วัฒนธรรมการสักในล้านนา

 |  โบราณคดี และประวัติศาสตร์
ผู้เข้าชม : 29874

วัฒนธรรมการสักในล้านนา

           “สัก” ภาษาล้านนาเรียกว่า “สับ” หมายถึงใช้เหล็กแหลมที่อุ้มน้ำหมึกสีต่าง ๆ รวมถึงน้ำมันแล้วสักเข้าไปในผิวหนังจนเกิดสีหรือลวดลายต่าง ๆ เมื่อมีการสักคาถาอาคมเลขยันต์เรียกว่า “สับยันต์” สักหมึกแบบถมทึบเรียกว่า “สับขาตัน” หากสักแบบเป็นลวดลายเรียกว่า “สับขาก่าน” หรือ “สับขาลาย” ทั้งสักขาตันและสักขาก่าน (สักขาลาย) หากสักถึงเข่าเรียกว่า “สับขาก้อม” และหากสักเลยลงไปถึงน่องหรือข้อเท้าเรียกว่า “สับขายาว” หรือ “สับขารวด” การสักในอดีตจะเน้นเรื่อง “ข่ามคง” หมายถึงความอยู่ยงคงกระพันเป็นหลัก ดังนั้น “สับยันต์ข่าม” จึงหมายถึงการสักรูปยันต์สักเลขอักขระคาถาอาคมลงไปบนผิวหนังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเพื่อให้เกิดความอยู่ยงคงกระพัน ซึ่งการสักยันต์นี้สามารถแบ่งกว้าง ๆ ตามจุดมุ่งหมายได้ ๒ ประเภท คือ (๑) สักยันต์เพื่ออยู่ยงคงกระพัน และ (๒) สักยันต์เพื่อเมตตามหานิยม การสักยันต์ถือว่าเป็นศาสตร์และศิลป์ที่ลึกซึ้ง ในบทความฉบับนี้ผู้เขียนเพียงนำเสนอเป็นเบื้องต้น ทางด้านประวัติศาสตร์และคติความเชื่อของการสักยันต์ในล้านนา และเน้นในส่วนของการสักยันต์ข่ามเพื่อความอยู่ยงคงกระพัน เพื่อหลบหลีกศาสตราวุธ คลาดแคล้วจากภัยภยันอันตรายจากเขี้ยวเขาเล็บงา กันคุณไสยและภูตผีปีศาจวิญญาณร้ายของชาวล้านนา การสักยันต์จึงเป็นเสมือนการตั้งรับป้องกันตัวทั้งในยามมีสติและลืมสติ ควบคู่ไปกับศิลปะการต่อสู้เชิงมือเชิงอาวุธหอกดาบที่ใช้ในการรุก

           ในอดีตชายชาวล้านนาที่เกิดก่อนช่วงทศวรรษ ๒๕๐๐ จะนิยมสักยันต์กันแทบทุกคนอาจจะสักยันต์มากน้อยตามแต่ละบุคคล ด้วยมีค่านิยมว่าสมชายชาตรี เป็นชายหนุ่มเต็มตัว สามารถเป็นที่พึ่งของหญิงสาวและครอบครัวอันเป็นที่รักได้ ดังมีคำกล่าวสำนวนล้านนาว่า

“น้ำหมึกขายาว เอาไว้แปลงราวผ้าอ้อม น้ำหมึกขาก้อม เอาไว้กล่อมแม่ยิงนอน” 2

หรือ

“เกิดเป๋นป้อจาย ขาบ่ลายก็อายเขียด”

 

           และผู้หญิงหากจะเลือกคู่ครองของชีวิตก็จะเลือกชายที่สักยันต์เป็นอันดับแรก เพราะถือว่าเป็นชายหนุ่มที่มีครูบาอาจารย์ มีวิชาคาถาอาคม มีความองอาจ มีจิตใจหนักแน่นมั่นคง สามารถปกป้องคุ้มครองภัยให้แก่ตนเองได้ สะท้อนจากบทกล่อมลูกของสตรีล้านนาว่า

“ขาลายไว้แปลงราวตากผ้าอ้อม ข้าก้อมไว้แปลงก่อมขั้นได ขาขาวไปไกลๆ ไปอยู่ตีนขั้นไดปุ้นเต๊อะ” 3

 

           โดยเฉพาะในยุคที่มีศึกสงครามการสักยันต์ข่ามยิ่งมีความจำเป็น เนื่องจากเมื่อออกสู่สนามรบมีความเสี่ยงชีวิตเป็นตายเท่ากัน จึงต้องมีสิ่งที่ทำให้รู้สึกปลอดภัยในชีวิตและเป็นสิ่งที่ทำให้มีความเชื่อมั่นมีจิตใจที่ฮึกเหิม รวมไปถึงการประพฤติปฏิบัติต่าง ๆ ก็จะได้รับการปฏิบัติที่ต่างจากผู้ชายขาขาวที่ไม่สักยันต์ เช่น ผู้ชายคนไหนสักยันต์จะให้อาบน้ำที่ช่วงเหนือลำน้ำเพราะมีครูบาอาจารย์มีวิชาคาถาอาคมอยู่ในตัว ส่วนผู้ชายไม่สักยันต์ถือว่าไม่มีครูบาอาจารย์และวิชาคาถาอาคมอะไร สามารถไปอาบน้ำช่วงใต้ลำน้ำเหมือนผู้หญิงทั่วไปได้

 

     

การสักตั้งแต่พุงลงถึงเข่าของชายชาวล้านนา

(ที่มา: สนั่น ธรรมธิ)

 

การสักยันต์ล้านนาในห้วงเวลาประวัติศาสตร์

           อาณาจักรล้านนาสถาปนาขึ้นโดยพญามังรายเมื่อ พ.ศ. ๑๘๓๙ ชาวเมืองผสมผสานหลากหลายชาติพันธุ์และวัฒนธรรม มีชาวไทยวนเป็นคนกลุ่มหลักที่แสดงอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของความเป็นล้านนา ในมิติวัฒนธรรมด้านการสักยันต์ของชาวล้านนาปรากฏมีร่องรอยมาตั้งแต่ยุคราชวงศ์มังราย ดังเช่น ท้าวขาก่าน เจ้าเมืองฝาง (ถึง พ.ศ. ๒๐๑๖) เจ้าเมืองน่าน (พ.ศ. ๒๐๑๗ - ๒๐๒๐) และเจ้าเมืองเชียงแสน (เริ่ม พ.ศ. ๒๐๒๑) ปรากฏนามนี้เนื่องด้วยท่านสักหมึกขาลายลงไปถึงน่อง มีลวดลายที่โดดเด่นเป็นรูปพญานาคและดอกไม้ ชาวเมืองจึงเรียกว่า “ท้าวขาก่าน” การที่ท่านได้สักยันต์มีความสมชายชาตรี มีรูปงามสง่าผ่าเผยจึงเป็นที่หมายตาของอิสตรี เรื่องการสักยันต์ของท้าวขาก่าน มีการบันทึกกล่าวถึงไว้ทั้งในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ และตำนานพระธาตุแช่แห้ง เมืองน่าน

“...เปนพระญากินเมืองอันนี้ชื่อว่าท้าวขาก่าน มีตัวลายด้วยน้ำหมึก...ท้าวขาก่านลุก เมืองฝางมากินปีกาบสะง้า สักกพทะได้ ๘๓๖ ตัวแล ส่วนตนตัวท้าวขาก่านนั้น...ตนท้าว ควรอัสสจัรย์ ผิวท้าวดำแดง ขาท้าวลายน้ำหมึกเกี้ยวขาไปหลายหลาก เปนรูปพระญานาคแล เครือวัลย์ เกี้ยวขาไปเถิงน่อง ยามท่องเทียวไปยิงถงใคร่ผายผ่อ มือเท้งอกร่อว่าแก่นฉกัรจ์ชาย องอาจ เลาขนาดกดหมายเช่นแล...” 4

 

           อีกทั้งตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ยังบันทึกไว้ว่า ภายหลังจากสมเด็จพระจักรพรรดิหมิงเซียนจง ในราชวงศ์หมิง (ค.ศ. ๑๔๖๔ – ๑๔๘๗) รับรองสถานะความเป็นใหญ่เหนือบ้านเมืองทั้งหลายทางด้านทิศตะวันตกของพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์ล้านนาองค์ที่ ๙ (พ.ศ.๑๙๘๔ – ๒๐๓๐) ราชวงศ์มังราย ด้วยลวดลายสักยันต์และความสง่าผ่าเผยของท้าวขาก่านที่ร่ำลือไกล สมเด็จพระมหาจักรพรรดิหมิงเซียนจงยังโปรดเกล้าฯ ให้ช่างวาดภาพชาวจีนยูนนานทำการวาดภาพท้าวขาก่านทั้ง ๔ อิริยาบถ แล้วนำภาพวาดไปเก็บรักษาไว้ที่หอพระสมุดในพระราชวังของพระองค์

“...อยู่บ่นานเท่าใด เจ้าลุ่มฟ้าค็คึดเถิงท้าวขาก่านลือว่าแก้วหาน จักใคร่หันรูปกายท้าวขาก่านว่าฉันนี้ จิ่งหื้อห้อผู้ฉลาดมาแต้มเอารูปท้าวขาก่านด้วยอิริยาบถทัง ๔ เมือไว้ยังหอเจี้ยคำเหลือง สืบมาต่อเท้าบัดนี้แล...” 5

 

