ศรีลังกา 1,500 ปีก่อน (ศตวรรษที่ 6) ร่องรอยความรุ่งเรืองจากปากคำ คอสมัส ผู้ท่องอินเดีย

 |  โบราณคดี และประวัติศาสตร์
ผู้เข้าชม : 3666

ศรีลังกา 1,500 ปีก่อน (ศตวรรษที่ 6) ร่องรอยความรุ่งเรืองจากปากคำ คอสมัส ผู้ท่องอินเดีย

           ข่าวการล่มสลายทางเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการของประเทศศรีลังกา จากแถลงการณ์ของนายรนิล วิกรมสิงเห นายกรัฐมนตรีศรีลังกา (ขณะนั้น) ต่อรัฐสภากรุงโคลัมโบ (කොළඹ โกฬัมพะ) เมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2022 สร้างความตื่นตระหนกให้แก่นานาประเทศ ที่กำลังตกอยู่ในภาวะตึงเครียด ทั้งจากภัยโรคระบาดรุ่นแรกคือ “โควิด-19” (Covid-19) ที่ยังไม่แผ่ว และรุ่นล่าสุดคือ “ฝีดาษลิง” หรือ “วานรทรพิษ” (monkeypox) ที่ยังคลุมเครือ อีกทั้งผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ปริมาณข้าวสาลี (Wheat) ในตลาดโลกลดลง เพราะคู่สงครามต่างก็เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ส่งออกข้าวสาลีรายใหญ่ของโลก รวมไปถึงผลกระทบต่อการส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิงที่ทำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว

           มีการวิเคราะห์สาเหตุของการล่มสลายทางเศรษฐกิจครั้งนี้ไว้หลายประเด็น แต่ท้ายที่สุดก็คงไม่พ้น “ศักยภาพ” และ “ประสิทธิภาพ” ของ “ตัวผู้นำประเทศเอง” ที่เป็นตัวชี้ขาดว่า จะมีสติปัญญาเพียงใดในการพาประเทศไปสู่ความเจริญ ยั่งยืนแบบจริงจังไม่ขายฝัน หรือจะเป็นผู้นำที่ขาดสติ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนกับพวกพ้อง โกหกตัวเองว่ากำลังนำพาประเทศไปสู่ความเจริญ แต่แท้จริงแล้วกลับกำลังรุมทึ้งพาประเทศตกต่ำ ถอยหลังลงคลอง ซึ่งศรีลังกาเองก็เป็นตัวอย่างและเป็นผลลัพธ์ของการผูกขาดประเทศไว้กับกลุ่มอำนาจเดียวที่มีการทุจริตฉ้อฉล เอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง จนนำพาประเทศสู่หายนะทางเศรษฐกิจและตัวผู้นำก็ต้องหนีออกจากประเทศตนเอง ทิ้งไว้ก็เพียงที่พำนักหรูอยู่สบาย ให้ประชาชนผู้ทุกข์ยากบุกเข้าไปทัศนศึกษาความฟุ่มเฟือยของผู้นำ ดังที่มีภาพข่าวแพร่ให้เห็นอย่างน่าตระหนก

           เรื่องหายนะนั้นเราได้เห็นกันแล้ว ลองมาดูเรื่องความรุ่งเรืองของศรีลังกาในอดีตกันบ้าง เพื่อเป็นเครื่องจรรโลงใจว่า อย่างน้อยประเทศนี้ก็มีอดีตที่น่าค้นหาด้วยมีอารยธรรมรุ่งเรือง และเป็น “จุดพบปะทางการค้า” ที่สำคัญของระบบการค้าโลกยุคโบราณ ตั้งแต่ก่อนคริสตกาลเลยทีเดียว ถือเป็น หนึ่งในสอง “ฮับใหญ่” ของการค้าทางทะเลในดินแดนตะวันออก ซึ่งอีกแห่งนั้นแน่นอนว่าคืออาณาจักรจีน

