มานุษยวิทยากับพหุจักรวาล Anthropology of Pluriverse and Pluriversality

 |  แนวคิด ทฤษฎีมานุษยวิทยา
ผู้เข้าชม : 3396

มานุษยวิทยากับพหุจักรวาล Anthropology of Pluriverse and Pluriversality

ความหมายของ Pluriversality

           ความหมายของ Pluriversality คือการเห็นความหลากหลายของความคิดที่มีอยู่ในสังคมต่างๆ และต้องการท้าทายล้มล้างวิธีคิดที่พยายามชี้นำและครอบงำสังคม กล่าวคือ ต้องการโอบอุ้มความคิดที่แตกต่างให้ดำเนินไปพร้อมกันโดยไม่ยกย่องหรือเชิดชูความคิดของใครหรือแบบใดเพียงหนึ่งเดียว วิธีคิดนี้เกิดขึ้นจากนักวิชาการสายรื้อถอนลัทธิอาณานิคมซึ่งเล็งเห็นว่านักคิดตะวันตกพยายามทำให้โลกคิดด้วยมาตรฐานเดียวกัน ในทางตรงกันข้าม แนวคิด Pluriversality หรือความหลากหลายของโลกและความคิด ต้องการชี้ให้เห็นว่าโลกใบนี้มีโลกหลายชนิดดำรงอยู่ร่วมกัน (Mignolo, 2007) นัยยะที่ปรากฏคือการเชื่อในความคิดและวิธีการแสวงหาความรู้ของคนกลุ่มต่างๆ (inter-epistemic) ที่ควรจะนำมาสนทนาเพื่อสร้างความสัมพันธ์ต่อกัน สิ่งนี้คือความพยายามที่จะล้มล้างระบอบอำนาจของอาณานิคมตะวันตกและระบบเหตุผลของยุคสมัยใหม่ที่ใช้บรรทัดฐานวิทยาศาสตร์เป็นกฎเกณฑ์ของการสร้างความรู้และความจริง

           Pluriversality มิได้มีความหมายเหมือนกับสัมพัทธนิยมทางวัฒนธรรม (cultural relativism) กล่าวคือ Pluriversality มองว่าวิธีคิด โลกทัศน์ จักรวาลวิทยาของมนุษย์ในวัฒนธรรมต่างๆ มิได้มีเอกลักษณ์แยกกันอยู่แบบของใครของมัน แต่สิ่งเหล่านี้มีการเชื่อมประสาน มีปฏิสัมพันธ์ เกี่ยวโยง พัวพันและร้อยเข้าหากันตลอดเวลา เท่าที่ผ่านมาเมื่อสังคมตะวันตกใช้อำนาจของตนเองครอบงำและควบคุมให้สังคมอื่นๆ คิดในแบบเดียวกับตนภายใต้ระบบเหตุผลแบบสมัยใหม่ ส่งผลให้วิธีคิดของคนกลุ่มอื่นถูกปิดกั้นหรือถูกด้อยค่า ความพยายามที่จะโอบอุ้มความคิดหลายๆ แบบเข้ามาอยู่ในพื้นที่เดียวกัน จึงหมายถึงการเคารพความคิดทุกประเภท โดยไม่จำเป็นต้องสร้างมาตรฐานกลาง Santos (2007) อธิบายว่าในยุคที่ลัทธิอาณานิคมครอบงำสังคมอื่น วิธีคิดแบบตะวันตกที่แบ่งแยกว่าอะไรดีหรือไม่ดี คือวิธีคิดที่ตกอยู่ในขุมนรก เพราะเป็นการแบ่งชั้นของความคิดที่ทำให้มนุษย์เกิดความเหลื่อมล้ำและเอารัดเอาเปรียบ ความคิดที่ถูกตำหนิว่าไม่ดีหรือไม่มีเหตุผลจะเท่ากับเป็นสิ่งที่ไม่มีตัวตนอยู่ในโลก

