ตำนานพระลักษณ์หน้าทอง มนต์ศาสตร์มายานำพาให้ ‘ลักษณ์’ ให้หลง

 |  โบราณคดี และประวัติศาสตร์
ผู้เข้าชม : 77496

ตำนานพระลักษณ์หน้าทอง มนต์ศาสตร์มายานำพาให้ ‘ลักษณ์’ ให้หลง

           ครั้งแรกที่ผู้เขียนได้พบกับหน้ากากสีทองที่เป็นใบหน้าโค้งมนของชายรูปงาม คิ้วโก่ง ตาโต ริมฝีปากโค้งยิ้มละไมภายใต้ไรหนวดสีเขียว ตรงกลางหว่างคิ้วมีรอยเจิมสีแดง ประกอบกับลวดลายเส้นสายหยักพลิ้วอ่อนช้อยวิจิตรงดงามแบบไทย ๆ ผู้เขียนสันนิษฐานในทันทีว่านี่ต้องเป็นหน้ากากตัวละครที่เกี่ยวข้องกับวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ หรือไม่ก็เป็นหน้ากากที่ใช้ในการแสดงโขนแน่ ๆ แต่ในเบื้องต้นนั้น ยังไม่อาจระบุอย่างชัดเจนว่าหน้ากากนี้เป็นใบหน้าของตัวละครตัวใด แต่อย่างไรเสีย ใบหน้าที่นำมาทำเป็นหน้ากากนี้จะต้องเป็นใบหน้าของตัวละครที่มีความสำคัญมาก และมีบทบาทโดดเด่นไม่น้อย ซึ่งเท่าที่สืบค้นดูก็ไม่พบหน้ากากลักษณะนี้ที่เป็นรูปบุคคลอื่นหรือสีอื่นเลย มีแต่ใบหน้าสีทองแบบนี้แบบเดียว ไม่มีเครื่องประดับ

 

 

           และด้วยความอ่อนด้อยทางความรู้ในเรื่องของวรรณคดี กับการสันนิษฐานอย่างงู ๆ ปลา ๆ ของผู้เขียน เห็นเพิ่มเติมว่าหน้ากากนี้ต้องเป็นใบหน้าของตัวเอกและต้องเป็นพระเอกของเรื่องเท่านั้น ซึ่งในวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ก็มีพระเอกที่รู้จักกันเป็นอย่างดีว่าคือ พระราม แม้จะมีเสียงค้านในใจเบา ๆ ว่า พระรามต้องมีผิวเป็นสีเขียวเพราะเนื้อเรื่องมันเป็นเช่นนั้น แต่ก็ปัดความคิดนั้นออกไปด้วยเหตุผลว่าในความเป็นพระรามนั้นน่าจะมีหลายภาค คืออาจจะจำแลงแปลงกายได้หรือมีอะไรที่พิเศษกว่าคนธรรมดาทั่วไป จึงได้ตั้งชื่อหน้ากากทองนี้ว่า ‘หน้ากากพระราม’ ไว้ก่อน สำหรับเรียกเองคนเดียวง่าย ๆ

 

     

นิทรรศการ “หน้ากากมนุษย์” จัดแสดงที่บริเวณโถง ชั้น 1 และ ชั้น 2 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

 

           ต่อมา ระหว่างที่สำรวจข้อมูลหน้ากากอื่น ๆ ที่จัดแสดงอยู่ที่โถงทางเดินชั้น 1 และชั้น 2 ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)1 ก็ยังนึกถึงหน้ากากสีทองนี้อยู่เนือง ๆ เพราะยังไม่เข้าใจว่าทำไมถึงมีแต่หน้ากากสีทองแบบนี้อยู่แบบเดียวไม่มีหน้ากากของตัวละครอื่น ๆ ในเรื่องเดียวกันตามมาด้วย และเมื่อได้พิจารณารูปแบบของหน้ากากอื่น ๆ ของประเทศอื่น ๆ ที่จัดแสดงอยู่ใกล้เคียงนั้น ก็พบว่า ในศิลปะการประดิษฐ์หน้ากากนั้น ทุกรายละเอียดล้วนมีความหมาย ไม่ว่าจะสีผิว คิ้ว ตา จมูก ปาก หนวด เครา เครื่องประดับศีรษะ ประดับหู ประดับคอ และแม้กระทั่งสีหน้าสีตาหรืออารมณ์ เพราะทุกสิ่งจะเป็นตัวกำหนดว่าหน้ากากนี้เป็นตัวแทนของใครหรืออะไร ดังนั้นผู้เขียนจึงกลับมาคิดใหม่ว่าชื่อ ‘หน้ากากพระราม’ ที่ตั้งไว้ตอนต้น คงจะไม่ใช่หน้ากากพระรามเสียแล้ว และเมื่อมองในแง่ของสีที่เป็นสัญลักษณ์ของตัวละคร สีทองนั้นก็น่าจะเป็นสัญลักษณ์ของพระลักษณ์ ซึ่งเป็นตัวเอกเคียงข้างเรียงพี่เรียงน้องกับพระรามนั่นเอง แม้บทจะรองลงมาเล็กน้อย ก็ใช่ว่าจะไม่มีความสำคัญเลย

