ตัวเลขไทยในตำรายา

 |  โบราณคดี และประวัติศาสตร์
ผู้เข้าชม : 19748

ตัวเลขไทยในตำรายา

           ในเอกสารโบราณประเภทตำราเวชศาสตร์หรือตำรายามีการใช้ตัวเลขในการบันทึกเรื่องราวการแพทย์แผนไทย ตัวเลขที่นำมาใช้ในตำรายานี้มีหน้าที่การใช้งานที่แตกต่างกันไปตามบริบทของการบันทึกซึ่งพอจะแบ่งคร่าว ๆ ได้ดังนี้

           1. ตัวเลขบอกสัดส่วนสมุนไพร ตัวเลขชนิดนี้จะอยู่หลังชื่อสมุนไพรและพบมากที่สุดในตำรายาเลยก็ว่าได้ เพราะมักอยู่หลังชื่อสมุนไพรที่อยู่ในตำรับยาเพื่อบอกสัดส่วนของสมุนไพร มักเป็นเลข ๑ อยู่เสมอ และไม่มีคำลักษณะนามต่อท้าย ดังนี้

           ๏ ยากวาด ท่านให้เอา กะทือ ๑ ไพล ๑ ผิวมะกรูด ๑ บอระเพ็ด ๑ ลูกมะกอก ๑ เบญกาณี ๑ หางปลาแห้ง ๑ กะปิดี ๑ กระเทียม ๑ หนังกระเบน ๑ ยาทั้งนี้เผาไฟแล้วจึงเอายานี้ประกอบเข้า ว่านน้ำ ๑ กะเพรา ๑ ผักคราด ๑ เล็ดมะนาว ๑ ระย่อม ๑ รากช้าพลู ๑ ยาทั้งนี้เอาเสมอภาค น้ำกะเพราเป็นกระสาย กวาดน้ำเหล้า น้ำมะนาว แก้ลง น้ำทับทิม น้ำมะเดื่อ ก็ได้แล

           2. ตัวเลขบอกชนิดหรือพิกัดสมุนไพร ตัวเลขชนิดนี้จะอยู่หลังชื่อสมุนไพรบวกทั้ง เพื่อบอกการใช้สมุนไพรในตำรับที่มีสรรพคุณคล้ายหรือเสริมประสิทธิผลกันไว้เป็นหมู่ และใช้ในปริมาณเท่าๆ กัน บางครั้งอาจเรียกว่าเป็น “พิกัดยา” เช่น

           สะเดาทั้ง ๒ ได้แก่ สะเดาบ้านกับสะเดาป่า สะเดาบ้านมักปลูกกันตามบ้านเรือน ส่วนสะเดาป่าเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติในป่า รสขมเย็นแก้ไข้ แก้ร้อนในกระหายน้ำ

           คนทีทั้ง ๒ ได้แก่ คนทีเขมากับคนทีสอ คนทีเขมา คือ คนทีดำ เขมาเป็นภาษาเขมร (ออกเสียง ขะ-เมา) แปลว่า สีดำ ส่วนคนทีสอ คือ คนทีขาว คำว่า “สอ” เป็นภาษาเขมร (ออกเสียง ซอ) แปลว่า สีขาว คำว่า ดินสอ จึงแปลว่า ดินสีขาว ที่ใช้เขียนบนกระดานชนวน แม้ภายหลังจะมีเครื่องเขียนแบบใหม่ที่ไส้ทำจากแท่งการาไฟต์สีดำสำหรับเขียนบนกระดาษฝรั่ง เราก็ยังคงเรียกเครื่องเขียนชนิดนี้ว่า “ดินสอ” อยู่เหมือนเดิม

           เปล้าทั้ง ๒ ได้แก่ เปล้าใหญ่ และเปล้าน้อย เปล้าใหญ่ได้จากต้นเปล้าใหญ่หรือต้นเปล้าหลวง มีรสร้อน สรรพคุณกระจายลม ผายธาตุ ขับเลือด

           ตำลึงทั้ง ๒ ได้แก่ ตำลึงตัวผู้กับตำลึงตัวเมีย ใบตำลึงตัวผู้จะมีลักษณะเป็นหยัก ส่วนตัวเมียมีลักษณะมน มีรสเย็น สรรพคุณดับพิษ

           น้ำเต้าทั้ง ๒ ได้แก่ น้ำเต้าขมและน้ำเต้าจืด ใบมีรสขม สรรพคุณแก้ไข้ ดับพิษร้อน งูสวัด ไฟลามทุ่ง

