มานุษยวิทยากับการศึกษาอาชญากรรม

 |  แนวคิด ทฤษฎีมานุษยวิทยา
ผู้เข้าชม : 3970

มานุษยวิทยากับการศึกษาอาชญากรรม

บทนำ

           อาชญากรรมเป็นปรากฎการณ์อย่างหนึ่งที่ถูกพิจารณาในฐานะ “ปัญหาสังคม” และมีความซับซ้อนในตัวเองเพราะการดำรงอยู่ของมันสะท้อนความเชื่อมโยงกับปัจจัยส่วนบุคคล รวมถึงโครงสร้างและกระบวนการทางสังคม ตลอดจนปัจจัยเชิงสังคมวัฒนธรรมต่าง ๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้อีกด้านหนึ่งของอาชญากรรมจึงอยู่ในฐานะ “ปัญหาเชิงวิชาการ” ซึ่งต้องบูรณาการองค์ความรู้ที่หลากหลายเพื่อทำความเข้าใจเบื้องหลังความเป็นมา การเชื่อมโยงปัจจัยและตัวแปรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรม ตลอดจนวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางการป้องกันและควบคุมอาชญากรรมนั้น

           ที่ผ่านมาอาชญากรรมถูกศึกษาอย่างต่อเนื่องผ่านมุมมองทั้งด้านชีววิทยา จิตวิทยา ประวัติศาสตร์ กฎหมาย รัฐศาสตร์ สังคมวิทยา และอาชญาวิทยา (จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย, 2551) มานุษยวิทยาก็สนใจเรื่องอาชญากรรมเช่นกัน ช่วงแรกมานุษยวิทยาพิจารณาอาชญากรรมในฐานะผลผลิตที่ติดตัวมนุษย์มาแต่กำเนิด (the product of an innate) เป็นลักษณะเฉพาะและคงทนถาวรของปัจเจก ต่อมามานุษยวิทยาเริ่มศึกษาอาชญากรรมในฐานะสิ่งที่ถูกประกอบสร้างหรือถูกนิยามขึ้นในเชิงสังคม (socially defined) โดยเน้นประเด็นเรื่องอำนาจและการเมืองที่มีส่วนกำหนดสิ่งที่เรียกว่า “ความเป็นปกติ” (normality) และ “ความเบี่ยงเบน” (deviance) รวมถึงติดตามการก่อตัว (formation) ความไหลเวียนของอาชญากรรม (criminal flow) และผลกระทบ (effects) จากอาชญากรรมที่มีต่อสังคม (Vigh and Sausdal, 2018) มานุษยวิทยายังใช้ประโยชน์จากงานเขียนเชิงชาติพันธุ์วรรณา (ethnographic work) บันทึกเหตุการณ์และหลักฐานต่าง ๆ (evidences) เพื่อศึกษาการกลายมาเป็นอาชญากรรม (criminalization) ปฏิบัติการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง (Schneider and Schneider, 2008) ตลอดจนสะท้อนวิถีชีวิตของกลุ่มคนที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับอาชญากรรม (Fassin, 2017)


พัฒนาการความคิดและการศึกษาอาชญากรรมผ่านมุมมองมานุษยวิทยา

           การศึกษาอาชญากรรมผ่านมุมมองแบบมานุษยวิทยาเริ่มต้นขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 อิทธิพลของปรัชญาแบบปฏิฐานนิยม (Positivism) ส่งผลให้มานุษยวิทยามุ่งอธิบายพฤติกรรมการกระทำความผิดโดยวินิจฉัยจากคุณลักษณะทางกายภาพบางอย่างเชื่อมโยงกับอาชญากรรม (criminal genetics) ดังเห็นจากงานของซีซาร์ ลอมโบรโซ (Cesare Lombroso) นักมานุษยวิทยาและแพทย์ชาวอิตาเลียนที่นำหลักวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ศึกษาเกี่ยวกับลักษณะทางกายภาพของอาชญากร เขาตั้งข้อสังเกตว่า ผู้กระทำผิดมักมีแนวโน้มหรือมีบางสิ่งที่แสดงถึงการถดถอยไปสู่ยุคที่มนุษย์ยังไม่เจริญ (atavistic throwback) ลอมโบรโซยังศึกษาลักษณะทางร่างกายของผู้กระทำผิดเพื่อเปรียบเทียบกับคนปกติว่าต่างกันอย่างไรด้วย

