ความเป็นสัตว์กับลัทธิอาณานิคม

 |  พืช สัตว์ สิ่งของที่มากกว่ามนุษย์
ผู้เข้าชม : 2688

ความเป็นสัตว์กับลัทธิอาณานิคม

           ปลายศตวรรษที่ 20 เกิดการขยายตัวของงานศึกษาเกี่ยวกับสัตว์และกลายเป็นประเด็นในเชิงวิชาการ โดยเฉพาะภายหลังกระแสการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับสิทธิสัตว์ (animal rights) ที่ขยายตัวอย่างมากภายหลังจากที่ Peter Singer (1977) นำเสนอแนวคิดผ่านงานเขียนที่ชื่อว่า Animal Liberation: A New Ethics for Our Treatment of Animals ในหนังสือดังกล่าว Singer เริ่มต้นด้วยข้อเสนอว่าด้วยความเสมอภาคของสัตว์ทุกชนิดที่วางอยู่บนฐานของศักยภาพที่มีร่วมกันนั่นคือ ศักยภาพที่จะทุกข์ทรมาน (suffering) อย่างไรก็ดี แรกเริ่มของการพูดถึงสิทธิสัตว์ยังเป็นสิ่งที่ยากจะจินตนาการได้อย่างเป็นรูปธรรม ด้วยเหตุนี้ ในส่วนแรกของหนังสือ Singer จึงใช้พื้นที่มากกว่า 20 หน้ากระดาษเพื่ออธิบายถึงหลักการว่าด้วยความเท่าเทียมระหว่างมนุษย์กับสัตว์ที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นมโนทัศน์ใหม่ในสังคม เขาเริ่มต้นด้วยการเทียบเคียงให้เห็นความคล้ายคลึงกันของความเท่าเทียมระหว่างมนุษย์กับสัตว์ โดยเปรียบเทียบกับหลักการว่าด้วยความเสมอภาคระหว่างผู้ชายและผู้หญิง รวมไปถึงคนผิวขาวกับคนผิวสีด้วย ซึ่งทั้ง 2 ขบวนการทางสังคมดังกล่าวปรากฏให้เห็นก่อนหน้านี้แล้ว สิ่งที่ Singer มุ่งโจมตีก็คือสายพันธุ์นิยม (speciesism) ในฐานะอคติทางความคิดที่ส่งผลต่อความเอนเอียงและเลือกปฏิบัติต่อสายพันธุ์อื่น และเป็นความคิดที่เห็นแก่ประโยชน์และความผาสุกของสายพันธุ์ตนเอง ในช่วงเวลาต่อมา การศึกษาจำนวนมากเกี่ยวกับสัตว์วางอยู่บนโจทย์เดียวกันคือ การตั้งคำถามต่ออำนาจของมนุษย์ อย่างไรก็ตาม การศึกษาที่ผ่านมายังละเลยการให้ความสำคัญกับบทบาทของลัทธิอาณานิคมที่กำกับ “ความเป็นสัตว์” ในปัจจุบัน รวมไปถึงกำกับความรับรู้และปฏิสัมพันธ์ที่มนุษย์มีต่อสัตว์ด้วย หากปราศจากลัทธิอาณานิคม ความรับรู้เกี่ยวกับสัตว์หรือความสัมพันธ์ที่มนุษย์ในปัจจุบันมีต่อสัตว์ก็ย่อมจะไม่มีลักษณะแบบในปัจจุบัน

           ในหนังสือที่ชื่อว่า Animality and Colonial Subjecthood in Africa: The Human and Nonhuman Creatures of Nigeria (2022) เปิดด้วยเรื่องเล่าการไปเยือนไนจีเรียของ เอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักรในปี ค.ศ. 1956 สิ่งที่ปรากฏต่อสายตาของเจ้าอาณานิคมในการเยือนครั้งนั้นก็คือ ความมีอารยธรรมและความเป็นสมัยใหม่ของไนจีเรียที่เป็นผลพวงมาจากการปกครองของเจ้าอาณานิคม ซึ่งปรากฏผ่านโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ รวมไปถึงวัฒนธรรมด้วย ทว่าสำหรับ Saheed Aderinto ผู้เขียนหนังสือดังกล่าวแล้ว อำนาจการปกครองของจักรวรรดิไม่เพียงควบคุมเฉพาะปริมณฑลของมนุษย์เท่านั้น แต่อำนาจดังกล่าวยังขยายไปควบคุมและปกครองสัตว์ด้วย ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ การกำจัดสุนัขจรจัดไร้เจ้าของออกจากเส้นทางการเยือน สุนัขเหล่านี้ถูกพิจารณาในฐานะสิ่งซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อระเบียบและความสวยงามของพื้นที่สาธารณะ ซึ่งแตกต่างจากสุนัขสมัยใหม่ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ปิดล้อมและมีเจ้าของ กอปรกับความวิตกกังกลในเรื่องสาธารณสุขที่สุขนัขจรจัดกลายเป็นภัยคุกคามที่สามารถก่อให้เกิดโรค พิษสุขนัขบ้าได้ สุนัขไร้เจ้าของที่อาศัยอยู่ในบริเวณเส้นทางการเยือนที่กำหนดไว้จึงถูกกำจัดจนหมดสิ้นก่อนการมาถึงของเอลิซาเบธที่ 2

           ลัทธิอาณานิคมไม่เพียงแต่มุ่งหวังที่จะเปลี่ยนแปลงให้ผู้อยู่ใต้การปกครองมีความเป็นสมัยใหม่เท่านั้น แต่สัตว์ก็ถูกคาดหวังให้มีความเป็นสมัยใหม่เช่นเดียวกัน กล่าวคือ สัตว์ถูกทำให้มีความเป็นอารยะและทันสมัยไม่ต่างจากมนุษย์ ตัวอย่างเช่น สุนัขที่อยู่ในพื้นที่เมืองซึ่งสัมพันธ์กับความเป็นสมัยใหม่อย่างเข้มข้นถูกคาดหวังให้มีความเฉลียวฉลาด ปฏิบัติตามกฎระเบียบ รวมถึงการรักษาความสะอาด (Aderinto, 2022, p. 12) ลักษณะเหล่านี้พบได้อย่างเด่นชัดในวัฒนธรรมสัตว์เลี้ยง (pet culture) ที่ขยายตัวอย่างมากในโลกตะวันตกในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 ช่วงเวลาดังกล่าวเกิดการสถาปนาความรู้เกี่ยวกับสุนัขสายพันธุ์แท้ หรือที่คนไทยมักเรียกกันว่า “หมาฝรั่ง” ซึ่งมาพร้อมกับการสร้างมาตรฐานของสายพันธุ์ต่าง ๆ และการประกวดสุนัข รวมไปถึงการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีทางการแพทย์และความรู้ทางด้านสัตวศาสตร์ โดยสังคมไทยก็ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมดังกล่าวในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 หรือประมาณปี พ.ศ. 2490 เป็นต้นมา (พนา กันธา, 2560) สุนัขที่กลายมาเป็น “สัตว์เลี้ยง” จึงเป็นตัวอย่างหนึ่งของผลผลิตจากการส่งเสริมความเป็นสมัยใหม่ที่สืบเนื่องและก่อตัวขึ้นมาพร้อมกับลัทธิอาณานิคมและการขยายตัวของความรู้แบบตะวันตก

           ข้อเสนอของ Aderinto ก็คือ “เราอาจจะไม่สามารถเข้าใจขอบเขตการปกครองของจักรวรรดิได้อย่างถ่องแท้ จนกว่าเราจะนำสัตว์เข้าสู่การทำความเข้าใจเกี่ยวกับลัทธิอาณานิคม” (Aderinto, 2022, p. 3) เหตุเพราะ ลัทธิอาณานิคมไม่ได้สถาปนาอำนาจเหนือมนุษย์ผู้อาศัยอยู่ในอาณานิคมเท่านั้น แต่สัตว์ก็อยู่ภายใต้อำนาจของเจ้าอาณานิคมเช่นกัน สัตว์ต่าง ๆ ถูกคัดแยก จัดทำดัชนี และจัดลำดับความสำคัญเพื่อให้สอดคล้องกับการสร้างความปกติ ความเป็นระเบียบ และความทันสมัยของชาวอาณานิคม ทั้งสัตว์และมนุษย์ต่างถูกจัดวางในฐานะผู้รับใช้จักรวรรดิ ตัวอย่างเช่น ลาถูกใช้งานเป็นสัตว์ขนส่งสินค้าและยุทโธปกรณ์ของบริติชไนจีเรีย (Aderinto, 2022, pp. 3-4) เช่นเดียวกับกรณีที่เกิดขึ้นในอินเดียที่สัตว์จำนวนมาก เช่น ลา ล่อ ม้า รวมไปถึงอูฐก็ถูกใช้งานเป็นสัตว์ขนส่งสิ่งของและใช้ในด้านการทหารเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในกรณีของม้า ทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนและเจ้าหน้าที่ทางการทหารต่างใช้ม้าเพื่อการปกครอง มีเพียงเจ้าหน้าที่ที่อยู่บนหลังม้าเท่านั้นที่จะสามารถควบคุมพื้นที่และผู้คนได้ และมีเพียงทหารที่อยู่บนหลังม้าเท่านั้นที่จะเคลื่อนตัวอย่างรวดเร็วและสามารถป้องกันการคุมคามจากภายนอกได้ (Hevia, 2018, p.5)

           นอกจากสัตว์ใช้แรงงานแล้ว สัตว์จำนวนหนึ่งยังถูกใช้เพื่อผลประโยชน์ด้านอาหารด้วย อาณานิคมหลายแห่งนำเข้าสัตว์จำนวนมากจากดินแดนของเจ้าอาณานิคม อาทิ ม้า วัว แกะ แพะ เป็นต้น ในกรณีของการเลี้ยงวัวเพื่อผลิตนมนั้น Mathilde Cohen (2020) พบว่า ก่อนการขยายตัวของลัทธิอาณานิคม ผู้คนที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคไม่กี่แห่งของโลกเท่านั้นที่บริโภคนมจากสัตว์ สังเกตได้จากการที่ผู้คนจำนวนมากไม่สามารถย่อยน้ำตาลแล็กโทสที่อยู่ในนมได้ กระทั่งปัจจุบันพบว่าคนจำนวนกว่า 75% ของทั้งโลกมีภาวะไม่ทนต่อแล็กโทส (Lactose Intolerance) หรือภาวะที่ร่างกายไม่สามารถย่อยน้ำตาลแล็กโทสได้หมด การที่ปัจจุบันพบผลิตภัณฑ์นมจากสัตว์ได้ทั่วไปก็เป็นผลมาจากการขยายตัวของระบอบอาณานิคมและการค้าข้ามชาติที่สนับสนุนให้เกิดอุตสาหกรรมผลิตนมขนาดใหญ่ในดินแดนอาณานิคม ซึ่งภายหลังได้กลายมาเป็นหนึ่งในอาหารที่พบเห็นได้ทั่วไปทั่วโลก (Cohen, 2020)

           อย่างไรก็ตาม โครงการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงการล่าอาณานิคมก็ส่งผลสืบเนื่องที่เกินกว่าที่เจ้าอาณานิคมจะสามารถควบคุมได้ หนึ่งในโครงการนั้นก็คือ การสร้างระบบคูคลองเพื่อขยายพื้นที่ทำการเกษตรขนาดใหญ่ไปสู่พื้นที่รกร้างว่างเปล่า ในกรณีของอาณานิคมอินเดียนั้น พื้นที่จำนวนหนึ่งทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือถูกกำหนดเป็นพื้นที่เพื่อการเลี้ยงสัตว์สำหรับใช้ประโยชน์ด้านการขนส่งและการเดินทางไกล เนื่องจากพื้นที่แถบนั้นเป็นพื้นที่ทะเลทรายแห้งแล้งซึ่งต้องใช้สัตว์ที่ทนต่อสภาพแวดล้อมดังกล่าว นั่นคือ อูฐและล่อ ทว่าผลจากการขุดขยายเครือข่ายของคูคลองไม่เพียงแต่เพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและสามารถขยายพันธุ์สัตว์ได้เท่านั้น ผลที่ตามมาจากการปรับเปลี่ยนภูมิประเทศดังกล่าวก็คือ เกิดการระบาดของโรคมาลาเรียที่มียุงเป็นพาหะนำโรคมาสู่มนุษย์ รวมไปถึงโรคเซอร่า (Surra) ที่มีโปรโตซัวเป็นสาเหตุของโรคซึ่งสามารถฆ่าอูฐ ลา ล่อ รวมถึงม้าด้วย (Hevia, 2018, pp. 7-9)

           ดังนี้แล้ว หากเราต้องการสำรวจตรวจสอบ “ความเป็นสัตว์” รวมไปถึงประเด็นปัญหาว่าด้วย Speciesism หรือสายพันธุ์นิยม ก็จำเป็นที่จะต้องพิจารณาถึงการขยายอำนาจของชาวยุโรป การรุกราน การตั้งถิ่นฐาน และการพัฒนาอุตสาหกรรมสัตว์ขนาดใหญ่ในยุคอาณานิคมที่ส่งอิทธิพลต่อความรับรู้และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์ในยุคปัจจุบัน (Wadiwel, 2020) สำหรับ Billy-Ray Belcourt (2015) แล้ว สายพันธุ์นิยมและปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์แบบสมัยใหม่เกิดขึ้นได้ก็ด้วยการกำจัดชนพื้นเมืองและแผ้วถางผืนดินของชนพื้นเมืองเพื่อตั้งถิ่นฐานของเจ้าอาณานิคม ดังนั้น เราไม่สามารถพูดถึงการกดขี่สัตว์และการปลดแอกสัตว์โดยปราศจากการให้ความสำคัญกับการตั้งถิ่นฐานของเจ้าอาณานิคมและอำนาจของคนผิวขาวได้ เหตุเพราะระบอบอาณานิคมดำเนินไปด้วยแรงปรารถนาที่ต้องการแสวงหาประโยชน์จากทั้งสัตว์และชนพื้นเมืองไปพร้อม ๆ กัน ข้อสังเกตดังกล่าวเป็นไปในทิศทางเดียวกับที่ Maneesha Decka (2020) เสนอว่า การไกล่เกลี่ยความขัดแย้งของมรดกอาณานิคมไม่สามารถมุ่งความสนใจไปที่มนุษย์เท่านั้น เหตุเพราะลัทธิอาณานิคมไม่ได้มุ่งเป้าไปที่การปรับเปลี่ยนมนุษย์แต่เพียงเท่านั้น ทว่ามันยังมุ่งเป้าไปที่ความสัมพันธ์ที่พัวพันข้ามขอบเขตทั้งปวงที่หมายรวมถึงการข้ามพ้นขอบเขตระหว่างมนุษย์กับสัตว์ด้วย

 

เอกสารอ้างอิง

Aderinto, Saheed. (2022). Animality and Colonial Subjecthood in Africa: The Human and Nonhuman Creatures of Nigeria. Athens and Ohio: Ohio University Press.

Belcourt, Billy-Ray. (2015). Animal Bodies, Colonial Subjects: (Re)Locating Animality in Decolonial Thought, Societies, 5, 1–11.

Cohen, Mathilde (2020). Animal Colonialism: The Case of Milk. In Anne Peters (Ed.), Studies in Global Animal Law (pp. 35-44). Beiträge zum ausländischen öffentlichen Recht und Völkerrecht, vol 290. Berlin and Heidelberg: Springer. https://doi.org/10.1007/978-3-662- 60756-5_4

Deckha, Maneesha. (2020). Unsettling Anthropocentric Legal Systems: Reconciliation, Indigenous Laws, and Animal Personhood, Journal of Intercultural Studies, 41(1), 77-97.

Havia, James L., (2018). Animal Labor and Colonial Warfare. Chicago and London: The University of Chicago Press.

Singer, Peter. (1977). Animal Liberation: A New Ethics for Our Treatment of Animals. New York: Avon

Wadiwel, Dinesh Joseph. (2020). Foreword: Thinking “critically” about animals after colonialism. In Kelly Struthers Montford and Chloë Taylor (Eds.), Colonialism and Animality: Anti-Colonial Perspectives in Critical Animal Studies (pp. xvii-xxiv).London and New York: Routledge.

พนา กันธา. (2560). “หมา”: ประวัติศาสตร์ว่าด้วยสัตว์เลี้ยงที่ไม่ใช่แค่การเลี้ยงสัตว์. วารสารประวัติศาสตร์,42: 166-182.


ผู้เขียน

พนา กันธา

นักวิจัยอิสระ


 

ป้ายกำกับ ความเป็นสัตว์ ลัทธิอาณานิคม พนา กันธา

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share