สำนวนภาษาจากยาหม้อใหญ่ EP.02 ตอน ลงแดง

 |  โบราณคดี และประวัติศาสตร์
ผู้เข้าชม : 1842

สำนวนภาษาจากยาหม้อใหญ่ EP.02 ตอน ลงแดง

           เคยไหมครับ? เคยติดอะไรแล้วมันเลิกไม่ได้ หรือเลิกยาก อยากจะเลิกก็เลิกไม่ได้สักที

           อย่างเช่น ติดหนังสือ ติดกาแฟ ติดหนัง ติดซีรี่ย์ ติดบอล ติดบุฟเฟ่ต์ ติดเกม ติดโซเชียลมีเดีย เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ ไอจี ติ๊กต่อก เป็นต้น ฯลฯ เรียกได้ว่าหากวันไหนไม่ได้จัด ไม่ได้เล่น ไม่ได้กิน ก็อาจทำให้ออกอาการหงุดหงิดไปทั้งวันเลยทีเดียว

           สำนวนที่ใช้เรียกอาการติดนั่นติดนี่แล้วไม่ได้จัดเนี่ยเขาเรียกว่า ลงแดง

           ก่อนหน้านี้เรามักใช้สำนวน ลงแดง ในกลุ่มของผู้ติดสุราเรื้อรัง หรือผู้ติดสารเสพติด เมื่อผู้ป่วยต้องการที่จะเลิกสุราหรือสารเสพติดโดยการงดเสพอย่างเด็ดขาด ไม่เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป แบบที่เรียกกันว่า หักดิบ ผู้ป่วยก็จะมีอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดท้อง เพลีย นอนไม่หลับ เครียด หงุดหงิด ถ่ายเหลว ชัก คลื่นไส้อาเจียน อันเป็นผลข้างเคียงมาจากการงดสารเสพติดอย่างเด็ดขาด นอกจากนี้ในบางรายอาจถึงขั้นออกอาการ ลงแดง เพิ่มอีกด้วย อาการลงแดงจึงถูกนำมาใช้เรียกอาการโดยรวมของการขาดสุราหรือสารเสพติดในร่างกายอย่างเฉียบพลัน

           แล้วอาการ ลงแดง นั้นเป็นอย่างไร?

           ในตำรับตำราการแพทย์แผนไทยโบราณกล่าวถึงอาการลงแดงไว้ว่า

อาการของโรคอย่างหนึ่ง คือ ท้องเสียอย่างแรงและมีเลือดจำนวนมากปนออกมากับอุจจาระด้วย เด็กเล็กที่เป็นโรคซาง คือ มีเม็ดผื่นขึ้นในปากและลิ้นเป็นฝ้า ก็อาจมีอาการลงแดงได้ หรือเด็กที่เป็นตานขโมย คือ โรคพยาธิในลำไส้ ก็อาจมีอาการลงแดงได้เช่นกัน

           อาการท้องเสียอย่างแรงและมีเลือดจำนวนมากปนออกมากับอุจจาระด้วย หรือถ่ายเป็นเลือด เพราะการขาดสิ่งเสพติดทำให้เกิดอาการปวดท้อง กล้ามเนื้อเกร็ง ลำไส้บีบตัวจนทำให้มีเลือดออกในทางเดินอาหาร และมักจะเกิดขึ้นกับผู้ที่หักดิบสุราหรือยาเสพติดในขั้นที่รุนแรงและอาจถึงขั้นเสียชีวิตด้วยเช่นกัน

           ในตำราพระโอสถพระนารายณ์ ได้กล่าวถึงตำรายาที่ชื่อว่า “ทิพกาศ” ตัวยาประกอบด้วยสมุนไพรต่าง ๆ รวมทั้งฝิ่นและกัญชา ซึ่งมีสรรพคุณในการแก้อาการระส่ำระสาย กินข้าวไม่ได้ นอนไม่หลับ อาการตกเลือดตกหนอง ลงแดง ดังนี้

“ทิพกาศ เอา ยาดำ เทียนดำ ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ กระวาน พิมเสน สิ่งละส่วน การบูร 4 ส่วน ฝิ่น 8 ส่วน ใบกัญชา 16 ส่วน สุราเปนกระสาย บดทำแท่ง น้ำกระสายใช้ให้ชอบโรคร้อนแลเย็น กินพอควร แก้สารพัดทั้งหลายอันให้ระส่ำระสาย กินข้าวมิได้ นอนมิหลับ ตกบุพโพโลหิต ลงแดง หายแล ฯ”

           ตำราพระโอสถพระนารายณ์นี้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงนิพนธ์อธิบายไว้เมื่อคราวพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2460 ไว้ดังนี้

