ส่องจักรวาลกับไตรภูมิโลกสัณฐานที่เสาพระวิหารวัดสุทัศน์

 |  โบราณคดี และประวัติศาสตร์
ผู้เข้าชม : 7910

ส่องจักรวาลกับไตรภูมิโลกสัณฐานที่เสาพระวิหารวัดสุทัศน์

           จากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ‘โลกสัณฐาน’ หรือ ‘สัณฐานของโลก’ จะมีรูปร่างเกือบเป็นวงกลม รัศมีเฉลี่ย 6,370 กิโลเมตร เส้นผ่านศูนย์กลางจากซีกโลกเหนือ-ใต้ ประมาณ 12,714 กิโลเมตร น้อยกว่าเส้นผ่านศูนย์กลางตามแนวเส้นศูนย์สูตรที่ยาวประมาณ 12,756 กิโลเมตร ส่วน ‘โลกสัณฐาน’ ตามความเชื่อในพุทธศาสนานั้น จะมีความแตกต่างอย่างมากจนเกินจะจินตนาการได้ ‘โลกสัณฐาน’ จากคติความเชื่อในพุทธศาสนานั้นจะประกอบไปด้วย ‘ไตรภูมิ’ หรือ ไตรโลก หมายถึง สามโลก (ไตร=3) ได้แก่ กามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิ ไตรภูมิได้กล่าวถึง โลกมนุษย์ นรก และสวรรค์ ส่วนจักรวาลที่มีโลกซึ่งมนุษย์เราอาศัยอยู่นี้เป็นหน่วยหนึ่ง ของอนันตจักรวาลอันหาขอบเขตจํากัดไม่ได้ จักรวาลใดๆ ย่อมมีสภาพเหมือนกันทั้งสิ้น ในจักรวาลหนึ่งๆ นั้นมีเขาพระสุเมรุเป็นแกนกลาง และมีเขาสัตตบริภัณฑ์ล้อมอยู่โดยรอบเป็นวงแหวนเจ็ดวง ทั้งเขาพระสุเมรุและเขาสัตตบริภัณฑ์ถูกห้อมล้อมด้วยสีทันดรสมุทรที่แผ่กว้างไปทุกทิศจนครอบจักรวาล รอบนอกของเขาสัตตบริภัณฑ์ในทิศใหญ่ทั้งสี่ทิศ เป็นที่ตั้งของทวีปใหญ่ 4 ทวีป และทวีปน้อยอีก 4 ทวีป ซึ่งทวีปใหญ่ทั้ง 4 ได้แก่ อุตตรกุรุทวีปที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเขาพระสุเมรุ บุรพวิเทหะทางทิศตะวันออก ชมพูทวีปทางทิศใต้ และอมรโคยานทางทิศตะวันตก ทวีปใหญ่แต่ละทวีปเป็นที่เกิดของมนุษย์ มนุษย์แต่ละทวีปจะมีลักษณะเฉพาะของตน แต่เฉพาะในชมพูทวีปเท่านั้นที่เป็นดินแดนที่เกิดของพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และ พระเจ้าจักรพรรดิ

 

ความเชื่อเรื่องไตรภูมิกับวิถีชีวิตในพุทธศาสนาของสังคมไทย

           ความเชื่อเรื่องไตรภูมิกับวิถีชีวิตในพุทธศาสนาของสังคมไทยนี้มีมายาวนาน นับตั้งแต่ครั้งสมเด็จพญาลิไท (พระมหาธรรมราชาที่ 7) กษัตริย์องค์ที่ 7 แห่งกรุงสุโขทัย ทรงพระราชนิพนธ์ไตรภูมิกถาหรือไตรภูมิพระร่วง หนังสือฉบับนี้ได้ตกทอดเป็นมรดกความเชื่อทางพุทธศาสนาจวบจนปัจจุบัน ทำให้แนวความคิดและคติความเชื่อเรื่องภูมิจักรวาลที่มีมาก่อนพุทธกาลในศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูที่อธิบายถึงเรื่องไตรภูมิ เรื่องการเวียนว่ายตายเกิด บาปบุญคุณโทษ นรก สวรรค์ ตามแนวทางปรัชญาในพระพุทธศาสนา และเรื่องอื่นๆ นั้นมีอิทธิพลต่อการสรรค์สร้างศิลปกรรมไทยทุกประเภท ทั้งจิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม วิจิตรศิลป์ และศิลปกรรมพื้นบ้าน โดยผ่านเรื่องราวทางด้านคติความเชื่อเรื่องไตรภูมิโดยตรง หรือการแสดงออกในรูปสัญลักษณ์ ที่แทนความหมายของภพภูมิต่างๆ