           หรือในยุคราชวงศ์เจ้าเจ็ดตนก็ยังมีการสืบทอดการสักยันต์ ดังเมื่อครั้งเจ้าหนานทิพจักรแก้วได้รับการสักยันต์ฟ้าฟีก และเรียนคาถาฟ้าฟีกกับครูบาเจ้าธรรมวงศ์ วัดสามขา (ตำบลหัวเสือ อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง) มีคาถาหัวใจหลัก ๘ คำ คือ “ระ ตะ นัง ปุ ระ โต อา สิ” เมื่อท่องขึ้นใจได้ทำการทดสอบ ครูบาเจ้าธรรมวงศ์ได้ให้เจ้าหนานทิพจักรแก้วขึ้นไปบนยอดต้นตาล แล้วให้หนานทิพพละ หนานอินถา และศิษย์ในสำนักวัดสามขา นำปืนมาให้มากที่สุดยิงขึ้นไปที่บนยอดต้นตาล ปรากฏว่ายิงจนยอดต้นตาลหิ้น (กร่อน) ก็ไม่เป็นอะไร จึงเรียกคาถาบทนี้ว่า “คาถายอดตาลหิ้น” หรือ “คาถาตาลยอดหิ้น” ภายหลังเมื่อเป็นผู้นำในการกอบกู้นครลำปาง ได้รับสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าพญาสุลวะลือไชยสงคราม (เจ้าหนานทิพจักรแก้ว) ปฐมกษัตริย์นครลำปาง (พ.ศ. ๒๒๗๕ - ๒๓๐๔) ราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน เป็นต้นราชตระกูลของเจ้าผู้ครองนครลำปาง นครเชียงใหม่ นครลำพูน และเจ้าเมืองเชียงราย เมืองเชียงแสน เมืองพะเยา เมืองงาว เมืองฝาง เมืองปาย และเมืองตาก[5]

           จนกระทั่งในระยะ ๑๐๐ กว่าปีที่ผ่านมาชาวล้านนารวมถึงชาวไทเขิน ไทลื้อ ไทใหญ่ และพม่าที่อยู่ในล้านนาช่วงที่เป็นประเทศราชของสยาม ก็ยังสืบทอดการสักยันต์ของผู้ชายเกือบทั้งหมดตั้งแต่เจ้านายขุนนางไปจนถึงชาวเมือง มีการบันทึกของชาวตะวันตกที่เข้ามาในหัวเมืองต่าง ๆ ในล้านนาอยู่เสมอ ดังเช่นบันทึกของศาสนาจารย์เดเนียล แมคกิลวารี ดี.ดี. (Daniel McGilvary, D.D.) ที่เดินทางเข้ามาเผยแพร่คริสต์ศาสนาในดินแดนล้านนาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๐ ได้เรียกแบ่งแยกกลุ่มชาวล้านนาและชาวล้านช้างตามลักษณะของการสัก ตามแบบที่ชาวสยามเรียกหัวเมืองประเทศราชทั้ง ๒ โดยชาวล้านนานิยมสักตั้งแต่พุงลงถึงเข่าเรียกว่า “ลาวพุงดำ” ส่วนชาวล้านช้างไม่นิยมสัก หรือหากมีการสักบ้างก็สักบริเวณขาไม่สักเลยขึ้นมาจนถึงพุงจึงเรียกว่า “ลาวพุงขาว”

“...ผู้คนในเมืองนี้เป็นสาขาหนึ่งของชนเผ่าไทที่ขยายตัวลงใต้ถึงเขมร พวกนี้เป็นที่รู้จักกันในนามของพวกลาวพุงขาว ส่วนทางฝ่ายเชียงใหม่นั้น เนื่องจากผู้คนนิยมสักร่างกายจึงเรียกกันว่าลาวพุงดำ...” 7

 

     

ภาพวาดพ่อหนานอินตา เมืองฝาง ที่มีการสักขาก้อมลงมาถึงเข่า (ซ้าย)

และสักขาก้อมของชายหนุ่มชาวล้านนา (ขวา) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๔

(ที่มา: ท้องถิ่นสยามยุคพระพุทธเจ้าหลวง)

 

           ชายชาวล้านนาทั่วไปโดยเฉพาะชายหนุ่มนิยมแสดงรอยสักยันต์ด้วยความภาคภูมิใจ เนื่องจากเป็นเครื่องแสดงถึงการเป็นชายหนุ่มเต็มตัวสามารถมีครอบครัวได้

“...เมื่อต้องการแต่งกายเพื่อไปงานสังคม กางเกงนี้ควรจะตกลงไปถึงเข่า แต่ผู้ที่สวมใส่ไปทำงานมักจะดึงผ้าขึ้นไปให้เป็นเพียงผ้าเตี่ยวเท่านั้น โดยรอยสักบนขาของเขาจะเป็นเช่นเครื่องตกแต่งแทน... การสักร่างกายจะเริ่มกระทำกันหลังจากที่เด็กหนุ่มเข้าสู่วัยรุ่นได้ไม่นานนัก เป็นสิ่งแสดงว่าเขาได้เปลี่ยนจากเด็กหนุ่มเป็นชายหนุ่มแล้ว... สำหรับลูกผู้ชายแล้วถือว่าความเจ็บปวดไม่ใช่เรื่องสำคัญ และเด็กหนุ่มจะพิถีพิถันในการจัดผ้าต้อยของเขาให้ได้เห็นรอยสักตามร่างกาย..." 8

 

           แต่ในทัศนะของชาวตะวันตกนั้นการสักยันต์กลับเป็นการแสดงถึงความหยาบคายและป่าเถื่อน ดังบันทึกของลิลเลียน จอห์นสัน เคอร์ติส (Lillian Johnson Curtis) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๘ ได้พบเห็นชายชาวล้านนาสักยันต์ที่อาศัยอยู่เมืองระแหง (ตาก)

“...เรื่องการสักร่างกายผู้ชายลาว มักจะสักที่บริเวณขาของตน สำหรับข้าพเจ้าขณะนี้แล้วดูประหนึ่งเป็นประเพณีที่หยาบคายและป่าเถื่อน ซึ่งข้าพเจ้าจักต้องค้นหาสาเหตุให้ได้ว่าทำไมพวกเขาถึงทำเช่นนั้น... การสักร่างกายเป็นประเพณีที่แสดงถึงความป่าเถื่อนอย่างชัดเจน แต่ก็เป็นสิ่งซึ่งเป็นเครื่องหมายแสดงถึงความน่าเกรงขามและความเป็นลูกผู้ชายของผู้คนที่นี้...” 9

           

           และมีความพยายามที่จะทำให้การสักลดความนิยมลงไปในอนาคต

“...ประเพณีดังกล่าวจะถึงวาระสาบสูญไปในอนาคตอันใกล้นี้แล้ว เนื่องจากเด็กหนุ่มสองสามคนซึ่งเติบโตขึ้นมาภายใต้การอบรมสั่งสอนของคริสต์ศาสนา ได้ปฏิเสธไม่ยอมให้สัก ร่างกาย การฝ่าฝืนเช่นนี้มิได้มาจากคำสั่งสอนของคณะผู้สอนศาสนาแต่อย่างใด เพราะว่าคณะผู้สอนศาสนาไม่มีนโยบายที่จะสั่งสอนให้คัดค้านต่อประเพณี ซึ่งมิได้เกี่ยวข้องกับศีลธรรม จรรยา แต่เป็นเพราะจิตซึ่งกระตุ้นเตือนให้นึกถึงคำสั่งสอนของพระผู้เป็นเจ้าที่ว่า พระองค์ประทานชีวิตและโครงสร้างที่ดีทั้งหมดแก่เราซึ่งเราควรดูแลรักษาให้ดี ซึ่งพวกลาวก็คงจะเข้าใจความหมายของคำตักเตือนและกฎของชาวยิวที่ว่า “พวกท่านจะต้องไม่ตัดเนื้อของตนเองไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตามเพื่อคนตาย และจะไม่ทำร่องรอยเครื่องหมายใดๆ ลงบนร่างกาย”...” 10

 

           ขณะที่คาร์ล บ็อค (Carl Bock) นักธรรมชาติวิทยาชาวนอร์เวย์ได้เข้ามาในนครลำปาง พบครูช่างสักยันต์กำลังทำการสักให้กับชายหนุ่มภายในวัดหลวงไชยสัณฐาน (วัดบุญวาทย์วิหาร) วัดหลวงประจำนครลำปางที่เจ้าผู้ครองนครลำปางทุกองค์ให้การอุปถัมภ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๔ ได้ขอให้ครูช่างสักยันต์ได้วาดภาพรูปที่สักยันต์ไว้ให้เป็นแบบและบันทึกถึงการสักยันต์ในครั้งนั้นไว้ว่า

“...ตอนที่ไปวัดหลวง ข้าพเจ้าได้เห็นอาจารย์สักชาวพื้นเมืองคนหนึ่งกำลังสักชายหนุ่มคนหนึ่งที่นอนทนให้สักอยู่ได้ทั้งๆ ที่คงจะเจ็บปวดเป็นที่สุด ตามธรรมเนียมของผู้ชายที่นี่นิยมสักร่างกายตั้งแต่ใต้สะดือลงมาเล็กน้อยจนถึงหัวเข่า ซึ่งไม่เหมือนกับเพื่อนบ้านคือพวกพม่าและเงี้ยว กล่าวคือพวกทางเหนือไม่ได้สักเพื่อใช้เป็นเครื่องหมายแสดงยศศักดิ์ แต่สักกันเพื่อความสวยงามและเพื่อรักษาธรรมเนียมของตนไว้มากกว่า อีกประการหนึ่งที่อาจจะเป็นไปได้ก็ คือการสักใช้เป็นเครื่องหมายแสดงความเป็นลูกผู้ชาย ความกล้าหาญและความอดทนที่สามารถฝึกฝนให้เคยชินต่อความเจ็บปวดได้ด้วยความสมัครใจ เหมือนดังที่พวกผู้หญิงดยัคส์ (ในเกาะบอร์เนียว) นิยมสักร่างกายเพื่อล่อใจชาย พวกลำปางก็สักเพื่อล่อใจหญิง ธรรมเนียมนี้ เป็นที่แพร่หลายทั่วไปจนยากที่จะหาชายคนไหนที่ไม่ได้สัก ถ้าไม่มากก็น้อยตามความนิยมไปทั่วกัน...” 11

 

           หลังจากคาร์ล บ็อคออกจากนครลำปาง ภายหลังได้เดินทางไปถึงเมืองฝาง (อำเภอฝาง อำเภอไชยปราการ และอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่) ได้สังเกตพบว่าชาวไทใหญ่ในเมืองฝาง นิยมสักต่างจากชาวไทยวนในล้านนา จะสักหมึกตั้งแต่คอลงมาจนถึงข้อเท้าและตั้งแต่ใต้รักแร้ลงมาถึงข้อมือ อีกทั้งนิยมเจาะต้นท้องแขนฝังเป๊ก (คต) ไว้ภายใน เพื่อความอยู่ยงคงกระพันและป้องกันภูตผีปีศาจ

“...พวกเงี้ยวจัดว่าเป็นชนเผ่าเดียวกับพวกพม่า ข้าพเจ้ามีโอกาสเห็นคนทั้งสองพวกนั้น นับเป็นร้อย ๆ ได้พิจารณาดูรูปร่างหน้าตาอย่างใกล้ชิด พวกเงี้ยวเกล้าผมไว้กลางศีรษะ เช่นเดียวกับพม่า แต่สังเกตดูได้ง่ายจากรอยสักไว้อย่างละเอียดลออมาก พวกเงี้ยวถือกันว่าจะต้องสักตั้งแต่คอลงมาจนถึงข้อเท้า หรือสักกันตั้งแต่ใต้แขน ส่วนมากสักกันตั้งแต่รักแร้ลงมา นอกจากสักร่างกายแล้ว พวกนี้ยังนิยมเจาะผิวหนังที่แขนให้เป็นรู แล้วฝังหินมีค่าก้อนเล็ก ๆ เงินหรือทองคำก้อนเล็ก ๆ เอาไว้ โดยประสงค์จะให้ร่างกายแข็งแรง และใช้เป็นเครื่องป้องกันตนให้พ้นจากพวกภูตผีปีศาจด้วย...”12

 

           ภายหลังจากคาร์ล บ็อคเดินทางมาล้านนาได้ ๓ ปี ในปี พ.ศ. ๒๔๒๗ โฮลต์ ฮาลเลตต์ (Holt Samuel Hallett) ก็เดินทางขึ้นมาสำรวจดินแดนล้านนาด้วยเช่นกัน ได้พบเห็นการสักยันต์ของชายชาวล้านนา และทำการบันทึกไว้เช่นเดียวกันกับชาวตะวันตกคนอื่น ๆ ที่ขึ้นมาดินแดนล้านนาในก่อนหน้านี้ ว่ามีความนิยมสักและฝังเป๊กไว้ใต้ผิวหนังเพื่อความอยู่ยงคงกระพัน

“...ร่างกายพวกเขาสักหมึกตั้งแต่เอวลงไป บางครั้งก็ถึงข้อเท้า ธรรมเนียมนี้ไม่นิยมในหมู่ชาวสยาม ชาวลาวเมืองหลวงพระบาง และเมืองริมฝั่งแม่น้ำโขงเรื่อยไปจนถึงทางใต้...ชาวพม่านิยมสักหมึกเช่นเดียวกับชาวล้านนาและชาวไทใหญ่ ลายสักประกอบด้วยรูปนก สัตว์ใหญ่ สัตว์หิมพานต์ พญานาค และยักษ์ ผู้ชายซึ่งมีชื่อเสียงเรื่องความกล้าหาญนิยมสักลงคาถาเป็นตัวเลขหรืออักขระ และสักหมึกสีแดงรูปสี่เหลี่ยมที่อก หลัง และแขน...บางคนนิยมฝัง เครื่องรางหรือหินมีค่าใต้ผิวหนัง...เพื่อความอยู่ยงคงกระพัน ฟันแทง ยิงไม่เข้า...”13

 

     

การสักตั้งแต่ต้นขาลงถึงเข่าของชายชาวพม่าในพม่า (ซ้าย) และการสักของชายชาวพม่าในล้านนา

เมื่อ พ.ศ.๒๔๒๔ (ขวา) ส่วนท่อนบนสักยันต์เป็นลวดลายกระจายทั่วทั้งลำตัว

(ที่มา: สายเครือไท และท้องถิ่นสยามยุคพระพุทธเจ้าหลวง)

 

     

การสักปรากฏให้เห็นตั้งแต่ขาลงถึงข้อเท้าของชายชาวไทใหญ่ในรัฐฉาน (ซ้าย)

สักหมึกตั้งแต่คอลงถึงลำตัวและฝังเป๊กที่ต้นท้องแขนของชาวไทใหญ่ในล้านนา เมื่อ พ.ศ.๒๔๒๔ (ขวา)

(ที่มา: สายเครือไท และท้องถิ่นสยามยุคพระพุทธเจ้าหลวง)

 

     

การสักทั้งพระวรกายตั้งแต่พระศอมาจนถึงข้อพระบาทของเจ้าฟ้าเมืองตองแปง (ซ้าย)

การสักทั้งตัวของชายชาวไทใหญ่ในรัฐฉาน (ขวา)

(ที่มา: an account of tour through Burma)

รูปแบบของการสักยันต์ของชาวล้านนา

 

           การสักยันต์ของชาวล้านนาเป็นอีกหนึ่งจุดสังเกต สามารถแบ่งกลุ่มคนออกจากกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ที่มีความนิยมสักยันต์ตามรูปแบบของกลุ่มตน แต่ก็ไม่ทั้งหมดด้วยปรากฏมีการถ่ายทอดให้แก่กันและกันที่เกิดจากการเดินทางไกลแสวงโชคไร้พรมแดนในอดีตของคณะบุคคล ๓ กลุ่ม คือ (๑) ชายพ่อค้าขายอาวุธ เชือกดาบ และรับซ่อมอาวุธ (๒) ครูรับสอนเชิงหอกเชิงดาบศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว และ (๓) ครูช่างสักยันต์ กลุ่มชายผู้แสวงโชคจะเดินทางรับจ้างพักเป็นจุดตามรายทาง ทั้งชาวไทใหญ่ ไทลื้อ ไทเขิน และพม่าที่เดินทางมาในล้านนา บางกลุ่มเดินทางต่อไปถึงล้านช้าง อีสาน สยาม และกัมพูชา และชาวไทยวนในล้านนาก็เดินทางขึ้นไปรับจ้างในเขตรัฐฉาน พม่า สิบสองพันนา จนถึงตอนใต้ของจีนและรัฐอัสสัมในอินเดีย และมีบ้างเล็กน้อยที่เดินทางไปในล้านช้าง อีสาน สยาม และกัมพูชา อย่างไรก็ตามที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวล้านนาส่วนใหญ่จะนิยมสักหมึกตั้งแต่พุงลงถึงเข่า ส่วนชาติพันธุ์อื่น ๆ เช่น ชาวไทใหญ่มีการสักหมึกตั้งแต่คอลงมาถึงข้อเท้า ในล้านนาพบมีทั้งสักยันต์แบบครึ่งตัว คือสักตั้งแต่บริเวณเอวหรือพุงลงไปถึงเข่า และสักยันต์แบบทั้งตัว คือสักทั่วทั้งแผ่นหน้าอก แผ่นหลัง ไล่ลงมาถึงเข่า ครูช่างสักแต่ละคนก็จะออกแบบลวดลายและรูปแบบลักษณะของการสักอยู่เสมอ จนสามารถสังเกตได้ว่าบุคคลนั้นได้รับการสักมาจากครูช่างสักคนไหน สำนักไหน หรือช่วงเวลาใด ดังที่ปรากฏในตำราพับหัวบันทึกการสักยันต์ของพระครูนิเวศธรรมรักษ์ (ครูบาอินทร์ อินฺโท พ.ศ. ๒๔๕๐ - ๒๕๓๘) วัดบ้านใหม่ อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง ลูกศิษย์ครูบานันตานนฺโท (พ.ศ. ๒๔๑๕ – ๒๕๐๔) วัดทุ่งม่านใต้ อำเภอเมืองลำปาง ได้บันทึกถึงการสักของล้านนาให้เห็นภาพอย่างละเอียดไว้ว่า

“อนึ่งผู้ชายในสมัยนั้นนิยมสักหมึกมากที่สุด ที่บ่มีน้ำหมึกเกือบบ่มีสักคน เป็นผู้ชายแล้วคันบ่มีน้ำหมึก ก็เป็นที่รังเกียจของผู้หญิงทั้งหลายคือบ่ได้เมียแล้ว ด้วยเหตุนี้อย่างหนึ่งซึ่งทำให้ผู้ชายสักหมึกกันเป็นพื้น แต่การสักหมึกสมัยนั้นนิยมสักขายาวลงลุ่มหัวเข่าและทำเป็นตีนน้ำหมึก เป็นบัวคล้าย ๆ กีบม้า ทังบนสักเป็นช่อ ๆ ขึ้นบนแอวถึงลิ้นอก บ้างก็บนท้องน้อย แต่นายช่างสักหมึกก็เปลี่ยนแบบแผนไปเสมอ ดูเหมือนจะเปลี่ยนทุกปีเป็นยุค ๆ เป็นชูบ ๆ เลยไป ชั้นแรกสักลายทำเป็นรูปมอมติด ๆ กันไปตลอดตั้งแต่เข่าขึ้นตลอดแอว และทำตีนน้ำหมึกที่ลุ่มหัวเข่าเป็นบัวดั่งกล่าวมาแล้ว ทังบนก็ทำเป็นช่อขึ้นจ้ำลิ้นอก สักลายคล้าย ๆ รูปแมวก็เรียกว่ามอม สักยายกันติดกันไปตลอดเรียกว่า หมึกแหย่งลายแมวลายมอม

ต่อมาก็เปลี่ยนอีก ทำเป็นแบบใหม่ด้วยทำลายดอกกูดขดเฉพาะหัวเข่า นอกนั้นไปเลาขาตลอดแอวสักตันไปหมดเรียกว่า น้ำหมึกขาตัน แลบ่มีช่อทำตีนหมึกเพียงลุ่มเข่าก็เพียงบนแอว ต่อมาก็เปลี่ยนใหม่ ทำบนตีนน้ำหมึกอีก ลุ่มหัวเข่าลงมาทังบนก็บ่มีช่อเช่นเดียวกันและมีตัวมอมยายกันไปเรียกว่า น้ำหมึกลาย ต่อมาก็เปลี่ยนใหม่ สักลงลุ่มเข่าแล้วทำตีนหมึกเป็นบัว ทังบนแอวเป็นช่อตามเลาขาเป็นตัวมอมเช่นกัน แล้วละพื้นขามาทางในตั้งแต่บนหัวเข่าตลอดหัวเข่าตลอดตำเค้าขาทังในสักใบสรีใส่หว่างละไว้นั้นเรียกว่า หมึกปล่องใบสรี ต่อมาก็ย้ายขึ้นเพียงกลางหัวเข่าแล้วสักตันละพื้นขาทางในไว้เช่นเดียวกัน สักดอกใส่หว่างที่ละไว้นั้นพ่องเรียกว่า ใบสรี พ่องเรียกว่า น้ำหมึกปล่องล้อ ต่อมาก็เปลี่ยนใหม่ สักบนเข่าเล็กน้อย ทำเป็นริมน้ำหมึกเบือยบ้ายบ่เพียงแล้ว ทังสันขาบ่สัก ละสันขาไว้ประมาณสัก ๕ นิ้ว เป็นรอยตลอดสันขาขึ้นบน ทังบนแอวบ่มีช่อทำเพียงเรียกว่า น้ำหมึกออกบ้าน ต่อมาก็เปลี่ยนใหม่อีกคล้ายเดียวกัน แลสักทังสันขาละไว้ทางหลัง อยู่ทางหน้าผ่อหันน้ำหมึกเต็ม ผ่อทางหลังบ่มีน้ำหมึก คือที่ละไว้ทังหลังเรียกว่า น้ำหมึกเข้าบ้าน ต่อมาก็ขึ้นบนหัวเข่าคือว่าสักตั้งแต่ปลายขาขึ้นบ่มีช่อมีบัวอันไดสักอันสักเพียง ต่อมาก็สักกลางขาขึ้นต่อมาก็ขึ้นสูงไปตลอดแอว

ถึงสมัยนี้บ่มีน้ำหมึกแล้ว น้ำหมึกตามที่กล่าวมานี้มีหลายอย่างหลายชนิด เข้าใจว่าจำทำกันเป็นชูบ ๆ ไปแต่ก็บ้ายกันไปเรื่อย ๆ ทั้งนี้ก็พากันหื้อเข้าใจว่า สักไปตามเพิงใจใผมัน เรียกว่าเป็นสมัยนิยมในยุคนั้นแล มีน้ำหมึกหลายชนิดอยู่ ซึ่งไม่ได้กล่าวไว้ในที่นี้มีอยู่มากแล”14

 

           รูปแบบการสักของชาวล้านนาดังที่มีการบันทึกในข้างต้น จึงเรียกตามลักษณะที่สักต่างกันไปสามารถจัดแบ่งประเภทได้ ๒ รูปแบบหลัก คือ

           (๑) สับหมึกขาก้อม หรือ สับเตี่ยวก้อม เป็นการสักหมึกถึงเข่า สามารถแบ่งย่อยได้อีก ๒ แบบ คือ สักหมึกขาก้อมแบบถมหมึกทึบถึงเข่าเรียกว่า “สับหมึกขาตัน” ส่วนสักหมึกขาก้อมเป็นลวดลายต่าง ๆ ถึงเข่าเรียกว่า “สับหมึกขาก่าน” หรือ “สับหมึกขาลาย”

           (๒) สับหมึกขายาว หรือ สับหมึกขารวด จะสักหมึกแบบถมทึบหรือมีลวดลายลงไปถึงน่องหรือข้อเท้า

“...ผู้ชายเกือบทุกคนจะสักร่างกายของเขาตั้งแต่ระดับเอวลงไปถึงเข่า บริเวณเหนือหรือต่ำกว่าเข่าเล็กน้อย และมีเพียงไม่กี่ตำบลเท่านั้นที่นิยมสักร่างกายตั้งแต่คอลงไปถึงข้อเท้า สำหรับลวดลายที่สักจะแตกต่างกันไปตามตำบลหรือบรรพบุรุษ ซึ่งชาวพื้นเมืองจะสามารถบอกได้ว่าผู้ใดมาจากไหน โดยดูจากลายสักทั่ว ๆ ไป บางทีมีลวดลายเป็นแถบแนวนอนขนานกัน บ้างก็สักตามแบบธรรมดา บ้างก็สักเป็นรูปลิง ช้าง หรือสัตว์ต่าง ๆ ส่วนที่ว่างระหว่างรูปที่สักจะสักเป็นลวดลาย บ้างก็สักเป็นรูปทึบ รอยสักเหล่านี้เองเมื่อมองไกล ๆ จะดูคล้ายกางเกงขายาวถึงเข่าทั้งสิ้น ไม่มีผู้ใดทราบถึงที่มาของประเพณีการสักร่างกาย ถึงแม้ว่าหลายคนจะเชื่อว่าการสักร่างกายเป็นเครื่องรางอย่างหนึ่ง ซึ่งทำให้ร่างกายของพวกเขาอยู่ยงคงกระพัน...”15

จิตรกรรมเรื่องสุวรรณหอยสังข์ในวิหารลายคำ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร จังหวัดเชียงใหม่

วาดภาพกลุ่มชายหนุ่มล้านนาสักขาลายกำลังเกี้ยวพากลุ่มหญิงสาวแม่ค้าขายสุรา

 

           ลักษณะรูปแบบยันต์มีทั้งเป็นเรือนยันต์ (ตารางยันต์) อักขระคาถา ตัวเลข รูปวิมานปราสาท รูปบุคคล รูปวัตถุ รูปพืชพันธุ์ใบไม้ดอกไม้ และรูปสัตว์ต่าง ๆ อักขระคาถาที่สักยันต์มีทั้งเป็นบทที่ยาวและเลือกเฉพาะอักขระตัวใดตัวหนึ่ง เช่น คาถาอิติปิโส ๘ ทิศ (๑) อิ ระ ชา คะ ตะ ระ สา (๒) ติ หัง จะ โต โร ถิ นัง (๓) ปิ สัม ระ โล ปุ สัต พุธ (๔) โส มา ณะ กะ ริ ถา โธ (๕) ภะ สัม สัม วิ สะ เท ภะ (๖) คะ พุธ ปัน ทู ธัม วะ คะ (๗) วา โธ โน อะ มะ มะ วา (๘) อะ วิช สุ นุต สา นุส ติ หรือคาถาพระเจ้า ๕ พระองค์ “นะ โม พุท ธา ยะ” บางคนก็สักเป็นตัว “นะ” เพียงตัวเดียวหรือ “วะ” จำนวน ๑,๐๐๐ ตัว เรียกว่า “วะพันตัว” เชื่อว่าข่ามคงอยู่ยงคงกระพันมากปืนยิงไม่ออกฟันแทงไม่เข้า การสักยันต์วะพันตัวเป็นที่แปลกตาสำหรับชาวตะวันตก จึงมองว่าเป็นการสักหมึกเป็นจุด ๆ กระจายอยู่ทั่วทั้งลำตัวอย่างไม่เป็นระเบียบ ดังบันทึกไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๗ ว่า

“...ข้าพเจ้าเห็นชายคนหนึ่งสักหมึกเป็นจุดกระจายทั่วร่างกายไม่เป็นระเบียบ เว้นแต่เอวลงมาถึงหน้าแข้งที่เป็นลวดลายตามแบบแผน นี่คงเป็นธรรมเนียมโบราณที่ตกค้างในกลุ่มไทสาขาตะวันออกกระมัง ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นคนสักแบบนี้มาก่อน นอกจากเจ้านายเมืองน่านท่านหนึ่ง...”16

 

           นอกจากนี้ยังมีการสักยันต์เป็นรูปวัตถุหรือสิ่งที่เป็นธรรมชาติ เช่น สร้อยสังวาล เชื่อว่ามีคุณด้านแคล้วคลาดและมีอำนาจมีความองอาจ ก้อนเมฆหรือลม การสักยันต์เป็นรูปพืชพันธุ์ใบไม้ดอกไม้ที่นิยม เช่น ใบโพธิ์ ผักกูดขด ดอกบัวแก้ว ดอกบัวขวัญ เชื่อว่ามีคุณทั้งอยู่ยงคงกระพันและเมตตามหานิยม[16] และสักเป็นรูปบุคคลผู้มีอิทธิฤทธิ์คุณวิเศษ เช่น พญายักษ์ พญาครุฑ เทวดา และหอระมาน (หนุมาน) เป็นต้น

           ส่วนการสักเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ รูปสัตว์ที่นำมาสักยันต์มีทั้งสัตว์วิเศษในจินตนาการและสัตว์ตามธรรมชาติที่พบเห็นได้จริง สัตว์ในจิตนาการ เช่น สิงห์ (ราชสีห์) มอม (สิงห์มอม) สิงโต หงส์ และพญานาค เป็นต้น สัตว์ตามธรรมชาติ เช่น ช้าง เสือ นกยูง นก แร้ง ค้างคาว หมูป่า แมวดำ หนู ลิงลม ปลา ปลาเหยี่ยนปอน (ปลาไหลเผือก) และแมงงนคำ (แมลงวันทองคำ) เป็นต้น ซึ่งสัตว์แต่ละชนิดก็จะสักไว้ในตำแหน่งต่างกันตามลำดับศักดิ์สูงต่ำของสัตว์ ดังมีคำกล่าวว่า “สับนกใส่ขา สับปลาใส่แข้ง” หรือสัตว์ที่เป็นศัตรูกันก็จะไม่สักไว้ติดกัน จะคั่นด้วยคาถาหรือเรือนยันต์ เช่น รูปนกจะสักยันต์ลงบริเวณหน้าอกทำให้คนรักมีเมตตามหานิยม มีลานก้อมตำราสักยันต์จารไว้ว่า

“นก ๓ ตัวนี้สับหน้าอก เพิ่นรักเรา ลงเปนยันต์ก็ได้แล” โดยสักยันต์รูปนก และใต้รูปนกแต่ละตัวก็มีการสักคาถาเป็นตัวอักขระล้านนากำกับว่า “นะมัพพะธุ” “นะมะสัตถุธุ” และ “มะนะสะธุ” 18

 

           สักยันต์รูปแมงงนคำ (แมลงวันทองคำ) ที่ไหล่ซ้ายขวาเพื่อให้เป็นเมตตามหานิยมค้าขายดี หรือสักยันต์รูปพญานาคที่แขนเพื่อให้อยู่ยงคงกระพัน เป็นต้น ส่วนมอมหรือสิงห์มอม เป็นสัตว์หิมพานต์ จะนิยมสักช่วงล่างของร่างกายบริเวณขา เชื่อว่าจะข่ามคงอยู่ยงคงกระพัน[18] นอกจากนี้ก็ยังมีการสักเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ อีก เช่น

           (๑) เสือเจ็ดป็อด หรือ เสื้อเจ็ดก้อม สักเป็นรูปเสือต่อกัน ๗ ท่อน เชื่อว่าเสือเป็นเจ้าป่ามีพลังอำนาจ โดยเฉพาะเขี้ยวเสือไฟหรือเขี้ยวเสือกลวงที่เรียกว่า “เขี้ยวเสือโปร่งฟ้า” มีพลังอำนาจป้องกันได้ทุกอย่าง จึงนำรูปเสือมาสักเป็นยันต์ข่าม

           (๒) หมูเจ็ดบั้งป็อด หรือ หมูเจ็ดก้อม หรือ หมูเก้าป็อด สักเป็นรูปหมูป่าต่อกัน ๗ ท่อนหรือ ๙ ท่อน เชื่อว่าหมูป่าดุร้าย โดยเฉพาะหมูป่ามีเขี้ยวตัน เขี้ยวหมูตันนี้เป็นของขลังด้านข่ามอยู่ยงคงกระพัน จึงนำรูปหมูป่ามาสักเป็นยันต์ข่ามด้วย

           (๓) ลิงลม เชื่อว่าผู้สักยันต์จะมีความว่องไวสามารถหลบหลีกเมื่อเกิดภัยอันตรายเข้ามาประชัดตัวได้เพียงเศษเสี้ยววินาที มีตัวเบาคล่องแคล่วว่องไวสามารถกระโดนขึ้นไปนั่งอยู่บนยอดต้นกล้วยได้ และมีความอึดทรหด

           (๔) ปลาเหยี่ยนปอน หรือ ปลาไหลเผือก เชื่อว่าผู้สักยันต์ตัวจะลื่นไหล ไม่มีใครสามารถจับตัวหรือทำร้ายได้

           (๕) หอระมานเกลือกฝุ่น เชื่อว่าผู้สักยันต์จะมีความว่องไวหลบหลีกคมศาสตราวุธ คมเขี้ยวงา และภยันตรายต่าง ๆ ได้คล่องแคล่วฉับไว

           (๖) หมูป่า เชื่อว่าผู้สักยันต์จะทำมาหากินคล่องและอยู่ยงคงกระพัน

 

ภาพวาดรูปสัตว์ต่าง ๆ ที่ใช้สักของครูช่างสักยันต์ในวัดหลวงไชยสัณฐาน (วัดบุญวาทย์วิหาร) นครลำปาง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๔ บนสุดในกรอบรอยหยักรอบเอวเป็นรูปนกยูง ใต้ลงมาเป็นรูปสิงห์ ใต้ลงมาเป็นรูปแร้ง ขาทั้ง ๒ ข้างถึงเข่าเป็นรูปหนู เมฆหรือลม นกกระจาบ แร้ง สิงโตค้างคาว เต็น นกกาบบัว เสือ ช้าง ลิง และหอระมาน (ที่มา: ท้องถิ่นสยามยุคพระพุทธเจ้าหลวง)

 

           ส่วนผู้หญิงก็ปรากฏมีการสักยันต์เช่นเดียวกัน แต่เป็นการสักคาถาบทสั้น ๆ เป็นตัวอักขระล้านนา บริเวณข้อแขน ข้อมือ และท้องแขน รวมถึงในยุคโบราณผู้ชายบางคนที่กลัวการสักยันต์เต็มรูปแบบหรือช่วงที่ลดความนิยมสักยันต์ในทศวรรษ ๒๕๑๐ ก็สักด้วยคาถาบทสั้น ๆ หรืออักขระย่อของคาถาไว้บริเวณแขน ข้อมือ หรือน่อง เพื่อกันงูกัด สุนัขกัด ตัวอย่างบทคาคากันสุนัขกัด เช่น “นะ อย่า อย่า หมานี้ สวาหะ” และ “พุทฺโธอยู่หลัง พุทฺธํอยู่หน้า ผู้ข้าอยู่กลาง พระบังอยู่หัว” เป็นต้น20 ส่วนผู้หญิงชาวปกาเกอะญอก็พบว่ามีการสักไว้ที่ข้อแขน ด้วยมีความเชื่อว่ากันงูกัดหรือบางพื้นที่ก็เชื่อว่าจะทำให้มีฝีมือในการทำกับข้าวได้อร่อย

 

สตรีสูงอายุชาวเมืองยองที่อพยพมาอยู่เมืองฝาง (อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่)

ได้สักอักขระคาถาไว้ที่ข้อแขน ท้องแขน และข้อมือ

(ที่มา: ปิยพัทธ์ ศรีธิทอง)

 

ขั้นตอนและพิธีกรรมการสักยันต์ของล้านนา

           การสักยันต์จะใช้เหล็กแหลมที่ทำด้วยเหล็กหรือทองเหลืองยาวประมาณ ๓ นิ้วต่อด้ามไม้หรือด้ามโลหะรวมแล้วยาวประมาณ ๓๐ - ๕๐ เซนติเมตร ที่เรียกว่า “เหลม” หรือ “เหล็กส้าม” หรือ “เหล็กจาร” ปลายเหล็กจะมีความแหลมมี ๒ ซีกประกบกันเพื่อให้สามารถอุ้มน้ำหมึก สักลงไปลึกประมาณความหนาของใบพลู ๗ ใบซ้อนกัน น้ำหมึกที่ใช้สักยันต์มี ๓ ชนิด ได้แก่

           (๑) หมึกขาว ทำจากน้ำมันงาผสมว่านยาต่าง ๆ หมึกชนิดนี้สักยันต์แล้วจะไม่สามารถมองเห็นลวดลายยันต์หรือตัวอักขระคาถาได้ เชื่อว่าเมื่อคนอื่นไม่สามารถมองเห็นเรือนยันต์ รูปยันต์ หรืออักขระคาถาได้ ก็จะไม่สามารถแก้อักขระเลขยันต์ที่สักลงไปนั้นได้

           (๒) หมึกแดง ทำจากน้ำมันงาผสมว่านต่าง ๆ ที่มีสีแดง เช่น ว่านไก่แดง มะกายหยุม หรือบางทีก็ใช้หาง (ชาด) เมื่อสักยันต์แล้วจะมองเห็นเป็นสีแดง ครูบาอาจารย์บางท่านจะใช้หมึกแดงสักยันต์ทางด้านเมตตามหานิยม ซึ่งหมึกสีแดงในยุคโบราณนิยมสักยันต์ตรงบริเวณส่วนบนของร่างกาย21

           (๓) หมึกดำ เป็นสีที่ชาวล้านนานิยมใช้สักมากที่สุด ทำจากหลากหลายชนิดแล้วแต่ครูบาอาจารย์ที่เรียนสืบทอดมา อาจใช้หญ้าน้ำหมึก ห้อมหรือครามผสมกับว่านสมุนไพรต่าง ๆ บางตำราก็ใช้เขม่าไม้เกี๊ยะ (ไม้สน) ผสมกับยางต้นเครือเบิก บางตำราก็ใช้ขี้เถ้าใบตองกล้วยไข่แห้งผสมกับดีงูเหลือม ว่านดีงูว่า น้ำมันงา น้ำมันมะพร้าว น้ำ สะวัคคี และดีอูคี22  หรือบางตำราใช้เขม่าจากตะเกียงน้ำมันงาถือว่าเป็นหมึกชั้นดี อีกตำราหนึ่งของครูช่างสักชาวลำปางใช้เขม่าน้ำมันหมูเก็บไว้ในหม้อดิน เมื่อจะสักก็นำเขม่ามาผสมกับดีวัวป่า ดีหมี หรือดีหมูป่า ผสมน้ำเปล่าอีกเล็กน้อย ทำให้สักหรือทาลงไปเพียงครั้งเดียวก็ติดแน่นอย่างถาวร23

 

ยาสักยันต์แบบต่าง ๆ ทั้งของชาวไทใหญ่และชาวไทยวน

(ที่มา: พระฉกาจ ชยาลงฺกาโร)

 

           เมื่อเริ่มต้นที่จะทำการสักต้องดูฤกษ์ยามตามตำราของแต่ละสำนัก เช่น ดูวันดีในข้างขึ้นข้างแรม หลีกเว้นตรงกับวันเสียประจำเดือน และหลีกเว้นวันเลือดของอายุอยู่ โดยวันอาทิตย์เลือดอายุอยู่ศีรษะ วันจันทร์เลือดอายุอยู่หน้าผาก วันอังคารเลือดอายุอยู่ท้อง วันพุธเลือดอายุอยู่ดั้งจมูก วันพฤหัสบดีเลือดอายุอยู่หู วันศุกร์เลือดอายุอยู่ตา และวันเสาร์เลือดอายุอยู่เท้าทั้ง ๒ ข้าง เชื่อว่าหากสักยันต์ลงบริเวณร่างกายที่ตรงจุดกับวันเลือดอายุอยู่ผู้รับการสักยันต์จะมีอายุสั้น24 ในการสักยันต์ต้องมีขันตั้งหรือขันครู ที่ต่างกันไปตามแต่ละครูบาอาจารย์ที่ได้กำหนดไว้สืบทอดกันมา ส่วนใหญ่จะประกอบด้วย สวยดอก (กรวยดอกไม้) สวยหมากพลู เหล้า ผ้าขาว ผ้าแดง ข้าวเปลือก ข้าวสาร ข้าวตอกดอกไม้ และเงินจำนวนหนึ่ง บางตำราก็อาจมีหมาก เมี่ยง และบุหรี่ด้วย เมื่ออาจารย์ผู้สักยันต์กล่าวยื่นโยงผีครูบาอาจารย์และรับเป็นลูกศิษย์ หลังจากนั้นผู้รับการสักยันต์จะถอดเสื้อผ้าออกเหลือแต่ผ้าขาวม้านอนราบกับพื้น ช่วงที่สักยันต์เพื่อลดความเจ็บปวดโบราณจะให้เคี้ยวว่านมหาสะหมืน ทำให้เกิดความชามึนเมา ต่อมาเมื่อมีฝิ่นเข้ามาจากจีนก็ใช้การกินยาฝิ่น พบว่ามีผู้เสียชีวิตขณะทำการสักยันต์หลายรายที่จากการกินยาฝิ่นเกินขนาด

“...มีความจำเป็นต้องให้ผู้ที่ถูกสักกินยาฝิ่นผสม มักจะมีผู้เสียชีวิตจากการสัก หรือถ้าจะกล่าวให้ถูกต้องยิ่งขึ้นก็คือ จากการกินยาดังกล่าวเกินขนาด...”25

 

           แต่จากการสอบถามของคาร์ล บ็อคในปี ๒๔๒๔ พบว่าทั้งในนครลำปางและนครเชียงใหม่มีผู้เสียชีวิตที่ทนความเจ็บปวดจากการสักไม่เกิน ๒ เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด[25] ส่วนการดื่มสุราให้มืนเมาเพื่อลดความเจ็บปวดไม่เป็นที่นิยม เพราะจะทำให้แรงดันของเลือดสูงจนเกิดเลือดออกไม่หยุดตามรูเข็มที่สัก

 

ครูช่างสักชาวพม่ากำลังทำการสักยันต์ให้ชายหนุ่มในพม่า

 

           ครูผู้สักยันต์จะเริ่มทำการร่างกรอบนอกของลวดลาย เป็นเค้าโครงรูปสัตว์หรือเรือนยันต์ด้วยดินสอ ต่อจากนั้นจึงเริ่มสักด้วยหมึกตามเส้นกรอบนอกไปจนถึงรายละเอียดและอักขระคาถา พร้อมกับถูน้ำมันหมึกหรือน้ำมันให้เข้าไปในรอยรูสักจนทั่ว หลังจากนั้นก็สักเก็บรายละเอียดภายในรูปต่าง ๆ เหล็กสักยันต์แบบโบราณที่นิยมมี ๒ รูปแบบ แบบแรกสักยันต์เป็นลวดลาย จะใช้เหล็กสักทำจากทองเหลืองปลายเป็นแผ่นแบนมีความบางจักเป็นซี่แหลมใช้สำหรับร่างโครงลวดลายหยาบ ๆ ทิ่มสักให้เป็นจุด ๆ หรือถมทึบ[26] อีกเล่มใช้สักให้เกิดลวดลายต่าง ๆ เป็นเหล็กปลายแหลมที่ทำด้วยทองเหลืองประกอบเข้าด้วยกัน ๓ - ๔ ส่วน ส่วนล่างมีปลายแหลมแบ่งเป็น ๒ แฉกตัดกันเป็นมุมฉาก ส่วนต่อมามีลักษณะกลวงอยู่ใกล้ส่วนปลายแหลมมีรอยแยกสำหรับเก็บน้ำหมึก ส่วนบนสุดมีทั้งแท่งหลอดตันหรือมีหัวถ่วงน้ำหนักทำเป็นรูปหลากหลายแบบ แบบที่ ๒ สักหมึกถมทึบ จะใช้เข็มขนาดเล็กหลายอันมัดรวมกันสักลงบนผิวหนัง และใช้น้ำหมึกทาทับลงไปให้ดูดซึมเข้าไปตามรูที่สัก[27] ขณะที่สักก็จะบริกรรมคาถากำกับเหล็กสักขณะทำการสักยันต์ไปเรื่อย ๆ จนสำเร็จ ดังตัวอย่าง เช่น “เหล็กจะเหล็กจ๋าร ขะลัง คะลัง อักขระ อักขะรัง สังคะรุง29 ส่วนการไหว้ครูสักยันต์ของแต่ละสำนักนิยมไหว้ในช่วงเดือน ๗ (ประมาณเดือนเมษายน) ในวันพญาวัน หรือเดือน ๙ (ประมาณเดือนมิถุนายน) หากในกรณีของเมืองเชียงใหม่ สำนักสักยันต์จะนิยมประกอบพิธีกรรมไหว้ครูภายหลังจากงานประเพณีใส่ขันดอกบูชาเสาอินทขีลในเดือน ๙ เสร็จแล้ว30

 

     

ตำราสักยันต์ล้านนากำหนดให้สักยันต์พญานาคที่แขน จะอยู่ยงคงกระพันและอยู่เย็นเป็นสุข (ซ้าย) ตำราสักยันต์ไทใหญ่รูปมอมและมีอักขระคาถาไทใหญ่กำกับ (ขวา)

(ที่มา: โชค ลาง ของขลัง อารักษ์)

 

ข้อห้ามของผู้ที่สักยันต์ล้านนา

           ชายผู้สักยันต์ในอดีตจะได้รับการยอมรับนับถือจากคนในสังคม ด้วยเมื่อรับการสักยันต์แล้วจะต้องมีข้อประพฤติปฏิบัติที่อิงอยู่ในกรอบกฎเกณฑ์ทางศีลธรรม ข้อห้ามของผู้ที่รับการสักยันต์โดยเฉพาะสักยันต์ข่าม มีข้อประพฤติปฏิบัติต่างกันไปแล้วแต่ละครูบาอาจารย์ ด้วยเชื่อว่าหากกระทำสิ่งเหล่านี้แล้วจะ “ผิดครู” คือทำผิดจากที่ครูบาอาจารย์ได้ห้ามไว้ยันต์ที่สักไว้จะเสื่อมหรือถ้าทำผิดครูรุนแรงมากอาจทำให้ควบคุมตัวเองไม่ได้จนถึงเสียสติ เช่น ห้ามผิดศีลห้า ห้ามกินฟักเขียว น้ำเต้า รกสัตว์ เนื้อสุนัข ผักปลัง อ้อยดำ ห้ามลอดใต้ราวผ้า ห้ามลอดใต้บันได ห้ามลอดใต้กล้วยงำเครือ ห้ามลอดแร้ววัวแร้วควาย และห้ามดื่มเหล้าในแก้วที่เหลือจากคนอื่น เป็นต้น นอกจากนี้สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงสำหรับผู้ที่สักยันต์ข่าม เช่น

           (๑) ตงเรือนพัวะ คือ ไม้รอดผุ หากถูกตีด้วยไม้ตงเรือนพัวะยันต์ที่ข่ามก็จะเสื่อมจนได้แผลแตกเลือดไหลหากหนักมากก็ถึงตาย

           (๒) ไม้ละหุ่ง คือท่อนไม้ต้นละหุ่ง หากถูกตีก็จะทำให้ของเสื่อมได้แผลแตกเช่นกัน

           (๓) อ้อยดำ คือท่อนต้นอ้อยดำ หากถูกตีก็เหมือนไม้ตงเรือนพัวะกับท่อนไม้ละหุ่ง

           (๔) ผ้าถุง ห้ามไม่ให้ถูกศีรษะจะทำให้ยันต์หรือคาถาที่สักไว้เสื่อม

           (๕) ปืนลูกฟัก คือลูกกระสุนปืนที่นำไปใส่ไว้ในรังแม่ไก่ที่กำลังฟักไข่จนฟักไข่ออกลูกไก่ แล้วนำลูกกระสุนปืนไปให้ผู้หญิงที่เพิ่งคลอดลูกนั่งทับขณะอยู่ไฟ เมื่อนำมายิงผู้สักยันต์ข่ามจะไม่สามารถกันลูกกระสุนอาถรรพ์นี้ได้

           (๖) ตองกล้วยงำเครือ คือห้ามลอดใบตองที่ปกอยู่บนเครือกล้วย

           (๗) ห้ามรับประทานอาหารในงานศพ

           (๘) ห้ามรับประทานอาหารที่ใช้เลี้ยงผี

           (๙) ห้ามรับประทานแกงบอนหรือแกงผักปลัง

           (๑๐) ห้ามนอนอยู่ด้านซ้ายมือของผู้หญิง

           (๑๑) ห้ามนอนอยู่ต่ำกว่าผู้หญิง[30]

           (๑๒) ใบข้าว เชื่อว่าสามารถบาดผิวหนังของคนสักยันต์ข่ามได้จนเลือดไหล

           หากผู้สักยันต์คนไหนได้ละเมิดข้อห้ามที่กล่าวมาในข้างต้น มีวิธีแก้คือใช้น้ำส้มป่อยเสกด้วยคาถาต่าง ๆ เช่น คาถาส้มป่อยหลวง คาถามหาธง (ทรง) และคาถานะโมตัน เป็นต้น แล้วนำน้ำส้มป่อยที่ผ่านการเสกคาถาแล้วมาสระเกล้าดำหัว อิทธิฤทธิ์ของยันต์และว่านยาที่สักไว้ก็จะกลับฟื้นคืนมามีพลังได้ดังเดิมทุกประการ

           ตัวอย่างคาถามหาธง

“โอม ธง ธง มหาธง กูจักธงทังฟ้าแลทังดิน สวาตสิลป์กูอย่าหื้อเส้า กูจักธงทังคุณพระพุทธ พระธัมม์ พระสังฆะเจ้าอันอยู่เหนือหัวกูธง กูจักธงทังพื้นหัวแลปมบ่า กูจักธงทังพื้นปาทาแลฝ่าตีน กูจักธงทังนกบินบนแล่นกลางหาว กูจักธงทังใยจักขร้าวแล่นผ่านหน้า กูจักธงทังสิ้นเสื้อผ้าอันขาวผอน กูจักธงทังค้อนขอนขีข่อยบงซางปีนข้ามห้วย กูจักธงทังไม้ค้ำกล้วยแลซีกชาน กูจักธงทังโภชนะอาหารหลายหลาก ทังชิ้นซากเสือแลซากหมี ชิ้นซากผีแลซากสาง กูจักธงทังสัตต์เทียวทางแล่นกลายหน้า กูจักธงทังฝ้าบังลับก็ดี กูจักธง โอมสวาหับธง”32

           

           ตัวอย่างคาถานะโมตัน

“โอม นะโมตันติ โอมนะโมตันตา นะโมนะมามิหัง โอมพุทธังตันแต่ในมานอก ธัมมังตันแต่ขอกมากลาง สังฆังตันแต่คางมาท้อง ธัมมะตันแต่ปล้องตีนมือ สังฆะตันแต่ดือมาสอก จตุมุมหื้อคลุมทุกแห่ง ตะตันติ สวาหะตัน”33

 

           การสักยันต์ของชายล้านนาในอดีต จึงมีส่วนสำคัญต่อวิถีชีวิตของผู้คนในสังคมวัฒนธรรมในขณะนั้น ที่แสดงถึงสถานะความเป็นลูกผู้ชายเต็มตัว เป็นผู้ที่มีผีครูบาอาจารย์ ได้รับการยกย่องนับถือ สามารถเป็นที่พึ่งปกป้องคุ้มครองผองภัยให้บุคคลอันเป็นที่รักได้ การสักจึงสอดรับกับการใช้วิถีชีวิตได้อย่างลงตัวจนกล่าวได้ว่าขาดไม่ได้สำหรับบุรุษเพศ แต่ด้วยกาลเวลาที่ผันผ่านไป การสักยันต์ที่พอตกค้างหลงเหลืออยู่เพียงจำนวนน้อยมากในยุคปัจจุบัน ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมจึงอาจมีทัศคติเชิงลบที่เกิดจากหลากหลายปัจจัย ทั้งข้อกำหนดของทางการบ้านเมืองและหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงรูปแบบวิถีชีวิตในสังคมวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไป มีการเลื่อนไหลของวัฒนธรรมทั้งใกล้และไกลทั่วทุกมุมโลกที่สมาทานรับมาใช้ในวิถีชีวิตมากขึ้น วัฒนธรรมการสักยันต์แบบโบราณของชาวล้านนาและที่อื่น ๆ จึงลดลงจนเกือบสูญหาย ที่มาพร้อมกับความหมายและทัศนคติที่เปลี่ยนไป ด้วยความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ครูบาอาจารย์ช่างสักยันต์ในยุคปัจจุบัน ได้ปรับประยุกต์รูปแบบการสักที่หลากหลายให้เข้ากับกาลสมัยมากขึ้น ตลอดถึงผู้เข้ารับการสักยันต์ก็มีวัตถุประสงค์ความต้องการที่ซับซ้อนหลากหลายมากขึ้นด้วยเช่นกัน จึงเป็นการปรับตัวเพื่อให้ศาสตร์และศิลป์แขนงนี้ สามารถยังคงดำรงอยู่ได้ภายใต้สภาวการณ์ที่บริบททางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม มีการขับเคลื่อนหมุนเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วไม่หยุดยั้ง

 

บรรณานุกรม

คาร์ล บ็อค (เขียน) เสฐียร พันธรังษี และอัมพร ทีขะระ (แปล). ท้องถิ่นสยามยุคพระพุทธเจ้าหลวง. พิมพ์ครั้งที่ ๕. นนทบุรี : มติชนปากเกร็ด, ๒๕๕๐.

ชวนพิศ นภตาศัย (บรรณาธิการ). ธมฺมธโรอาจริยานุสรณ์. เชียงใหม่: แสงศิลป์, ๒๕๖๕.

แมคกิลวารี ดี.ดี. (เขียน) จิตราภรณ์ ตันรัตนกุล (แปล). กึ่งศตวรรษในหมู่คนไทยและคนลาว. กรุงเทพฯ : ภาพพิมพ์, ๒๕๔๔.

ภูเดช แสนสา. เจ้าหลวงลำปาง. เอกสารอัดสำเนา, ๒๕๖๔.

มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย. สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่ม ๑๓. กรุงเทพฯ : สยามเพรส แมเนจเม้นท์, ๒๕๔๒.

ลิลเลียน จอห์นสัน เคอร์ติส (เขียน) ชรัตน์ สิงหเดชากุล (แปล). ชาวลาวทางตอนเหนือของประเทศ สยาม ตอนที่ ๑. กรุงเทพฯ : เอดิสันเพรสโพรดักส์, ๒๕๔๓.

วิลักษณ์ ศรีป่าซาง. คง เข้ม ข่าม ขลัง เครื่องรางล้านนา. กรุงเทพฯ : ณ บ้านวรรณกรรม, ๒๕๕๘.

ศุภชัย ชยสุโภ (ปริวรรต). พระ. พับหัวครูบาอินทร์ อินฺโท วัดบ้านใหม่ อำเภอวังเหนือ จังหวัด ลำปาง. อักษรธรรมล้านนา, ๒๕๖๒.

ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่และศูนย์วัฒนธรรม สถาบันราชภัฏเชียงใหม่. ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับเชียงใหม่ ๗๐๐ ปี. เชียงใหม่ : มิ่งเมือง, ๒๕๓๘.

สนั่น ธรรมธิ. โชค ลาง ของขลัง อารักษ์. เชียงใหม่ : สุเทพการพิมพ์, ๒๕๕๐.

สรัสวดี อ๋องสกุล (ปริวรรต). พื้นเมืองน่าน ฉบับวัดพระเกิด. กรุงเทพฯ : อมรินทร์, ๒๕๓๙.

อินสม ไชยชมภู. ยันต์และคาถา ของดีเมืองเหนือ. เชียงราย : ไพศาลการพิมพ์, ม.ป.ป.

โฮลต์ ฮาลเลตต์ (เขียน) สุทธิศักดิ์ ปาลโพธิ์ (แปล). ท่องล้านนาบนหลังช้างของโฮลต์ ฮาลเลตต์ พ.ศ.๒๔๒๗. กรุงเทพฯ : ภาพพิมพ์, ๒๕๖๕.

สัมภาษณ์พระพินิจ อติภทฺโท อายุ ๕๔ ปี วัดสะแล่ง บ้านนาหลวง ตำบลห้วยอ้อ อำเภอลอง จังหวัดแพร่ วันที่ ๒๓ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๐.


1  บทความประกอบการเสวนา “วัฒนธรรมการสักในล้านนา” ในงานเสวนาและนิทรรศการเรื่อง  “สักลาย  :  ศิลปะแห่งศรัทธาบนเรือนร่าง” ณ หอประชุม ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร กรุงเทพมหานคร วันที่  ๗

2  มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย, สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่ม ๑๓, (กรุงเทพฯ : สยามเพรส แมเนจเม้นท์, ๒๕๔๒),หน้า ๖,๗๙๐.

3  สัมภาษณ์พระพินิจ อติภทฺโท อายุ ๕๔ ปี วัดสะแล่ง บ้านนาหลวง ตำบลห้วยอ้อ อำเภอลอง จังหวัดแพร่ วันที่ ๒๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๐.

4  สรัสวดี อ๋องสกุล (ปริวรรต), พื้นเมืองน่าน ฉบับวัดพระเกิด, (กรุงเทพฯ : อมรินทร์, ๒๕๓๙), หน้า ๗ และ ๑๕.

5  ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่และศูนย์วัฒนธรรม สถาบันราชภัฏเชียงใหม่, ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับเชียงใหม่ ๗๐๐ ปี, (เชียงใหม่ : มิ่งเมือง, ๒๕๓๘), หน้า ๘.

6  ภูเดช แสนสา, เจ้าหลวงลำปาง, (เอกสารอัดสำเนา, ๒๕๖๔), หน้า ๑๙.

7  เดเนียล แมคกิลวารี ดี.ดี. (เขียน) จิตราภรณ์ ตันรัตนกุล (แปล), กึ่งศตวรรษในหมู่คนไทยและคนลาว, (กรุงเทพฯ : ภาพพิมพ์, ๒๕๔๔), หน้า ๒๐๕.

8  ลิลเลียน จอห์นสัน เคอร์ติส (เขียน) ชรัตน์ สิงหเดชากุล (แปล), ชาวลาวทางตอนเหนือของประเทศสยาม ตอนที่ ๑, (กรุงเทพฯ : เอดิสันเพรสโพรดักส์, ๒๕๔๓), หน้า ๑๒๒ และ ๑๖๘.

9  ลิลเลียน จอห์นสัน เคอร์ติส (เขียน) ชรัตน์ สิงหเดชากุล (แปล), ชาวลาวทางตอนเหนือของประเทศสยาม ตอนที่ ๑, (อ้างแล้ว), หน้า ๗๖ และ ๑๖๕.

10  ลิลเลียน จอห์นสัน เคอร์ติส (เขียน) ชรัตน์ สิงหเดชากุล (แปล), ชาวลาวทางตอนเหนือของประเทศสยาม ตอนที่ ๑, (อ้างแล้ว), หน้า ๑๖๙.

11  คาร์ล บ็อค (เขียน) เสฐียร พันธรังษี และอัมพร ทีขะระ (แปล), ท้องถิ่นสยามยุคพระพุทธเจ้าหลวง, พิมพ์ครั้งที่ ๕, (นนทบุรี :มติชนปากเกร็ด, ๒๕๕๐), หน้า ๑๕๕.

12  คาร์ล บ็อค (เขียน) เสฐียร พันธรังษี และอัมพร ทีขะระ (แปล), ท้องถิ่นสยามยุคพระพุทธเจ้าหลวง, พิมพ์ครั้งที่ ๕, (อ้างแล้ว), หน้า ๒๖๘.

13  โฮลต์ ฮาลเลตต์ (เขียน) สุทธิศักดิ์ ปาลโพธิ์ (แปล), ท่องล้านนาบนหลังช้างของโฮลต์ ฮาลเลตต์ พ.ศ.๒๔๒๗, (กรุงเทพฯ : ภาพพิมพ์, ๒๕๖๕), หน้า ๑๑๙ - ๑๒๐.

14  พระศุภชัย ชยสุโภ (ปริวรรต), พับหัวครูบาอินทร์ อินฺโท วัดบ้านใหม่ อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง, อักษรธรรมล้านนา, ๒๕๖๒.

15  ลิลเลียน จอห์นสัน เคอร์ติส (เขียน) ชรัตน์ สิงหเดชากุล (แปล), ชาวลาวทางตอนเหนือของประเทศสยาม ตอนที่ ๑, (อ้างแล้ว), หน้า ๑๖๕.

16  โฮลต์ ฮาลเลตต์ (เขียน) สุทธิศักดิ์ ปาลโพธิ์ (แปล), ท่องล้านนาบนหลังช้างของโฮลต์ ฮาลเลตต์ พ.ศ.๒๔๒๗, (อ้างแล้ว), หน้า ๑๔๑.

17  ชวนพิศ นภตาศัย (บรรณาธิการ), ธมฺมธโรอาจริยานุสรณ์, (เชียงใหม่ : แสงศิลป์, ๒๕๖๕), หน้า ๔๖.

18  “ลานก้อมตำราสักยันต์และคาถา” ในวิลักษณ์ ศรีป่าซาง, คง เข้ม ข่าม ขลัง เครื่องรางล้านนา,(กรุงเทพฯ : ณ บ้านวรรณกรรม, ๒๕๕๘), หน้า ๘.

19  สนั่น ธรรมธิ, โชค ลาง ของขลัง อารักษ์,(เชียงใหม่ : สุเทพการพิมพ์, ๒๕๕๐), หน้า ๑๒๘.

20  อินสม ไชยชมภู, ยันต์และคาถา ของดีเมืองเหนือ,(เชียงราย : ไพศาลการพิมพ์, ม.ป.ป.), หน้า ๑๒๔.

21  โฮลต์ ฮาลเลตต์ (เขียน) สุทธิศักดิ์ ปาลโพธิ์ (แปล), ท่องล้านนาบนหลังช้างของโฮลต์ ฮาลเลตต์ พ.ศ.๒๔๒๗, (อ้างแล้ว), หน้า ๑๒๐.

22  มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย, สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่ม ๑๓,(อ้างแล้ว),หน้า ๖,๗๙๐ - ๖,๗๙๑. และลิลเลียน จอห์นสัน เคอร์ติส (เขียน) ชรัตน์ สิงหเดชากุล (แปล), ชาวลาวทางตอนเหนือของประเทศสยาม ตอนที่ ๑, (อ้างแล้ว), หน้า ๑๖๙.

23  คาร์ล บ็อค (เขียน) เสฐียร พันธรังษี และอัมพร ทีขะระ (แปล), ท้องถิ่นสยามยุคพระพุทธเจ้าหลวง, พิมพ์ครั้งที่ ๕, (อ้างแล้ว), หน้า ๑๕๖.

24  ชวนพิศ นภตาศัย (บรรณาธิการ), ธมฺมธโรอาจริยานุสรณ์, (อ้างแล้ว), หน้า ๔๕.

25  ลิลเลียน จอห์นสัน เคอร์ติส (เขียน) ชรัตน์ สิงหเดชากุล (แปล), ชาวลาวทางตอนเหนือของประเทศสยาม ตอนที่ ๑, (อ้างแล้ว), หน้า ๑๖๘.

26  คาร์ล บ็อค (เขียน) เสฐียร พันธรังษี และอัมพร ทีขะระ (แปล), ท้องถิ่นสยามยุคพระพุทธเจ้าหลวง, พิมพ์ครั้งที่ ๕, (อ้างแล้ว), หน้า ๑๕๖.

27  คาร์ล บ็อค (เขียน) เสฐียร พันธรังษี และอัมพร ทีขะระ (แปล), ท้องถิ่นสยามยุคพระพุทธเจ้าหลวง, พิมพ์ครั้งที่ ๕, (อ้างแล้ว), หน้า ๑๕๖.

28  ลิลเลียน จอห์นสัน เคอร์ติส (เขียน) ชรัตน์ สิงหเดชากุล (แปล), ชาวลาวทางตอนเหนือของประเทศสยาม ตอนที่ ๑, (อ้างแล้ว), หน้า ๑๖๙.

29  มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย, สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่ม ๑๓,(อ้างแล้ว),หน้า ๖,๗๙๑.

30  ชวนพิศ นภตาศัย (บรรณาธิการ), ธมฺมธโรอาจริยานุสรณ์, (อ้างแล้ว), หน้า ๔๙.

31  มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย, สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ เล่ม ๑๓, (อ้างแล้ว),หน้า ๖,๗๙๒.

32  มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย, สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ เล่ม ๑๓,(อ้างแล้ว),หน้า ๖,๗๙๒.

33  มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย, สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ เล่ม ๑๓,(อ้างแล้ว),หน้า ๖,๗๙๒.

34  ผู้ก่อตั้งเวียงเชียงเหล็ก (หอศาสตราแสนเมืองฮอม และ หอปั๊บราชสมภาร) พิพิธภัณฑ์อาวุธโบราณและเอกสารโบราณล้านนาและชาติพันธุ์ไทอำเภอลองจังหวัดแพร่ อาจารย์นักวิจัยสมทบสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และนักศึกษาปริญญาเอกสาขาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


ผู้เขียน

ภูเดช แสนสา34  หอศาสตราแสนเมืองฮอม จังหวัดแพร่


 

ป้ายกำกับ มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ การสัก ล้านนา สักลาย ศิลปะ ศรัทธา เรือนร่าง ภูเดช แสนสา

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share