ไม่ต้องรอทะเลท่วม น้ำจืดท่วมทุกปีแล้ววันนี้ ! “นิเวศพิษ” ของกรุงเทพฯ ในสมัยแอนโทรพอซีน ?

 |  โบราณคดี และประวัติศาสตร์
ผู้เข้าชม : 1906

ไม่ต้องรอทะเลท่วม น้ำจืดท่วมทุกปีแล้ววันนี้ ! “นิเวศพิษ” ของกรุงเทพฯ ในสมัยแอนโทรพอซีน ?

           เป็นที่ทราบกันว่า กรุงเทพมหานครตั้งอยู่บนที่ราบน้ำท่วมตามฤดูกาล ที่เรียกว่า “ที่ลุ่มบางกอก” (Bangkok Lowland) ที่ลุ่มนี้มีความลาดเอียงจากความสูง 5 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง ถึงระดับน้ำทะเลที่ชายฝั่ง โดยเริ่มจากพื้นที่ขอบของที่ราบทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านตะวันตก (ได้แก่ พื้นที่จังหวัดราชบุรี-นครปฐม) ด้านเหนือ (ได้แก่ พื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี-อ่างทอง) และด้านตะวันออก (ได้แก่ พื้นที่จังหวัดนครนายก-ปราจีนบุรี-ฉะเชิงเทรา) โดยลดระดับความสูงลงมาเรื่อย ๆ จนถึงระดับเดียวกับพื้นที่ชายฝั่งทะเลที่จังหวัดสมุทรสงคราม สมุทรสาคร สมุทรปราการ และฉะเชิงเทรา

           สาเหตุที่ทำให้เกิดที่ลุ่มบางกอกนั้น หลักฐานทางธรณีวิทยาบ่งชี้ว่า เมื่อราว 21,000 ปีมาแล้ว พื้นที่ที่เป็นลุ่มบางกอกนี้ มีสภาพเป็นร่องหุบเขาที่หนาวเย็นในยุคน้ำแข็งและเมื่ออากาศอบอุ่นขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นโดยลำดับ จนเมื่อราว 8,400 ปีมาแล้ว น้ำทะเลได้ขึ้นมาถึงพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี-อ่างทองในปัจจุบัน ทำให้ร่องหุบเขาดังกล่าว ถูกน้ำทะเลท่วมรุกคืบกลายเป็นท้องทะเล จากนั้นระดับน้ำทะเลจึงค่อยลดระดับลงพร้อมกับการทับถมตะกอนสมุทรลงในร่องหุบเขา และการงอกของผืนดินป่าชายเลนทำให้แนวชายฝั่งทะเลมาอยู่ในพื้นที่จังหวัดปทุมธานีเมื่อราว 6,000 ปีมาแล้ว ต่อมา มาอยู่ในพื้นที่จังหวัดนนทบุรีเมื่อราว 4,000 ปีมาแล้ว ลงมาอยู่ในพื้นที่ตอนเหนือของกรุงเทพมหานคร เมื่อราว 2,000 ปีมาแล้ว และมาอยู่ตรงรอยต่อระหว่างกรุงเทพมหานครกับสมุทรปราการเมื่อราว 1,500 ปีมาแล้ว กระทั่งเป็นแนวชายฝั่งปัจจุบัน ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า ที่ลุ่มบางกอกเกิดจากการทับถมของตะกอนสมุทรเป็นฐานล่าง และถูกปิดทับด้วยตะกอนน้ำจืดจากน้ำท่วมตามฤดูกาลเกิดเป็นที่ราบน้ำท่วมที่กว้างใหญ่

           ด้วยความลาดชันในลักษณะเป็นที่ลุ่มต่ำตามธรรมชาติ เมื่อถึงฤดูฝน “ที่ลุ่มบางกอก” จึงเป็นพื้นที่รองรับน้ำที่ไหลรวมกันมาจากพื้นที่ตอนเหนือขึ้นไป หรือที่เรียกว่า “ฤดูน้ำหลาก” และยังเป็นพื้นที่อ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเลทางทิศใต้ ที่ดันขึ้นมาจากปากแม่น้ำให้น้ำบ่าล้นตลิ่ง ที่มักเรียกกันว่า “น้ำทะเลหนุน” นี่คือธรรมชาติแต่เดิมของที่ลุ่มบางกอกก่อนสมัยแอนโทรพอซีน