           Santos (2007) กล่าวว่าความคิดที่แบ่งแยกว่าอะไรดีหรือไม่ดีจะปฏิเสธการดำรงอยู่ร่วมกันของความคิดที่หลากหลาย และจะให้คุณค่าและยกย่องความคิดใดความคิดหนึ่งเท่านั้น วิธีคิดนี้เกิดขึ้นในยุคสมัยใหม่ และเป็นผลผลิตของลัทธิอาณานิคมซึ่งแทรกตัวและแผ่ขยายอยู่ในสถาบันทางสังคมของรัฐชาติสมัยใหม่ เช่น สถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา หน่วยงานของรัฐและองค์กรธุรกิจ ตัวอย่างเช่น ในวงการศึกษาตั้งคำถามว่าวิธีคิดแบบตะวันตกครอบงำระบบการศึกษาจนทำให้ความรู้ท้องถิ่นถูกละเลยใช่หรือไม่ ทำไมสถาบันการศึกษาจึงมองข้ามวิธีคิดของกลุ่มชาติพันธุ์ และให้คุณค่าเฉพาะวิธีการแสวงหาความรู้แบบคนผิวขาวเท่านั้น (Andreotti et al., 2011)

           Querejazu (2016) อธิบายว่า พหุจักรวาล หรือ pluriverse คือความสนใจการดำรงอยู่ของความจริงที่หลากหลาย ความจริงแต่ละแบบย่อมจะมีวิธีการสร้างความรู้ที่ไม่เหมือนกัน กล่าวคือโลกที่เป็นอยู่มิได้มีหนึ่งเดียว แต่มีโลกที่หลากหลายทับซ้อนอยู่ร่วมกัน เช่น โลกของมนุษย์ดำรงอยู่พร้อมกับโลกของสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น โลกทางกายภาพดำรงอยู่ร่วมกับโลกของจิตวิญญาณ การมีโลกหลายแบบนี้สะท้อนการดำรงอยู่ของสรรพสิ่งซึ่งมิใช่มีมนุษย์เท่านั้นที่ครอบครองโลกใบนี้ (Escobar, 2010) เก่งกิจ กิตติเรียงลาภ(2564) และเก่งกิจ กิติเรียงลาภและพนา กันธา (2563) อธิบายว่า Marilyn Strathern (2018) นักมานุษยวิทยาชาวอังกฤษเสนอว่าโลกมีหลายใบ (pluriverse) ซึ่งท้าทายปรัชญาตะวันตกที่มักเชื่อในโลกที่มีหนึ่งเดียว หรือเชื่อในความรู้แบบเดียวที่ใช้อธิบายทุกสิ่งในโลก ฐานคิดนี้พยายามทำให้วัตถุต่างๆแยกออกจากตัวมนุษย์ในฐานะเป็นผู้ที่สร้างความรู้ เพื่อทำให้คำอธิบายเกี่ยวกับวัตถุมาจากวิธีคิดที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง ในทางตรงกันข้าม หากมองว่าโลกมีหลายใบ การแยกมนุษย์ออกจากวัตถุแบบคู่ตรงข้ามก็เป็นไปไม่ได้ เนื่องจากวัตถุทุกประเภทล้วนมีวิธีคิดในแบบของตัวเอง ซึ่งวิธีคิดแบบมนุษย์ก็เป็นเพียงหนึ่งในวิธีคิดอีกหลายแบบ Conway & Singh (2011) กล่าวว่าแนวคิดพหุจักรวาลพยายามบอกว่าการดำรงอยู่หรือภววิทยามีหลายแบบ (multiple ontologies) ซึ่งสะท้อนกระบวนทัศน์ใหม่ของการทำความเข้าใจการมีอยู่ของโลกที่มากกว่าหนึ่ง นั่นคือ การมีอยู่ของโลกที่ต่างไปจาก “โลกของมนุษย์” โลกเหล่านั้นย่อมจะมีลักษณะของตัวเอง มีการสร้างความรู้ในแบบของตัวเอง

           การมีโลกมากกว่าหนึ่ง มิใช่สิ่งเดียวกับการมีวิธีคิดหลายแบบภายใต้โลกใบเดียว หากแต่หมายถึง การดำรงอยู่ของโลกที่หลากหลายโดยที่โลกเหล่านั้นมิได้มีมนุษย์เป็นผู้กำหนดและสร้างความรู้ ในแง่นี้ โลกใบอื่นจึงมีการแสวงหาความจริงที่ต่างไปจากวิธีคิดแบบมนุษย์ ข้อถกเถียงดังกล่าวกำลังเสนอว่า สติปัญญาของมนุษย์มิใช่มีไว้เพื่อทำความเข้าใจโลกอื่น แต่โลกอื่นต่างหากที่มีสติปัญญาที่ไม่เหมือนกับมนุษย์มีและเปรียบเทียบกันไม่ได้ว่าแบบไหนดีกว่าหรือด้อยกว่า Haraway (1988) เคยอธิบายว่าความคิดเกี่ยวกับโลกที่มนุษย์สร้างขึ้นล้วนมาจากประสบการณ์ที่มนุษย์มีต่อสรรพสิ่งที่อยู่รอบตัว ทำให้มนุษย์สร้างคำอธิบายของสิ่งต่างๆ โดยอาศัยเหตุผลของตัวเอง ซึ่งถือเป็นวิธีการสร้างความรู้ที่มนุษย์คือศูนย์กลาง ในการมีอยู่ของสิ่งอื่น สิ่งเหล่านั้นย่อมจะมีวิธีของตัวเองที่จะสร้างความรู้ที่ไม่เหมือนกับมนุษย์ การมีความรู้แบบอื่นจึงเป็นการมีอยู่ของโลกที่ต่างออกไป จากคำอธิบายเหล่านี้ทำให้ความคิดเรื่อง “พหุจักรวาล” ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อทำความเข้าใจลักษณะของโลกที่ต่างกันแต่ดำรงอยู่อย่างมีความสัมพันธ์ต่อกัน ทั้งโลกของมนุษย์ โลกธรรมชาติ โลกวิญญาณ และโลกของสิ่งที่ไม่มีชีวิต (Blaser, 2013; De la Cadena, 2010; Escobar,2010)

           ความคิดเกี่ยวกับ “พหุจักรวาล” คือการเล็งเห็นผู้กระทำการที่มีมากกว่ามนุษย์ โดยที่ผู้กระทำการเหล่านั้นล้วนสร้างความรู้ที่คู่ขนานไปกับความรู้แบบมนุษย์ (Blaser, 2013) การอยู่ร่วมกันของโลกที่หลากหลายคือประสบการณ์ใหม่ที่ชี้ให้เห็นว่าวิธีการแสวงหาความรู้และการรับรู้ถึงความจริงในแบบที่มนุษย์คุ้นเคยมิได้เป็นภาพสะท้อนเกี่ยวกับความจริงทั้งหมด เพราะวิธีคิดแบบมนุษย์เป็นเพียงวิธี่คิดหนึ่งหรือเป็นเพียงโลกหนึ่งเท่านั้น ที่ผ่านมา ความรู้แบบตะวันตกทำให้โลกอื่นและความจริงอื่นสูญหายไปหรือไม่มีตัวตน Law (2015) อธิบายว่าในอารยธรรมตะวันตกได้แยกธรรมชาติออกจากวัฒนธรรม เป็นการทำให้มนุษย์ตัดขาดจากสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติจึงถูกเหมารวมว่าเป็นเอกภาพและมีเพียงหนึ่ง (mononaturalism) และดำรงอยู่ในสถานะวัตถุที่ไร้สติปัญญา Blaser (2012) กล่าวว่าวิธีคิดของตะวันตกมีปัญหาสำคัญ 3 ประการคือ 1) แยกสังคมออกจากธรรมชาติ 2) ให้ความสำคัญกับมนุษย์เหนือว่าสิ่งอื่น และ 3) มองเวลาของโลกเป็นเส้นตรง วิธีคิดดังกล่าวนี้เป็นเพียงคติความเชื่อ ที่ทำให้ธรรมชาติกลายเป็นผู้ถูกกระทำ มนุษย์แบบตะวันตกจะทึกทักเอาเองว่าตนเองมีอิสระ มีเสรีภาพ มีความฉลาด และสามารถควบคุมทุกสิ่งได้

           วิธีคิดที่แยกส่วน (Reductionism) ระหว่างมนุษย์กับสิ่งอื่น คือการสร้างคู่ตรงข้ามระหว่าง “ตัวตน” (มนุษย์) และ “ความไร้ตัวตน” (สิ่งที่มิใช่มนุษย์) ทำให้การสร้างประวัติศาสตร์ของเวลาและพื้นที่เป็นเรื่องที่ใช้ประสบการณ์ของมนุษย์เป็นที่ตั้ง และเป็นผู้กำหนดความจริง โดยเฉพาะในยุคสมัยใหม่ ความรู้วิทยาศาสตร์ทำให้วิธีคิดแบบแยกส่วนนี้มีอำนาจและเข้มแข็ง เป็นการตอกย้ำว่ามนุษย์ฉลาดและเป็นผู้เข้าถึงความจริงได้เพียงผู้เดียว (Law, 2004) วิธีคิดนี้คือการลดทอนความซับซ้อนของสิ่งต่างๆ ให้เหลือเพียงวัตถุชิ้นเล็กๆที่แยกขาดจากกัน มองข้ามปฏิสัมพันธ์ที่มีต่อกัน เป็นการทำให้สิ่งต่างๆ ถูกจำกัดขอบเขตให้อยู่ในพื้นที่และเวลาเฉพาะ กลายเป็นภาพเหมารวมที่มีความสมบูรณ์แบบในตัวเอง การคิดในแนวทางนี้ถือเป็นรูปแบบการใช้ความรุนแรงประเภทหนึ่ง เนื่องจากผลักไสและปิดกั้นวิธีคิดแบบอื่นๆที่อยู่นอกเหนือประสบการณ์ของมนุษย์ โดยเฉพาะสมมติฐานแบบวิทยาศาสตร์ที่สร้างกฎเกณฑ์สากลของสิ่งต่างๆ

 

มานุษยวิทยาและพหุจักรวาล

           Law (2015) อธิบายว่าภววิทยาแบบพหุจักรวาล (pluriversal ontologies) ก่อตัวขึ้นภายใต้วิธีคิดแบบสมัยใหม่ ซึ่งพยายามแสวงหาว่า “ความจริง” คืออะไร โดยอาศัยการสร้างทฤษฎีสากลเพื่ออธิบายปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น ในแนวคิดพหุจักรวาลพยายามทบทวนว่าเมื่อเราเชื่อในความจริงที่มีมากกว่าหนึ่ง ความจริงเหล่านั้นคือข้อตกลงที่เราเชื่อว่าต่อไปนี้มิได้มีมนุษย์เท่านั้นที่สร้างความจริงได้ แต่สิ่งอื่นๆ ย่อมสามารถสร้างความจริงในแบบที่ต่างออกไป ความคิดพหุจักรวาลเสมือนเป็นการก้าวข้าวภววิทยาแบบตะวันตกซึ่งเชื่อในโลกที่แยกส่วนระหว่างมนุษย์ในฐานะผู้มีความคิดกับสิ่งอื่นที่เป็นวัตถุที่ไร้ความคิด ภววิทยาดังกล่าวนี้มีลักษณะเป็นปฏิฐานนิยม (positivist perspectives) ที่เชื่อในความจริงแท้เกี่ยวกับตัวตนของมนุษย์ ในทางตรงกันข้าม พหุจักรวาลพยายามเสนอการมองโลกที่มากกว่าหนึ่งซึ่งเป็นภวววิทยาแบบสัมพันธภาพ (Relational ontologies) อันหมายถึงการให้สิ่งต่างๆ มีวิธีคิดในแบบของตัวเอง หรือเป็นประสบการณ์เกี่ยวกับการอยู่ในโลกที่ต่างไปจากความคิดของตะวันตก ภววิทยาแบบสัมพันธภาพเชื่อในการเกี่ยวโยงและการมีปฏิสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ ไม่มีสิ่งใดที่แยกอยู่อย่างโดดเดี่ยว ตัวอย่างเช่นการมองโลกด้วยความเชื่อแบบลัทธิเต๋าที่มองเห็นการพึ่งพาอาศัยกันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ความเกี่ยวพันระหว่างอำนาจเหนือธรรมชาติกับประสบการณ์ของมนุษย์ เป็นต้น

