A CAT’S TALE ประวัติศาสตร์แมวมอง โดย พอล คูดูนาริส

 |  พืช สัตว์ สิ่งของที่มากกว่ามนุษย์
ผู้เข้าชม : 4100

A CAT’S TALE ประวัติศาสตร์แมวมอง โดย พอล คูดูนาริส

หน้าปกหนังสือ A CAT’S TALE ประวัติศาสตร์แมวมอง โดย พอล คูดูนาริส

มีบริการที่ห้องสมุด  ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

 

           หนังสือ A CAT’S TALE ประวัติศาสตร์แมวมอง เขียนโดย พอล คูดูนาริส จบปริญญาเอกด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ ผู้ซึ่งสนใจการค้นคว้าเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ มีผลงานที่โดดเด่น คือ ดิเอ็มไพร์ออฟเดธ (The Empire of Death) เฮเวนลีบอดีส์ (Heavenly Bodies) และเมเมนโตโมริ (Me-Mento Mori) ถ่ายทอดผ่านภาพถ่ายที่แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมแห่งความตาย นอกจากนี้ผู้เขียนยังหลงใหลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของแมว

           บาบา คือแมวที่ผู้เขียนรับมาเลี้ยงจากศูนย์สงเคราะห์สัตว์นอร์ทเซ็นทรัลในลอสแอนเจลิส บาบา อยู่กับผู้เขียนในช่วงเวลาที่ผู้เขียนกำลังค้นคว้าข้อมูลประวัติศาสตร์เพื่อเขียนหนังสือ จึงทำให้ผู้เขียนเริ่มสังเกตถึงพฤติกรรม เมื่อ บาบา มักอยู่ป้วนเปี้ยนกับกองกระดาษที่เต็มไปด้วยข้อมูลทางด้านประวัติศาสตร์ ผู้เขียนได้ทดลองกลับหัวกระดาษต้นฉบับ บาบา ได้แสดงพฤติกรรมตะปบกระดาษเหมือนกับสั่งให้กลับหัวกระดาษเป็นอย่างเดิม และมีอีกหลากหลายพฤติกรรมที่ทำให้ผู้เขียนทึ่งในความสามารถของ บาบา

           หนังสือเล่มนี้ จึงกล่าวได้ว่าเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง บาบา และ พอล คูดูนาริส ภาษาของหนังสือจึงเป็นการเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ของแมวที่ผู้เขียนมีความตั้งใจยกย่องให้ บาบา เป็นหุ้นส่วนชีวิต และเป็นผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เพื่อให้มนุษย์ได้อ่าน

“บางครั้งอัตตาพวกเธอก็ใหญ่คับโลก เหมารวมว่าเรื่องทั้งมวลในอดีตล้วนเป็นผลงานมนุษยชาติ พวกเธอตีกรอบกันเองให้ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่ว่าด้วยมวลมนุษย์ แทบไม่เคยเอ่ยถึงผลงานของสายพันธุ์อื่น”1

           คำท้าพิสูจน์ที่น่าสนใจจาก บาบา ปรากฏในบทนำของหนังสือที่จะมาเชื้อเชิญให้ผู้อ่านร่วมหาคำตอบว่า มนุษย์จะสามารถสร้างประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ได้หรือไม่? หากปราศจากความสัมพันธ์กับสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่น ผ่านการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับแมว ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลที่ได้จากการค้นคว้าหนังสือประวัติศาสตร์ของเทพปกรณัมแมว เอกสารประวัติศาสตร์แมว (Histoire des chats) หนังสือพิมพ์ และวารสาร ที่แสดงให้เห็นว่าแมวได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างประวัติศาสตร์ร่วมกับมนุษย์

           หนังสือเล่มนี้จึงกล่าวได้ว่าเป็นตัวแทนที่แสดงให้เห็นถึงประเด็นของมานุษยวิทยาพ้นมนุษย์ (Posthuman Anthropology) แนวคิดทางมานุษยวิทยาที่ศึกษาเพื่อความเข้าใจมนุษย์ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม นำเสนอให้เห็นถึงการรื้อมายาคติของการยึดเอามนุษย์เป็นศูนย์กลาง (anthropocentrism) มากกว่าสิ่งอื่น2 ภายในหนังสือเล่มนี้ประกอบด้วย 7 บท กล่าวถึงตั้งแต่บรรพบุรุษของแมวที่สู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับมนุษย์มาอย่างยาวนานจนถึงปัจจุบันจนเข้าสู่กระบวนการที่เรียกได้ว่า “น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า” ความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้สามารถสรุปประวัติศาสตร์ของแมวออกเป็น 3 ยุค ดังนี้