           โกฐทั้ง ๕ ได้แก่ โกฐเขมา โกฐจุฬาลัมพา โกฐเชียง โกฐสอ และโกฐหัวบัว บางครั้งเรียกว่า “เบญจโกฐ”

           เทียนทั้ง ๙ ได้แก่ เทียนดำ เทียนแดง เทียนขาว เทียนข้าวเปลือก เทียนตาตั๊กแตน เทียนสัตตบุษย์ เทียนเยาวพาณี เทียนตากบ และเทียนเกล็ดหอย บางครั้งเรียกว่า “เนาวเทียน”

           3. ตัวเลขบอกชื่อวันในสัปดาห์ ตัวเลขชนิดนี้เขียนหลังคำว่า “วัน” เพื่อบอกชื่อวันในหนึ่งสัปดาห์แบบโบราณซึ่งแตกต่างจากปัจจุบัน มีตั้งแต่ วัน ๑ คือ วันอาทิตย์ วัน ๒ คือ วันจันทร์ วัน ๓ คือ วันอังคาร วัน ๔ คือ วันพุธ วัน ๕ คือ วันพฤหัสบดี วัน ๖ คือวันศุกร์ และวัน ๗ คือ วันเสาร์

           การใช้ตัวเลขแทนชื่อวันในสัปดาห์นี้ ถึงแม้ปัจจุบันจะไม่ได้ใช้แล้ว แต่ยังพบอยู่บ้างในการดูฤกษ์ยามทางโหราศาสตร์แบบไทย

           4. ตัวเลขบอกชื่อเดือนในปี ตัวเลขชนิดนี้เขียนหลังคำว่า “เดือน” เพื่อบอกชื่อเดือนในหนึ่งปีแบบโบราณซึ่งแตกต่างจากปัจจุบันเริ่มตั้งแต่ เดือน ๑ คือ เดือนธันวาคม เดือน ๒ คือ เดือนมกราคม เดือน ๓ คือ เดือนกุมภาพันธ์ เดือน ๔ คือ เดือนมีนาคม เดือน ๕ คือ เดือนเมษายน (ปีใหม่ไทยหรือเถลิงศก) เดือน ๖ คือ เดือนพฤษภาคม เดือน ๗ คือ เดือนมิถุนายน เดือน ๘ คือ เดือนกรกฎาคม เดือน ๙ คือ เดือนสิงหาคม เดือน ๑๐ คือ เดือนกันยายน เดือน ๑๑ คือ เดือนตุลาคม และเดือน ๑๒ คือ เดือนพฤศจิกายน (ลอยกระทง)

           การใช้ตัวเลขแทนชื่อเดือนในหนึ่งปีนี้ ถึงแม้ปัจจุบันจะไม่ได้ใช้แล้ว แต่ยังพบอยู่บ้างในการดูฤกษ์ยามทางโหราศาสตร์แบบไทยเช่นกัน

           5. ตัวเลขในระบบชั่งตวงวัด ตัวเลขชนิดนี้มักพบบ่อย ๆ ในตำรับยาสมุนไพร ทั้งนี้เพื่อเป็นการบอกการใช้สัดส่วนของตัวยาหรือสมุนไพรแต่ละชนิด จะใช้เขียนร่วมเครื่องหมายชั่งตวงวัดโบราณที่เรียกว่า “ตีนครุ” มีลักษณะเป็นรูปกากบาทในแนวตั้ง ดังนี้

ภาพ ตีนครุ ในตำรายา โดยผู้เขียน

           6. ตัวเลขในความเชื่ออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับตำรายา โดยมากแล้วมักจะเป็นความเชื่อทางพุทธศาสนา ที่นำเอาคาถาหัวใจย่อของหลักธรรมในพุทธศาสนามาใช้เสกกำกับตัวยาสมุนไพรแต่ละชนิด เมื่อนำไปประกอบเข้ายาจะได้ยาสมุนไพรที่มีทั้งสรรพคุณเยียวยาร่างกาย และพุทธคุณเยียวยาจิตใจ ดังตัวอย่างเช่น

 

     

 

           สิทธิการิยะ จะกล่าวยาหม้อใหญ่ แก้สารพัดคุณทั้งปวง คุณผีปีศาจ ภูติพราย คุณไสยทุกประการ ถูกกระทำฝังรูปฝังรอย บ้าดีเดือด บ้าเลือดบ้าลม บ้าด้วยอาการต่าง ๆ แลพรายเลือด พรายลม ฝีในท้อง กระษัย ท่านให้เอา

