สัมพันธภาพของพุทธศาสนาลังกาวงศ์ และสยามวงศ์

 |  โบราณคดี และประวัติศาสตร์
ผู้เข้าชม : 15680

สัมพันธภาพของพุทธศาสนาลังกาวงศ์ และสยามวงศ์

บริบทสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองในศรีลังกา

           ศรีลังกาคือภาพสะท้อนปัญหาเรื้อรังของการพัฒนาประเทศภายใต้การผูกขาดอำนาจของผู้นำประเทศที่อยู่ในตระกูลราชปักษาซึ่งควบคุมนโยบายเศรษฐกิจของประเทศยาวนานเกือบสองทศวรรษ แต่ด้วยการบริหารงานที่ผิดพลาด ทำให้ประชาชนออกมาเดินบวนประท้วงและขับไล่ผู้นำในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2565 (วิโรจน์ เลิศจิตต์ธรรม, 2565; ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก, 2565) ตระกูลราชปักษาซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินในเมืองฮัมบันโททา เริ่มเข้ามาทำงานการเมืองครั้งแรกเมื่อนายมหินทา ราชปักษาได้รับเลือกตั้งเข้ามาทำงานเป็นผู้แทนราษฎรในปี ค.ศ. 1970 และต่อมาได้รับตำแหน่งเป็นประธานาธิบดี 2 สมัย คือระหว่างปี ค.ศ. 2005 ถึง ค.ศ. 2015 (BBC News, 2022) ในช่วงนี้นายมหินทา มีบทบาทสำคัญมากต่อการยุติสงครามกลางเมืองและความขัดแย้งที่ยาวนานระหว่างรัฐบาลของชาวพุทธเชื้อสายสิงหลกับกลุ่มกบฏพยัคฆ์ทมิฬ หรือ กองทัพพยัคฆ์ปลดปล่อยทมิฬอีแลม (Liberation Tigers of Tamil Eelam) ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 เป้าหมายสำคัญของกองทัพพยัคฆ์ทมิฬอีแลมคือการก่อตั้งรัฐทมิฬ ตลอดเวลาที่ต่อสู้กับรัฐบาลชาวพุทธ กองทัพฯ นี้จะจู่โจมด้วยระเบิดพลีชีพ จนกระทั่งพ่ายแพ้ให้กับรัฐบาลศรีลังกาในปี พ.ศ. 2552 (วงเดือน นาราสัจจ์, 2548; Devotta, 2009)

           ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปี พ.ศ. 2565 เป็นต้นมา การประท้วงและขับไล่นายโกตาบายา ราชปักษา ประธานาธิบดีศรีลังกา คือเหตุการณ์ที่บ่งชี้ให้เห็นการผูกขาดอำนาจและผลประโยชน์ของตระกูลราชปักษาที่ไม่สามารถทำให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้น นอกเหนือจากความล้มเหลวในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและการคอร์รัปชั่น สิ่งที่เป็นบทเรียนสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ตระกูลราชปักษาคือตัวแทนของลัทธิชาตินิยมแบบพุทธเถรวาท ซึ่งผู้นำประเทศมีนโยบายปราบปรามและปิดกั้นกลุ่มชาติพันธุ์และศาสนาอื่น ดังเห็นได้จากการปราบกองทัพพยัคฆ์ปลดปล่อยทมิฬอีแลม และกลุ่มรัฐอิสลาม ในแง่นี้ ความเป็นพุทธแบบเถรวาทซึ่งผู้ปกครองของศรีลังกาพยายามทำให้ชาติมีอัตลักษณ์เดียว ลดทอนและมองข้ามความหลากหลายทางศาสนาและชาติพันธุ์ คือเรื่องราวที่ไม่ควรมองข้าม ในที่นี้จะขออธิบายความเป็นมาของพุทธศาสนาในประเทศศรีลังกา หรือเรียกว่าลังกาวงศ์ (พุทธศาสนาจากลังกา) ซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพุทธศาสนาในประเทศไทยมายาวนาน (รู้จักในนามพุทธศาสนาสยามวงศ์ หรือพุทธศาสนาที่เกิดขึ้นในสยาม)

