เอ๋งติ๋งห้าว วรรณกรรมนี้ชื่อแปลก?

 |  โบราณคดี และประวัติศาสตร์
ผู้เข้าชม : 2556

เอ๋งติ๋งห้าว วรรณกรรมนี้ชื่อแปลก?

           เชื่อว่าใครหลายคนได้ยินชื่อ “เอ๋งติ๋งห้าว” ครั้งแรก ต้องวกกลับมาถามด้วยความฉงนเป็นแน่ ว่าอะไร? ได้ยินผิดหรือเปล่า? ชื่อนี้จริง ๆ หรือ? คงถามปนสงสัยแน่ ถ้าอย่างนั้นไปช่วยกันหาคำตอบถึงที่มาที่ไปของชื่อ “เอ๋งติ๋งห้าว” กันดีกว่า

 

เอ๋งติ๋งห้าวคือใคร?

           เอ๋งติ๋งห้าว เป็นชื่อตัวละครเอกในเรื่อง เอ๋งติ๋งห้าว มีพี่น้องร่วมสายโลหิตหนึ่งคน ชื่อ อ๊าวติ๋งโฮ่ง ทั้งสองเป็นโอรสของท้าวอุดมโคตรและนางก้ามกุ้ง ถูกขับออกจากเมืองให้ระหกระเหินเร่ร่อนเพราะคำทำนายของโหราจารย์ว่าทั้งสองจะนำความพินาศมาให้ แต่ความที่ทั้งสองเป็นคนฉลาดปนด้วยเล่ห์เหลี่ยมแพรวพราวปานศรีธนชัย จึงสามารถเอาตัวรอดจากเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้ จนสุดท้ายเอ๋งติ๋งห้าวได้อภิเษกกับนางสังขะอู๊ด และอ๊าวติ๋งโฮ่งอภิเษกกับนางกะป๋องจ๋อง และครองเมืองอย่างสงบสุขตามท้องเรื่อง

           เอ๋งติ๋งห้าว เป็นกลอนตลาด เน้นแนวตลกขบขัน โดยบรรณาธิการของเกษมบรรณกิจยังเขียนในคำนำหนังสือ เมื่อคราวตีพิมพ์ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2511 ว่า “เอ๋งติ๋งห้าวเป็นกลอนที่สัมผัสดี และมีลีลาที่คล้องจองอย่างดีที่สุดเรื่องหนึ่ง ในกระบวนกลอนตลกด้วยกัน”

           ผู้แต่งนั้นตั้งใจแต่งขึ้นล้อเลียนขนบวรรณคดี เนื้อเรื่องจะตรงข้ามกับความจริงเสมอ เป็นจุดให้เกิดความขบขัน สนุกสนาน เช่น

           บทไหว้ครู ขอยกตัวอย่างสั้น ๆ

(เอ๋งติ๋งห้าว เล่ม 1 พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2466 หน้า 1)

 

เอ๋งติ๋งห้าว ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ.2466

(ภาพจาก: https://db.sac.or.th/siamrarebooks/books/484/SRB-0484)

 

บทบรรยายถึงปราสาทราชวัง

 

(เอ๋งติ๋งห้าว เล่ม 1 พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2466 หน้า 3)

 

           เพียงแค่เริ่มบทก็จะเห็นถึงการเล่าเรื่องที่แหกขนบวรรณคดีไทยที่หลาย ๆ ท่านเคยอ่านมาแล้ว โดยผู้แต่งนำมาทั้งผี ทั้งสัปเหร่อ โจร และการพนัน มากล่าวถึงในบทไหว้ครู บทบรรยายปราสาทราชวังจากเดิม ๆ ที่เน้นความโอ่อ่าหรูหราก็กลายเป็นสมถะค่อนไปทางน่าเห็นใจ แตกต่างจากวรรณคดีเรื่องอื่น ๆ นอกจากนี้การตั้งชื่อตัวละครยังสร้างสรรยิ่งนัก อาทิ การนำเอาเสียงร้องของสัตว์มาตั้งชื่อ เช่น เอ๋งติ๋งห้าว กับ อ๊าวติ๋งโฮ๋ง ที่เอาจากเสียงร้องของสุนัข นางสังขะอู๊ด เสียงร้องของสุกร การนำเอากริยาท่าทางของสัตว์มาตั้งชื่อ เช่น ท้าวหยีแย่กับกับ เสียงฝีเท้าของม้า และชื่อสัตว์ สิ่งของ เช่น นางก้ามกุ้ง นางกะจ๋องป่อง เป็นต้น

 