           ใบมะกรูด ๕๖ ใบ ลงด้วยพุทธคุณ ใบละ ๑ ตัว

           คาถาพุทธคุณว่าดังนี้ อิติปิ โส ภควา อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ วิชฺชาจรณ สมฺปนฺโน สุคโต โลกวิทู อนุตฺตโร ปุริสธมฺมสารถิ สตฺถาเทวมนุสฺสานํ พุทฺโธ ภควาติ เมื่อนับพยางค์ของคาถานี้จะได้ 56 พยางค์พอดี

           ใบมะนาว ๓๘ ใบ ลงด้วยพระธรรมคุณ ใบละ ๑ ตัว

           คาถาธรรมคุณว่าดังนี้ สวากฺขาโต ภควตาธมฺโม สนฺทิฏฺฐิโก อกาลิโก เอหิปสฺสิโก โอปนยิโก ปจฺจตฺตํเวทิตพฺโพ วิญฺญูหีติ) เมื่อนับพยางค์ของคาถานี้จะได้ 38 พยางค์พอดี

           ไพล ๓๒ ชิ้น ลงด้วยอาการ ๓๒

           อาการ ๓๒ เป็นคำที่มาจากคติในทางพระพุทธศาสนา ที่ถือว่าร่างกายของคนเราสามารถพิจารณาจำแนกออกเป็นธาตุทั้ง 4 คือ ปฐวีธาตุ (ธาตุดิน) อาโปธาตุ (ธาตุน้ำ) เตโชธาตุ (ธาตุไฟ) และวาโยธาตุ (ธาตุลม) ในจำนวนธาตุทั้ง 4 นี้ มีอยู่ 2 ธาตุ ที่สามารถจับต้องได้ คือ ปฐวีธาตุ กับ อาโปธาตุ) ปฐวีธาตุ เป็นธาตุที่มีลักษณะแข้นแข็ง มี 19 อย่าง ได้แก่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า กับ มันสมอง อีก 1 อย่าง รวมเป็นทั้งหมด 20 อย่าง ส่วน อาโปธาตุ เป็นธาตุที่มีลักษณะเอิบอาบ มี 12 อย่าง ได้แก่ ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร หากเรานับรวม ปฐวีธาตุ และ อาโปธาตุ ก็จะได้ 32 อย่าง เราจึงเรียกว่า อาการ ๓๒

           กระทือ ๙ ชิ้น ลงด้วย นะวะโรหระนะคุณ

           นะวะโรหระนะคุณ คือ นวารหรคุณ หรือ อิติปิโสเก้าห้อง ซึ่งเป็นอักษรย่อของคาถาพุทธคุณได้แก่ “อ สํ วิ สุ โล ปุ ส พุ ภ” ดังนั้นจึงได้ชื่อว่าหัวใจพุทธคุณ (อิติปิ โส ภควา อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน สุคโต โลกวิทู อนุตฺตโร ปุริสธมฺมสารถิ สตฺถาเทวมนุสฺสานํ พุทฺโธ ภควาติ)

           ข่า ๓๓ แว่น ลงด้วย กข จนจบ

           กข จนจบในที่นี้หมายถึง พยัญชนะในภาษาบาลี 33 ตัว

           ขิง ๔ แว่น ลงด้วย น ม พ ท

           น ม พ ท คือ คาถาหัวใจธาตุทั้ง ๔ ได้แก่ อาโปธาตุน้ำ (นะ) = นะ ปฐวีธาตุดิน (โม) = มะ เตโชธาตุไฟ (พุท) = พะ วาโยธาตุลม (ธา) = ธะ

           กระชาย ๗ แว่น ลงด้วย สะทาวะปิปะสะอุ

           สะทาวะปิปะสะอุ คือ ส ธ วิ ปิ ป ส อุ คาถาหัวใจสัตตโพชฌงค์หรือ โพชฌงค์ 7 คือธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ หรือองค์ของผู้ตรัสรู้ มี 7 อย่าง ได้แก่

           ส คือ สติ (สติสัมโพชฌงค์) ความระลึกได้ สำนึกพร้อมอยู่ ใจอยู่กับกิจ จิตอยู่กับเรื่อง

           ธ คือ ธัมมวิจยะ (ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์) ความเฟ้นธรรม ความสอดส่องสืบค้นธรรม

           วิ คือ วิริยะ (วิริยสัมโพชฌงค์) ความเพียร

           ปิ คือ ปีติ (ปีติสัมโพชฌงค์) ความอิ่มใจ

           ป คือ ปัสสัทธิ (ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์) ความสงบกายใจ