           เรื่องที่ผมจะเล่าให้ฟังวันนี้ เป็นข้อมูลจากนักบวชชาวเมืองอเล็กซานเดรียแห่งคริสตจักร   ไบแซนไทน์ ผู้มีชีวิตอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 6 (พุทธศตวรรษที่ 11) และมีนามตามภาษากรีกโบราณว่า โกสมัส (Κοσμᾶς) โดยผมจะขอเรียกท่านตามเสียงภาษาอังกฤษว่า คอสมัส นักบวชท่านนี้เคยเดินทางมาอินเดีย เหตุนี้เองท่านจึงได้รับสมญานามตามภาษากรีกโบราณว่า “อินดิโกเปลญูสแตส” (Ἰνδικοπλεύστης) หรือตามเสียงภาษาอังกฤษคือ อินดิโกพลูสทีส แปลว่า ผู้ท่องอินเดีย ดังนั้น โดยทั่วไปจึงเรียกขานนามท่านว่า คอสมัส อินดิโกพลูสทีส (Cosmas Indicopleustes) หรือ คอสมัส ผู้ท่องอินเดีย ท่านผู้นี้มีความสนใจเกี่ยวกับจักรวาลวิทยาเป็นอย่างมาก และได้แต่งหนังสือว่าด้วย “โลกสัณฐาน” ตามความเชื่อของชาวคริสต์ไบแซนไทน์ในยุคนั้น โดยตั้งชื่อหนังสือว่า “คริสตศาสนิกเทศวรรณนา” (Χριστιανικὴ Τοπογραφία / ฆริสติญานิแก โตโปกราพิญา = Christian Topography) ซึ่งเป็นข้อมูลที่แสดงให้เห็นรากเหง้าของความเชื่อว่า “โลกแบน” ในคริสตจักรสมัยนั้นและต่อมา

           “คริสตศาสนิกเทศวรรณนา” มีเนื้อหาว่าด้วยการพรรณนาเกี่ยวกับโลกและจักรวาลตาม  โลกทัศน์และทัศนะของชาวคริสต์ในคริสตจักรไบแซนไทน์ หนังสือชุดนี้มี 12 เล่ม แต่เล่มที่ผมจะขอนำเสนอคือ เล่มที่ 11 ซึ่งมีเนื้อหา 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นบทพรรณนาเกี่ยวกับสิงสาราสัตว์ในอินเดียที่แปลกแหวกพิสดาร ส่วนท้ายนั้นเป็นบทพรรณนาเกี่ยวกับดินแดนเกาะศรีลังกา ตามที่ คอสมัส ผู้ท่องอินเดีย ได้เห็นและได้ฟังมา อนึ่ง ผมจะขอเล่าเฉพาะเนื้อหาที่เกี่ยวกับศรีลังกา เพื่อทราบถึงความเป็นทำเลทองทางการค้า และความโดดเด่นเรื่องอัญมณีของเกาะนี้

           คอสมัส ผู้ท่องอินเดีย ให้ข้อมูลที่น่าสนใจไว้ 5 เรื่อง ที่เกี่ยวกับศรีลังกา คือ (1) ว่าด้วยชื่อเกาะแห่งนี้ (2) การเป็นแหล่งอัญมณีที่เรียกว่า “หึญากินโธส” (เทียบอังกฤษ ไฮยาซินธ์) (3) การเป็นทำเลทองรับและกระจายสินค้า (4) เรื่องสอปาโตรส พ่อค้าผู้มีปัญญา และ (5) การเชื่อมโยงภูมิศาสตร์โลกเข้ากับภูมิศาสตร์คัมภีร์

           ในวรรณกรรมกรีก-ละตินตั้งแต่ก่อนคริสตกาล จนถึงหนังสือเรื่อง “หลักแนวทางแห่งภูมิวรรณนา” (Γεωγραφικὴ Ὑφήγησις / เกญอกราพิแก หึแพแกสิส = Geographical Guidance) ของปโตเลมี ที่เรียบเรียงขึ้นในศตวรรษที่ 2 นั้น เรียกเกาะศรีลังกาว่า “ตาโปรบานา” (Ταπροβανᾶ = Taprobana) ซึ่งเป็นชื่อเรียกขานที่เพี้ยนมาจากชื่อสันสกฤตว่า “ตามรปรรณี” (Tāmraparṇī) ที่มักแปลกันทางตำนานว่า “ฝ่ามือสีแดง” ตามเรื่องเล่าว่า เจ้าชายวิชัย ผู้เป็นต้นวงศ์ชาวสิงหล เมื่อแรกขึ้นเกาะนี้ ทรงใช้ฝ่ามือทาบลงบนผืนดินของเกาะซึ่งมีสีแดง ฝ่ามือของพระองค์จึงมีสีแดงตามนั้น เรื่องนี้มีเล่าอยู่ใน “คัมภีร์มหาวงศ์” อย่างไรก็ตาม จากปากคำของ คอสมัส ผู้ท่องอินเดีย ซึ่งมีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 6 นั้น แม้ท่านยังคงเรียกชื่อเกาะนี้ตามขนบนิยมกรีกโบราณ ที่เพี้ยนเสียงท้ายไปเล็กน้อยเป็น “ตาโปรบาแน” (Ταπροβάνη = Taprobane) ก็ตาม แต่ท่านก็ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หากเป็นชาวอินเดียแถบนี้พวกเขาจะเรียกเกาะนี้ว่า “สิเญเลดีบา” (Σιελεδίβα = Sielediba) ซึ่งหากพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้วจะพบว่า เป็นคำที่เพี้ยนมาจากชื่อ “สีหฬทีป” (Sīhaḷadīpa) หรือ “เกาะสิงหล” นั่นเอง อนึ่ง คำอาหรับที่ใช้เรียกเกาะศรีลังกาว่า “ซะร็อนดีบ” (سَرَنْدِيب / Sarandīb) นั้น ก็ชัดเจนว่าเป็นการถ่ายสำเนียงมาจากชื่อ “สีหฬทีป” ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ คอสมัส ยังเล่าด้วยว่า เกาะนี้มีราชาปกครอง 2 องค์ องค์หนึ่งครอบครองดินแดนที่อุดมไปด้วยมณีหึญากินโธส (แดนเขาสูง) ส่วนอีกองค์ครอบครองดินแดนส่วนที่เป็นท่าเรือสำคัญ (แดนที่ราบชายฝั่ง)   