           เมื่อได้ชื่อใหม่ที่เปลี่ยนจาก ‘หน้ากากพระราม’ เป็น ‘หน้ากากพระลักษณ์’ แล้ว การค้นหาข้อมูลก็สะดวกขึ้น เมื่อนำชื่อใหม่นี้ไปสืบค้นในเว็บไซต์ที่ให้บริการในการค้นหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต ก็พบว่ามี ‘หน้ากากพระลักษณ์’ อยู่จริง ๆ แต่เป็นที่รู้จักกันในชื่อ ‘หน้ากากพระลักษณ์หน้าทอง’ และก็มีแต่ ‘หน้ากากพระลักษณ์หน้าทอง’ เท่านั้น ไม่มี ‘หน้ากากพระรามหน้าเขียว’ หรือ ‘หน้ากากสุครีพหน้าแดง’ แต่อย่างใด

           เมื่อได้ทำการสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับ ‘หน้ากากพระลักษณ์หน้าทอง’ ต่อไปแล้วนั้น เรียกว่าได้เป็นการเปิดโลกสำหรับผู้เขียนก็เป็นได้ ศาสตร์พิธีเกี่ยวกับพระลักษณ์หน้าทอง (ซึ่งใช้หน้ากากพระลักษณ์หน้าทองประกอบในพิธี) ไม่ใช่ของใหม่ เป็นศาสตร์ที่มีมานานแล้ว และยังมีผู้รู้และเกจิอาจารย์ที่ประกอบพิธีสืบทอดวิชากันอยู่ไม่ขาดสาย แม้จะมีผู้คนบางส่วนที่ไม่เคยรู้จักหรือได้ยินเกี่ยวกับศาสตร์พิธีนี้เลย (เช่น ผู้เขียน เป็นต้น) แต่เมื่อยังมีความเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของผู้คนอยู่ เป็นทั้งความเชื่อ เป็นทั้งความหวัง เป็นรูปแบบพิธีกรรมอย่างหนึ่ง การบันทึกถึงสิ่งที่น่าสนใจนี้ไว้เป็นความรู้ก็ไม่น่าสูญเปล่า

 

รู้จัก ‘วิชาพระลักษณ์หน้าทอง’

           วิชาพระลักษณ์หน้าทอง เป็นวิชาสายเมตตามหานิยม สายขาว มีอานุภาพสูงส่ง ในอดีตนักแสดงโขนหรือนักแสดงละครในนับถือกันมาก เชื่อว่าใครได้ครอบแล้วจะเกิดเดชะเมตตามหานิยมแก่ตนเอง ไปที่ใดใคร ๆ ก็รัก จะร้องรำทำเพลงอย่างไรใคร ๆ ก็ชมชอบ เชื่อว่าเมื่อครอบวิชานี้แล้วจะช่วยให้มีวาสนาดี มีคนอุปถัมภ์ค้ำชู และบังเกิดความเจริญรุ่งเรืองในชีวิตอย่างสูงสุด

           ในอดีตนั้น การครอบครูพระลักษณ์หน้าทองมีข้อกำหนดที่เคร่งครัดและมีความซับซ้อนหลายขั้นหลายตอน มีการขูดเอาเนื้อผงจากเศียรหัวโขนพระลักษณ์มาผสมในดินสอพองแล้วปั้นตากแห้งใช้เป็นชอล์กในการเขียนอักขระยันต์ ผงที่ขูดจากเศียรหัวโขนพระลักษณ์นี้ถือเป็นสุดยอดผงอาถรรพ์ เป็นผงวิเศษ ผงเสน่ห์ นำมาเจิมหน้าเจิมตาหรือผสมกับแป้งผัดหน้าได้ ทั้งนี้ การจะขูดเอาผงหน้าพระลักษณ์มาได้นั้นใช่ว่าใครนึกจะขูดก็ขูดได้ ต้องรู้ขั้นตอนพิธีกรรม เช่น ก่อนขูดต้องตั้งบายศรี ตั้งเครื่องบวงสรวง กราบขอขมาขออนุญาตครูบาอาจารย์และพระลักษณ์ก่อน เมื่อจะขูดก็อย่าเข้าไปขูดตรง ๆ ให้ขูดข้าง ๆ ซ้ายหรือขวาก็ได้ หากผู้ใดได้มีโอกาสครอบเศียรพระพักตร์ของพระลักษณ์หน้าทองจากครูบาอาจารย์ที่ร่ำเรียนสายนี้มาอย่างถูกต้องตามพิธีกรรมแล้ว เชื่อกันได้ว่าจะได้รับพลังวิเศษด้านเมตตามหานิยม ทำให้โชคดีมีวาสนาสูงส่งเป็นแน่แท้

           สายวิชาพระลักษณ์หน้าทองเป็นสายวิชาที่มีการปกปิดและหวงแหนกันมาก ครูบาอาจารย์สมัยก่อนไม่ค่อยจะถ่ายทอดให้ใครง่ายๆ แต่ละสายสำนักก็มีเคล็ดวิชาที่แตกต่างกันออกไป บางสำนักใช้เสกแป้งสำหรับทาหน้าทาตัว บางสำนักใช้วิธีลงอักขระบนแผ่นทองคำเปลวเพื่อใช้ปิดหน้า บางสำนักใช้ลงอักขระในเศียรพระลักษณ์หรือในหน้ากากพระลักษณ์เพื่อใช้ครอบให้กับบรรดาลูกศิษย์ลูกหา

 

ภาพจาก: https://www.komchadluek.net/kom-lifestyle/460273

 

คาถาพระลักษณ์หน้าทอง

           คาถาต่อไปนี้เป็นคาถาที่ใช้บริกรรมขณะประกอบพิธีลงอักขระ คาถาที่นำมาลงเป็นตัวอย่างนี้เป็นคาถาพระลักษณ์หน้าทอง ของหลวงปู่กาหลง เขี้ยวแก้ว วัดเขาแหลม จ. สระแก้ว

ตั้งนะโม 3 จบ

โอมพระพักตร์ พระลักษณ์หน้าทอง สุวรรณผุดผ่อง หน้าทองพระพักตร์

ชายเห็นชายรัก สาวเห็นสาวรัก ผู้ใหญ่เห็นก็รัก พากันโสมนัส

ใครเห็นใครก็รัก รู้จักกูถ้วนหน้าไม่ว่าใคร

นะจับจิต โมจับใจ พุทโยงใย ธาหลงใหล ยะร้องไห้มาหากู ปะสะสัมปะติฏฐามิ

โอมพระแลงเป็นแสงพระลักษณ์ พระฤาษีจับปากกา พระลักษณ์จับหน้าจับตาสวาหะ

นะเห็นหน้ากูอยู่ไม่ได้ โมร้องไห้ครวญคราง พุทกอดไว้มิใคร่จะวาง ธาควรวญครางสะอื้นไห้

ยะหลงไหลในจิต หญิงชายใดได้เพ่งพิศเห็นหน้ากู ก็ย่อมมิได้ ร้องไห้มาหากู

โอมสิทธิแก่กู สวาหะ เอหิชัยยะ เอหิสัพเพชะนา พหูนาเอหิ

 

ทำไมถึงต้องเป็น ‘พระลักษณ์’