           การปรับตัวให้อยู่ร่วมกับระบบนิเวศตามธรรมชาติเช่นนี้ ราชทูตฝรั่งเศส ซิมง เดอ ลา ลูแบร์ ได้เล่าไว้ว่า

“โดยอาศัยลำน้ำที่คนสยามเรียกว่า คลอง นี้เอง ไม่เพียงแต่จะทำให้เมืองสยามกลายเป็นเกาะไปเท่านั้น หากแต่ว่าตั้งอยู่ท่ามกลางเกาะหลายเกาะด้วยกัน อันทำให้ที่ตั้งเมืองมีลักษณะแปลกมาก . . . . บ้านเรือนของชาวพื้นเมืองนั้นโดยมากเป็นเรือนต่ำ และปรุงด้วยไม้ ด้วยเหตุนี้เองจึงอยู่ไม่ค่อยสบาย เนื่องจากที่อากาศร้อนอบอ้าว ถนนส่วนใหญ่มักมีลำคลองควบขนานเป็นเส้นตรงไปด้วย จึงทำให้เปรียบเมืองสยามได้กับเมืองเวนิซ . . . .”

           จากข้อมูลดังกล่าว เห็นได้ว่า ชาวเมืองกรุงศรีอยุธยามีระบบผังเมืองที่เรียกได้ว่า “ผังเมืองระบายน้ำ” ซึ่งได้รับการออกแบบให้เมืองอยู่ร่วมได้กับที่ลุ่ม โดยการใช้ “คลอง” จำนวนมาก ทั้งใช้ประโยชน์ในการคมนาคม และการระบายน้ำออกอย่างรวดเร็ว ไม่มีการกักให้น้ำท่วมขัง เพราะเมื่อถึงเวลาน้ำลด แม่น้ำเจ้าพระเจ้ายาก็จะดึงน้ำในคลองให้ลดตามไปด้วย นอกจากนี้ ซิมง เดอ ลา ลูแบร์ ยังกล่าวถึงประโยชน์ของน้ำท่วมไว้ว่า

“2. การที่มีน้ำท่วมทุกปี ทำให้พื้นดินสยามอุดมขึ้น ฉะนั้น ดินโคลนที่ (น้ำฝนชะ) ไหลลงมาจากภูเขานี้เอง เป็นตัวสาเหตุอันแน่นอน ที่ทำให้ราชอาณาจักรสยามมีพื้นดินอันอุดมดีนักในที่ทุกหนทุกแห่งที่มีน้ำท่วมไปถึง . . . . การแห้งแล้งนั้นยังส่งผลให้เกิดโรคติดต่อและโรคห่าระบาดติดตามมาอีกด้วย แต่การที่มีน้ำท่วมเป็นประจำปี ย่อมเป็นประกันแก่ประเทศสยามในด้านความอุดมสมบูรณ์ในการทำนาข้าว และทำให้ราชอาณาจักรนี้ เป็นอู่ข้าวอู่น้ำของหลายประเทศทีเดียว 3. น้ำท่วมทำลายตัวแมลงต่าง ๆ การที่น้ำท่วมนั้น นอกจากจะทำให้พื้นดินมีปุ๋ยอันอุดมดีแล้ว ยังช่วยทำลายตัวแมลงร้าย ๆ ให้หมดไปได้มิใช่น้อย แม้จะยังเหลือตกค้างอยู่อีกเป็นอันมาก และทำความรำคาญกับบ่อนทำลายการกสิกรรมเป็นที่สุด . . .”

           การให้ข้อมูลเช่นนี้ แสดงว่า ชาวกรุงศรีอยุธยาย่อมรอคอยให้น้ำท่วม เพราะน้ำท่วมนำความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน และกำจัดแมลงศัตรูพืชไปด้วย แต่หลังจากที่เราเข้าสู่สมัยแอนโทรพอซีน โลกทัศน์ก็เปลี่ยนไป

           ดูเหมือนว่าในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา แนวป่าชายเลนของที่ลุ่มบางกอกได้ถูกทำลายลงไปมาก เพื่อเปลี่ยนป่าชายเลนเป็นบ่อเลี้ยงกุ้งหรือเลี้ยงปลา ทำให้เกิดการกัดเซาะของคลื่นสมุทรอย่างรุนแรง พื้นที่ชายฝั่งหายไปเรื่อย ๆ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การดำรงอยู่ของ “วัดขุนสมุทรจีน” ซึ่งเป็นสถานที่เพียงหนึ่งเดียวที่ดูเหมือนจะถูกสร้างให้ยื่นออกสู่ท้องทะเล แต่ตรงกันข้าม คลื่นสมุทรแอนโทรพอซีนต่างหาก ที่กัดเซาะผืนดินโดยรอบวัดออกไป

           การกัดเซาะพื้นที่ชายฝั่งทะเลนี้ ถูกอธิบายเชื่อมโยงกับปรากฏการณ์ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น อันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน ที่ทำให้น้ำแข็งขั้วโลกละลาย แล้วมาเพิ่มมวลน้ำให้แก่มหาสมุทร มวลน้ำที่เพิ่มขึ้นนี้ ก็ถาโถมเข้ากัดเซาะแนวชายฝั่งทะเลที่ไร้ป่าชายเลนปกป้อง ทั้งการสร้างภาวะโลกร้อนให้น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ทั้งการตัดทำลายป่าชายเลน รวมไปถึงการสร้างเขื่อนที่กักตะกอนปริมาณมหาศาล ที่ควรไหลมาสู่ปากแม่น้ำเพื่อเพิ่มปริมาณตะกอนให้แผ่นดินงอก ล้วนเป็นตัวอย่างที่ให้ผลเกี่ยวเนื่องกันจากฝีมือมนุษย์ สภาพนิเวศที่ทะเลมุ่งกัดเซาะชายฝั่งทะเลทั้งวันทั้งคืนนี้ ถือเป็นปรากฏการณ์หนึ่งของ “นิเวศพิษ” อันให้โทษแก่มนุษย์ในปัจจุบัน ดังนั้น การดำรงอยู่ของ “ระบบนิเวศพิษ” ซึ่งเป็นความผันผวนอันเกิดจากน้ำมือมนุษย์นั้น จึงสมควรเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า มนุษยชาติกำลังดำรงชีวิตอยู่ใน “สมัยแอนโทรพอซีน” หรือ “สมัยมนุษย์ผันผวนโลก” แล้ว

           ปัจจุบันคำว่า “แอนโทรพอซีน” หรือ “สมัยมนุษย์ผันผวนโลก” เป็นตัวแทนของสภาวะแปรปรวนของธรรมชาติ ที่ส่งผลกระทบทางลบต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ เหตุการณ์ที่ใกล้ตัวเรามากที่สุดขณะนี้คือ “อุทกภัยที่ราบภาคกลางตอนล่าง 2565” ที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการรับผิดชอบดูแลไม่ให้น้ำท่วมนั้น ย่อมโทษฟ้าโทษฝน แต่เคยรู้หรือไม่ว่า ปัญหาทั้งหมดยึดโยงสาเหตุที่สัมพันธ์กันภายใต้ระบบของ “แอนโทรพอซีน” นั่นคือ (1) ฟ้าฝนแปรปรวนเพราะภูมิอากาศเปลี่ยนอันเกิดจากฝีมือมนุษย์ (2) ที่อยู่อาศัยถูกน้ำท่วมเพราะมนุษย์สร้างบ้านเรือนอยู่บนที่ราบน้ำท่วมตามฤดูกาล เมื่อน้ำหลากมาด้วยความแปรปรวนทั้งจากธรรมชาติและฝีมือมนุษย์ ก็ย่อมท่วมท้นและแก้ไขไม่ได้ (3) ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นจากภาวะโลกร้อน ทำให้เมื่อน้ำทะเลหนุน ระดับน้ำในแม่น้ำจึงเพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิม (4) ขาดการวางผังเมืองให้เป็น “ผังเมืองระบายน้ำ” แต่ปัจจุบันสร้างกันแบบไร้ทิศทาง ทำให้เกิดสภาพ “ผังเมืองขังน้ำ” (5) ขาดการดูแลระบบระบายที่มีอยู่ ทำให้ระบบระบายน้ำตื้นเขินอุดตัน (6) การบริหารกักและปล่อยน้ำจากเขื่อนและประตูน้ำขาดประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง ทำให้การพร่องน้ำไม่สัมพันธ์กันกับปริมาณน้ำฝน และรูปแบบของน้ำทะเลหนุนที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และอาจมีสาเหตุอื่นยิบย่อยอีกมากมาย

           หลังจากน้ำท่วมถล่ม จนกระทั่งน้ำแห้งแล้ว ผู้รับผิดชอบอาจวิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในแต่ละปีได้อย่างเป็นขั้นตอน แต่ผู้รับผิดชอบไม่เคยที่จะนำผลวิเคราะห์ดังกล่าว มาวางแผนป้องกันแก้ไขได้อย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว เพราะถ้ามีประสิทธิภาพ ปีนี้น้ำก็จะไม่ท่วม แต่ถ้าปีนี้น้ำท่วม ก็แสดงว่ายังไม่มีประสิทธิภาพ ก็เป็นตรรกะง่าย ๆ ไม่ซับซ้อนว่าการบริหารจัดการน้ำ ณ ปัจจุบัน มีประสิทธิภาพหรือไม่? ทั้งนี้ เราต้องให้สภาวะน้ำท่วมเป็นตัวบอกเอง

           อาจถึงเวลาแล้วที่ผู้รับผิดชอบต้องมาทบทวนอย่างจริงจังว่า เราต้องเปลี่ยนโลกทัศน์ในการมองและหาวิธีแก้ไขปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากกันใหม่หรือไม่? และต้องมองอย่างไร ให้การแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ? หรือสุดท้ายแล้ว ผู้ได้รับผลกระทบต้องปรับตัวกันเอาเอง? เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นระบบนิเวศใหม่ !?!

           ที่สุดแล้ว เมื่อสาเหตุต่าง ๆ เชื่อมต่อถึงกัน เราก็จะพบว่าเรากำลังใช้ชีวิตอยู่ใน “นิเวศพิษ” ดังนั้น ฝนตกมากฝนตกน้อยจึงไม่ใช่สาเหตุหลักของน้ำท่วม เพราะเดี๋ยวนี้ในกรุงเทพมหานครหรือตัวเมืองของจังหวัดอื่นที่ระบบการระบายน้ำไม่ดีนั้น ตกน้อยก็ท่วม ชนิดที่เรียกว่า “น้ำขังรอระบาย” ปัญหาเหล่านี้ กลายเป็นปัญหาเรื้อรังประจำปีไปเสียแล้ว และเริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมกับผลกระทบสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์

           ด้วยความที่กรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่บนที่ราบน้ำท่วม จึงมีการทำนายผลกระทบจากภาวะโลกร้อนว่าน้ำทะเลจะท่วมกรุงเทพมหานครในปี 2075 แต่ก็มีวาทกรรมน้ำทะเลท่วมกรุงเทพฯ อีก 10 ปีบ้าง 20 ปีบ้าง หรือ 30 ปีบ้าง ก็ว่ากันไป แต่ที่แน่ ๆ ก่อนน้ำทะเลจะท่วมกรุงเทพมหานคร ขอให้เป็นห่วงจังหวัด 3 สมุทรเสียก่อน คือ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และ สมุทรปราการ เพราะอยู่ต่ำกว่ากรุงเทพมหานคร ที่สำคัญอยู่ติดทะเลจึงได้รับผลกระทบก่อนอย่างแน่นอน ดังนั้น จังหวัดในเขตที่ลุ่มบางกอกที่ควรมีแผนการรองรับการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลก่อนใคร คือสามจังหวัดนี้ และควรติดตามสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเลที่สัมพันธ์กับการสูญหายของชายฝั่งทะเลของสามจังหวัดนี้อย่างใกล้ชิด ดีกว่ามานั่งตระหนกเรื่องกรุงเทพมหานครจะจมทะเล

           แต่เรื่องที่ควรตระหนกสำหรับกรุงเทพมหานครคือ “น้ำจืดท่วมทุกปี” และที่ต้องตระหนักคือ กลไกของธรรมชาติแบบแอนโทรพอซีน (mechanism of anthropocenic nature) ลักษณะใด ที่ทำให้กรุงเทพมหานครถูกน้ำท่วมซ้ำซาก นั่นคือ ต้องมานั่งทำความเข้าใจ (1) ระบบนิเวศของกรุงเทพมหานครที่เปลี่ยนไปในเชิงสถิติ (2) สภาพภูมิศาสตร์ของผังเมืองตามข้อเท็จจริงว่าช่วยกักหรือช่วยระบายน้ำ เพราะลำพังแต่มีท่อระบายก็พิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ช่วยให้น้ำไม่ท่วม และ (3) กลไกการบริหารจัดการระบบระบายน้ำ มีประสิทธิภาพเต็มที่หรือยัง นั่นคือทั้งความทุ่มเทของคนและความพร้อมของเครื่องจักร

           แต่สิ่งที่น่าตระหนกกว่านั้นคือ ปรากฏการณ์น้ำจืดท่วมทุกปีนี้เป็น “นิเวศพิษ” ที่เกิดจากธรรมชาติปรับตัวเองให้เข้าสู่สมดุลกับสิ่งที่มนุษย์ทำลาย ดังนั้น น้ำท่วมกรุงเทพมหานคร จึงกลายเป็น “ระบบนิเวศ” แบบหนึ่งของกรุงเทพมหานครในสมัยแอนโทรพอซีนไปเสียแล้ว นั่นคือ เรามีปัญหากับนิเวศที่เราอยู่ แต่เราทำอะไรไม่ได้ เราแก้ไขอะไรไม่ได้ เพราะมันเป็น “ธรรมชาติแบบแอนโทรพอซีน” (anthropocenic nature)

           มันเป็นปัญหาที่เราไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการสร้างระบบระบายน้ำแต่เพียงอย่างเดียว แต่สาเหตุของปัญหาได้สะสมตัวมาอย่างยาวนาน จนเกิดเป็นปัญหาเรื้อรังและซับซ้อนยิ่งกว่า ทั้งเรื่องโครงสร้างผังเมืองขนาดใหญ่ที่ไร้ทิศทาง จะรื้อก็ไม่ง่าย นี่ยังไม่รวมถึงการสร้างสิ่งก่อสร้างเพิ่มขึ้นในที่ลุ่มบางกอกอีกมากมายหลายแห่ง ซึ่งก็ไร้ทิศทางและก่อให้เกิดผังเมืองในลักษณะที่เรียกว่า “ผังเมืองขังน้ำ” ซึ่งได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของ “ภูมิทัศน์แบบแอนโทรพอซีน” (waterlogged city plan as an anthropocenic landscape)

           ที่สำคัญคือ พฤติกรรมจิตสำนึกสาธารณะของคนนับล้านในกรุงเทพมหานคร อาจยังมีไม่มากพอทั้งเจ้าหน้าที่และประชาชน เช่น จิตสำนึกที่ต้องไม่ลืมเอากระสอบทรายออก หลังจากเอาไปถมไว้ในท่อระบายเพื่อกันน้ำทะเลหนุนล้นท่อ เพราะพอน้ำทะเลเลิกหนุนน้ำที่ท่วมถนนก็ไม่ระบาย กลายเป็นน้ำท่วมขังรอระบาย หรือ ช่วงฤดูที่ฝนไม่ตก ต้องมีจิตสำนึกเร่งปรับปรุงตรวจสอบท่อระบายน้ำ ไม่ใช่มาเร่งตรวจเอาหลังจากฝนตกมีน้ำท่วมขังแล้ว หรือ จิตสำนึกง่าย ๆ เลิกทิ้งขยะตามถนน เลิกแอบเทสิ่งปฏิกูลประเภทไขมันในรูปแบบต่าง ๆ ลงท่อระบายน้ำ

           หากภาวะน้ำท่วมซ้ำซาก เป็นระบบนิเวศถาวรของกรุงเทพมหานครแล้ว ผู้อยู่อาศัยในนิเวศอาจต้องคิดถึงอนาคตว่า จะย้ายหนีน้ำท่วมซึ่งเป็นทางออกที่เอาตัวเองออกจากระบบนิเวศพิษนี้เสีย หรือ หากไม่มีที่ไปก็ต้องออกแบบบ้านแบบใหม่ ให้สามารถรับสภาพน้ำท่วมรายปีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประเภทที่ว่ารู้ว่ามาแน่ทุกปีเพราะฉะนั้นก็ปรับบ้านให้อยู่กับน้ำท่วมได้ เช่น บ้านยกพื้นเสาสูง มีที่จอดรถหนีน้ำ มีที่เก็บเรือ แต่มันจะทำได้จริงหรือ? ในวิถีชีวิตสังคมเมืองที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบัน

           สุดท้าย ขอเสนอว่า ปัจจุบันกรุงเทพมหานครอยู่ในภาวะ “ร้อนรังสี น้ำฝนท่วม สูดมวลฝุ่น” กล่าวคือ เราต้องเผชิญกับรังสียูวี 3 เดือนตั้งแต่เดือนมีนาคม - พฤษภาคม หลังจากนั้น เราต้องใช้ชีวิตในฤดูฝนที่มีความเสี่ยงน้ำท่วม 6 เดือน ตั้งแต่เดือนมิถุนายน - พฤศจิกายน ซึ่งในเดือนพฤศจิกายนก็เริ่มมีมวลฝุ่น PM 2.5 สะสมตัวแล้ว ทำให้เราต้องใช้ “ชีวิตสูดฝุ่น” 4 เดือน คือตั้งแต่ พฤศจิกายน – กุมภาพันธ์ ซึ่งจะเห็นได้ว่าเดือนพฤศจิกายนนั้น กรุงเทพมหานครอาจต้องเผชิญทั้ง “น้ำฝนท่วม” กับ “สูดมวลฝุ่น” ภาวะทั้งสามนี้ อาจจำแนกได้เป็น “ห้าฤดูกาลแห่งแอนโทรพอซีน” (the five anthropocenic seasons) ดังนี้

           1. ฤดูร้อนยูวีเข้ม (เดือนมีนาคม-เมษายน-พฤษภาคม) เป็นผลจากชั้นโอโซนถูกทำลาย รังสียูวีเข้มข้นจึงหลุดลอดลงมาสู่พื้นโลก กลายเป็นภัยจากรังสีทั้งก่อให้เกิดมะเร็งผิวหนังและการเปลี่ยนแปลงทางพันธุ์กรรมได้ จึงเป็น “ฤดูหลบแดดในร่ม” นอกจากนี้ ยังทำให้อากาศร้อนขึ้น จึงมีการเผาผลาญพลังงานไฟฟ้าสูงที่สุดในรอบปี เพื่อทำความเย็นให้แก่อาคารสำนักงานและที่อยู่อาศัย หากผลิตไฟฟ้าด้วยถ่านหิน ก็ยังให้เกิด CO2 ส่งเสริมภาวะเรือนกระจกให้โลกร้อน

           2. ฤดูฝนตกเลิกงาน (มิถุนายน-กรกฎาคม) มีฝนตกเป็นเวลา เมื่อยาม 5-6 โมงเย็น เพื่อให้เกิดน้ำท่วมขังและรถติด เผาผลาญน้ำมันเชื้อเพลิง และเพิ่มปริมาณ CO2 ที่ส่งเสริมภาวะเรือนกระจกให้โลกร้อนยิ่งขึ้น

           3. ฤดูน้ำฝนท่วมขัง (สิงหาคม-กันยายน) ฝนตกเพราะพายุเข้า ทำให้ปริมาณน้ำมาก และเกิดท่วมขังตั้งแต่ 1-2 วัน เป็นระยะ ๆ เกิดปัญหารถติด และทรัพย์สินเสียหายหากเคลื่อนย้ายหนีน้ำไม่ทัน เช่นกรณีน้ำท่วมที่จอดรถใต้ดิน หรือน้ำหาทางระบายไม่ได้ จนไหลเข้าท่วมร้านค้าและบ้านเรือนริมถนน หากเป็นพื้นทื่ต่างจังหวัดที่อยู่ริมแม่น้ำ อาจถูกน้ำท่วมขังแรมเดือน เพราะระบบการจัดการน้ำไม่มีประสิทธิภาพ ระบบระบายน้ำไม่ดี สิ่งก่อสร้างขวางทางน้ำ เช่น ปี 2565 มีจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ เช่น สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา

           4. ฤดูแม่น้ำบ่าท่วม (ตุลาคม-พฤศจิกายน) เดือนตุลาคม เป็นช่วงพายุเข้า มีปริมาณน้ำมากกว่าปกติ และมักมีการปล่อยน้ำจากเขื่อนที่ทำให้น้ำในแม่น้ำไหลบ่าท่วมพื้นที่จังหวัดต่างๆ ในที่ลุ่มบางกอก ซึ่งบางแห่งก็ยังคงท่วมต่อเนื่องมาจาก “ฤดูน้ำท่วมขัง” ตัวอย่างในปี 2565 เช่น จังหวัดปทุมธานี และนนทบุรี เมื่อถึงเดือนพฤศจิกายน แม้ไม่มีฝนแล้ว แต่มวลน้ำมหาศาลยังรอไหลเข้าท่วมพื้นที่ที่อยู่ในเขตจังหวัดนครปฐม โดยเฉพาะอำเภอนครชัยศรี สามพราน และพุทธมณฑล รวมถึงกรุงเทพมหานครด้วย ซึ่งก็ต้องลุ้นกันทุกปีว่า พฤศจิกายนนี้ น้ำจะท่วมกรุงเทพมหานครหรือไม่

           5. ฤดูฝุ่น PM 2.5 (พฤศจิกายน-กุมภาพันธ์) อันที่จริงเริ่มมาตั้งแต่ปลายตุลาคม ที่ฝนเริ่มทิ้งช่วง แต่จะชัดเจนด้วยสภาพท้องฟ้าขมุกขมัวตลอด 4 เดือนนี้ อนึ่ง ช่วงก่อนโควิด-19 พอถึงฤดูฝุ่น PM 2.5 ก็ต้องแจกหน้ากากกัน แต่ตอนนี้ ก็เป็นการสวมหน้ากากต่อเนื่องกันทั้งปีเพราะโควิด-19

           สภาวะแอนโทรพอซีนไม่ได้เป็นเรื่องของส่วนใดส่วนหนึ่ง แต่เป็น “เครือข่ายของปมปัญหา” เกิดขึ้นมาจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งทำให้เกิดเหตุการณ์โคลนถล่มหมู่บ้านทุกปี และเมื่อไม่มีป่ากักน้ำ จึงไม่แปลกที่มวลน้ำในแม่น้ำจะเพิ่มสูงขึ้น และไหลบ่าท่วมอย่างรุนแรง นี่ยังไม่รวมถึงการปล่อยน้ำจากเขื่อนที่ไม่มีประสิทธิภาพ การสร้างที่อยู่อาศัยหรือโรงงานบนที่ราบอย่างไม่มีแบบแผน แบบนี้น้ำก็ท่วม เพราะกลายเป็นว่าพื้นที่รองรับน้ำแต่เดิมถูกแทนที่ด้วยการถมที่สูงขึ้น การกระทำเช่นนี้ย่อมส่งผลให้มวลน้ำยกตัวสูงขึ้น เมื่อน้ำหลากเข้าพื้นที่ที่มีอยู่เท่าเดิม เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องที่รู้กันแต่ไม่ค่อยอยากคิดถึง เพราะมีผลประโยชน์ทับซ้อนต่อกันทั้งในทางสว่างและทางมืด แต่สุดท้ายแล้วนั่นคือเรากำลังสร้างระบบนิเวศพิษขึ้นทีละส่วนทีละน้อย จนเมื่อ “ความเป็นพิษเชื่อมต่อกัน” ก็ให้ผลดังที่เห็นว่าเดี๋ยวนี้ฤดูกาล โดยเฉพาะฤดูกาลในกรุงเทพมหานคร ได้เปลี่ยนแปลงกลายเป็น “นิเวศแบบแอนโทรพอซีน” (changing of Bangkokian seasons as an anthropocenic ecology) ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่เราต้อง “เรียนรู้ให้เท่าทันแอนโทรพอซีน” ซึ่งอาจต้องถึงขั้น “เปลี่ยนโลกทัศน์ในการแก้ปัญหา” น้ำท่วมกันเลยทีเดียว


ผู้เขียน

ตรงใจ หุตางกูร

นักวิจัยด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ นิเวศพิษ แอนโทรพอซีน น้ำท่วม ชาติพันธุ์กรุงเทพมหานคร ตรงใจ หุตางกูร

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share