           การศึกษานำไปสู่การเขียนงานเรื่อง “อาชญากร” หรือ “The criminal man” (1876) สาระสำคัญคือการสร้างคำอธิบายเกี่ยวกับสาเหตุการประกอบอาชญากรรมที่สืบเนื่องมาจากมนุษย์มีสันดานของการประกอบอาชญากรรมมาตั้งแต่กำเนิด ข้อเสนอเป็นผลจากการศึกษากะโหลกของนักโทษบางประเภทที่กระทำความผิดตลอดเวลาหรือเกิดมาเพื่อทำความผิดอย่างเดียวซึ่งพบว่า ด้านหลังของกะโหลกที่ต่อกับไขสันหลังของกลุ่มคนกลุ่มนั้นจะมีลักษณะผิดปกติ กล่าวคือ มีลักษณะเหมือนกับมนุษย์ยุคหินที่มีความดุร้าย ป่าเถื่อน เปรียบเสมือนสัตว์ป่าซึ่งต่างไปจากคนทั่วไป ลอมโบรโซจึงสรุปลักษณะของอาชญากรจะมีหน้าผากลาดต่ำ โหนกแก้มสูง คิ้วดก จมูกงุ้มคด คางสี่เหลี่ยม มีรอยสักตามตัว (ปกรณ์ มณีปกรณ์, 2553) ลักษณะร่างกาย (body) ที่ย้อนยุคทางกายภาพไปสู่สภาพเช่นเดียวกับบรรพบุรุษครั้งดึกดำบรรพ์ซึ่งอยู่ในการวิวัฒนาการขั้นต้นยังส่งผลให้สภาพจิตใจ (mind) ขาดศีลธรรมและมีนิสัย (habit) ที่ดุร้าย ดื้อรั้น ทนต่อความเจ็บปวด สิ่งเหล่านี้จะมีการถ่ายทอดลักษณะเหล่านี้ทางพันธุกรรมด้วย การตีความอาชญากรรมผ่านลักษณะทางพันธุกรรมทำให้ผู้กระทำผิดเป็นผู้ตกอยู่ในชะตากรรมที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ และกลายเป็นอาชญากรโดยกำเนิด (born criminal) ผ่านการสืบสายโลหิต แนวคิดดังกล่าวมีส่วนสำคัญในการสร้างรอยมลทินจากลักษณะรูปร่าง (morphological stigma) ของมนุษย์ที่เกิดมา ความรู้ในการแบ่งแยกเช่นนี้มีส่วนสำคัญที่นำไปสู่ความชอบธรรมในการควบคุมผ่านนโยบายของรัฐโดยใช้เทคโนโลยีปรับปรุงพันธุกรรม (eugenics) เพื่อสร้างสังคมที่ประชาชนมีสายเลือดบริสุทธิ์ (social cleansing) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นลัทธิชาตินิยม (nationalism) ในเยอรมันก่อนที่จะแพร่สู่ประเทศอื่น ๆ ในยุโรปและอเมริกา (Vigh and Sausdal, 2018)