 

ยุคที่หนึ่ง: แมวในยุคก่อนประวัติศาสตร์ และยุคอียิปต์โบราณ

           เนื้อหาในส่วนต้นของหนังสือผู้เขียนได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์และแมวที่มีมาตั้งแต่ยุคของแมวป่าแถบแอฟริกาที่มีชื่อเรียกว่า เฟลิส ซิลเวสทริส ไลบิ (Felis silvestris lybica) เป็นแมวป่าที่มีมีลักษณะลำตัวขนาดใหญ่ลวดลายคล้ายกับแมวลายสลิดปัจจุบัน แม้จะเป็นสัตว์เล็กแต่มีไหวพริบ รวดเร็วและทรงพลัง ผู้เขียนได้นำเสนอให้เห็นว่าแมวไม่ได้เป็นแค่สัตว์เลี้ยงแสนน่ารักเอาตัวรอดไม่ได้อย่างในยุคปัจจุบัน แต่แมวคือนักกำจัดหนูมือฉมังที่มนุษย์ต้องพึ่งพาในช่วงที่มนุษย์ยังเร่ร่อน และเริ่มทำการเกษตรในยุคเมโสโปเตเมีย (Mesopotamia)

           แม้มนุษย์จะเพาะปลูกทำการเกษตรเก่ง แต่มนุษย์ยังไม่รู้วิธีรับมือกับหนู หรือสัตว์อื่นที่มาทำลายพืชผลทางการเกษตร จึงค่อยๆ เริ่มสร้างความสัมพันธ์กับแมวป่าที่กรงเล็บเต็มไปด้วยพิษสงพร้อมตะปบเหยื่อทุกเมื่อ มนุษย์จึงเริ่มรู้จักการวางอาหารให้แมวป่า จึงทำให้แมวป่าดึกดำบรรพ์อย่าง เฟลิส ซิลเวสทริส ไลบิ เริ่มย่างก้าวออกมาจากเขตป่า เมื่อได้ทั้งเหยื่อชั้นดีคือหนูและรางวัลเป็นอาหารจากมนุษย์ ความสัมพันธ์ของทั้งสองสายพันธุ์จึงกล่าวได้ว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อกัน ก่อเกิดเป็นความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นจนเข้าสู่ยุคอียิปต์โบราณ


ภาพที่ 1 ภาพของเทพบาสเทตและเซคเมต โดย ฟรีดรีช แบร์ทุค

ภาพในหนังสือ A CAT’S TALE ประวัติศาสตร์แมวมอง หน้าที่ 48

 

           ในยุคอียิปต์โบราณผู้เขียนได้นำเสนอให้เห็นถึงความเท่าเทียมกันระหว่างมนุษย์และแมว ชาวอียิปต์โบราณเป็นมนุษย์ยุคแรกที่ใช้คำว่า มิอุ (Miu) เรียกแมวเพศผู้ และคำว่า มิอิต (Miit) เรียกแมวเพศเมีย และยุคนี้เป็นยุคที่มนุษย์เห็นถึงความสามารถของแมวที่ไม่ได้มีดีแค่การจับหนู ชาวอียิปต์โบราณได้สังเกตพฤติกรรมของแมวที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงทางอากาศ การเกิดแผ่นดินไหว และภัยธรรมชาติต่างๆ แมวจึงถูกยกย่องให้เป็นดั่งผู้มีอำนาจเหนือธรรมชาติ มนุษย์ยังคิดว่าแมวมีความเกี่ยวโยงกับเวทมนต์สามารถปัดเป่าความชั่วร้ายให้กับมนุษย์ได้ ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นเพียงประสาทสัมผัสที่แมวมีมากกว่ามนุษย์เท่านั้นทำให้เกิดเป็นตำนานต่างๆ และมีการสร้างรูปปั้นเกี่ยวกับแมวขึ้นมากมายในยุคอียิปต์โบราณ

 

ยุคที่สอง: แมวในยุคแห่งการลิดรอนสิทธิ์ในทวีปเอเชีย และทวีปยุโรป

           ในยุคที่หนึ่งแมวถูกเทิดทูนให้เป็นดั่งเทพที่มาจากสวรรค์ แต่เมื่อเข้าสู่ยุคที่สองผู้เขียนต้องการให้เห็นถึง“การตกที่นั่งลำบากของแมวจากการตีกรอบของมนุษย์” ที่เกิดขึ้นในทวีปเอเชีย และทวีปยุโรป

