กระต่ายในนิทานชาดก

 |  โบราณคดี และประวัติศาสตร์
ผู้เข้าชม : 4254

กระต่ายในนิทานชาดก

           กระต่ายเป็นสัตว์ที่มีรูปร่างน่ารัก นิสัยตื่นตกใจง่าย แต่ก็มีความปราดเปรียวว่องไว ความปราดเปรียวว่องไวของกระต่ายได้ถูกเอาไปแต่งนิทานอีสป อย่างเรื่องกระต่ายกับเต่าก็เอาจุดเด่นเรื่องความว่องไวไปแต่งนิทานเพื่อสอนใจ เพราะความประมาทของกระต่ายจึงพ่ายแพ้แก่เต่าในท้ายเรื่อง ผู้เขียนลองทบทวนว่าวรรณกรรมเรื่องใดที่กล่าวถึงกระต่ายบ้าง ก็พบว่ามีนิทานชาดก 2 เรื่อง คือ กระต่ายผู้เสียสละ กับกระต่ายตื่นตูม

           นิทานชาดกเรื่อง กระต่ายผู้เสียสละ หรือสสบัณฑิตชาดก มาจากจตุกกนิบาตในนิบาตชาดก เป็นเรื่องเกี่ยวกับพระโพธิสัตว์ที่เสวยพระชาติมาเป็นกระต่าย

           เรื่องราวกล่าวถึง กระต่ายตัวหนึ่งชื่อ สสบัณฑิต (พระโพธิสัตว์) มีสหายสัตว์บัณฑิตคือ ลิง สุนัขจิ้งจอก และนาก ในทุกเย็นสสบัณฑิตจะแสดงธรรมแก่สัตว์ทั้งสามให้ทำทานและรักษาศีลอยู่เสมอ

           วันหนึ่งสสบัณฑิตมองดูพระจันทร์รู้ว่าวันรุ่งขึ้นเป็นวันอุโบสถ (วันขึ้นและแรม 15 ค่ำ) จึงบอกสหายให้รักษาศีล และกำชับว่าหากทำทานในวันนั้นจะได้บุญมาก หากมียาจกมาขออาหารให้แบ่งอาหารให้ยาจกก่อนตนเอง

           เช้าวันต่อมานากไปหาอาหารได้ปลาตะเพียน 7 ตัวของพรานเบ็ดที่ฝังซ่อนไว้ ฝ่ายสุนัขจิ้งจอกออกหาอาหารพบเนื้อย่าง 2 ไม้ เหี้ย 1 ตัว และนมส้ม 1 หม้ออยู่ในกระท่อมของคนเฝ้านา ส่วนลิงเข้าป่าไปเก็บมะม่วงแล้วกลับไปยังที่อยู่ ฝ่ายสสบัณฑิตจะออกไปหาหญ้าแพรกซึ่งเป็นอาหารของตน แต่ก็นึกได้ว่ายาจกไม่กินหญ้า จึงคิดจะบริจาคเนื้อของตนเป็นทาน ด้วยอำนาจแห่งศีลของสสบัณฑิตทำให้ร้อนไปถึงบัลลังก์ของท้าวสักกเทวราช

           ท้าวสักกเทวราชคิดจะทดสอบสสบัณฑิตจึงแปลงเป็นพราหมณ์ไปยังที่อยู่ของนากและสุนัขจิ้งจอก สัตว์ทั้งสองต่างยินดีมอบอาหารให้ จากนั้นก็ไปหากระต่าย สสบัณฑิตกล่าวว่า

“มมํ ภุตฺวา ความว่า ท่านจงบริโภคเราผู้สุกด้วยไฟที่เราบอกให้ท่านก่อขึ้นนี้ แล้วจงอยู่ในป่านี้. ธรรมดาว่า ร่างกายของกระต่ายตัวหนึ่ง ย่อมจะพอยังชีพของบุรุษคนหนึ่ง ให้เป็นไปได้”

           พราหมณ์แปลงเนรมิตกองเพลิงขึ้นตรงหน้า สสบัณฑิตสะบัดตัว 3 ครั้ง ให้สัตว์ที่แทรกอยู่ตามไรขนออกไปให้หมด แล้วกระโดดลงไปในกองเพลิงด้วยจิตชื่นบาน แต่ไฟกลับเย็น พราหมณ์แปลงจึงบอกว่าตนเป็นท้าวสักกเทวราชมาทดสอบ สสบัณฑิตเสียใจว่าตนไม่ได้บริจาคทาน

