วิพากษ์ศัพทมูลวิทยา: มะเร็ง

 |  โบราณคดี และประวัติศาสตร์
ผู้เข้าชม : 3690

วิพากษ์ศัพทมูลวิทยา: มะเร็ง

           วันนี้และโอกาสต่อ ๆ ไป ผมจะขอนำเสนอบทความที่เกี่ยวกับการสืบค้นที่มาของคำศัพท์ที่อาจเป็นคำในภาษาไทย หรือคำภาษาต่างประเทศที่อาจเกี่ยวข้องกับบริบทการเรียนรู้ของสังคมไทยปัจจุบัน ด้วยประเด็นที่ผมเรียกว่า วิพากษ์ศัพทมูลวิทยา (critical etymology) นั่นคือการวิเคราะห์คำเพื่อหาที่มาและความหมายของคำนั้น ด้วยวิธีการวิพากษ์ความเป็นไปได้ของข้อสันนิษฐานต่าง ๆ รวมไปถึงหาข้อสรุปเกี่ยวกับความหมายและที่มาของคำ ซึ่งอาจสรุปได้หรือยังสรุปไม่ได้ ก็ได้เช่นกัน และวันนี้ผมขอเสนอคำว่า “มะเร็ง”

           “มะเร็ง” หรือคำเลี่ยงคือ “เนื้อร้าย” นั้น เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ ซึ่งเกิดขึ้นได้กับอวัยวะสำคัญของร่างกาย ความผิดปกติดังกล่าวทำให้เซลล์แบ่งตัวอย่างรวดเร็วเกิดเป็นเนื้องอกที่อวัยวะนั้น เป็นผลให้อวัยวะนั้นถูกทำลายและหยุดทำงาน หากไม่รีบกำจัดเซลล์มะเร็งก่อการลุกลามแล้ว ก็ย่อมเป็นสาเหตุให้เจ้าของร่างกายเสียชีวิต ทั้งนี้เซลล์มะเร็ง ณ อวัยวะหนึ่ง สามารถลุกลามไปยังอวัยวะอื่นได้อีกด้วย

           คำว่า “มะเร็ง” ในภาษาไทยนี้ “หนังสืออักขราภิธานศรับท์” ของหมอปรัดเล ให้นิยามว่า “มะเร็ง, เปนชื่อโรคร้ายอย่างหนึ่ง, มันให้เปนแผลเปื่อยพัง รักษายากนัก.” (Bradley 1873: 507)

           จากนิยามข้างต้นที่ใช้คำว่า “แผลเปื่อย” ก็ย่อมแสดงให้เห็นว่า “มะเร็ง” เป็นโรคที่เกิดภายนอกร่างกาย ซึ่งควรเป็นแผลเรื้อรังตามผิวหนัง และจากปีตีพิมพ์พจนานุกรมฉบับนี้ ก็แสดงให้เห็นด้วยว่าอย่างน้อยเมื่อ พ.ศ. 2416 “มะเร็ง” ยังเป็นเพียงโรคแผลเปื่อยตามผิวหนังเท่านั้น อย่างไรก็ตาม “พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554” ได้ให้นิยามที่ขยายความหมายขึ้น ซึ่งล้อไปกับนิยามของโรคแคนเซอร์ (cancer) ของภาษาอังกฤษว่า

           “มะเร็ง น. เนื้องอกชนิดร้าย เกิดขึ้นเพราะเซลล์แบ่งตัวอย่างรวดเร็ว ควบคุมไม่ได้ แล้วแทรกไปตามเนื้อเยื่อข้างเคียง และสามารถหลุดจากแหล่งเริ่มต้นไปแบ่งตัวเพิ่มจำนวนที่บริเวณอื่นๆ ได้ รักษาไม่ค่อยหาย. (อ. cancer)” (ราชบัณฑิตยสถาน 2556: 894)

           พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 มิได้ระบุที่มาของคำว่า “มะเร็ง” ว่ามาจากภาษาใด มีเพียงแต่เทียบว่าตรงกับคำอังกฤษคือ cancer เท่านั้น เหตุนี้ ผมจึงสงสัยว่า “มะเร็ง” เป็นคำไทย หรือคำเทศ?

1. เหมือนจะใช่ แต่ไม่ใช่

           คำเทศต้องสงสัยคำแรกนั้น เป็นคำมลายูว่า “merengsa” (เมอเร็งซา) โดยมีผู้ศึกษาคำพ้องไทย-มลายู เสนอว่า มะเร็ง ตรงกับ “merengsa” (เมอเร็งซา) แปลว่า รักษาไม่หาย ในขณะที่ภาษามลายูเรียกมะเร็งว่า “barah” (บาระฮ์) อนึ่ง พจนานุกรมภาษามลายูของ “ศูนย์การอ้างอิงวรรณกรรมมลายู” (PRPM 2022: merengsa; rengsa) ให้ความหมายของ merengsa ไว้ 2 แบบคือ (1) ขี้เกียจ (เช่น ทำงาน) และ (2) ยากเยียวยา (เช่น บาดแผล) อันที่จริง merengsa มาจาก me (คำอุปสรรค) + rengsa (คำกริยา) โดยคำว่า rengsa นั้น มีความหมายหลายแบบแล้วแต่บริบทการใช้คือแปลว่า อ่อนเปลี้ย เฉื่อยชา ขี้เกียจ ระคายเคือง ก็ได้

           ในความเห็นของผมนั้น คำว่า “มะเร็ง” ของภาษาไทย ไม่ได้มาจากภาษามลายูว่า merengsa เพราะ (1) วัฒนธรรมทางการแพทย์แผนโบราณระหว่างไทยกับมลายูนั้น ไม่ได้ใกล้ชิดกัน ถ้ามีการยืมศัพท์ ก็ไม่ควรยืมมาเพียงคำนี้คำเดียว ดังนั้น จึงเป็นไปได้ยากที่ศัพท์โรคไทยจะมีการยืมชื่อโรคมาจากภาษามลายู ทั้งนี้มะเร็งเป็นโรคสามัญที่ไทยเองก็มีอยู่แล้ว (2) การรับคำยืมชื่อโรคนั้น โดยทั่วไปจะรับ “ชื่อของโรค” ตามภาษาต้นทางมาใช้เลย เช่น AIDS (เอดส์) หรือ COVID-19 (โควิด-19) ในกรณีคำว่า merengsa นั้น เป็นคำกริยาแปลว่า รักษาไม่หาย หรือ ยากเยียวยา ไม่ได้เป็นชื่อโรค แต่อาจ “พ้อง” กับลักษณะของโรคมะเร็งที่รักษาไม่หาย และพ้องเสียงกันโดยบังเอิญเท่านั้น ดังมีตัวอย่างคำพ้องเสียง-พ้องความหมายระหว่างคำไทยกับคำต่างชาติเช่น ภาษาอังกฤษคือ ริม-rim เป็นต้น ดังนั้น ผมสรุปเบื้องต้นว่า มะเร็ง ไม่ได้มาจากคำว่า merengsa

           คราวนี้ลองมาดูคำเทศฝ่ายเขมรกันบ้าง ในภาษาเขมรมีศัพท์ที่หมายถึง “มะเร็ง” อยู่ 2 คือ (1) មហារីក (มหารีก) และ (2) ម្រេញ (เมฺรญ) แต่คำว่า “เมฺรญ” นั้น พจนานุกรมภาษาเขมร-อังกฤษ (Headley et al. 1977: 727 & 773) ระบุว่าเป็นคำยืมจากภาษาไทยนั่นคือศัพท์ว่า “มะเร็ง” ที่เรากำลังหาที่มา ส่วนอีกคำคือ “มหารีก” นั้น เป็นคำลูกครึ่งระหว่าง “มหา” (មហា; คำสันสกฤต-บาลี) แปลว่า ใหญ่ กับ “รีก” (រីក; คำเขมร) แปลว่า บาน (to blossom, to bloom) หรือ ปริแตก (to burst) หรือ บวมพอง (to inflate, to swell) ดังนั้น ความหมายตามรูปคำของ “มหารีก” คือ “บานใหญ่” หรือ “พุพองใหญ่” ซึ่งเป็นลักษณะของแผลพุพองขนาดใหญ่ เบื้องแรกนั้น ผมสงสัยว่า มะเร็ง จะมาจาก มหารีก หรือไม่ ทั้งนี้เกิดจากกระบวนการกร่อนเสียงจาก มหารีก เป็น *มาเร็ก จากนั้น มีการกร่อนเสียงแม่กกของพยางค์ท้ายจาก เร็ก เป็น เระ จึงได้คำเป็น *มาเระ และสุดท้าย เระ กลายเสียงด้วยการลงแม่กง จาก เระ เป็น เร็ง จึงได้คำว่า *มาเร็ง สุดท้ายกร่อนมาถึงภาษาไทยเป็นคำว่า “มะเร็ง” อย่างไรก็ตาม ความคิดดังกล่าวของผมก็เปลี่ยนไปเมื่อผมได้เปิดโลกทัศน์คำศัพท์ โดยมองให้กว้างออกไปอีกในตระกูลภาษาไท ซึ่งผมได้พบว่ามีอะไรน่าสนใจมาเล่าสู่กันฟังได้ และผมเชื่อว่า ผมพบความหมายดั้งเดิมของคำว่า “มะเร็ง” แล้ว

2. ค้นคำไทโบราณ

           หากเราพินิจคำว่า “มะเร็ง” ด้วยการสืบคำไทโบราณแล้ว ก็จะเห็นร่องรอยว่า พยางค์ “มะ” ควรตรงกับคำว่า “หมาก” ดังที่รู้กันว่า บรรดาศัพท์ที่ขึ้นต้นด้วย “มะ” ในภาษาไทยปัจจุบัน ถูกกร่อนเสียงมาจากคำว่า “หมาก” เช่นคำศัพท์ในจารึกพ่อขุนรามคำแหงว่า หมากม่วง หมากขาม ตรงกับคำปัจจุบันคือ มะม่วง มะขาม ดังนั้น ในชั้นแรกนี้ คำว่า มะเร็ง ควรสืบสร้างได้เป็น *หมากเร็ง หรือ *หมากเรง ปัญหาที่ต้องสืบสวนคือ “เรง” แปลว่าอะไร ที่จะมีความหมายเหมาะสมในการขยายความหมายของ “หมาก” ให้หมายถึงโรคที่เกี่ยวกับเนื้องอก หรือโรคตามผิวหนัง และมีหลักฐานยืนยันความมีอยู่ของคำสืบสร้าง *หมากเรง หรือไม่?

           เหตุนี้ ผมจึงขยับมาพิจารณาคำถิ่นไทภาคเหนือ หรือที่เรียกว่า ภาษาล้านนา ว่าพอจะให้ข้อมูลอะไรที่สามารถนำมาปะติดปะต่อได้อีกบ้าง ผมพบว่าใน “พจนานุกรมล้านนา-ไทย ฉบับแม่ฟ้าหลวง” (อุดม รุ่งเรืองศรี 2533: 673-674)ได้เก็บคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับโรคผิวหนังผื่นพุพองชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “บ่าเรง” (สำเนียงถิ่นไทเหนืออ่าน บ่าเฮง, อักษร “ร” ออกเป็น “ฮ” เช่น ไร่ เป็น ไฮ่) โดยอธิบายว่า คำว่า “บ่า” นั้น กร่อนเสียงจากคำว่า “หมาก” พจนานุกรมได้นำเสนอชื่อโรคบ่าเรงไว้หลายชนิด และให้คำอธิบายไว้ดังนี้ คือ

           บ่าเรง น. มะเร็ง - โรคเนื้อร้ายที่เกิดขึ้นตามร่างกาย บ่าเฮง ก็ว่า. บ่าเรงคุต น. โรคที่ทำให้เกิดอาการปวดตามท้ายทอย หรือเป็นลมออกตา ทำให้ตาแดง มีอาการปวดและแสบร้อน บางท่านว่า ทำให้กระดูกงอ, กระดูกผุ ซึ่งอาจตรงกับโรครูมาตอยด์. บ่าเรงไข่ปลา น. โรคเนื้อร้ายที่เกิดเป็นตุ่มมีน้ำใส เกิดขึ้นเป็นหย่อม ๆ ทำให้ปวดแสบปวดร้อน. บ่าเรงเต้น น. โรคเนื้อร้ายที่เกิดเป็นตุ่มช้ำ เกิดขึ้นประปรายตามผิวหนัง ทำให้ปวดแสบปวดร้อน. บ่าเรงฟ้าม้าน น. โรคเนื้อร้าย ทำให้ผิวช้ำ หรือเป็นวงตามร่างกาย และทำให้ปวดแสบปวดร้อน. บ่าเรงไฟลามม่อน น. โรคเนื้อร้ายคล้ายบ่าเรงไข่ปลา เพียงแต่หากแผลแห้งที่หนึ่งแล้ว ก็จะไปเป็นที่อื่นต่อไปอีก. บ่าเรงไฟไหม้ น. โรคเนื้อร้ายที่แผลเกรียม ปวดแสบปวดร้อน. บ่าเรงอ้อม น. โรคงูสวัด - โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง มีอาการอักเสบอย่างเฉียบพลันที่ปมประสาทไขสันหลัง และพุพองเป็นเม็ดพองตามผิวหนังเป็นทางยาวพาดขวางลำตัว เป็นต้น ทำให้ปวดแสบปวดร้อน. (อุดม รุ่งเรืองศรี 2533: 673-674)