           ทวีปเอเชีย กรณีตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ การลิดรอนสิทธิ์ของแมวในสยาม แมวสยามมีส หรือที่รู้จักกันในนามแมวไทย (วิเชียรมาศ) หนึ่งในแมวสายพันธุ์เก่าแก่ที่สุด มีตำนานสำคัญที่ทำให้แมวมีการแบ่งชนชั้นขึ้น เมื่อเจ้าชายแห่งสยามต้องออกนิราศไกลจากวัง และไม่กล้าฝากแหวนล้ำค่ากับเหล่าข้าราชบริพารในราชสำนัก เนื่องจากมีดำริว่าความโลภนั้นสามารถเปลี่ยนคนได้ จึงได้ฝากแหวนไว้ที่ปลายหางของแมววิเชียรมาศ เมื่อเจ้าชายเสด็จกลับมาก็พบว่าแมววิเชียรมาศได้ทำหางขอดเพื่อรักษาแหวนล้ำค่านั้น แมวจึงถูกยกย่องให้เป็นดั่งผู้ซื่อตรง ลักษณะหางขอดของแมววิเชียรมาศจึงกลายเป็นการบ่งบอกถึงเกียรติของแมว และเป็นความภาคภูมิใจของสยามประเทศ มีการประกาศไม่อนุญาตให้เลี้ยงแมววิเชียรมาศนอกวังเด็ดขาด ผู้เขียนได้นำเสนอว่า “ตำนานมีอิทธิพลในการลิดรอนสิทธิ์ของแมว” ในฐานะการแสดงถึงการแบ่งชนชั้นของแมวที่ขัดกับธรรมชาติของแมวอย่างยิ่ง ทำให้แมวที่ไม่ใช่สายพันธุ์วิเชียรมาศมีฐานะต่ำกว่าสายพันธุ์อื่น

           ทวีปยุโรป กรณีตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงการป้ายสีให้แมวคือราวคริสต์ศตวรรษที่ 4 มีลัทธิความเชื่อเกิดใหม่ที่มาจากฝั่งตะวันออกกลาง ตัดสินว่าแมวเป็นปีศาจ ซาตาน เนื่องจากการประณามพลังวิเศษของแมวที่เคยถูกยกย่องมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ และยุคอียิปต์โบราณ กาลเวลาและความเชื่อทำให้เกิดงานศิลปะเกี่ยวกับเทพปกรณัมและแมว แมวที่เป็นส่วนหนึ่งในสัญลักษณ์ต่างๆ จึงถูกร่างแห ถูกตีตราว่าเป็นปีศาจ ซาตาน จากลัทธิเกิดใหม่ที่กำลังเติบโตเป็นศาสนาในขณะนั้น

           แมวสีดำ กลายเป็นเครื่องมือที่มนุษย์ต้องการให้เป็นภาพจำของสัตว์นรก เนื่องจากขนสีดำเหมือนกับสียามค่ำคืนอันมืดมิดจะนำความโชคร้ายมาให้ และถูกตอกย้ำใน ปี ค.ศ. 1344 เมื่อประเทศฝรั่งเศสมีการจับแมวดำมาเผาทั้งเป็น โดยมีความเชื่อว่าแมวสีดำเป็นตัวการทำให้เกิดการระบาดที่มีชื่อว่า โรคระบำเซนต์ไวทุส (St. Vitus’s Dance) คนที่เป็นโรคนี้จะแสดงอาการเหมือนกับคนเต้นสนุกสนาน เป็นการแสดงอาการที่ผิดแผกไปจากคนปกติ ซึ่งเนื้อหาในยุคนี้ผู้เขียนต้องการให้เห็นถึงความชิงชังที่มนุษย์ยัดเยียดให้กับสัตว์ เพื่อให้ผู้อ่านเห็นว่าแท้จริงแล้วความดุร้าย ป่าเถื่อน เหมือนกับสัตว์นั้นเทียบไม่ได้กับจิตใจ ความคิด และการถูกตีกรอบจากมนุษย์

 

ยุคที่สาม: แมวในยุคแห่งการเริ่มต้นใหม่ในอเมริกา

           หลังจากแมวได้เผชิญกับชะตากรรมที่โหดร้ายในยุคที่สอง ในยุคสุดท้ายของหนังสือผู้เขียนต้องการนำเสนอให้เห็นถึงการหมดยุคของการจับแมวมาเฆี่ยนตี ทรมาน และเผาทั้งเป็น อเมริกากลายเป็นดินแดนที่อ้าแขนรับเหล่ามวลแมว โดยการหยิบยกบรรดานักคิด นักเขียน กวี และจิตรกร ที่ออกมาเป็นปากเป็นเสียงให้กับแมวผ่านงานเขียน บทกวี และวิจิตรศิลป์ ต่างๆ

