษาสังคมมนุษย์แบบดั้งเดิมที่ยึดเอามนุษย์นั้นเป็นศูนย์กลาง แต่ มานุษยวิทยาพ้นมนุษย์ กำลังจะบอกทุกคนว่าบริบทรอบตัวของมนุษย์นั้นต่างหาก คือสิ่งที่เราควรหันมาให้ความสนใจ รวมถึงวิธีการศึกษาทางมานุษยวิทยาร่วมสมัยที่หยิบยืมเอาวิธีการและกระบวนการศึกษาที่ข้ามศาสตร์ ข้ามพรมแดนแห่งความรู้มาบูรณาการกัน

           ทำไมต้องเป็น มานุษยวิทยาพ้นมนุษย์ ?

           รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในบรรณาธิการของหนังสือเล่มนี้ กล่าวในการเสวนาเปิดตัวหนังสือ Posthuman Anthropology มานุษยวิทยาพ้นมนุษย์ ไว้ว่า

“การศึกษามานุษยวิทยาพ้นมนุษย์ คือ การศึกษาที่พ้นไปจากมนุษยนิยม ข้ามการทำให้มนุษย์เป็นศูนย์กลาง และทำให้มนุษย์รู้สึกถึงข้อจำกัดของตัวเอง”

           รับชมบันทึการเสวนาเปิดตัวหนังสือ Posthuman Anthropology มานุษยวิทยาพ้นมนุษย์ ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=sn7yP7Y4Nj4

           จุดมุ่งหมายหลักของหนังสือเล่มนี้ คือ การมุ่งไปทบทวนและสำรวจองค์ความรู้ทางมานุษยวิทยาในปัจจุบัน ถึงความท้าทายต่าง ๆ ของการแสวงหาความรู้ในมิติของการศึกษามานุษยวิทยาพ้นมนุษย์ ทั้งในการตั้งคำถามเชิงภววิทยาเพื่อใช้ในการสร้างสรรค์การแสวงหาความรู้ และช่วยให้มุมมองต่อความรู้นั้นต่างไปจากเดิม การก้าวข้าวพรมแดนเชิงสปีชีส์ระหว่างมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่น ทำให้เส้นแบ่งทางชีววิทยาระหว่างสายพันธุ์ลดถอยลง การทำความเข้าใจมานุษยวิทยาด้วยกระบวนทัศน์นี้จึงช่วยให้นักมานุษยวิทยาหันมาสนใจสรรพสิ่งที่อยู่รอบตัวของมนุษย์ในฐานะผู้ร่วมสร้างสรรค์ความเป็นสังคมอีกด้วย หรือแม้แต่การก้าวข้ามเส้นแบ่งพื้นที่ ซึ่งทำให้พื้นที่ในการศึกษาทางมานุษยวิทยาไม่ถูกจำกัดอยู่แค่พื้นที่รูปแบบใดรูปแบบหนึ่งอีกต่อไป อาจเป็นพื้นที่จริงหรือพื้นที่เสมือนได้เช่นกัน ตลอดจนการก้าวข้ามเส้นแบ่งทางความรู้ที่ทำให้การแบ่งแยกระหว่างธรรมชาติและวัฒนธรรม หรือ วิทยาศาสตร์กับวัฒนธรรมไม่สามารถแยกขาดจากกันได้

           บทนำ : มานุษยวิทยาพ้นมนุษย์ โดย บรรณาธิการของหนังสือ ทั้ง 2 ท่าน ( รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ชัชชล อัจนากิตติ นักวิจัย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร) จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ ซึ่งจะช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจแนวคิดของการศึกษามานุษยวิทยาพ้นมนุษย์ที่ถูกนำมาใช้เป็นแนวคิดหลักในการเขียนและอภิปรายประเด็นต่าง ๆ ของหนังสือเล่มนี้ โดยทั้ง 2 ท่าน เริ่มต้นด้วยงานมานุษยวิทยาก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 21 เพื่อให้เห็นภาพรวมและพัฒนาการของงานมานุษยวิทยาที่ผ่านมา ก่อนที่จะพาผู้อ่านไปทำความเข้าใจจุดเปลี่ยนภววิทยา จุดเปลี่ยนพ้นมนุษย์ และมานุษยวิทยาพ้นมนุษย์ ที่ช่วยสร้างมุมมองต่อมานุษยวิทยาพ้นมนุษย์ไปพร้อม ๆ กับการแนะนำบทความในเล่มทั้ง 6 เรื่อง ดังนี้

           การศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในบทความเรื่อง วิธีวิทยาใน STS โดย รศ.ดร.จักรกริช สังขมณี อาจารย์ประจำ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่นำเสนอให้เห็นว่า การศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Science and Technology Studies : STS) เชื่อมโยงกับการศึกษามานุษยวิทยาทั้งในแง่ของ การปรับเปลี่ยนวิธีการศึกษาและการขยายการทำความเข้าใจวัฒนธรรม ในบทความนี้ ผู้เขียนนำเสนอแนวคิดและการปฏิบัติการทาง STS ที่เชื่อมโยงมาสู่การศึกษาทางมานุษยวิทยา รวมทั้งการกล่าวถึงกรณีศึกษา 4 กรณี ที่ผู้เขียนได้เข้าไปทำความเข้าใจ ได้แก่ วิธีวิทยาศึกษาชุมชนและพื้นที่ปฏิบัติการทางเทคโนโลยี โดยศึกษากระบวนการสร้างความรู้และวิถีปฏิบัติของนักอุทกวิทยาละวิศวกรน้ำ วิธีวิทยาเชิงสมมาตรระหว่างผู้กระทำที่เป็นมนุษย์และไม่ใช่มนุษย์ โดยศึกษาโครงการวิศวกรรมเพื่อการจัดการน้ำและสำรวจกระบวนการเบื้องหลังการก่อสร้างเขื่อนเจ้าพระยา วิธีวิทยาของการศึกษาการประกอบสร้างทางภววิทยาของเครือข่าย-ผู้กระทำ โดยศึกษานิทรรศการในพิพิธภัณฑ์เครื่องจักรกลชลประทานในฐานะการประกอบสร้างทางภววิทยา และวิธีวิทยาของการศึกษาการทบทวีและการเมืองเชิงภววิทยา ซึ่งผู้เขียนศึกษาการประกอบสร้างความเป็นเมืองของกรุงเทพมหานครผ่านปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ฝนตกตลอดจนผลกระทบของปัญหาน้ำท่วม

           การศึกษาหลากสายพันธุ์นิพนธ์นำเสนอผ่านงานเขียนของ พนา กันธา นักวิชาการอิสระ ในบทความเรื่อง หลากสายพันธุ์นิพนธ์ : วิธีวิทยาเกี่ยวกับโลกหลากสายพันธุ์ ซึ่งกล่าวถึงความน่าสนใจของวิธีวิทยาแบบหลากสายพันธุ์นิพนธ์ (multispecies ethnography) ที่ช่วยนำเสนอการศึกษาสังคมแบบข้ามพ้นมนุษย์เป็นศูนย์กลาง และนำเสนอว่าสิ่งอื่นที่ไม่ใช่มนุษย์ล้วนมีความสำคัญในฐานะสิ่งที่พัวพันอยู่กับมนุษย์ด้วย ในบทความนี้ พนา กันธา อภิปรายการแยกมนุษย์ออกจากสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ ซึ่งเป็นเหมือนการแบ่งคู่ตรงข้ามระหว่างวัฒนธรรมกับธรรมชาติ การให้ความสำคัญกับการศึกษาสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ จึงเป็นการทลายเส้นแบ่งวัฒนธรรมกับธรรมชาติ และแสดงให้เห็นว่า ทั้งสองสิ่งนี้ไม่สามารถแยกขาดจากกันได้ เป้าหมายในงานเขียนหลากสายพันธุ์นิพนธ์จึงมุ่งไปที่การเล่าเรื่องระหว่างสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ต่าง ๆ ที่ล้วนแต่มีบทบาทต่อกันทางสังคมในแง่ใดแง่หนึ่ง ลดทอนงานเขียนที่มีฐานคิดให้มนุษย์เป็นศูนย์กลาง แต่ชี้ให้เห็นว่า ทั้งมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นล้วนเป็นผู้กระทำที่สร้างผลกระทบและได้รับผลกระทบต่อกันอยู่เสมอ ทั้งในเชิงนิเวศวิทยา เศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรม

           ขณะที่แนวคิดเรื่องวัตถุวัฒนธรรมศึกษา มีงานเขียนเรื่อง แนววิธีเชิงวัตถุ : จากวัตถุวัฒนธรรมศึกษาสู่วัตถุสภาวะ บทความโดย อ.พรรณราย โอสถาภิรัตน์ อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนอข้อถกเถียงเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ในการศึกษาทางมานุษยวิทยา ซึ่งช่วยให้เห็นพลวัตของความสัมพันธ์ระหว่างวัตถุกับผู้คน หรือวัตถุกับวัตถุผ่านฐานคิดการให้คุณค่ารับรู้ด้วยสายตาและความคิด รวมถึงการทบทวนกรอบความคิดและแนวการศึกษาต่อพัฒนาการของวัตถุวัฒนธรรมศึกษาในช่วงเปลี่ยนผ่านสหัสวรรษ ตลอดจนการอภิปรายข้อถกเถียงที่พัฒนามาสู่กรอบความคิดว่าด้วยวัตถุสภาวะและภววิทยา โดยเฉพาะในมิติที่คลี่คลายมาสู่ข้อเสนอว่าด้วย “แนวคิดวิธีเชิงวัตถุ”

           อ.ดร.จิราพร เหล่าเจริญวงศ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขียนบทความเรื่อง พื้นที่ศึกษาในมุมมานุษยวิทยา : มโนทัศน์และวิธีวิทยา ซึ่งเป็นตัวแทนของการศึกษามานุษยวิทยาเชิงพื้นที่ ในเนื้อหาได้กล่าวถึงความสำคัญของ “พื้นที่” และ “พื้นที่ศึกษา” ในฐานะการเป็นศูนย์กลาง หรือ ส่วนหนึ่งของการศึกษาวิจัย ขอบเขตของการศึกษาพื้นที่ได้ถูกอภิปรายว่า ไม่ใช่แค่เรื่องพื้นที่เท่านั้น แต่ยังเชื่อมโยงกับประเด็นอื่นทั้งเพศภาวะ เชื้อชาติ การย้ายถิ่น ฯลฯ รวมถึงพื้นที่ที่เชื่อมโยงกับการจัดการของรัฐทั้งในพื้นที่จริงและพื้นที่ออนไลน์

           ขณะที่วิธีวิทยาในการศึกษาพื้นที่ก็ได้ถูกปรับเปลี่ยนให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น การศึกษาทางภูมิศาสตร์ได้ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาศึกษาพื้นที่ทางกายภาพเพื่อให้ได้ผลการศึกษาที่แม่นยำ ขณะที่นักมานุษยวิทยาได้ใช้งานชาติพันธุ์วรรณนาเชิงพื้นที่เพื่อการเก็บข้อมูลอีกรูปแบบหนึ่งด้วย

