เขาน้อย-เขาแดงแห่งคาบสมุทรสทิงพระ: คุณค่าทางประวัติศาสตร์ และโบราณคดีที่เสี่ยงต่อการถูกทำลาย
ข่าวการบุกรุกล้ำพื้นที่เขาน้อย และเขาแดง ที่ อ.สิงหนคร จ.สงขลา ปลายคาบสมุทรสทิงพระ ที่มีมาอย่างต่อเนื่องหลายสิบปีจนส่งผลกระทบต่อแหล่งประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่โดดเด่นและสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของไทย สะท้อนการพัฒนาที่ลืมรากเหง้าและละเลยคุณค่าทางวัฒนธรรม ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ขอนำเสนอข้อมูลที่ช่วยให้เห็นถึงคุณค่าและความสำคัญด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีของเขาน้อยและเขาแดงในคาบสมุทรสทิงพระ
คาบสมุทรสทิงพระ เป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ที่สัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับการก่อร่างสร้าง “เมืองสงขลา”เมืองที่มีบทบาทสำคัญทั้งในเชิงเศรษฐกิจการค้าและการปกครองมาตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน สงขลาเป็นจังหวัดที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของภาคใต้
ปัจจุบันคาบสมุทรสทิงพระ ซึ่งครอบคลุมอาณาเขตอำเภอระโนด อำเภอกระแสสินธุ์ อำเภอสทิงพระ และอำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา เกิดจากการทับถมของตะกอนทะเล (marine sediment) ตั้งแต่ 10,000-5,000 ปีมาแล้ว (หรือในสมัยโฮโลซีน) จนตื้นเขินกลายเป็นเกาะที่เชื่อมต่อกันเป็นลากูน แล้วเชื่อมติดกันกับแผ่นดินจนเกิดเป็นคาบสมุทร โดยช่วงเวลาของการสะสมตะกอนจนกลายเป็นคาบสมุทรดังกล่าว เกิดขึ้นเมื่อราว พ.ศ. 210-1400 (บรรจง ทองสร้าง และคณะ. “ภูมิศาสตร์บรรพกาลของคาบสมุทรสทิงพระ ภาคใตต้ ประเทศไทย.” วารสารมหาวิทยาลัยราชภัฐยะลา 14, 1 (มกราคม-เมษายน 2562): 73-84.)
จากสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม มีระบบนิเวศทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม ทำให้มีคนเข้ามาทำมาหากิน ตั้งถิ่นฐาน จนเกิดเป็นชุมชนขนาดใหญ่ขึ้นหลายชุมชน โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณเขาแดง-เขาน้อย ซึ่งเป็นภูเขาริมทะเล มีช่องทางให้เรือขนาดใหญ่สามารถเข้าสู่ทะเลสาบหลังคาบสมุทร รวมทั้งยังเป็นทำเลที่ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างการค้าข้ามภูมิภาคระหว่างตะวันตก (อินเดีย กรีก-โรมัน อาหรับ-เปอร์เซีย) กับตะวันออก (จีน) ทำให้คาบสมุทรสทิงพระ กลายมาเป็นหนึ่งในจุดพักที่เหมาะสมจุดหนึ่งของนักเดินเรือ ทั้งเพื่อหลบลมพายุ พักหาเสบียงสะสม จอดพักซ่อมแซมเรือ นานวันเข้า จุดพักในลักษณะนี้ก็เติบโตขึ้นกลายเป็นศูนย์กลางการพบปะกันของพ่อค้าวานิช หรือผู้แสวงหาผลประโยชน์อื่นๆ จนทำให้คาบสมุทรสทิงพระ กลายมาเป็นเมืองท่าที่สำคัญตั้งแต่ช่วงต้นของยุคประวัติศาสตร์
ไม่เพียงเท่านั้น ดินแดนคาบสมุทรภาคใต้ยังอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติจำพวกของป่าที่อุดมสมบูรณ์ เช่น หวาย ไม้ไผ่ ยางไม้ งาช้าง หนังสัตว์ เขาสัตว์ ชะมด ขี้ผึ้ง ชัน สมุนไพรปะเภท ต่างๆ เครื่องหอมประเภทแฝก ฝางกฤษณา กำยาน จันทน์แดง เครื่องเทศจำพวกกระวาน ขิง ข่า พริกไทย ขมิ้น อบเชย กานพลู จันทน์เทศ