ความฮอตฮิตติดลมบนของเอ๋งติ๋งห้าว

           จากการสืบค้นข้อมูลทราบว่า เอ๋งติ๋งห้าว ถูกนำมาตีพิมพ์ซ้ำถึง 4 ครั้งด้วยกัน ครั้งแรก พ.ศ. 2435 ไม่ทราบโรงพิมพ์ ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2466 ตีพิมพ์กับโรงพิมพ์วัดเกาะ จำนวน 9 เล่ม เล่มละ 25 สตางค์ ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2504 ไม่ทราบโรงพิมพ์ และครั้งที่ 4 พ.ศ. 2511 กับโรงพิมพ์เกษมบรรณกิจ นับว่า เอ๋งติ๋งห้าวเป็นวรรณกรรมแนวตลกที่ได้รับความนิยมและกระแสตอบรับที่ดีจากนักอ่านไม่น้อย ส่วนสำนวนภาษาที่ใช้ในการตีพิมพ์แต่ละครั้งอาจจะแตกต่างกันตามความนิยมและรสนิยมของบรรณาธิการ ดังเช่นข้อความที่ปรากฎในหน้าแจ้งความหรือคำนำเมื่อครั้งตีพิมพ์ พ.ศ. 2466กล่าวว่า

“ข้าพเจ้าได้แก้ไขเพิ่มเติมข้อความขบขันอย่างพิศดานขึ้นกว่าต้นฉบับ ทั้งได้แก้ไขความผิดที่มีอยู่ในต้นฉบับเดิมไม่ให้เป็นราคีขึ้นได้ ถึงผู้ใดจะไปลงพิมพ์ก็ไม่เหมือนของข้าพเจ้าเป็นแน่ (วันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2466)”

           และเมื่อตีพิมพ์อีกครั้ง บรรณาธิการก็แจ้งในหน้าคำนำ พ.ศ. 2511 ว่า

“ในการจัดพิมพ์ครั้งใหม่นี้ ได้มีการตรวจแก้ไขตัวอักษรให้ตรงกับพจนานุกรมอย่างถูกต้องที่สุดและหวัง เอ๋งติ๋งห้าวคงจะให้ความสำราญแก่ท่านเป็นอย่างมาก”

 

เอ๋งติ่งห้าว ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2511 ภาพจาก: https://www.facebook.com/PhasathaiKitawannakamma/posts/pfbid02R4zrEJDiibdRTkJo3bxq8g4AYBNee4J7GGbzh8XiUpLwBLopPJK5XDm2sLPH6uH6l/

 

ตัวอย่างสำนวนภาษาที่ใช้แตกต่างกันเล็กน้อย ดังนี้

 

(เอ๋งติ๋งห้าว เล่ม 9 พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2466 หน้า 359)

 

(เอ๋งติ๋งห้าว พิมพ์ครั้งที่ 4 พ.ศ.2511 หน้า 330)

 

           เอ๋งติ๋งห้าว เรียกได้ว่าเป็นวรรณกรรมแนวใหม่ที่พบได้น้อยมากในสมัยนั้น มีอายุร่วมร้อยสามสิบปีถ้านับจากการตีพิมพ์ครั้งแรก เน้นไปทางสร้างความบันเทิงและขบขันให้ผู้อ่าน แต่อย่าได้นำไปเทียบกับขนบวรรณคดีเลย เพราะอาจทำให้คนที่เคร่งครัดกับขนบวรรณคดีเกิดความตะขิดตะขวงใจ

           ดูเพิ่มเติมได้ที่ ฐานข้อมูลนามานุกรมวรรณคดีไทย

https://www.sac.or.th/databases/thailitdir/detail.php?meta_id=443

ลองสืบค้นวรรณคดีเรื่องอื่นๆ https://www.sac.or.th/databases/thailitdir/index.php

 

อ้างอิง

*เปรียบเทียบสำนวนภาษาที่ใช้กับการตีพิมพ์ครั้งที่ 2 และครั้งที่ 4 เนื่องจากหาต้นฉบับได้เพียงเท่านี้ กิตติชัย พินโน (ผู้เรียบเรียง). “เอ๋งติ๋งห้าว” จากเว็บไซต์ฐานข้อมูลนามานุกรมวรรณคดีไทย https://www.sac.or.th/databases/thailitdir/detail.php?meta_id=443

ร้านหนังสือลูกอ๊อด จากเว็บไซต์ https://www.luukaod.com/product/5039/เอ๋ง-ติ๋ง-ห้าว-จบในเล่ม

เอ๋งติ๋งห้าว จากเว็บไซต์ฐานข้อมูลหนังสือเก่าชาวสยาม https://db.sac.or.th/siamrarebooks/books/search?keyword=เอ๋งติ๋งห้าว


ผู้เขียน

นิสา เชยกลิ่น

ผู้ช่วยนักวิชาการคลังข้อมูล ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร


 

ป้ายกำกับ เอ๋งติ๋งห้าว ฐานข้อมูลนามานุกรมวรรณคดีไทย นิสา เชยกลิ่น

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share