วัดศรีสุพรรณ ร่องรอยจากจารึก

 |  โบราณคดี และประวัติศาสตร์
ผู้เข้าชม : 4604

วัดศรีสุพรรณ ร่องรอยจากจารึก

           จากเหตุการณ์ “พระธาตุวัดศรีสุพรรณ” ซึ่งตั้งอยู่ที่ ถ.วัวลาย ต.หายยา อ.เมืองเชียงใหม่ ได้พังถล่มลงเมื่อเย็นวันที่ 29 กันยายน 2565 อาจเนื่องด้วยเหตุสะสมจากหลายปัจจัย ทั้งฝนที่ตกอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีน้ำสะสมอยู่มากที่พื้นดินรวมถึงในตัวพระธาตุ จึงเกิดการอ่อนตัว และความเก่าแก่ของพระธาตุที่อิฐบางส่วนผุกร่อนเปื่อยยุ่ยยุบตัวเนื่องจากผ่านแดดผ่านฝนมาหลายร้อยปี รวมถึงการบูรณะพระธาตุที่ไม่เหมาะสมที่มีมาตั้งแต่ครั้งอดีตจนเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งส่งผลต่อน้ำหนักขององค์พระธาตุและประสิทธิภาพการระบายน้ำหรือระบายความชื้นออกจากตัวพระธาตุ เป็นต้น

           แต่ไม่ว่าการพังถล่มจะเนื่องมาด้วยเหตุใด ก็ได้สร้างความสะเทือนใจให้กับชาวเชียงใหม่เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะชาวบ้านย่านวัวลาย ที่ผูกพันอยู่กับวัดแห่งนี้มาช้านาน สืบย้อนไปได้ถึงในช่วงระยะแรกของการตั้งชุมชน

           หลังจากพระธาตุพังถล่ม สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ก็ได้เดินทางเข้าไปตรวจสอบอีกครั้ง ทำให้พบปูชนียวัตถุสมัยต่าง ๆ บรรจุอยู่ในพระธาตุมากมาย เช่น แท่นหินทรายศิลาฤกษ์ พระบรมสารีริกธาตุ พระพุทธ​รูปหล่อด้วยโลหะ พระแกะสลักจากหินแก้ว พระพิมพ์ดินเผา หินแก้ว ทั้งแบบก้อนดิบธรรมชาติ​และที่ได้รับการเจียระไนแล้ว​เป็นต้น (สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่, 2565)

พระธาตุวัดศรีสุพรรณที่ปริร้าว ก่อนที่จะพังถล่มลงมา

ภาพจาก facebook fanpage: วัดศรีสุพรรณ ถนนวัวลาย -Wat Srisuphan Silver Temple

https://www.facebook.com/photo/?fbid=212864304424104&set=pcb.212864397757428

 

พระธาตุวัดศรีสุพรรณกำลังพังถล่ม

ภาพจาก facebook fanpage: วัดศรีสุพรรณ ถนนวัวลาย -Wat Srisuphan Silver Temple

https://www.facebook.com/100071016085336/videos/396170966053169

 

พระธาตุวัดศรีสุพรรณถล่ม

ภาพจาก facebook fanpage: วัดศรีสุพรรณ ถนนวัวลาย -Wat Srisuphan Silver Temple

https://www.facebook.com/photo/?fbid=213200291057172&set=pcb.213200304390504

 

พระพุทธรูปบางส่วนที่พบบรรจุอยู่ในองค์พระธาตุวัดศรีสุพรรณ

ภาพจาก facebook fanpage: วัดศรีสุพรรณ ถนนวัวลาย -Wat Srisuphan Silver Temple

https://www.facebook.com/photo/?fbid=213376244372910&set=pcb.213376814372853

 

พระพุทธรูปบางส่วนที่พบบรรจุอยู่ในองค์พระธาตุวัดศรีสุพรรณ

ภาพจาก facebook fanpage: Archaeology 7 Chiang Mai https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=pfbid02njxSQpEfE1nGVEUL6h3EYgieJK7oBYUvq5AoPegHcuP5UCBGk41azbKceKaQFjmpl&id=100064768417070

 

องค์เจดีย์จำลอง ที่พบบรรจุอยู่ในองค์พระธาตุวัดศรีสุพรรณ

ภาพจาก facebook fanpage: Archaeology 7 Chiang Mai https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=pfbid02njxSQpEfE1nGVEUL6h3EYgieJK7oBYUvq5AoPegHcuP5UCBGk41azbKceKaQFjmpl&id=100064768417070

 

พระบรมสารีริกธาตุ ที่พบบรรจุอยู่ในองค์พระธาตุวัดศรีสุพรรณ

ภาพจาก facebook fanpage: Archaeology 7 Chiang Mai https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=pfbid02njxSQpEfE1nGVEUL6h3EYgieJK7oBYUvq5AoPegHcuP5UCBGk41azbKceKaQFjmpl&id=100064768417070

 

           การศึกษาและบูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุแห่งนี้ยังคงต้องดำเนินต่อไปอย่างเหมาะสม ทั้งตามหลักการทางวิชาการและการมีส่วนร่วมของชุมชน บทความนี้จึงชวนท่านผู้อ่านเรียนรู้ประวัติวัด ผ่านจารึกวัดศรีสุพรรณ ในฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร มากยิ่งขึ้น

           วัดศรีสุพรรณ ตั้งอยู่ด้านทิศใต้นอกคูเมืองกำแพงเมืองชั้นในของเชียงใหม่ ห่างจากคูเมืองออกไปราว 200เมตร ปัจจุบันเป็นวัดราษฎร์ มหานิกาย หากแต่เดิมวัดแห่งนี้มีสถานะเป็นวัดหลวง

           จารึกวัดศรีสุพรรณ ซึ่งเป็นจารึกอักษรฝักขาม บนแผ่นหินรูปทรงใบเสมา จารึกขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2052 ได้ระบุเกี่ยวกับการสร้างวัดและศาสนสถานภายในวัดไว้ (ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, 2558) ดังนี้

           - สมเด็จบพิตรพระมหาราชเจ้าเมืองพิงเชียงใหม่ (“พระเจ้าศิริธรรมจักรพรรดิ” หรือ “พญาแก้ว” หรือ “พระเมืองแก้ว” กษัตริย์ราชวงศ์มังราย องค์ที่ 11) และพระราชมาดามหาเทวีเจ้า มีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา มอบหมายให้มหาอำมาตย์ชื่อ “เจ้าหมื่นหลวงจ่าคำรังการ” นำพระพุทธรูปมาประดิษฐาน และสร้างวัดชื่อ “วัดศรีสุพรรณอาราม” เมื่อปีกดสัน เดือนมาฆ ไทยว่าเดือน 1 ขึ้น 2 ค่ำ วันพุธ ไทยรวงไค้ จุลศักราช 862 (ตรงกับวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2043 (โครงการวิจัยฯ, 2551: 95-99))

           - จากนั้นนิมนต์ “พระมหาเถรญาณรัตน” วัดหมื่นล้าน มาเป็นเจ้าอาวาสที่วัดศรีสุพรรณ ในปีเต่าเส็ด เดือนอาษาฒ ไทยว่าเดือน 8 ขึ้น 13 ค่ำ วันพฤหัส ไทยกาเหม้า (ตรงกับวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2045 (โครงการวิจัยฯ, 2551: 95-99))

           - สร้างมหาวิหาร ในปีกาไค้ เดือนวิสาขะ ไทยว่าเดือน 6 ขึ้น 4 ค่ำ วันพฤหัสบดี ไทยกดซง้า (ตรงกับวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2045 (โครงการวิจัยฯ, 2551: 95-99))

           - ก่อพระมหาเจดีย์ สถาปนาพระสาริกธาตุ ในปีดับเปล้า เดือนวิสาขะ ไทยว่าเดือน 6 ขึ้น 2 ค่ำ วันพุธ ไทยรวงไส้ (ตรงกับวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2048 (โครงการวิจัยฯ, 2551: 95-99))

           - ปีกัดไส้ เดือนอาษาฒ ไทยว่าเดือน 8 ขึ้น 11 ค่ำ วันพุธ ไทยเต่าสัน (ตรงกับวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2052 (โครงการวิจัยฯ, 2551: 95-99)) สมเด็จบพิตรพระมหาราชเจ้าเมืองพิงเชียงใหม่ นิมนต์พระสงฆ์จากวัดต่าง ๆ อาทิ สมเด็จมหาสามีศรีสัทธรรมโพธิเจ้ามาเป็นประธานผูกอุโบสถสีมา นำพระสาริกธาตุมาประดิษฐานในมหาเจดีย์ พร้อมกัลปนาสิ่งของให้แก่วัด ได้แก่ นาแสนไร่ ที่ดินที่ติดกับวัดศรีสุพรรณทุกด้าน 20 วา นอกจากนี้ เจ้าหมื่นหลวงจ่าคำแลเจ้าจันทร ภัทรา ร่วมถวายปัจจัย 192703 เงิน ข้าวัด 20 ครัว และข้าพระธาตุ 7 ครัว

           ทั้งนี้ พระเมืองแก้ว เป็นผู้ทรงมีพระราชศรัทธาต่อคณะสงฆ์ลังกาวงศ์ใหม่ หรือนิกายสิงหลเหมือนสมัยพระเจ้าติโลกราช (พ.ศ.1984-2030) จึงโปรดฯ ให้ทำนุบำรุงวัดป่าแดงเป็นพิเศษ และอาจกล่าวได้ว่าวัดศรีสุพรรณในยุคเริ่มต้นนี้ เป็นสงฆ์นิกายวัดป่าแดงหรือลังกาวงศ์ใหม่ (สมโชติ อ๋องสกุล, 2552: 34-35)

           “พระมหาเจดีย์” ที่ปรากฏข้อความในจารึกนั้น ก็คือ “พระธาตุวัดศรีสุพรรณ” องค์ที่เพิ่งพังถล่มลงไปนั่นเอง

           จิรศักดิ์ เดชวงศ์ญา (2541: 29) อดีตนักวิจัยสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับรูปแบบศิลปะของพระธาตุวัดศรีสุพรรณไว้ว่า เป็นเจดีย์ที่มีการคลี่คลายลักษณะจากเจดีย์ทรงกลมแบบพื้นเมือง โดยส่วนฐานยังคงเป็นฐานเขียงรองรับฐานปัทม์ลูกแก้วอกไก่ยกเก็จซ้อนกัน 2 ชั้นแบบดั้งเดิม แต่ส่วนถัดขึ้นไปมีการเปลี่ยนแปลงจากฐานบัวในผังกลมซ้อนลดหลั่นกัน 3 ชั้น ไปเป็นฐานบัวในผังแปดเหลี่ยม ซึ่งการเปลี่ยนแปลงฐานจากผังกลมให้อยู่ในผังแปดเหลี่ยมดังกล่าว อาจเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลพระเมืองแก้ว นอกจากนี้ จิรศักดิ์ ยังให้ข้อมูลอีกว่า พระธาตุวัดศรีสุพรรณมีประวัติการซ่อมครั้งหลัง (ก่อนทาเจดีย์เป็นสีทอง) เมื่อ พ.ศ. 2518

           อย่างไรก็ดี จากซากที่พังถล่มของพระธาตุ ทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า พระธาตุวัดศรีสุพรรณองค์ที่เห็นในปัจจุบัน เป็นพระธาตุที่สร้างครอบทับพระธาตุองค์เดิมโดยคนสมัยหลัง และน่าจะผ่านการบูรณปฏิสังขรณ์มาแล้วหลายครั้ง เนื่องจากเป็นวัดที่ยังคงมีการใช้งานต่อเนื่องมากว่า 500 ปี ดังนั้น พระธาตุที่อยู่ด้านในจึงน่าจะเป็นพระธาตุองค์เดิมที่ระบุถึงในจารึก ทั้งนี้ การสร้างเจดีย์หรือพระธาตุองค์ใหม่ครอบลงบนเจดีย์องค์เดิมที่ทรุดโทรม เป็นวิถีปฏิบัติที่พบเห็นได้บ่อยครั้งในวัฒนธรรมล้านนา

           ขณะที่ ศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ ได้แสดงความเห็นผ่าน facebook fanpage ของภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร (2565) เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2565 ไว้ว่า

“ประวัติการสร้างเจดีย์ระบุไว้ว่าเป็นสถาปัตยกรรมในรัชสมัยพระเจ้าศิริธรรม จักรพรรดิ (พระเมืองแก้ว) ราว พ.ศ. 2048 อย่างไรก็ตาม หลักฐานทางด้านรูปแบบและการปรากฏร่องรอยของงานสร้างที่ใหม่กว่า รวมไปถึงรูปแบบศิลปะของศิลปวัตถุที่พบบรรจุอยู่ภายในบางส่วนแล้ว ทำให้เข้าใจได้ว่าเจดีย์องค์นี้ตามที่ปรากฏในปัจจุบันเป็นงานซ่อมสร้างในรุ่นหลัง อาจเป็นราวสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือสมัยการบูรณะของครูบาศรีวิชัย ซึ่งเป็นการก่อเจดีย์องค์ใหม่ครอบทับเจดีย์รุ่นแรก

ทั้งนี้ อิฐของเจดีย์องค์เดิมอาจอยู่ในสภาพผุพังอยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อมีการสร้างครอบทับลงไป จึงเป็นการเพิ่มน้ำหนัก และกักเก็บความชื้นไว้ กระตุ้นให้เกิดการเปื่อยของอิฐเก่า เมื่อมีฝนตกลงมาปริมาณมาก ๆ อิฐก็อุ้มน้ำไว้ประกอบกับสภาพที่ไม่สมบูรณ์จึงพังทลายลงมาตามที่เห็น

สำหรับพระพุทธรูปที่พบภายในองค์เจดีย์ที่พังทลายลงมา ส่วนหนึ่งพิจารณาดูแล้วน่าจะมีอายุเก่าแก่ไปถึงสมัยของพระเมืองแก้วตามที่ประวัติการสร้างระบุไว้จริง เพราะบางองค์ก็อยู่ในสภาพที่พระเศียรหักหาย แต่ส่วนหนึ่งก็น่าจะเป็นงานที่บรรจุใหม่ในการสร้างครั้งหลัง

ดังนั้น มีความเป็นไปได้ว่า เจดีย์องค์นี้อาจจะเคยพังทลายหรืออยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์มาก่อนหน้านี้แล้ว จึงได้มีการสร้างครอบทับใหม่ตามรูปแบบที่เห็นในปัจจุบัน ก่อนจะพังทลายลงอีกครั้ง”

           ส่วนการบรรจุ “พระสาริกธาตุ” ในพระมหาเจดีย์ ตามที่ปรากฏข้อความในจารึกนั้น ก็อาจสอดคล้องกับหลักฐานที่กรมศิลปากรเพิ่งได้ค้นพบพระบรมสารีริกธาตุในผอบแก้ว ภายในพระธาตุวัดศรีสุพรรณ ตามที่ปรากฏในข่าว อย่างไรก็ดี เพื่อความแน่ชัด ก็คงต้องมีการพิสูจน์ทราบอายุของพระบรมธาตุกันต่อไปว่าเป็นพระบรมธาตุองค์ที่บรรจุตั้งแต่แรกสร้าง หรือบรรจุในการบูรณะสมัยหลัง

           พระพุทธรูปที่พระเมืองแก้วและพระราชมารดา ได้ทรงนำถวายวัดนั้น สันนิษฐานว่าคือ “พระเจ้าเจ็ดตื้อ” หรือ “พระพุทธปาฏิหาริย์” ที่ปัจจุบันประดิษฐานเป็นประธานอยู่ในอุโบสถ มีหน้าตักกว้าง 3 ศอก สูง 4 ศอก เนื้อสำริด แสดงปางมารวิชัย

           แต่เดิมพระพุทธรูปองค์นี้ยังไม่มีนามที่แน่ชัด กระทั่งได้มีการถวายนาม “พระพุทธปาฏิหาริย์มิ่งขวัญพระเมืองแก้ว นพบุรีศรีนครเชียงใหม่” หรือ “พระพุทธปาฏิหาริย์” เมื่อ พ.ศ. 2549 และ “พระเจ้าเจ็ดตื้อ” เมื่อ พ.ศ. 2551 ซึ่งนามพระเจ้าเจ็ดตื้อนี้ ถูกอ้างอิงว่าเป็นชื่อเดิมตั้งแต่เมื่อครั้งแรกสร้าง โดยเทียบเคียงประวัติการก่อสร้างวัดและอายุสมัยของพระพุทธรูป ซึ่งใกล้เคียงกับ “พระเจ้าห้าตื้อ” ที่ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ ณ วัดชัยพระเกียรติ อำเภอเมืองเชียงใหม่ และ “พระเจ้าเก้าตื้อ” ที่ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ ณ วัดสวนดอก อำเภอเมืองเชียงใหม่ (ตื้อ เป็นภาษาเหนือ แปลว่า (หนัก) พันชั่ง) (ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โชคนิธิไท ฐิตนิธิไท, 2552: 20; อัญชลี ฮุนตระกูล, 2556: 8-9)

           อย่างไรก็ดี ยังมีเรื่องเล่าอื่นที่เกี่ยวกับที่มาของชื่อพระพุทธรูปองค์นี้ ซึ่งย้อนไปถึงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ว่า ทหารญี่ปุ่นยึดวัดศรีสุพรรณเป็นที่ตั้งฐานทัพ ใช้หอไตรของวัดเป็นกองบัญชาการรบกับกองทัพสัมพันธมิตร จนพระเณรต้องหนีไปอยู่ที่อื่น และมีการจับเชลยศึกจำนวนมากมาทรมานภายในวัด ครั้นเมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรส่งกำลังทางอากาศเข้าโจมตีฐานที่มั่นกองทัพญี่ปุ่นที่วัดศรีสุพรรณ ศาสนสถานเสียหายย่อยยับ แต่พระพุทธรูปภายในพระอุโบสถ ไม่ได้รับความเสียหายมากนัก มีเพียงรอยแฉลบของกระสุนที่ไหล่ขวาและเข่าซ้ายเท่านั้น สร้างความประหลาดใจให้กับผู้พบเห็น ชาวบ้านจึงเรียกพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “พระพุทธปาฏิหาริย์” (กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม, 2565)

 

“พระเจ้าเจ็ดตื้อ” หรือ “พระพุทธปาฏิหาริย์” พระประธานในอุโบสถเงิน วัดศรีสุพรรณ

ภาพจาก facebook fanpage: เจาะเวลาหาอดีต

https://www.facebook.com/2007331706232995/photos/a.2007341916231974/2423600914606070/?type=3

 

           ส่วนธรรมเนียมปฏิบัติเพื่อบุญกุศลที่มีมาแต่โบราณ เช่น การกัลปนาข้าวัด 20 ครัว และข้าพระธาตุ 7 ครัว ที่ปรากฏในจารึก ก็อาจนำมาซึ่งการก่อตั้งชุมชนวัดศรีสุพรรณ จนมีผู้อพยพย้ายถิ่นฐานเข้ามามากขึ้น ขยายออกจนเป็นชุมชนขนาดใหญ่ดังที่ปรากฏในปัจจุบัน โดยเฉพาะเมื่อครั้งรัชสมัยของพระเจ้ากาวิละ (พ.ศ. 2325-2345) ซึ่งได้มีการเกลี้้ยกล่อมและกวาดต้อนผู้คนในแถบลุ่มแม่น้ำคง (แม่น้ำสาละวิน) มาแบบเทครัว เช่น เมืองปุ งัวลาย (เป็นที่มาของชื่อ งัวลาย หรือวัวลาย ในเชียงใหม่) บ้านสะต๋อย สอยไร่ ท่าช้าง บ้านนา บ้านทุ่งอ้อ ฯลฯ ให้เข้ามาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ในเมืองเชียงใหม่ โดยส่วนที่เป็นช่างฝีมือทำเครื่องเงิน ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่รอบวัดหมื่นสารและวัดศรีสุพรรณ (สมโชติ อ๋องสกุล 2552: 40) จนย่านถนนวัวลายมีชื่อเสียงโด่งดังด้านเครื่องเงินกระทั่งปัจจุบัน ทั้งนี้ ก่อนหน้าที่พระเจ้ากาวิละจะขึ้นครองเชียงใหม่นั้น พระองค์และเจ้าแม่อุษาพระชายา ยังได้สร้าง “วิหาร วัดสุภัน” ขึ้นใน พ.ศ. 2403 (อัญชลี ฮุนตระกูล, 2556: 5) แสดงให้เห็นถึงความผูกพันของพระเจ้ากาวิละที่มีต่อวัดศรีสุพรรณ

           ด้วยเหตุแห่งความผูกพันระหว่างชุมชนกับวัด ในคราวที่อุโบสถของวัดได้ทรุดโทรมลง เมื่อ พ.ศ. 2547 คณะกรรมการวัดศรีสุพรรณภายใต้การนำของพระครูพิทักษ์ สุทธิคุณ เจ้าอาวาสวัดศรีสุพรรณ จึงมีมติให้บูรณปฏิสังขรณ์อุโบสถครั้งใหญ่ โดยสร้างอุโบสถหลังใหม่ขึ้นบนฐานและพัทธสีมาเดิม ทำเป็นอุโบสถเงินทั้งหลัง ที่หลังแรกและหลังเดียวในโลก โดยบรรดาสล่า (ช่าง) ได้ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างสรรค์ขึ้นจากภูมิปัญญาด้านเครื่องเงินของชุมชนที่สืบทอดมาหลายร้อยปี ประดับตกแต่งอย่างวิจิตรทั้งภายนอกและภายใน กระทั่งแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2559 โดยมี พระเจ้าเจ็ดตื้อ พระพุทธรูปเก่าแก่ของวัด ประดิษฐานเป็นองค์ประธาน

           ยิ่งไปกว่านั้น ปัจจุบันวัดศรีสุพรรณยังเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้อนุรักษ์สืบสานช่างสิบหมู่ล้านนา โดยเฉพาะงานภูมิปัญญาท้องถิ่นสล่าเงิน สล่าแกะ สล่าหล่อ ฯลฯ ทั้งเพื่อสืบสานมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชุมชน และต่อยอดพัฒนาหัตถกรรมท้องถิ่น ไปสู่การสร้างผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย สร้างรายได้ให้กับชุมชน ด้วยเหตุนี้ จะเห็นได้ว่าวัดศรีสุพรรณจึงไม่ได้เป็นเพียงวัดแห่งหนึ่งที่สร้างโดยกษัตริย์ล้านนาตามวัฒนธรรมด้านศาสนาและความเชื่อเท่านั้น แต่ยังมีความผูกพันอยู่กับชุมชนอย่างแน่นแฟ้นมาช้านาน

 

อุโบสถเงิน วัดศรีสุพรรณ

ภาพจาก facebook fanpage: วัดศรีสุพรรณ ถนนวัวลาย -Wat Srisuphan Silver Temple

https://www.facebook.com/watsrisuphandotcom/photos/a.189417608637688/515008816078564

 

บรรณานุกรม

กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม. (2565). “เปิดประวัติ “วัดศรีสุพรรณ” วัดโบราณอายุเก่าแก่กว่า 500 ปี แห่งเมืองเชียงใหม่.” เข้าถึงเมื่อ 1 ตุลาคม 2565. เข้าถึงจาก https://www.silpa-mag.com/history/article_94048

โครงการวิจัย : การปริวรรตและชำระจารึกล้านนา. (2551) “ชม. 25 จารึกวัดศรีสุพรรณ (พ.ศ. 2052).” ใน จารึกล้านนา ภาค 2 เล่ม 1 : จารึกจังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน และแม่ฮ่องสอน. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, หน้า 95-99.

จิรศักดิ์ เดชวงศ์ญา. (2541). พระเจดีย์เมืองเชียงใหม่. เชียงใหม่: สำนักพิมพ์วรรณรักษ์.

ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย. (2558). “จารึกวัดศรีสุพรรณ.” (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 30 กันยายน 2565. เข้าถึงจาก https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/16441

ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. (2565). Facebook fanpage “ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.” (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 30 กันยายน 2565. เข้าถึงจาก https://www.facebook.com/ArthistorySilpakornUniversity/posts/pfbid0NYPWe7eDQoj3qqPe2g3oDXcjAqyeu1PZhyq4mG3upjjs5EwgNCQuXdiZP9z4t5a7l

วัดศรีสุพรรณ. (2565). Facebook fanpage “วัดศรีสุพรรณ ถนนวัวลาย-Wat Srisuphan Silver Temple” (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 30 กันยายน 2565. เข้าถึงจาก https://www.facebook.com/watsrisuphandotcom/

สมโชติ อ๋องสกุล. (2552). ชุมชนวัดศรีสุพรรณ : พัฒนาการทางประวัติศาสตร์, ใน เฉลิมพระเกียรติราชวงศ์จักรี สานสายใยพัทธสีมา 500 ปี ศรีสุพรรณอาราม จังหวัดเชียงใหม่ ; วันที่ 12 -18 มิถุนายน 2552 ณ วัดศรีสุพรรณ ในพระอุปถัมภ์ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ. เชียงใหม่: โรงพิมพ์เวียงพิงค์

สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่. (2565). Facebook fanpage “Archaeology 7 Chiang Mai.” (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 2 ตุลาคม 2565. เข้าถึงจาก  https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=pfbid02njxSQpEfE1nGVEUL6h3EYgieJK7oBYUvq5AoPegHcuP5UCBGk41azbKceKaQFjmpl&id=100064768417070


ผู้เขียน

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล ผู้จัดการฝ่ายคลังข้อมูลวิชาการ

นิสา เชยกลิ่น ผู้ช่วยนักวิชาการคลังข้อมูล


 

ป้ายกำกับ จารึก วัดศรีสุพรรณ เชียงใหม่ ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล นิสา เชยกลิ่น

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share