           ครั้นสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง มานุษยวิทยาเปลี่ยนความสนใจจากปัจจัยภายในร่างกายมนุษย์ที่เป็นสาเหตุการกระทำผิดมาสู่ปัจจัยภายนอกมากขึ้น โดยเฉพาะการอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างระเบียบทางสังคม (social orders) กับพฤติกรรมอาชญากรรม (criminal acts) เช่น แนวคิดของ Durkheim ให้มุมมองเกี่ยวกับอาชญากรรมว่าเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและการเสียระเบียบทางสังคม กฎเกณฑ์ทางสังคมไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมของผู้คนได้อีกต่อไป อาชญากรรมถือเป็นความปกติที่ทุกสังคมต้องเผชิญซึ่งเกิดเมื่อสังคมอยู่ภายใต้ภาวะความตึงเครียด การดำรงอยู่ของมันสะท้อนว่าสังคมไม่เคยอยู่ในจุดสมดุลยภาพ (equilibrium) หรือเรียกว่าสภาวะไร้บรรทัดฐาน (anomie) อย่างไรก็ตาม อาชญากรรมก็ไม่ได้มีแต่ด้านที่เลวร้ายเสมอไป เพราะอีกด้านหนึ่งอาชญากรรมและการลงโทษที่เกิดขึ้นก็มีหน้าที่ทำให้ศีลธรรมบางอย่างของสังคมชัดเจนและมีส่วนสร้างสำนึกร่วมทางสังคม (Carabine et al., 2004) งานของ Malinowski (1926) ใช้วิธีศึกษาเชิงชาติพันธุ์วรรณาอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายและอาชญากรรมในบริบทของสังคมดั้งเดิม และชี้ให้เห็นว่าผู้คนบูรณาการประเพณีและความเชื่อทางวัฒนธรรมให้เข้ากับกฎเกณฑ์ของสังคมเพื่อให้ตนเองสามารถดำรงชีวิตได้อย่างไร การละเมิดกฎเกณฑ์และอาชญากรรมเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงวิธีจัดการ (manipulate) ของผู้คนที่มีต่อกฎทางสังคมและข้อบังคับอื่น ๆ ซึ่งวางอยู่บนผลประโยชน์ของการแลกเปลี่ยนและการตอบสนองความต้องการของตนเอง

           มานุษยวิทยาไม่เพียงแต่สนใจการกระทำผิดของตัวบุคคล หากแต่ยังสนใจตำแหน่งแห่งที่ อำนาจ และโอกาสของบุคคลภายใต้โครงสร้างสังคม ซึ่งสัมพันธ์กับการก่อตัวของอาชญากรรมในระดับกลุ่มย่อยด้วย ความสนใจเหล่านี้ได้รับอิทธิพลอย่างต่อเนื่องจากกลุ่มนักสังคมวิทยาสำนักชิคาโก (Chicago School) รุ่นแรกช่วงต้นศตวรรษ 20 ที่ศึกษาอาชญากรรมผ่านการเชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ (ecological approach) อย่างเขตที่อยู่อาศัยและชีวิตแบบเมืองที่สัมพันธ์กับการเกิดอาชญากรรม (Park et al.,1984) ตามด้วยรุ่นที่สองซึ่งเน้นการเรียนรู้อาชญากรรมผ่านการปฏิสัมพันธ์ภายใต้วัฒนธรรมย่อยท้องถนน (street culture) (Anderson, 1999) และวัฒนธรรมรอง (sub-culture) ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดอาชญากรรม (Cohen, 1955) ประกอบกับช่วงทศวรรษ 1960-1970 เริ่มมีการวิพากษ์ถึงจุดอ่อนของการศึกษาอาชญากรรมในแบบเดิมที่ละเลยตัวแปรอย่างประเด็นความขัดแย้ง ปฏิกิริยาและการตีตรา (labeling) ของผู้คนต่ออาชญากรรม ความหมายเชิงวัฒนธรรมของการกระทำผิด บทบาทของกฎหมาย ตัวแทนการควบคุมทางสังคม รวมถึงสื่อมวลชนในการประกอบสร้างอาชญากรรม ทั้งหมดนี้ส่งผลให้การศึกษาอาชญากรรมของมานุษยวิทยาในช่วงครึ่งหลังศตวรรษที่ 20 หันมาสนใจอิทธิพลของอำนาจรัฐ สื่อมวลชน ปฏิกิริยาจากสังคมที่มีส่วนกำหนดการกลายเป็นอาชญากรรม (criminalization) ของกลุ่มวัฒนธรรมย่อยชนชั้นล่าง (criminal subcultures) และใช้วิธีเชิงชาติพันธุ์วรรณาเป็นเครื่องมือในการศึกษา เช่น กลุ่มที่ถูกทำให้กลายมาเป็น “social bandit” จากการปฏิวัติชาวไร่นา (peasant rebellion) ในลาตินอเมริกา กลุ่มมาเฟีย (Mafia) ในอิตาลี กลุ่มวัยรุ่นอันธพาล (hooligan youth) ในยุโรป กลุ่มคนจนในเมืองที่ถูกแบ่งแยกโดยปัจจัยเรื่องเชื้อชาติหรือชาติพันธุ์ (Schneider and Schneider, 2008)

           ปัจจุบันมานุษยวิทยาที่ศึกษาอาชญากรรมร่วมสมัยพยายามเชื่อมโยงอาชญากรรมให้เข้ากับระบบสังคมรวมถึงคำนึงถึง “เครือข่ายความสัมพันธ์” ของอาชญากรรมที่กว้างมากขึ้น (Vigh and Sausdal, 2018) เช่น การวิเคราะห์ร่วมกับระบบทุนนิยมที่เอื้อให้เกิดบรรยากาศการรวมกลุ่มเพื่อก่ออาชญากรรมด้านเศรษฐกิจหรืออาชญากรรมคอปกขาว (white-collar crime) มานุษยวิทยาสนใจการรวมกลุ่มอาชญากรรมที่มีลักษณะเป็นเครือข่าย (crime network) โดยพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เช่น เรื่องความเป็นเครือญาติ ความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน ปัจจัยทางสังคมและวัฒนธรรม ผลประโยชน์ด้านต่าง ๆ ตลอดจนดูการไหลเวียนของอาชญากรรม (crime flow) การข้ามพรมแดนของอาชญากรรม (cross-border crime) จากชนบทสู่เมืองตลอดจนข้ามชาติออกไป (transnational) เช่น การค้าชิ้นส่วนมนุษย์ข้ามชาติเพื่อแลกกับความอยู่รอดของกลุ่มคนยากจน (Scheper-Huges, 2003) นอกจากนั้น ยังมีประเด็นอาชญากรรมข้ามพื้นที่กายภาพสู่โลกเสมือนจริงอย่างชุมชนออนไลน์และเครือข่ายทางสังคมต่าง ๆ เช่น การศึกษากลุ่มสแกมเมอร์ (scammer) ที่ใช้สื่อออนไลน์ในการหลอกลวงเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ทั้งหมดนี้สะท้อนว่าการศึกษาอาชญากรรมร่วมสมัยของมานุษยวิทยาไม่ได้จำกัดอยู่แต่เพียงกลุ่มขนาดเล็ก ภายใต้ขอบเขตพื้นที่ชัดเจนในแบบเดิม หากแต่ตระหนักถึงการเคลื่อนย้ายของกลุ่มผู้คน ข้อมูล เงินทอง ทรัพย์สิน สิ่งของ ความคิดและค่านิยม ฯลฯ ซึ่งเดินทางข้ามพรมแดนและพื้นที่อยู่ตลอดเวลา