           ท้าวสักกเทวราชจึงกล่าวว่า

“ดูก่อนสสบัณฑิต คุณของท่านจงปรากฎอยู่ตลอดกัปทั้งสิ้นเถิด”

           จึงไปสกัดภูเขาเป็นแท่ง แล้วนำไปวาดเป็นรูปกระต่ายไว้บนดวงจันทร์เพื่อจารึกคุณงามความดีความเสียสละของสสบัณฑิต

 

กระต่ายในดวงจันทร์, จิตรกรรมฝาผนังศาลาการเปรียญวัดท่าคอย,

ฐานข้อมูลพระพุทธศาสนาประเทศไทย  https://www.buddhismdata.org/index.php?url=templebuild&id=49

           นิทานเรื่องนี้ นอกจากให้ข้อคิดเรื่องความเสียสละของกระต่ายแล้ว ยังเป็นเรื่องเล่าขานเกี่ยวกับตำนานกระต่ายบนดวงจันทร์ของไทยอีกด้วย ตอนเด็ก ๆ แทบทุกคนจะเงยหน้าขึ้นมองพระจันทร์ในเวลากลางคืนแล้วเห็นจะเงาบนพระจันทร์มีรูปร่างคล้ายรูปกระต่าย เรื่องนี้ในทางวิทยาศาสตร์บอกว่าเกิดจากพื้นผิวของพระจันทร์ที่เป็นหลุมเป็นบ่อจากการถูกดาวเคราะห์น้อยพุ่งชน เรียกทะเลแห่งดวงจันทร์ จากตำนานความเชื่อเรื่องกระต่ายบนดวงจันทร์ของไทยแล้วก็ยังมีอีกในหลาย ๆ ประเทศที่มีตำนานเกี่ยวกับเรื่องนี้เช่นกัน อาทิ ประเทศอินเดีย กล่าวถึง “จันทรา”เทพแห่งดวงจันทร์ ผู้ซึ่งถือกระต่ายไว้ในมือ ส่วนประเทศจีน คือกระต่ายกำลังตำข้าวในครก กระต่ายคือผู้รับใช้เซียนโดยมีหน้าที่ปรุงยาอายุวัฒนะ และในประเทศญี่ปุ่น กระต่ายช่วยตายายที่อาศัยอยู่บนดวงจันทร์ตำแป้งโมจิ เป็นต้น เห็นได้ว่าเรื่องหลัก ๆ ก็ยังคงกล่าวถึงกระต่ายอาศัยอยู่บนดวงจันทร์ แต่แตกต่างกันเล็กน้อยไปตามบริบทแวดล้อมของประเทศนั้น ๆ

           นอกจากเรื่องเล่ากระต่ายบนดวงจันทร์แล้ว ผู้เขียนยังนึกถึงสำนวน กระต่ายตื่นตูม ว่าคงไม่แคล้วได้มาจากนิทานชาดกเรื่อง ทัทธภายชาดก หรือกระต่ายตื่นตูม จากจตุกกนิบาต ในนิบาตชาดก

           นิทานเล่าว่า พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นราชสีห์ มีกระต่ายตัวหนึ่งอาศัยอยู่ที่กอตาลใต้ต้นมะตูม วันหนึ่งกระต่ายไปหาอาหารแล้วกลับไปนอนในที่อยู่ของตนแล้วจินตนาการว่าถ้าแผ่นดินทรุดจะหนีไปที่ไหน ทันใดนั้นผลมะตูมสุกก็หล่นลงบนใบตาลเกิดเป็นเสียงดังสนั่น กระต่ายเข้าใจว่าแผ่นดินทรุดก็กระโดดหนีไป กระต่ายอีกตัวเห็นก็วิ่งตาม กระต่ายตัวอื่น ๆ ก็ตกใจพากันวิ่งตามไปด้วย รวมเป็นกระต่าย 1,000 ตัว ฝูงกวาง สุกร ระมาด กระบือ โค แรด เสือโคร่ง ราชสีห์ และช้างที่รู้ข่าวก็แตกตื่นวิ่งตามไปอยู่ในกลุ่มนั้นด้วย