 

วัดสุทัศนเทพวรารามกับความเชื่อเรื่องไตรภูมิ

           เมื่อปลายปี พ.ศ. 2564 ผู้เขียนได้เดินทางไปเก็บข้อมูลและถ่ายภาพจารึกที่วัดสุทัศนเทพวรารามเพื่ออัพเดตสภาพจารึกของวัดสุทัศน์ฯ ในปัจจุบันและได้พบกับข้อมูลที่น่าสนใจมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ปรากฏอยู่ทั่วไปในแทบจะทุกพื้นที่ของพระวิหารที่มีความวิจิตรสวยงามเหมือนเป็นฉากหลังที่ใหญ่โตของแผ่นศิลาจารึกที่ติดอยู่บริเวณนั้นที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับตำนานทางพุทธศาสนา โลก และจักรวาล และส่วนที่อยากให้พิจารณาเป็นพิเศษคือส่วนภาพจิตรกรรมและจารึกที่เสาภายในวิหาร เพราะเชื่อได้ว่าผู้คนที่มาเที่ยวชมหรือเดินผ่านไปมาอาจตื่นตาตื่นใจกับภาพจิตรกรรมที่ฝาผนังของพระวิหารมากจนไม่ได้สนใจพิจารณาเนื้อหาในภาพจิตรกรมและจารึกที่เสาวิหารดังกล่าว ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วเนื้อหาของภาพจิตรกรรมและจารึกในส่วนนี้มีความเกี่ยวเนื่องกับคติความเชื่อที่ใช้ในการสร้างวัดแห่งนี้เลยทีเดียว

           วัดสุทัศนเทพวราราม เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร ในประวัติการก่อสร้างกล่าวไว้ว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงมีพระดำริให้สร้างพระวิหารขึ้นกลางนครในปี 2350 บริเวณที่เคยเป็นหนองบึง โดยถมอิฐและหินบึงนั้นลงไปถึงแปดชั้น ได้สถานที่กว้างใหญ่พอที่จะสร้างวัดขึ้น โดยมีพระราชประสงค์เพื่อการประดิษฐานพระศรีศากยมุนีที่อัญเชิญมาจากวิหารหลวง วัดมหาธาตุ เมืองสุโขทัย

 

           วัดสุทัศนเทพวรารามเคยมีหลายชื่อนับตั้งแต่แรกก่อสร้าง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกพระราชทานชื่อว่าวัดมหาสุทธาวาส เพราะเป็นวัดที่ก่อสร้างตามพระราชประสงค์ให้มีความวิจิตรงดงามเสมือนหนึ่งสุทธาวาส อันเป็นสวรรค์ชั้นหนึ่งตามคติแห่งจักรวาลของฮินดู ประกอบด้วยพระวิหารหลวงที่ประดิษฐานพระศรีศากยมุนี เป็นประธานของวัด หันหน้าไปทางทิศเหนือ ล้อมรอบด้วยพระระเบียงคด เปรียบได้กับประธานในฐานะศูนย์กลางของจักรวาล เพราะมีการยกฐานสูงและมีศาลาประจำมุมทั้ง 4 อยู่บนฐานเดียวกัน เช่นเดียวกับคติของแกนจักรวาล ตามแบบที่ปรากฏในการสร้างปราสาทแบบขอม คือมีปราสาทประธานแทนยอดเขาพระสุเมรุ ปราสาทประจำมุมทั้ง 4 หมายถึงทวีปทั้ง 4 และระเบียงคดคือกำแพงจักรวาล แต่อาจมีการปรับเปลี่ยนแนวคิดจากความหมายเดิมที่ปราสาทประธานคือยอดเขาพระสุเมรุ เปลี่ยนเป็นศูนย์กลางของจักรวาลตามแนวพุทธศาสนา ซึ่งหมายถึงสวรรค์หรือภูมิจักรวาล

           พระวิหารหลวงวัดสุทัศนเทพวรารามถือเป็นวิหารที่มีขนาดใหญ่ กว้าง 23.84 เมตร ยาว 26.25 เมตร ภายในนั้นนอกจากจะประกอบไปด้วยพระพุทธรูปที่สำคัญ จารึก และจิตรกรรมฝาผนังที่งดงามตามคติปรัมปราบนพื้นที่ทุกส่วนแล้ว ยังมีเสาสำคัญอีกจำนวน 8 เสา เสาเหล่านี้มีขนาดใหญ่เพราะเป็นโครงสร้างรองรับหลังคา เรียงกันเป็น 4 คู่ จากผนังด้านหน้าไปทางผนังด้านหลัง เสาทั้งหมดเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยม ประดับด้วยภาพจิตรกรรมที่แสดงถึงความเป็นศูนย์กลางจักรวาล กล่าวคือ พื้นที่ตอนบนของเหลี่ยมทั้งสี่ของเสาคู่แรก นับจากประตูของผนังด้านหน้าพระวิหาร หมายถึงยอดเขาพระสุเมรุ คือฉากบนสวรรค์ดาวดึงส์ อันเป็นศูนย์กลางจักรวาล เสาต้นซ้ายของคู่แรกเป็นเรื่องสงครามระหว่างพระอินทร์กับเหล่าอสูร เสาต้นขวาเป็นภาพของทวีปใหญ่สี่ทวีป คือ ชมพูทวีป อมรโคยานทวีป อุตตรกุรุทวีป และบุพพวิเทหทวีป

 

           เสาคู่ถัดไปเป็นภาพภูเขาสำคัญ ประกอบเป็นยอดรวมเรียกว่า ‘ภูเขาหิมพานต์’ และเสาคู่ถัดๆ จากนั้นจะกล่าวถึงรายละเอียดในป่าหิมพานต์ ที่มีสระน้ำศักดิ์สิทธิ์จำนวน 7 สระ หนึ่งในสระที่สำคัญคือ สระอโนดาต ที่มีท่าน้ำ 4 ท่า เป็นที่ชำระสระสรงของเหล่าอมนุษย์ 4 ประเภท ได้แก่ เทพอัปสร เทพบุตร ยักษาธิราช และวิทยาธร ทั้งนี้ อาณาบริเวณทั้งในและนอกป่า หิมพานต์เป็นส่วนฉากของชาดกต่างๆ ที่เชื่อมโยงอยู่ในแนวคิดเรื่องโลกสัณฐาน โดยจารึกไว้ตามเหลี่ยมเสาเป็นลำดับ จนถึงเสาคู่สุดท้ายมีเรื่องเปตภูมิและนรกภูมิ สิริรวมทั้งหมดของเสาทั้ง 8 ประกอบไปด้วยภาพจิตรกรรมเกี่ยวกับไตรภูมิโลกสัณฐานที่เชื่อมโยงกัน (ถ้าเอาแต่ละเสามาแผ่ต่อกันภาพจะเชื่อมโยงเป็นเรื่องเดียวกัน) และมีจารึกเรื่องชาดกประกอบในแต่ละด้านทั้งหมด 32 แผ่น ที่พิเศษคือ จารึกเหล่านี้มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับโลกสัณฐาน สวรรค์ และภูมิจักรวาล

 

จารึกที่เสาวิหารวัดสุทัศนเทพวราราม

           นอกจากภาพจิตรกรรมบนเสาที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับโลกสัณฐานและภูมิจักรวาลในทางพุทธศาสนาแล้ว จารึกที่เสาวิหารก็มีเนื้อหาเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันด้วยการเล่าเรื่องไตรภูมิ ชาดก และธรรมนิทานอันปรากฏอยู่ทุกด้านของเสาซึ่งมีทั้งหมด 8 เสา แต่ละเสามีจารึกอยู่ 4 แผ่น รวมทั้งหมดมี 32 แผ่น เริ่มจากเสาต้นที่ 1 ด้านขวามือของพระประธาน เวียนเข้าหาพระประธานแบบทักษิณาวัตรแล้วจบในแผ่นที่ 32 บนเสาต้นที่ 8 ด้านซ้ายมือของพระประธาน เนื้อหาในจารึกแต่ละแผ่นมีที่มาต่างกันไป ได้แก่ ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา (ไตรภูมิฉบับหลวง) นิบาตชาดก พระสูตรและอรรถกถา ปัญญาสชาดก รามเกียรติ์ สมุดภาพไตรภูมิ ฉบับกรุงศรีอยุธยา-ฉบับกรุงธนบุรี นิทานปกรณัม และมหาวงศ์ นอกจากนี้มีบางส่วนที่ไม่ทราบถึงที่มา ดังรายละเอียดอย่างสังเขปของจารึกแต่ละแผนต่อไปนี้