           สินค้าเด่นของศรีลังกาเมื่อ 1500 ปีที่แล้วนั้นคือ พลอยมณีชั้นเลิศที่เรียกตามสำเนียงกรีกโบราณว่า “หึญากินโธส” (ὑάκινθος = hyakinthos) ซึ่งตามความหมายกรีกโบราณ คือ อัญมณีที่มีสีม่วงเข้มเหมือนดอกไฮยาซินธ์ จึงอาจหมายถึงกลุ่มพลอยสีม่วงประเภท ไพลิน (blue sapphire) หรือ พลอยม่วงสีดอกตะแบก/แอเมทีสต์ (amethyst) ซึ่งดูเหมือนว่าตรงกับข้อมูลปัจจุบันที่ว่า ศรีลังกาเป็นแหล่งไพลินชั้นเลิศแหล่งหนึ่งของโลก อย่างไรก็ตาม คอสมัส มีได้บรรยายลักษณะสีสันของมณีหึญากินโธสโดยเจาะจงตั้งแต่เริ่มเรื่อง แต่ท่านเล่าเกี่ยวกับสีของมณีนี้ในบทต่อไปว่า เนื่องจากมณีหึญากินโธส เป็นอัญมณีสำคัญของเกาะ จึงมีการนำไปประดับที่วิหารต่าง ๆ และมีวิหารหนึ่งประดับด้วยอัญมณีนี้ขนาดเขื่อง สีของหึญากินโธสนั้นเป็น “สีแดงสด” และเมื่อยามต้องแสงตะวัน แก้วมณีนั้นก็ส่องสีสดไสว งดงามหาใดเปรียบได้ จากการพรรณนานี้ย่อมแสดงว่า มณีหึญากินโธส ของ คอสมัส อาจไม่ใช่พลอยม่วงตามนิยามเดิม แต่อาจหมายถึงกลุ่มรัตนชาติสีแดงอื่น ๆ ซึ่งศรีลังกาเองก็มี “ทับทิม” (ruby) เป็นอัญมณีสีแดงสดและโดดเด่นอีกชนิด มีเกร็ดที่จะชวนงุนงงอีกเล็กน้อยคือในยุโรปนั้น ชื่อ หึญากินโธส (พลอยม่วง) ได้ถูกนำไปเรียกชื่อรัตนชาติจำพวกเพทาย (zircon) ที่มีเฉดสีแดงอมเหลืองถึงน้ำตาลอมแดงว่า ไฮยาซินธ์ (Hyacinth) หรือ จาซินธ์ (Jacinth) ด้วยเช่นกัน ดังนั้น มณีหึญากินโธสในความเข้าใจของคอสมัส จะตรงกับ “เพทาย” ได้หรือไม่? เพราะเพทายเองมีสีสันหลากหลาย ตั้งแต่สีใส เหลืองทอง แดง น้ำตาล ฟ้า และเขียว โดยตามเรื่องที่คอสมัสเล่านั้น อาจตรงกับเพทายสีแดง ซึ่งก็คือ จาซินธ์ ตามนิยามใหม่? 