           สำหรับวิชาพระลักษณ์หน้าทองนี้ก็มีที่มาที่ไปหรือตำนานมาเกี่ยวข้อง จากบริบทก็จะเห็นว่ามาจากรามเกียรติ์ ในเรื่องนั้นกล่าวถึงพระรามที่มีพี่น้องทั้งหมดสี่คน พระลักษณ์เป็นคนที่สนิทที่สุด พระรามนั้นเป็นนารายณ์อวตาร ร่างกายมีสีเขียว ส่วนพระลักษณ์นั้นเป็นองค์อนันตนาคราชกลับชาติมาเกิดเพื่อช่วยเหลือพระรามในการสังหารอสูร มีร่างกายสีทอง เพราะแต่เดิมนั้นองค์อนันตนาคราชมีเกล็ดเป็นสีทอง เมื่อมาเกิดเป็นพระลักษณ์ กายก็เป็นสีทองอย่างในอดีตชาติ

           พระลักษณ์เป็นผู้ที่มีความกล้าหาญ ซื่อสัตย์และภักดีต่อพระรามเท่าชีวิต ครั้งหนึ่ง อสูรนามว่ากุมภกัณฑ์จะพุ่งหอกโมกขศักดิ์ใส่พระราม พระลักษณ์ก็ออกมารับแทนจนโดนฤทธิ์ของหอกเจ็บเจียนตาย เรียกว่ามีจิตใจดีรักพี่ขนาดตายแทนได้ เมื่อครั้งที่มีการแข่งขันยกมหาคันศรเพื่อเสี่ยงทายว่าใครจะได้นางสีดาไปเป็นภรรยา พระลักษณ์เองก็ได้ลองยกและมีทีท่าว่าจะยกได้ แต่ด้วยทรงทราบว่าพระรามนั้นหลงรักนางสีดาอยู่ ก็เลยขอสละสิทธิ์ให้พระรามมายกบ้าง ปรากฏว่าพระรามก็ยกได้และได้แต่งงานกับนางสีดาในที่สุด แสดงให้เห็นว่าพระลักษณ์ก็มีบุญญาบารมีไม่แพ้พระราม ทั้งยังมีความเสียสละเป็นที่ชื่นชมของคนทั่วไป

           ตำนานเกี่ยวกับความเก่งกล้าสามารถและบุญญาบารมีของพระลักษณ์ยังมีอีกหลายตอน แม้จะไม่มากเท่าพระราม แต่ก็นับว่าเป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่ขาดไม่ได้ ข้อที่ผู้คนชื่นชมอีกประการคือความงดงามของรูปกายสีทอง เรียกว่ามีเสน่ห์เมตตามหานิยมสูงมาแต่กำเนิด ทั้งคำว่า ‘ลักษณ์’ ยังใกล้เคียงกับคำว่า ‘รัก’ อีกด้วย นามพระลักษณ์หน้าทองนี้จึงเป็นตัวแทนแห่งเสน่ห์เมตตามหานิยมที่ยังเป็นความหวังของผู้คนกลุ่มหนึ่งในยุคปัจจุบันกาล

 

ข้อมูลอ้างอิง

AmuletCenter.NET. ตำนานพระลักษณ์หน้าทอง, สืบค้นเมื่อ 29 ตุลาคม 2565. จาก. https://www.amuletcenter.net/%E0%B8%95%E0%B8%B3%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%93%E0%B9%8C%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%AD%E0%B8%87/

คมชัดลึกออนไลน์. เปิดตำนาน สรรพวิชามหาเสน่ห์ พระลักษณ์หน้าทอง, สืบค้นเมื่อ 29 ตุลาคม 2565. จาก. https://www.komchadluek.net/kom-lifestyle/460273

มายโหรา. คาถาพระลักษณ์หน้าทอง, สืบค้นเมื่อ 29 ตุลาคม 2565. จาก. https://www.myhora.com/%E0%B8%84%E0%B8%B2%E0%B8%96%E0%B8%B2/%E0%B8%84%E0%B8%B2%E0%B8%96%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%93%E0%B9%8C%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%AD%E0%B8%87.aspx


1  นิทรรศการเรื่อง “หน้ากากมนุษย์” จัดแสดงที่โถงชั้น 1 และชั้น 2 ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


ผู้เขียน

นวพรรณ ภัทรมูล

นักวิชาการคลังข้อมูล ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ ตำนาน พระลักษณ์หน้าทอง มนต์ศาสตร์ นวพรรณ ภัทรมูล

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share