           การศึกษามานุษยวิทยาผัสสะ นำเสนอด้วยบทความเรื่อง เชื่อมสัมพันธ์ผัสสะในปฏิบัติการทางชาติพันธุ์นิพนธ์ โดย อ.ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ อาจารย์ประจำภาควิชาสื่อศิลปะ และการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่กล่าวถึงข้อถกเถียงเรื่องการศึกษาผัสสะทางมานุษยวิทยา (Anthropology of Sense) ผ่านร่องรอยทางความคิดของการศึกษาในการศึกษาสายปรากฏการณ์วิทยาและการศึกษาเชิงประวัติศาสตร์สังคมของผัสสะ อันเป็นฐานคิดที่สำคัญของการศึกษาและวิธีวิทยาของมานุษยวิทยาผัสสะ อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก็เป็นส่วนสำคัญและส่งผลต่อการศึกษามานุษยวิทยาผัสสะ เช่น อุปกรณ์โสตทัศน์ที่นักมานุษยวิทยาทัศนาใช้ในการทำงานวิจัยยังมีส่วนช่วยให้พวกเขาสามารถถ่ายทอดเรื่องราวได้มากกว่าการสังเกตด้วยดวงตาเพียงอย่างเดียว การใช้ผัสสะในงานชาติพันธุ์นิพนธ์ถึงแม้จะให้ความสำคัญกับกระบวนการมองเป็นสำคัญแต่ก็มิอาจละเลยผัสสะทางอื่นได้ เสียง ความรู้สึก ความคิด และจินตนาการล้วนเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกัน มีส่วนสำคัญในกระบวนการคิด วิธีการและการนำเสนอเรื่องราวของนักมานุษยวิทยา

           ในบทความสุดท้าย มานุษยวิทยาดิจิทัล : ทฤษฎีและวิธีวิทยาศึกษาสังคมดิจิทัล โดย รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวถึง พัฒนาการและบทบาทของเทคโนโลยีดิจิทัลในการศึกษาทางมานุษยวิทยา ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการพัฒนาเทคโนโลยีจนทำให้เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตของมนุษย์มากขึ้น ในงานเขียนชิ้นนี้ ผู้เขียนได้แบ่งกลุ่มการศึกษาออกเป็น 5 กลุ่ม ด้วยกัน ได้แก่ สังคมเครือข่าย ชุมชนดิจิทัล ภาษาดิจิทัล เครือข่าย-วัตถุ-สังคม-ปัจเจก-สิ่งแวดล้อม และ วัตถุดิจิทัลพ้นมนุษย์ โดยนำเสนอตัวอย่างการศึกษาสังคมดิจิทัลในมิติที่หลากหลายและแสดงให้เห็นถึงการที่เทคโนโลยีดิจิทัลสอดแทรกเข้าไปยังส่วนต่าง ๆ ในชีวิตของมนุษย์ ประเด็นสุดท้ายที่ผู้เขียนนำเสนอทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจ คือ จริยธรรมการวิจัยในสังคมดิจิทัลที่จำเป็นต้องมีข้อถกเถียงและทบทวนแนวทางการดำเนินการให้ถูกต้องและสอดคล้องกับสิทธิ รวมถึงจริยธรรมการวิจัยในคน

           หนังสือเรื่องนี้รวมถึงหนังสืออื่นของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรพร้อมให้บริการที่ห้องสมุด ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ห้องสมุด หรือติดต่อเพื่อขอยืมหนังสือผ่านทาง Facebook Fanpage: ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร – SAC Library และ Line: @sac-library

           หนังสือ มานุษยวิทยาพ้นมนุษย์ จำหน่ายที่ SAC Shop และ SAC Shop Online ในราคา 350 บาท สั่งซื้อที่เว็บไซต์ https://shop.sac.or.th/th/product/104/

 

เอกสารอ้างอิง
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). (2022, January 6). เปิดตัวหนังสือเล่มใหม่ล่าสุด Posthuman Anthropology มานุษยวิทยาพ้นมนุษย์ [Video]. YouTube. https://www.youtube.com/watch?v=sn7yP7Y4Nj4


ผู้เขียน

จรรยา ยุทธพลนาวี

รักษาการผู้จัดการฝ่ายบริการสารสนเทศ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ Posthuman Anthropology มานุษยวิทยาพ้นมนุษย์ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร จรรยา ยุทธพลนาวี

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share