ภาพเหตุการณ์ภูเขาไฟระเบิด ยุคก่อนประวัติศาสตร์

 |  โบราณคดี และประวัติศาสตร์
ผู้เข้าชม : 4400

ภาพเหตุการณ์ภูเขาไฟระเบิด ยุคก่อนประวัติศาสตร์

           ในช่วงเดือนที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์ภูเขาไฟปะทุอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในแนววงแหวนแห่งไฟ (Ring of Fire) รอบมหาสมุทรแปซิฟิก เริ่มตั้งแต่ที่เกาะฮาวายของสหรัฐฯ เกาะชวาของอินโดนีเซีย ชิลี กัวเตมาลา ไปจนถึงนอกแนววงแหวนอย่างเช่นที่เกาะซิซิลีของอิตาลี

           ในยุคสมัยปัจจุบันที่ผู้คนทั่วทุกมุมโลกสามารถรับชมภูเขาไฟปะทุผ่านสื่อออนไลน์ได้นั้น ต่างก็มีความรู้สึกถึงสิ่งที่ได้พบเห็นแตกต่างกันไป จากคอมเมนท์ใต้คลิปภาพข่าวต่าง ๆ แสดงให้เห็นถึงอารมณ์ความรู้สึกที่หลากหลาย ทั้งหวั่นเกรงถึงผลกระทบที่จะตามมา เกรงกลัวต่อความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ ไปจนถึงชื่นชม ประทับใจในความงดงามของการระเบิดของกลุ่มควัน เถ้าถ่าน หินหนืดที่พุ่งขึ้นออกมาจากปากปล่อง การเกิดสายฟ้าภูเขาไฟ (Volcanic Lightning) และลาวาสีส้มที่ไหลลงไปตามแรงโน้มถ่วงของโลก

           ซึ่งคงไม่แตกต่างมากนักกับความรู้สึกของคนในอดีต หนึ่งในการแสดงออกถึงการยกย่องหรือจำนนต่อความยิ่งใหญ่ของภูเขาไฟ คือการยกย่องให้เป็นเทพเจ้าองค์สำคัญ เช่น เปเล่ (Pele) เทพีแห่งภูเขาไฟของฮาวาย ฮิฟีสตัส (Hephaestus) หรือ วัลแคน (Vulcan) ในอารยธรรมกรีก-โรมัน Xiuhtecuhtli เทพเจ้าแห่งไฟ ความร้อน และภูเขาไฟ ของชาวแอซเท็ก อดิติงกิ (Aditinggi) เทพเจ้าแห่งภูเขาไฟตามความเชื่อพื้นเมืองของชาวเกาะสุลาเวสี อินโดนีเซีย ในขณะที่ความเชื่อดั้งเดิมเกี่ยวกับภูเขาไฟของผู้คนบนเกาะชวา มักจะเกี่ยวพันอยู่กับเทพเจ้าของฮินดู ส่วนที่ฟิลิปปินส์ ลาลาฮอน (Lalahon) นอกจากจะเป็นเทพีแห่งไฟ ภูเขาไฟ และภัยพิบัติทางธรรมชาติรูปแบบต่าง ๆ แล้ว ยังเป็นเทพีแห่งการเก็บเกี่ยวผลิตผลด้วย เพราะพื้นดินรอบภูเขาไฟมักจะอุดมสมบูรณ์จากแร่ธาตุที่ภูเขาไฟพ่นออกมา เหมาะแก่การเพาะปลูก

           ในขณะที่จิตรกรรมที่บันทึกภาพความทรงจำถึงความน่ากลัว ความสวยงาม หรือความน่าประทับใจของภูเขาไฟระเบิด มีอยู่มากมาย โดยเฉพาะผลงานของ ปิแอร์-ฌัก โวแลร์ (Pierre-Jacques Volaire, 1720-1790s) จิตรกรชาวฝรั่งเศส ที่มีเอกลักษณ์ในการรังสรรค์ภาพเกี่ยวกับภูเขาไฟระเบิด โดยเฉพาะเมื่อหลังจากที่ภาพจิตรกรรมบนผืนผ้าใบ “การปะทุของภูเขาไฟวิสุเวียส” หรือ “The Eruption of Vesuvius” ของเขา ที่วาดขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1771 ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ ตลอดคริสต์ศตวรรษที่ 18 ที่โวแลร์มีชีวิตอยู่นั้น ภูเขาไฟวิสุเวียสเกิดการปะทุถึง 6 ครั้ง

 

ภาพ The Eruption of Vesuvius ของ Pierre-Jacques Volaire

(ที่มา: https://www.artic.edu/artworks/57996/the-eruption-of-vesuvius)

 

           หรือภาพจิตรกรรม “The Scream” อันโด่งดังของ เอ็ดวัด มุงก์ (Edvard Munch) ศิลปินชาวนอร์เวย์ ที่วาดขึ้น (ภาพแรก) เมื่อ ค.ศ. 1893 ที่บันทึกถึงความรู้สึกหวาดกลัวสุดขีดของตัวเอง หลังจากที่เย็นวันหนึ่งของปี 1883 ขณะที่เขากำลังเดินอยู่บนถนนกับเพื่อน จู่ ๆ ฟ้าก็เปลี่ยนเป็นสีแดงฉานอย่างฉับพลัน ซึ่งหนึ่งในข้อสันนิษฐานของปรากฏการณ์ดังกล่าวคือ เกิดจากอิทธิพลของการรระเบิดอันรุนแรงของภูเขาไฟกรากะตัว ในอินโดนีเซีย ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 1883 เหตุการณ์ดังกล่าวได้สร้างผลกระทบไปทั่วทั้งโลก ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกลดลงถึง 2 ปี เนื่องจากละอองลอยภูเขาไฟ (Volcanic Aerosols) ปริมาณมหาศาลที่ลอยอยู่ในชั้นบรรยากาศของโลก ไปบดบังแสงอาทิตย์

 

ภาพ The Scream ของ Edvard Munch

(ที่มา: https://www.nasjonalmuseet.no/en/collection/object/NG.M.00939)

 

           ขณะที่ในช่วงเวลาที่เก่าแก่กว่านั้น ในยุคสมัยที่มนุษย์ยังไม่รู้จักการใช้ตัวอักษรเขียนบอกเล่าเรื่องราว หรือที่เราเรียกว่า “ยุคก่อนประวัติศาสตร์” คนโบราณที่ได้ประสบพบเจอกับเหตุการณ์การปะทุของภูเขาไฟ ก็ได้บันทึกภาพเหล่านั้นไว้ด้วยเช่นกัน บทความนี้จึงจะพาผู้อ่านไปชม “4 ภาพภูเขาไฟระเบิดยุคก่อนประวัติศาสตร์”

 

           (1) Çakallar volcano ประเทศตุรกี

 

ภูเขาไฟซากาลาร์หรือชากาลาร์ (Çakallar volcano)

(ที่มา: https://archaeonewsnet.com/2019/05/volcanic-eruption-witnessed-by.html)

 

           นักโบราณคดีค้นพบร่องรอยกิจกรรมของคนยุคก่อนประวัติศาสตร์ สมัยสำริด บริเวณภูเขาไฟซากาลาร์ หรือชากาลาร์ (Çakallar) ที่อยู่ทางทิศตะวันตกของประเทศตุรกี โดยเฉพาะรอยเท้าของมนุษย์ที่ประทับอยู่บนเถ้าภูเขาไฟ ที่รู้จักกันในชื่อ “รอยเท้ากุลา” หรือ “Kula footprint” (เนื่องจากพบอยู่ในบริเวณ Kula Volcanic Geopark เมือง Kula) จากการกำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์ครั้งหลังสุดเมื่อปี ค.ศ. 2014 พบว่าเป็นรอยเท้าของคนที่มีชีวิตอยู่เมื่อราว 4,700 ปีก่อน (Inan Ulusoy, 2014) นอกจากรอยเท้าคนแล้ว ยังพบรอยเท้าสัตว์ประทับอยู่ด้วยหลายรอย แน่นอนว่าเจ้าของรอยเท้านั้น มีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาที่ภูเขาไฟซากาลาร์ปะทุ แต่อาจเป็นการปะทุไม่รุนแรง หรือเริ่มสงบลงแล้ว จนปลอดภัย สามารถเดินเข้าไปใกล้ได้

 

“รอยเท้ากุลา” หรือ “Kula footprint”

(ที่มา: Inan Ulusoy, et al. (2014) “Volcanic eruption eye-witnessed and recorded by prehistoric humans.” Quaternary Science Reviews 212, pp 187-198. Retrieved 5 December 2022, from https://www.mcbu.edu.tr/FileArchive/File-1777-QGTM160520191404.pdf

 

           ห่างออกไปจากรอยเท้ากุลาออกไปประมาณ 2 กิโลเมตร พบภาพวาดสีแดงบนผนังเพิงหินชื่อ กันลิทาส (Kanlitas rock painting) ซึ่งแปลว่า หินเลือด ลักษณะภาพเป็นการผสมผสานระหว่างภาพมือ วงกลม และเส้น ซึ่งนักโบราณคดีตีความว่า ภาพดังกล่าวหมายถึงปล่องภูเขาไฟ ซากาลาร์ที่กำลังปะทุ โดยวงกลมที่มีจุดอยู่ข้างในหมายถึงปากปล่องภูเขาไฟที่กำลังพ่นหินหนืด เส้นที่อยู่รอบวงกลมเป็นเรียงตัวกันเป็นรูปกรวย แทนภูเขาไฟ เส้นตรงหนาที่อยู่ด้านล่างหมายถึงลาวาที่ไหลออกมาจากการปะทุ ส่วนภาพมือเหนือวงกลม เป็นมือที่ไม่มีนิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ เป็นสัญลักษณ์แทนเถ้าถ่านและหินหนืดที่พุ่งออกมาจากปากปล่อง (Inan Ulusoy, 2014) (ซึ่งอาจมีความเชื่อเกี่ยวกับเทพเจ้าแฝงอยู่?)

 

เพิงหินกันลิทาส (Kanlitas)

(ที่มา: İnan Ulusoy, as cied in https://www.livescience.com/65608-photos-volcano-rock-art.html)

 

ภาพวาดบนผนังเพิงหินกันลิทาส (Kanlitas rock painting) ที่ได้รับการแต่งสีเพื่อให้เห็นได้ชัดขึ้น

(ที่มา: https://archaeonewsnet.com/2019/05/volcanic-eruption-witnessed-by.html)

           (2) Ughtasar ประเทศอาร์เมเนีย

           หนึ่งในภาพภูเขาไฟปะทุยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียงอีกแห่งหนึ่ง คือ แหล่งภาพสลักบนก้อนหินที่อุกทาซาร์ (Ughtasar หรือ Ukhtasar) อายุราว 5,000 ปีมาแล้ว (Karakhanian et al, 2002; 2005) อยู่ในสมัยทองแดง-สมัยสำริด

           อุกทาซาร์ เป็นแหล่งศิลปะยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่ครอบคลุมพื้นที่ใหญ่มาก ตั้งอยู่บนปากปล่องภูเขาไฟที่ดับแล้วในเทือกเขา Syunik ทางตอนใต้ของประเทศอาร์เมเนีย วิธีการสร้างสรรค์ศิลปะบนก้อนหินของที่นี่เป็นการสลักภาพลงบนเนื้อก้อนหินที่กระจัดกระจายหนาอยู่อย่างหนาแน่นในพื้นที่ดังกล่าว และไม่ได้ถูกสลักขึ้นในคราวเดียว แต่ถูกสร้างสรรค์โดยรุ่นสู่รุ่น ต่อเนื่องเป็นร้อยปี