บทส่งท้าย

           อนาคตของการศึกษาอาชญากรรมด้วยมุมมองทางมานุษยวิทยายังคงมีสิ่งให้ศึกษาอยู่มาก โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาอาชญากรรมในฐานะ “เครือข่าย” ที่มีองค์ประกอบทั้งผู้คน เทคนิควิธีการ เทคโนโลยี วัตถุสิ่งของต่าง ๆ ข้อมูล โครงสร้างพื้นฐาน อำนาจรัฐและการจัดการที่เชื่อมโยงกันอย่างซับซ้อน การศึกษาและวิเคราะห์อาจต้องอาศัยมุมมองที่เปิดกว้างขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การหันมาสนใจบทบาทของ “สิ่งอื่น” นอกเหนือจากมนุษย์ในฐานะเป็นผู้กระทำการร่วมในอาชญากรรม เพราะการติดตามสิ่งเหล่านั้นอาจช่วยให้เราเข้าใจอาชญากรรมในมุมที่ต่างจากเดิมก็ได้ มีงานที่ศึกษาตามแนวทางที่กล่าวมาหลายชิ้น เช่น งานเรื่อง “A review of actor-network theory and crime studies” (2019) ของ D.Robert and M.Dufresne เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ใช้วิธีการศึกษาแนว STS และแนวคิดเครือข่ายผู้กระทำ (Actor-network Theory) ศึกษาอาชญากรรมร่วมสมัยหลายประเด็น ในงานจะพิจารณาอาชญากรรมในฐานะเป็นเครือข่ายความสัมพันธ์แบบหนึ่ง และอธิบายการเข้ามาพัวพันกันระหว่างมนุษย์กับสิ่งอื่นที่ไม่ใช่มนุษย์ เช่น ภาพถ่าย (photo) วิดีโอ (video) และข้อความอักษร (text message) ที่มีส่วนผลิตอาชญากรรม บทบาทวัตถุอย่างกล้องวงจรปิด (CCTV) ในการสอดส่องและติดตามจากรัฐ การออกแบบอาวุธปืน (taser) การทำงานของสุนัขตำรวจ (police dog) และแผ่นพับ (pamphlet) เพื่อป้องกันและควบคุมอาชญากรรม รวมถึงหน้าที่ของ DNA ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ในการสร้างความจริง (fact) เกี่ยวกับอาชญากรรม นอกจากนั้น ยังมีงานศึกษาอาชญากรรมในโลกออนไลน์สมัยใหม่ (cybercrime) ที่แสดงลักษณะการถูกทำให้ผสมผสาน (hybridization) ของอาชญากรรมผ่านความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน (people) กับสิ่งต่าง ๆ (things) และชวนให้พิจารณาความสำคัญของมันในฐานะผู้กระทำการไม่ต่างจากมนุษย์ (Brown, 2006; Wagen, 2019) ตัวอย่างที่กล่าวมาเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาอาชญากรรมด้วยแนวทางเฉพาะกลุ่ม อย่างไรก็ตาม อาชญากรรมเป็นปรากฎการณ์ที่ไม่หยุดนิ่งตายตัว และยังคงเป็นพื้นที่น่าสนใจสำหรับสาขาวิชาต่าง ๆ รวมถึงมานุษยวิทยาให้เข้ามาศึกษาและพัฒนาเครื่องมือสร้างความรู้ใหม่ ๆ เพื่อทำความเข้าใจพลวัตของอาชญากรรมต่อไป


เอกสารอ้างอิง

จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย. 2551. สังคมวิทยาอาชญากรรม. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ปกรณ์ มณีปกรณ์. 2553. อาชญาวิทยาและทัณฑวิทยา. กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอ็ม.ที.เพลส.

Anderson E. 1999. Code of the Street: New York: Norton.

Brown S. 2006. The criminology of hybrids: Rethinking crime and law in technosocial networks. Theoretical Criminology. 10(2): 223–244.

Carrabine E. et all. 2004. Criminology: A Sociological introduction. New York: Routledge.

Cohen A.K. 1955. Delinquent Boys: The Culture Of The Gang. Glencoe, IL: Free Press.

Durkheim É. 2014. The Division of Labor in Society. New York: Free Press.

Fassin D.(ed.) 2017. Writing the World of Policing : The Difference Ethnography Makes. Chicago: The University of Chicago Press.

Malinowski B. 1926. Crime and Custom in Savage Society. London: Routledge and Kegan Paul.

Park R.E., Burgess E.W. and McKenzie R.D. 1984. The City. Chicago: University of Chicago Press.

Scheper-Hughes N. 2003. Keeping an eye on the global traffic in human organs. The Lancet. 361: 1645–1648.

Schneider J. and Schneider P. 2008. The Anthropology of Crime and Criminalization. Annual Review Anthropology. 37: 351–73.

Vigh H. and Sausdal D. 2018. The anthropology of crime. In H.Wydra and B.Thomassen, (eds.) Handbook of Political Anthropology. pp.441–461. USA:Edward Elgar Publishing Limited.

Wagen W. 2019. The Significance of ‘Things’ in Cybercrime: How to Apply Actor-network Theory in (Cyber) criminological Research and Why it Matters. Journal of Extreme Anthropology. 3(1): 152-168, 2535-3241.


ผู้เขียน

ผศ.ดร.ปาณิภา สุขสม

คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์


 

ป้ายกำกับ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร อาชญากรรม ผศ.ดร.ปาณิภา สุขสม

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share