           ส คือ สมาธิ (สมาธิสัมโพชฌงค์) ความมีใจตั้งมั่น จิตแน่วในอารมณ์

           อุ คือ อุเบกขา (อุเบกขาสัมโพชฌงค์) ความมีใจเป็นกลาง เพราะเห็นตามเป็นจริง

           เปราะหอม ๔ แว่น ลงด้วย อิสวาสุ

           อิ สวา สุ คือคาถาหัวใจพระรัตนตรัย อักขระอิสวาสุนี้ได้มาจากตัวต้นของบทสรรเสริญ พระพุทธคุณ (อิติปิโสฯ) พระธรรมคุณ (สฺวากขาโตฯ) พระสังฆคุณ (สุปฏิปันโนฯ) ถือกันว่ามีคุณวิเศษทางคุ้มครองป้องกันภัยเป็นสิริมงคลยิ่ง

 

ตัวเลขในยันต์โสฬส

           การต้มยาสมุนไพรบางครั้งจะมีการใช้ยันต์เพื่อปิดปากหม้อยาเวลาต้ม หรือใช้ยันต์ปิดที่สายสิญจน์ที่ใช้ล้อมกรอบสี่เหลี่ยมบริเวณที่ต้มยาจำนวน 8 ทิศ ยันต์ที่ใช้ปิดปากหม้อต้มยาในที่นี้คือ ยันต์โสฬส และยันต์ปิดสายสิญจน์ 8 ทิศ คือ ยันต์ตรีนิสิงเห (ชักออกจากยันโสฬสอีกที)

ยันต์โสฬส ในตำราโองการมะกรูดแปดกิ่ง

 

           ยันต์โสฬส เป็นยันต์ชั้นสูง เกิดจากการนำเอายันต์ 3 ชนิดมารวมกันไว้จัดทำเป็นตัวเลข 3 ชั้น ชั้นนอกลงด้วยเลข 16 ตัว ถัดมาวงกลางเป็นยันต์ตรีนิสิงเห ตรงกลางช่องเล็ก 9 ช่อง คือ ยันต์จตุโร

           ดูเรื่องโองการมหามะกรูดแปดกิ่งเพิ่มเติมที่ได้ที่ต้นฉบับ

https://www.sac.or.th/databases/manuscripts/main.php?m=document&p=item&id=12

           ฉบับปริวรรตดูได้ที่

https://www.sac.or.th/databases/manuscripts/main.php?m=article&p=item&id=42

 

ยันต์โสฬส มี 3 ยันต์รวมกันอยู่ วงนอก (สีฟ้า)เรียกว่า โสฬส วงกลาง (สีส้ม) เรียกว่า ตรีนิสิงเห วงใน (สีเขียว)เรียกว่า จตุโร

 

           เห็นได้ว่ามีการใช้ตัวเลขไทยในเอกสารโบราณตำราการแพทย์แผนไทยในหลายบริบท แต่ละบริบทก็มีหน้าที่ ความหมาย และการใช้งานของตัวเลขที่แตกต่างกันไป บ้างใช้บอกจำนวน บ้างใช้บอกประเภท บ้างใช้แทนความหมาย หรือทำเป็นรหัสนัยแทนความหมายเฉพาะเรื่องเฉพาะกลุ่ม ซึ่งเป็นการใช้ตัวเลขที่กว้างขวางออกไปมากกว่าเดิมที่ใช้เพียงบอกจำนวนนับเท่านั้น ถือเป็นภูมิปัญญาของบรรพชนที่ได้คิดค้นการใช้งานตัวเลขไทยให้หลากหลาย และเหมาะสมสอดคล้องกับวิถีชีวิตของตนได้เป็นอย่างดี

           ปล.ข้อเขียนนี้ใช้ทั้งตัวเลขไทย และตัวเลขอารบิก ผสมกันเพื่อความสะดวกในการสื่อความหมายและการใช้งาน ไม่จำเป็นต้องเลือกใชตัวเลขชนิดใดชนิดหนึ่งทั้งข้อเขียน

 

อ้างอิง

ชยันต์ พิเชียรสุนทร และวิเชียร จีรวงส์. คู่มือเภสัชกรรมแผนไทยเล่ม ๕ คณาเภสัช.กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์อัมรินทร์.พิมพ์ครั้งที่ 3. 2556.


ผู้เขียน

ดอกรัก พยัคศรี

นักวิชาการคลังข้อมูล ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ ตัวเลขไทย ตำรายา เอกสารโบราณ ดอกรัก พยัคศรี

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share