           ภาพสลักที่มีชื่อเสียงที่สุดของอุกทาซาร์คือภาพ “แพะ” ที่ถูกสลักไว้อย่างมากมายบนหินก้อนต่าง ๆ จนนำมาสู่หลากหลายข้อสันนิษฐานถึงความสำคัญของแพะในพื้นที่นี้ นอกนั้นมีภาพสลักรูปคนที่อยู่ในฉากต่าง ๆ เช่น ล่าสัตว์ เต้น ต่อสู้กัน ไปจนถึงภาพสัตว์นานาชนิด รูปเกลียว รูปวงกลมและรูปทรงเรขาคณิต สัญลักษณ์จักรราศี เป็นต้น (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://ughtasarrockartproject.org)

 

     

ภาพสลักบนก้อนหินที่อุกทาซาร์ (Ughtasar Rock Art)

(ที่มา: https://ughtasarrockartproject.org)

 

     

ภาพสลักบนก้อนหินที่อุกทาซาร์ (Ughtasar Rock Art)

(ที่มา: https://ughtasarrockartproject.org)

 

           ท่ามกลางภาพสลักเหล่านั้น มีภาพหนึ่งที่ถูกสลักให้มีลักษณะคล้ายกับน้ำพุ นักวิชาการสันนิษฐานว่าอาจเป็นฉากการระเบิดของภูเขาไฟโปรัก (Porak Volcano) ที่ตั้งอยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือราว 46 กิโลเมตร (ปัจจุบันอยู่บริเวณชายแดนของอาร์เมเนียกับอาเซอร์ไบจาน) ซึ่งเป็นหนึ่งในภูเขาไฟที่ยังมีชีวิตอยู่ และหากเกิดการปะทุก็สามารถมองเห็นได้ง่ายจากบริเวณนี้ โดยภูเขาไฟโปรักระเบิดครั้งหลังสุดเมื่อ ค.ศ. 773-783 (ข้อมูลจาก https://www.volcanodiscovery.com/porak.html)

 

ภาพสลักที่แหล่งอุกทาซาร์ (Ughtasar) แสดงถึงการปะทุของภูเขาไฟโปรัก (Porak Volcano) ที่ตั้งอยู่ห่างออกไปราว 46 กิโลเมตร

(ที่มา: https://www.researchgate.net/figure/A-petroglyph-depicting-a-Holocene-volcanic-eruption-of-the-Porak-volcano-located-9-km_fig5_257614699)

 

ภูเขาไฟโปรัก (Porak Volcano) ในปัจจุบัน

(ที่มา: https://volcano.si.edu/volcano.cfm?vn=214090)

 

           (3) Çatalhöyük ประเทศตุรกี

           ซาตาลฮูยุก หรือ ชาทัลเฮอยึค (Çatalhöyük) เป็นเมืองโบราณขนาดใหญ่ สมัยหินใหม่- สมัยสำริด ตั้งอยู่บริเวณเอเชียไมเนอร์ (Asia Minor) หรืออานาโตเลีย (Anatolia) ปัจจุบันคือประเทศตุรกี โดยเริ่มมีการอยู่อาศัยตั้งแต่เมื่อราว 9,500 ปีก่อน ก่อนที่จะเจริญสูงสุดเมื่อราว 9,000 ปีก่อน และดำรงอยู่ต่อเนื่องมามากกว่า 2,000 ปี มีประชากรอาศัยอยู่ภายในเมืองหนาแน่น โดยอาจมีมากถึง 5,000-10,000 คน

 

ภาพสันนิษฐานของเมือง Çatalhöyük ในยุคก่อนประวัติศาสตร์

(ที่มา: https://www.sci.news/archaeology/science-catalhoyuk-map-mural-volcanic-eruption-01681.html)

 

           แหล่งโบราณคดีแห่งนี้ได้รับการขุดค้นครั้งแรกโดย James Mellaart ในปี ค.ศ. 1958 และระหว่างปี 1961-1965 ซึ่งทำให้พบหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญมากมาย หนึ่งในนั้นคือภาพวาดที่มีความยาวต่อเนื่องกันถึง 3 เมตร อยู่บนผนังอาคารที่สันนิษฐานว่าเป็นศาลบูชาเทพเจ้า มีอายุราว 8,430-8,790 ปีก่อน (Cessford, 2005) ภาพดังกล่าวมีลักษณะเป็นภาพบล็อกสี่เหลี่ยมที่วางตัวต่อเนื่องกัน โดยมีการเว้นช่องว่างเล็ก ๆ ไว้ระหว่างบล็อก ด้านบนของบล็อกสี่เหลี่ยมเหล่านั้น วาดเป็นภาพคล้ายรูปทรงสามเหลี่ยมที่เชื่อมกัน โดยส่วนมุมของสามเหลี่ยมทำเป็นยอดตัด ไม่แหลม ยอดด้านบนวาดเป็นเส้นสายพุ่งออกจากยอดตัดเหล่านั้น ส่วนข้างในกรอบสามเหลี่ยมทำลวดลายเป็นจุด

           นักวิชาการตีความว่าภาพนี้เป็นภาพวาดแผนที่เมือง (ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก) บล็อกสี่เหลี่ยมคืออาคารต่าง ๆ ภายในเมือง ภาพที่อยู่เหนืออาคารเหล่านี้คือทิวทัศน์ฉากหลังของเมือง เป็นภาพภูเขา 2 ลูก สันนิษฐานว่าคือภูเขาไฟฮาซาน หรือ Mount Hasan (Hasan Dagi) ที่มียอดแฝด ที่ตั้งอยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือราว 120 กิโลเมตร โดยภาพวาดที่ทำเป็นเส้นพุ่งออกจากยอดเขาเป็นสายนั้น อาจแสดงถึงภาพของภูเขาไฟที่กำลังปะทุอยู่ ในขณะที่นักวิชาการบางท่าน เช่น Stephanie Meece (2006) ไม่เชื่อว่าภาพดังกล่าวเป็นภาพแผนที่เมืองและภูเขาไฟ ฮาซาน แต่เป็นเพียงภาพเรขาคณิต ส่วนภาพภูเขาก็คือภาพเสือดาว

 

ภาพบนผนังอาคารศาลบูชาเทพเจ้า ที่สันนิษฐานว่าเป็นภาพวาดแผนที่ของเมือง โดยมีฉากหลังเป็นภูเขาไฟฮาซาน (Mount Hasan)(ที่มา: https://www.sci.news/archaeology/science-catalhoyuk-map-mural-volcanic-eruption-01681.html)

 

           อย่างไรก็ดี จากการศึกษาอายุหินภูเขาไฟของ Axel K. Schmitt และคณะ ในปี 2014 (Schmitt, 2014) พบว่าภูเขาไฟฮาซาน เกิดการปะทุขึ้นเมื่อราว 8,900 ปีก่อน ซึ่งมีอายุคาบเกี่ยวหรือไล่เลี่ยกับอายุของภาพวาดดังกล่าว

 

แผนที่แสดงที่ตั้งเมือง Çatalhöyük และภูเขาไฟฮาซาน (ภาพซ้ายบน)

ภาพวาดบนผนังอาคารที่ Çatalhöyük (ภาพล่าง) และมุมมองที่จะเห็นภาพภูเขาไฟฮาซานเป็นรูปลักษณ์เดียวกับภาพวาดที่Çatalhöyük (ภาพขวา) (ที่มา: https://www.sci.news/archaeology/science-catalhoyuk-map-mural-volcanic-eruption-01681.html)

 

ภูเขาไฟฮาซาน (Mount Hasan) ในปัจจุบัน

(ที่มา: https://volcanohotspot.files.wordpress.com/2015/02/hasan-mountain.jpg)

 

           ภาพภูเขาไฟปะทุบนผนังอาคารในเมือง Çatalhöyük นี้ เคยได้ชื่อว่าเป็นภาพภูเขาไฟระเบิดที่เก่าที่สุด ก่อนที่จะถูกโค่นโดยภาพบนผนังถ้ำโชเวท์ ประเทศฝรั่งเศส

 

           (4) Chauvet-Pont d'Arc ประเทศฝรั่งเศส

           ภาพบนผนังถ้ำโชเวท์ หรือ Chauvet-Pont d'Arc ที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศฝรั่งเศส ถือเป็น “ภาพภูเขาไฟระเบิดที่เก่าที่สุด” เท่าที่มีการค้นพบในปัจจุบัน ซึ่งอาจมีอายุมากถึง 37,000 ปีมาแล้ว

           ศิลปะถ้ำที่โชเวท์ ถูกค้นพบเมื่อ ค.ศ. 1994 ก่อนที่จะได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี 2014ภายในถ้ำนี้มีภาพวาดก่อนยุคประวัติศาสตร์อยู่มากกว่า 1,000 ภาพ ทอดตัวไปตามผนังถ้ำเป็นระยะทางเกือบ 500 เมตร โดยมีทั้งส่วนของภาพที่วาดด้วยสีแดงและวาดด้วยถ่านสีดำ

           สันนิษฐานว่าภาพเหล่านี้สร้างสรรค์ขึ้นโดยคนต่างรุ่นกัน แต่ก็อยู่ในกลุ่มวัฒนธรรมเดียวกัน คือวัฒนธรรม Aurignacian ซึ่งเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมสมัยหินเก่าของยุโรป อายุครอบคลุมตั้งแต่ 43,000–26,000 ปีมาแล้ว

           ภาพที่โดดเด่นของถ้ำแห่งนี้คือภาพสัตว์นานาชนิด ทั้งสิงโตถ้ำ แมมมอธ แรด ม้า ควายไบสัน กวางยักษ์ หรือ Megaloceros แพะไอเบ็กซ์ ไฮยีน่า นอกจากนั้นยังมีภาพที่เกี่ยวข้องกับร่างกายมนุษย์ เช่น ภาพมือ ภาพส่วนล่างของเพศหญิง และภาพอวัยวะเพศหญิง ไปจนถึงภาพเชิงนามธรรมต่าง ๆ

 

          

ภาพวาดสัตว์นานาชนิดบนผนังถ้ำโชเวท์

(ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/Chauvet_Cave)

 

           ภาพที่นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าเป็นภาพภูเขาไฟระเบิดที่เก่าที่สุดนั้น อยู่ลึกเข้าไปในถ้ำ อยู่ท่ามกลางภาพกวางยักษ์ (Megaloceros Gallery) ปรากฏเป็นภาพวาดสีขาวและแดง ลักษณะเป็นรูปทรงที่เหมือนกับการพ่นของเหลวออกมา แล้วแยกออกเป็น 2 สาย คล้ายกับภาพการระเบิดของภูเขาไฟแบบน้ำพุ หรือแบบสตรอมโบเลียน (Strombolian) ต่อมาภายหลังภาพนี้ถูกวาดทับด้วยภาพกวางยักษ์ (สีดำ) โดยคนรุ่นหลัง อย่างไรก็ดี ภายในถ้ำแห่งนี้ ไม่ได้พบภาพในลักษณะดังกล่าวเพียงภาพเดียว

 

ภาพวาดบนผนังถ้ำ ที่สันนิษฐานว่าเป็นภาพภูเขาไฟระเบิด ที่มีอายุของภาพเก่าแก่ที่สุด ราว 37,000 ปีก่อน

(ที่มา: https://www.scientificamerican.com/article/cave-of-forgotten-dreams-may-hold-earliest-painting-of-volcanic-eruption/)