 

การเกิดและเสื่อมของพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์

           หลังจากที่พุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานได้ 3 เดือน พระเถระจำนวน 500 รูปมาประชุมเพื่อประมวลคำสอนของพระพุทธเจ้าและทำปฐมสังคายนา ณ ถ้ำสัตบรรณคูหา ใกล้เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ การสังคายนาครั้งนี้ใช้เวลา 7 เดือน และเป็นต้นกำเนิดคัมภีร์พระไตรปิฎกภาษาบาลี ซึ่งถือเป็นรากฐานของพุทธศาสนานิกายเถรวาท เมื่อประมาณปี พ.ศ. 236 พุทธศาสนานิกายเถรวาทจากอินเดียได้เข้ามาสู่ศรีลังกาในสมัยพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ ผ่านสมณฑูตพระมหินทเถระ พระราชโอรสของพระเจ้าอโศกมหาราช เป็นผู้นำพระพุทธศาสนาเข้ามาแผยแผ่ยังกรุงอนุราธปุระ เกาะสิงหล (ศรีลังกา) โดยมีมหาเมฆวันอุทยานที่ถูกสร้างให้เป็นวัดมหาวิหารและมีพระสงฆ์จำพรรษา รวมทั้งพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะส่งคณะทูตไปยังราชสำนักของพระเจ้าอโศกมหาราชเพื่อขอให้พระนางสังฆมิตตาเถรีมาบวชให้สตรีชาวศรีลังกาและตั้งเป็นคณะภิกษุณีขึ้น พร้อมมกับนำกิ่งพระศรีมหาโพธิ์จากสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้ามาประดิษฐาน ณ กรุงอนุราธปุระ ในช่วงนี้ถือเป็นช่วงที่พุทธศาสนาลังกาวงศ์เจริญรุ่งเรืองมาก โดยในปี พ.ศ. 238 พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ในการสังคายนาพระไตรปิฎก ในครั้งที่ 4 ใช้เวลานาน 10 เดือน ซึ่งเป็นรากฐานของนิกายมหาวิหารวาสี ต่อมาในสมัยพระเจ้าทุฏฐคามณี และพระเจ้าวัฏฏคามณีอภัย มีการสังคายนาพระไตรปิฎกและจดถ้อยคำลงในใบลานเป็นครั้งแรก รวมทั้งมีการแตกนิกายของอภัยคีรีวาสีแยกออกไป (สัจภูมิ ละออ, 2556)

