ท้าวเวสสุวรรณ: วัตถุในอุตสาหกรรมความเชื่อ

 |  วัฒนธรรมร่วมสมัย
ผู้เข้าชม : 22082

ท้าวเวสสุวรรณ: วัตถุในอุตสาหกรรมความเชื่อ

           ท้าวเวสสุวรรณ หรือ ท้าวกุเวร นับว่าเป็นหนึ่งในวัตถุทางความเชื่อที่มาแรงในปีนี้ ที่เน้นผลในด้านโชคลาภ และป้องกันภูติผีปีศาจ ในฐานะ “ธนบดี” หรือ ผู้ประทานโชคลาภและความมั่งคั่ง และ “เจ้าแห่งยักษ์ นายแห่งผี” ที่มีฤทธิ์ขับไล่ความชั่วร้ายและภูติผีวิญญาณ ซึ่งก่อนหน้านี้เรารู้จักผ่านพิธีกรรมอย่างการสวด “ภาณยักษ์” (1) ที่มักจัดขึ้นตามวัดต่างๆ ก่อนที่จะมีการสร้างเป็นรูปเคารพอย่างแพร่หลายในช่วง 20 ปีนี้

           ปริวัตร และ อรอุษา (2560: 121) (2) ได้ศึกษาท้าวเวสสุวรรณในคัมภีร์พุทธศาสนาและฮินดู พบว่า ท้าวเวสสุวรรณเป็นองค์เดียวกับท้าวกุเวรและท้าวไพรศรพณ์ มีบทบาทสำคัญอยู่ 3 ด้าน ได้แก่ 1) บทบาทในการเป็นผู้คุ้มครองดูแลศาสนา 2) บทบาทในการเป็นจตุโลกบาล (เทพประจำทิศเหนือ) และ 3) บทบาทในการเป็นผู้สั่งสอนและผู้ช่วยเหลือ โดยมีปณิธานในการมุ่งบำเพ็ญเพียรเพื่อความหลุดพ้น มุ่งสู่ปรมาตมัน แม้ว่าท้าวเวสสุวรรณจะมีบทบาทหน้าที่มากมายแต่สำหรับความหมายที่ถูกผลิตซ้ำมากที่สุดก็คือบูชาแล้วรวยกับกันผี

           คติความเชื่อเกี่ยวกับการบูชาท้าวเวสสุวรรณแล้วรวยนั้น เนื่องจากเชื่อว่าเป็นเทพที่มีทรัพย์มาก หรือเป็นผู้เฝ้ากุญแจพระคลังแห่งสวรรค์ มีความมั่งคั่งเหนือกว่าเทวดาทั่วไป เป็นเจ้าแห่งทรัพย์และความร่ำรวย ดังนั้นการบูชาท่านจะนำมาซึ่งโภคทรัพย์มหาศาล ขณะที่คติความเชื่อเกี่ยวกับการบูชาท้าวเวสสุวรรณแล้วกันผีนั้น เนื่องจากท้าวเวสสุวรรณในฐานะที่เป็นจตุโลกบาล หรือที่รู้จักในนามท้าวกุเวรเป็นผู้ปกครองเหล่ายักษ์และภูติผีปีศาจจึงมีฤทธิ์เหนือบริวารทั้งปวง สามารถขจัดสิ่งชั่วร้ายให้ออกไปจากชีวิตผู้บูชาหรือผู้ที่มีเครื่องรางท่านไว้ติดตัว โดยมีการสร้างพิธีกรรมเพื่อความศักดิ์และเป็นสิริมงคลกับผู้บูชา ซึ่งจะเห็นว่าการบูชาดังกล่าวมีการเผยแพร่อย่างแพร่หลายและสันนิษฐานว่ามาจากต้นฉบับเดียวกัน โดยมีนัยยะในการควบคุมทางสังคม ซึ่งก็มักพบแนวทางในการปฏิบัตินี้จากการบูชาวัตถุทางความเชื่ออื่น ๆ ด้วยเช่นกัน ดังที่มีปรากฏในเว็บไซต์ต่าง ๆ เกี่ยวกับหลักบูชาและขอพรท้าวเวสสุวรรณที่สามารถสรุปประเด็นสำคัญได้ (3,4) ดังนี้

           1. ไม่ประพฤติตนในทางที่ไม่ดี รักษาศีล 5

           2. ไม่กระทำตนเป็นผู้ทำลายศาสนา ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม

           3. ไม่ประกอบอาชีพที่ไม่สุจริต ไม่เอารัดเอาเปรียบ หรือฉ้อโกงผู้อื่น

           4. ไม่กระทำตนเป็นผู้เห็นแก่ตัว หมั่นให้ทาน

           นอกจากนี้ จากคติการบูชาท้าวเวสสุวรรณที่สัมพันธ์กับพุทธศาสนา (ซึ่งเป็นการเชื่อมภายหลัง ทั้ง ๆ ที่คติการบูชาท้าวเวสสุวรรณมาจากศาสนาพราหมณ์-ฮินดู) จึงมีการสร้างบทบูชาที่เริ่มต้นด้วยการนมัสการพระพุทธเจ้า (สวดบท นโม ตัสสะฯ 3 จบ) แล้วตามด้วยบทบูชาท้าวเวสสุวรรณด้วยภาษาบาลี ดังนี้

อิติปิโส ภะคะวา ยะมะราชาโน ท้าวเวสสุวรรณโณ

มะระณัง สุขัง อะหัง สุคะโต นะโม พุทธายะ

ท้าวเวสสุวรรณโณ จะตุมะหาราชิกา ยักขะพันตา ภัทภูริโต

เวสสะ พุสะ พุทธัง อะระหัง พุทโธ

ท้าวเวสสุวรรณโณ นะโม พุทธายะ (9 จบ)

           อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการกำหนดแนวปฏิบัติสำหรับผู้บูชา แต่ก็ไม่ได้มีรายงานอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรว่าผู้บูชานั้นมีวิถีการปฏิบัติที่สอดคล้องกับข้อกำหนดดังกล่าว ซึ่งถ้าทำได้ตามข้อกำหนดดังกล่าว สังคมก็จะมีความสมานฉันท์ สงบสุข ฯลฯ ขณะที่สิ่งที่เห็นเชิงประจักษ์คือการแห่แหนไปบูชาท้าวเวสสุวรรณตามสถานที่ต่าง ๆ ที่เชื่อว่าศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้นตำรับ หรือเก่าแก่ แม้ว่าจะอยู่ในช่วงระบาดของโควิด-19 ก็ตาม จนบางวัดถึงกับต้องประกาศห้ามให้ผู้ศรัทธาเข้าวัดจนกว่าสถานการณ์การระบาดของโรคติดต่อจะดีขึ้น อย่างการประกาศปิดวัดจุฬามณี จังหวัดสมุทรสงคราม ระหว่างวันที่ 23 ก.พ.–3 มี.ค. 65 เป็นต้น (5) การที่ผู้ศรัทธาเดินทางไปกราบไหว้บนบานเป็นจำนวนมากนั้น เป็นสถานการณ์ที่พบเห็นได้โดยทั่วไปเมื่อสังคมไทยเกิดวิกฤติโดยเฉพาะวิกฤติทางเศรษฐกิจ ที่จะมีการประกอบสร้างวัตถุทางความเชื่อที่มีคุณสมบัติ “ขอได้ไหว้รับ” จนกลายเป็นอุตสาหกรรมทางความเชื่อ ซึ่งท้าวเวสสุวรรณเองก็ไม่ต่างกัน

           สำหรับท้าวเวสสุวรรณที่ปรากฏในสังคมไทยแม้จะมีชื่อเรียกอื่น ๆ แตกต่างกันมากมาย แต่เท่าที่ประมวลจากรูปแบบและเทวลักษณะที่พบสามารถจำแนกออกเป็น 3 รูปแบบหลักด้วยกัน คือ 1) ท้าวเวสสุวรรณ ที่มักปรากฏในรูปยักษ์ (หน้ายักษ์) ทรงเครื่องยืนถือกระบอง สันนิษฐานว่าการสร้างเทวลักษณะดังกล่าวได้รับอิทธิพลมาจากโขนละคร ขณะเดียวกันภายหลังได้มีการสร้างหน้าเทพ (บ้างเรียกหน้ามนุษย์) ขึ้นอีกด้วย 2) พระโพธิสัตว์ชัมภลหรือท้าวกุเวร ทรงเครื่องแบบกษัตริย์ ร่างกายอวบอ้วน พุงพลุ้ย เป็นเทพเจ้าแห่งโชคลาภในพุทธศาสนานิกายมหายาน–วัชรยาน ซึ่งบางครั้งมีการไปเทียบเคียงกับบู๊ไฉ่ซิ้ง (ปางดุ หรือ คล้ายกับท้าวเวสสุวรรณหน้ายักษ์) เนื่องจากเป็นเทพเจ้าแห่งโชคลาภเหมือนกัน 3) กูเบร่า (Kubera) หรือท้าวกุเวรศิลปะแบบอินเดีย ทรงเครื่องแบบกษัตริย์ ร่างกายอวบอ้วน พุงพลุ้ยเช่นเดียวกับพระโพธิสัตว์ชัมลภ มักปรากฏร่วมกับพระลักษมี ซึ่งในคติฮินดูเชื่อว่าเป็นเทพแห่งโชคลาภและความมั่งคั่ง