           ครั้นราชสีห์โพธิสัตว์เห็นว่าสัตว์ฝูงใหญ่กำลังวิ่งหนีผิดปกติวิสัยก็สอบถามจนรู้ความ แต่ไม่เชื่อว่าแผ่นดินทรุด และคิดว่าหากสัตว์ทั้งหลายยังตื่นตกใจอยู่เช่นนี้ ไม่ช้าคงจะตกลงไปตายในมหาสมุทรกันหมด จึงวิ่งไปดักหน้าสัตว์ทั้งหลายแล้วตะโกนก้องขึ้น 3 ครั้ง ทำให้สัตว์เหล่านั้นหยุดวิ่ง

           ราชสีห์โพธิสัตว์สอบถามหาผู้เห็นเหตุการณ์ตามลำดับไปจนถึงกระต่ายตัวที่เป็นผู้บอกข่าว ราชสีห์โพธิสัตว์ก็ปลอบสัตว์ทั้งหลายให้คลายกังวล แล้วพากระต่ายตัวนั้นขึ้นหลังให้นำทางไปยังที่เกิดเหตุ เมื่อถึงต้นมะตูมราชสีห์เข้าไปตรวจดู เห็นผลมะตูมสุกค้างอยู่บนใบตาล ก็รู้ชัดว่าไม่ใช่แผ่นดินทรุด จึงพากระต่ายกลับไปหาหมู่สัตว์ทั้งหลายแล้วเล่าความจริงให้ฟัง จึงสามารถรักษาชีวิตสัตว์ไว้ไม่ให้ตื่นตระหนกจนตกลงไปในมหาสมุทร

           นิทานเรื่องนี้ให้ข้อคิดในเรื่องการใช้สติและความรอบคอบ ไม่หลงเชื่อข่าวลือซึ่งอาจนำไปสู่ความเสียหาย ไม่ทำตนเหมือนดังเช่น กระต่ายตื่นตูม และคำนี้คงนำไปถูกใช้เป็นสำนวนในเวลาต่อมา

 

ลายรดน้ำภาพกระต่าย บานหน้าต่างพระที่นั่งทักษิณาภิมุข หมู่พระวิมาน

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร,

https://finearts.go.th/museumbangkok/view/38235-%E0%B9%80%E0%B8%96%E0%B8%B2%E0%B8%B0%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%A3#lg=1&slide=14

 

           จากที่กล่าวมาข้างต้นเห็นได้ว่า กระต่าย ก็เป็นสัตว์อีกชนิดหนึ่งที่ถูกนำไปแต่งเป็นวรรณกรรม นิทานสอนใจ หรือผูกเรื่องเพื่อให้เข้ากับตำนานความเชื่อ สร้างความน่าสนใจในเรื่องที่จะเล่า นอกจากนำสัตว์ที่เป็นกระต่ายไปผูกเรื่องแล้วยังสัตว์อีกหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นราชสีห์ เสือ ช้าง ม้า ฯลฯ สนใจอ่านเพิ่มเติมได้ที่ฐานข้อมูลนามานุกรรมวรรณคดี ซึ่งมีทั้งเรื่องย่อวรรณคดี 400 กว่าเรื่อง ประวัติผู้แต่งวรรณคดี และเมนูที่กำลังเพิ่มเติม คือ ตัวละครและปกิณกะ อ่านได้ที่ https://www.sac.or.th/databases/thailitdir/index.php

 

เอกสารอ้างอิง

กระต่ายตื่นตูม. จากเว็บไซต์ https://www.sac.or.th/databases/thailitdir/character-detail.php?n_id=21

ตำนานกระต่ายบนดวงจันทร์. จากเว็บไซต์ https://www.kroobannok.com/22436

นิทานชาดก:กระต่ายตื่นตูม. จากเว็บไซต์ https://www.kalyanamitra.org/th/chadok_detail.php?page=30

สสปัณฑิตชาดก ชาดกว่าด้วยผู้สละชีวิตเป็นทาน. จากเว็บไซต์ https://www.dmc.tv/pages/นิทานชาดก/นิทานชาดก-สสปัณฑิตชาดก.html

อรรถกถา สสปัณฑิตชาดก ว่าด้วย ผู้สละชีวิตเป็นทาน. จากเว็บไซต์ https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=27&i=562


ผู้เขียน

นิสา เชยกลิ่น

ผู้ช่วยนักวิชาการคลังข้อมูล ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร


 

ป้ายกำกับ ตำนาน กระต่าย ดวงจันทร์ นิสา เชยกลิ่น

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share