           ในปี พ.ศ. 433 พระเจ้ารักขิตมหาเถระทำการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 5 ใช้เวลานาน 1 ปี ซึ่งทำให้ได้พระไตรปิฏกฉบับลายลักษณ์เป็นครั้งแรก นอกจากนั้น กษัตริย์ศรีลังกา ยังมีการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 6 ในปี พ.ศ. 956 โดยพระเจ้ามหานาม และครั้งที่ 7 ในปี พ.ศ. 1584 โดยพระเจ้าปรากรมพาหุ ซึ่งมีหลายเมืองเช่น พม่า สยามและเขมร เดินทางไปคัดลอกพระไตรปิฎกมาศึกษา รวมทั้งเป็นช่วงที่มีการรวมนิกายมหาวิหารวาสีและอภัยคีรีวาสีที่แยกจากกันกลับเข้ามารวมกันอีกครั้ง นอกจากนั้นพระเจ้าปรากรมพาหุยังทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชขึ้นปกครองสงฆ์ทั้งประเทศเป็นครั้งแรก ช่วงนี้ถือเป็นช่วงที่มีการสร้างวัดและสถาปัตยกรรมทางพุทธศาสนาที่งดงามจำนวนมาก จนกลายเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนา แต่หลังจากที่ชาวทมิฬจากอินเดียเข้ามารุกรานศรีลังกา และการเข้ามายึดครองศรีลังกาโดยชาวโปรตุเกสและชาวฮอลันดาในช่วงล่าอาณานิคม (พ.ศ. 1953 -2005) ซึ่งมีการตั้งคริสจักรในกรุงโคลัมโบ พระสงฆ์ถูกจับและถูกบังคับให้สึก พุทศาสนิกชนถูกบังคับให้นับถือศาสนาคริสต์ วัดในพุทธศาสนาและพระไตรปิฎกถูกเผาทำลาย ส่งผลให้พุทธศาสนาลังกาวงศ์ค่อยๆ เลื่อมลง (สมบูรณ์ บุญฤทธิ์, 2560; สัจภูมิ ละออ, 2556) นอกจากนั้น โปรตุเกสยังตั้งศูนย์กลางการค้าเครื่องเทศที่กรุงโคลัมโบ มีการบังคับให้พระเจ้าธรรมปาละและมเหสีเข้ารีตนับถือศาสนาคริสต์ (พ.ศ. 2085-2124) บาทหลวงในคริสต์ศาสนาเข้ามายึดครองวัดอย่างถาวร ในสมัยพระเจ้าราชสิงห์ที่ 1 พระสงฆ์และสามเณรถูกจับไปประหารชีวิต ประชาชนไม่กล้าใส่บาตร พระสงฆ์ สามเณรและพุทธศาสนิกชนจึงต้องปกปิดการนับถือศาสนาของตน จนกระทั่งชาวฮอลันดาเข้าปกครองศรีลังกาในปี พ.ศ.2200 จึงเริ่มการฟื้นฟูศาสนาพุทธอีกครั้งโดยขอให้พระสงฆ์จากสยามเดินทางไปช่วยเหลือ (สัจภูมิ ละออ, 2556)

           การศึกษาของปรีดี หงษ์สต้น (2560) ให้ข้อมูลว่าในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 หลังจากที่อังกฤษเข้ามาปกครองศรีลังกา พยายามเข้าไปยึดครองที่ดินของคณะสงฆ์ที่ถือครองมานาน และมีนโยบายแทรกแซงกิจการภายในของคณะสงฆ์แคนดีด้วยการทำสนธิสัญญาแคนดี (Kandyan Convention) ในปี ค.ศ. 1815 ทำให้พุทธศาสนิกชนไม่พอใจและออกมาต่อต้านชาวอังกฤษ นำไปสู่การปราบปรามประชาชนในปี ค.ศ. 1819 ต่อมาในปี ค.ศ. 1848 พระสงฆ์ได้นำการประท้วงต่อต้านมิชชันนารีอังกฤษอีกครั้งเนื่องจากไม่ยอมรับในการเผยแพร่ศาสนาคริสต์และตั้งโรงเรียนสอนศาสนาคริสต์ในศรีลังกา ประกอบกับสำนึกชาตินิยมของชาวสิงหลที่ยึดมั่นในพุทธศาสนาในฐานะเป็นอัตลักษณ์ของชาติที่ยาวนาน ทำใก้เกิดกระบวนการต่อสู้ของชาวศรีลังกาเพื่อต่อต้านอังกฤษ บุคคลที่มีบทบาทนำในการต่อสู้กับอังกฤษคือ อนาคาริกะ ธรรมปาล ซึ่งเป็นผู้นำรื้อฟื้นพุทธศาสนาแบบสิงหลและก่อตั้งสมาคมพุทธคยามหาโพธิ์ในปี ค.ศ. 1891เป้าหมายเพื่อสร้างวิทยาลัยสงฆ์และตีพิมพ์วรรณกรรมพุทธศาสนาในภาษาต่างๆ รวมทั้งพระสงฆ์ 3 รูปที่มีบทบาทสำคัญคือมหาเถรหิกกะตุเว ศรีสุมังคลา, มหาเถรมิเกตตุวัตเต คุณานันดา และมหาเถรเวฬิกามา สุมังคลา ซึ่งออกมาต่อต้านการเผยแพร่คริสต์ศาสนา

           นอกจากนั้น พันเอกเฮนรี สตีลโอลคอตต์ (Colonel Henry Steel Olcott, 1832-1907) ชาวอเมริกัน ผู้ก่อตั้งสมาคมเทวปรัชญาพุทธ (Buddhist Theosophical Society) คือผู้มีบทบาทสำคัญในการรื้อฟื้นพุทธศาสนาในศรีลังกา หลังจากที่เขาเปลี่ยนมานับถือพุทธศาสนาแล้ว เขาสามารถนำชาวพุทธในศรีลังกาเข้าร่วมขบวนการฟื้นฟูพุทธศาสนาได้จำนวนมาก และเป็นกำลังสำคัญในการต่อต้านคริสต์ศาสนาในศรีลังกา เขาสนับสนุนให้วัน วิสาขบูชาเป็นวันหยุดราชการและช่วยออกแบบธงพุทธศาสนาสากล มีการระทมทุนจัดตั้งโรงเรียนพุทธศาสนาเพื่อแข่งกับโรงเรียนของมิชชันนารี ในปี ค.ศ. 1881 เขาตีพิมพ์หนังสือเรื่อง Buddhist Catechism เพื่อใช้สอนในโรงเรียนและทำให้พุทธศาสนามีความเป็นวิทยาศาสตร์ (Bond, 1988) Berkwitz (2003) อธิบายว่าพุทธศาสนาในศรีลังกาในปัจจุบันมีการปรับตัวตามเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและการเมืองที่มีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะความพยายามที่จะกลับมาหารากเหง้าเดิมที่เคยเป็นมาในอดีต มีการตื่นตัวในเรื่องการเดินทางแสวงบุญไปยังสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในพุทธศาสนา รวมถึงการนำความเชื่อจากศาสนาอื่นเข้ามาผสมผสานในพิธีกรรมเพื่อตอบสนองการมีชีวิตในสังคมที่ผู้คนต้องติดต่อสื่อสารกับกลุ่มคนต่างเชื้อชาติและศาสนา

 

การเข้ามาของลังกาวงศ์ในดินแดนสยาม

           การศึกษาของไมเคิล ไรท์ (2544) ระบุว่ามีการสันนิษฐานว่าพุทธศาสนาลังกาวงศ์เข้ามาในสยามครั้งแรกในรัชกาลพญาลิไท (พุทธศตวรรษที่ 20) โดยผ่านรามัญประเทศ แต่จากการค้นเอกสาร จารึกและหลักฐานทางโบราณคดีต่างๆ ทำให้เห็นร่องรอยของการเข้ามาของลังกาวงศ์ใน 3 ช่วง คือ ช่วงที่ (1) สมัยทวารวดี (ราวๆ พุทธศตวรรษที่ 10-15) พบร่องรอย ศาสนสถานที่เมืองศรีมโหสถ ปราจีนบุรี มีรูปอัฒจันทร์ตีนบันไดคล้ายสถาปัตยกรรมในศรีลังกา และที่วัดสระมรกต มีพระพุทธบาทคู่คล้ายที่นิยมในลังกา รวมทั้งในจารึกเนินบัว (วัดสระมรกต) ภาษาบาลี ระบุปี ม.ศ. 683(พ.ศ. 1304) พระคาถาบทที่ 1 มีคำว่า “ลํกิสฺสโร…” หมายถึงพระเจ้ากรุงลังกา ช่วงที่ (2) สมัยขอม (ราวพุทธศตวรรษที่15-20) พบหลักฐานพระประธานในปรางค์ประธานปราสาทพระขรรค์ของชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ. 1724-1753) เป็นพระสถูปทรงลังกาแบบรุ่นเก่าคล้ายพระสถูปลังกาสมัยโปโลนนารุวะและพระบรมธาตุเจดีย์ เมืองนครศรีธรรมราช (เมืองตามพรลิงค์) เชื่อว่าในช่วงนี้ชาวเขมรมีการติดต่อกับลังกาโดยมีเมืองนครศรีธรรมราชเป็นเส้นทางเชื่อมโยงถึงกัน ช่วงที่ (3) สมัยสุโขทัย (พุทธศตวรรษที่ 19-20) พบการสร้างเจดีย์ทรงลังกาซึ่งพญาลิไทรับนิกายลังกาวงศ์มาจากชาวรามัญ และเจดีย์ทรงข้าวบิณฑ์ซึ่งเป็นการดัดแปลงสถูปแบบลังกาให้อยู่ในรูปทรงปรางค์แบบเขมร

           การศึกษาของสมบูรณ์ บุญฤทธิ์ (2560) กล่าวว่าสยามรับพุทธศาสนาลังกาวงศ์ในพุทธศตวรรษที่ 18 (ช่วงที่มีการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 3) และเจริญรุ่งเรืองในเมืองนครศรีธรรมราช จากตำนานเมืองนครศรีธรรมราช และตำนานพระบรมธาตุนครศรีธรรมราชได้กล่าวถึงกลุ่มชนจากศรีลังกาย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเขตเมืองพระเวียง ของนครศรีธรรมราชโดยนำพุทธศาสนาลังกาวงศ์เข้ามาปฏิบัติ (ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์, 2548) รวมทั้งภิกษุชาวสยามที่เดินทางไปอุปสมบทในศรีลังกาและพระสงฆ์ชาวศรีลังกาก็กลับมาตั้งคณะที่นครศรีธรรมราช พร้อมก่อสร้างพระมหาธาตุขึ้น ในขณะที่พระเจ้าจันทรภาณุแห่งนครศรีธรรมราช ได้เดินทางไปเมืองลังกาถึงสองครั้ง และได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์จากลังกามาประดิษฐานในเมืองนครศรีธรรมราชด้วย(สมบูรณ์ บุญฤทธิ์, 2560, น.42-43)

           จากนั้นพ่อขุนรามคำแหงได้นำพระสงฆ์จากนครศรีธรรมราชไปเผยแพร่พุทธศาสนาในสุโขทัย และให้จำพรรษาที่วัดอรัญญิก และพุทธศาสนาลังกาวงศ์แผ่ขยายไปในพื้นที่อื่น ๆ ในเวลาต่อมา จนถึงสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ .2271-2031) ซึ่งเป็นช่วงที่พุทธศาสนาในศรีลังกาเริ่มเสื่อมถอย พระเจ้าศรีวิชัยราชสิงห์จึงส่งทูตมายังสยามและเชิญพระสงฆ์ไปฟื้นฟูพุทธศาสนาในศรีลังกา ผู้ที่มีบทบาทสำคัญคือพระอุบาลีเถระ พระอริยมุนี และพระมหานามะจากสยามซึ่งนำพุทธศาสนาของสยามไปเผยแพร่ในศรีลังกา ตรงกับรัชสมัยพระเจ้ากิตติสิริราชสิงห์ (พระพรหมบัณฑิต, 2556; พระศรีธวัชเมธี, 2556) ซึ่งส่งคณะทูตจำนวน 61 คน มายังสยาม และเดินทางถึงกรุงศรีอยุธยาในเดือนพฤษภาคม ปี พ.ศ. 2294 พระสงฆ์จากสยามเดินทางไปถึงศรีลังกานปี พ.ศ. 2296 โดยมีพระเจ้ากิตติสิริราชสิงห์ทรงมาต้อนรับและนำพระสงฆ์สยามไปพำนักที่พระราชอุทยานซึ่งต่อมาสร้างเป็นวัดบุปผาราม จากนั้นมีการประกอบพิธีอุปสบทสามเณรจำนวน 6 รูป ถือเป็นการอุปสมบทครั้งแรกของสยามวงศ์ใน ศรีลังกา ผู้เข้าอุปสมบทเป็นพระสยามวงศ์รูปแรก คือ สามเณรโกบแบกัตตุเว เจ้าอาวาสวัดโปยมะลุวิหาร (สมบูรณ์ บุญฤทธิ์, 2560, น.48-49) ช่วงเวลา 3 ปีกว่าในศรีลังกา พระอุบาลีเถระและคณะได้บรรพชาและอุปสมบทพระภิกษุ สามเณรแก่ชาวศรีลังกา เป็นพระภิกษุกว่า 700 รูป เป็นสามเณรกว่า 3,000 รูป ต่อมาในปี พ.ศ. 2298 พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทรงโปรดเกล้าฯ ส่งคณะสมณทูตชุดที่ 2 จำนวน 60 รูปเดินทางไปศรีลังกาเพื่อเผยแพร่พุทธศาสนาสยามวงศ์ โดยสอนเรื่องการขานนาค การนุ่งห่ม การแสดงพระธรรมเทศนาและวิปัสสนากัมมัฎฐาน รวมถึงริเริ่มประเพณีแห่พระธาตุเขี้ยวแก้ว หรือ ปราเฮรา (Perahera) ซึ่งเป็นการสร้างขบวนแห่ประกอบดนตรีและการแสดง มีการจุดคบเพลิงกาบมะพร้าว มีช้างร่วมพิธีอัญเชิญพระธาตุเป็นพุทธบูชา ประเพณีแห่พระธาตุเขี้ยวแก้วถือเป็นประเพณีที่สวยงามและมีความสำคัญสำหรับชาวศรีลังกามาจนถึงปัจจุบัน (สมบูรณ์ บุญฤทธิ์, 2560, น.49-50)

           นับตั้งแต่ที่ศรีลังกายุติการสังคายนาพระไตรปิฎกไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 1584 ในสมัยพระเจ้าปรากรมพาหุ ซึ่งถือเป็นครั้งที่ 7 และครั้งสุดท้ายของศรีลังกา สยามได้สืบทอดการสังคายนาพระไตรปิกฎต่อมาถึง 4 ครั้ง โดยครั้งที่ 8 เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2020 พระเจ้าติโลกราชเป็นองค์อุปถัมภ์ และพระธรรมทินมหาเถระเป็นประธาน จัดขึ้นที่วัดโพธาราม จังหวัดเชียงใหม่ ครั้งที่ 9 เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2331 ณ วัดพระศรีสรรเพชญ์ (วัดพระมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์) พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นองค์อุปถัมภ์ มีสมเด็จพระสังฆราช (ศรี) เป็นประธาน ครั้งที่ 10 เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2431 ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นองค์อุปถัมภ์ มีสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์เป็นประธาน ครั้งที่ 11 เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2530 ณ วัดพระมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ มีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เป็นองค์อุปถัมภ์ มีสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังปริณายก (วาสน์ วาสโน) เป็นประธาน (สมบูรณ์ บุญฤทธิ์, 2560, น.40) ในปี พ.ศ.2556 รัฐบาลไทยและรัฐบาลศรีลังกาได้จัดงานสมโภชพุทธศาสนาสยามวงศ์ครบ 260 ปี โดยถือเอาวันเสาร์ เดือน 8 ขึ้น 15 ค่ำ พุทธศักราช 2296 เป็นวันเริ่มสถาปนาพุทธศาสนาสยามวงศ์ในศรีลังกา เป็นวันที่สามเณรโกบแบกัตตุเว เจ้าอาวาสวัดโปยมะลุวิหาร ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุสยามวงศ์รูปแรกในศรีลังกา โดยมีพระอุบาลีเถระจากสยามเดินทางไปเป็นพระอุปัชฌาย์ (สัจภูมิ ละออ, 2556)

 

เอกสารอ้างอิง

ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์. (2548). เอกสารประกอบการบรรยายเรื่อง “พระเจ้าศรีธรรมโศกรา พระพุทธศาสนา” ในการประชุมสัมมนาทางวิชาการเรื่อง “พระพุทธศาสนา : อาณาจักรศรีวิชัย” โรงแรมทวินโลตัสจังหวัดนครศรีธรรมราช, วันที่ 12-13 มิถุนายน 2548.

บีบีซีนิวส์. (2565). ทำความรู้จักตระกูล “ราชปักษา” นักการเมืองผู้ครองอำนาจเหนือศรีลังกา เกือบ 2 ทศวรรษ. สืบค้นจาก https://www.bbc.com/thai/international-61405608

ปรีดี หงษ์สต้น. (2560). การรื้อฟื้นพุทธศาสนา (Buddhist Revival) ในศรีลังกาภายใต้อาณานิคมอังกฤษช่วงปลายคริสต์ศตวรรษ. วารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร, 13(1), 113-142.

พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต). (2556) “เยือนสยามนิกายในศรีลังกา”, [ออนไลน์], สืบค้นจาก http://watprayoon.org/

พระศรีธวัชเมธี (ชนะ ธมฺมธโช), (2556). “อุบาลีรำลึก สืบร่องรอยพระพุทธศาสนา ๒๕๐ ปี นิกายสยามวงศ์ใน ศรีลังกา” [ออนไลน์], สืบค้นจาก http://rakpratat.com/index.php?lay=show&ac=ariticle&Id=99068

ไมเคิล ไรท์. (2544). พุทธศาสนา “ลังกาวงศ์” เข้ามาเมื่อไร? ทางไหน? ศิลปวัฒนธรรม, ตุลาคม 2544. สืบค้น จาก https://www.silpa-mag.com/history/article_6353

วงเดือน นาราสัจจ์. (2548). ทมิฬอีแลม (Tamil Ealam) ปัญหาชาติพันธุ์ในศรีลังกา. วารสารประวัติศาสตร์ (2548), 79-106.

วิโรจน์ เลิศจิตต์ธรรม. (2565). ประมวลสถานการณ์ประท้วงในศรีลังกา จากวิกฤตเศรษฐกิจ สู่การลงถนนขับ ไล่ผู้นำ. The Standard วันที่ 12 พฤษภาคม 2565 สืบค้นจาก https://thestandard.co/key-messages-protest-in-sri-lanka/

แก้วคูนอก. (2565). วิกฤตเศรษฐกิจศรีลังกา ปัญหาเรื้อรังที่มากกว่าเรื่องกับดักหนี้จีน. The 101. World, วันที่ 18 เมษายน 2565. สืบค้นจาก https://www.the101.world/sri-lanka-economic-crisis-2022/

สมบูรณ์ บุญฤทธิ์. (2560). ลังกาวงศ์ในสยามและสยามวงศ์ในศรีลังกา. วารสารมหาจุฬาวิชาการ, 1(2), 35-53.

สัจภูมิ ละออ. (2556). พระพุทธศาสน์สยามวงศ์โต้คลื่นไปมั่นคงที่ศรีลังกา. กรุงเทพมหานคร: ตถาตา.

Berkwitz, S.C. (2003). Recent trends in Sri Lankan Buddhism. Religion, 33 (2003), 57–71.

Bond, GeorgeD. (1988). Columbia: University of South The Buddhist Revival in Sri Lanka: Religious Tradition, Reinterpretation and Response. Carolina Press.

Devotta, N. (2009). The Liberation Tigers of Tamil Eelam and the Lost Quest for Separatism in Sri Lanka. Asian Survey, 49(6), 1021-1051.


ผู้เขียน

ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ


 

ป้ายกำกับ พุทธศาสนา ลังกาวงศ์ สยามวงศ์ สัมพันธภาพ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share