           แผ่นที่ 1 เล่าเรื่องมฆมาณพได้เป็นพระอินทร์และจับอสูรโยนลงมาจากดาวดึงส์ พระอินทร์กับเทพบริวารเสพสุราจนเมาสิ้นสติ มฆมานพกับสหายทั้ง 32 คน ที่ได้ไปบังเกิดเป็นเทวดาบนชั้นดาวดึงส์เห็นดังนั้นก็ได้จับพระอินทร์กับเทพบริวารเหล่านั้นทิ้งลงมายังอสูรพิภพ และมฆมานพก็ได้เป็นพระอินทร์เสวยทิพย์แทน ฝ่ายเทวดาที่ถูกทิ้งลงมายังอสูรพิภพนั้น ร่างกายก็กลายเป็นอสูร เมื่อสร่างเมาเห็นดอกแคฝอยที่เป็นดอกไม้ประจำอสูรพิภพก็รู้ตนว่าอยู่ที่ใด จึงได้เปล่งวาจาว่าเราไม่ได้เสพย์สุราแล้ว จึงได้ชื่อว่า อสุรา แต่นั้นมา

           แผ่นที่ 2 เล่าเรื่องนางสุชาดาเลือกคู่ กล่าวคือ เดิมนางสุชาดาเคยเป็นภรรยาของ มฆมาณพในชาติก่อน ต่อมานางได้ไปเกิดเป็นอสูร ในขณะที่ทำพิธีเลือกคู่ พระอินทร์ได้ปลอมตัวเป็นยักษ์ลงมาพานางขึ้นไปบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เหล่าอสูรจึงยกทัพตามขึ้นไปเป็นเหตุให้เกิดสงครามระหว่างเทวดากับอสูรขึ้น

           แผ่นที่ 3 เล่าเรื่องพระอินทร์จับสัมภะระอสูรได้ รวมทั้งสาเหตุที่สัมภะระอสูรได้ชื่อว่าเวปะจิตราอสูร

           แผ่นที่ 4 เล่าเรื่องสงครามระหว่างพระอินทร์กับเวปะจิตราอสูร

           แผ่นที่ 5 ระบุถึงฉัททันต์สระและพญาช้างฉัททันต์, เรื่องทวิวาหนะ, เรื่องอสุรินทราหูจับพระจันทร์และเรื่องเขายุคันธร

           แผ่นที่ 6 เล่าเรื่องสระอโนดาตและเขาสุทัศน์, เรื่องสามเณรโสปากะและพญาปัณฑระนาคราช เรื่องกาโลภและเรื่องเขายุคันธร

           แผ่นที่ 7 เล่าเรื่องช้างเอราวัณและสระรัถการ, เรื่องปลาใหญ่ 7 จำพวกและเรื่องครุฑบินข้ามมหาสมุทร

           แผ่นที่ 8 กล่าวถึงช้าง 10 ตระกูล, เรื่องสุปารกบัณฑิต และเรื่องสระกัณณมุณฑะ

           แผ่นที่ 9 กล่าวถึงสระมัณฑากินีและช้างรูปาคิรี, เรื่องอเจลกะและเรื่องเขาอิสินธร

           แผ่นที่ 10 กล่าวถึงพญานกกาเหว่าลาย, เรื่องสังขพราหมณ์ และ เรื่องเขากรวีก

           แผ่นที่ 11 กล่าวถึงหิรัญบรรพตซึ่งเป็นที่อยู่ของหนุมาน พาลีและสุครีพ, เรื่องพญานาคพ่นพิษและเรื่องเขาสุทัศน์

           แผ่นที่ 12 กล่าวถึงสระสีหปปาตะและราชสีห์ 4 ตระกูล, เรื่องมหาชนกและเรื่องเขาเนมินธร

           แผ่นที่ 13 กล่าวถึงมิตวินทุและเขาวินันตก

           แผ่นที่ 14 กล่าวถึงเรื่องพราหมณ์พิพากษาความอย่างไม่เป็นธรรม, เรื่องปลาอานนท์และเรื่องเขาอัสสกัณณะ

           แผ่นที่ 15 กล่าวถึงเรื่องพ่อค้าสำเภา, เรื่องกัญจิกาสูรเปรตและเรื่องเขาจักรวาล

           แผ่นที่ 16 กล่าวถึงเรื่องนางเวมานิกเปรตนอกใจสามี, เรื่องสุมนณะสามเณรกับพญาสุละทัตนาคราช และเรื่องเขาจักรวาล

           แผ่นที่ 17 กล่าวถึงเรื่องนาคกับปลาตะเพียน, เรื่องสุนัขจิ้งจอกสู้ช้าง, เรื่องสุนัขจิ้งจอกลวงกินหนู, เรื่องวานรลวงฆ่าจระเข้, เรื่องสุกรสู้ราชสีห์, เรื่องสุนัขช่วยราชสีห์, เรื่องฆตบัณฑิตและเรื่องเขาอัสสกัณณะ

           แผ่นที่ 18 กล่าวถึงเรื่องยมโลก, เรื่องอสุรินทราหูกับเทพยดาและเรื่องเขาจักรวาล

           แผ่นที่ 19 กล่าวถึงเรื่องพญาช้างพาบริวารหากิน, เรื่องสุนัขจิ้งจอกลวงราชสีห์ 7 ตัว, เรื่องพญาครุฑกับปลากลืนไข่นกกางเขนและเรื่องยอดเขาจักรวาล

           แผ่นที่ 20 กล่าวถึงเรื่องพญาสุวรรณราชหงส์, เรื่องดาบสตีแมงมุมตาย, เรื่องมิตวินทุและเรื่องเขาวินันตก

           แผ่นที่ 21 กล่าวถึงเรื่องพระสุธน, เรื่องพระมหาบุญเถระ, และเรื่องเขาอิสินธร

           แผ่นที่ 22 กล่าวถึงเรื่องเขาจิตรกูฏและเขากาฬกูฏ, เรื่องเขากรวีกและเรื่องพญาครุฑลักนางกากี

           แผ่นที่ 23 กล่าวถึงเรื่องเขาคันธมาท, เรื่องพ่อค้าจับกาไปขายและเรื่องเขาสุทัศน์

           แผ่นที่ 24 กล่าวถึงเรื่องเขาสุทัศกูฏ, เรื่องสุสันธี และเรื่องเขาเนมินธร

           แผ่นที่ 25 กล่าวถึงเรื่องแม่น้ำ 5 สายและเรื่องเมืองโสฬส 4 เมือง, เรื่องโพธิสัตว์เป็นพญาวานร, เรื่องสิงหลทวีป, เรื่องเขายุคันธรและเรื่องชวนราชหงส์

           แผ่นที่ 26 กล่าวถึงเรื่องแม่น้ำ 5 สายและเมืองโสฬส 4 เมือง, เรื่องมหิสาสกุมาร, เรื่องพ่อค้าสำเภาฟังโอวาทพระโพธิสัตว์และเรื่องเขายุคันธร

           แผ่นที่ 27 กล่าวถึงเรื่องแม่น้ำ 5 สายและเมืองโสฬส 4 เมือง, เรื่องนาค 4 ตระกูลและเรื่องเขายุคันธร

           แผ่นที่ 28 กล่าวถึงเรื่องแม่น้ำ 5 สายและเมืองโสฬส 4 เมือง, เรื่องพระโพธิสัตว์เป็นพญาช้างตระกูลฉัททันต์, เรื่องพระโพธิสัตว์เป็นพญาเต่าทองและเรื่องเขายุคันธร

           แผ่นที่ 29 กล่าวถึงเรื่องบุพวิเทห์ทวีป, เรื่องพระเจ้าสักมันตธาตุราชทรงช้างแก้วและเรื่องพระอินทร์ประพาสนันทโบกขรณี

           แผ่นที่ 30 กล่าวถึงเรื่องชมพูทวีป, เรื่องพระเจ้าสักมันธาตุราชครองดาวดึงส์และเขาจักรวาล

           แผ่นที่ 31 กล่าวถึงเรื่องอมรโคยานทวีป, เรื่องพระเจ้าสักมันธาตุราชทรงจักรแก้วชมอมรโคยานทวีปและเรื่องพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณประพาสจิตรลดาวัล

           แผ่นที่ 32 กล่าวถึงเรื่องอุตตรกุรุทวีป, เรื่องพระเจ้าสักมันธาตุราชทรงม้าแก้วชมอุตตรกุรุทวีปและเรื่องพระอินทร์ประพาสนันทวันอุทยาน

           จบเรื่องย่อของจารึกโดยสังเขป ผู้สนใจสามารถอ่านข้อความจารึกฉบับเต็มได้ในฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย https://db.sac.or.th/inscriptions/

 

บทส่งท้าย

           อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาเนื้อเรื่องและองค์ประกอบของภาพจิตรกรรมทั้งหมดแล้วจึงได้พบว่า เนื้อเรื่องของจิตรกรรมไม่ได้เรียงตามหมายเลขในศิลาจารึก ราวกับว่า จิตรกรที่เขียนภาพน่าจะจัดวางภาพทั้งหมดเรียงกันตามผังไตรภูมิตามความเชื่อแต่โบราณ ข้อสังเกตคือช่วงปลายของเสาต้นที่ 1, 8 เขียนภาพเขาพระสุเมรุ ปลายเสาต้นที่ 2, 7 ต้นที่ 3, 6 และต้นที่ 4, 5 เขียนภาพเขาสัตตบริภัณฑ์ทั้งเจ็ดและเขาจักรวาลเรียงตามลำดับ ซึ่งเป็นการเรียงคนละแบบกับศิลาจารึก ถ้าให้อ่านจารึกไปด้วยและดูภาพจิตรกรรมไปด้วยอาจจะไม่สอดคล้องกัน กระนั้นทั้งภาพจิตรกรรมและศิลาจารึกก็ยังมีเนื้อหาที่เชื่อมโยงกันได้ในภาพรวม เพราะกล่าวถึงไตรภูมิโลกสัณฐานและภูมิจักรวาลทางพุทธศาสนาเหมือนกัน หากมีโอกาสได้พินิจดีๆ จะพบว่าไม่เฉพาะส่วนเสาในวิหารของวัดเท่านั้นที่จดจารและแต่งแต้มด้วยคติความเชื่อเช่นนี้ ส่วนอื่นๆ ของวัด โดยเฉพาะแผนผังการสร้างวัดก็สร้างด้วยคติความเชื่อเช่นเดียวกันดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ไม่แปลกใจเลยหากผู้ที่สนใจเกี่ยวกับสัญลักษณ์เรื่องปรัมปราต่างๆ ของตำนานทางพุทธศาสนาจะได้รับความตื่นตาตื่นใจไม่น้อยเมื่อได้ไปเยี่ยมชมศาสนสถานที่สวยงามแห่งนี้

 

หนังสืออ้างอิง

กุลพันธาดา จันทร์โพธิ์ศรี ... [และคนอื่น ๆ], กองบรรณาธิการ. (2528). วัดสุทัศน์เทพวรารามราชวรมหาวิหาร: กรณีตัวอย่างความช่วยเหลือทางวัฒนธรรมจาก เยอรมัน = Wat Suthat ein beispiel deutscher Kulturhilfe. กรุงเทพฯ : สถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน.

พิมพ์วดี เอื้อมธุรพจน์. แนวคิดรูปแบบของไทย ผ่านภูเขาแห่งศรัทธาตามรอยการวิเคราะห์ของเพลโต. (2556).วารสารหน้าจั่ว ว่าด้วยประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมและสถาปัตยกรรมไทย, 9 กันยายน 2555-สิงหาคม 2556, 283-300.

ภาพไตรภูมิและชาดกที่เสาภายในพระวิหารหลวงวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรวิหาร. [2530?]. กรุงเทพฯ : งานอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนัง กองโบราณคดี.

วรรณิภา ณ สงขลา, เรียบเรียง. [2530?]. การอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนัง พระวิหารหลวง วัดสุทัศนเทพวราราม. กรุงเทพฯ : งานอนุรักษ์ จิตรกรรมฝาผนัง และประติมากรรมติดที่ กองโบราณคดี กรมศิลปากร.

สองศตวรรษวัดสุทัศนเทพวราราม : ศูนย์กลางจักรวาล ศูนย์กลางพระนคร. [2550?]. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์พับลิชชิ่ง.


ผู้เขียน

นวพรรณ ภัทรมูล

นักวิชาการ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ ไตรภูมิโลกสัณฐาน เสาพระวิหาร วัดสุทัศน์ ฐานข้อมูล จารึก นวพรรณ ภัทรมูล นางงามจักรวาล

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share