 

รูปที่ 1 ท้าวเวสสุวรรณรูปแบบดั้งเดิม วัดสุทัศนเทพวราราม

ที่มา: https://mgronline.com/travel/detail/9650000015716

 

รูปที่ 2 พระโพธิสัตว์ชัมภล

ที่มา: http://www.watkaokrailas.com/articles/42191801/%E0%B8%95%E0%B8%B3%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B8%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B8%A3.html

 

รูปที่ 3 กูเบร่า (Kubera)

ที่มา: https://www.lotussculpture.com/Bronze-Kubera-Statue.html

 

           แม้ว่าเทวลักษณะของท้าวเวสสุวรรณจะแตกต่างกัน แต่ความหมายร่วมประการสำคัญที่ถูกผลิตซ้ำและใช้เป็นจุดขายมากที่สุดก็คือบูชาแล้ว “รวย” เนื่องจากเป็นเทพที่สามารถดลบันดาลให้ผู้บูชามีความมั่งคั่ง ร่ำรวยได้นั่นเอง เฉกเช่นเดียวกับวัตถุทางความเชื่ออื่น ๆ ที่มักปรากฏขึ้นมาในช่วงที่สังคมเกิดปัญหาโดยเฉพาะวิกฤติทางเศรษฐกิจ ที่ถูกสร้างขึ้น โดยการสร้างวัตถุทางความเชื่อนี้จะวนกันเป็นวัฏจักรขึ้นลงกลับไปมา ขึ้นอยู่กับว่านายทุนหรือผู้ผลิตจะสร้างวัตถุทางความเชื่อ หรือหยิบเอาวัตถุทางความเชื่อใดขึ้นมาทำตลาดอีกครั้ง ซึ่งความนิยมในวัตถุทางความเชื่อที่สร้างขึ้นนั้นจะเป็นกระแสนานหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับความนิยมของผู้บูชา ว่ายังคงยึดมั่นในสิ่งที่ตนเชื่อมากน้อยแค่ไหน และมักพบว่าผู้บูชาที่นิยมไปตามกระแสมีแนวโน้มจะเปลี่ยนความเชื่อไปตามกระแสความนิยมของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป

           สำหรับรูปแบบการสร้างวัตถุทางความเชื่ออย่างท้าวเวสสุวรรณนั้น ในอดีตนิยมสร้างเป็นผ้ายันต์ใช้ปิดหน้าประตูทางเข้าบ้านเพื่อกันสิ่งไม่ดีหรือทำเป็นผ้าประเจียดพกติดตัวไว้ ส่วนการสร้างรูปปั้นลอยองค์ท้าวเวสสุวรรณขนาดใหญ่นั้นมักปรากฏที่วัดหรือเขตพุทธาวาส เพื่อเป็นสัญญะของการปกป้องพระพุทธศาสนา หน้าทางเข้าวัด หรือโบสถ์/วิหาร ซึ่งเป็นหน้าที่หลักประการหนึ่งในฐานะท้าวเวสสุวรรณในคติแบบพุทธ แต่มักไม่ค่อยพบการสร้างรูปปั้นท้าวเวสสุวรรณไว้ที่บ้านยกเว้นเครื่องรางหรือรูปหล่อลอยองค์ ที่สร้างเป็นองค์เล็ก ๆ เท่านั้น ต่อมาในระยะหลังจึงได้มีคติการสร้างท้าวเวสสุวรรณแบบลอยองค์ขนาดบูชาไว้สำหรับบูชาได้ที่บ้าน พบมากขึ้นในช่วงประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา (ราว ๆ พ.ศ. 2545) โดยส่วนใหญ่จะสร้างตามแบบเดิมคือเป็นรูปยักษ์ทรงเครื่องยืนถือกระบอง

           เมื่อการแข่งขันในตลาดทางความเชื่อมีมากขึ้น ผู้ผลิตหรือนายทุนก็ต้องพยายามสร้าง “วัตถุ” ของตนเองให้มีความโดดเด่นและสามารถแข่งขันได้ในตลาดวัตถุทางความเชื่อ โดยหมายรวมถึงวัตถุทางความเชื่อประเภทอื่น ๆ ที่บูชาแล้วรวยด้วยเช่นกัน โดยกลุ่มผู้นิยมบูชา ท้าวเวสสุวรรณก็จะบูชาท้าวเวสสุวรรณรูปแบบต่าง ๆ ที่ตรงกับจริตของผู้บูชา ซึ่งการพิจารณาของผู้บูชาแต่ละคนก็อาจจะมีเกณฑ์แตกต่างกันไป เช่น พิจารณาจากความดั้งเดิม เข้มขลัง พระเกจิที่ปลุกเสก หรือความสวยงาม ความหมาย และศิลปินผู้สร้าง เป็นต้น ปัจจุบันพบว่าไม่ได้มีแค่วัดเท่านั้นที่สร้างท้าวเวสสุวรรณขึ้นมาให้บูชา แต่ยังมีศิลปินที่สร้างสรรค์ผลงานออกมามากมาย ซึ่งรูปแบบ รายละเอียดก็แตกต่างกันไป และมักจะโดนใจนักสะสม เนื่องจากจะได้ท้าวเวสสุวรรณที่ไม่เหมือนใคร หรือ “ไม่โหล” นั่นเอง

           ขณะที่เหรียญท้าวเวสสุวรรณหรือแบบลอยองค์ก็มีการสร้างขึ้นมาหลากหลายขึ้น แต่ก็พบว่ามีแนวโน้มเลียนแบบกับวัดที่สร้างท้าวเวสสุวรรณขึ้นมาจนเป็นที่นิยม อย่างเหรียญท้าวเวสสุวรรณทรงจำปี ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของวัดจุฬามณี จังหวัดสมุทรสงคราม ก็ได้มีวัดอื่น ๆ อีกหลายวัดทำทรงเดียวกัน โดยมีรูปด้านหน้าเป็นพระประธานของวัดนั้น ๆ ด้านหลังเป็นท้าวเวสสุวรรณ เป็นต้น โดยการทำพิธีอาจมีการเชิญเจ้าพิธีเกจิคณาจารย์ในสาย “ท้าวเวสสุวรรณ” เข้ามาร่วมปลุกเสกเพื่อเป็นการการันตีความศักดิ์สิทธิ์ของวัตถุทางความเชื่อนี้ว่าแม้จะไม่ได้ออกจากวัดต้นตำรับ ก็ศักดิ์สิทธิ์ไม่ต่างกันเนื่องจากพระที่ร่วมปลุกเสกก็มาจากวัดต้นตำรับนั่นเอง

           บทสรุปสำหรับข้อเขียนชิ้นนี้ ต้องการจะชี้ให้เห็นว่า “ท้าวเวสสุวรรณ” เป็นวัตถุทางความเชื่ออีกประเภทหนึ่งที่ถูกสร้างและผลิตซ้ำขึ้นจากอุตสาหกรรมความเชื่อ ซึ่งอาจได้รับความนิยมในช่วงเวลาหนึ่ง และผันเปลี่ยนไปเป็นวัตถุทางความเชื่อประเภทอื่นที่สามารถ “ขอได้ไหว้รับ” เหมือนกัน และถึงแม้ว่าวัตถุจะเปลี่ยนไปแต่ความหมายหลักสำหรับการผลิตวัตถุทางความเชื่อที่มักจะไม่เปลี่ยนแปลงคือ “ไหว้แล้วรวย” ซึ่งเป็นการตอบสนองต่อปัญหาขั้นพื้นฐานของผู้คนในสังคม นั่นหมายความว่าตราบใดที่ยังมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ เราก็จะได้เห็นวัตถุทางความเชื่อรูปแบบต่าง ๆ เกิดขึ้นอีกมากมาย โดยที่ไม่รู้ว่าวัตถุเหล่านั้นจะตอบสนองความต้องการของผู้บูชาได้หรือไม่ แต่ที่พอจะคาดเดาได้นายทุนหรือผู้ผลิตน่าจะรวยก่อนแน่ๆ

 

เอกสารอ้างอิง

1. ฉวีวรรณ ประจวบเหมาะ และคณะ. 2562. พิธีสวดภาณยักษ์: ความหมายและการเปลี่ยนแปลง. กรุงเทพมหานคร: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).

2. ปริวัตร ศิระเกียรติสกุล และ อรอุษา สุวรรณประเทศ. 2560. ท้าวเวสสุวัณคือใครในคัมภีร์ทางพุทธศาสนาและฮินดู. ในวารสารมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ปีที่ 14 ฉบับที่ 3 ประจำเดือนกันยายน - ธันวาคม (หน้า 121 - 136)

3. https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/986999 (สืบค้นเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2565)

4.https://www.thammatan.com/%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%AA%E0%B8%A7%E0%B8%94%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B9%8C/%E0%B8%84%E0%B8%B2%E0%B8%96%E0%B8%B2%E0%B8%9A%E0%B8%B9%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B8%AA%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%93/ (สืบค้นเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2565)

5. https://www.bangkokbiznews.com/news/989383 (สืบค้นเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2565)


ผู้เขียน

ผศ.ดร.ปุรินทร์ นาคสิงห์

คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์


 

ป้ายกำกับ ท้าวเวสสุวรรณ วัตถุ อุตสาหกรรมความเชื่อ ผศ.ดร.ปุรินทร์ นาคสิงห์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share