           หลักฐานที่แสดงความรุ่งเรืองของศรีลังกาในฐานะที่เป็นศูนย์กลางรับและกระจายสินค้า คือคำบรรยายของ คอสมัส ที่จับใจความได้ว่า ทำเลที่ตั้งของศรีลังกานั้น ตั้งอยู่กึ่งกลางเส้นทางการค้าทางทะเลที่เชื่อมโยงระหว่างโลกตะวันตกกับตะวันออก เรือสินค้าจากตะวันตก เช่น จากเมืองอาดูเลในทะเลแดง จากคาบสมุทรอาราเบีย จากเปอร์เซีย และจากชายฝั่งตะวันตกของอินเดีย ต่างก็ส่งเรือสินค้ามายังศรีลังกา ในทำนองเดียวกัน เรือสินค้าจากตะวันออก เช่น จีนและแดนอื่น ๆ ก็ส่งเรือสินค้ามายังศรีลังกาเช่นกัน จากนั้นศรีลังกาจะทำหน้าที่กระจายสินค้ากลับไปยังแดนต่าง ๆ ทั้งส่งสินค้าใหม่ให้แก่เรือจากแดนนั้น หรือส่งเรือของตนไปยังแดนเหล่านั้นโดยตรง ศรีลังกาจึงเปรียบเสมือนจุดแลกเปลี่ยนสินค้าที่สำคัญของเขตแดนที่เรียกว่า “อินเดีย” (หมายรวมถึง อินเดียและเอเชียอาคเนย์ในโลกทัศน์การค้ายุคโบราณ) ทำนองเดียวกับ “จีน” ซึ่ง คอสมัส เรียกว่า “จีนิสตา” (เพี้ยนจาก จีนิสถาน เข้าใจว่าเป็นคำเปอร์เซียที่ใช้เรียกอาณาจักรจีน จาก จีน + สถาน) ก็เป็นศูนย์กลางการรับและส่งสินค้าของแดนปลายสุดตะวันออก ก่อนที่จะส่งต่อมายังศรีลังกา   

           นอกจากนี้ ยังมีเรื่องเล่าที่น่าสนุกแทรกอยู่เรื่องหนึ่งคือ เรื่องการแสดงปัญญาของพ่อค้าโรมันนามว่า สอปาโตรส (Sopatros) ต่อหน้าราชาแห่งสิงหล ซึ่ง คอสมัส อ้างว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง โดยท่านและลูกเรือเคยได้ฟังจากปากของสอปาโตรสเอง เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อสอปาโตรสผู้เป็นพ่อค้าไบแซนไทน์ของอาณาจักรโรมันตะวันออกและคณะ ได้เข้าเฝ้าราชาแห่งสิงหลพร้อมด้วยคณะบุคคลจากเปอร์เซีย ครั้งหนึ่ง พระราชาถามสอปาโตรสกับผู้อาวุโสชาวเปอร์เซียว่า อาณาจักรของท่านทั้งสองนั้นต่างก็เป็นมหาอาณาจักร ราชาพระองค์ใดกันเล่า ยิ่งใหญ่กว่ากัน? ผู้อาวุโสชาวเปอร์เซียจึงรีบชิงทูลตอบก่อนว่า มหาราชาแห่งเปอร์เซียทรงยิ่งใหญ่กว่า เพราะทรงต้องการสิ่งใด ก็ย่อมได้สิ่งนั้น ทรงมีพระอำนาจเกรียงไกร ทรงเป็นราชาเหนือราชาทั้งปวง ดั่งที่เรียกว่า “ราชาธิราช” เมื่อชาวเปอร์เซียผู้นั้นกล่าวจบ สอปาโตรสก็นิ่งเงียบไม่พูดสิ่งใด ทำให้ราชาแห่งสิงหล ต้องกล่าวถามสอปาโตรสว่า ท่านจะไม่พูดอะไรเลยหรือ? สอปาโตรสจึงกล่าวว่า ข้าไม่มีอะไรจะกล่าว เพราะความจริงนั้นประจักษ์แจ้งอยู่ที่นี่แล้ว แลมหาราชาทั้งสองก็ประทับอยู่ที่นี่แล้ว ราชาแห่งสิงหลได้ฟังก็แปลกพระทัย จึงถามให้สอปาโตรสไขความ สอปาโตรสจึงอธิบายว่า เหรียญกษาปณ์ของแดนใด ก็ย่อมมีพระพักตร์ของมหาราชแดนนั้น พระองค์ทอดพระเนตรเถิด ในท้องพระคลังของพระองค์นั้น มีพร้อมแล้วด้วยเหรียญจากทั้งอาณาจักรโรมันแลอาณาจักรเปอร์เซีย หากพระองค์เพ่งพินิจเหรียญของมหาราชาทั้งสองให้ดี ก็จะทรงทราบว่ามหาราชผู้ใดยิ่งใหญ่กว่ากัน เมื่อราชาแห่งสิงหลทราบดังนั้น จึงโปรดฯ ให้นำเหรียญกษาปณ์ของทั้งโรมันและเปอร์เซียมาพิจารณา ผลปรากฏว่า เหรียญโรมันนั้นเป็นเหรียญทองคุณภาพดี ภาพพระพักตร์คมชัดประณีต ต่างกับเหรียญเปอร์เซียที่เป็นเพียงเหรียญเงินที่มีอาจเทียบคุณภาพความประณีตกันได้เลย เหตุนี้ ราชาแห่งสิงหลจึงยกย่องว่า สอปาโตรส เป็นตัวแทนความเฉลียวฉลาดของชาวโรมัน แลโปรดฯ ให้นำสอปาโตรสขึ้นช้างชมเมืองพร้อมประโคมกลองกึกก้องตลอดทาง และเหตุการณ์นี้ทำให้ผู้อาวุโสชาวเปอร์เซีย รู้สึกเสียหน้าเป็นอย่างมาก  

