การเคลื่อนที่และการหยุดนิ่ง ในการเคลื่อนย้ายศึกษา (mobility studies)

 |  แนวคิด ทฤษฎีมานุษยวิทยา
ผู้เข้าชม : 3514

การเคลื่อนที่และการหยุดนิ่ง ในการเคลื่อนย้ายศึกษา (mobility studies)

           ในยุคโลกาภิวัตน์ที่การเคลื่อนย้ายของสิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและซับซ้อนยิ่งขึ้นทุกขณะ พัฒนาการในอัตราเร่งของเทคโนโลยีและระบบคมนาคมในปัจจุบันได้นำไปสู่ความสนใจศึกษาเรื่องการเคลื่อนย้ายในหลากหลายมิติ กลุ่มงานที่เรียกว่าการเคลื่อนย้ายศึกษา (mobility studies) ถือได้ว่าเป็นกระบวนทัศน์ใหม่ที่เกิดขึ้นในสังคมศาสตร์ โดยกระบวนทัศน์ดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายศึกษาการเคลื่อนที่ (movement) ของผู้คน สิ่งของ และความคิด ที่มีนัยทางสังคม (social implication) การเคลื่อนย้ายในฐานะที่เป็นการเคลื่อนที่ของสิ่งต่าง ๆ จึงถูกศึกษาด้วยท่าทีที่เจาะลึกและให้ทัศนเชิงวิพากษ์ ภายใต้ชุดคำถามที่ว่า การเคลื่อนย้ายกำลังเปลี่ยนแปลงสังคมและกฎกติกาที่เกี่ยวข้องไปในทิศทางที่ซับซ้อนอย่างไร อีกทั้งภายใต้อิทธิพลของการเคลื่อนย้ายนั้น วิถีชีวิตของผู้คนในสังคมมีความเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างไรบ้าง (ประเสริฐ แรงกล้า, 2560, น. 132)

           เควิน ฮันนัม (Kevin Hannam) (2006) อธิบายว่าการเคลื่อนย้ายศึกษาไม่ได้สนใจเพียงการเคลื่อนย้ายในระดับมหภาค อย่างการอพยพย้ายถิ่นของผู้คนข้ามพรมแดนรัฐชาติแต่เพียงอย่างเดียว ทว่ายังสนใจการเคลื่อนย้ายแบบต่าง ๆ ในระดับชีวิตประจำวันด้วย ดังนี้เอง ท่ามกลางการศึกษาการเคลื่อนย้ายในระดับมหภาค ประเด็นศึกษาที่มีลักษณะจุลภาค อย่างความสะดวกสบายต่อการเดินทางในแต่ละวัน รวมไปถึงประสบการณ์ต่อการเดินทางในระบบขนส่งสาธารณะหนึ่ง ๆ จึงนับเป็นหัวข้อความสนใจของกระบวนทัศน์เรื่องการเคลื่อนย้ายศึกษา พร้อมกันนั้นก็ยังมีสาระเผยให้เห็นถึงประเด็นและมุมมองใหม่ ๆ ในทางสังคมศาสตร์ ที่แต่เดิมแง่มุมต่าง ๆ เกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายในระดับจุลภาคไม่ค่อยได้รับความสนใจเท่าที่ควร

           ความสนใจศึกษาเรื่องการเคลื่อนย้ายเพิ่งจะเติบโตขึ้นเมื่อไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา เพราะเดิมทีประเด็นเรื่องการเคลื่อนย้ายมักได้รับการอธิบายในแง่ของปัจจัยดึงดูดและปัจจัยผลักดัน การศึกษาในทางสังคมศาสตร์ก่อนหน้าจึงพร่องความสนใจในประเด็นเรื่องการเคลื่อนย้ายทั้งในเชิงประเด็นและสาระ ทิม เครสเวลล์ (Tim Cresswell) (2006) อธิบายว่า สภาพการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นมาจากพัฒนาการของสังคมศาสตร์ซึ่งกำเนิดขึ้นภายใต้ร่มเงาของอภิปรัชญาแบบติดที่ (sedentary metaphysics) กล่าวคืออภิปรัชญาดังกล่าวมองว่าสรรพสิ่งในธรรมชาติต่างหยุดนิ่งและดำรงอยู่ในการจัดวางเชิงโครงสร้างอย่างเป็นระบบระเบียบอยู่ก่อนแล้ว การที่สิ่งต่าง ๆ เคลื่อนตัวออกไปจากจุดที่ถูกจัดวางไว้แต่เดิมจึงถือเป็นสิ่งผิดปกติ ภายใต้อภิปรัชญาแบบนี้ ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับสังคม (society) วัฒนธรรม (culture) และ อัตลักษณ์ (identity) จึงถูกจัดเรียงอยู่ในระนาบเดียวกับสถานที่ (place) ในแนวดิ่ง ภายใต้วิธีคิดเช่นนี้ สังคม วัฒนธรรม และอัตลักษณ์จึงสอดประสานและหยั่งรากลึกโดยยึดติดอยู่กับสถานที่ การเคลื่อนย้ายซึ่งเกิดขึ้นระหว่างสถานที่หนึ่งกับอีกสถานที่หนึ่งกลายเป็นสาระและประเด็นที่ขาดหายไป อีกทั้งยังนำไปสู่ความเข้าใจต่อการเคลื่อนย้ายที่เกิดขึ้นจริงว่าเป็นขณะเวลาที่ว่างเปล่า (dead time) ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้น ปราศจากนัยสำคัญ และมักนำไปสู่การให้คำอธิบายแบบละไว้ในฐานที่เข้าใจในท้ายที่สุด

           ภายใต้กระบวนทัศน์ของการเคลื่อนย้ายศึกษาเช่นนี้ ฟิลลิป ฟานนินิ (Phillip Vannini) เสนอแนวคิดเรื่องวัฒนธรรมการเคลื่อนย้าย (mobile culture) หรือวัฒนธรรมที่สามารถเคลื่อนที่ได้ สำหรับอธิบายมิติทางวัฒนธรรมของปฏิบัติการ (practice) และประสบการณ์ (experience) ที่ผู้คนมีต่อการเดินทางผ่านระบบการคมนาคม โดยเขาอธิบายว่าการศึกษาวัฒนธรรมในความหมายนี้ถือเป็นประเด็นเฉพาะในขอบข่ายการเคลื่อนย้ายศึกษา (Vannini, 2010, pp. 111-112) การศึกษาวัฒนธรรมการเคลื่อนย้ายตามนิยามของฟานนินิจึงให้ความสนใจกับกระบวนการทางสังคมว่าด้วยการเคลื่อนที่ไปของผู้คน ตลอดจนจินตภาพเกี่ยวกับการเคลื่อนย้าย อันประกอบขึ้นจากปฏิบัติการและประสบการณ์ของคนเดินทาง ทั้งนี้เอง เขายังอธิบายต่อไปว่า ปัญหาหรือความไม่เท่าเทียมในการเดินทางแต่ละวันอันนำมาซึ่งประสบการณ์และปฏิบัติการ อาจเป็นผลมาจากแบบแผนการเดินทางหลักในสังคม คำอธิบายที่เกิดขึ้นผ่านแนวคิดเรื่องวัฒนธรรมการเคลื่อนย้าย จึงไม่ได้หมายถึงวัฒนธรรมที่จับต้องได้หรือมีอัตลักษณ์ตายตัว แต่มุ่งให้คำอธิบายเรื่องราวที่เกิดขึ้นระหว่างการเดินทางในหลายมิติ ส่งผลให้การเคลื่อนจากพื้นที่หนึ่งไปยังอีกพื้นที่หนึ่ง ไม่ใช่ขณะเวลาที่ว่างเปล่าในการสร้างคำอธิบาย แต่เป็นขณะเวลาที่เปี่ยมไปด้วยนัยความหมายภายใต้ปฏิบัติการและประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะเดินทาง

           ในทำนองเดียวกัน โอเล บี เจนเซ่น (Ole B. Jensen) (2009) อธิบายว่าในขณะที่เรากำลังศึกษาการเคลื่อนย้ายทางกายภาพของสิ่งต่าง ๆ เราก็กำลังรับมือกับบรรทัดฐาน อำนาจ อัตลักษณ์ และการก่อตัวของวัฒนธรรม (culture formation) ไปพร้อมกันด้วย วัฒนธรรมและการเคลื่อนย้ายไม่ใช่สิ่งที่ดำรงอยู่ภายนอกของกันและกัน หากแต่แท้จริงแล้ว การเคลื่อนย้ายเองก็ถือเป็นวัฒนธรรมแบบหนึ่ง ปฏิบัติการแบบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในการเคลื่อนย้ายจึงเป็นมากกว่าปฏิบัติการทางกายภาพ กล่าวคือเป็นปฏิบัติการที่มีความหมายในฐานะหนทางแบบหนึ่ง ๆ ในการเคลื่อนย้าย การเคลื่อนย้ายโดยตัวมันเองจึงถือได้ว่าเป็นวัฒนธรรมแบบหนึ่งที่มีกริยาและการรับรู้ระหว่างทางเป็นองค์ประกอบ ในทัศนะของเจนเซ่น กิจกรรมการเคลื่อนย้ายอย่างการเดิน การวิ่ง การขับรถในระดับทั่ว ๆ ไป หรือแม้แต่การโยกย้ายถิ่นฐานในระดับที่ใหญ่ขึ้น จึงมีรหัส (code) ทางวัฒนธรรมที่ผู้ศึกษาสามารถเข้าไปถอดรหัส (decode) ได้ ทั้งนี้ก็เพื่อทำความเข้าใจนัยความหมายของกริยาและการรับรู้ในฐานะที่การเคลื่อนย้ายเป็นวัฒนธรรมแบบหนึ่งโดยตัวมันเอง

           ในอภิปรัชญาแบบติดที่ ความไม่เป็นหลักแหล่งแน่ชัดและจับต้องได้ของวัฒนธรรมเช่นนี้ถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามของสังคม การพิจารณาวัฒนธรรมถูกทำให้แยกออกเป็นสองขั้วระหว่างการเคลื่อนและการไม่เคลื่อน อภิปรัชญาแบบร่อนเร่ (nomadic metaphysics) ถูกกล่าวถึงในทัศนะแบบตรงข้ามกับอภิปรัชญาแบบติดที่ อย่างไรก็ดี การพิจารณาในอีกลักษณะหนึ่งถูกนำเสนอไว้อย่างน่าสนใจ ทิม อิงโกลด์ (Tim Ingold) (2007) ตั้งคำถามว่าความเป็นสถานที่จะเกิดขึ้นได้อย่างไรหากปราศจากการเดินทางของผู้คน การมาถึงอาณาบริเวณหนึ่ง ๆ และเดินทางจากไป เป็นผลให้ผู้คนรับรู้ความแตกต่างระหว่างอาณาบริเวณที่แตกต่างกัน ประสบการณ์ที่ผู้คนรับรู้เกี่ยวกับสถานที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากการอยู่กับที่ แต่เกิดขึ้นมาจากการเคลื่อนย้าย เขายังอธิบายเพิ่มเติมว่าการเดินทางของผู้คนมีลักษณะเป็นเส้น (line) ที่เคลื่อนไปบนพื้นผิวที่เหยียบย่าง การเหยียบย่างนี้นำมาซึ่งการสร้างความเป็นสถานที่ (place-making) โดยการเดินทางที่มีรูปลักษณ์แบบเส้นไม่ได้มีลักษณะเป็นเส้นตรง หากแต่เป็นเส้นที่พริ้วไหวไปตลอดการเดินทาง อีกทั้งยังสร้างเงื่อนปมแบบต่าง ๆ ที่บ่งชี้การรับรู้ถึงความเป็นสถานที่ซึ่งการเดินทางเคลื่อนผ่านไป คุณูปการทางความคิดของอิงโกลด์เช่นนี้เผยให้เห็นว่า เดิมทีแล้วการเคลื่อนย้ายและการไม่เคลื่อนย้าย (immobility) อาจไม่ใช่สิ่งตรงข้ามกันในตัวเอง หากแต่เป็นส่วนประกอบของกันและกัน และหากพิจารณาต่อไป หากความเป็นสถานที่หนึ่ง ๆ เกิดขึ้นจากประสบการณ์ที่ผู้คนรับรู้ความแตกต่างระหว่างพื้นที่ทางกายภาพ การพิจารณาว่าสถานที่แห่งหนึ่ง ๆ คืออะไร เรียกร้องให้พิจารณาขอบเขตที่แน่นอนของสถานที่ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายหลัง โดยเฉพาะในโลกสมัยใหม่ ความเป็นสถานที่สามารถขยายตัวออกไปได้เรื่อย ๆ ท่ามกลางการเดินทางซึ่งจะบอกว่า ผู้คนที่เคลื่อนย้ายเดินทางไปถึงสถานที่ไหนแล้วและสถานที่นั้นเองเป็นส่วนหนึ่งของสถานที่ใดที่ใหญ่กว่า การทำความเข้าใจการเคลื่อนย้ายท่ามกลางสถานที่ที่ไม่อาจเคลื่อนย้ายได้จึงไม่อาจพิจารณาแบบแยกขาดจากกัน

           ถึงแม้ว่าการศึกษาเรื่องการเคลื่อนย้ายจะให้ความสำคัญกับสภาวะของการเคลื่อน ทว่าการไม่เคลื่อน และการหยุดรอชั่วขณะ (mooring) ก็นับเป็นสาระของการศึกษาการเคลื่อนย้ายด้วยเช่นกัน กล่าวคือสภาวะของการไม่เคลื่อน หรือสิ่งที่ไม่เคลื่อน ในบางครั้งก็มีส่วนอำนวยให้การเคลื่อนย้ายสามารถเกิดขึ้นได้ โดยสิ่งที่ไม่เคลื่อนย้ายอาจอยู่ในรูปของสภาพทางวัตถุอย่างโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ถนน สะพาน หรือทางเท้า นอกจากนี้ ข้อพิจารณาประการหนึ่งในการศึกษาเรื่องการเคลื่อนย้ายคือ การเคลื่อนและการไม่เคลื่อนในเชิงการกระทำ แม้จะดูเหมือนตรงข้ามกัน แต่ก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสียทีเดียว การเคลื่อนและไม่เคลื่อนต่างดำรงอยู่ร่วมกันเสมอในการกระทำเดียวกัน นั่นคือในขณะที่บางสิ่งกำลังเคลื่อนไป บางสิ่งที่ไม่เคลื่อนก็ได้เอื้ออำนวย หรือแม้กระทั้งส่งแรงให้สิ่งที่เคลื่อนได้นั้นเคลื่อนตัวต่อไปได้เช่นกัน ดังนี้เอง การพิจารณาการเคลื่อนย้ายจึงไม่ใช่การจัดวางให้เป็นคู่ตรงข้ามกับการไม่เคลื่อนย้าย แต่ต้องมองเห็นสภาวะที่การเคลื่อนและการไม่เคลื่อนดำรงอยู่พร้อมกัน เป็นจุดอ้างอิงระหว่างกัน ตลอดจนส่งแรงหนุนเสริมให้กันและกัน

 

รายการอ้างอิง

Cresswell, T. (2006). On the Move: Mobility in the Modern Western World. New York:
Routledge.

Hannam, K. (2006). Mobilities, Immobility, and Moorings. Mobilities, 1(1), 1-22.

Ingold, T. (2007). Lines: A Brief History. London: Routledge.

Jensen, O. B. (2009). Mobilities as Culture. In Vannini, P. (Eds.), The Culture of Alternative
Mobilities: Route Less Travelled (pp. xv-xix). Burlington: Ashgate.

Vannini, P. (2010). Mobile Culture: From the Sociology of Transportation to the Study
of Mobilities. Sociology Compass, 4(2), 111-121.

ประเสริฐ แรงกล้า. (2560). การเคลื่อนย้ายศึกษา: ระบบที่ซับซ้อน ความเป็นการเมือง และความเป็นไปได้.
รัฐศาสตร์สาร, 38(3), 130-158.


ผู้เขียน

วิสุทธิ์ เวชวราภรณ์

นักวิจัย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ การเคลื่อนที่ การหยุดนิ่ง การเคลื่อนย้ายศึกษา mobility studies วิสุทธิ์ เวชวราภรณ์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share