           ภววิทยาสัมพันธภาพมีคุณลักษณะสำคัญคือ 1) ความสอดคล้องของสิ่งต่างๆ 2) การเติมเต็มและเกื้อกูลซึ่งกันและกัน และ 3) การแลกเปลี่ยนตอบแทนกัน คุณลักษณะนี้ทำให้การดำรงอยู่ของโลกดำเนินไปบนการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิต (Querejazu, 2016) ตัวอย่างการศึกษาโลกทัศน์ของชนเผ่าพื้นเมืองในเขตทวีปอเมริกาใต้ พบว่ามนุษย์มิได้อยู่เหนือธรรมชาติ แต่มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติที่ต้องดูแลเอาใจใส่สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ รวมถึงอำนาจของวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ เทพเจ้าและวิญญาณของผู้ที่ล่วงลับ มนุษย์ต้องดำรงอยู่ในธรรมชาติด้วยความเคารพและกราบไหว้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อาจให้คุณให้โทษต่อมนุษย์ ความสัมพันธ์ที่พึ่งพากันนี้จึงประกอบด้วยสิ่งที่มองเห็นและมองไม่เห็น ถือเป็นความจริงที่ดำรงอยู่ภายใต้ประสบการณ์ทางกายภาพและความรู้สึก (Mignolo, 1995; Posey, 2002) ในประเด็นนี้จะเห็นว่า “ความจริง” สามารถเกิดขึ้นได้จากอารมณ์ ความรู้สึก การสัมผัสทางร่างกาย และความทรงจำซึ่งต่างไปจากความคิดของตะวันตกที่มองความจริงตามหลักเหตุผลเพียงอย่างเดียว (Sillitoe, 2002)

           ในการศึกษาของ Escobar (2018) วิจารณ์กระแสการพัฒนาภายใต้ความคิดสมัยใหม่และทุนนิยมแบบตะวันตกซึ่งสร้างผลกระทบเชิงลบต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ปัญหาการพัฒนาที่แยกมนุษย์ให้เหนือกว่าสิ่งอื่นทำให้ธรรมชาติสูญเสียความสมดุล ในทัศนะของ Escobar ได้เสนอทางเลือกใหม่ในการอยู่ร่วมกับธรรมชาติโดยอาศัยประสบการณ์ของชนพื้นเมืองในทวีปอเมริกาใต้มาเป็นแนวทาง เพื่อทำให้เห็นการอยู่ร่วมกันของสิ่งต่างๆ โดยไม่ยกฐานะของมนุษย์ให้เหนือกว่าสิ่งอื่น การสร้างระบบสาธารณูปโภคและสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ จึงจำเป็นต้องมองความสัมพันธ์และการพึ่งพาอาศัยกันระหว่างมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ประเด็นหลักคือการออกแบบสิ่งปลูกสร้างและสถาปัตยกรรมทั้งหลายต้องสอดคล้องกับการดำรงอยู่ของสิ่งต่างๆ การใช้ประโยชน์ในพื้นที่จำเป็นต้องคำนึงถึงการมีชีวิตของสรรพสิ่ง ที่มนุษย์จะไม่ครอบงำและเอาเปรียบสิ่งเหล่านั้น วิธีคิดนี้ถือเป็นการท้าทายการพัฒนาสาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐานและการออกแบบสถาปัตยกรรมที่เคยเป็นมา ซึ่งเน้นการเป็นวัตถุที่เอื้อประโยชน์ให้กับมนุษย์และกลุ่มนายทุนเป็นหลัก ทางเลือกใหม่ในการพัฒนาและสร้างสิ่งปลูกสร้างคือการทำให้ทุกสิ่งสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ โดยไม่นำเอามนุษย์มาเป็นผู้กำหนดเพียงฝ่ายเดียว