           จากชื่อโรคและนิยามดังกล่าวนี้ ทำให้ทราบว่า “บ่าเรง” กร่อนเสียงมาจาก “หมากเรง” และเทียบได้กับคำไทยปัจจุบันคือ “มะเร็ง” ซึ่งเป็นหลักฐานสนับสนุนคำสืบสร้าง *หมากเรง ข้างต้นของผม แต่ความหมายโบราณของ “บ่าเรง” ไม่ตรงกับความหมายปัจจุบันของ “มะเร็ง” กล่าวคือ “บ่าเรง” เป็นคำเรียกรวม ๆ ของโรคผิวหนังมีลักษณะเป็นผื่นอักเสบพุพอง ซึ่งสามารถจำแนกเรียกออกไปได้อีกหลายชนิดตามลักษณะของโรค แต่ “มะเร็ง” ตามความหมายปัจจุบันนั้น เป็นคำเรียกรวม ๆ ของโรคเนื้องอกทั้งภายนอกและภายในร่างกาย รวมไปถึงความผิดปกติของเซลล์ในระบบต่อมต่าง ๆ ซึ่งเป็นการแปลเทียบจากภาษาอังกฤษ ที่เรียกโรคนี้ว่า แคนเซอร์ (cancer) อนึ่ง ปัญหายังคงอยู่ที่ว่า “เรง” แปลว่าอะไร เพราะในพจนานุกรมฉบับนี้ ก็มิได้ให้ความหมายไว้ ดังนั้น เป็นไปได้หรือไม่ว่า “เรง” อาจอยู่ในกลุ่มคำไทโบราณที่มีการเพี้ยนเสียงไปมากันระหว่าง นั่นคือ *เลง *เรง *เหง (รูปอักษร “ร” ออกเสียง “ฮ/ห” ได้)

           ดังนี้แล้ว ผมจึงขยับต่อ โดยไปสืบค้นคำในภาษาไทใหญ่ จาก 3 แหล่งคือ (1) “พจนานุกรมภาษาไทใหญ่-ไทย” จัดทำโดยสถาบันภาษา ศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ซึ่งมีคำว่า “หมากแล้ง” (မၢၵ်ႇလႅင်း) แปลว่า มะเร็ง หรือ งูสวัด (มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ 2552: 307) แต่เมื่อดูความหมายของคำว่า “แล้ง” (လႅင်း) กลับพบว่าคำนี้หมายถึง แจ้ง สว่าง กระจ่าง หรือ คลื่นน้ำ (มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ 2552: 352) ซึ่งไม่สอดคล้องกับความหมายในทางโรค แต่น่าสนใจว่า ที่แปลว่า คลื่นน้ำนั้น เทียบลักษณะได้กับ “ผื่น” ได้หรือไม่? (คลื่น/ผื่น) กระนั้น เราก็ได้เห็นว่า คำว่า “แล้ง” อยู่ในระบบการเลื่อนเสียงในกลุ่มคำสันนิษฐาน *เลง *เรง *เหง ดังนั้น จึงน่าสนใจว่า จะมีคำว่า *หมากเหง ด้วยหรือไม่?

           ข้อมูลภาษาไทใหญ่แหล่งที่ 2 คือ พจนานุกรมไทใหญ่-อังกฤษออนไลน์ของซีแลง (SEAlang 2022) ซึ่งเรียบเรียงจากงานของ Sao Tern Moeng (1995) ที่ได้ปรับปรุงคำศัพท์ใหม่จากงานของ Cushing (1914) เมื่อผมค้นคำว่า “cancer” จึงได้คำตอบว่า

           မၢၵ်ႇႁဵင်း (มาก,เหง์: อ่าน หมากเฮ้ง) น. เนื้องอกร้ายแรง (malignant tumor), มะเร็ง (cancer) (SEAlang 2022; Sao Tern Moeng 1995); เทียบศัพท์ *หมากเหง.

