สำนวนภาษาจากยาหม้อใหญ่ EP04 ตอน ไม่กินเส้น

 |  โบราณคดี และประวัติศาสตร์
ผู้เข้าชม : 1708

สำนวนภาษาจากยาหม้อใหญ่ EP04 ตอน ไม่กินเส้น

           หากมีใครบางคนไม่ถูกต้องชะตากัน มองหน้ากันไม่ค่อยได้ พูดคุยกันก็ไม่ยืดออกแนวชวนทะเลาะหาเรื่อง แบบอย่างคู่พระคู่นางในละครไทย เมื่อมองผ่านสายตาคนนอกก็จะบอกว่าคู่นี้ หรือคนกลุ่มนี้เขา เกาเหลากัน

           เหตุที่เป็นเกาเหลาเพราะมีที่มาจากคำว่า ไม่กินเส้น หากเราจะกินก๋วยเตี๋ยวสักถ้วยแต่ไม่อยากกินเส้น ก็เท่ากับว่าเรากินเกาเหลานั่นเอง ปัจจุบันเราคงไม่ค่อยได้ยินหรือได้ยินน้อยลงไปมากแล้วกับสำนวนที่ว่า ไม่กินเส้น เพราะสำนวนนี้ได้แปรคำออกไปเป็นคำว่า เกาเหลา และเป็นที่นิยมใช้กันทั่วไปจนรู้จักกันดีกว่า

           จริง ๆ แล้ว สำนวน ไม่กินเส้น ที่เราใช้ในความหมายเชิงการไม่ถูกชะตากันระหว่างคนสองคน หรือคนสองฝ่าย และสำนวนนี้ยังได้พัฒนาไปเป็น เกาเหลา นั้น ไม่ได้มีที่มาจากเส้นของก๋วยเตี๋ยวแต่อย่างใด หากมาจาก เส้น ในร่างกายคนเรานั่นเอง

           ในแวดวงการแพทย์แผนไทย ประเภทนวดแผนโบราณ เขาจะมีตำรับตำราการนวดแบบหนึ่งที่เรียกว่า “แผนเส้น” ที่กล่าวและอธิบายถึงเส้นภายในร่างกายมนุษย์ทั้งหมดที่มีการเชื่อมโยงกันตั้งแต่ปลายเท้าจรดศีรษะ ตำรานวดแผนโบราณเขาว่าไว้ว่าเส้นในร่างกายมนุษย์นี้มีถึง 72,000 เส้น!

           ภายในเส้นอันยุ่งเหยิงทั้ง 72,000 เส้นนี้ จะมีเส้นที่เป็นเส้นหลักในร่างกายที่เรียกว่า เส้นประธาน อยู่ 10 เส้นเท่านั้น เส้นประธานทั้งสิบมีชื่อเรียกดังนี้ 1.เส้นอิทา 2.เส้นปิงคลา 3.เส้นสุมนา 4.เส้นกาลทารี 5.เส้นสหัศรังสี 6.เส้นทวารี 7.เส้นจันทภูสัง 8.เส้นรุชัง 9.เส้นสุขุมัง และ 10.เส้นสิกขินี ชื่อเรียกเส้นประธานทั้งสิบนี้อาจมีชื่อเรียกอื่นที่แตกต่างกันไปบ้าง อย่างในหนังสือสมุดไทยตำราแผนนวดของนายชู ฉบับวัดสำโรง เส้นที่ 7 เส้นจันทภูสัง จะเรียกว่า เส้นลาวุสังข์ เส้นที่ 8 เส้นรุชัง จะเรียก่า เส้นอุลังกัน เส้นที่ 9 เส้นสุขุมัง จะเรีกว่า เส้นอนันทกระวัด

NPT010-001-ตำราแผนนวดนายชู ฉบับวัดสำโรง

https://www.sac.or.th/databases/manuscripts/main.php?m=document&p=item&id=302


           การรักษาโรคต่าง ๆ ด้วยการนวด หมอนวดก็จะนวดเฟ้นหรือกดจุดเส้นทั้งหลายในร่างกายเพื่อให้ผ่อนคลายและหายจากโรคที่เป็นอยู่ ซึ่งแต่ละโรคแต่ละอาการก็มีการนวดเส้นที่แตกต่างกัน หากหมอนวดทำการนวดเฟ้นแล้วคนไข้ไม่หาย ไม่คลายจากอาการที่เป็นอยู่ คนไข้ก็จะบอกว่าหมอนวดคนนี้นวด ไม่ถูกเส้น หรือ ไม่กินเส้น หมายถึง นวดไม่ดี นวดไม่โดน นวดแล้วไม่หาย คนไข้ก็จะไม่อยากไปใช้บริการ หรือไม่อยากไปพบเจอกับหมอนวดคนนี้อีก ลักษณะอาการที่ไม่อยากไปพบเจอกับหมอนวดเพราะนวดไม่ดี ไม่ถูกใจนั้น จึงเกิดเป็นสำนวน ไม่กินเส้น เพราะความขัดข้องหมองใจระหว่างคนไข้กับหมอนวด ต่อมาบริบทการใช้งานสำนวนไม่กินเส้นนี้ก็กว้างออกไปจากแวดแวงการแพทย์แผนไทย กลายเป็นสำนวนที่ใช้กันทั่วไป และมีความหมายในเชิงไม่ถูกชะตากัน พัฒนากลายมาเป็นสำนวน เกาเหลา ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน


ผู้เขียน

ดอกรัก พยัคศรี

นักวิชาการคลังข้อมูล ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ สำนวนภาษา ไม่กินเส้น เอกสารโบราณ ดอกรัก พยัคศรี

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share