           Escobar เสนอความคิดเรื่องการออกแบบทางภววิทยา (ontological design) เพื่อขยายพรมแดนเกี่ยวกับโลกให้มากไปกว่าประสบการณ์แบบตะวันตก แต่โอบอุ้มและหล่อเลี้ยงโลกชนิดอื่นให้เข้ามาอยู่ในการออกแบบ แนวคิดนี้พยายามทำให้สิ่งปลูกสร้างรองรับการมีอยู่ของพหุจักรวาลหรือการตอบสนองการมีโลกหลายแบบ ซึ่งถือเป็นการออกแบบเพื่อการเปลี่ยนแปลงและข้ามพ้นไปจากวิธีคิดแบบเหตุผลที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง การออกแบบเชิง พหุจักรวาลยังชี้ให้เห็นประสบการณ์ของวัตถุภาวะซึ่งสิ่งปลูกสร้างมิได้เป็นเพียงสิ่งไร้ชีวิตแต่มันมีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปตามเวลาและการใช้ประโยชน์ของมนุษย์และสิ่งต่างๆ สิ่งปลูกสร้างควรได้รับการออกแบบอย่างเป็นอิสระ (autonomous design) กล่าวคือการใช้งานของสิ่งปลูกสร้างไม่ควรมีโครงสร้างที่ตายตัว แต่ควรให้ปรับเปลี่ยนไปตามความสัมพันธ์ในการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป

           Querejazu (2016) กล่าวว่ามุมมองแบบพหุจักรวาลอาจทำให้เห็นการเชื่อมโยงระหว่างกันของสิ่งแวดล้อมที่ปรากฎอยู่ในพื้นที่โลก การเชื่อมโยงนี้จะมีทั้งมนุษย์และสิ่งที่มิใช่มนุษย์ ในแง่นี้ ความคิดพหุจักรวาลเห็นการมีชีวิตของสรรพสิ่ง การอยู่รอดของพื้นที่ภูมิประเทศมีความสำคัญทัดเทียมกับการอยู่รอดของมนุษย์ Reiter (2018) ตั้งข้อสังเกตว่าความคิดเรื่องพหุจักรวาลเป็นกระแสตอบโต้ความคิดการพัฒนาที่มีชาติตะวันตกเป็นศูนย์กลางและผูกขาดอำนาจ โดยเฉพาะกลุ่มนักวิชาการจากซีกโลกใต้แถบลาตินอเมริกา เช่น Escobar (2011, 2018), Grosfoguel, Maldonado-Torres, & Saldávar, (2005), Lugones (2007) และ Quijajano (2000) เป้าหมายในการตอบโต้ครั้งนี้ก็คือ ต้องการสร้างทางเลือกสำหรับการพัฒนาและการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการข้ามพ้นไปจากทฤษฎีชี้นำที่กำหนดกฎเกณฑ์มาตรฐานสากลของสิ่งต่างๆ ความคิดพหุวัฒนธรรมจึงก่อตัวขึ้นพร้อมกับแสวงหาความคิดใหม่ๆที่มิได้มาจากประสบการณ์และสมมติฐานแบบตะวันตก การแสวงหาความรู้เกี่ยวกับโลกและการดำรงอยู่ของสิ่งต่างๆ ที่อยู่นอกกระบวนทัศน์วิทยาศาสตร์ หันมาให้ความสนใจสัมพัทธนิยมของการแสวงหาความรู้ (epistemological relativism) ที่มองเห็นความซับซ้อนของการอยู่ร่วมกันแบบไม่มีสิ่งใดอยู่เหนือกว่ากัน (Connell, 2018)

 

เอกสารอ้างอิง

เก่งกิจ กิติเรียงลาภ. (2564). Marilyn Strathern กับความรู้ในโลกของ “พหุจักรวาล”. วารสารมานุษยวิทยา, 4(1), 188-194.

เก่งกิจ กิติเรียงลาภ และพนา กันธา. (2563). Pluriverse จริยศาสตร์แห่งการอยู่ร่วมกันข้ามพรมแดนความ เป็นมนุษย์. หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม.

Andreotti, A., Ahenakew, C. & Cooper, G. (2011). Epistemological Pluralism, Ethical and pedagogical challenges in higher education. Alter Native: An International Journal of Indigenous Peoples, 7(1), 40-50.

Blaser, M. (2012). Ontology and indigeneity: on the political ontology of heterogeneous assemblages. Cultural Geographies, 21(1), 49-58.

Connell, R. (2018). Meeting at the Edge of Fear: Theory on a World Scale. In B. Reiter (ed.). Constructing the pluriverse: the geopolitics of knowledge. (pp.19-38). Durham: Duke University Press.

Conway, J. & Singh, J. (2011). Radical Democracy in Global Perspective: notes from the pluriverse. Third World Quarterly,32(4), 689-706.

De la Cadena, M. (2010). Indigenous Cosmopolitics in the Antes: Conceptual Reflections beyond “Politics.” Cultural Anthropology, 25(2), 334–370.

Escobar, A. (2010). Latin America At a Crossroads. Cultural Studies, 24, 1–65.

Escobar, A. (2011). Encountering Development. Princeton, NJ: Princeton University Press.

Escobar, A. (2018). Designs for the Pluriverse: Radical Interdependence, Autonomy, and the Making of Worlds. Durham: Duke University Press.

Grosfoguel, R, Maldonado-­Torres, N. & Saldávar, J. (eds.) (2005). Latin@s in the World- System: Decolonization Struggles in the 21st Century U.S. Empire. New York: Routledge.

Haraway, D. (1988). Situated Knowledges: the Science Question in Feminism and the Privilege of Partial Perspective. Feminist Studies, 14(3), 575-599.

Law, J. (2004). After Method: Mess in Social Science Research. London & New York: Routledge.

Law, J. (2015). What’ s Wrong with a One – World World. Distinktion: Journal of Social Theory, 16(1), 126-139.

Lugones, M. (2007). Heterosexualism and the Colonial/Modern Gender System. Hypatia, 22 (1), 186–209.

Mignolo, W. D. (1995). Afterword: Human Understanding (Latin) American Interests –The Politics and Sensibilities of Geocultural Locations. Poetics Today, 16 (1), 171–214.

Mignolo, W. D. (2007), Delinking. Cultural Studies, 21(2), 449 – 514.

Posey, D. (2002). Upsetting the sacred balance: can the study of indigenous knowledge reflect cosmic connectedness? In Alan Bicker, Johan Pottier, Paul Sillitoe. (Eds.). Participating in Development Approaches to Indigenous Knowledge. (pp.24-42). London: Routledge.

Querejazu, A. (2016). Encountering the Pluriverse: Looking for Alternatives in Other Worlds. Revista Brasileira de Política Internacional, 59(2), 1-16.

Quijano, A. (2000). Coloniality of Power, Eurocentrism, and Latin America. Nepantla, 1(3), 533–80.

Reiter, B. (2018). Introduction. IN B. Reiter (ed.). Constructing the pluriverse: the geopolitics of knowledge. (pp.1-15). Durham: Duke University Press.

Santos, B. (2007). Beyond abyssal thinking: From global lines to ecologies of knowledges. Review, 30(1), 45-89.

Sillitoe, P. (2002). Globalizing indigenous knowledge. In P. Sillitoe, A. Biecker and J. Pottier. (Eds.), Participating in Development. Approaches to indigenous knowledge, (pp.108- 138). London & New York: Routledge.

Strathern, M. (2018). Opening Up Relations. in Marisol de la Cadena, Mario Blaser (Eds.). A World of Many Worlds. (pp. 23-52). Durham, N.C.: Duke University Press.


ผู้เขียน

ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยและพัฒนา ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร


 

ป้ายกำกับ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร พหุจักรวาล Posthuman Anthropology Pluriverse Pluriversality

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share