           จากการนำตัวอย่างไปกำหนดอายุด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์หลากหลายวิธี พบว่าภาพบนผนังถ้ำโชเวท์ ถูกวาดขึ้นเมื่อราว 37,000–34,000 ปีก่อน และช่วง 31,000–29,000 ปีก่อน ส่วนภาพที่นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าเป็นภาพภูเขาไฟระเบิดนั้น มีอายุอยู่ในช่วง 37,000–34,000 ปีมาแล้ว (A Quiles, 2014; H Valladas, 2001; 2005; P Guibert, 2015, as cited in Sébastien Nomade, 2016)

           ภูเขาไฟที่อยู่ใกล้กับถ้ำโชเวท์ที่สุด อยู่ห่างออกไปทางตะวันตกเฉียงเหนือราว 35 กิโลเมตร ในภูมิภาค Bas-Viverais จากการศึกษาของ Sébastien Nomade และคณะ (2016) พบว่าช่วงเวลาระหว่าง 43,000-19,000 ปีก่อน ภูเขาไฟในภูมิภาคนี้ เกิดการปะทุรุนแรงขึ้นหลายครั้ง ซึ่งสอดคล้องกับช่วงอายุของภาพวาด และด้วยสภาพพื้นที่บริเวณที่พบภาพศิลปะถ้ำ ที่เป็นภูเขา ก็ทำให้คนที่อยู่ในจุดนี้ มองเห็นภูเขาไฟในภูมิภาค Bas-Viverais ได้ไม่ยาก โดยเฉพาะเมื่อเกิดการปะทุขึ้น นั่นหมายความว่า ผู้วาดภาพอาจได้เห็นภาพการระเบิดของภูเขาไฟดังกล่าว แต่ก็อาจไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการปะทุมากนัก

 

ภาพแสดงที่ตั้งของแหล่งศิลปะถ้ำโชเวท์ และแหล่งภูเขาไฟในภูมิภาค Bas-Viverais ที่อยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งคนโบราณอาจมองเห็นภูเขาไฟระเบิดจากมุมมองนี้ (ที่มา: https://plos.figshare.com/articles/figure/_The_Chauvet_Pont_d_8217_Arc_cave_and_the_Bas_Vivarais_volcanic_field_/1635107/1)

 

           อย่างไรก็ดี ภาพที่แสดงฉากภูเขาไฟที่กำลังปะทุเหล่านี้ อาจเป็นส่วนหนึ่งของการบันทึกภาพความยิ่งใหญ่ น่าเกรงขาม น่าประทับใจ น่าตื่นตาตื่นใจ หรืออาจเป็นการถึงบันทึกเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงชีวิตของผู้วาด หรือประสบการณ์ที่ผู้วาดภาพได้ไปพบเจอมาจากที่อื่น หรืออาจเป็นส่วนหนึ่งของการบันทึกสภาพภูมิประเทศ เพื่อประโยชน์ในการบอกตำแหน่ง คล้ายกับการทำแผนที่แผนผังในปัจจุบัน หรืออาจจะมีมากไปกว่านั้น โดยเฉพาะประเด็นด้านความเชื่อ ภาพอาจถูกใช้เป็นส่วนหนึ่งของการประกอบพิธีกรรม ใช้บูชาสิ่งเร้นลับตามความเชื่อของผู้วาด ซึ่งก็เราก็ไม่อาจทราบได้ เนื่องจากบางภาพดูมีความเป็นนามธรรมมากเกินกว่าจะตีความได้อย่างตรงไปตรงมา ดังนั้น มันอาจจะมีอะไรที่มากไปกว่าข้อสันนิษฐานที่กล่าวถึงในข้างต้น ก็เป็นไปได้

 

เอกสารอ้างอิง

Cessford C. (2005). “Absolute dating at Çatalhöyük.” in Hodder I, editor. Changing materialities at Çatalhöyük reports from the 1995–99 seasons: McDonald Institute for Archaeological Research. pp 65–99.

Guibert P., A. Brodard, A. Quiles, J.M. Geneste, D. Baffier, E. Debard, et al. (2015). “When were the walls of Chauvet-Pont d’Arc heated? A chronological approach by thermoluminescence. Quaternary Geochronology 2015; 29: 36–47.

Karakhanian, A., R. Djrbashian, V. Trifonov, H. Philip, S. Arakelian, S, and A. Avagian. (2002). “Holocene-historical volcanism and active faults as natural risk factors for Armenia and adjacent countries.” Journal of Volcanology and Geothermal Research 113 (1–2), pp 319–344. (online). Retrieved 10 December 2022, from https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S0377027301002645

Karakhanian, A., R. Jrbashyan, V. Trifonov, H. Philip, S. Arakelian, A. Avagyan, H. Baghdassaryan, and V. Davtian. (2006). “Historical volcanoes of Armenia and adjacent areas: What is revisited?” Journal of Volcanology and Geothermal Research 155 (3–4), pp 338–345. (online). Retrieved 10 December 2022, from https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S0377027306001843

Meece, Stephanie. (2006). “A bird's eye view – of a leopard's spots. The Çatalhöyük ‘map’ and the development of cartographic representation in prehistory.” Anatolian Studies 56, 2006, pp 1–16.

Meliksetian, Khachatur. (2013). “Pliocene-Quaternary volcanism of the Syunik upland (Armenia).” In Archäologie in Armenien II. (online). Retrieved 1 December 2022, from https://www.researchgate.net/publication/257614699_Pliocene-Quaternary_volcanism_of_the_Syunik_upland_Armenia

Nomade, Sébastien, et al. (2016, 8 January). “A 36,000-Year-Old Volcanic Eruption Depicted in the Chauvet-Pont d’Arc Cave (Ardèche, France)?” (online). Retrieved 1 December 2022, from https://journals.plos.org/plosone/article?id=10.1371/journal.pone.0146621

Quiles A., H. Valladas, J.M. Geneste, J. Clottes, D. Baffier, B. Berthie, et al. (2014) “Second radiocarbon intercomparison program for the Chauvet-Pont d’Arc cave, Ardèche, France.” Radiocarbon 56, pp 833–850.

Schmitt, Axel K, Martin Danisik, Erkan Aydar, Erdal Şen, Inan Ulusoy, and Oscar M. Lovera (2014). “Identifying the Volcanic Eruption Depicted in a Neolithic Painting at Catalhoyuk, Central Anatolia, Turkey.” (online). Retrieved 5 December 2022, from https://www.researchgate.net/publication/259701565_Identifying_the_Volcanic_Eruption_Depicted_in_a_Neolithic_Painting_at_Catalhoyuk_Central_Anatolia_Turkey

Ulusoy, Inan, M. Akif Sarıkaya, Axel K. Schmitt, Erdal Şen, Martin Danisík, and Erdal Gümüş. (2014) “Volcanic eruption eye-witnessed and recorded by prehistoric humans.” Quaternary Science Reviews 212, pp 187-198. Retrieved 5 December 2022, from https://www.mcbu.edu.tr/FileArchive/File-1777-QGTM160520191404.pdf

Valladas H., N. Tisnérat-Laborde, H. Cachier, M. Arnold, F. Bernaldo de Quirós, V. Cabrear-Valdès, et al. (2001). “Radiocarbon AMS dates for Paleolithic cave paintings.” Radiocarbon 43, pp 977–986.

Valladas H., N. Tisnérat-Laborde, H. Cacher, E. Kaltnecker, M. Arnold, C. Oberlin, and J. Évin. (2005). “Bilan des datations carbone 14 effectuées sur les charbons de bois de la grotte Chauvet.” Bulletin de la Société Préhistorique Française 102, pp 109–113.


ผู้เขียน

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

นักวิชาการคลังข้อมูล ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ ภาพเหตุการณ์ภูเขาไฟระเบิด ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share