หนังสือที่เรียกว่าตำราพระโอสถพระนารายณ์นี้ คือตำราพระโอสถตั้งแต่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชกรุงเก่า หอพระสมุดฯ ได้ต้นฉบับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ซึ่งพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นชัยนาทนเรนทรประทานมา เป็นหนังสือคัมภีร์ลานผูก 1 มีตำราพระโอสถซึ่งหมอหลวงได้ประกอบถวายสมเด็จพระนารยณ์มหาราชหลายขนาน ปรากฏชื่อหมอ และวันที่ตั้งพระโอสถนั้น ๆ จดไว้ชัดเจน อยู่ในระหว่างปีกุน จุลศักราช 1021 หรือ พ.ศ. 2202 จนปีฉลู จุลศักราช 1023 หรือ พ.ศ. 2204 ซึ่งอยู่ในระหว่างปีที่ 3-5 ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่น่าประหลาดคือมีตำราขี้ผึ้งรักษาบาดแผลของหมอฝรั่งประกอบถวายในครั้งนั้นด้วย ขี้ผึ้งตามตำรานี้ หมอฝรั่งพวกกุฎีจีนยังใช้รักษากันมาตราบเท่าทุกวันนี้ ตำราพระโอสถทั้งปวงนนี้พึ่งรวบรวมเข้าคัมภีร์ในชั้นหลัง

           ในหนังสือสมุดไทยตำรายา ฉบับหมอเห สายโกสินทร์ ต.ไร่ขิง อ.สามพราน จ.นครปฐม ก็ปรากฏการใช้คำว่า ลงแดง ในความหมายที่เป็นอาการของโรค ในตำรับยากินแก้ลมสารพัดทั้งปวง ดังนี้

ยากินแก้ลมสารพัดทั้งปวง ปลุกไฟธาตุ เอาเจตมูลเพลิง ๔ ตําลึง ตะค้าน ๓ บาท ขิงแห้ง ๓ บาท ดีปลี ๒ ตําลึง รากชะพลู ๑ บาท ๒ สลึง ลูกจันทน์ ๒ สลึง ดอกจันทน์ ๒ สลึง กระวาน ๒ สลึง กานพลู ๒ สลึง ทําเป็นผงลายน้ำผึ้งกินแก้ริดสีดวงลม มันให้ลงเลือด ลงแดง เป็นบิดเลือด บิดเสลด ให้ตกหนอง กินผิดสําแลง แก้ซางมันกินลําไส้ให้ลงไปลายน้ำกะทือ ปลุกเลือดน้ำดอกคํา น้ำฝาง ไข้เหนือลายน้ำซาวข้าวแก้ ผู้ใหญ่กิน ๑ บาท เด็กกิน ๑ สลึง ๑ เฟื้อง ตามกําลังสารพัดโรคทั้งปวงตามจะใช้เอาเถิด ยายลายเอาเถิด กระทู้เดิมหาค่ามิได้แล

 

NPT007-018 ตำรายา ฉบับหมอเห สายโกสินทร์

https://www.sac.or.th/databases/manuscripts/main.php?m=document&p=item&id=17

 

           ตามข้อมูลหลักฐานดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นว่า คำว่า ลงแดง ได้มีการใช้มาตั้งแต่สมัย พระนารายณ์มหาราช และใช้กันในแวดวงการแพทย์แผนไทยเรื่อยมา คำว่า ลงแดง ได้วิวัฒนาการความหมายไปตามยุคสมัย จากที่เคยมีความหมายเป็นอาการของโรคที่ท้องเสียและมีเลือดปนออกมากับอุจจาระ มาเป็นอาการโดยรวมของผู้ที่ขาดสุราหรือสารเสพติด มาจนถึงปัจจุบันก็มีความหมายที่กว้างออกไปจนกลายเป็นสำนวนหมายถึงเรื่องอื่น ๆ ในชีวิตประจำวัน หากยกตัวอย่างการใช้สำนวนลงแดงให้ทันสมัยหน่อยก็คงต้องบอกว่า

           “ถ้าไม่ได้เล่นมือถือสักวัน มันจะลงแดงตายเลยหรือไง”

 

อ้างอิง

กรมศิลปากร. ตำราพระโอสถพระนารายณ์. พิมพ์ครั้งที่เจ็ด. พระนคร : โรงพิมพ์ชวนพิมพ์. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพนายจอน ศุภลักษณ ณ เมรุวัดแก้วฟ้าล่าง วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2508.

ชยันต์ พิเชียรสุนทร, แม้นมาส ชวลิต และวิเชียร จีรวงศ์. คำอธิบายตำราพระโอสถพระนารายณ์. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. 2558.

นิสา เชยกลิ่น. ตำรายา ฉบับหมอเห สายโกสินทร์. ปริวรรต. เข้าถึงเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 https://www.sac.or.th/databases/manuscripts/main.php?m=article&p=item&id=2


ผู้เขียน

ดอกรัก พยัคศรี

นักวิชาการคลังข้อมูล

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ ลงแดง เอกสารโบราณ ตำรายา ดอกรัก พยัคศรี

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share