หลักฐานทางโบราณคดีที่พบที่คาบสมุทรสทิงพระ แสดงถึงการติดต่อกับชาวต่างชาติมากมาย โดยเฉพาะอินเดีย พบโบราณวัตถุที่เกี่ยวเนื่องในพุทธศาสนามหายาน และศาสนาพราหมณ์ ที่มีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 11-13 รูปแบบศิลปะสมัยคุปตะของอินเดียเหนือและศิลปะปัลลวะของอินเดียใต้ เช่น ประติมากรรมพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร พระปัทมปาณิโพธิสัตว์ พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ ศิวลึงค์ที่หน้าถ้ำเขาคูหา ศิวลึงค์ที่พังเภา เทวรูปพระคเณศที่พังหนุน เทวรูปพระวิษณุที่วัดขุนช้าง-บ้านสามี รวมถึงจิตรกรรมสัญลักษณ์ “โอม” ภาษาทมิฬ และศิวลึงค์ ที่ถ้ำเขาคูหา เป็นต้น (อุไร จันทร์เจ้า. "ร่องรอยหลักฐานของศาสนาพราหมณ์ในชุมชนโบราณบนคาบสมุทรสทิงพระก่อนพุทธศตวรรษที่ 19" วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต (โบราณคดี) มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2560: 27-59; 171-172)
นอกจากนี้ คาบสมุทรสทิงพระอาจเป็นส่วนหนึ่งของรัฐพันพัน (P’an-p’an) รัฐโบราณที่ถูกกล่าวถึงอยู่ในเอกสารจีนในช่วงพุทธศตวรรษที่ 11-15 ที่ระบุว่าเป็นรัฐที่มีการดำเนินกิจกรรมเศรษฐกิจการค้าและศาสนากับอินเดีย และมีการติดต่อกับทูตจีนในสมัยราชวงศ์เหลียงถึงราชวงศ์ถัง (Paul Wheatly 1980: 48) ซึ่งรัฐพันพันนี้น่าจะมีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่บริเวณจังหวัด สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา (Jacq-Hergoualc’h, Michael . The Malay Peninsula: Crossroads of the Marine Silk Road (100BC-1300 AD). แปลโดย Victoria Hobson Leiden: Brill, 2002.: 166-60)
ในสมัยอยุธยา พื้นที่ปลายสุดของคาบสมุทรสทิงพระ ที่เป็นบริเวณที่ตั้งเขาน้อย-เขาแดง และแหลมสน ได้ทวีบทบาทสำคัญมากขึ้น เพราะเป็นที่ตั้งของเมืองเก่าสงขลา ซึ่งยังคงเป็นเมืองท่านานาชาติที่มีบทบาทในเชิงการเมืองและเศรษฐกิจ ดังปรากฎหลักฐานบันทึกของชาวต่างชาติ ทั้งฮอลันดา อาหรับ จีน ฝรั่งเศส อังกฤษ และเอกสารท้องถิ่นอย่างตำนานเมืองพัทลุง ในสมัยอยุธยาเมืองอยู่ที่บริเวณหัวเขาแดง ปกครองโดยเจ้าเมืองมุสลิม เป็นเมืองสุลต่านแห่งสงขลา โดยใช้เขาแดง-เขาน้อย เป็นปราการของเมือง ดังปรากฏการสร้างป้อมตั้งแต่ที่ราบเชิงเขาจนถึงบนเขาแดง ก่อนที่ในสมัยธนบุรี จะย้ายเมืองลงไปที่ปลายสุดคาบสมุทรหรือบริเวณแหลมสน โดยมีเจ้าเมืองเป็นคนจีน (สามารถ สาเร็ม, 2565)
เขาน้อย เป็นภูเขาขนาดเล็กที่ต่อเนื่องมาจากเขาแดงที่มีขนาดใหญ่กว่า โดยอยู่ทางทิศตะวันตกของเขาแดง กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเขาน้อยทั้งลูก เป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ เมื่อปี 2529
บนยอดภูเขาน้อย ปรากฏซากโบราณสถานชาวบ้านเรียกกันโดยทั่วไปว่า "พระเจดีย์เขาน้อย" สภาพในปัจจุบันเหลือเพียงส่วนฐานเจดีย์ แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนาดกว้างยาวด้านละประมาณ 20 เมตร วางตัวขนานไปกับเขาทำให้เมื่อมองจากภาพถ่ายทางอากาศจะเห็นเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน
บริเวณฐานพระเจดีย์เขาน้อย ทำเป็นซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูป ในลักษณะยกเก็จ โดยแต่ละด้านยกเก็จออกมา 3 เก็จ คือมีเก็จที่มุม 2 มุม และที่กลางด้าน สันนิษฐานว่าพระเจดีย์องค์นี้อาจเป็นศาสนสถานที่สร้างขึ้นในศาสนาพุทธ ลัทธิมหายาน ในสมัยศรีวิชัย ร่วมสมัยกับวัฒนธรรม ทวารวดีในภาคกลาง มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 13-15 และคงได้รับอิทธิพลมาจากแหล่งเดียวกันคืออินเดีย ทำให้มีรูปแบบที่ใกล้เคียงกันอย่างมาก ทั้งจากลักษณะของแผนผังที่อยู่ในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส การยกเก็จที่ส่วนฐาน รวมทั้งการใช้อิฐเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง (ศูนย์ศึกษาศิลปกรรมโบราณเอเชียอาคเนย์ (ก). เจดีย์เขาน้อย จ.สงขลา. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 25 มีนาคม 2565. เข้าถึงจาก http://scaasa.org/?p=3027)
การขุดแต่งพระเจดีย์เขาน้อย เพื่อการบูรณปฏิสังขรณ์ ของกรมศิลปากรในปี 2529 ได้พบ “กุฑุ” ที่ทำจากหิน มีลักษณะคล้ายวงโค้งรูปเกือกม้า ยอดแหลม ปลายฐานทั้งสองข้างแกะสลักคล้ายรูปใบไม้ม้วนขึ้น ภาพหน้าบุคคลในลักษณะหน้าเข้ม ผมหวีเสย คิ้วโก่ง จมูกเป็นสัน ปากอมยิ้ม สวมตุ้มหูขนาดใหญ่ กำหนดอายุในพุทธศตวรรษที่ 12-16 ซึ่งแสดงลักษณะศิลปกรรมแบบทวารวดีที่คล้ายคลึงกับที่พบในภาคกลางเป็นอย่างมาก โดยอาจเริ่มมีอิทธิพลท้องถิ่นภาคใต้มาผสม (สิริพรรณ ธีรศรีโชติ. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา.กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สมาพันธ์, 2542: 130)
กุฑุใช้เป็นส่วนประกอบตกแต่งสถาปัตยกรรมพุทธศาสนา พบมากในศิลปะอินเดียสมัยคุปตะและหลังคุปตะ และให้อิทธิพลแก่ศิลปะสมัยทวารวดีในประเทศไทย
ในสมัยอยุธยา เจดีย์เขาน้อยได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่ เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 23-24 โดยการสร้างพระพุทธรูปประดิษฐานประจำที่อยู่โดยรอบ ส่วนด้านบนมีเพียงกองอิฐที่น่าจะเกิดจากการบูรณะในชั้นหลังเท่านั้น
ลักษณะทางประติมานของพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยานี้ ครองจีวรห่มเฉียง มีชายสังฆาฏิเป็นแผ่นขนาดใหญ่พาดที่พระอังสาข้างซ้าย ปลายตัดตรง ยาวลงมาถึงพระนาภี นั่งขัดสมาธิราบ แม้ว่าปัจจุบันส่วนใหญ่ชิ้นส่วนพระเศียรและพระหัตถ์จะหักหายไป แต่ก็สันนิษฐานได้ว่าบางองค์แสดงปางมารวิชัย (ดูเพิ่มเติมใน ศูนย์ศึกษาศิลปกรรมโบราณเอเชียอาคเนย์ http://scaasa.org/?p=3023 และ http://scaasa.org/?p=3019)
คาบสมุทรสทิงพระ โดยเฉพาะบริเวณเขาแดง-เขาน้อย เป็นแหล่งอารยธรรมโบราณที่ปรากฎหลักฐานทางโบราณคดีที่ทรงคุณค่าและสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทยที่สมควรได้รับการทำนุบำรุงและอนุรักษ์ไว้เป็นแหล่งเรียนรู้ ที่ไม่เพียงส่งเสริมความเข้มแข็งของอัตลักษณ์ท้องถิ่น แต่ยังสะท้อนถึงประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงไปยังอาณาจักรและอารยธรรมต่างๆ ในภูมิภาค การพัฒนาหรือการบุกรุกสถานที่อันทรงคุณค่านี้เป็นการทำลายมรดกทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่เราจะไม่สามารถหาอะไรมาทดแทนได้
ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์
ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ป้ายกำกับ เขาน้อย เขาแดง คาบสมุทรสทิงพระ คุณค่า ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น การถูกทำลาย ดร.นพ.โกมาตร จงเสถียรทรัพย์ ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล