มานุษยวิทยาออกแบบ ตอนที่ 1 เกริ่นนำ

 |  แนวคิด ทฤษฎีมานุษยวิทยา
ผู้เข้าชม : 2664

มานุษยวิทยาออกแบบ ตอนที่ 1 เกริ่นนำ

           ความสัมพันธ์ระหว่างผลงานการออกแบบกับการใช้งานจริงเป็นสิ่งมิได้ดำเนินไปอย่างราบรื่นและสอดคล้องกันเสมอไป ทางเท้าที่ถูกออกแบบไว้สวยงามแต่ผู้คนกลับเลือกที่จะเดินตัดสนามหญ้าจนกลายเป็นร่องทางเดินธรรมชาติ, สะพานข้ามคลองในหลายชุมชนถูกออกแบบให้ดูสวยงามและกลายเป็นจุดเช็คอิน แต่คนในชุมชนไม่ได้ใช้งานสะพานนั้นเหมือนดั่งเคย เนื่องจากไม่สามารถนำจักรยานหรือรถมอเตอร์ไซต์ขึ้นได้ส่งผลให้ทิศทางการสัญจรในชุมชนมีความเปลี่ยนแปลง, เมืองที่ถูกออกแบบขึ้นมาประหนึ่งกับกีดกันคนอีกหลายกลุ่มในเมือง, รวมไปถึง เรื่องที่ดูเล็กน้อยอย่างเครื่องใช้สอยในชีวิตประจำวันทั้งที่บ้านและที่ทำงาน ซึ่งต่างมีลักษณะที่ขาด ๆ เกิน ๆ กับการใช้งานจริงอยู่เสมอ ปัญหาพื้นฐานเหล่านี้คือประเด็นที่เหล่านักมานุษยวิทยาออกแบบ (design anthropologists) ให้ความสนใจและกำลังทำการศึกษาอย่างแข็งขัน พวกเขาเชื่อว่าผลงานการออกแบบทุกประเภทอุดมด้วยความคิดสร้างสรรค์ ทว่า สิ่งเหล่านั้นก็มีคุณค่าและบรรทัดฐานบางประการแนบติดมาและสร้างความเปลี่ยนแปลงหรือผลกระทบต่อตัวตนของผู้ใช้ ในทางตรงข้าม ผู้ใช้ก็สามารถมีส่วนร่วมกับผลงานการออกแบบโดยไม่ยี่หระกับเงื่อนไขหรือบริบทของการออกแบบตั้งเดิมได้ด้วยเช่นกัน (Harris, 2007; Nafus 2008)

           มานุษยวิทยาออกแบบ (design anthropology) เป็นสนามใหม่ของกระบวนการศึกษาทางมานุษยวิทยาและเป็นที่รู้จักทั่วไปในช่วงปี ค.ศ. 1990 นักมานุษยวิทยามีความเห็นว่าการศึกษาและวิจัยด้านการออกแบบมีพัฒนาการต่อยอดมาจากประเพณีการศึกษาทางมานุษยวิทยาว่าด้วยการบริโภค (Wasson, 2000, 2016) โดยมุ่งเน้นไปที่การพิจารณามนุษย์ในฐานะผู้ใช้ (user) มากกว่าการเป็นผู้บริโภคซึ่งมีความหมายโดยรวมในเชิงตั้งรับ (passive consumer) มานุษยวิทยาออกแบบจึงมิได้หยุดเพียงแค่การลงมือวิจัย หากมีแนวทางปฏิบัติการที่หลากหลาย มีความคิดริเริ่มการทำงานร่วมกันระหว่างสาขาวิชาเพื่อพิจารณาถึงจุดบรรจบและซ้อนทับกันระหว่างกิจกรรมของมนุษย์กับความคิดสร้างสรรค์ ที่ปรากฏขึ้นในรูปของสิ่งของและสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ รวมไปถึง การให้ความสนใจกับคำถามว่าการออกแบบจะช่วยสร้างความหมายในความเป็นมนุษย์ได้อย่างไร และการออกแบบจะทำการแปลความหลากหลายในมิติทางคุณค่าของความเป็นมนุษย์ออกมาเป็นประสบการณ์ที่จับต้องได้อย่างไร พิจารณาในแง่นี้ มานุษยวิทยาออกแบบจึงมีความเชื่อมโยงกับการจินตนาการถึงอนาคตที่เป็นไปได้ อนาคตที่ถูกคาดการณ์ว่าจะนำพาชีวิตที่ดีมาสู่สังคมและช่วยให้คุณค่าในการดำรงอยู่ในโลกงอกเงยขึ้น กระบวนการทำงานของมานุษยวิทยาออกแบบจึงมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาแนวทางมานุษยวิทยาซึ่งมุ่งเน้นที่วิธีการทำงานด้านชาติพันธุ์นิพนธ์ (ethnographic methods) เพื่อสร้างให้การออกแบบมีลักษณะที่เป็นมนุษย์นิยมมากขึ้น ผ่านการให้ความสำคัญกับการมีชีวิตอยู่ในโลกทางวัฒนธรรมและประสบการณ์ของผู้ใช้ในโลกที่แวดล้อมไปด้วยสิ่งที่ถูกออกแบบ (Gunn and Donovan, 2012; Clarke, 2018; Drazin 2021)

           งานศึกษาของโลแกน แม็กลาฟลิน (Logan McLaughlin) เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ แม็กลาฟลินทำวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาโทผ่านข้อสงสัยว่าความเข้าใจในการใช้ถนนของคนกับปฏิสัมพันธ์ที่ผู้ใช้ถนนมีต่อกันนั้นเป็นอย่างไร ทั้งนี้ เพื่อนำคำตอบไปสู่การพัฒนายานยนต์อัตโนมัติที่สามารถใช้งานร่วมทางและมีปฏิสัมพันธ์กับพาหนะทั่วไปและคนเดินเท้าได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ เขาเริ่มต้นด้วยการไปฝึกงานที่นิสสันเซ็นเตอร์ในซิลิคอนวัลลีย์ แม็กลาฟลิน ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของทีมวิจัยเพื่อความเข้าใจมนุษย์สำหรับการออกแบบ ซึ่งมีนักมานุษยวิทยาทำงานร่วมอยู่ด้วย นักวิจัยเริ่มต้นด้วยการใช้วิธีการทางชาติพันธุ์นิพนธ์เพื่อตอบโจทย์ข้อสงสัยในข้างต้น โดยเฉพาะวิธีการสังเกตการณ์และสัมภาษณ์ผู้คนขับรถและคนเดินเท้า ควบคู่กับการหยิบยกสถานการณ์ต่าง ๆ เป็นตัวอย่างในการแสดงออกซึ่งวิธีคิดและการตัดสินใจ กระบวนการทำงานยังคำนึงถึงความหลากหลายของผู้ให้สัมภาษณ์ อาทิ เพศ สถานะทางสังคม และความแตกต่างทางชนชั้น ทั้งนี้ก็เพื่อพัฒนาระบบยานยนต์อัตโนมัติให้สามารถสื่อสารกับมนุษย์ได้บนพื้นฐานของการเรียนรู้ประสบการณ์ทางสังคมและการดำเนินชีวิตของมนุษย์ กระบวนการเก็บข้อมูลและวิจัยยังถูกบันทึกด้วยวิดีโอสำหรับการนำไปวิเคราะห์รายละเอียดที่แสดงออกมาผ่านสีหน้า น้ำเสียง และการแสดงออกทางร่างกายอีกด้วย เนื่องจากชุดของประสบการณ์นั้นจะถูกจำกัดกรอบและลดทอนลงหากถูกนำเสนอด้วยบทสัมภาษณ์เพียงอย่างเดียว แม็กลาฟลินพบว่าผู้ขับขี่และคนเดินเท้าสร้างความคิดรวบยอดและสร้างวิธีการใช้เส้นทางผ่านบริบทของการเดินทางบนเงื่อนไขทางกายภาพของถนนและระบบการจัดการโครงข่ายของถนน (Mclaughlin, 2016) มิติของความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสถานที่ของผู้ใช้ถนนหนทางอาจวางอยู่บนข้อจำกัดของการออกแบบถนน และวางโครงข่ายที่ผิดพลาดหรือไม่สอดคล้องกับการใช้ชีวิตของผู้คน เราจึงอาจพบเห็นทางลัดหรือเส้นทางอื่น ๆ ที่ผู้คนเลือกที่จะมีส่วนร่วมกับถนนซึ่งไม่ได้ถูกออกแบบเอาไว้ล่วงหน้า ในด้านการวิเคราะห์เพื่อพัฒนายานยนต์อัตโนมัติ เขายังได้ทำงานร่วมกับนักพัฒนาหุ่นยนต์ (roboticist) เพื่อสร้างระบบยานยนต์ดังกล่าวบนพื้นฐานของชุดประสบการณ์ทางสังคมของผู้คน กระทั่งนักพัฒนาหุ่นยนต์ที่นิสสันเซ็นเตอร์กล่าวว่าการสร้างหุ่นยนต์นั้นง่าย สิ่งที่ยากคือการทำให้มันเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของมนุษย์ (Jordan and Wasson, 2015)

           การศึกษาในข้างต้นคือการพัฒนาวิธีการวิจัยที่เรียกว่า การออกแบบอย่างมีส่วนร่วม (participatory design) สมมติฐานสำคัญจึงวางอยู่บนพื้นฐานที่ว่า ขอบเขตในการใช้ชีวิตของผู้คนเป็นสิ่งที่เกินกว่าการคาดการณ์ของนักออกแบบ การกำหนดคุณค่าของผลงานการออกแบบมักเกิดขึ้นเสมอโดยผู้ใช้งานตลอดเวลา กระบวนการเหล่านี้มิใช่การล่วงละเมิดวัตถุประสงค์ของการออกแบบ แต่พิจารณาได้ว่าเป็นการปรับให้ผลงานการออกแบบดังกล่าวมีความสอดคล้องกับการใช้งานจริง ควบคู่กับนัยที่แสดงออกเชิงเรียกร้องให้เหล่านักออกแบบหันกลับมาสนใจทักษะหรือชุดประสบการณ์อันสร้างสรรค์ของผู้คนทั่วไป ดังนั้น กระบวนการออกแบบจึงไม่ควรมีลักษณะของการเป็นปลายปิด แต่ต้องเกิดขึ้นเพื่อให้ชีวิตประจำวันของคนดำเนินต่อไปได้ มานุษยวิทยาออกแบบได้รับความสนใจมากขึ้นและมีการ “รวมทีม” เพื่อพัฒนางานวิจัยเชิงปฏิบัติการออกมาอย่างมากมาย การกำเนิดขึ้นของหน่วยวิจัยที่ชื่อ SPIRE ของมหาวิทยาลัยเซาท์เทิร์น เดนมาร์ก (University of Southern Denmark) ซึ่งได้ริเริ่มโครงการวิจัยสำคัญผ่านความร่วมมือระหว่าง มานุษยวิทยา, การออกแบบ, ภาษาศาสตร์, วิศวกร และ นวัตกรรมศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ได้แก่ มหาวิทยาลัยแอเบอร์ดีน (Aberdeen University), มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสวินเบิร์น (Swinburne University of Technology ), มหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน (University College London ), มหาวิทยาลัยนอร์ท เท็กซัส (University of Nort Texas) และบัณฑิตวิทยาลัยการออกแบบ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard Graduate School of Design) นับว่าเป็นตัวอย่างที่ดีซึ่งได้สร้างผลงานวิจัยและผลิตตำราออกมาอย่างมากมาย

           ทิม อิงโกลด์ (Tim Ingold) หนึ่งในผู้มีส่วนร่วมกับทีมวิจัยของ SPIRE มีความเห็นในเชิงมโนทัศน์ว่าการออกแบบและวัฒนธรรมการออกแบบคือการริเริ่มสร้างสรรค์วิธีการที่ทำให้ผู้คนตระหนักถึงความเชื่อมโยงระหว่างตนเองกับสภาวะแวดล้อมผ่านกระบวนการที่ผู้คนมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่อง (Ingold, Anusas, Grout, et al, 2009) การออกแบบในแนวทางนี้จะดำเนินไปได้จะต้องมีองค์ประกอบสำคัญ อันได้แก่ การสร้างโครงสร้างทางความคิดอันความยืดหยุ่น (flexible) ที่ตอบสนองความผันผวนในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสภาพแวดล้อม ควบคู่กับการมองการณ์ไกล (foresight) ที่สามารถเล็งเห็นและตระหนักได้ถึงสภาวะความเปลี่ยนแปลงที่จะตามมาภายใต้บริบทและเงื่อนไขต่าง ๆ สุดท้ายคือ การให้ความสำคัญกับจินตนาการ (imagination) ผ่านคำถามที่ว่าการคาดการณ์และความฝันของนักออกแบบจะมีความเชื่อมโยงกับแนวปฏิบัติของผู้ที่เข้ามามีส่วนร่วมกับผลงานการออกแบบได้อย่างไร การบูรณาการองค์ประกอบเหล่านี้เข้าไว้ด้วยกันเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิเสธลักษณาการผูกขาดทางความคิดและการปฏิบัติโดยนักออกแบบ โดยเฉพาะการอาศัยสถานะทางความรู้และความสามารถในเชิงสุนทรียศาสตร์และการสร้างสรรค์มาบดบังมิติและประสบการณ์ในความเป็นมนุษย์

           พิจารณาในลักษณะนี้ การออกแบบจึงเปรียบเสมือนกระบวนการเติบโต เฉกเช่นเดียวกับพืชที่แผ่ออกไปในสภาพชีวิตที่มีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การออกแบบไม่ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับโลก แต่มันคือส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงของโลก (Ingold, 2013: 244) มองออกไปให้กว้างไกลขึ้น มันคือการสร้างสายใยที่ช่วยยึดโยงให้มนุษย์ยังตระหนักว่าตนเองไม่ได้เป็นแกนกลางของสรรพสิ่งหรือออกแบบนวัตกรรมที่พลิกโลก หากเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมให้สรรพชีวิตได้เกิดบทสนทนาและรับรู้ความหมายในการดำรงอยู่ และไม่เพียงแต่มนุษย์เท่านั้นที่ได้การโอบรับแต่ยังรวมถึงองค์ประกอบอื่น ๆ ทั้งหมดในโลกแห่งชีวิต (lifeworld) ที่มีประสบการณ์และใช้ชีวิตร่วมกัน

(ติดตามอ่านตอนต่อไป)

 

อ้างอิง

Clarke, Alison J. 2018. Design Anthropology: Object Cultures in Transition. London: Bloomsbury Publishing.

Drazin, Adam. 2021. Design Anthropology in context. New York: Routledge.

Gunn, Wendy and Jared Donovan (eds.) 2012. Design and Anthropology. London: Ashgate.

Harris, M. (ed.) 2007. Ways of Knowing: New Approaches in the Anthropology of Knowledge and Learning. Oxford: Berghahn Books.

Ingold, T., Anusas, M., Grout, I., et al. 2009. Designing Environments for Life Programme Report. [Online]. Available at: http://www.scottishinsight.ac.uk/

Ingold, T. 2013. “Designing Environments for Life”. In Anthropology and Nature. Kirsten Hastrup (ed.). New York: Routledge.

Jordan, Brigitte, and Christina Wasson. 2015. "Autonomous vehicle study builds bridges between industry and academia." Proceedings of the 2015 Ethnographic Praxis in Industry Conference, 24-35.

McLaughlin, Logan M. 2016. Understanding road use and road user interaction: An exploratory ethnographic study toward the design of autonomous vehicles. Master’s Thesis, Department of Anthropology. University of North Texas.

Nafus, D. and Anderson. K. 2010. “Writing on walls: The materiality of social memory in corporate research”. In Ethnography and the Corporate Encounter: Reflections on Research in and of Corporations. Melissa Cefkin (ed.). New York: Bergahn Books. Pp. 137–57.

Wasson, Christina. 2000. "Ethnography in the field of design". Human Organization 59 (4). Pp. 377-388.

Wasson, Christina. 2016. “Design Anthropology”. General Anthropology 23(2). Pp. 1-11.


ผู้เขียน

ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ

สาขาวิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


 

ป้ายกำกับ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ออกแบบ design Posthuman Anthropology ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share