           และคำว่า “เฮ้ง” (หรือ ล้านนา เรง (อ่าน เฮง)) นี่เอง ที่จะไขความความหมายดั้งเดิมของ “มะเร็ง” ผมจึงค้นหาความหมายของ “เฮ้ง” ต่อและได้ความว่า

           ႁဵင်း (เหง์: อ่าน เฮ้ง) มีขนาดเล็ก, เทียบ လဵၵ်ႉ (เลก์. อ่าน เล่ก = เล็ก) (SEAlang 2022; Sao Tern Moeng 1995; มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ 2554: 387).

           ดังนั้น ผมจึงสรุปเป็นเบื้องต้นได้ว่า “หมากเฮ้ง” แปลตามรูปคำได้ว่า “เม็ดเล็ก” เทียบกับลักษณะของโรคทางผิวหนังคือ “เม็ดตุ่มขนาดเล็กที่ขึ้นเป็นผื่นบนผิวหนัง” และเพื่อยืนยัน “ความหมายดั้งเดิมของมะเร็ง” ผมจึงได้สืบค้นพจนานุกรมที่ถือได้ว่ารวมคำศัพท์ไทใหญ่ไว้มากที่สุดคือ พจนานุกรมภาษาไทใหญ่-อังกฤษ ของ Cushing (1914) ซึ่งแม้จะเป็นการสะกดที่ใช้อักขรวิธีต่างไปจากปัจจุบันการสะกดคำของภาษาไทใหญ่ปัจจุบัน แต่ก็ไม่ทำให้ผิดหวังเพราะ Cushing ได้เก็บศัพท์เกี่ยวกับโรคทางผิวหนังที่ขึ้นต้นด้วย “หมาก” ไว้จำนวนหนึ่ง และยังให้นิยามด้วยว่า คำว่า “หมาก” มีความหมายดังนี้ (คำไทใหญ่สะกดตามพจนานุกรม ซึ่งไม่ได้ระบุวรรณยุกต์แบบปัจจุบัน และสระบางตัวใช้ต่างจากระบบปัจจุบัน)

           မၵ် (มก์ อ่าน หมัก หรือ หมาก) - ก. ออกผล; น. (1) ผลของต้นไม้, (2) ใช้หมายถึงสิ่งที่มีลักษณะกลม เช่น ก้อนหิน (มก์หิน์ อ่าน หมากหีน = ลูกหิน); ตา (มก์ตา อ่าน หมากต๋า = ลูกตา); (3) โรคที่มีลักษณะเป็นผื่นผิวหนัง. (Cushing 1914: 466)

           โรคผิวหนังที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า “หมาก” มีดังนี้

           မၵ်မူ (มก์มู) เทียบอักขรวิธีปัจจุบัน: မၢၵ်ႇမူ (มาก์,มู) อ่าน หมากหมู (เม็ดผื่นพบในหมู) คือ อีสุกอีใส (chicken pox).

           မၵ်လိင် (มก์ลิง์) เทียบอักขรวิธีปัจจุบัน: မၢၵ်ႇလႅင် (มาก์,แลง์) อ่าน หมากแหลง, เทียบศัพท์คือ หมากแดง (เม็ดผื่นสีแดง) คือ โรคหัด (the measles).

           မၵ်လိင် (มก์ลิง์) เทียบอักขรวิธีปัจจุบัน: မၢၵ်ႇလႅင်း (มาก์,แลง์:) อ่าน หมากแล้ง, เทียบความหมาย “แล้ง” คือ หมากคลื่น, เทียบศัพท์ “คลื่น” คือ หมากผื่น (เม็ดผื่นแผ่ลุกลาม) คือ โรคไฟลามทุ่ง (erysipelas).

           မၵ်လုင် (มก์ลุง์) เทียบอักขรวิธีปัจจุบัน: မၢၵ်ႇလူင် อ่าน หมากโหลง, เทียบศัพท์คือ หมากหลวง (เม็ดผื่นขนาดใหญ่) คือ ฝีดาษ (smallpox).

           မၵ်ႁိင် (มก์หิง์) เทียบอักขรวิธีปัจจุบัน: မၢၵ်ႇႁဵင်း (มาก์,เหง์:) อ่าน หมากเฮ้ง, เทียบความหมาย “เฮ้ง” คือ หมากเล็ก หมายถึง ชื่อทั่วไปของโรคเม็ดผื่นผิวหนังอักเสบ.

           ข้อมูลเหล่านี้ทำให้สรุปได้อีกขั้นหนึ่งว่า “หมากเฮ้ง” หมายถึง เม็ดผื่นขนาดเล็กที่แผลพุพองแผ่ลามไปทั่วไปตามผิวหนัง หรือ อาจเรียกว่า “โรคเม็ดผื่นผิวหนังอักเสบ” ก็คงได้ และนี่คือความหมายดั้งเดิมของ “มะเร็ง” ก่อนที่จะถูกความหมายจากภาษาอังกฤษคือ cancer มา “ครอบความหมายเดิม” ทำให้ความหมายของมะเร็ง ถูกขยายให้กว้างขึ้นเป็นอย่างที่เข้าใจกันในปัจจุบัน

           ก่อนที่ผมจะปิดการสืบสวนคำว่า “มะเร็ง” นี้ ผมจะขอนำเสนอศัพท์ไทใหญ่ที่ขึ้นต้นด้วย “หมากเฮ้ง” ตามที่ Cushing เก็บศัพท์ไว้อีก 4 โรค ดังนี้

           မၵ်ႁိင်ၶႆပႃ (มก์หิง์ไขปา) เทียบอักขรวิธีปัจจุบัน: မၢၵ်ႇႁဵင်းၶႆႇပႃ (มาก์,เหง์:ไข,ป๋า) อ่าน หมากเฮ้งไข่ป๋า, เทียบศัพท์ หมากเหงไข่ปลา หรือ มะเร็งไข่ปลา (ล้านนา: บ่าเรงไข่ปลา) คือ เริม หรือ งูหวัด (kind of herpes)

           မၵ်ႁိင်ၽႆ (มก์หิง์ไพ) เทียบอักขรวิธีปัจจุบัน: မၢၵ်ႇႁဵင်းၽႆး (มาก์,เหง์:ไพ:) อ่าน หมากเฮ้งไพ้, เทียบศัพท์ หมากเหงไฟ หรือ มะเร็งไฟ คือ โรคไฟลามทุ่งชนิดหนึ่ง (a kind of erysipelas)

           မၵ်ႁိင်ယတ် (มก์หิง์ยต์) เทียบอักขรวิธีปัจจุบัน: မၢၵ်ႇႁဵင်းယွတ်ႇ (มาก์,เหง์:ยฺวต์,) อ่าน หมากเฮ้งหยอด, เทียบศัพท์ หมากเหงหยด หรือ มะเร็งหยด คือ โรคไฟลามทุ่งชนิดหนึ่ง ร้ายแรงถึงตาย (a kind of erysipelas, malignant);ผมเข้าใจว่า เป็นอาการผิวหนังอักเสบมีเลือดน้ำเหลืองหยดซึม จึงเรียก มะเร็งหยด

           မၵ်ႁိင်ႁုဝ်သိုဝ် (มก์หิง์หุว์สุิว์) เทียบอักขรวิธีปัจจุบัน: မၢၵ်ႇႁဵင်းႁူဝ်သိူဝ် (มาก์,เหง์:หูว์สูิว์) อ่าน หมากเฮ้งโหเสอ, เทียบ หมากเหงหัวเสือ หรือ มะเร็งหัวเสือ คือ โรคไฟลามทุ่งชนิดหนึ่ง ซึ่งลุมลามที่หัว ถึงตายได้ (a kind of erysipelas which attacks the head and is fatal)

           สุดท้ายนี้ ผมขอสรุปประเด็นเกี่ยวกับวิพากษ์มูลศัพท์ (critical etymology) ของคำว่า มะเร็ง ไว้ 2 ประเด็นคือ ความหมายดั้งเดิมของคำ และความหมายที่เปลี่ยนไปดังนี้

           (1) ต้นเค้าเดิม: “มะเร็ง” มีรากคำอยู่ในภาษาตระกูลไท ไม่ใช่คำยืมจากภาษาตระกูลอื่น และสามารถนำไปเทียบได้กับคำล้านนาว่า “บ่าเรง” และคำไทใหญ่ว่า “หมากเฮ้ง” การเปรียบเทียบนี้ ทำให้ทราบว่าทั้งคำว่า “มะเร็ง” และ “บ่าเรง” ถูกกร่อนเสียงมาจากคำร่วมไทโบราณว่า *หมากเรง ซึ่งมีรากคำร่วมกับ “หมากเฮ้ง” ของไทใหญ่ โดยเสียง ร- / ฮ- เลื่อนเสียงกันได้

           (2) ความหมายเปลี่ยนแปลง: จากการสืบความหมายคำว่า “หมากเฮ้ง” (เทียบศัพท์ มะเร็ง) ของภาษาไทใหญ่ทำให้ทราบว่า ความหมายตามคำศัพท์ของ “หมากเฮ้ง” คือ “ตุ่มเม็ดเล็กๆ” เพราะ “หมาก” แปลว่า ลูก หรือ ในบริบทนี้คือ ตุ่มเม็ด ส่วน “เฮ้ง” แปลว่า มีขนาดเล็ก ด้วยเหตุนี้ “หมากเฮ้ง” จึงหมายถึง โรคผิวหนังอักเสบที่มีลักษณะเป็นผื่นตุ่มขนาดเล็ก ซึ่งเป็นโรคภายนอกร่างกาย ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า ความหมายดั้งเดิมของ “มะเร็ง” คือ คำเรียกรวมโรคผิวหนังหลายชนิดแบบกว้างๆ ที่มีลักษณะเป็นตุ่มผื่นผิวหนังอักเสบ แต่เมื่อการแพทย์แผนปัจจุบันของประเทศไทยมีการยกเอาคำว่า “มะเร็ง” แปลเทียบกับ “cancer” ของภาษาอังกฤษ จึงทำให้ความหมายของ “มะเร็ง” ได้ขยายเทียบเท่าความหมายของ cancer ไปด้วย นั่นคือ เป็นโรคเนื้องอกทั้งที่เกิดภายนอกและภายในร่างกาย และนี่คือความหมายที่เปลี่ยนไปของคำว่า “มะเร็ง” จากต้นทางที่เป็นเพียงโรคผิวหนัง มาเป็นโรคเนื้องอกภายในและนอกร่างกาย

สรุปนิยามเชิงมูลศัพท์วิทยา (ตรงใจ หุตางกูร 2566):

           มะเร็ง น. โรคที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ที่แบ่งตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งเกิดขึ้นได้กับอวัยวะทั้งภายในและภายนอกร่างกาย ภายในเช่น มะเร็งตับ มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งปอด ภายนอกเช่น มะเร็งผิวหนัง หรือลุกลามจากภายในออกมาภายนอกเช่น มะเร็งเต้านม หากลุกลามอย่างรุนแรงย่อมเป็นเหตุให้ถึงแก่ชีวิต;ความหมายเดิม: โรคผิวหนังอักเสบมีลักษณะเป็นผื่นตุมเม็ดเล็กๆ. จาก คำร่วมไท: *หมากเรง, เทียบ ล้านนา: บ่าเรง (อ่าน บ่าเฮง); ไทใหญ่: မၢၵ်ႇႁဵင်း (อ่าน หมากเฮ้ง = โรคเม็ดผื่นผิวหนังอักเสบ), จาก หมาก (= ลูก เม็ด ตุ่มเม็ด) + เฮ้ง (= มีขนาดเล็ก).

 

เอกสารอ้างอิง

มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่, 2552. พจนานุกรมภาษาไทใหญ่-ไทย ฉบับเฉลิมพระเกียรติ 600 ปี พระญาติโลกราช 85 ปี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่. เชียงใหม่: สถาบันภาษา ศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่.

ราชบัณฑิตยสถาน, 2556. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2555. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน.

Bradley D., 1873. อักขราภิธานศรับท์: Dictionary of the Siamese Language. Bangkok: (n.p.).

Cushing J.N., 1914. A Shan and English Dictionary. Rangoon: American Baptist Mission Press.

PRPM, 2022. Internet: Pusat Rujukan Persuratan Melayu: merengsa & rengsa. url: https://prpm.dbp.gov.my

Sao Tern Moeng, 1995. Shan-English Dictionary. Kensington: Dunwoody Press.

SEAlang, 2022. Internet: SEAlang Library Shan, Dictionary Bitexts.
url: http://sealang.net/shan/dictionary.htm


ผู้เขียน

ดร.ตรงใจ หุตางกูร

นักวิจัย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ มะเร็ง วิพากษ์ศัพท์มูลวิทยา ดร.ตรงใจ หุตางกูร

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share