           เหตุการณ์ที่เป็นที่กล่าวขานคือการมอบรางวัลให้แมวอมเมริกัน รางวัล “พุซแอนบู๊ตส์” (Puss’n Boots Award) รางวัลเหรียญบรอนซ์ที่กลุ่มประมงแคลิฟอร์เนียผู้ผลิตอาหารกระป๋องแมว มอบให้แก่แมวสีดำที่มีชื่อว่า เคลเมนไทม์ โจนส์ (Clementine Jones) เพื่อแสดงให้เห็นถึงความจงรักภักดีที่แมวมีต่อเจ้าของ อย่างนายโรเบิร์ต ลุนมาร์ค (Mr. Robert Lundmark) และภรรยาของเขา เมื่อโรเบิร์ตและภรรยาต้องย้ายไปที่เมืองเดนเวอร์เพื่อทำงานจึงได้ฝากเคลเมนไทม์ ที่กำลังตั้งท้องอยู่ให้ญาติดูแลภายหลังที่เคลเมนไทม์ได้คลอดลูกแมวและลูกแมวโตมากพอ เคลเมนไทม์ก็ได้หายออกไปจากบ้านเป็นเวลานานถึงสี่เดือน และได้ไปปรากฏตัวอยู่ที่หน้าบ้านของโรเบิร์ตและภรรยา ซึ่งมีระยะทางถึง 2,500 กิโลเมตร

           จากเหตุการณ์ที่ได้หยิบยกขึ้นมาผู้เขียนยังได้นำเสนอให้เห็นว่ามนุษย์มักไม่ชอบยกย่องความดีให้อะไรก็ตามที่ไม่ใช่มนุษย์ เพราะมีการตั้งคำถามต่อแมวอย่าง เคลเมนไทม์ ว่าอาจจะเป็นเพียงแมวที่มีลักษณะหน้าตาคล้ายกันที่บังเอิญโผล่มาหน้าบ้านของโรเบิร์ตและภรรยาเท่านั้น แต่ภายหลังได้รับการยืนยันจากผู้เป็นเจ้าของถึงลักษณะเฉพาะของ เคลเมนไทม์ และอุ้งเท้าที่ถลอกปอกเปิกจนถึงกระดูกที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นเคลเมนไทม์ตัวจริง

           นอกจากตัวอย่างที่ได้หยิบยกขึ้นมา เนื้อหาภายในหนังสือผู้เขียนมีความตั้งใจในการรวบรวมข้อมูล ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการศึกษา รวบรวมเอกสาร เพื่อให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ของแมว เป็นการทำงานอย่างหนักทั้งผู้เขียน พอล คูดูนาริส และหุ้นส่วนชีวิตอย่าง บาบา เพื่อเป็นกระบอกเสียงให้กับเหล่ามวลแมวทั้งหลายว่าแมวเหล่านี้ไม่เคยตัดสินมนุษย์ อย่างที่มนุษย์ได้ตัดสินพวกเขา และแมวไม่เคยแบ่งชนชั้นของมนุษย์จากเพศสภาพอย่างที่มนุษย์ได้กระทำกับแมว

           หนังสือเล่มนี้เหมาะสำหรับผู้ต้องการทำความเข้าใจเรื่องมานุษยวิทยาพ้นมนุษย์ (Posthuman Anthropology) เพื่อให้เห็นถึงการละทิ้งความเป็นศูนย์กลางของมนุษย์ผ่านความสัมพันธ์ของมนุษย์กับสัตว์ การพึ่งพาอาศัยกัน เห็นถึง “มนุษย์” และ “สิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่น” ที่มีส่วนในการถักทอก่อกำเนิดประวัติศาสตร์ เพราะไม่ใช่เพียงมนุษย์เพียงเท่านั้นที่จะเป็นเจ้าของประวัติศาสตร์

           หนังสือเรื่องนี้รวมถึงหนังสือที่ว่าด้วยเรื่องมานุษยวิทยาพ้นมนุษย์ พร้อมให้บริการที่ห้องสมุด ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ห้องสมุด หรือติดต่อเพื่อขอยืมหนังสือผ่านทาง Facebook Fanpage: ห้องสมุด ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร – SAC Library และ Line: @sac-library


1  พอล คูดูนาริส . A CAT’S TALE ประวัติศาสตร์แมวมอง. กรุงเทพฯ: อมรินพริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง, 2564, หน้า 3.

2  ยุกติ มุกดาวิจิตร และชัชชล อัจนากิตติ. มานุษยวิทยาพ้นมนุษย์. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2564, หน้า 12.


ผู้เขียน

วิภาวดี โก๊ะเค้า

บรรณารักษ์ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น แมว CAT TALE วิภาวดี โก๊ะเค้า

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share