           ข้อมูลสุดท้ายที่น่าสนใจคือ คอสมัส พยายามเชื่อมโยงภูมิศาสตร์โลกที่ท่านได้พบเห็นจากการเดินทางและรับฟังเรื่องราวจากบุคคลต่าง ๆ ให้เข้ากับคำพรรณนาภูมิศาสตร์ที่ระบุไว้ในพระคัมภีร์ (The Bible) ดังที่ปรากฏในบทที่เกี่ยวกับเกาะศรีลังกานี้ กล่าวคือ คอสมัส ตีความว่าดินแดนที่เรียกกันว่า “อินเดีย” นี้ อันที่จริงแล้วตรงกับดินแดนในพระคัมภีร์ ที่ชื่อว่า เอวีลัต (Evilat) และกล่าวยกย่องพระคัมภีร์ด้วยว่า ข้อมูลที่ท่านได้พบเห็นนั้นเป็นจริงดั่งที่พระคัมภีร์ระบุไว้ ซึ่งเป็นหลักฐานที่ตอกย้ำแนวทางของชื่อหนังสือ “คริสตศาสนิกเทศวรรณนา” ว่าเป็นการพรรณนาเกี่ยวกับดินแดนต่าง ๆ ด้วยโลกทัศน์ของชาวคริสต์นั่นเอง

 

เอกสารอ้างอิง

(1) ต้นฉบับภาษากรีกโบราณ ตรวจชำระโดย วินสเทดต์ (E. O. Winstedt)

Winstedt E.O. (ed.), 1909. Christian Topography of Cosmas Indicopleustes edited with Geographical Notes. Cambridge: The University Press.

(2) ฉบับแปลภาษาอังกฤษ โดย แม็กครินเดิล (J. W. McCrindle)

McCrindle J.W. (tr.), 1897. The Christian Topography of Cosmas, An Egyptian Monk, translated from the Greek, and Edited with Notes and Introduction. London: The Hakluyt Society.

(3) ฉบับแปลภาษาฝรั่งเศส สำนวนที่ 1 โดย ฌาร์ตง (E. Charton)

Charton E. (tr. & ed.), 1855. « Cosmas Indicopleustès, voyageur égyptien (sixième siècle après Jésus-Christ). » Dans : Voyageurs Anciens et Modernes, Tome Deuxième : Voyageurs du Moyen Age depuis le sixième siècle de l'ère chrétienne jusqu'au quatorzième. Paris : Aux Bureaux du Magasin Pittoresque, pp. 1-30.

(4) ฉบับแปลภาษาฝรั่งเศส สำนวนที่ 2 โดย โวลสกา-โกนุส (W. Wolska-Conus)

Wolska-Conus W. (tr.), 1973. Cosmas Indicopleustès: Topographie Chrétienne, Tome III (Livres VI-XII. Index). Paris : Les Editions du Cerf.


ผู้เขียน

ดร. ตรงใจ หุตางกูร

นักวิจัย ฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ ศรีลังกา ระบบเศรษฐกิจโลก คอสมัส ผู้ท่องอินเดีย ตรงใจ หุตางกูร

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา